Y. Martel's "Beatrice and Virgil"
ก่อนจะเขียน Life of Pi มาเทลมีผลงานนิยายและรวมเรื่องสั้นอย่างละเล่ม แต่ด้วยความดังเป็นพลุแตกของหนังสือเล่มนั้น หลายคนเลยเข้าใจผิดคิดว่านั่นคือนิยายเล่มแรกของเขา เราไม่เคยอ่านเล่มก่อนหน้านี้ แต่เมื่ออ่าน Beatrice and Virgil จบ ให้เราเดาคือ มาเทลคงไม่ใช่นักเขียนแบบที่หลายๆ คนเข้าใจว่าเขาเป็นหรอก Beatrice and Virgil ต่างหากน่าจะเป็นตัวตนที่แท้จริง
ตอนที่ได้ยินเนื้อเรื่อง Life of Pi เป็นครั้งแรกว่าเกี่ยวกับการผจญภัยขับเคี่ยวกันระหว่างเสือและเด็กบนเรือกู้ภัย หลายคนคงนึกในใจว่า มันน่าจะเป็นอุปมาอุปมัยที่นำไปสู่อะไรสักอย่าง ความเหนือชั้นของมาเทลคือเขียนเรื่องอุปมาอุปมัยให้กลายเป็น "เรื่องจริง" ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในทางกลับกัน เมื่อรู้ว่า Beatrice and Virgil เป็นเรื่องของหนึ่งลิงและหนึ่งลาที่อาศัยอยู่บนเสื้อเชิ้ตขนาดมหึมา หลายคนคงคิดว่า "สงสัยนี่ก็เรื่องจริงแฮะ" ปรากฏว่าไม่ใช่ ตัวเอกของนิยายคือเฮนรี นักเขียนที่ร่วมมือกับผู้ชายอีกคนชื่อเฮนรีเหมือนกันเขียนบทละครเกี่ยวกับลิงและลาคู่นั้น
เหมือนกับนิยายโพสโมเดิร์นส่วนใหญ่ Beatrice and Virgil เป็นนิยายที่ฟอร์มจัดมากๆ การผสมผสานระหว่างเรื่องจริง เรื่องแต่ง การใช้บทละครแทรก สลับกับเหตุการณ์จริงเป็นระยะ และปิดท้ายด้วย "บทกวี" สั้นๆ สิบสองบท แม้ว่าใน Life of Pi จะมี "กลิ่น" ฟอร์มอยู่บ้าง แต่กับ Beatrice and Virgil กลิ่นโพโม "หึ่ง" ไปถึงหลังคาเลย
หัวใจของ Beatrice and Virgil อยู่ที่คำถามว่า คือทำไมศิลปินชอบนำเสนอเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวผ่านประวัติศาสตร์ ขณะที่สงครามถูกแปรรูปให้กลายเป็นของบางอย่างที่เล็กลงกว่าเดิม (เช่น สงครามโลกครั้งที่สองในนิยาย Atonement หรือ ภาพยนตร์ Saving Private Ryan) การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มักจะยึดโยงอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มาเทลตั้งข้อสงสัยว่า เราสามารถเขียนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผ่านนิทานอุปมาอุปมัยได้หรือเปล่า ซึ่งก็คือคำถามคลาสสิกของอดอร์นโนนั่นเอง เราจะใช้ภาษาอย่างไร หลังจากภาษามันถูกแปดเปื้อนไปด้วยความรุนแรงแล้ว
Beatrice and Virgil เป็นนิยายที่สอบผ่าน จุดเด่นของมันคือความสั้น ตอบรับขอบข่ายของนิยายที่แคบนิดเดียว มาเทลตั้งและตอบคำถามของตัวเองได้อย่างครบถ้วนในพื้นที่จำกัด แต่ขณะเดียวกัน มันก็เป็นนิยายซึ่งน่าผิดหวัง ไม่ใช่แค่ว่ามันถูกเขียนหลัง Life of Pi เท่านั้น (นิยายอะไรของมาเทลที่เขียนหลังจากเล่มนั้น ถ้าไม่เลิศล้ำพวยพุ่ง ก็ต้องน่าผิดหวังไปเลย) แต่เราชอบมาเทลที่จริงจังกับการเล่าเรื่องเป็นไปไม่ได้ มากกว่ามาเทลโพโม ที่เอาเรื่องเป็นไปไม่ได้มาใช้เล่าเรื่องจริงจัง (โลกเรามีนักเขียนประเภทหลังเยอะแล้ว)
พักหนึ่งในฮอลลีวูดมีข่าวลือว่าจะมีการสร้างภาพยนตร์การผจญภัยวัยหนุ่มของอีริค เลนแชร์ หรือที่รู้จักกันในนามแมคนิโตแห่ง X-Men ถ้าใครจำได้สมัยเด็กๆ อีริคเป็นชาวยิวที่ถูกนาซีจับเข้าค่ายกักกันและได้เรียนรู้พลังวิเศษของตัวเอง ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเกี่ยวกับการที่อีริคลุกขึ้นมา ต่อสู้กับนาซีด้วยการควบคุมสนามแม่เหล็ก
นี่ต่างหากนิยายซึ่งตอบโจทย์เดียวกัน และมาเทลควรจะเขียน หากไม่ได้เขียน!
