H. Boll's "18 Stories"


คนเยอรมันนี่ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเยอะจริงๆ เท่าที่เราเคยอ่านก็ปาเข้าไปสี่คนแล้ว แต่ละรายก็ระดับพระกาฬกันทั้งนั้น ตั้งแต่โธมัส มานน์ เฮอมัน เฮสเส ไปจนถึงกุนเธอร์ กลาส (ตะกี้แวบไปเช็ควิกีมา พบว่ามีทั้งหมดเจ็ดคน) และล่าสุดที่เราเพิ่งอ่านก็คือเอนริช โบล ถึงโบลจะไม่โด่งดังเท่าสี่คนก่อนหน้านี้ แต่ท่าทางแกจะมีชื่อเสียงไม่หยอก เพราะถ้าจำไม่ผิด ที่เมืองไทยก็มีแปลนิยายเรื่อง The Clown เหมือนกัน 18 Stories ก็สมชื่อคือเป็นรวมเรื่องสั้น 18 เรื่อง แม้นี่อาจไม่ใช่ผลงานชิ้นเอกของผู้เขียน แต่แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว สำหรับพะยี่ห้อรางวัลโนเบล

โบลเล่าเรื่องด้วยภาษาเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่รู้เป็นเพราะการแปลหรือเปล่า แต่ได้อารมณ์เหมือนฟังแกเล่าในร้านกาแฟ โบลไม่ใช่นักเขียนประเภทมานั่งเสียเวลาบรรยายความ สร้างฉากวิจิตรอลังการ เรื่องสั้นส่วนใหญ่ก็ใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งซื่อๆ นี่แหละ

ถ้ามองว่าเป้าหมายหลักของนักเขียน และศิลปินคือการนำเสนอภาพความเป็นมนุษย์ สำหรับโบลแล้ว สิ่งนี้คงสื่อผ่านใบหน้าเรียบเฉยได้ดียิ่งกว่าการแสดงออกใดๆ อ่าน 18 เรื่องสั้นแล้วเหมือนได้อารมณ์ "หน้ากาก" ยังไงพิกล อย่าง Like a Bad Dream (ซึ่งถ้าจำไม่ผิด เหมือนเคยอ่านจากที่ไหนมาก่อน) เกี่ยวกับนักธุรกิจซึ่งเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกของการแข่งขัน เฉือดเฉือนคม พออ่านจบแล้วก็งงว่าเป็นตัวผู้อ่าน หรือตัวละครกันแน่ที่ปั้นสีหน้าตัวเองไม่ถูก อีกเรื่องคือ The Laugher ว่าด้วยคนที่หัวเราะเป็นอาชีพ แต่กลับไม่รู้ว่าสีหน้าแท้จริงของตัวเองเป็นเช่นไร

พูดถึงนักหัวเราะ สังเกตว่าโบลชอบให้ตัวละครในเรื่องมีอาชีพแปลกๆ ตั้งแต่นักกำจัดจดหมาย นักสะสมความเงียบ ไปจนถึงนักประกาศชื่อสถานีรถไฟ ถึงจะเป็นอาชีพพิสดาร แต่โบลไม่ได้ตั้งใจเขียนให้เรื่องเหล่านี้เป็นแฟนตาซี (เรื่องเดียวเลยในเล่มที่เข้าข่ายสัจนิยมมายาคือ Unexpected Guests ว่าด้วยผู้ชายที่เลี้ยงสัตว์เต็มบ้าน ตั้งแต่ฮิปโป ช้าง ไปจนถึงสิงโต) ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าอาชีพเหล่านี้มีจริงหรือเปล่า แต่ก็ต้องยกย่องคนเขียนว่าเข้าถึงจิตวิทยาคนที่ประกอบอาชีพสมมติพวกนี้ได้

Action Will be Taken เป็นอีกเรื่องที่อยากพูดถึงเป็นพิเศษ เนื่องด้วยมันเป็นขั้วตรงข้ามกับเรื่องสั้นส่วนใหญ่ คือแทนที่ตัวเอกจะมีอาชีพพิสดาร คราวนี้โบลไปไกลกว่านั้นคือตัวเอกไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองมีอาชีพอะไร แต่ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับมัน ก่อนจะพบความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง คือไปคอยยืนปั้นหน้าเครียดตามงานศพ

ต้องยอมรับว่าเป็นสิบแปดเรื่องสั้นที่น่าสนใจจริงๆ ไม่ค่อยบ่อยนักจะเจองานเขียนที่วนเวียนอยู่กับอาชีพได้ขนาดนี้

V. Woolfe's "To the Lighthouse"


มีความสวยงามบางอย่างที่ไม่อาจถ่ายทอดผ่านตัวอักษร ภาพนิ่ง เนื้อสี หรือท่่วงทำนองเสนาะ มีแต่ศิลปินมือเอกเท่านั้นถึงจะนำเสนอมันออกมา และก็ไม่ใช่ว่าสามารถทำได้กับทุกผลงาน เวอจิเนียร์ วูลฟ์คือศิลปินที่ว่า และ To the Lighthouse คือผลงานดังกล่าว ถึง Mrs. Dalloway จะเป็นนิยายที่มีชื่อเสียงกว่า แต่กับเล่มนั้นเราแค่เริ่มรู้สึกสนอกสนใจเธอ ส่วน To the Lighthouse พูดได้เต็มปากเลยว่าตอนนี้ เรากลายเป็นแฟนของนักเขียนผู้นี้ไปแล้ว

สรุปเรื่องย่อแบบโง่ๆ To the Lighthouse คือการเดินทางไปเยี่ยมชมประภาคารของครอบครัวแรมเซย์ ซึ่งประกอบไปด้วยสองสามีภรรยา และลูกๆ ทั้งแปด แต่กว่าพวกเขาจะไปถึงประภาคาร ทริปนี้ใช้เวลาสิบปีเต็ม และก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะไปถึงเป้าหมายนั้น นอกจากครอบครัวแรมเซย์ ยังมีลิลลี จิตรกรสมัครเล่นผู้เฝ้ามองพวกเขา มินตา กับพอล คู่รักหนุ่มสาว และคาไมเคิล กวีชรา รวมไปถึงตัวประกอบอื่นๆ กระนั้นพระเอกที่แท้จริงของ To the Lightnous ไม่ใช่มนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ หากเป็น "บิดากาล" หรือพระพ่อแห่งเวลา ผู้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงแก่ทุกสรรพสิ่ง มหัศจรรย์แห่งนิยายเล่มนี้อยู่ที่การปั้นตัวละครนามธรรม ให้ออกมาจับต้องได้ มีเนื้อมีหนังเฉกเช่นคนสามัญ

ถึงบอกว่าจับต้องได้ แต่ถ้าให้ฟันธงจริงๆ ก็ฟันไม่ขาดเหมือนกันว่าตรงไหนกันแน่ของนิยายเล่มนี้ที่เป็นเนื้อหนังบิดากาล จะบอกว่า เพราะผู้อ่านได้รู้จักกับครอบครัวแรมเซย์อย่างใกล้ชิด และรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงในชีวิตพวกเขาตลอดช่วงสิบปีกระนั้นรึ ก็เปล่า ด้วยสไตล์การเขียนแบบวูลฟ์ คิดว่าคงไม่มีใครพูดได้เต็มปากว่ารู้จักนิสัยใจคอ และสนิทสนมกับตัวละคร ในทางตรงกันข้าม บางทีอาจเป็นความเหินห่างกระมัง ที่ทำให้ผู้อ่านสัมผัสได้ถึงเวลา

