G. Meredith's "An Essay on Comedy"


Comedy รวบรวมสองบทความโดยสามนักเขียน สองบทความแรกเป็นบทความคลาสสิกเกี่ยวกับเรื่องตลกและเสียงหัวเราะของเมเรดิธและเบิร์กสัน Laughter ของเบิร์กสันนั้นเราอ่านแยกต่างหากไปแล้ว เมเรดิธเป็นนักเขียนรุ่นเดียวกับเบิร์กสัน อ่านบทความชิ้นนี้จบ ก็เข้าใจเลยว่าทำไมเบิร์กสันถึงได้รางวัลโนเบลแต่เมเรดิธไม่ได้ (ฮา) เมเรดิธเป็นนักเขียนมากกว่านักปรัชญา ใน An Essay on Comedy แกคงตั้งใจแสดงความคิดเห็นมากกว่าวิเคราะห์อะไรให้ลึกซึ้ง แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงจงใจเอาบทความนี้มารวมเข้ากับของเบิร์กสัน ทั้งสองมองเห็นสิ่งหนึ่งตรงกันกันคือบทบาทเชิงวิพากษ์สังคมของเสียงหัวเราะ

ประเด็นเดียวเลยที่น่าสนใจในบทความของเมเรดิธคือแกแบ่งเรื่องขำขันออกเป็นสี่ประเภท ประเภทแรกคือการประชดประชัน (Satire) ซึ่งมีเป้าหมายคือทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งด้วยวาจา การย้อนแย้ง (irony) คือหลอกด่าอีกฝ่าย ให้เขางงๆ ว่าเรากำลังด่าอยู่แน่หรือเปล่า โปกฮา (Humor) เป็นความขำขันที่เกิดจากการล้อเล่นเอ็นดู และสุดท้ายสุขนาฏกรรม (Comedy) ซึ่งเมเรดิธจัดว่าอยู่ในระดับสูงสุด เป็นความขำขันอันเกิดจากการมองเห็นและเข้าใจอีกฝ่ายอย่างถ่องแท้ ไม่เคยเห็นใครแยกแยะเรื่องตลกเป็นจำพวกๆ โมเดลนี้น่าขบคิดอยู่ไม่น้อย เมื่อมองไปรอบตัว เห็นอะไรขำขัน เราก็สามารถจัดสรรได้ว่าอะไรเป็นอะไร เช่น พี่โน้ต อุดมคงอยู่ระหว่างโปกฮาและประชดประชัน ส่วนคุณเรณู ปัญญาดีเป็นพวกย้อนแย้งบวกสุขนาฏกรรม

เมเรดิธตั้งสมมติฐานขึ้นมาข้อหนึ่งซึ่งเท่มาก แต่แกไม่ได้หาหลักฐานอะไรมาวิเคราะห์สนับสนุน เมเรดิธบอกว่าวัฒนธรรมใดยิ่งมีความทัดเทียมกันระหว่างเพศหญิงและเพศชาย ความตลกก็ยิ่งวิวัฒนามากขึ้นในวัฒนธรรมนั้น จากโมเดลนี้ เมเรดิธสรุปว่าคนอาหรับนั้นเส้นลึกกว่าคนเยอรมัน ซึ่งเส้นลึกกว่าคนอิตาลี และที่เส้นตื้นสุดสองประเทศคู่คี่กันมา (และมีอารยธรรมสูงสุดด้วย) คืออังกฤษและฝรั่งเศส

เรื่องคนอาหรับไม่รู้ แต่สำหรับเยอรมัน ยืนยันได้ว่าประเทศนี้ไม่ฮาจริงๆ มีโจ๊กฝรั่งเขาบอกว่า นรกเป็นอย่างไรน่ะหรือ คือที่ที่คนอังกฤษทำอาหาร คนฝรั่งเศสขับรถ แล้วก็คนเยอรมันเล่าเรื่องตลกนั่นเอง