U. Eco's "Travels in Hyper Reality"
เพิ่งไปทำบุญเก้าวัดที่อยุธยา กลับมาดูตัวอย่างหนังนเรศวร และได้อ่าน Travels in Hyper Reality ไม่รู้ทั้งหมดนี้คือความบังเอิญหรือเปล่า
รักชวนหัวเป็นแฟนเพลงเก่า และก็จะมีสันดานยะโสๆ แบบแฟนเพลงเก่าทั่วไป คือถ้าเกิดมีเด็กรุ่นหลังมาบอกว่าเพลงคอฟเวอร์เพลงนี้ๆ เป็นเพลงต้นฉบับล่ะก็ ต่อให้หัวร้างข้างแตก เราก็จะไม่มีวันยอมเป็นอันขาด (เคยเกือบบีบคอน้องคนหนึ่งมาแล้ว โทษฐานยืนยันว่าบอย ตรัยเป็นคนแรกที่ร้องเพลง "นิดหนึ่งพอ" ไม่รู้จักแฟนพี่แจ้!) อย่างไรก็ดีปรากฏการณ์แบบนี้เป็นเรื่องปรกติมากๆ ในยุคแห่งสื่อและการผลิตซ้ำ ในที่สุดของลอกเลียนแบบอาจกลายเป็นของจริงแทนที่ต้นฉบับก็ได้ (ขนาดเราเป็นแฟนวงอินโนเซนต์ เรายังยอมรับเลยว่า "ฝากรัก" เวอร์ชั่นที่เพราะที่สุดคือแอน คูณสามร้องไว้ในอัลบั้มกรีนรูม)
เอโคเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่าไฮเปอร์เรียลิตี้ หรือสภาพที่ของจำลองเหมือนจริงกว่า และมีคุณค่ายิ่งกว่าของต้นฉบับ ตัวอย่างชัดเจนสุดคือพิพิทธภัณฑ์ Palace of Living Art ในแคลิฟอร์เนีย เป็นพิพิทธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งซึ่งจัดแสดงเฉพาะหุ่นจิตรกร โดยมีหุ่นนางแบบหรือนายแบบโพสต์ท่ายืนอยู่คู่กัน เช่น มีหุ่นดาวินชีทำท่าวาดภาพหุ่นโมนาลิซา ข้อสังเกตของเอโคคือ ด้านหน้าหุ่นจิตรกรจะมีผืนผ้าใบภาพวาดสองมิติวางบนขาตั้ง แต่เหมือนเจ้าของพิพิทธภัณฑ์จะจงใจใช้รูปที่ "ห่วย" เป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกว่างานศิลปะสองมิตินั้น ไม่อาจเทียบเท่ากับหุ่นสามมิติที่ยืนอยู่ตรงหน้าได้ (จะเสียเวลาดั้งด้นไปถึงรูฟเพื่ออะไร ในเมื่อ ณ ที่แห่งนี้ เราสามารถเห็นโมนาลิซ่าตัวเป็นๆ แถมดาวินชีด้วยเอ้า!)
การที่ไฮเปอร์เรียลิตี้โด่งดังและเป็นที่นิยมในอเมริกานั้น ไม่ใช่เรื่องยากเกินความเข้าใจ ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากความห่ำหั่นกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วสองฝากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก อีกส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ อเมริกาอาจเป็นประเทศเดียวในโลกซึ่ง เมื่อสามสิบปีที่แล้ว มีศักยภาพจะสร้างดิสนีย์แลนด์ (สุดยอดดินแดนแห่งไฮเปอร์เรียลิตี้) ขึ้นมาได้ กระนั้นก็ตาม เอโคมองลึกลงไปกว่านั้นอีก
the frantic desire for the Almost Real arises only as a neurotic reaction to the vacuum of memories; the Absolute Fake is offspring of the unhappy awareness of a present without depth.