ยกตัวอย่าง สมมติมีสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยความทรงจำ เมื่อเราไปเยือนที่นั่น ถามจริงเถอะว่าเราเห็นอดีตขึ้นมาเป็นฉากๆ หรือเปล่า แน่นอนว่าไม่ อดีตคือความเหินห่าง คือภาพฝันเลือนๆ ลางๆ ซึ่งจับต้องไม่ได้ จึงยากนักที่หนังสือสักเล่มจะพรรณนาอดีต ดังที่อดีตเป็นจริงๆ (คือไม่ใช่แค่ความจริงในอดีต แต่เป็น "แก่นแท้" ของอดีตในฐานะสิ่งที่ผ่านพ้น) ยกเว้นจะเป็นหนังสือที่บังคับคนอ่านให้ใช้เวลาสิบปีในการอ่านเท่านั้น


ความเหินห่างนี่เองคือกุญแจสำคัญของ To the Lighthouse ในทางกลับกัน ถ้าวูลฟ์ให้เราได้รู้จักครอบครัวแรมเซย์อย่างใกล้ชิด นี่อาจเป็นหนังสือโศกนาฏกรรมของสงคราม การพลัดพราก Atonement ของแมคอีวานก็อาจจัดอยู่ในกรณีหลัง ต่างเป็นนิยายที่ดีทั้งคู่ แต่ถ้า Atonement พูดถึงความผิดซึ่งหลอกหลอนผู้กระทำตลอดชีวิต ทุกสิ่งใน To the Lighthouse เหมือนจะผ่านมาแล้วก็ผ่านเลยไป

To the Lighthous เป็นนิยายที่มีระดับชั้นเยอะมาก ถึงตัดเรื่องเวลาออก ในแง่ตัวละคร ก็มีอะไรให้พูดถึงไม่รู้จบ ความสัมพันธ์ระหว่าง "ผู้รอดชีวิต" แรมเซย์สามีปรารถนาการยอมรับจากสังคม และ "ความเห็นอกเห็นใจ" ของสตรีเพศ ลูกคนโตทั้งสอง เจมส์ และแคมทำสงครามเงียบกับพ่อ เพราะรับไม่ได้ที่อีกฝ่ายเอาแต่ใจตัว ลิลลีน่าจะเป็นตัวแทนของวูลฟ์ ทั้งคู่เป็นศิลปิน พวกเธอต้องต่อสู้กับอคติ และการเหยียดเพศ สุดท้ายก็คือประภาคารซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเป้าหมาย และการส่งผ่านของห้วงเวลา

วูลฟ์ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแม่กระแสสำนึก ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่ค่อยอยากพูดถึงเธอในแง่นี้เท่าไหร่ ตอนนี้ในเมืองไทย ขอให้เขียนอะไรคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นกระแสสำนึก ก็ได้รับคำชื่นชมแล้ว ทั้งที่จริงๆ ความเข้าใจงานเขียนลักษณะนี้ของคนไทยดูลุ่มๆ ดอนๆ ชอบกล ถ้า Mrs. Dalloway คือตัวอย่างงานเขียนกระแสสำนึก To the Lighthouse คือนิยายที่ไปไกลยิ่งกว่านั้น ใช้กระแสสำนึกเพื่อเป้าหมายบางอย่าง ไม่ใช่สักแต่ว่าเป็นสไตล์

S. Weil's "The Need for Roots"


วีลเขียนหนังสือเล่มนี้ช่วงที่ฝรั่งเศสถูกเยอรมันยึดครองระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง วีลและพรรคพวกหนีไปอยู่ลอนดอน ก่อตั้งรัฐบาลอพยพ หนังสือเล่มนี้เขียนเสร็จปี 1943 ผู้เขียนเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่กี่เดือน และกว่ามันจะตีพิมพ์ออกมาก็คือปี 1952 สงครามสิ้นสุดแล้ว วิลมองความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสว่ามาจากความอ่อนแอภายใน รัฐบาลวินชี่ปล่อยให้ผู้รุกรานเหยียบย่ำดินแดนบ้านเกิด และทิ้งเยอรมันให้เป็นภาระของมหาอำนาจอังกฤษ และประเทศอื่นๆ

ปัญหาของฝรั่งเศสคือพี่น้องร่วมชาติเธอขาด "ราก" และความคิดที่จะปกป้องตัวเอง แต่ "ราก" ในที่นี้แตกต่างจาก "ลัทธิชาตินิยม" เข้าใจว่าถ้าวีลไม่เน้นประเด็นนี้ ก็คงแยกแยะไม่ถูกว่าฝรั่งเศสในอุดมคติเธอ จะแตกต่างจากเยอรมันผู้รุกรานตรงไหน เพราะเอาเข้าจริงนาซีก็คือลัทธิชาตินิยมสุดโต่งนั่นเอง ช่วงแรกของ The Need For Roots คือการอธิบายความแตกต่างระหว่างสองสิ่ง วีลเล่าว่าฝรั่งเศสมีความเป็นชาตินิยมอยู่ กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าฝรั่งเศสจะมี "ราก"

อ่ำ...ยอมรับก็ได้วะ...ว่าพยายามอ่านยังไงก็ไม่เข้าใจความแตกต่างสักที เหมือนมันจะต่างเฉพาะในการกระทำเท่านั้น เช่นผู้ที่มีรากจะไม่รุกรานเพื่อนบ้าน นโยบายของนาซีแท้จริงตอบสนองการขาดรากของชาวเยอรมันเหมือนกัน กระนั้นท้ายสุดหัวใจของชาตินิยม และรากก็เหมือนไม่ได้แตกต่างกันขนาดนั้น กระทั่งการปลูกฝังรากที่วีลเสนอแนะ ก็เป็นแค่อีกระดับหนึ่งของโฆษณาชวนเชื่อซึ่งฮิตเลอร์ใช้นั่นเอง

ปัญหาของหนังสือเล่มนี้คือมันถูกกักขังในช่วงเวลามากๆ ถ้าวีลมีชีวิตอยู่อีกสักสิบปี ได้เห็นเอกราชของบ้านเกิดเมืองนอน ได้วิเคราะห์สภาพสังคมผ่านสายตานักประวัติศาสตร์ (มากกว่าสายตา activist หรือนักต่อสู้) บางทีวีลอาจพัฒนาทฤษฎีรากให้เฉียบแหลมกว่านี้ กระนั้นนี่อาจไม่ใช่จุดประสงค์ของ The Need for Roots ตั้งแต่แรก วีลอาจเพียงต้องการเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อชี้แนะรัฐบาลอพยพว่าควรมีทีท่า และวางตัวเช่นไรในสถานการณ์ปัจจุบัน (ปี 1943) บางช่วงวีลเจาะลึกถึงขนาดเสนอยุทธศาสตร์ตัดเสบียง อาวุธข้าศึก

Saturday Review ชื่นชมหนังสือเล่มนี้ว่า "It was a particular job which she set out to do; it was a universal task which she accomplished." ซึ่งไม่จริงเลย แม้จะมีบางประโยค บางข้อความที่น่าขบคิด นำมาใช้ แต่ถ้าไม่ได้เป็นชาวฝรั่งเศสระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หรือกระทั่งถ้าไม่ได้อยู่ในรัฐบาลอพยพ เราก็มองไม่ค่อยออกว่าหนังสือเล่มนี้จะอ่านไปเพื่ออะไร ประกอบกับความคิดวีลกระโดดซ้ายขวาไปมา ทำให้อ่านเอาเรื่องยาก คงคล้ายๆ กับ A Death in the Family พอมันตีพิมพ์หลังผู้เขียนเสียชีวิต ก็เลยไม่ค่อยได้มีโอกาสตัดแต่ง ปรับปรุงโฉม