L. Althusser's "For Marx" *


หากเราคิดจะแบ่งนักปรัชญาสายมาร์คซิสออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่นิยมเฮเกลและกลุ่มที่ต่อต้านเฮเกล ซีเซคคงจัดอยู่ในกลุ่มแรก และอัลธูแซร์อยู่ในกลุ่มหลัง ดีมากเลยที่ได้อ่านและพูดถึง For Marx หลังจาก The Obscure Object of Ideology พอดี มันช่วยเปรียบเทียบให้เราเห็นและเข้าใจหลายอย่างชัดเจนขึ้น

For Marx ประกอบด้วยเจ็ดบทความ ถูกเขียนขึ้นมาต่างกรรมต่างวาระ แต่ทั้งเจ็ดก็ร้อยเรียงเข้าหากันอย่างน่ามหัศจรรย์ เพื่ออธิบายว่า “เฮเกลมั่ว!” อย่างไร อัลธูแซร์อ้างอิงประโยคเด็ดของมาร์คจาก Capital ว่าวิภาษวิธีของเฮเกลต้องนำมา “กลับหัวกลับหาง” ก่อนจึงจะใช้ได้ อัลธูแซร์ขยายความต่อไปอีกว่า แค่กลับหัวกลับหางไม่พอ แต่ต้องรื้อถอนออกใหม่หมด และในระหว่างการรื้อถอนนั้นเอง สองแนวคิดคลาสสิกก็ถือกำเนิดขึ้นมาคือ Superstructure หรือ โครงสร้างส่วนบน และ Overdetermination หรือ สภาวะที่มีข้อกำหนดมากเกินพอ (โครงสร้างส่วนบนเข้าใจว่ามาจากกรัมซี แต่อัลธูแซร์เองก็อรรถาธิบายคำคำนี้เอาไว้ไม่น้อย)

วิภาษวิธีของเฮเกลคือศาสตร์แห่งความเป็นหนึ่งเดียว ของชิ้นหนึ่งแตกออกเป็นสองส่วนที่ขัดแย้งกันเอง เปลี่ยนแปลงสภาวะภายใน และค่อยๆ ผสานสองความแตกต่างให้ลงตัว ของชิ้นนั้นจึงกลายเป็นอีกชิ้นที่สมบูรณ์กว่า เฮเกลเชื่อว่านี่คือพัฒนาการทางสังคม ดังนั้นความขัดแย้งทุกอย่างที่เราเห็น (เช่น เด็กเผาห้องสมุดโรงเรียนตัวเอง เสธร้อยศพขึ้นปกอะเดย์ฯ ) เป็นเพียงความขัดแย้งผิวเผิน ที่สะท้อนอาการเคลื่อนขยับของสังคมแบบ “น้ำลอดใต้ทราย เดือนหงายกลางป่า”

อัลธูแซร์ปฏิเสธแนวคิดนี้ เขาไม่เชื่อว่าของชิ้นหนึ่ง หากไม่อาศัยอะไรจากภายนอกเลย จะสามารถพัฒนาไปเป็นอีกชิ้นหนึ่งได้ ความไม่เชื่อของอัลธูแซร์แปรออกมาเป็นบทวิจารณ์ละคร พลอตละครทั่วไปเป็นเรื่องการเดินทางของตัวเอกจากสถานที่แห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง หรือเติบโตจากความเชื่อแบบหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่ง ผ่านปฏิสัมพัทธ์กับผู้คนรอบข้าง ซึ่งโดยผิวเผินแล้วก็เหมือนตัวเอกเติบโตและผสานความแตกต่างจากภายนอกจริง กระนั้นก็ตามตราบใดที่ผู้ชมยังรู้สึกร่วมไปกับตัวเอก ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเขาหรือเธอก็จะถูกกลืนหายกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวละคร ท้ายสุดตัวเอก (และคนดู) ก็จะไม่มีวันเติบโตหรือได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ (เอาโมเดลนี้มาจับนิยายไทย จะพบว่าจริงจนน่าขนลุก ไม่มีหรอกตัวเอกที่ยืนอยู่คนละฝั่งกับคนอ่านตั้งแต่ต้นเรื่อง หรือต่อให้เป็นแอนไทร์ฮีโร่จริง ก็ต้องแอบซ่อนอุดมคติเดียวกับกลุ่มเป้าหมายของละครนั้นๆ ) ความบันเทิงของชนชั้นกลางจึงเป็นเพียงการตอกย้ำโครงสร้างส่วนบนที่พวกเขาเชื่ออยู่แล้ววนไปวนมาเท่านั้น อัลธูแซร์ปิดท้ายว่ามีแต่บทละครของเบรชที่วางศูนย์กลางของเรื่องออกไปจากตัวละครหลัก จึงจะช่วยให้คนดูเติบโตจากงานศิลปะชิ้นนั้นได้จริง

