D. Lodge's "Author, Author"


นอกจากจะเป็นจิตรกรเอกที่คนเดินถนนทั่วไปรู้จักชื่อเสียงเรียงนามแล้ว แวนโก๊ะยังเป็นสัญลักษณ์ของศิลปินที่มีชีวิตยากลำเข็ญ แต่เมื่อตายไป รูปวาดของเขากลับขายได้ราคาเป็นล้านๆ เหรียญ แต่แวนโก๊ะไม่ใช่ศิลปินคนเดียวที่อาภัพเช่นนี้ เฮนรี เจมส์ผู้เขียนนิยายสุดคลาสสิกอย่าง The Portrait of the Lady, The Wings of the Dove และ The Turn of the Screw ก็ประสบความสำเร็จภายหลังจากตายไปแล้ว มากกว่าตอนยังมีชีวิตอยู่

ชีวิตของเฮนรี เจมส์ไม่หวือหวาเท่าแวนโก๊ะ นักเขียนไม่เคยไปหลงรักโสเภณี ทะเลาะกับเพื่อนจนต้องตัดหูตัวเองส่งไปเป็นของกำนัล (จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นแค่ตำนานเท่านั้น) ถูกจับเข้าโรงพยาบาลบ้า และจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย พูดให้ถูกคือชีวิตของเจมส์ไม่หวือหวาเลยต่างหาก นอกจากจะไม่เคยแต่งงานแล้ว เขายังรักษาสัตย์ความบริสุทธิ์ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แม้แต่ครั้งเดียว เจมส์เป็นตาแก่สุภาพ ใจดี รักษามารยาท และมีเพื่อนฝูงมากมายทั้งในและนอกวงการ ลักษณะนิสัยตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงกับนักเขียนร่วมรุ่นสองคนคือออสการ์ ไวลด์ และจอร์จ เบอนาร์ด ชอว์

ถึงจะมีปัญหาเรื่องเงินทองอยู่ตลอดเวลา แต่ชีวิตเขาไม่เคยกัดก้อนเกลือกินถึงขนาดแวนโก๊ะ ในส่วนนี้ก็ต้องถือว่าเจมส์โชคดีกว่ามาก แต่ขณะที่แวนโก๊ะเป็นศิลปินอิมเพรชชันนิสซึ่ง ว่าไปแล้วก็ยากจนถ้วนทั่วทุกตัวตน แวนโก๊ะจึงไม่ต้องเผชิญหน้ากับปีศาจร้ายในชีวิตของเจมส์ นั่นคือความอิจฉา เพื่อนสนิทของเจมส์ ดูมอร์เนีย เป็นนักวาดการ์ตูนที่ค่อยๆ สูญเสียสายตาลงไปอย่างช้าๆ ดูมอร์เนียคิดหาอาชีพอื่นมาทดแทนการวาดภาพ เขาจึงเริ่มจับปากกาเขียนนิยาย (จริงๆ คือดูนอร์เนียเป็นฝ่ายพูด แล้วเอมมา ภรรยาต่างหากที่จับปากกา) นิยายของดูมอร์เนียประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม Trilby กลายเป็นนิยายที่ขายดีที่สุดในโลก เป็นรองแค่ Bram Stoker’s Dracula เท่านั้น เจมส์ซึ่งในเวลาเดียวกันกำลังฝ่าขวากหนามกับอาชีพนักเขียนบทละครของตัวเอง จึงอดไม่ได้ที่จะอิจฉาริษยาเพื่อนที่ตัวเองรักที่สุดในโลก

