G. W. F. Hegel's "Phenomenology of Spirit" (part 1)


เอาเข้าจริงๆ มหากาพย์วิภาษวิธีของเฮเกลมีจุดเริ่มต้นที่ง่อนแง่นจนน่าใจหาย คล้ายๆ ทฤษฎีสัญศาสตร์ของอีโคที่เราเคยพูดถึงไปแล้ว กล่าวคือภาษาไม่อนุญาตให้มนุษย์เราจำเพาะเจาะจง สมมติว่าจังหวะนี้ แมวดำตัวหนึ่งกระโดดผ่านหน้าต่างห้องเรา แล้วเราเอ่ยออกมาว่า “แมวตัวนี้สีดำ” สำหรับผู้ฟัง ผู้อ่านทางเน็ตที่ไม่รู้ว่าแมวตัวนี้คือแมวตัวไหน “แมว” (อันเป็นวัตถุรูปธรรม) กลายเป็น “แมวทุกตัวบนโลก” (อันเป็นวัตถุนามธรรม) ต่อให้เราพยายามเจาะจงลงไปอีกว่า “แมวที่กระโดดผ่านหน้าต่างห้องของรักชวนหัวเวลาสามทุ่ม สามสิบหกนาที ของวันที่ 20 เมษายน 2553 สีดำ” ก็รังแต่จะเพิ่มคำขยายให้เกะกะพะรุงพะรัง สุดท้ายก็ต้องมานั่งนิยามเพิ่มเติมอีกอยู่ดีว่า “หน้าต่าง” “ห้อง” “รักชวนหัว” “สามทุ่ม สามสิบหกนาที” “20 เมษายน 2553” คืออะไร

ภาษาไม่สามารถสื่อสารความจำเพาะเจาะจงออกมาได้ นี่คือข้อสรุปของนักสัญศาสตร์ แต่เฮเกลไปไกลกว่านั้นอีกขั้นหนึ่ง ความคิดความอ่านของมนุษย์เรา (ซึ่งอิงอยู่กับภาษา) ก็ไม่สามารถจำเพาะเจาะจงได้ด้วย ทันทีที่เราเห็นแมวตัวนั้น ภาพ (กลิ่นและเสียง) ของมันเข้าไปตีกันกับความเข้าใจในคุณสมบัติอันเป็นสากลของแมวที่อยู่ในหัวเรา (ตรงนี้คล้ายคลึงกับแนวคิดของศิลปินอิมเพรชชันนิสต์ที่พยายามวาดภาพสิ่งที่พวกเขาเห็นโดยสลัดทิ้งซึ่งการตีความ) “แมวตัวนั้น” คือวัตถุอัตวิสัย ส่วน “คุณสมบัติอันเป็นสากลของแมว” คือวัตถุภาววิสัย เราไม่อาจเปิดรับหรืออาศัยอยู่ในโลกที่มีคุณสมบัติแค่ด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อเราเปลี่ยนวิธีมองโลก โลกก็จะเปลี่ยนไปด้วยตัวเอง (อันเป็นที่มาว่าทำไมปรัชญาของเฮเกลถึงถูกขึ้นชื่อว่าเป็น “อุดมคตินิยม” ซึ่งในกาลต่อมาก็ถูกมาร์คจับมากลับหัวกลับหาง “ตั้งตรง” เสียอีกที)

ถ้ายอมรับ (และเข้าใจ) จุดเริ่มต้นตรงนี้ได้ เฮเกลจะนำพาผู้อ่านไปสู่จิตสำนึกที่พิลึกพิลั่นและซับซ้อนมากๆ ถ้าสิ่งที่เราเปิดรับเข้ามาไม่ใช่ “แมวตัวนั้น” แต่เป็น “จิตสำนึก” ของเราเองเล่า ผลลัพธ์ก็คือการสะท้อนกลับไปกลับมาอย่างไม่สิ้นสุดระหว่างตัวเราและสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา (เฮเกลใช้ตั้งแต่คำว่า “ความเป็นอื่น” “การทำลายตัวตน” จนถึง “ความแตกต่าง” ซึ่งสุดแท้แต่จะไปพยายามอ่านกันเอาเองว่าศัพท์พวกนี้มีความหมายเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร) พึงเข้าใจด้วยว่า สำหรับแนวคิดวิภาษวิธีนั้น การสะท้อนกลับไปกลับมานี่แหละที่เป็นอัตลักษณ์ เป็นจิตสำนึก หาใช่การพยายามสร้างนิยามบริสุทธิ์ของตัวเราและสิ่งอื่นไม่

หนึ่งส่วนสี่ของ Phenomenology of Spirit ผ่านไป เฮเกลมาถึงข้อสรุปที่คล้ายคลึงกับในทางพุทธศาสนามากๆ กล่าวคือมีแต่มนุษย์ที่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นปัจเจกเท่านั้นจึงจะผสานตัวเองเข้ากับ “ธรรม” หรือ “ธรรมชาติ” ได้ (อันนี้เราแปล/แปลงเอง เฮเกลใช้คำว่า “จิตวิญญาณ” และ “สิ่งซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง”) เริ่มจากมนุษย์เอาตัวตนไปสัมผัสสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเขา แล้วปล่อยให้จิตสำนึกสะท้อนกลับไปกลับมา โดยไม่ยึดติดด้านใด้ด้านหนึ่ง มนุษย์ผู้ใดมองธรรมชาติเป็นตัวเขา และตัวเขาเป็นธรรมชาติได้ มนุษย์ผู้นั้นรู้แจ้ง

แต่ถ้าไม่เริ่มจากตัวตน เราก็จะไม่มีโอกาสแม้แต่เดินก้าวแรก นึกถึงคำกล่าวของท่านดาไลลามะว่า สุดท้ายแล้วระหว่างปัจเจกและหมู่คณะ ไม่มีความแตกต่างกันเลย หนทางเข้าสู่ความเป็นปัจเจกคือผ่านทางหมู่คณะ และหนทางผสานตัวเองเข้ากับหมู่คณะ ก็ต้องอาศัยปัจเจกในตัวเราเท่านั้น

ละคร ระคน ตัวตน มนุษย์ (หลายคนเขียน)


ละคร ระคน ตัวตน มนุษย์: วรรณกรรมกับนาฏกรรมศึกษา คือการประกาศศักดิ์ศรีของภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยนี้ก็ไม่เป็นสองรองใครด้านวรรณกรรมศึกษา เราอยากให้มีหนังสือรวบรวมผลงานวิชาการแบบแยกสำนักอย่างนี้ออกมาอีกเยอะๆ ในอนาคต มันน่าจะเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยให้เด็กๆ เอาไปประกอบการเลือกสถานที่ศึกษา ให้ปัจจัยอย่างอื่นนอกจากชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยมาเป็นตัวตัดสินกันบ้าง