สำหรับอัลธูแซร์ ไม่ใช่ว่าความขัดแย้งภายในมันสะท้อนออกมาให้เราเห็นเป็นรูปธรรม แต่รูปธรรมของความขัดแย้งนั่นต่างหากที่เป็นตัวกำหนดและขับเคลื่อนสังคมจากภายนอก นี่เองคือสภาวะที่มีข้อกำหนดมากเกินพอ (อยากได้คำแปลที่มันเซ็กซี่กว่านี้) สังคมไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยการผลิต แต่มันยังมีโครงสร้างส่วนบน ปัจจัยเฉพาะทั้งภายในและภายนอกประเทศ

จุดนี้คิดต่อไปได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักวิชาการเสื้อสีอะไรก็ตาม การพยายามอธิบายสังคมไทยผ่านชุดความคิดทางเศรษฐศาสตร์ จะไม่มีทางให้คำตอบที่รอบด้าน สุดท้ายก็จะเป็นการเถียงกันว่าเราควรจัดการอย่างไรกับช่องว่างของรายได้ ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปว่าคนชนบทถูกจ้างวานหรือขับเคลื่อนด้วยความตั้งใจ (ผลประโยชน์) ของตัวเอง ทั้งสองคำตอบก็ล้วนเป็นคำตอบที่ไม่สมบูรณ์ทั้งนั้น การแก่งแย่งทรัพยากรการผลิตเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของความขัดแย้ง ยังมีความขัดแย้งทางด้านวัฒนธรรม การเมือง ศีลธรรม และอีกมากมาย รวมไปถึงความขัดแย้งบนท้องถนนที่จับต้องได้ (หรือแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นก็ได้ด้วย)

ต่อให้ประเทศไทยไม่เคยมีชนชั้น ทันทีที่กระสุนปืนมันเจาะร่างใครสักคน ชนชั้นก็เกิดขึ้นมาเมื่อนั้นเอง ไม่ใช่ไพร่ ไม่ใช่อำมาตย์ แต่เป็นชนชั้นผู้ฆ่า และชนชั้นผู้ถูกฆ่า

H. Bergson's "Laughter"


การได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของศิลปะแนว Futurism แม้เพียงแค่เล็กน้อย ช่วยให้เราเข้าใจเบิร์กสันและปรัชญาของแกดีขึ้นมาก จำได้ว่า Matter and Memory เป็นหนังสือปรัชญาเล่มแรกๆ ที่เราอ่านและพูดถึงในรักชวนหัวเมื่อสองสามปีก่อน สมัยนั้นก็อ่านต้วมๆ เตี้ยมๆ แต่ตอนนี้ ถามว่าเข้าใจ Laughter ดีแค่ไหน ตอบเต็มปากเต็มคำเลยว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เห็นว่าดีมาก จึงไม่แปลกใจอีกแล้วที่เบิร์กสันได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม/ปรัชญา