อีกนัยหนึ่งคือ คนอเมริกาผู้ไม่มีประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง จำลองประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ให้เหมือนจริงที่สุด โดยซ่อนสาส์นลึกๆ ไว้ว่า "จะสนใจทำไมกันกับประวัติศาสตร์ ในเมื่อปัจจุบันนี้ เราสามารถจำลองประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ ไฉไลกว่าเดิมด้วยซ้ำ"
แต่พูดไป อาการไฮเปอร์เรียลิตี้ของคนอเมริกาก็ยังตั่งมั่นอยู่บนความต้องการ "อนุรักษ์" ประวัติศาสตร์ ทีนี้ลองหันกลับมาดูประเทศไทยบ้าง
เราคิดไปเองหรือเปล่าว่า เมืองหลวงเก่า น่าจะเป็นเมืองที่เจริญอันดับ (ถ้าไม่สอง) ก็ต้นๆ ของประเทศ เช่น เกียวโต-โตเกียว เวียงจันท์-หลวงพระบาง (แต่ บอนน์ ในเยอรมันตะวันตก ก็ไม่ใช่เมืองใหญ่อะไร) ถ้าเช่นนั้นอยุธยาก็ต้องถือว่าน่าผิดหวังเอามากๆ บึงพระรามเป็นสวนขนาดใหญ่ล้อมรอบด้วยวัดเก่าวังเก่า น่าจะเป็นสถานที่อันสวยงาม ใครๆ ก็อยากมาเดินเล่นเดินชม ทั้งนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น แต่ไม่รู้เป็นความตั้งใจหรืออย่างไร ที่ต้องเก็บภูมิทัศน์รอบบึงพระรามให้มันดูโทรมๆ แล้งๆ สมกับโบราณสถานเหล่านั้น (หรือเราผิดเองที่มาช่วงฤดูร้อน)
เราไม่ปฏิเสธหรอกว่า การสร้างสวน ปรับภูมิทัศน์เป็นงานช้าง สิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล แต่เราสงสัย มันจะมากกว่าทุนสร้างหนังนเรศวรสักแค่ไหน เราสามารถทุ่มเทเงินทองไปกับการสร้างไฮเปอร์ฮิสตอรี (ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างและน่าเชื่อถือกว่าประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว) แต่ปล่อยประวัติศาสตร์ให้เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวของฝรั่ง
หรือว่านี่คือความตั้งใจ เพราะประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ผู้มีอำนาจสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลา ไฉไลกว่าซากอิฐซากปูนเป็นไหนๆ สุดท้ายแล้วคนไทยจะรู้จักอยุธยาจากหนังของท่านมุ้ยมากกว่า "ของจริง" ที่เป็นเพียงซากปรักหักพังหรือเปล่า
T. Rosenberg's "The Haunted Land"
เผด็จการมีอยู่สองแบบคือ "อำนาจนิยม" และ "เบ็ดเสร็จนิยม" อำนาจนิยมฟังดูผิวเผิน เหมือนจะน่ากลัวกว่า เพราะหมายถึงระบบที่ผู้ปกครองมีกำลังทหารล้นฟ้า ไม่พอใจใครที่ไหน อยากได้อะไร ก็ใช้กองทัพไปยื้อแย่งฉุดมา ผู้นำอำนาจนิยม จะไม่หลอกตัวเอง (นัก) ว่าทำนู่นทำนี่เพื่อประชาชน และประชาชนก็จะไม่หลอกตัวเองว่ากำลังสุขีปาน orgasm ที่ได้อยู่ใต้รองเท้าบู๊ตทหาร ประชาชนในอุดมคติของนักเผด็จการอำนาจนิยม คือพวกปิดหูปิดตาตัวเอง หากินไปวันๆ นี่คือเผด็จการทุนนิยมแบบละตินอเมริกา