แน่นอนว่าคุณภาพของบทความก็ลดหลั่นกันไป เราจะไม่ขอพูดถึงบทความที่เราเฉยๆ หรือไม่ชอบ ส่วนสี่ชิ้นที่ได้เนื้อได้หนังที่สุดคือ จุดจบแห่งการเริ่มต้น ฯ The Zoo Story ฯ ทวิภพ ฯ และ “ซ่อนอยู่ในคำทุกคำเสมอ แววตาฉันพูดอะไร” ฯ โดยเฉพาะ The Zoo Story ฯ ที่เราค่อนข้างเห็นต่างกับอาจารย์จันทวรรณว่าอะไรกันแน่คือความหมายของบทละครเรื่องนี้

แต่ขอเอาบทความ ทวิภพ ฯ มาพูดถึงดีกว่า ไหนๆ อาจารย์นัทธนัยเองก็เป็นทั้งผู้เขียนบทความและบรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ด้วย ใน ทวิภพ ฯ อาจารย์นัทธนัยใช้ภาพยนตร์เรื่อง The Siam Renaissance มาเป็นตัวอย่างของวิธีคิดแบบหลังอาณานิคม ซึ่งโต้กลับวาทกรรมล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกด้วยการยั่วล้อและรื้อสร้าง

ประเด็นที่เราอยากพูดถึงและเสนอแนะอาจารย์นัทธนัยคือ ในความเข้าใจของเรา แนวคิดแบบหลังอาณานิคมน่าจะมีอะไรมากกว่าแค่ผลิกบทบาทระหว่างคนเถื่อนและคนศิวิไลซ์ กล่าวคือหลังอาณานิคมศึกษา (ซึ่งโยงไปหาแนวคิดแบบถิ่นแดนไกลนิยม) สำหรับตะวันตก คือการพยายามทำความเข้าใจแรงขับเคลื่อนในการล่าอาณานิคมของตัวเอง นอกจากเพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจและการเมือง ก็ยังมีการสร้างและค้นหาอัตลักษณ์จากความแตกต่างระหว่างพวกเขาและพวกเรา อีกนัยหนึ่งคือการลบหลู่ตะวันออก ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ตะวันตกเข้าครอบครอง แต่ลบหลู่เพื่อใช้เป็นกระจกส่องมองตัวเองด้วย

ซึ่งเราคิดว่าการอ่าน The Siam Renaissance ในแง่นี้ จะน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีกหรือเปล่า เพราะสยามสมัยรัชกาลที่ 4 ต้องเผชิญหน้ากับผู้มาเยือนจากถิ่นแดนไกล อันทันสมัย และทรงอำนาจอย่างฝรั่งเศส อังกฤษ น่าจะเป็นการเปิดหูเปิดตาและช่วยให้สยามรับรู้และรู้จักตัวเองดีขึ้น (ปฏิกิริยาจึงน่าจะไปไกลกว่าแค่การปกป้องตัวเองตามแนวคิดแบบชาตินิยมในปัจจุบัน)

สนุก ชวนคิด และได้ความรู้มากๆ กับการอ่านบทความในหนังสือเล่มนี้

ความขัดแย้งของเหตุการณ์ (conflict of events)


รุ่นพี่เราถามว่าความขัดแย้งในประเทศไทยตอนนี้มีสาเหตุมาจากความเห็นต่าง และการไม่ยอมรับความคิดของผู้อื่นใช่หรือไม่ (conflict of ideas) เมื่อเรามาใคร่ครวญคำถามของแกดีๆ คำตอบของเราคือไม่ใช่ ปัญหาของประเทศไทยไม่ได้มาจากความขัดแย้งทางความคิด แต่เป็นความขัดแย้งของเหตุการณ์ (conflict of events) การสลายกลุ่มผู้ชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน มีความเป็นไปได้สูงว่าต้นเหตุของการปะทะและบาดเจ็บล้มตายส่วนหนึ่งมาจาก “มือที่สาม” ซึ่งยิงอาวุธเข้าไปในหมู่เจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม เราคิดว่าเหตุการณ์นี้เป็นภาพสรุปของประเทศไทยช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา คำถามคือมือที่สามเป็นใคร เขาทำแบบนี้เพื่ออะไร และจะได้ประโยชน์อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง

คำตอบคือไม่มีคำตอบ สังคมไทยไม่ได้ซื่อขนาดจะเหมารวมอีกแล้วว่ารัฐบาลหรือผู้ชุมนุมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ก่อเหตุ ดังนั้นจึงไม่มีเทวดาหน้าไหนจะคาดเดาได้ว่ายิงกระสุนเข้าไปแล้ว ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์หรือโทษกับตัวเอง การยิงปืนเป็นเพียง “เหตุการณ์” ซึ่งไม่มีเหตุผลหรืออุดมคติอะไรมารองรับ ถึงจะฟังดูน่าเศร้าแต่คนที่พลีชีพ ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และพลเรือน ก็พลีชีพเพื่อเซ่น “เหตุการณ์” ล้วนๆ

อีกกรณีหนึ่งที่ชวนขบคิดคือการตะลุยปิดสื่อของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน จริงๆ แค่ปิดสื่อก็ถือว่าผิดหลักประชาธิปไตยแล้ว หากจะมีคนออกมาโวยวายเรื่องเสรีภาพในการสื่อสารก็น่าจะเป็นคำค้านที่หนักแน่นพอ กระนั้นปฏิกิริยาสะท้อนกลับของกลุ่มคนเสื้อแดงคือ “ถ้าจะปิดพีเพิลแชแนล ก็ต้องปิดเอเอสทีวีด้วย!” คำกล่าวนี้ไม่ได้อ้างอิงหลักการอะไรเลย แต่อ้างอิง “การคงอยู่ของเอเอสทีวี” ซึ่งต้องถือว่าเป็น “เหตุการณ์” อีกเช่นกัน (เพราะอุดมคติของสถานีทีวีช่องนี้คือ “สื่อไม่ใช่กระจกสะท้อนความจริง แต่เป็นโคมประทีปส่องให้เห็นถูกผิด” ซึ่งเอาไปถกเถียงกับใครที่ไหนก็คงโดนเขาหัวเราะเยาะ)

คำว่า “สองมาตรฐาน” ซึ่งยกกันขึ้นมาอย่างหนาหูในช่วงนี้ ก็มีพื้นความคิดมาจาก “ความขัดแย้งทางเหตุการณ์” นี่แหละ