หนังสือที่พูดถึงเสียงหัวเราะโดยนักปรัชญาชื่อดัง เท่าที่รู้ก็มีเล่มนี้และของฟรอยด์ โดยทั้งคู่มองไปที่คนละประเด็น ฟรอยด์บอกว่าการหัวเราะเกิดจากการโยกย้ายของสัญญะจากความคิดหนึ่งไปยังอีกความคิด ผ่าน “ทางด่วนในสมอง” พลังงานส่วนเกินจึงถูกปลดปล่อยออกมาเป็นเสียงหัวเราะ ส่วนเบิร์กสันบอกว่าเสียงหัวเราะเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เราตระหนักเห็นความเป็นเครื่องยนต์กลไกที่ปรากฏในตัวมนุษย์ ในสังคมมนุษย์ หรือในสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมของมนุษย์ (ความคิดที่หมกมุ่นอยู่กับเครื่องยนต์กลไกนี้เป็นลักษณะเด่นในปรัชญาของเบิร์กสัน ซึ่งส่งอิทธิพลไปยังศิลปะแนว Futurism, Dadaism และ Surrealism) เบิร์กสันอธิบายว่าเสียงหัวเราะและการเย้ยหยันนี้ จริงๆ แล้ว เป็นกลไกทางสังคมอย่างหนึ่งที่คอยป้องกันไม่ให้มนุษย์ทำตัวเหมือนเครื่องจักร

อ่านแค่นี้เราอาจจะเถียงได้ แล้วสมัยก่อนที่มนุษย์เรายังไม่มีเครื่องจักรนี่ คนเราไม่เคยขำกันเลยหรืออย่างไร เบิร์กสันนิยามการทำตัวเหมือนเครื่องจักรว่า คือการทำอะไรบางอย่างลงไปโดยไม่ “อยู่กับร่องกับรอย” เพราะเครื่องจักรเป็นกลไกที่สามารถตั้งโปรแกรมให้เลียนแบบกริยาของมนุษย์ได้ร้อยแปด แต่มันไม่เคยอยู่กับร่องกับรอยในตัวเอง ไม่เคยรู้ว่าที่ทำแบบนี้แบบนั้นลงไป เพราะสาเหตุใด

หากฟังแค่นี้ เราก็คงพอนึกออกว่าอะไรที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย มันก็ฮาจริงๆ นั่นแหละ แต่ก็เป็นนิยามที่แคบไปนิดหรือเปล่า มันจะไม่มีความขำแบบอื่นเลยหรืออย่างไร ประเด็นนี้คือจุดหลักแหลมที่สุดของ Laughter จากนิยามแคบๆ เบิร์กสันขยายความต่อไปอีกว่า เรามองเห็นความเป็นเครื่องจักรได้ชัดเจนสุดเมื่อเราย้ายกลไกหนึ่งในสังคมมนุษย์จากบริบทเดิมไปหาบริบทใหม่ แต่กลไกนั้นก็ยังคงดำเนินต่อไป ทั้งที่กิจกรรมของมันอาจไม่ก่อประโยชน์โภคผลใดแล้วในบริบทใหม่นี้ หรือขัดแย้งกับความเป็นจริงด้วยซ้ำ

ลองเอาแนวคิดตรงนี้มาวิเคราะห์การ์ตูนพี่ต่ายข้างบนดู เนื่องจากคนส่วนใหญ่ คุ้นเคยกับการนั่งหน้าจอทีวีมากกว่ายืนอยู่หลังกล้อง เราจึงคุ้นเคยกับสัญญะระหว่างการมีคลื่นแทรกและการดูทีวีไม่ชัด แต่เมื่อเอาสัญญะหรือกลไกตัวเดิมมาจับบริบทใหม่ คือในห้องส่งสัญญาณ กลไกแบบเดิมก็ยังคงทำงานต่อไปอย่างไม่อยู่กับร่องกับรอย ความขำจึงบังเกิด

หากวิเคราะห์กันจริงๆ แนวคิดของเบิร์กสันเชื่อมไปหาฟรอยด์ไม่ยาก เบิร์กสันถึงกับพูดเลยด้วยซ้ำว่า ความตลกอาศัย “ตรรกะแห่งความฝัน” เหมือนที่เราเห็นได้ในการ์ตูนของพี่ต่ายนั่นเอง นี่เป็นประเด็นที่น่าต่อยอดมากๆ