เบ็ดเสร็จนิยมนั้นตรงกันข้าม มันคือเผด็จการที่ใช้อำนาจผ่านอุดมการณ์ ผู้นำเผด็จการแบบนี้จะเชื่อมั่นอย่างจริงใจว่าตัวเองกำลังทำเพื่อประชาชน มีแต่การเสียสละ (อย่างไม่เต็มใจ) ของคนนับร้อยเท่านั้น ที่จะปกป้องทั้งชาติไม่ให้เป็นเหยื่ออำนาจที่เลวร้ายกว่าได้ ประชาชนในอุดมคติของเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม แค่อยู่เฉยๆ อย่างเดียวไม่พอ อันที่จริงพวกที่อยู่เฉยๆ นี่แหละ จะถูกตัดสินว่าเป็นศัตรูของรัฐ ประชาชนต้องแสนสุขี มีส่วนร่วมเสียวกำซาบไปกับการโดนริดลอนอิสรภาพด้วย ("การเต้นรำของเหล่าทวยเทพ" คือคำเปรียบเปรยที่กุนเดระใช้เรียกพฤติกรรมของคนในระบอบแบบนี้) นี่คือเผด็จการคอมมิวนิสต์ แบบยุโรปตะวันออก และสารขัณฑ์แลนด์
ถ้าประวัติศาสตร์ จะให้บทเรียนอะไรอย่างหนึ่งแก่เรา นั่นก็คือ เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกเหมือนตัวเองจำเป็นต้องเลือก "หนทางที่เลวร้ายน้อยกว่า" (lesser evil) เป็นไปได้มากว่า 1) เรายังไม่เข้าใจสถานการณ์ดีพอ และ 2) อีกทางที่เราปฏิเสธ นอกจากมันจะไม่เลวร้ายน้อยกว่าแล้ว มันอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีเลยก็ได้
ดังเช่นที่จารูเซลสกี ผู้นำโปแลนด์ในยุคคอมมิวนิสต์ บอกตัวเองตลอดเวลาว่าที่สั่งให้ทหารยึดอำนาจ เพราะไม่ต้องการให้รัสเซียส่งกองทัพรถถังเข้ามา ประกอบกับตัวเขาและพรรคพวกมอง Solidarity พรรคซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามว่าเป็นต้นกำเนิดแห่งความชั่วร้าย ดังเช่น นักการเมือง และประชาชนอีกหลายคนในยุโรปตะวันออก การพูดถึง "หนทางที่เลวร้ายน้อยกว่า" คือหนึ่งในกลวิธีการควบคุมศีลธรรมของเผด็จการคอมมิวนิสต์
The Haunted Land คือผลงานชิ้นเอกของทินา โรเซนเบิร์ก (เข้าใจว่ามันชนะรางวัลพูลิตเซอร์ด้วย) ในปี 1995 โรเซนเบิร์กเดินทางไปยุโรปตะวันออก เพื่อค้นหาว่าผู้ค้นในเยอรมันตะวันออก โปแลนด์ และเชค รับมือกับอดีตของตัวเอง เพื่อก้าวสู่อนาคตอย่างไร (ความแตกต่างอีกอย่างระหว่างเผด็จการอำนาจนิยมและเบ็ดเสร็จนิยมคือ เมื่อเผด็จการถูกโค่นล้มลงไปแล้ว เฉพาะผู้นำเท่านั้นที่ผิดในระบบอำนาจนิยม แต่เป็นคนทั้งสังคมเลยที่ต้องรับบาปในระบบเบ็ดเสร็จนิยม)
หนังสือน่าอ่านมาก มีฉากหนึ่งติดใจเราที่สุด โรเซนเบิร์กสัมภาษณ์ชาวเยอรมันตะวันออกคนหนึ่ง เมื่อถามว่าหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ชาวเยอรมันตะวันตก พยายามรับมือกับความรู้สึกผิดที่เคยเป็นแขนขาของฮิตเลอร์ คนเยอรมันตะวันออกทำอย่างไร คำตอบคือ "เราไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น เพราะเราไม่เคยเป็นนาซี!" ในความหมายของเขาคือ ถ้าฟาสซิสต์คือวิวัฒนาการขั้นสุดท้ายของระบอบทุนนิยม (ซึ่งไม่จริง) ถ้าเยอรมันตะวันออกอยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ก็หมายถึงพวกเขาต่อต้านฮิตเลอร์ตั้งแต่แรก พรรคนาซีไม่เคยมีจริงในเยอรมันตะวันออก คำตอบของผู้ชายคนนี้ได้รับการยืนยันจากพิพิทธภัณฑ์ที่จัดแสดงข้าวของจากสมัยสงครามโลก ด้านนอกพิพิทธภัณฑ์ปักธงประเทศต่างๆ ที่ตกเป็นเหยื่อนาซี หนึ่งในนั้นคือธงชาติเยอรมันตะวันออก