น่าเศร้าที่ความวุ่นวายในประเทศไทย ณ ช่วงเวลานี้ล้วนมาจากเหตุการณ์อันหาที่มาที่ไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการยึดสนามบิน กรณีเขาพระวิหาร (ล่าสุดก็เพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวไทยเข้าชมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น) เมษาเลือดปี 2551 หรือกระทั่งรัฐประหารเองก็ตาม (ต้องไม่ลืมว่ารัฐประหารคราวนี้ต่างจากเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ในสมัยนั้นรัฐบาลชาติชายเป็นรัฐบาลแรกที่มาจากการเลือกตั้ง วาทกรรมการแยกอำนาจฝ่ายปกครองและฝ่ายทหารยังไม่แข็งแรง การรัฐประหารจึงยังพอมีอุดมการณ์มาสนับสนุน)

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้น พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันของอเมริกานั้นมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน รีพับลิกันเชื่อในตลาดเสรีและรัฐบาลขนาดเล็ก ขณะที่เดโมแครตเชื่อว่ารัฐบาลจำเป็นต้องควบคุมบางกลไกเพื่อให้ตลาดดำเนินไปอย่างยุติธรรม นักการเมืองที่มาจากสองพรรคนี้ก็จะดำเนินนโยบายสอดคล้องกับสิ่งที่ฐานมวลชนของเขาเชื่อ ลองมาเทียบกับในเมืองไทยดู ไม่ถึงสองอาทิตย์ หลังจากคุณอภิสิทธิ์ขึ้นเป็นนายก แกก็อัดเม็ดเงินเข้าต่างจังหวัด ซึ่งแทบไม่ต่างจากนโยบายประชานิยมของคุณทักษิณเลย (พูดให้สละสลวยคือ จริงๆ แล้วคุณอภิสิทธิ์ก็พยายามแก้ไขปัญหาความยากจนในต่างจังหวัดอยู่เหมือนกัน)

สงครามผู้ก่อการร้าย สงครามเย็นและสงครามโลกครั้งที่สองคือตัวอย่างของความขัดแย้งทางอุดมการณ์ เมื่อโลกถูกแบ่งเป็นค่ายอิสลาม ค่ายฟาสซิสต์ ค่ายคอมมิวนิสต์ และค่ายประชาธิปไตย แต่ก่อนหน้านั้น เรามีสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งจวบจนปัจจุบันนี้ก็ยังถกเถียงกันได้ไม่รู้จบว่าสาเหตุคืออะไรแน่ นอกจาก "เหตุการณ์" การสังหารมกุฏราชกุมารของออสเตรีย

เมื่อรู้ว่าปัญหาไม่ได้มาจากอุดมการณ์หรือความเชื่อ แล้วเราจะแก้ไขความขัดแย้งในวันนี้ได้ด้วยวิธีใด อย่างแรกก็คือต้องเข้าใจก่อนว่าการตั้งโต๊ะเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดนั้นไม่มีประโยชน์อะไร เพราะหลักการที่ทั้งสองฝ่ายยึดมั่นนั้นเป็นหลักการเดียวกันคือ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” และแน่นอนยิ่งกว่านั้นคือการยัด "หลักการ" เข้าปากอีกฝ่ายไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา ("เสื้อแดงจงใจล้มสถาบัน!" "อภิสิทธิ์ปกป้องอำมาตย์!" "เสื้อเหลืองสนับสนุนรัฐประหาร!")

เมื่อปัญหาอยู่ที่เหตุการณ์ก็ต้องแก้ด้วยเหตุการณ์ ต้องสร้างเหตุการณ์อะไรสักเหตุการณ์หนึ่งเพื่อนำประเทศออกจากความวุ่นวาย (ยุบสภาก็คือหนึ่งในเหตุการณ์นั้น) เมื่อหัวค่ำก็เพิ่งมี “เหตุการณ์” เกิดขึ้น นั่นก็คือการยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็เกิดขึ้นมาอย่างงงๆ ทั้งกองเชียร์สองสีก็ยังงงๆ ว่ามาจากไหน มาทำไม และมาอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าเหตุการณ์นี้จะมาคลายหรือยิ่งขมวดปมให้ประเทศชาติยุ่งเหยิงไปอีก

F. Fukuyama's "The End of History and the Last Man"


ฟุคุยามาเขียน The End of History and the Last Man แล้วเสร็จในปี 1992 พอดีกับช่วงเวลาที่โลกเสรีกำลังเฉลิมฉลองกันอย่างสุดเหวี่ยงกับการแตกสลายของค่ายคอมมิวนิสต์ สิบปีหลังจากนั้น จากเหตุการณ์ 9-11 สงครามร้อนๆ เย็นๆ ของจอร์จ บุช และความพินาศของระบบการเงินอเมริกา หนังสือเล่มนี้ก็ดูจะเสื่อมความนิยมลง นักวิชาการอย่างชอมสกี้มักจะใช้ The End of History and the Last Man เป็นตัวอย่างความผิดพลาดของแนวคิดเสรีนิยมแบบรีพับลิกัน

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็น่าเสียดาย ประเด็นของฟุคุยามาในหนังสือเล่มนี้ “ทรงพลัง” มากๆ (มากเสียยิ่งกว่าแนวคิดทางการเมืองของชอมสกี้อีก) และสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้คนจะศึกษามัน โดยเฉพาะปัญญาชนชาวไทยที่ช่วงนี้ออกมาพูดกันเป็นแฟชั่นว่า “สังคมไทยกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน” แต่เปลี่ยนไปไหนและเปลี่ยนได้อย่างไร The End of History and the Last Man น่าจะช่วยให้บางคำตอบและตั้งคำถามใหม่ๆ ที่น่าสนใจได้

ประเด็นของฟุคุยามามีอยู่สองข้อ ข้อแรกคือประวัติศาสตร์ไม่ได้เกิดซ้ำไปซ้ำมา แต่มีทิศทางแน่นอน เหมือนอย่างที่มาร์กเชื่อ และประเด็นที่สองซึ่งตรงข้ามกับมาร์กโดยสิ้นเชิง นั่นคือจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ไม่ใช่สังคมนิยมแต่เป็น “Liberal Democracy” สุดแท้แต่จะแปลคำคำนี้ เหมาๆ เอาว่าประชาธิปไตยแบบตลาดเสรีคงพอได้กระมัง