ข้อดีของวีลคือแทนที่จะวิจารณ์ท่าเดียวว่าอะไรบ้างที่ใช้ไม่ได้ ผู้เขียนแนะแนวทางปรับปรุงแก้ไขมาด้วย แม้บางข้อเสนอจะดูใสซื่อเกินจริง เช่นคนงานควรชักชวนลูกหลานให้เข้าไปเล่นในโรงงานเสียบ้าง เพื่อปลูกรากให้กับพวกเขา (ใจคอจะให้เป็นกรรมาชีพกันทั้งครอบครัวเลยหรือไง) หรือชาวนาควรศึกษาการสังเคราะห์แสงของพืชเพื่อตระหนักในความงาม และบทกวีของอาชีพตน (ฮา)

ราหูอมจันทร์ เพื่อนที่รักกันมากที่สุด (หลายคนเขียน)


ว่าจะไม่เอ่ยถึงแล้ว แต่ก็เอาเสียหน่อย ถือว่าฉลองงาน meeting ราหูอมจันทร์ครั้งที่ 2

ที่ไม่อยากเอ่ยถึง เพราะผิดหวังกับหลายเรื่องสั้นในเล่มนี้ คือถ้าจะให้ด่าเต็มสตรีมละย่อมได้ แต่รู้สึกไม่ค่อยปลอดภัยยังไงไม่รู้ แต่ที่ตัดสินใจจะลงบลอคนี้ เพราะอยากให้กำลังใจผู้ผลิตผลงานดีๆ ซึ่งก็มีอยู่

เริ่มจาก เหตุการณ์ปกติ นามปากกา "ทัศนาวดี" เห็นมาหลายรายการแล้ว ชอบการ foreshadow ในเรื่องนี้ ผู้เขียนสร้างบรรยากาศเหมือนว่าจะมี "เหตุการณ์ไม่ปกติ" เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งท้ายที่สุดเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า ต้องไปอ่านกันเอาเอง อีกเรื่องที่ชอบเหมือนกันคือ อวัยวะส่วนตัว เป็นการผสมผสานแนวเสียดสีเข้ากับสัจนิยมมายา ถ้าเป็นสิบปีก่อน คงเฝือพิลึก เพราะสมัยนั้นใครๆ ก็สัจนิยมมายากันทั้งบ้านทั้งเมือง สมัยนี้กลับเป็นแนวเสียดสีที่ออกมาเกร่อตลาดวรรณกรรม คุณกิติวัฒน์ตัดสินใจถูกที่เน้นสัจนิยมมายามากกว่า ที่แปลกใจว่าตัวเองชอบเข้าไปได้ไงคือ ภาพสะท้อน เชยสะบั้นหั่นแหลก แต่ท่าทางคุณกฤติศิลป์รู้ตัวว่ากำลังเขียนเรื่องเชยๆ อยู่ ดังนั้นแม้เนื้อเรื่อง และธีมจะไม่ได้แปลกใหม่ แต่การเล่าอย่างสง่างาม และตระหนักรู้ถึงสิ่งที่ตัวเองเขียน ก็ช่วยให้เรื่องซ้ำซากน่าอ่านกว่าที่มันควรจะเป็น

ไม่ชอบ ลมใบที่ไร้เสียง แม้ว่ามันจะได้รางวัลก็ตาม อาจเพราะเราไม่ชอบมุราคามิกระมัง เลยรู้สึกว่าการเข้าทรงมุราคามิ เขียนเรื่องสั้นสไตล์หมอ ไม่เห็นจะเป็นเรื่องเท่ห์ หรือน่าตื่นเต้นตรงไหน เพื่อนบ้าน นี่เกือบจะดีแล้ว แต่เพราะคนเขียนยังติดอยู่กับความเป็นวรรณกรรมเสียดสี สุดท้ายก็เลยเป็นได้แค่เรื่องสั้นตอบสนองความชิงชังส่วนตัว (จริงๆ ก็ส่วนคนไทยแทบทั้งประเทศ) ของ "มึงรู้ไหม พ่อกูเป็นใคร" ที่เล่นกันมาหกสิบล้านเที่ยว เฮ้อ! ถึงกับต้องขึ้นไปเล่นบนอวกาศกันเลยรึ

F. Vertosick's "When the Air Hits Your Brain"


เราเป็นลูกหมอ ตั้งแต่เด็ก โรงพยาบาลคือบ้านแห่งที่สอง แต่เอาเข้าจริง เรารู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับวิชาแพทย์น้อยมาก พ่อกำชับแต่อ้อนแต่ออกว่าอยากทำอาชีพอะไรก็ได้ เว้นไว้อย่างเดียวคือหมอ ประกอบกับเราไม่ค่อยชอบชีววิทยา เรื่องแพทย์ เรื่องหมอก็เลยไม่ค่อยอยู่ในสมองเท่าไหร่ กระนั้นก็ใช่ว่าการอ่าน When the Air Hits Your Brain จะไม่ขุดคุ้ยความทรงจำอะไรออกมาเลย อย่างน้อยๆ เรื่องราวของเวอร์โทซิก เกี่ยวกับประสบการณ์ร่ำเรียนวิชา ฝ่าฝันอุปสรรคร้อยแปด เพื่อจะได้เป็นหนึ่งในศัลยแพทย์ประสาทและไขสันหลัง ก็ชวนให้เรานึกถึงเหล่าลูกศิษย์ซึ่งผลัดเวียนกันเข้าออกประตูห้องทำงานพ่อ (สำหรับเรา พ่อเหมือนอาจารย์หมอ มากกว่าหมอผ่าตัดจริงๆ )

แต่ถ้าถามว่าหนังสือเล่มนี้กระตุ้นความทรงจำเรื่องไหนสุด ตอบเลยว่า ซุปเปอร์ดอกเตอร์ K ใครที่ยังทันอ่านการ์ตูนเรื่องนี้ คงจำได้ว่าดอกเตอร์ K พระเอกของเรื่อง เป็นหมอโคตรเก่ง เคยทำการผ่าตัดเวอร์ๆ เช่นขึ้นไปเฉือนมะเร็งกระดูกสันหลังบนกระสวยอวกาศ แถมยังเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม รักษาฟรีให้คนยากคนจน อย่างไรก็ดี สำหรับแฟนๆ น่าจะเห็นตรงกันว่าความสนุกของมัน กลับอยู่ที่บรรดาเพื่อนๆ ตัวประกอบทั้งหลายแหล่ เพราะไม่ได้เก่งเท่าดอกเตอร์ K และเต็มไปด้วยจุดอ่อน เรื่องราวของพวกเขาจึงชวนติดตาม

เวอร์โทซิก ผู้เขียน และตัวเอกของ When the Air Hits Your Brain ก็คล้ายๆ กับเพื่อนของดอกเตอร์ K เป็นแค่หมอฝึกหัด มีฝีไม้ลายมือในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้พระเจ้าขนาดรักษาหายทุกโรค ใครที่ไม่ชอบอ่านเรื่องเศร้า ควรรู้ไว้เลยว่าในเล่มนี้ มีกรณีที่ล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จ มีคนไข้เสียชีวิต หรือพิการ มากกว่าที่ฟื้นฟูสุขภาพตัวเองได้ การนำเสนอภาพความเปราะบางของชีวิตทำให้มันเป็นมากกว่าบันทึกโรงเรียนแพทย์ ผู้อ่านจะเห็นว่าหมอไม่ใช่ซุปเปอร์ฮีโร ในบทหนึ่งเวอร์โทซิกถึงกับยอมรับว่าในเชิงวิวัฒนาการ มนุษย์เกิดมาเผื่อถ่ายทอด สร้างความหลากหลายทางพันธุกรรม และตายลงไป ดังนั้นการมานั่งรักษาชีวิตเหยื่อ "survival of the fittest" เป็นเรื่องไร้สาระเอามากๆ จากมุมมองของพระเจ้า ไม่ใช่ซุปเปอร์ดอกเตอร์ K แต่พวกเขาเป็นเพียงดอนคีโฮเต้ผู้ต่อสู้กับกังหันลม