นิยายที่มีตัวเอกตัวละครหลักเป็นนักเขียนนั้นน่าจะเป็นนิยายที่เขียนยากที่สุด เพราะมันอดไม่ได้เลยที่นักอ่านจะเปรียบเทียบมันกับผลงานจริงๆ ของนักเขียนในนิยาย ยิ่งที่เดวิด ลอจมาจับเอาเฮนรี เจมส์เป็นตัวเอกนั้น ต้องถือว่าโคตรท้าทายเลย เพราะในโลกนี้คงไม่มีใครเลียนแบบภาษาของเจมส์ได้อีกแล้ว อย่างไรก็แล้วแต่ ลอจประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับ Author, Author เจมส์เป็นตัวละครที่น่ารัก น่าสงสาร แต่ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งมากที่สุดคนหนึ่ง เขาไม่รังเกียจกิจกรรมรักร่วมเพศ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ชอบให้คนอย่างออสการ์ ไวลด์ออกมาเรียกร้องให้สังคมเปิดเผยและยอมรับผู้ชายเพศที่สาม แน่นอนว่าคนปัจจุบันอย่างเรา ที่เกิดหลังเจมส์ร้อยกว่าปี ไม่เห็นตรงกันกับความคิดนี้ แต่มันก็สะท้อนความแตกต่างระหว่างศตวรรษที่ 19 และ 20 เฮนรี เจมส์คือศิลปินศตวรรษที่ 19 ส่วนออสการ์ ไวลด์คือต้นกำเนิดของลินเซ โลฮัน บริทนี สเปียร์ ปาริส ฮิลตัน ฟิฟตีเซนต์ หรือเลดีกาก้า พวกที่ตั้งใจใช้ความฉาวโฉ่เพื่อขายผลงานโดยอาจจะมีหรือไม่มีฝีมือจริงๆ ก็ได้ (ระหว่างสองสุดโต่งนี้ก็เช่นมาดอนนาหรือแอนดี วาฮอล์ คนที่มีฝีมือแต่ขณะเดียวกันก็ไม่อายที่จะหากินกับชื่อเสีย)

ประเด็นหลักของ Author, Author ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าความสำเร็จที่นอกเหนือไปจากการสร้างผลงานดีๆ (เช่นการมีชื่อเสียงโด่งดัง หรือเงินทองไหลมาเทมา) เป็นเพียงของนอกกาย และร้ายที่สุดมันอาจต้องจ่ายด้วยราคาของความทุกข์ยากเช่นกรณีของดูมอเนียร์เลยก็ได้ Trilby กลายเป็นนิยายที่ถูกลืม ขณะที่ผลงานของเจมส์ต่างหากที่เป็นอมตะ (เรารู้สึกว่าลอจจงใจพยายามประสานปมให้นิยายจบดี เขาแสดงให้เห็นว่าในตอนจบเฮนรี เจมส์ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง และขับไล่ปีศาจแห่งความริษยาออกไปให้พ้นๆ ตัว แต่เมื่อดูจากชีวประวัตินักเขียน และความพยายามฆ่าตัวตายภายหลังจากเหตุการณ์ใน Author, Author บางอย่างคงเป็นปีศาจร้ายที่อยู่คู่กันกับชีวิตของศิลปินไปตราบจนวันสิ้นลมหายใจ)

W. Kamkwanba's "The Boy Who Harnessed the Wind"


บางครั้งก็ต้องยอมรับว่าเรื่องง่ายๆ นี่แหละคือเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว The Boy Who Harnessed the Wind คือเรื่องง่ายๆ ของเด็กชายชาวมาลาวีคนหนึ่งชื่อคามความบา เขามาจากครอบครัวที่ยากจนในประเทศที่แสนยากจนในทวีปแอฟริกา เนื่องจากพ่อไม่มีเงินจะส่งเขาเรียนต่อ คามความบาเลยทดแทนความน้อยเนื้อต่ำใจนั้นด้วยการยืมหนังสือจากห้องสมุดมาอ่าน เกี่ยวกับวิชาฟิสิกส์และวิศวกรรมไฟฟ้าขั้นพื้นฐาน จนในที่สุดก็เกิดความคิดที่จะประดิษฐ์กังหันลมปั่นไฟฟ้าขึ้นมาเองจากเศษขยะ

นี่คือเรื่องย่อที่เราหาอ่านได้จากปกหลัง หนังสือจริงๆ ก็ไม่ได้ต่างจากเรื่องย่อตรงนี้เท่าไหร่ แต่สำหรับเรื่องที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้แล้ว ต่อให้ไม่มีอะไรออกมาให้เราแปลกใจเลย ก็ยังต้องยอมรับว่า The Boy Who Harnessed the Wind เป็นหนังสือที่ยิ่งใหญ่มากๆ สมแล้วกับที่มันติดอันดับสิบเล่มยอดฮิตของอเมซอน