เราชอบช่วงแรกของหนังสือเล่มนี้มากกว่าครึ่งหลัง ในช่วงแรกฟุคุยามาอธิบายว่ากระดูกสันหลังซึ่งขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ไปข้างหน้าคือการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ไม่เหมือนกับปรัชญาการเมืองหรือรสนิยมทางศิลปะ วิทยาศาสตร์ไม่มีวัฏจักร ครั้งหนึ่งคนไทยอาจจะปรารถนาให้นายกมาจากการเลือกตั้งถึงขนาดออกมาสละชีพกันบนท้องถนน แต่อีกครั้งหนึ่งคนไทยก็อาจรังเกียจการเลือกตั้งมากพอที่จะทำร้ายผู้อื่นได้ แต่เมื่อเรารู้แล้วว่าฝนมาจากหยดน้ำบนก้อนเมฆกลั่นตัว ครั้นจะหวนไปเชื่อเรื่องพญาแถนนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ (ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าคติเช่นนี้จะต้องสูญหายไปโดยพลัน) แม้กระทั่งเทคโนโลยี แม้จะรู้ว่าการเผาไหม้เชื้อเพลิงนำไปสู่ปรากฏการณ์โลกร้อน แต่วิธีแก้ปัญหาไม่ใช่การสละเทคโนโลยีทิ้ง แต่เป็นการยิ่งพัฒนาไปข้างหน้า สร้างเชื้อเพลิงหรือเครื่องยนต์สะอาดขึ้นมา

ในเมื่อวิทยาศาสตร์เดินทางเดียวแบบนี้ ระบบการเมืองหรือลัทธิ แนวคิด ความเชื่อใดๆ ก็ตามที่ผุดงอกมาจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี ก็ย่อมดำเนินไปแต่ข้างหน้าเท่านั้นด้วย ฟุคุยามาพยายามถกเถียงว่าประชาธิปไตยแบบตลาดเสรีนี่เอง คือผลิตผลจากพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ (เชื่อไม่เชื่อแก ไปหาอ่านกันเอาเองนะ)

ในครึ่งหลังฟุคุยามาใช้ปรัชญาของเฮเกลและโคจีฟมาวิเคราะห์ทิศทางของประวัติศาสตร์ แกบอกว่า ความปรารถนาหลักของมนุษย์มีอยู่ด้วยกันสองข้อ คือความสุขสบายและการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น จะเรียกอย่างหลังสั้นๆ ว่าศักดิ์ศรีก็คงพอได้ ระบบประชาธิปไตยของโลกตะวันตกซึ่งมีรากฐานมาจากแนวคิดของลอคและฮอบบ์ ให้ความสำคัญกับอย่างแรกมากกว่า ประชาธิปไตยทุนนิยมจึงเกิดขึ้นมา เป็นระบบที่รับประกันความสะดวกสบายตราบเท่าที่สมาชิกทุกคนทำงานตามบทบาทหน้าที่ แต่ก็เป็นระบบที่ไม่เอื้อต่อความเท่าเทียมในสังคม (คือไม่รับประกันศักดิ์ศรีนี่เอง)

อธิบายแบบคร่าวๆ เท่านั้น เพราะฟุคุยามาก็เถียงตัวเองอีกนั่นแหละว่าแล้วอย่างนี้ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมมันจะเป็นคำตอบสุดท้ายของมนุษยชาติได้อย่างไร เพียงเพราะแค่ว่ามันดีกว่าสังคมนิยมเท่านั้นหรือ (เหมือนในวาทะอมตะของเชอร์ชิล)

เขียนถึงหนังสือการเมืองก็อดไม่ได้จะทิ้งท้ายเหตุการณ์ปัจจุบัน ต่อแต่นี้ไปถ้ายึดแนวคิดของเฮเกล (ฉบับฟุคุยามาอ่าน) ก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนจะมีข้อขัดแย้งภายในมากกว่ากัน ระหว่างประชาธิปไตยที่ไม่เชื่อในเสียงส่วนใหญ่หรือชนชั้นล่างที่ร่วมต่อสู้กับมหาเศรษฐี เฮเกลทำนายว่า ฝ่ายไหนขจัดข้อขัดแย้งของตัวเองออกไปได้มากกว่า (ในระยะยาว) ฝ่ายนั้นแหละคือผู้ชนะ

Impossibility is the saddest word.


เห็นภาพกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงปิดสี่แยกราชประสงค์แล้วนึกถึงเรื่องอะไรขึ้นมาได้ ผู้หญิงที่เราเคยชอบทำงานอยู่ห้างเซนทรัลเวิร์ลนี่แหละ เมื่อไม่กี่วันก่อนเหตุการณ์ปิดสี่แยก เธอโพสต์ลงเฟสบุ๊คว่าแฟนนอกใจและครั้งนี้ไม่ใช่หนแรก กำลังลังเลอยู่ว่าจะยกโทษให้เขาได้อย่างไรและสมควรยกโทษไหม

แปลกที่เราไม่ยักกะรู้สึกเหมือนในเพลงของลิลลี อัลเลน มันกลับเจ็บตันๆ อดคิดไม่ได้ว่าหากสองปีก่อน สาวเซนทรัลยอมคบกับเรา วันนี้เราสองคนอาจมีความสุขมากกว่านี้ก็ได้ คิดเข้าข้างตัวเองคือเราน่าจะดีกว่าคนที่นอกใจเธอ

แต่ก็อีกนั่นแหละ คนเราไม่จำเป็นต้องเลือกอะไรที่ดีที่สุด แต่ทันทีที่เราตัดสินใจเลือกไปแล้ว นั่นก็คือหนทางเพียงหนึ่งเดียว และเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดไปโดยปริยาย (เพราะถึงอย่างไรความจริงก็ย่อมดีกว่าสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้น)

เหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดกับเราเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผู้หญิงที่เราชอบมากๆ ก็เปลี่ยนใจไปคบกับผู้ชายเจ้าชู้ เราจำความรู้สึกตอนนั้นได้ ที่ทรมาณที่สุดไม่ใช่เจ็บปวดเพราะผิดหวังในรัก แต่เป็นความรู้สึกว่า หากรักแท้ยังไม่อาจชนะใจคน แล้วโลกเราจะยังเหลืออะไรให้ยึดมั่นต่อไปอีก

สิบปีผ่านไป เหตุการณ์คล้ายๆ เดิม ในวันนี้เราได้แต่นั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์ อ่านเฟสบุ๊คของสาวเซนทรัล เราคุ้นชินกับโลกที่บิดเบี้ยวเสียแล้วละ เราไม่โทษ ไม่สมน้ำหน้าใคร เรารู้ดีว่าต่อให้ย้อนอดีตกลับไปได้ ต่อให้ผู้หญิงทั้งคู่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภายหลัง พวกเธอก็จะยังคงเลือกแบบที่ตัวเองเลือกอยู่ดี

นึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งในขายหัวเราะ จำไม่ได้แล้วว่าใครเขียน เรื่องของเทวดาที่แปลงกายมาเป็นหมอดูตามท้องสนามหลวง ผู้ชายคนหนึ่งมาปรึกษาเทวดาว่าจะเลือกแต่งงานกับผู้หญิงคนไหนดี ระหว่างดาราสาวกับครู หมอดูให้หนุ่มคนนั้นจ้องลูกแก้ว เขาเห็นอนาคตที่แต่งงานกับดาราสาวว่าเต็มไปด้วยความระหองระแหงและบาดหมาง ขณะที่อนาคตกับครูคือครอบครัวอันอบอุ่น (อะไรจะน้ำเน่าปานนั้น) พอชายหนุ่มถามเทวดาว่า “ลุงทำแบบนี้ได้อย่างไร” (คือเสกภาพบนลูกแก้วได้อย่างไร) เทวดาก็ตอบไปว่า “ไม่ได้ทำอะไรทั้งนั้น ภาพที่เห็นนี้คือคำตอบในจิตสำนึกของเจ้า”

เรื่องสั้นนี้ยังมาขมวดปมตอนท้ายว่าพอชายหนุ่มกลับไปแล้ว เทวดาเสกลูกแก้วอีกที เห็นว่าชายหนุ่มตัดสินใจแต่งงานกับดาราสาว เทวดาจึงส่ายหัวสมเพชมนุษย์ที่หลงวนเวียนอยู่ในกิเลส

มาวันนี้เรากลับเข้าใจชายหนุ่ม เทวดาตนใดก็ไม่มีสิทธิมาตัดสินว่า ครอบครัวอันอบอุ่นมันสูงล้ำเลอเลิศไปกว่าความรักอันร้อนแรง การได้ทำในสิ่งที่ใจปรารถนา แม้จะต้องเจ็บปวดทุกข์ทนในภายหลัง นั่นต่างหากคือคุณค่าของการมีชีวิต การทำร้ายตัวเองและคนรอบข้างเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เป็นธรรมชาติอันแสนเศร้า แต่ก็เป็นสิ่งที่สวยงามที่สุดในตัวมนุษย์ด้วย

(หมายเหตุ: เราไม่เห็นด้วยกับการปิดสี่แยกราชประสงค์ของกลุ่มคนเสื้อแดง คงเป็นประเด็นที่มีคนถกเถียงกันไปอีกนานว่าเทียบกับพันธมิตรปิดสนามบินอะไรเสียหายร้ายแรงกว่ากัน อะไรชอบธรรมกว่ากัน แต่ในความเห็นเรา มันเป็นการสูญเสียมวลชนบางส่วนที่อยู่ตรงกลาง และในช่วงสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมาเริ่มเหหันมาทางเสื้อแดงมากขึ้น อยากให้แกนนำคำนึงถึงกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่ว่าคนกรุงเทพ ชนชั้นกลางทุกคนจะต้องต่อต้านเสื้อแดงเสมอไป ที่อยู่กลางๆ และพร้อมจะเปิดใจยอมรับพี่น้องชาวชนบทก็คาดว่ามีอยู่ไม่น้อย)

สรุปผลประกอบการหนังสือทั้งหมดที่ได้จากงานสัปดาห์


งานสัปดาห์หนังสือครั้งแรกในรอบสิบปี ครั้งสุดท้ายที่ไปงานนี้ มันยังตัดอยู่ข้างๆ คูคลองตรงกระทรวงศึกษาอยู่เลย

1. เฟรชคิลส์ และการเดินทางของเรื่องราวอื่นๆ (กันต์ธร อักษรนำ)
ขอแสดงความยินดีกับพี่หนูด้วยครับ ปกสวยมาก (แต่เรายัดใส่กระเป๋ามา ถึงบ้านปุ๊บ ยับทันที)

2. ราชาธิราช-กากี (นายตำรา ณ เมืองใต้ / ครูเหม)
3. จินตวรรณคดีไทย (นายตำรา ณ เมืองใต้ / ครูเหม)
4. ภาพประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้น (เปลื้อง ณ นคร / ครูเหม)

ชุดนี้ซื้อเพราะภาพครูเหม โดยเฉพาะกากี ภาพสวยโคตรๆ

5. ฝรั่งคลั่งผี (ไมเคิล ไรท)
6. จุดไฟในสายลม (วรเจตน์ ภาคีรัตน์)

ขอโหนกระแสอาจารย์วรเจตน์หน่อย

7. คืนแห่งความพินาศ (นิรันศักดิ์ บุญจันทร์)
รวมเรื่องสั้นชิงซีไรต์เล่มเดียว (?) ที่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็นนิยายวิทยาศาสตร์

8. บนเส้นลวด (วัฒน์ วรรลยางกูร)
9. ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา (ธงชัย วินิจจะกูล)
10. Fringer the Blogger (สกุณี อาชวานันทกุล)

อันนี้ไม่ได้ซื้อ แต่คนเขียนให้ฟรีมา

11. ณ ที่แห่งนั้น (อัญชัน)
รวมเรื่องสั้นคุณอัญชันเล่มนี้น่าสนใจมากๆ เหมือนเป็นการเขียนเรื่องสั้นล้อผลงานคลาสสิคเรื่องอื่นๆ

12. เสียสละ หัวใจชายหนุ่ม หัวใจนักรบ (ท่านเจ้าบ้าน)
13. พระมะเหลเถไถ อุณรุทร้อนเรื่อง ระเด่นลันได (คุณสุวรรณ / พระมหามนตรี)
14. พฤกษนิยาย (ส. พลายน้อย)
15. นิรุกติศาสตร์ (พระยาอนุมานราชธน)

จะเอามาเทียบกับของจิตร

16. อภิปริศนาแห่งโบว์ (ร. จันทเสน)
17. อาวุธมีชีวิต (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์)
18. พระเอกโง่ (นิพันธ์พร เพ็งแก้ว)

บทวิเคราะห์ทำไมพระเอกในวรรณกรรม นิทานพื้นบ้านไทยถึงต้องโง่ด้วย น่าสนใจมากๆ

19. ทุนนิยมที่มีหัวใจ (สกุณี อาชวานันทกุล)
เล่มนี้อุดหนุนจ๊ะ

20. เหว่...ใครใช้มึงคิดกบฏ (อิศรา อมันตกุล)
21. หนี (ขรรค์ชัย บุนปาน)
22. คนบนต้นไม้ (นิคม รายยวา)
23. เมฆทูต (กาลีทาส)

ฉบับแปลอังกฤษเล่มนี้ขายที่ amazon ห้าสิบกว่าเหรียญ นี่ซื้อในราคา 30 บาท หวังว่าคงแปลดีนะ

24. เวตาลเป็นใคร (ทองแถม นาถจำนง)
25. มือที่สาม (อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์)