ไม่ใช่ดอนคีโฮเต้ด้วยซ้ำ สำหรับเวอร์โทซิก หมอใกล้เคียงเฟาส์ที่สุด ต่อรองกับปีศาจ แลกอวัยวะในตัวค้นไข้ เพื่อรักษาอีกสิ่งหนึ่งไว้ เวอร์โทซิกเล่าเหตุการณ์รับมือทารกหัวใจล้มเหลว เขาต้องเลือกระหว่างตัวยาซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้เลือดไม่ไหลเลี้ยงนิ้วมือ แขนขา และแม้รอดชีวิตมาได้ ก็อาจต้องกลายเป็นคนพิการ ซึ่งการตัดสินนี้นำไปสู่ผลลัพท์ที่ทั้งคนอ่าน และผู้เขียนเองคาดเดาไม่ถูก

When the Air Hits Your Brain เสนอภาพการเติบโตของศัลแพทย์ ทั้งทางด้านวิชาความรู้ และจิตใจ ทั้งจากความล้มเหลว และความสำเร็จ เติบโตทั้งในแง่ดีขึ้น และเลวลง (เวอร์โทซิกสารภาพว่าหมอต้องมีความเป็น "ฆาตกรโรคจิต" อยู่ในตัวพอที่จะไม่เก็บเอาเหยื่อปลายมีดทุกคนมาคิดเล็กคิดน้อย) รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคม และเทคโนโลยีในช่วงยี่สิบปีให้ท้าย ฉากที่ผู้เขียนเผชิญหน้าผู้ป่วยโรคเอดส์คนแรกทำให้เราตระหนักถึง "ความใหม่" ของโรคร้ายตัวนี้ แต่เพราะความรุนแรง และความพิเศษของมัน ทำให้คนสมัยใหม่บางทีก็ลืมไปแล้ว ว่าแต่ก่อนเขาอยู่กันได้ยังไงโดยไม่มีโรคเอดส์ (ถือว่าทดแทนที่สมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ตก็แล้วกัน) อีกตอนหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน แต่เหมือนผู้เขียนยังอ้ำๆ อึ้งๆ ไม่กล้าพูดถึงมาก คือมุมมองที่เขามีต่อการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ

ในฐานะที่อ่านวรรณกรรมมาเยอะ พูดได้เต็มปากเลยว่าศัลยแพทย์ผู้นี้เขียนหนังสือดีมาก ธรรมดาเรารู้สึกว่าหนังสือที่ไม่ได้เขียนโดยนักเขียน ต่อให้มีความคิด ความอ่านแค่ไหน การนำเสนอ ใช้ภาษา เรียบเรียงสานส์ก็ต้องมีติดขัดบ้างแหละ โดยเฉพาะหนังสือที่เขียนจากประสบการณ์ ความทรงจำ คนเราจะมีลักษณะอย่างหนึ่งเวลาเล่าเรื่องของตัวเอง คือชั่งน้ำหนักไม่ถูก ว่าเรื่องไหนสำคัญ เรื่องไหนไม่สำคัญ ผลลัพท์ก็คืองานเขียน ซึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลที่คนอ่านไม่อยากรู้ (ขนาดนักเขียนอาชีพยังมีปัญหานี้บ่อยๆ ) ในทางตรงกันข้าม เวอร์โทซิกแยกแยะได้อย่างงดงามว่าอะไรคือสิ่งที่ควรเล่า ไม่ควรเล่า When the Air Hits Your Brain หนาเกือบสามร้อยหน้า แต่อัดแน่นไปด้วยละครชีวิตที่อ่านแล้ววางไม่ลง ผู้เขียนรุ่มรวยอารมณ์ขันพอจะใส่มุกตลกในสถานการณ์บ่งชี้ความเป็นความตาย แทรกมุมมองปรัชญา และข้อมูลวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งคนปรกติพออ่านออกเข้าใจได้

เวอร์โทซิกยังเขียนหนังสืออีกสองเล่ม แต่เป็นแนววิทยาศาสตร์เพื่อคนทั่วไป ซึ่งแม้ธรรมดาเราไม่ได้เป็นแฟนหนังสือแบบนั้น แต่แน่นอนว่าอีกไม่นาน คงได้อ่านและเอามาแบ่งปันกัน สุดท้ายขอบคุณสาวสวยนักเรียนแพทย์ที่แนะนำหนังสือเล่มนี้ให้กับเรา

J. Agee's "A Death in the Family"


ไม่เคยได้ยินชื่อเจมส์ อกีมาก่อน พออ่าน A Death in the Family จบ ลองค้นประวัติหมอคร่าวๆ ก็เลยทราบว่าแกมีผลงานเขียนอยู่ไม่น้อย แต่หนักไปทางบทหนัง บทวิจารณ์ภาพยนตร์ มากกว่านิยาย A Death in the Family ตีพิมพ์ภายหลังจากที่แกเสียชีวิต และได้รางวัลพูลิตเซอร์ไพรซ์ เป็นนิยายเล่มสุดท้าย และเล่มที่สองของอกี

ก็เลยตอบไม่ถูกเลยว่าสาเหตุที่เราคิดว่ามันแย่ เพราะอกีไม่มีโอกาสได้แก้ไขต้นฉบับนิยายตัวเอง หรือเพราะประสบการณ์การเขียนของหมอยังน้อยอยู่กันแน่ ซึ่งก็เป็นได้ทั้งนั้น เพราะรู้สึกว่าถ้าให้เอามาปรับแต่ง ยกเครื่อง ตัดออกสักห้าสิบหน้า นี่คงเป็นนิยายที่ดีทีเดียว ขณะเดียวกันชัดเจนว่าผู้เขียนมีประสบการณ์ข้องแวะกับภาพยนตร์มากกว่านิยาย A Death in the Family สมชื่อนิยาย คือเกี่ยวกับการสูญเสียสมาชิกครอบครัว ไม่ใช่หัวข้อใหม่ แต่อกีพยายามเล่นกับการรับรู้ข่าวร้าย ในช่วงวันสองวันระหว่างเกิดเหตุ มากกว่าผลกระทบระยะยาว ช่วงกลางๆ เรื่องก็เลยเป็นบทสนทนา real time ซึ่งถ้าทำออกมาดี น่าจะเป็นแนวทางใหม่สำหรับเนื้อเรื่องทำนองนี้ แต่เหมือนกระดูกการเขียนของอกียังไม่แข็งพอ ก็เลยออกมาน่าเบื่อแปร่งๆ มีช่วงอึดอัดเหมือนไม่รู้คนเขียนต้องการพูดอะไร ก็เลยให้ผู้คนมานั่งจิ๊จ๊ะกัน มีตัวละครตัวนู้นตัวนี้ ซึ่งคนอ่านไม่สามารถ visualize ตามได้ เพราะไม่เคยปรากฎตัวออกมาเต็มไปหมด จุดนี้จะไม่มีปัญหาเลยถ้าเป็นภาพยนตร์ เพราะเมื่อมีนักแสดงมาเล่นให้ดู ผู้ชมก็ไม่ต้องมานั่งนึกภาพตามให้ยุ่งยาก