ถ้าบอกว่าไม่มีอะไรให้เราแปลกใจเลย ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว ยอมรับว่าก่อนจะอ่าน ตัวเองแอบคิดนิดๆ ว่าแค่สร้างกังหันลมได้ไม่เห็นเก่งกาจสักเท่าไหร่เลย พอมาอ่านจริงๆ ถึงรู้ว่าไม่ใช่ว่ากังหันลมเท่านั้น แม้แต่ทรานซิสเตอร์ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เปลี่ยนกระแสสลับให้เป็นกระแสตรง หรือคัทเอาท์ที่ใช้ตัดไฟไม่ให้เกิดอัคคีภัยกรณีลวดทองแดงพันกัน (ซึ่งสำคัญมากกับระบบไฟฟ้าสร้างเองที่เอาชิ้นส่วนขยะมารีไซเคิลแบบนี้) คามความบาก็สร้างขึ้นมาทั้งหมดด้วยตัวเอง อันนี่ซิ เรายอมรับว่าแน่จริงๆ เขาไม่ใช่แค่นักประดิษฐ์ที่ลอกตามต้นแบบในหนังสือเท่านั้น แต่ยังเข้าใจถึงกลไกที่อยู่เบื้องหลังสิ่งประดิษฐ์ของตัวเองด้วย

นอกจากจะเป็นนักประดิษฐ์ผู้มีพรสวรรค์แล้ว คามความบาเองก็เป็นนักเล่าเรื่องที่มีความสามารถไม่น้อย การผสมผสานนิทานพื้นเมืองเข้ากับชีวประวัติตัวเองและสังคม ช่วยให้เราเห็นภาพบ้านเมืองของประเทศมาลาวีได้อย่างชัดเจนขึ้น แถมเจ้าตัวเองก็ดูจะรุ่มรวยอารมณ์ขันไม่น้อย ขนาดช่วงที่เล่าถึงความอดโซยากลำบาก ก็ยังอุตส่าห์หยอดมุกตลกเป็นระยะ นี่คือหนังสือที่อ่านแล้วไม่เบื่อเลยสักนิด ส่วนหนึ่งก็ต้องยกผลประโยชน์ให้ไบรอัน มิลเลอร์ ผู้เขียนอีกคนด้วย หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องผ่านสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ดังนั้นคงเป็นคามความบาให้สัมภาษณ์ แล้วมิลเลอร์เอามาถอดเทปอีกที ก็นับว่าเขาให้เกียรตินักเขียนดีเหมือนกัน ถ้าเป็นบ้านเรามิลเลอร์คงได้เป็นแค่โกสไรท์เตอร์ ไม่มีชื่อขึ้นปกแบบนี้หรอก

เห็นรูปคามความบาที่ตัวเองเอามาแปะข้างบนแล้วก็อดชื่นใจไม่ได้ ในที่สุดเด็กคนนี้ก็ได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อวิทยาศาสตร์สมกับที่ตัวเองตั้งใจ ขอเป็นกำลังใจให้ก็แล้วกัน ขอบคุณมากๆ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าแค่หนังสือในห้องสมุดก็เปลี่ยนแปลงชีวิตคนคนหนึ่งหรือผู้คนทั้งสังคมได้

F. Taylor's "The Berlin Wall"


หรือว่าเรื่องบางเรื่องมันเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่าจริงๆ ด้วย

ในบทแรกของ The Berlin Wall พูดถึงสถานการณ์ในประเทศเยอรมันภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สดๆ ร้อนๆ ระหว่างที่เราอ่านบทนี้ก็บังเกิดความรู้สึกประหลาด คลับคล้ายคลับคลาแต่กลับไม่คุ้นเคย ประหนึ่งเหมือนกำลังชมภาคต่อของภาพยนตร์บางเรื่องซึ่งเราไม่รู้จักชื่อ หรือถ้าพูดให้ถูก นี่คือภาคต่อของ “ภาพยนตร์ทุกเรื่อง” ก็ว่าได้ น่าประหลาดใจมากๆ ว่าขณะที่เหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกนำมาสร้างเป็นหนังไม่รู้กี่เรื่องต่อกี่เรื่อง มีตั้งแต่หนังสงครามเน้นความกล้าหาญของฝ่ายสัมพันธมิตร หนังที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของการฆ่าฝัน หนังว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว มีกระทั่งหนังตลกอย่าง Life is Beautiful จนไปถึงหนังอย่างแสบๆ คันๆ อย่าง Inglourious Basterds และหนังที่พูดถึงความพ่ายแพ้ผ่านสายตาคนเยอรมันอย่าง Downfall