ช่างเหมาะกับสถานการณ์บ้านเมือง

26. ฝันร้ายในชีวิตของข้าพเจ้า (มนัส จรรยงค์)
27. ไฟไหม้น้ำ (มนัส จรรยงค์)
28. ชายเฝือง (มนัส จรรย์)

เล่มนี้แพงที่สุดในลิสต์ เพราะเป็นฉบับสะสมปกแข็ง 750 บาท แต่อยากได้โคตรๆ

29. ปรากฏการณ์แห่งวรรณกรรม (ไพฑูรย์ ธัญญา)
30. ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ (ติช นัท ฮันห์)
31. พหุลักษณ์ทางการแพทย์ (หลายคนเขียน)
32. ความสุข (มาติเยอ ริการ์)
33. ข้อคิดทวนกระแส (ป.อ. ปยุตโต)
34. สุขภาวะองค์รวมแนวพุทธ (ป.อ. ปยุตโต)
35. สถานการณ์พระพุทธศาสนา กระแสไสยศาสตร์ (ป.อ. ปยุตโต)
36. ธรรมนูญชีวิต (ป.อ. ปยุตโต)

37. ศิลปศาสตร์แนวพุทธ (ป.อ. ปยุตโต)
38. การพัฒนาที่ยั่งยืน (ป.อ. ปยุตโต)
เข้าใจว่าผู้กำกับมีทุกเล่มแหละ แต่ราคามันก็ไม่แพง

39. สะพานขาด (กนกพงศ์ สงสมพันธุ์)
40. โลกหมุนรอบตัวเอง (กนกพงศ์ สงสมพันธุ์)

จะดูว่าก่อนหลัวซีไรต์ กนกพงศ์เปี๋ยนไปหรือเปล่า

41. วัฒนธรรมคือความหมาย (อคิน รพีพัฒน์)
42. โลกใบเล็กของหลวงพ่อดอน คามิลโล (นพดล เวชสวัสดิ์)
แฟนไผ่แดงอย่างเราจะพลาดได้อย่างไร

ทั้งหมดประมาณ 5000 บาท ซึ่งก็ถือว่าไม่แพงเกินไป (ตกเล่มละ 125 บาท) คิดเป็นเงินเหรียญก็แค่ 4 เหรียญ ซื้อๆ ไปเหอะ

ตอบจดหมายแฟนๆ


ขออนุญาตนำเอาจดหมายของคุณ "นิรนาม" มาโพสไว้ตรงนี้ เพราะคุณเขียนได้น่าสนใจมาก อยากขอใช้พื้นที่ตรงนี้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย แต่ก็ขออีดิทชื่อจริงของรักชวนหัวทิ้งไป ไม่ว่ากันนะครับ (เป็น "หลักการ" ของเราเองที่ไม่อยากให้ความกังวลเรื่องตัวตนที่แท้จริงมาขัดขวางอาการ "ปากหมา" ของเรา)

<เริ่มจดหมาย>

ติดตามอ่านบลอกของพี่รักชวนหัวมานานครับ (ขออภัยหากต้องใช้ชื่อจริง เพราะต้องการสื่อสารกับรักชวนหัว ไม่ใช่รักชวนหัว หากเห็นว่าไม่เหมาะสมเชิญลบได้ หรือไม่ต้องโชว์ทั้งคอมเมนต์เลยก็ได้) เห็นความพยายามในการทำความเข้าใจองค์ความรู้ทางด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ทั้งๆที่ไม่ได้ถูกฝึกมาทางด้านนี้

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหา หากให้ผมเดา พี่ไม่ได้อ่านงานแต่ละงานจนจบเล่ม (หรือถ้าจบก็ไม่ได้ให้เวลากับมันมากพอ หรือไม่ได้ลงมือค้นหาสืบสวนงานอื่นๆ ที่อยู่ในบริบทเดียวกันที่เกี่ยวเนื่อง แล้ว "รอ" ให้มันพัฒนาไปก่อนออกความคิดเห็น) หลายๆโพสต์จึงแตะนี่นิดแตะโน่นหน่อย ตีความเอาเองอย่างพละการบ้าง หรือบางครั้งจับแพะชนแกะไปเลยก็มี (ขออภัย ผมมีเวลาจำกัดจึงไม่ขอยกตัวอย่าง) จึงทำให้ - อย่างน้อยในสายตาของผม - บลอกรักชวนหัวกลายเป็นสถานที่ "โชว์" ว่าเจ้าของเป็นผู้อ่านหนังสือจำนวนมาก แทนที่จะเป็นเวทีในการถกเถียงอภิปรายในหมู่หนอนหนังสือด้วยกัน

แน่ละ พี่อาจจะบอกว่าได้ทำเช่นนั้นไปใน "xxx" (ซึ่งก็ไม่ได้เปิดให้คอมเมนต์?) และบลอกรักชวนหัวเป็นการแสดง impression เบื้องต้นในการอ่านงานแต่ละชิ้นเท่านั้น

นั่นแหละคือประเด็นของผม

แน่นอนว่าการ "ตีความ" เป็นเรื่องสำคัญ แต่การนำเสนอความเห็นที่ "ชุ่ย" เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ใครๆก็เขียนบลอกได้ แสดงความคิดเห็นได้ แต่พี่ในฐานะปัญญาชน(?) พี่ยอมให้ความเห็นที่ "ชุ่ย" ออกสู่สาธารณะได้หรือครับ? (แม้มีคนไม่มากที่รู้ว่าเป็นพี่ พี่ก็ย่อมรู้ตัวเองดี)