แม้ไม่ค่อยอยากว่าคนเขียน แต่รู้สึกว่าอกีเป็น "มือใหม่" ชะมัด สไตล์การเล่าเรื่องไม่แน่นอน ช่วงแรกเหมือนจะเล่นกับความรู้สึก รายละเอียดพวกเสียงรถยนตร์ เสียงฉีดน้ำรดต้นไม้ หรือความรู้สึกตัวละครเจาะลึก มีกระทั่งย่อหน้าใหญ่ๆ แบบกระแสสำนึก แต่พอมากลางๆ เรื่องกลับเป็นบทสนทนาต่อๆ กัน ตรงนี้เลยทำให้อารมณ์การอ่านติดขัด ไม่รู้ว่าต้องนึกภาพตามแค่ไหน เหมือนผู้เขียนจับจุดด้อยจุดแข็งตัวเองไม่ถูก ก็เลยใส่ๆ อะไรเท่าที่นึกได้

ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกเหมือนตัวเองไม่เคยชอบหนังสือรางวัลพูลิตเซอร์เลย เล่มสุดท้ายที่อ่านคือ American Pastoral ซึ่งแย่กว่านี้ (เพราะมันยาวกว่า) ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นรสนิยมเรากับกรรมการไม่ตรงกัน หรือเราไม่ชอบวรรณกรรมอเมริกันโดยรวมกันแน่

หนังเขาดีจริงๆ


ขอแสดงความยินดีกับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เหมาะสมทุกประการครับ





และขอโห่ฮาส่งท้ายรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ขอแสดงความชื่นชม "สุพรรณหงส์" ที่คุณสามารถลดคุณค่า มาตรฐาน และศักดิ์ศรีสถาบันตัวเองลงได้ เยี่ยมมากครับ

J. Conrad's "Heart of Darkness and Other Stories"


หลังจากได้อ่านมาครบ ตั้งแต่ The Godfather, The Streetcar named Desire, และ Heart of Darkness ขอสรุปตรงนี้แล้วกันว่า บทผู้พันเคิร์ทใน Apocalypse Now คือบทบาทที่เด่นสุดของแบรนโด สาเหตุง่ายๆ คือขณะที่พูโซ และวิลเลียมสร้างตัวละครซึ่ง "หนัก" มาแล้วตั้งแต่แรก (แต่ในแง่หนึ่งไม่ใช่ว่านักแสดงทุกคนจะแบกรับความหนักของตัวละครเหล่านี้ได้) เคิร์ทในฉบับดั้งเดิมของคอนราด เป็นแค่ภาพเงา ผู้พันเคิร์ทแบบที่คนส่วนใหญ่จดจำได้จากภาพยนตร์ คือผลิตผลของแบรนโด และคอปโปลาล้วนๆ

ก่อนจะพูดถึงเคิร์ท ต้องพูดถึงมาร์โลว์ก่อน เพราะจริงๆ แล้ว Heart of Darkness คือการผจญภัยของมาร์โลว์สู่ใจกลางความมืด ส่วนเคิร์ทแค่มีบทบาทท้ายๆ เรื่อง ในแง่หนึ่ง ถ้าให้เลือก เรารู้สึกว่ามาร์โลว์เป็นตัวละครที่น่าสนใจกว่าด้วยซ้ำ (ทั้งในหนังสือ และในภาพยนตร์) ถ้าเคิร์ทคือผู้อยู่ตรง "หัวใจแห่งอนธกาล" มาร์โลว์ดูจะใกล้เคียงกับคนธรรมดามากกว่า คือเดินอยู่ระหว่างแสงสว่าง และความมืด ส่วนความมืดในที่นี้ ถ้าเป็น Apocalypse Now ก็คือความโหดร้ายของสงครามเวียดนาม ส่วนใน Heart of Darkness คือความป่าเถื่อนของมนุษย์

ประเด็นนี้เองที่นักวิจารณ์หยิบ Heart of Darkness มาพูดถึงได้ไม่รู้จบ คอนราดมีจุดประสงค์ใดในการระบายภาพทวีปแอฟริกาให้ออกมาโหดร้าย เต็มไปด้วยความล้าหลัง เพื่อแสดงให้เห็นถึงอารยธรรมของคนขาว หรือเพื่อบอกว่าแท้ที่จริง ส่วนลึกของมนุษย์เรามี "หัวใจแห่งอนธกาล" แฝงอยู่ (เพราะเอาเข้าจริงๆ เคิร์ทก็คือความมืดดำของกาฬทวีปที่รวบรวมอยู่ในตัวมนุษย์คนเดียว) หรือถ้าตีกันอย่างเชยๆ ก็คือใครกันแน่ที่ป่าเถื่อน คนขาว หรือคนพื้นเมือง

จำได้ว่าตอนที่ดู Apocalypse Now ฉากที่ติดตรึงเราสุดคือเมืองในป่าของผู้พันเคิร์ท ตอนนั้นงง และแปลกใจมาก ไม่คิดว่าจะมีอะไรแบบนี้อยู่ในหนังสงครามได้ด้วย เหมือนกับหลุดเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ในหนังสือ ฉากนี้ก็น่าสนใจดี แทนที่ชาวพื้นเมืองจะปล่อยให้มาร์โลว์เข้าไปหา "ศาสดา" ของเขาอย่างง่ายๆ พวกคนป่าออกมาซุ่มโจมตีเรือ ลูกดอกไม้นับสิบนับร้อยพุ่งเข้าหาเรือเหล็ก ซึ่งปลอดภัยประหนึ่งป้อมลอยน้ำ แต่ในความปลอดภัยนั้น ก็ยังมีความ "โดดเดี่ยว" และตัวขาดตัวเองจากโลกภายนอกอยู่ด้วย เป็นอุปมาอุปมัยที่ได้ผลมากๆ สำหรับโลกยุคใหม่ ท่ามกลางธรรมชาติซึ่งพร้อมจะตะครุบตัวเราได้ตลอดเวลา

ระหว่างที่อ่าน Heart of Darkness ก็นึกถึงหนังสือผจญภัยในแอฟริกาอีกสองเล่ม เล่มแรกคือ Congo ของไมเคิล คริชตัน ซึ่งคริชตันเขียนหนังสือเล่มนี้ได้ดีมากๆ เป็นการผสานความลึกลับของวิทยาศาสตร์ เข้ากับการเดินทางสู่ใจกลางความมืด อีกเรื่องคือโดราเอมอนตอนพิเศษ ตลุยทวีปซาวันนา ถ้าใครอ่าน จะจำได้ว่ามีฉากล่องเรืออยู่เหมือนกัน รู้สึกทึ่งว่าอิทธิพลของหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่ง เขียนเมื่อประมาณร้อยปีก่อน สามารถข้ามพ้นขอบขีดวัฒนธรรม และ genre จนถึงปัจจุบันนี้ได้

ความน่าจะเป็น (ปราบดา หยุ่น)


วันก่อนจัดห้องอยู่ดีๆ เจอหนังสือเล่มนี้ จำไม่ได้จริงๆ ว่าซื้อมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่ใช่ไม่เคยอ่านนะ แต่ตอนนั้นคุ้นๆ ว่ายืมเพื่อนมา นั่งคิดอยู่พักใหญ่จึงถึงบ้างอ้อว่าประมาณต้นปีที่แล้ว ไปช่วยรุ่นน้องย้ายบ้านก็เลยได้มรดกตกทอด เป็นหนังสือสามสี่เล่มของพี่คุ่น