แต่แทบไม่มีหนังเรื่องไหนหรือหนังสือเล่มใดเลยพูดถึงเหตุการณ์หลังสงคราม เราในฐานะมนุษย์ที่เติบโตมากับสื่อ ก็เลยเกิดความเข้าใจผิดๆ ว่าทันทีที่ฮิตเลอร์ตาย ทุกอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง สงครามสิ้นสุด ชาวเยอรมันกลับมาเป็นคนดีเหมือนเดิม ทุกประเทศในยุโรปเซนต์สัญญาสันติภาพกันด้วยรอยยิ้ม เพราะฉะนั้นสารภาพเลยว่าแปลกใจมากๆ เมื่อพบว่าสถานการณ์ของชาวเบอร์ลิน เมื่อรถถังโซเวียตเข้ามาเหยียบย่ำเมืองหลวงของประเทศเยอรมัน คือนรกดีๆ นี่เอง ผู้ชายถูกฆ่าตาย ผู้หญิงถูกข่มขืน ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือผู้นำคอมมิวนิสต์ชาวเยอรมันที่ถูกส่งให้มาปกครองประเทศ กลับไม่รู้ไม่เห็นการฆ่าฟันทำลายล้างประชาชนของตัวเอง

แต่ท่ามกลางความโหดร้าย ก็มีความกล้าหาญอยู่ด้วย เมื่อฝ่ายโซเวียตตัดการคมนาคมและพลังงานในเขตปกครองของอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศสในเมืองเบอร์ลิน ด้วยความหวังจะบีบให้ทั้งสามประเทศละทิ้งเมืองนี้ไปอยู่ในอุ้งมือของคอมมิวนิสต์ เลยเกิดเป็นปฏิบัติการขนส่งทางอากาศ โดยนักบินชาวอเมริกันขับเครื่องบินรบผ่านเข้าไปในเขตปกครองของโซเวียต เพื่อนำเอาอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคไปมอบให้แก่ชาวเยอรมัน โดยฝ่ายโซเวียตเองก็ส่งเครื่องบินเข้ามาก่อกวน ซึ่งแม้จะไม่อาจใช้กระสุนปืนหรือหัวรบยิงเข้าใส่กันตรงๆ แต่ก็มีการขับเครื่องกายกรรมกลางอากาศเพื่อก่อกวน เรื่องแบบนี้นี่ไม่ตื่นเต้นพอหรืออย่างไร ฮอลลีวูด!

(สารภาพความโง่ของตัวเองอย่างหนึ่งคือ เข้าใจมาตลอดว่ากำแพงเบอร์ลินแบ่งเมืองเป็นสองส่วน ซึ่งพอดีกับเส้นที่แบ่งเขตประเทศเยอรมันเป็นตะวันตกและตะวันออก จริงๆ แล้วเบอร์ลินตะวันตกเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ ซึ่งจมอยู่ในเยอรมันตะวันออก ใครอยากไปเบอร์ลินในสมัยนั้นจริง ถ้าไม่นั่งรถไฟผ่านเขตโซเวียต ก็คือต้องบินเข้าไปเท่านั้น เลยมีคนตั้งฉายามันว่า “The Surreal Cage” เป็นกรงที่ถูกล้อมรอบด้วยประเทศคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็นกรงที่มีอิสระยิ่งกว่าภายนอก)

The Berlin Wall เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ครึ่งศตวรรษขนาดย่นย่อ เล่าเรื่องตั้งแต่ภายหลังสงครามโลกใหม่ๆ จนไปถึงการแบ่งเมืองเบอร์ลิน การสร้างกำแพง และไปจบที่การถล่มกำแพง (ซึ่งก็เพิ่งเฉลิมฉลองครบรอบยี่สิบปีไปเมื่อเร็วๆ นี้เอง รู้สึกตัวเองแก่จัง) นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังเป็นหนังสือที่อ่านเพลินและอ่านสนุกมากๆ จริงๆ ประวัติศาสตร์ช่วง “สันติภาพ” แบบนี้มีอะไรน่าสนใจกว่าสงครามเป็นไหนๆ คนเราก่อและเฉลิมฉลองสงครามกันไม่พอหรืออย่างไร น่าจะหันมาสร้างสรรค์งานศิลปะเกี่ยวกับสันติภาพดูบ้าง ดีไหม

แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม (r.o.d.)


แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม ทำให้เรานึกถึงเรื่องสั้นหนึ่งที่โปรดมากๆ ของคุณกนกพงศ์ จำไม่ได้แล้วว่าชื่อเรื่องอะไร รู้แต่ว่าอยู่ใน ราหูอมจันทร์ เล่มแรก ว่าด้วยตัวละครนักเขียนที่เบื่อหน่ายกับการเขียนเรื่องสั้นเพื่อชีวิตแบบเดิมๆ พูดถึงความยากลำบากแบบเดิมๆ ของชาวนาชาวไร่ที่ไม่รู้ว่าพูดกันมากี่ร้อยพันเที่ยวแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องจำยอมเล่าเรื่องความทุกข์ของชาวสวนตาล นี่คือตัวอย่างเรื่องสั้นเพื่อชีวิตยุคใหม่ที่นอกจากจะพยายามตอบโจทย์คลาสสิคของเพื่อชีวิต (นั่นคือการสะท้อนภาพความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของคนต่างจังหวัด) ยังตระหนักดีถึงความล่าหลังของ genre ตัวเอง ที่นับวันจะกลายเป็นโบราณวัตถุเข้าไปทุกขณะ จุดที่ดีมากของเรื่องสั้นนี้คือเมื่อเอาสองประเด็นมารวมกัน มันบังเกิดประเด็นที่สาม สี่ขึ้นมาว่า นักเขียนก็พูดพร่ำกันแต่เรื่องเดิมๆ มาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว แต่บ้านเมืองก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซ้ำร้ายพื้นที่ทางวรรณกรรมของคนยากคนจนดูจะกลายเป็นของตกยุคสมัยขึ้นทุกวันๆ (เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า ของคุณจำลองก็มีลูกเล่นคล้ายๆ กันนี้)

ถึงจะบอกว่า แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม เตือนให้เรานึกถึงเรื่องนั้น แต่ก็คงพูดได้ไม่เต็มปากหรอกว่านี่คือจุดประสงค์ของผู้เขียน บางทีนี่อาจจะเกิดจากการอ่านไม่แตกของเราเอง ปัญหาหลักของ แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม คือพออ่านจบ เราก็อดไม่ได้ที่จะรำพึงกับตัวเองว่า “เออ เรื่องของแม่ใหญ่มันไม่น่าเล่าจริงๆ ด้วยแฮะ” ความแตกต่างระหว่าง แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม กับเรื่องสั้นของคุณกนกพงศ์หรือ เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า อยู่ตรงที่เรื่องน่าเบื่อหน่าย เรื่องที่เหมาะจะเป็นเรื่องจริง (แต่ไม่เหมาะจะเป็นเรื่องแต่ง) นั้น พอผู้เขียนเล่าออกมา กลับจับใจและกระชากคนอ่านได้อย่างอยู่หมัด ในขณะที่เรื่องของแม่ใหญ่ ก็เป็นดังเช่นที่ “ผม” เตือนเอาไว้จริงๆ คือไม่ได้มีสีสันหรือความน่าสนใจขนาดนั้น เราเห็นต่างจากคุณอนุสรณ์ตรงปัญหาของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ความเป็น “direct approach” เสียทีเดียว ถ้าพูดถึงฝีมือคนเขียนแล้ว ดูจากเรื่องสั้นนี้และเรื่องอื่นๆ ต่อให้เป็น "direct approach" ก็น่าจะใส่อารมณ์ เล่าเรื่องของแม่ใหญ่ให้น่าตื่นเต้นหรือน่าติดตามได้ไม่ยาก แต่เหมือนคนเขียนจงใจเล่าผ่านๆ อย่างไรไม่ทราบ