ความเห็นอย่าง "ขณะที่มาร์กซิสแบบดั้งเดิมคือการศึกษาโครงสร้างสังคมโดยเน้นที่พื้นฐาน (ระบบเศรษฐกิจ และการเมือง) แต่มาร์กซิสสามารถนำมาดัดแปลงเพื่อศึกษาวรรณกรรม ศิลปะ และอุดมคติอื่นๆ ได้เช่นกัน ชอบไม่ชอบคอมมิวนิสต์ก็เรื่องหนึ่ง แต่ยอมรับในความเจ๋งของปรัชญานี้เลย" (จากโพสต์เกี่ยวกับหนังสือ Marxism and Literature ของเรมอนด์ วิลเลียมส์) แสดงให้เห็นว่าพี่ไม่ได้อ่านงานมาร์กซิสต์เลยย (ต้องเน้นเสียง) ไม่สามารถแยกแยะได้ถึงปรัชญาเบื้องต้นของมาร์กซิสต์ กับการนำเอาไปใช้พัฒนาเพื่อจุดประสงค์ของประเทศคอมมิวนิสต์แต่ละประเทศ ที่สำคัญคือพี่ไม่เห็นถึง "จุดประสงค์" ในการเขียนงานชิ้นนี้ขึ้นมาของร. วิลเลียมส์ ว่าเป็นความพยายามในการ rework ความมสัมพันธ์ระหว่าง base กับ superstructure ใหม่ในการจะแย้งกับความคิดมาร์กซิสต์ดั้งเดิมว่า เศรษฐกิจอาจไม่ได้เป็นตัวกำหนดความเปลี่ยนแปลงเสมอไป วัฒนธรรมสามารถมี autonomy ในการเปลี่ยนแปลงได้ (เรียก "cultural materialist approach" ซึ่งต่อมาก็มีมาร์กซิสต์ออกมาโต้กลับ แต่ผมคงไม่กล่าวต่อไปอีก) พี่อาจจะล้อเล่นที่ไม่รู้ว่าร. วิลเลียมส์เป็นมาร์กซิสต์อังกฤษที่ถูกฝึกมาทางสายภาษาอังกฤษ ร่วมสมัยกับสจวร์ต ฮอล์และริชาร์ด ฮอกการ์ด ซึ่งร่วมกันก่อตั้งสำนักวัฒนธรรมศึกษาที่เบอร์มิงแฮม (ที่มีอิทธิพลต่อนักวิชาการวัฒนธรรมศึกษาไทยค่อนข้างมาก) ดังนั้นเขาจึงใช้วรรณกรรมเป็นแกนกลางในการวิเคราห์สังคม และมองว่าวรรณกรรมสามารถอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนรรมได้ดีกว่า (เป็นที่มาของการเสนอแนวความคิด the structure of feeling อันลือลั่น แต่ผมผิดหวังที่พี่กลับไม่พูดถึงแนวความคิดนี้เลยแม้แต่น้อย! ไม่ได้อ่าน? อ่านไม่ถึง? ไม่เข้าใจ?)

ใช้เวลากับความคิดมากหนอย โพสต์ช้าลง แต่เอาให้ "จั๋งหนับ" ไม่ดีกว่าหรือครับ? คนอ่านจะได้มีเวลาไปตามอ่านแล้วมาถกด้วยได้ หรือหากบอกว่าไม่มีเวลา อย่าเพิ่งเขียนจะดีกว่าไหมครับ?

ขอเข้าสู่เรื่องโพสต์นี้หน่อยนะครับ เมื่อเห็นข้อความ "อาจารย์ภัทรวดีเผยให้เราได้เห็นบทบาทของรัฐบาลทหาร ในการอนุรักษ์และผสานวัฒนธรรมไทยให้เข้ากับวัฒนธรรมตะวันตก"

ผมไม่แน่ใจว่าเราอ่านหนังสือเล่มเดียวกันหรือเปล่า?

ประเด็นหลัก (argument) ของอ.ภัทรวดีในบทที่ 1 2 และ 3 คือหลังจากวัฒนธรรม traditional เริ่ม "อ่อน" ลงตั้งแต่ปลาย ร.5 (และอ่อนลงไปอีกในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง) นั้นได้ถูกกลับมาส่งเสริม อนุรักษ์ ฯลฯ ใหม่ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. เพื่อจุดประสงค์ในการสร้างความมั่นคงของรัฐบาล ทั้งภายใน (เผด็จการ) และนอกประเทศ (คอมมิวนิสต์) (ประเด็นสำคัญที่น่าถกต่อไปคือวัฒนธรรมดั้งเดิมถูกเลือกหยิบมาใช้ และปรับเปลี่ยนอย่างไร) หากใช้คำของอ.ปริตตาคือ "คลัง" ของวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ถูกหยิบมาใช้ใหม่อีกครั้ง

หากสุนทราภรณ์เป็นวงที่ "รับใช้เผด็จการ" อย่างที่พี่เหมารวม เหล่าข้าราชการจำนวนมหาศาลที่ทำงานภายใต้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ปัจจุบัน และนักเรียนทุนรัฐบาล (ที่ต้องกลับไปทำงานใช้ทุน) ไม่ "รับใช้เผด็จการ" ไปด้วยหรือครับ? (คงจะต้องว่ากันในรายละเอียด แน่นอนว่า หลวงวิจิตรวาทการ "รับใช้เผด็จการ" อย่างแท้จริง)

ลองอ่านประวัติพระเจนดุริยางค์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองดู ก็อาจจะทำให้เราเข้้าใจว่ามันมีความสลับซับซ้อนมากกว่าการที่มี "เผด็จการ" อยู่ข้างหนึ่งแล้วที่เหลือก็เป็นฝ่ายตรงข้าม (โดยเฉพาะในแง่มุมของชีวิตศิลปิน นักดนตรี)

---------------------

เช่นเดียวกับพี่, ด้วยความอยากเห็นสังคมไทยมีวุฒิภาวะขึ้น

<จบจดหมาย>

ขอเริ่มตอบจากประเด็นมาร์กซิสก่อนเลยแล้วกันครับ

แน่นอนว่าน้องมีความเข้าใจมาร์กซิสดีกว่าพี่มากก (ลากเสียงยาวเหมือนกัน) แต่ขณะเดียวกันพี่ก็ไม่แน่ใจว่าคำพูดของพี่ที่น้องยกมา "ขณะที่มาร์กซิสแบบดั้งเดิมคือการศึกษาโครงสร้างสังคมโดยเน้นที่พื้นฐาน (ระบบเศรษฐกิจ และการเมือง) แต่มาร์กซิสสามารถนำมาดัดแปลงเพื่อศึกษาวรรณกรรม ศิลปะ และอุดมคติอื่นๆ ได้เช่นกัน ชอบไม่ชอบคอมมิวนิสต์ก็เรื่องหนึ่ง แต่ยอมรับในความเจ๋งของปรัชญานี้เลย" ขัดแย้งกับสิ่งที่น้องอรรถาธิบายมาอย่างไร คือในความเห็นของน้อง "มาร์กซิสไม่สามารถนำมาดัดแปลงเพื่อศึกษาวรรณกรรมได้" หรือว่า "มาร์กซิสแบบดั้งเดิมไม่ใช่การศึกษาโครงสร้างสังคม"

พี่ขอเดาแล้วกันว่าเป็นประเด็นแรก นั่นก็คือน้องกำลังบอกพี่ว่ามาร์กซิสที่ใช้วิเคราะห์วรรณกรรมและงานศิลปะ เป็นมาร์กซิสคนละตัวกับมาร์กซิส "ต้นแบบ" หรือเป็นทฤษฏีแก้ที่ขัดแย้งกับ "ต้นแบบ" ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ (ไม่ว่าคำว่า "ต้นแบบ" จะหมายถึงอะไรก็ตาม ต้องมาจากหนังสือของมาร์กเท่านั้นถึงจะถือว่าเป็นต้นแบบใช่หรือเปล่า ถ้าเช่นนั้นก็คงไม่มีใครแอบอ้างได้ว่าเรียนรู้ศาสนาพุทธ "ต้นแบบ" กระมัง)