M. Peleggi's "The Politics of Ruins and the Business of Nostalgia"


ไปเจอร้านหนังสือแซบๆ ในห้างเซนทรัลศาลาแดง อยากเชิญชวนทุกคนแวะไป ชื่อร้านอะไรจำไม่ได้แล้ว แต่เป็นร้านขายหนังสือเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ โดยเน้นที่หนังสือของสำนักพิมพ์ White Lotus ซึ่งเท่าที่เราสำรวจดู สำนักจะพิมพ์แต่หนังสือวิชาการที่เขียนโดยชาวตะวันตกเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าว หลายเล่มพอลองเอาไปเซิร์ซกับอเมซอนหรือกูเกิล ไม่มีขายในอเมริกาด้วยซ้ำ ขอย้ำอีกทีว่าร้านนี้น่าแวะไปมากๆ มันจะอยู่แถวๆ บันไดเลื่อนขึ้นสวนอาหาร (ซึ่งมีอยู่สองฝั่ง ลองสำรวจดู)

โฆษณามายาวเหยียด แต่ต้องปิดท้ายด้วยว่า The Politics of Ruins and the Business of Nostalgia ที่ซื้อมาเป็นเล่มแรก เราค่อนข้างเฉยๆ อาจเพราะมันสั้นเกินไป อ่านแล้วก็เลยยังไม่ได้สาระเท่าที่ควร หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการจัดการโบราณสถานในประเทศไทย โดยเน้นแง่มุมการเมืองและการท่องเที่ยว หลายประเด็นก็ไม่ค่อยใหม่ เป็นเรื่องที่เรารู้กันอยู่แล้ว การใช้ประวัติศาสตร์แห่งชาติเป็นวาทกรรมแห่งอำนาจมาบดบังความขัดแย้งในท้องถิ่น แต่การได้พิจารณาปมนี้ผ่านมุมมองสถานที่ท่องเที่ยวก็จัดว่าน่าสนใจมิหยอก

ประเด็นที่ผุดขึ้นมาระหว่างอ่านหนังสือเล่มนี้ (ไม่แน่ใจว่าคนเขียนแอบหยอดไว้ หรือเรารู้สึกเอง) หนึ่งคือ ทำไมประเทศไทยถึงได้ภาคภูมิใจกับการไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นนัก ในบริบททางวัฒนธรรม เราทำราวกับว่าถ้าฝรั่งเศสเข้ามายึดสยามได้ แล้วจะเปลี่ยนทั้งเมืองให้กลายเป็นปารีส มีหอไอเฟลผุดขึ้นมาริมแม่น้ำเจ้าพระยา แน่นอนว่าในทางเศรษฐกิจ การตกเป็นเมืองขึ้นมีแต่เสียเปรียบ แต่ในทางวัฒนธรรม การไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นเลย ส่งผลให้เราไม่รู้จักการยืดหยุ่นอัตลักษณ์ของตัวเองหรือเปล่า นอกจากนี้ที่บอกว่าเมืองไทยไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นนี่ เมืองไทยตรงไหน คนปัตตานี คนเชียงใหม่ เขารู้สึกไปด้วยหรือเปล่าว่าเขาไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น

อีกประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันคือ ภายใต้ความภาคภูมิใจของการไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้น แท้ที่จริงสิ่งที่เราพยายามขายนักท่องเที่ยวต่างชาติก็คือบรรยากาศความเป็นเจ้าอาณานิคม แหล่งท่องเที่ยวและโรงแรมที่มีชื่อเสียงล้วนสร้างขึ้นมาโดยเลียนแบบบรรยากาศของยุคอาณานิคมทั้งสิ้น เสน่ห์ของการท่องเที่ยวเมืองไทยคือการได้ย้อนอดีตเข้าไปสัมผัสบรรยากาศแบบอาณานิคม ในแผ่นดินที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใคร

ย้ำอีกทีว่าร้านหนังสือนี้น่าแวะเวียนไปมากๆ ราคาหนังสือค่อนข้างแพง (ตกเล่มละห้าร้อยถึงเจ็ดร้อย) พิมพ์ปกไม่สวยเท่าไหร่ แต่ใช้กระดาษดี อย่างไรค่อยๆ หยอดกระปุกหมูก็แล้วกันนะครับ