อย่างที่บอก เราไม่แน่ใจจริงๆ ว่าอะไรคือจุดประสงค์ของเรื่องสั้นนี้ เราคิดว่ามันมีศักยภาพที่จะเป็นเรื่องสั้นเพื่อชีวิตยุคใหม่ ซึ่งนอกจากจะสะท้อนสังคมชนบทแล้ว ยังจิกกัดวงการน้ำหมึกไปด้วย (ชอบมากตอน “ผม” หยิบยกเอาคำบาลีขึ้นมา ดูมันช่างเลอะเทอะและห่างไกลจากความเป็นจริงนัก) มีอีกจุดหนึ่งที่อยากแนะนำผู้เขียนคือ เท่าที่อ่านดู “ผม” เหมือนจะเป็นลูกชายคนเดียวที่มีการศึกษาสูงกว่าใครเขาในบ้าน ตรงนี้น่าสนใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และส่งผลกระทบอย่างไรต่อความรู้สึกและปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว

ทำไมเราถึงไม่อ่าน SuperFreakonomics


ต้องอธิบายกันก่อน เพราะเหมือนคราวที่แล้วพูดไว้ไม่ค่อยละเอียด Freakonomics เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์สำหรับบุคคลทั่วไป เลวิทและดับเนอร์เจาะปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันด้วยกลวิธีทางเศรษฐศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ว่า “ภูมิปัญญา” ไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไป SuperFreaknomics คือ “ภาคต่อ” ของเล่มที่แล้ว เป็นหนังสือที่เราจะไม่อ่านทั้งเล่มและสัญญากับตัวเองว่าจะไม่อ่านอะไรอีกแล้วที่เลวิทและดับเนอร์เขียนไปตลอดกาล!

ก็เข้าใจละนะว่าสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องการสวนกระแส ไม่ช้าก็เร็วคงหนีไม่พ้นที่จะพูดถึงปรากฏการณ์โลกร้อน ทั้งที่ทำใจไว้แล้วว่าอ่านบทนี้จะต้องโกรธแน่ๆ แต่ก็รับไม่ได้จริงๆ กับ What Al Gore and Pinatubo have in Common นี่คืองานเขียนที่ไม่ได้มาตรฐานทางวิชาการ เต็มไปด้วยการบิดเบือนความจริงเพื่อสวนกระแสมากกว่าจะพิจารณาปัญหาด้วยเหตุและผล ซึ่งน่าเสียดาย เพราะลึกๆ แล้วเราเห็นคุณค่าบางอย่างในบทความนี้

น่าสังเกตว่าพวกที่ไม่เชื่อในปรากฎการณ์โลกร้อน (Global Warming Contrarian) มักจะไม่ได้ไม่เชื่อจริงๆ จังๆ แต่ยอมรับไม่ได้มากกว่าที่ “ฝ่ายตรงข้าม” ลุกขึ้นมาพูดหรือเสนอวิธีแก้ปัญหานี้ก่อนตัวเอง ตั้งแต่กลุ่ม Objectivist ที่เราไปฟังสัมนามาจนถึง SuperFreakonomics สิ่งที่เหมือนกันคือคนเหล่านี้จะเริ่มจาก (1) ปฏิเสธว่าปรากฎการณ์โลกร้อนไม่ได้เกิดขึ้นจริง จากนั้นก็พูดต่อไปว่า (2) แต่ถ้ามันมีจริงเรามีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าที่นักอนุรักษ์ พรรคเดโมแครต หรืออัลกอร์เสนออยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็ชวนให้สงสัยยิ่งนักว่า ในเมื่อพวกเขาไม่เชื่อในปรากฏการณ์โลกร้อนตั้งแต่แรก ทำไมถึงต้องเสนอวิธีแก้ปัญหาด้วย

จริงๆ พฤติกรรมสองมาตรฐานแบบนี้อธิบายได้ไม่ยาก สาเหตุก็ด้วยเหตุผลทางการเมือง พรรครีพับลิกัน กลุ่ม Objectivist หรือนักเศรษฐศาสตร์หัวเอียงขวาจัดอย่างไรเสียก็ยอมรับไม่ได้ว่า “ฝ่ายตรงข้าม” ถูก แม้ว่าลึกๆ จะจนด้วยเหตุผลเพียงใดก็ตาม ขณะเดียวกันปัญหาโลกร้อนก็เป็นปัญหาที่ ในทางสุดโต่งแล้ว มีผลกระทบรุนแรงจนไม่มีใครอยากถูกพิสูจน์ว่าตัวเองผิดเข้าสักวันหนึ่ง แม้แต่เลวิทและดับเนอร์ที่อ้างมาตลอดว่าใช้เหตุและผลเพื่อต่อสู้กับ “ภูมิปัญญา” สุดท้ายก็ยังตกอยู่ในกับดักที่ว่า