แต่ในคำพูดของพี่ที่น้องยกมา พี่ก็ใส่คำว่า "ดัดแปลง" ลงไปแล้ว ต่อให้ทฤษฎีสองตัวมันขัดแย้งกันชนิดดำขาว ถ้าทฤษฏีตัวหลังมันเกิดมาจากตัวแรก (มาจากความพยายามพิสูจน์ว่าตัวแรกผิด) เราจะเรียกได้ไหมว่ามันคือทฤษฎีที่ถูกดัดแปลงมาจากทฤษฏีตัวแรก (ยกเว้นว่าในแวดวงวิชาการมีการตีกรอบอย่าง "ชัดเจน" โดย "นักวิชาการทุกคน" ว่าขอบเขตการดัดแปลงมาร์กซิสคือเท่านี่ๆ เท่านั้น ถ้าดัดแปลงไปไกลกว่านี้ ห้ามเรียกทฤษฎีนั้นว่ามาร์กซิสเป็นอันขาด)

ไม่แน่ใจว่านี่คือปัญหาที่น้องมีกับข้อความที่หยิบยกมาหรือเปล่า ถ้าพี่ตีความคำวิจารณ์ของน้องผิดถูกอย่างไร โปรดชี้นำด้วย

อีกประเด็นคือภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง พี่ยอมรับว่าการตีขลุมให้สุทราภรณ์เป็นผลิตผลของเผด็จการทหารนั้นเป็นการตีความประวัติศาสตร์อย่างคับแคบ แต่ขณะเดียวกัน มันต่างอะไรจากแง่มุมที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอออกมาว่า เผด็จการทหารจะต้องนิยมของนอกและรังเกียจวัฒนธรรมไทย

พี่ยกตัวอย่างสุนทราภรณ์เพื่อแสดงให้เห็นว่าภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ศิลปินก็สามารถสร้างผลิตผลทางวัฒนธรรมไทยที่ยั่งยืนจนเป็นที่ยกย่องตราบจนทุกวันนี้ได้ (แต่ก็คงเถียงกันได้อีกนั่นแหละว่า สุนทราภรณ์คือวงดนตรีที่ "บดขยี้" ความเป็นไทย หรือได้พยายาม "ไพบูลย์" และนำวัฒนธรรมไทยมาแปลงโฉมใหม่เพื่อเผยแพร่) และที่สำคัญคือไม่ใช่ศิลปิน "เด็กแนว" แบบ "ศร" ซึ่งขัดแย้งกับฝ่ายอำนาจอย่างโจ่งแจ้ง (สมดังบทบาท "พระเอก" หนังที่พวกเราคุ้นเคยกันดี) เพราะเท่าที่พี่รู้มา ศิลปินวงสุนทราภรณ์ก็ดูจะถ้อยทีถ้อยอาศัยและได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลแต่โดยดี แม้ต้องแลกกับการเป็น "เครื่องมือ" แต่งเพลงร้องเพลงปลุกใจให้รักชาติก็ตาม (ถ้าข้อมูลตรงนี้ของพี่ผิดพลาด ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

"ลองอ่านประวัติพระเจนดุริยางค์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองดู ก็อาจจะทำให้เราเข้้าใจว่ามันมีความสลับซับซ้อนมากกว่าการที่มี "เผด็จการ" อยู่ข้างหนึ่งแล้วที่เหลือก็เป็นฝ่ายตรงข้าม (โดยเฉพาะในแง่มุมของชีวิตศิลปิน นักดนตรี)"

นี่คือสิ่งที่เราสองคนเห็นตรงกัน และคือสาเหตุทำไมพี่ถึงใช้หนังสือเล่มนี้มาเป็นอาวุธโจมตีภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง

ส่วนประเด็นที่ว่าพี่ควรเขียนให้ละเอียดจั๋งหนับกว่านี้ไหม พี่ขอยืนยันว่า "รักชวนหัว" ไม่ใช่รวมบทวิจารณ์ แต่เป็น "ไดอารี่" หรือบันทึกส่วนตัวของพี่เอง เช่นเดียวกับคนอื่นเขียนเล่าว่าวันนี้ไปพบปะสังสรรค์ใคร ทำอะไรมาบ้าง บันทึกออนไลน์คงไม่อาจนำมาตัดสินว่า "ชุ่ย" หรือ "ไม่ชุ่ย" ได้กระมัง อย่าลืมว่ารักชวนหัวไม่ใช่พื้นที่สาธารณะของเวปไซต์หรือเวปบอร์ดใดๆ ที่นี่คือ "บ้านของพี่" ภายใต้กฏกติกาว่า "พี่จะเขียนอะไรก็ได้" และผู้ที่เข้ามาอ่านก็สามารถวิจารณ์อะไรได้ทั้งนั้น ตั้งแต่เปิดบลอคนี้มา พี่ไม่เคยลบความเห็นใครเลยแม้แต่ความเห็นเดียว

ดังนั้นสิ่งที่น้องกล่าวมาว่า "บลอกรักชวนหัวกลายเป็นสถานที่ "โชว์" ว่าเจ้าของเป็นผู้อ่านหนังสือจำนวนมาก แทนที่จะเป็นเวทีในการถกเถียงอภิปรายในหมู่หนอนหนังสือด้วยกัน" ก็ถูกต้องแล้วในระดับหนึ่ง (รูปแบบของ blogspot ที่ไม่เปิดโอกาสให้สถานที่แห่งนี้เป็น "เวทีอภิปราย" ก็คืออีกสาเหตุหนึ่ง)

ส่วนอีกคอลัมน์หนึ่งซึ่งพี่ "บังอาจ" เรียกมันว่าบทวิจารณ์แต่กลับไม่เปิดพื้นที่ให้คอมเมนต์กลับ ถือว่าเป็นจุดอ่อนอย่างมาก ไว้พี่จะพยายามติดต่อกับคนดูแลเวปครับ

ประเด็นสุดท้ายคือที่น้องตั้งคำถามว่าพี่อ่านจบ อ่านจริงหรือเปล่า พี่ขอสงวนไม่ตอบแล้วกัน ทิ้งไว้ให้เป็นความพึงใจของผู้เข้ามาอ่านบลอคตัดสินตัวพี่เอง

ชอบไม่ชอบอย่างไร รู้สึกดีใจเสมอที่มีคนแวะเวียนเข้ามาพูดคุยกัน ณ ที่นี้ครับ