ในประเทศแห่งอุดมการณ์ที่ไม่ยอมรับแม้แต่ว่าเราเคยแพ้สงคราม นั่นแหละคือสัญลักษณ์ของเผด็จการเบ็ดเสร็จนิยม
A. Burgess's "The End of the World News"
สิบกว่าปีมาแล้ว ตอนที่ Armageddon เพิ่งออกฉายใหม่ๆ ยังไม่มีใครรู้จักชื่อไมเคิล เบย์ นักวิจารณ์หนังหลายคนพูดตรงกันว่า "ถ้าโลกเราจะต้องถูกช่วยเหลือด้วยคนอย่างบรูซ วิลลิสหรือเบน เอฟเฟค ปล่อยให้มันแตกไปเลยดีกว่า" กล่าวคือ ถ้ามนุษยชาติเป็นได้แค่พวกลิงกังที่ขึ้นยานอวกาศไปถล่มอุกกาบาต ก็ไม่สมควรแล้วที่จะมีมนุษยชาติสืบต่อไป
นักวิจารณ์เหล่านั้นไม่เคยอ่าน The End of the World News แน่ๆ ...ซึ่งก็ดีแล้วละสำหรับพวกเขา
เบอเกสส์ถกเถียงในทางตรงกันข้าม เขาพยายามบอกว่าลิงกังเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้มนุษยชาติมีคุณค่า อุกกาบาตนามลิกซ์กำลังพุ่งมาชนโลก มีโปรเจคลับที่รวบรวมนักวิทยาศาสตร์ชั้นหัวกะทิมาไว้ด้วยกัน และส่งขึ้นยานอวกาศ พร้อมข้อมูลต่างๆ เพื่อสักวันหนึ่ง พวกเขาจะได้สืบทอดเผ่าพันธุ์มนุษย์ เบอเกสส์พยายามบอกว่า ถ้ามีแต่พวกหัวกะทิอย่างเดียว โลกนี้ก็จะปราศจากสีสัน ต้องมีคนเพี้ยนๆ บ้าๆ มาร่วมทีมด้วย
The End of the World News ถูกเขียนเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ในสมัยนั้น นี่อาจเป็นความคิดใหม่เอี่ยมแกะกล่อง แต่ในปัจจุบัน หลังจากหนังอย่าง 2012 The Day After Tomorrow ออกมาชนโลก เหตุและผลของเบอเกสส์ดูจะกลายเป็นเรื่องน่าเย้ยหยันเสียมากกว่า (มันช่วยไม่ได้จริงๆ ที่เราอ่านนิยายเล่มนี้แล้วจะเห็นหน้าเบน เอฟเฟค จอห์น คูแซค โผล่ออกมาแทนที่ตัวเอก)
The End of the World News ตัดสลับเหตุการณ์วันสิ้นโลก กับชีวประวัติฟรอยด์ และละครเพลงเกี่ยวกับทรอตสกี้ แต่ละส่วนยั่วล้อกันอยู่อย่างน่าสนใจ แต่ในอีกแง่หนึ่ง มันกลับเพิ่มความหนาให้กับหนังสือที่ไร้สาระอยู่แต่แรกแล้ว
เบอเกสส์เป็นคนเขียนหนังสือสนุก คล้ายๆ "อาจารย์" ของเขาคือเจม จอยซ์ เบอเกสส์ใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างเสมือนเป็นแขนขาตัวเอง (เราแทบจะร้องตามละครเพลงของทรอตสกี้ไปด้วยได้) แต่ความสนุกทางภาษาสักแค่ไหน ก็ไม่พอรับน้ำหนักความเหลวไหลไร้สาระนี้
แอบคิดเล่นๆ ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปสักแค่ไหน ถ้าในปีที่ Armageddon ออกฉาย หนังอุกกาบาตอีกเรื่องหนึ่ง Deep Impact ประสบความสำเร็จมากกว่า (อาจจะไม่ได้ดีนัก แต่อย่างน้อย Deep Impact ก็พยายามเล่นกับประเด็นวันสิ้นโลกอย่าง "เป็นผู้ใหญ่") ในวันนี้ เราอาจจะตื่นเต้นและอินไปกับ The End of the World News ก็ได้
M. Kundera's "Encounter"