S. Zizek's "The Obscure Object of Ideology"


ซีเซคเรียกตัวเองว่าเป็น “บุตรทางปัญญา” ของลากอง ปรัชญาของลากองและซีเซควนเวียนอยู่กับปริทรรศน์ (paradox) เนื่องจากสังคมไทยในปัจจุบันนี้เป็นสังคมแห่งปริทรรศน์ The Sublime Object of Ideology ช่วยเปิดหูเปิดตา อธิบายบางอย่างที่เราเฝ้าสงสัยงุนงงตลอดมา ความรู้สึกขณะนี้คล้ายๆ ตอนเพิ่งอ่าน Deep Water จบคือ “ใครก็ด้ายยยยยยย เอาหนังสือเล่มนี้มาแปลเป็นภาษาไทยหน่อย เร็ว!”

หนึ่งในปริทรรศน์ของสังคมไทยที่จับจิตจับใจเราคือ ปรากฏการณ์สถาปนาเสธแดงเป็นนักบุญ เสธแดงเป็นแดงสายเหยี่ยว ลูกน้องคุณทักษิณ โดนจงเกลียดจงชังโดยคนเสื้อเหลือง (และเสื้อแดงเองจำนวนไม่น้อย) ทันทีที่ตาย อยู่ดีๆ ก็มีข่าวลือในหมู่คนเสื้อเหลืองว่าจริงๆ แล้วเสธแดงเป็นพวกนิยมเจ้า แอบเข้าไปเป็นสาย และสุดท้ายก็ถูกทักษิณสั่งเก็บตามระเบียบ

อันที่จริงสังคมไทยเป็นสังคมที่อ่อนไหวกับข่าวลือ ประกอบกับวัฒนธรรมไทยไม่ค่อยชอบพูดถึงคนตายในแง่ร้าย เรื่องนี้อาจไม่ได้แปลกประหลาดอันใด แต่มันมีตัวอย่างหนึ่งใน The Sublime Object of Ideology ที่เราเห็นว่าน่าสนใจยิ่ง อยากนำมาเปรียบเทียบ

ถ้าคุณเป็นคนเยอรมันสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ภายหลังไปฟังคำปราศรัยของฮิตเลอร์ ได้ยินอุดมการณ์ต่อต้านคนยิวของพรรคนาซี แล้วคุณกลับมาพบมิสเตอร์สเติร์น เพื่อนบ้าน มิสเตอร์สเติร์นเป็นคนยิวนิสัยดี ตั้งมั่นในศีลธรรม มีน้ำใจ ไม่ได้ร่ำรวยอะไรแต่ก็ชอบช่วยเหลือคนอื่น ทั้งคนเยอรมันและคนยิวเอง คำถามคือคุณจะรู้สึกอย่างไรกับมิสเตอร์สเติร์น ซีเซคบอกว่า เพียงคุณตั้งคำถามนี้ ก็เท่ากับว่าคุณไม่ได้ตกอยู่ในอุ้งมือของอุดมการณ์ต่อต้านคนยิวตั้งแต่แรก (“Ideology” พอแปลออกมาเป็นภาษาไทยว่า “อุดมการณ์” ค่อนข้างแปร่งแปลก เพราะ “Ideology” คือความเชื่อที่ไม่ต้องพิสูจน์ ซึ่งอาจอุดมหรือหยาบช้าอย่างไรก็ได้) ถ้าคุณเป็นสาวกนาซีจริงๆ ปฏิกิริยาของคุณคือ “เห็นไหม พวกยิวนี่ร้ายลึก! รู้จักปิดบังความชั่วช้าของตัวเองอีกต่างหาก”