อย่างที่บอกว่าเคยอ่านแล้ว แต่ที่หยิบมันขึ้นมาอ่านอีกเป็นด้วยความอยากรู้อยากเห็น ถ้าใครยังจำได้ หลายปีก่อนตอน ความน่าจะเป็น ได้รางวัลซีไรต์ เกิดทั้งกระแสต่อต้าน และสนับสนุน ซึ่งจนถึงทุกวันนี้แรงกะเพื่อมดังกล่าวก็ยังคงสัมผัสได้ในแวดวงวรรณกรรม (แม้ว่าท่าทางกระแสตัวหนึ่งจะหลงเหลืออยู่มากกว่าอีกตัวหนึ่งก็ตาม) ความน่าจะเป็น คือจุดเริ่มต้น "love affair" ระหว่างเรากับพี่คุ่น มีทั้งความชิงชัง สุดแสนจะหมั่นไส้ ไปถึงชื่นชม คุณปราบดาเป็นผู้ชายที่เคยกล่าวว่า "ไม่สนใจการเมือง เพราะรู้สึกว่านักการเมืองเลวหมดทุกคน" (คะแนนติดลบ) จนถึงช่วงหนึ่งที่สังคมตกอยู่ใต้กระแสมวลชน คุณปราบดาคือหนึ่งในกระบอกเสียงแห่งเหตุและผล (ได้แต้ม)

อยากรู้จริงๆ ว่าตัวเราจะคิดยังไงกับ ความน่าจะเป็น กันแน่ เมื่อเวลาผ่านไปเกือบสิบปี ตอนนี้อคติ อะไรต่อมิอะไรก็คงจางหายลงไปเยอะ ณ วันนี้พอได้กลับมาเยือนมันอีกหน รู้สึกเหมือนตัวเองมองผลงานชิ้นนี้อย่างชัดเจนขึ้น เรื่องที่ดี เราก็ยอมรับว่าพี่คุ่นเขียนดีจริงๆ ส่วนเรื่องที่แย่ อ่านวันนี้ก็รู้เลยว่า มันแย่จริงๆ ว่ะ (ฮา)

ความน่าจะเป็น ก็เหมือนรวมเรื่องสั้นไทยทั่วไปที่มีทั้งดีและไม่ดี และไม่ได้มีในอัตราส่วนที่ผิดปกติแต่อย่างใด เรื่องที่แต่ก่อนไม่เคยชอบอย่าง ตามตาต้องใจ, อะไรในอากาศ, ด้วยตาเปล่า มาวันนี้นอกจากจะไม่ชอบแล้ว ก็ยังฟันธงเลยว่าผู้เขียนดำน้ำแน่ๆ เป็นความล้มเหลวที่ไม่อาจแก้ตัว เพราะในฐานะนักอ่าน เราเชื่อว่าตัวเองฉลาดพอจะสิ้นสงสัยว่า "คุณปราบดาคงรู้อะไรบางอย่างที่เราไม่รู้"

แต่ขณะเดียวกันเรื่องที่เคยไม่ชอบเช่น เหตุการณ์กรรมซ้ำเล่า กลับรู้สึกว่าเป็นเรื่องสั้นที่น่าสนใจ ในความไม่เล่าเรื่องของมัน กลับรู้สึกถึงความอบอุ่น และเครือข่ายโยงใยแต่ละชีวิตในสังคม อุปกรณ์ประกอบฉาก อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก แต่คุณปราบดาก็สามารถยึดจับ และเล่นกับโจทย์ที่ตัวเองตั้งไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ ความน่าจะเป็น และ มารุตมองทะเล คือสองเรื่องที่รู้สึกมาแต่ไหนแล้วว่าดี แต่เหมือนชอบเรื่องหลังน้อยลง (อาจเพราะมันเป็น "ตัวตน" ของปราบดา หยุ่นที่เราได้สัมผัสมาจนชินชา) ส่วนเรื่องแรก คุณปราบดาผนวกเอาเอกลักษณ์ของผลงาน pre- และ post-last life in the universe เอาไว้ได้อย่างเหมาะสม

ทุกครั้งที่ได้ยินชื่อ "ปราบดา หยุ่น" เรารู้สึกเสมอว่าผู้ชายคนนี้ได้ซีไรต์เร็วเกินไป (เราชอบผลงานส่วนใหญ่ที่ออกภายหลัง ความน่าจะเป็น แสดงให้เห็นถึงอาการบรรลุนิติภาวะในทางความคิด) ไม่ว่าพี่คุ่นจะทำอะไรต่อ ก็ขอติดตาม และให้กำลังใจก็แล้วกัน

M. Heidegger's "The Question Concerning Technology"


ดีใจมากที่อ่าน The Question Concerning Technology รู้เรื่อง เราหยิบบทความของไฮเดกเกอร์ชิ้นนี้มาอ่านครั้งแรกประมาณธันวาคมปี 2006 ในสมัยนั้นยังแทบไม่เคยแตะต้องหนังสือปรัชญาเล่มไหนมาก่อน แล้วก็แน่นอนคืออ่านไม่รู้เรื่อง แค่เจอ "What the will wills it has already. For the will wills its will. Its will is what it has willed. The will wills itself." เข้าไปก็กระอักแล้ว หลังจากผ่านไปปีกว่า ได้พัฒนาตัวเองทั้งด้านความรู้ และภาษา มาตอนนี้ ในที่สุดก็ฟันฝ่า The Question Concerning Technology จนจบ แล้วก็ต้องถือว่ารู้เรื่องดีพอใช้เสียด้วยสิ

เอาละ เลิกชมตัวเองแล้วพูดถึงหนังสือดีกว่า

ความยากของการอ่านปรัชญาตะวันตก คือเหตุ และผลมักสลับที่สลับทาง โดยเฉพาะในผลงานของไฮเดกเกอร์ ซึ่งถ้าให้เราสรุปความเชื่อของแกลงในคำคำเดียว เราจะเลือกคำว่า "ชะตากรรม" เหมือนแกพยายามบอกว่าการคิดค้นหรือทำให้อะไรบางอย่างเกิดขึ้นมา (เหตุ) แท้จริงแล้วเป็นผลพวงมาจากการที่สิ่งๆ นั้นจะต้องเกิดมาอยู่แล้ว (ผล) เพียงแต่มนุษย์มีหน้าที่เตรียมความพร้อม รับการมาเยือนของสิ่งนั้น เช่นในกรณีของเทคโนโลยีคือเครื่องจักรไอน้ำไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา หากว่ามนุษย์พัฒนากลศาสตร์ความร้อนเพื่อให้เครื่องจักรไอน้ำสามารถถือกำเนิดขึ้นมาได้ต่างหาก

ถ้าอย่างนั้นก่อนเครื่องจักรไอน้ำจะเป็นเครื่องจักรไอน้ำ มันคืออะไร ตรงนี้ลากไปถึงอีกสิ่งซึ่งชวนงุนงงในปรัชญาตะวันตก คือความคิดเรื่อง "แก่น" หรือ "essence" หรือ "wesen" ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นนิรันดร แก่นของเครื่องจักรไอน้ำมีมาก่อนเครื่องจักรไอน้ำจะถูกผลิตขึ้น และเมื่อสักวันเครื่องจักรไอน้ำตกยุคไปแล้ว แก่นตรงนี้ก็จะคงอยู่ (เรื่องความเป็นนิรันดรของแก่นนี้ หาอ่านได้จากปรัชญาสปิโนซาที่เพิ่งพูดไปคราวก่อน)