ใน Elsewhere อันเป็นบทความหนึ่งใน Encounter กุนเดระเล่าถึงเหตุการณ์ที่ท้าทายความคิดเราอย่างมาก ช่วงที่รถถังรัสเซียเข้ามาปิดกรุงปราก กุนเดระนั่งรถไปหาหมอกับเพื่อนกวีคนหนึ่ง ทั้งคู่คุยกันถึงฮราบาล ฮราบาลเป็นนักเขียนชาวเชค โดยผลงานของฮราบาลนั้นไม่ได้มีวาระทางการเมืองเลย ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าเชคจะอยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการรัสเซีย นักเขียนและปัญญาชนถูกขับให้ออกจากงานและสั่งห้ามพิมพ์หนังสือ ฮราบาลก็ยังสามารถตีพิมพ์ผลงานของตัวเองต่อไปได้
เพื่อนของกุนเดระประณามฮราบาล โดยบอกว่าการนิ่งดูดายคือการทรยศต่อมวลชน ขณะที่กุนเดระกลับเถียงว่า ศิลปะที่ไร้การเมืองในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง มีคุณค่ากว่าแผ่นพับที่นักต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ผลิตออกมาทั้งชีวิต
ในแง่หนึ่งเราเข้าใจจุดยืนของกุนเดระ นี่คือการต่อต้านเมโลดรามา อุดมการณ์ และ kitsch แบบที่เราเรียนรู้จากเขามาตลอดชีวิต แต่ในอีกแง่หนึ่ง เมื่อเราปรับมันเข้าหาบริบทการเมืองไทย หมายถึงเราจะต้องยอมรับวรรณกรรมคริคริ ที่ยืนยันว่าตัวเองเป็นกลางทางการเมืองหรืออย่างไร ถ้าเช่นนั้น ก็ขัดกับสิ่งที่ซาร์ตพูดใน What is Literature? ว่านักเขียนจะต้องเลือกข้าง
ประเด็นคือ "ไร้การเมือง" ไม่เหมือนกับ "เป็นกลางทางการเมือง" ยกตัวอย่างผลงานเรื่องใหม่ของพี่เจ้ย แม้จะมีการพูดถึงคอมมิวนิสต์ เจ้าหญิงกับปลาดุก รวมถึงโลกอนาคตที่คนถูกแสงประหลาดลบหายไป ลุงบุญมีระลึกชาติ คือภาพยนตร์ที่ไร้การเมืองที่สุดเรื่องหนึ่ง พี่เจ้ยไม่ได้ปฏิเสธการพูดถึงการเมือง หรือการเลือกข้าง แต่ในท้ายที่สุด สิ่งที่ตัวผลงานพูดออกมาไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองเลย (กลับเป็นประเด็นมนุษย์ ประวัติศาสตร์ และตำนานท้องถิ่นแทน) นี่คือสิ่งที่เราชื่นชม และเราเชื่อว่ากุนเดระเองก็คงจะชื่นชมเหมือนกัน (อาจจะเป็นเพียงเหตุบังเอิญแต่ฮราบาลถูกจัดให้เป็นบิดาแห่งภาพยนตร์เชคนิวเวฟ)
ตรงกันข้าม เรื่องสั้นไทยหลายชิ้นที่เราอ่านในระยะหลังนี้มีน้ำเสียงที่พยายามเป็นกลางทางการเมือง เช่น เรียกร้องให้คนหันมาใส่เสื้อขาว แต่น่าสังเกตว่าผลงานเหล่านี้มักจะมาจากนักเขียนที่เคยเลือกข้างฝั่งหนึ่งอย่างชัดเจน
ในชีวิตจริง ไม่มีใครหรอกที่เป็นกลาง มีตำนานเล่าว่า หากลาตัวหนึ่งยืนอยู่ตรงกลางพอดีระหว่างฟางสองกองที่มีขนาดเท่ากัน ลาตัวนั้นจะอดตายเพราะจนแล้วจนรอด มันจะไม่สามารถเลือกได้ว่าควรเดินไปเคี้ยวฟางกองไหนดี ตำนานนี้ต้องการแสดงให้เห็นความโง่ของลา แน่นอนว่าในชีวิตจริง เรื่องนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ไม่มีฟางสองกองใดที่มีขนาดเท่ากันเป๊ะ และไม่มีลาตัวไหนที่โง่ขนาดหิวท้องกิ่วแล้วยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกกองไหน
ในทางการเมืองก็เหมือนกัน เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเลือกข้างแล้วทั้งนั้น นักเขียนผู้ไม่ซื่อสัตย์กับตัวเองจะพยายามบอกโลกว่าเขาเป็นกลาง เลือกที่จะเป็นลา แต่นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ (ตามนิยามของซาร์ต) จะแสดงสีการเมืองออกมาอย่างชัดเจน
และบางทีการเลือกข้างของเขา อาจจะช่วยให้เขาผลิตผลงานที่ไร้การเมืองและอยู่เหนือกาลเวลาได้อย่างแท้จริง
J. Berger's "Ways of Seeing"
คุณจะมองงานศิลปะไม่เหมือนเดิมหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้
จุดยืนของเบอเกอร์ใน Ways of Seeing น่าตื่นเต้นมากๆ เขาบอกว่าภาพวาดสีน้ำมัน ซึ่งเป็นงานศิลปะเชิดหน้าชูตาของยุโรป ไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากเรมบรังซ์ หรือทินทอเรตโต แต่เป็นเหล่าบรรดาจิตรกรหัวการค้าที่วาดรูปเพื่อสนองตัณหาของชนชั้นสูงต่างหาก
สุทรียะของภาพวาดสีน้ำมันอ้างอิงอยู่บนความปรารถนาที่จะครอบครองโดยคนชั้นสูง แค่เพียงมีสนมที่สวยงามจนชายทั้งแผ่นดินอิจฉายังไม่เพียงพอ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปนางก็จะโรยรา เศรษฐีจึงต้องมีภาพวาดของนางเก็บเอาไว้ด้วย ถึงจะได้ชื่อว่าครอบครองนางอย่างสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ ศิลปินชื่อดังอย่างเรมบรังซ์ แวนโก๊ะร์ เวอเมีย ถึงได้ตกระกำลำบาก ไม่ใช่เพราะพวกเขาเลือกที่จะให้เกียรติพู่กันและผืนผ้าใบ สร้างงานศิลปะบริสุทธิ์ แต่เพราะพวกเขาเลือกที่จะต่อต้านพู่กันและผืนผ้าใบต่างหาก ศิลปะบริสุทธิ์ สำหรับเบอเกอร์ แท้จริงคือศิลปะที่ปฏิเสธธรรมชาติของตัวเอง
จากจุดนี้ เบอเกอร์ขยับขยายไปวิเคราะห์งานโฆษณาบ้าง ข้อสรุปของเขาคือ แม้ว่าโฆษณาเป็นการขายอนาคต หลอกให้ผู้บริโภคคิดไปเองว่าเมื่อซื้อสินค้าตัวนี้แล้ว ชีวิตของเขาจะดีกว่าเดิมสักเท่าไหร่ กระนั้นก็ตาม วิธีการเดียวที่จะขายอนาคตได้คือการใช้อดีตเป็นตัวล่อ อีกนัยหนึ่งคือการกลับไปหาภาพวาดสีน้ำมันนั่นเอง
ขนาดในประเทศไทย ถ้าเราลองมองพวกโฆษณาดังๆ ทั้งหลาย ล้วนแต่ขายหรืออ้างอิงความหวนคะนึง (Nostalgic) บางอย่าง (เพชราเอย ปูนซีเมนต์ไทยเอย เอมเคสุนทราภรณ์ ทำไมเปบทีน "รื่นเริงทัศนาจร" จะต้องขับรถไปเยี่ยมผู้เฒ่าผู้แก่ในบ้านทรงไทยด้วย) หรือแม้แต่เพลงโฆษณาที่ดังๆ ก็มักจะเป็นเพลงเก่ามาทำใหม่ มากกว่าเพลงที่แต่งขึ้นพิเศษ แน่นอนละว่ามีข้อยกเว้น เราเองก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่า เจเล่บิวตี้ ที่เอาสาวๆ โกธโลลิมาเต้นดุกดิก มันหวนคะนึงถึงอะไรหว่า
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าตั้งแต่นี้เราคงมองโฆษณาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
Subscribe to:
Posts (Atom)