สำหรับซีเซค อุดมการณ์ไม่ใช่ความเชื่อ แต่เป็นการกระทำ (ในที่นี้คือความรู้สึกเกลียด) คนเยอรมันไม่ได้เชื่อว่าคนยิวเป็นคนเลว พวกเขาจึงต่อต้านคนยิว ในทางตรงกันข้าม อุดมการณ์สั่งให้เขาต่อต้านคนยิวก่อน แล้วความเชื่อค่อยตามมาทีหลัง ความมหัศจรรย์ของทฤษฎีนี้คือ ไม่จำเป็นแม้แต่น้อยที่ความจริงต้องสอดคล้องกับสิ่งที่คุณ “พยายาม” เชื่อ (ไม่ใช่สิ่งที่คุณเชื่อ) ในทางตรงกันข้าม หัวใจของอุดมการณ์คือความขัดแย้ง ยิ่งสิ่งที่คุณพยายามเชื่อตรงข้ามกับความจริงเชิงประจักษ์เท่าไหร่ คุณก็ยิ่งเชื่อมันอย่างสุดใจเท่านั้น (อันเป็นข้อสรุปเดียวกับฟรอมม์ใน Escape from Freedom)

ซีเซคพยายามใช้ทฤษฎีของลากองเพื่ออธิบายปริทรรศน์ดังกล่าว อัตลักษณ์ของมนุษย์เรามีสองประเภท ประเภทแรกคือ “อัตลักษณ์ในจินตนาการ” (Imaginary Identification) เราเป็นหรือนึกว่าตัวเองเป็นสิ่งที่เราชื่นชม อัตลักษณ์นี้เกิดจากการมองไปยังโลกภายนอก แล้วพบเห็นอะไรที่เราพึงใจ ก็พยายามหยิบจับสิ่งนั้นมาใส่ในตัวเอง ซึ่งก็สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง อัตลักษณ์ประเภทหลังคือ “อัตลักษณ์เชิงสัญลักษณ์” (Symbolic Identification) เกิดจากการพยายามเป็นบางสิ่ง เมื่อสิ่งนั้นมองดูตัวเราแล้ว เราพึงใจกับภาพลักษณ์ของตัวเองที่สุด

อัตลักษณ์ประเภทหลังจะครอบงำอัตลักษณ์ประเภทแรก เพราะมันคงง่ายกว่าที่เราจะพยายามเป็นสิ่งที่ชื่นชอบเรา (เพราะสิ่งนั้น “ขาด” บางอย่างที่เรามี) มากกว่าสิ่งที่เราชื่นชอบ (เพราะตัวเราเอง “ขาด” บางอย่างที่สิ่งนั้นมี) อัตลักษณ์ประเภทที่สองนี้เป็นอัตลักษณ์เชิงสังคม เกิดขึ้นเมื่อเราทำอะไรออกไป และเอาตัวเองไปอยู่ที่ตรงไหน อุดมการณ์สำหรับซีเซคจึงเริ่มต้นจากการทำ แล้วค่อยย้อนกลับไปอีกที ว่าสิ่งที่เราทำดลให้เราเชื่อในอะไรบ้าง (ซีเซคใช้ตัวอย่างจาก Play it Again, Sam มาอธิบายความแตกต่างตรงนี้ ซึ่งเราก็ดันไม่เคยดูเสียด้วย แต่จะว่าไป หนังอะไรที่เนื้อเรื่องวนเวียนกับรักสามเส้าก็คงเอามาใช้เป็นตัวอย่างได้ทั้งนั้นแหละ ด้วยข้อสรุปแบบเชยๆ ว่า “รักคนที่เขารักเราดีกว่า”)

ในปรัชญาของซีเซค ปริทรรศน์คือแก่นแท้ของทุกสรรพสิ่ง เหมือนกับตัวเจาะอกในหนังเรื่อง Alien มันอาจจะเป็นปรสิตที่แอบแฝงอยู่ในร่างกายมนุษย์ แต่เมื่อไหร่ที่มันหนีออกไป เราก็ตายลงเมื่อนั้น เช่นเดียวกับระบอบประชาธิปไตย การเลือกตั้งคือตัวเจาะอก เป็นสิ่งแปลกปลอม (เพราะคนส่วนใหญ่โง่ ซื้อเสียง บลา บลา บลา) แต่เมื่อไหร่ที่เราเอาการเลือกตั้งออกไป ประชาธิปไตยก็ตายลงเมื่อนั้น

สี่บรรทัดสุดท้ายนี้เราไม่ได้สรุปเอง แต่มันออกมาจาก The Sublime Object of Ideology เพียวๆ (รวมถึงตัวเจาะอกด้วย)