ไม่รู้จะเห็นภาพขึ้นหรือเปล่า ถ้าหยิบยกอภิปรัชญาของอริสโตเติลขึ้นมาอ้าง ปราชญ์กรีกโบราณเชื่อว่ามีโลกสัมผัสอื่นเหนือกว่าโลกที่เราจับต้องได้ เห็น และเป็นอยู่ เรียกว่าอภิสรรพสิ่งก็ได้ โดยเครื่องจักรไอน้ำมีตัวตนอยู่ในอภิสรรพสิ่งตั้งแต่แรก เมื่อกลศาสตร์ความร้อนถูกคิดค้นขึ้น มนุษย์ถึงสามารถเอาเครื่องจักรไอน้ำลงมาจากอภิสรรพสิ่ง ให้ปรากฎอยู่ในโลกสัมผัสได้


The Question Concerning Technology พูดถึงสองสิ่งซึ่งประกอบกันเป็นสังคมยุคใหม่ ซึ่งก็คือพัฒนาการด้านเทคโนโลยี และปรัชญาแบบ nihilism เทคโนโลยี โดย "แก่น" แล้วคือการเปลี่ยนธรรมชาติให้กลายเป็นทรัพยากร ซึ่งมีปัจจัยสำคัญคือวิทยาศาสตร์ที่ทำนายปรากฎการณ์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ เช่นว่าถ้าเผาถ่านหินเป็นจำนวนเท่านี้ๆ ไม่ว่าจะเมื่อไหร่ ย่อมต้องได้พลังงานเป็นสัดส่วนที่คาดเดาไว้ก่อนได้เสมอ วิทยาศาสตร์ยุคใหม่จึงต่างจากวิทยาศาสตร์แบบกรีก หรือยุคกลาง เพราะเป้าหมายของเราคือการจับธรรมชาติที่ยืนรออยู่เฉยๆ เอามาใช้ได้ทุกขณะตามต้องการ การมองธรรมชาติเป็นทรัพยากรเช่นนี้คือหัวใจของระบบทุนนิยม ซึ่งในปัจจุบันก็เป็นแง่มุมที่ถูกคนหยิบยกขึ้นมากล่าวโจมตีบ่อยๆ

ส่วนความเชื่อแบบ nihilism ก็ตีความมาจากหลักอภิปรัชญาอีกนั่นแหละ โดยภายในอภิสรรพสิ่งไม่ได้มีเฉพาะเครื่องจักรไอน้ำ หรือวัสดุรูปธรรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนามธรรมอื่นๆ เช่นความดีงาม กฎเกณฑ์ ระเบียบสังคม คริสตศาสนา (ซึ่งดัดแปลงมาจากอภิปรัชญาอีกที) สอนว่าเจ้าแห่งอภิสรรพสิ่ง หรือสิ่งที่สมบูรณ์สุดก็คือพระเจ้า ความคิดแบบ nihilism คือการที่เราปลดพระเจ้าออกจากแท่นบัลลังก์ และเอาความว่างเปล่ามาแทนที่ พอมาถึงยุคนิทเช่ แกบอกว่าปัจเจคชนจะหาคุณค่าแบบอื่นๆ มาวางไว้แทนที่ความว่างเปล่าตรงนั้น พระเจ้าของปัจเจคก็คือคุณค่าที่แต่ละคนเลือกจะยืดถือ

ไฮเดกเกอร์เรียกแนวคิดของนิทเช่ว่า nihilism แบบไม่สมบูรณ์ ที่ไม่สมบูรณ์เพราะถึงแม้จะถอดพระเจ้าออกจากแท่นบังลังก์ แต่การพูดถึง และมีอยู่ของอภิสรรพสิ่ง ก็ยังเรียกว่าเป็นการยึดแนวทางของอภิปรัชญา ไฮเดกเกอร์พูดต่อด้วยว่าความยุ่งเหยิง สงคราม และการฆ่าฟันกันเกิดจาก nihilism แบบไม่สมบูรณ์นั่นเอง เพราะถ้าปัจเจคนับถือคุณค่าที่แตกต่างกัน ย่อมนำมาซึ่งโลกแห่งความขัดแย้ง ใน The Question Concerning Technology ไฮเดกเกอร์นิยาม nihilism แบบอื่นที่ไม่ต้องอาศัยหลักอภิปรัชญา ซึ่งไอ้ประโยควิวๆ หวิวๆ ที่ยกมาตอนต้น ก็มาจากตรงนี้นี่เอง ไฮเดกเกอร์เชื่อว่าหลัก nihilism แบบสมบูรณ์สอดคล้องกับมนุษย์ยุคใหม่ และสามารถสร้างความสงบสุขในโลกได้

G. Deleuze's "Spinoza: Practial Philosophy"


สองปีที่แล้ว ก่อนจะเริ่มเขียนบลอคนี้ ได้อ่าน A Dictionary of Maqiao ซึ่งเป็นนิยาย แต่ถูกนำเสนอในรูปแบบพจนานุกรม ไอเดียฟังแล้วเท่ห์มาก แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้เท่ห์ขนาดนั้น เพราะผู้เขียนจัดเรียงลำดับคำเสียใหม่ ไม่ได้ตามตัวอักษร เพื่อให้ผู้อ่านติดตามเรื่องราวได้ สุดท้ายก็เลยเหมือนอ่านนิยายธรรมดาเล่มหนึ่ง ที่มีคำศัพท์ขั่นแต่ละบท

หนังสือที่ต้องพลิกซ้ายพลิกขวาเวลาอ่านจริงๆ ก็ได้แก่ชุดผจญภัยตามใจเลือกซึ่งเคยฮิตสมัยเราเป็นเด็ก แต่ท่าทางจะไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะสมัยนี้ก็ไม่เห็นมีใครเขียนแบบนั้นแล้ว เคยเห็น Chick Read ในรูปแบบเดียวกันวางขายที่ร้านหนังสือ น่าสนใจดี แต่ก็ไม่ได้สร้างกระแสอะไร Hopscotch ของจูลิโอ คอทาซาร์น่าจะเป็นนิยายพลิกซ้ายพลิกขวาที่โด่งดังสุด ไว้ว่างๆ จะอ่านแล้วมาเล่าให้ฟัง

เกริ่นแบบนี้เพราะใน Spinoza: Practial Philosophy ดีลูซใช้รูปแบบพจนานุกรมอธิบายปรัชญาของสปิโนซา โดยแกเล่นเรียงลำดับคำตามตัวอักษรจริงๆ นี่คือหนังสือที่ต้องพลิกซ้ายพลิกขวาเวลาอ่าน สำหรับบางคำก็ต้องอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก กว่าจะจับความออก อันที่จริงแค่อ่านบทความธรรมดาที่ดีลูซเขียนก็ยากจะตายหักอยู่แล้ว นี่ยังต้องมานั่งโยงใยคำศัพท์อีก อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่าบางทีดีลูซอาจตั้งใจให้หนังสือเล่มนี้เป็นพจนานุกรมสำหรับการอ่านสปิโนซาจริงๆ ก็ได้

อย่างไรก็ดี ยอมรับเลยว่าสนุกสนานไม่น้อยกับการอ่าน Spinoza: Practial Philosophy หนังสือปรัชญาที่ดีไม่ใช่แค่นำเสนอความคิดเท่านั้น แต่ผู้เขียนต้องถามตัวเองด้วยว่า เขียนยังไง ความคิดถึงจะไปประจุในหัวผู้อ่านเองได้ การอ่าน Spinoza: Practial Philosophy แม้จะยากแสนยาก แต่ก็รู้สึกดี ที่บางครั้งพออ่านนิยามของคำคำหนึ่งไม่รู้เรื่อง แต่พออ่านคำอื่นมากๆ เข้า กลับมาอ่านคำเดิม เริ่มจับเนื้อความออก

ส่วนปรัชญาสปิโนซาเป็นเช่นไร ไม่พูดถึงแล้วกัน สรุปสั้นๆ คือเป็นส่วนผสมระหว่างพุทธศาสนา และคริสตศาสนา คิดเล่นๆ ว่าถ้าพระพุทธเจ้าท่านเชื่อในพระยะโฮวา ก็คงกล่าวอะไรทำนองนี้ออกมานั่นแหละ

E. A. Abbott's "Flatland"


Flatland เขียนเมื่อประมาณ 120 ปีที่แล้ว ก่อนไอนสไตน์จะคิดค้นทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไป ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่จะรู้จัก "มิติที่สี่" ดูจากประวัติ แอบบอตเป็นหลายอย่าง ตั้งแต่นักบวช นักการศึกษา จนถึงผู้เชี่ยวชาญเชคสเปียร์ แต่ไม่เห็นมีตรงไหนบอกเลยว่าแกเป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือนักคณิตศาสตร์ด้วย ยิ่งน่าทึ่งเข้าไปใหญ่ว่าความคิดที่คนปัจจุบันส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจกลับถูกคนจากศตวรรษที่ 19 หยิบยกมาใช้ได้อย่างสวยงามเช่นนี้

Flatland คือเรื่องราวของ "สี่เหลี่ยมด้านเท่า" ช่วงแรกเป็นการแนะนำคนอ่านสู่ดินแดนราบเรียบ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของสี่เหลี่ยมด้านเท่า (ที่จริงๆ แล้วมีอาชีพเป็นทนายความ) ได้รับรู้ประวัติศาสตร์ของดินแดนราบเรียบที่ฟังดูุคุ้นเคยจนน่าเกาหัว ช่วงหลังคือการผจญภัยของสี่เหลี่ยมด้านเท่า พบปะผู้คนจากมิติต่างๆ ราชาแห่งดินแดนเส้นตรง ศาสดาแห่งอวกาศ (แปลมาจาก space ซึ่งจะใช้ในความหมายว่า "โลกสามมิติ" ก็ได้) และ "จุด" ซึ่งเป็นทั้งผู้ปกครอง ผู้อยู่ใต้ปกครอง และดินแดนในขณะเดียวกัน

หนังสือเจ๋งๆ บางเล่ม อ่านจบแล้วไม่อยากพูดอะไรให้มากความเลย นอกจากเชิญชวนให้คนอื่นได้ลองอ่านมันดู หัวใจจริงๆ ของนิยายเล่มนี้คือการเปิดใจให้กว้างเพื่อยอมรับสิ่งที่อยู่นอกเหนือสามัญสำนึก แอบบอตต้องการชี้ให้เห็นว่ามันยากแค่ไหนที่จะตีฝ่าความรั้น และความเขลาของคนเรา

ขึ้นด้วยไอนสไตน์ ก็ขอจบด้วยคำพูดอมตะของไอนสไตน์แล้วกัน "สองสิ่งเท่านั้นอันไร้ที่สิ้นสุดคือจักรวาล และความเขลาของมนุษย์ พูดตรงๆ ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าอย่างแรกใช่หรือเปล่า"

L. Althusser's "For Marx"


เคยพูดไว้แล้วว่านักปรัชญาก็เหมือนไอติม หลังจากอ่าน For Marx ของหลุยส์ อัลธัสเซอร์ เราได้ข้อสรุปว่าอัลธัสเซอร์คือนักปรัชญาการเมืองรสญาณวิทยา (epistemology) การศึกษามาร์กของอัลธัสเซอร์ไม่ได้ตั้งอยู่บนคำถาม "มาร์กกล่าวไว้ว่าอย่างไร" แต่เป็น "อะไรทำให้มาร์กกล่าวเช่นนั้น" ซึ่งความพยายามตอบคำถามที่สองได้นำผู้เขียน และผู้อ่านไปสู่คำถามแรกด้วยเช่นกัน

For Marx อธิบายการแตกตัวทางความคิดของมาร์ก จากระบบปรัชญาของเยอรมันซึ่งมีเฮเกลเป็นเสาหลัก หนึ่งในคำพูดอมตะของมาร์กใน Le Capital คือข้าพเจ้าพยายามจับปรัชญาเฮเกลกลับหัวกลับหาง จากที่เท้าชี้ฟ้า ให้ตั้งยืนอยู่บนพื้นได้ ไอ้การ "กลับหัวกลับหาง" ตรงนี้เองที่เป็นหัวข้อหลักของอัลธัสเซอร์

ชั่วชีวิตมนุษย์ถ้าสามารถทิ้งคำศัพท์ไว้ให้ชนเบื้องหลังจดจำเราได้สักคำ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จยิ่งแล้ว อย่างไอนสไตน์ก็คงเป็นคำว่า "สัมพันธภาพ" ดาร์วิน "วิวัฒนาการ" เดริดา "deconstruction" และสำหรับอัลธัสเซอร์ "overdetermination" หมายถึงสภาพความขัดแย้งในสังคมซึ่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ในทางประวัติศาสตร์ก็คือการปฏิวัตินั่นเอง อัลธัสเซอร์ใช้คำนี้อธิบายเหตุใดคอมมิวนิสต์จึงเกิดได้ในรัสเซีย คิวบา และจีน เสียดายที่แกไม่ได้ยกตัวอย่างความจริงในทางประวัติศาสตร์ วิเคราะห์ว่าประเทศเหล่านั้นมีเงื่อนไขตรงไหนที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ บ้าง แต่เท่าที่อ่านมา รู้สึกอยู่เหมือนกันว่าอัลธัสเซอร์คงไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์เจาะจงอะไรขนาดนั้น เพราะความคิดของแกเป็นเงื่อนไขทางทฤษฎี มากกว่าภาคปฏิบัติ

overdetermination ต่างจากความขัดแย้งง่ายๆ ที่พูดถึงการแตกออก และผสานคืน (thesis, antithesis, และ synthesis) อันเป็นส่วนหนึ่งของระบบ dialectic ของเฮเกล เนื่องจากอัลธัสเซอร์เป็นนักโครงสร้างนิยม การอ่านมาร์กของแกจึงออกมาในเชิงนี้ overdetermination เป็นความขัดแย้งระดับทั้งโครงสร้าง ไม่สามารถเจาะจง หรือมองอย่างง่ายๆ เป็นสองขั้วชัดเจนได้ แม้ในภาคปฏิบัติ ทั้งเหมา เลนินเห็นตรงกันว่ามีความขัดแย้งเพียงตัวเดียวซึ่งสร้างรอยแยกอันชัดเจน พอให้เกิดการปฏิวัติ กรณีนี้อัลธัสเซอร์อธิบายว่าเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหว จัดโครงสร้างสังคมอันนำไปสู่สภาพที่ความขัดแย้งตัวใดตัวหนึ่งโดดเด่นขึ้นมา

ยกตัวอย่างง่ายๆ ในประเทศไทยช่วงสองปีก่อน สังคมเราเต็มไปด้วยความขัดแย้งแบบเจ้านิยม vs ประชานิยม vs ทุนนิยม vs ธรรมนิยม vs เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งบางช่วงก็เหมือนจะเป็นคู่ใดคู่หนึ่งที่น่าจะสร้างรอยแยกได้ แต่สุดท้ายก็เนื่องมาจากการขยับเขยื้อนโครงสร้างในสังคม ผลัดกันชูความขัดแย้งแต่ละคู่ขึ้นมาให้โดดเด่น และผลที่ตามมาก็อย่างที่รู้ๆ กัน