ขอพูดถึงประเด็น (1) ก่อนก็แล้วกัน สำหรับคนที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ต้องอธิบายก่อนว่าในแวดวงวิชาการนั้นไม่ได้มีนักวิทยาศาสตร์คนเดียว ศึกษาปัญหาข้อเดียว ด้วยกลวิธีและแบบจำลองเดียว และเอาผลการทดลองเดี่ยวๆ นั้นมาเสนอต่อหน้าสาธารณชน แม้ธรรมชาติจะมีคำตอบเดียว แต่แวดวงวิชาการก็เหมือนสังคมไหนๆ ของมนุษย์ เต็มไปด้วยผู้คนที่มีความคิดและพื้นฐานหลากหลาย พวกเราวิจัยปัญหาหนึ่งๆ ด้วยกลวิธีที่แตกต่างกันและในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ปรากฎการณ์โลกร้อนนั้นเกิดขึ้นจริง โดยมีปัจจัยหลักคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์

แต่ไม่ได้หมายความว่าผลการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ทุกคนจะต้องออกมาตรงกัน ข้อความที่ปฏิเสธประโยคซึ่งเน้นตัวหนาข้างบนเหมือนบอกว่า “บุหรี่ไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง” ซึ่งแน่นอนว่าจากห้องทดลองทางการแพทย์ร้อยพันหมื่นแห่งทั่วโลก มันจะต้องมีสักห้องหนึ่งสิน่าที่ให้ผลตรงข้ามกับข้อสรุปตรงนี้


สิ่งที่เลวิทและดับเนอร์พยายามทำ ซึ่งเป็น “ความไร้มาตรฐานทางวิชาการ” คือการมองความจริงแบบแยกย่อย โดยเพิกเฉยกับภาพรวม ทั้งคู่มุ่งประเด็นไปที่นักวิทยาศาสตร์ไม่กี่คนซึ่งมีความเห็นขัดแย้งกับกระแสหลัก ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งคู่ยังจับเอาคำพูดแค่ไม่กี่คำจากบริบทใหญ่เพื่อนำมาใช้เสริมสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ศาสตราจารย์คาลไดราหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ทั้งคู่สัมภาษณ์ถึงกับออกมากล่าวในภายหลังว่า “คุณนั่งคุยใครทั้งวัน พูดอะไรต่อมิอะไรออกไปมากมาย มันก็ต้องมีบ้างแหละ บางคำพูดที่พอแยกออกมาจากบริบทแล้ว ฟังดูตรงข้ามกับสิ่งที่คุณเชื่อ” (คาลไดราสารภาพว่าไม่ได้อ่านต้นฉบับ SuperFreaknomics อย่างละเอียดก่อนตีพิมพ์ เขารู้สึกว่าภาพตัวเขาที่ถูกนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ขัดแย้งกับสิ่งที่เขาเป็นหรือเชื่อจริงๆ )

ว่ากันตรงๆ ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนไหนหรอกที่เห็นตรงกันเปี๊ยบกับข้อสรุปส่วนใหญ่ เหมือนกับบอกว่า “โดยเฉลี่ยแล้วนักเรียนทั้งห้องสูง 150 เซนติเมตร” แต่กลับไม่มีนักเรียนคนไหนเลยในห้องที่สูง 150 เซนติเมตรพอดี อย่างนี้แสดงว่าข้อความในอัญประกาศเป็นเท็จอย่างนั้นหรือ นี่คือ “ความไร้มาตรฐานทางวิชาการ” ที่น่าละอายคือมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากๆ กับวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่เลวิทและดับเนอร์กลับมากระทำบาปตัวนี้เสียเอง

น่าเสียดายเพราะประเด็น (2) ซึ่งทั้งคู่หยิบยกมาก็น่าใคร่ครวญอยู่ไม่น้อย วิธีแก้โลกร้อนไม่ใช่ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค (ซึ่งในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ ทั้งคู่บอกว่ามัน “เป็นไปไม่ได้”) แต่ด้วยกระบวนการ Geo-engineering หรือการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศโดยตรง เช่นการฉีดสารที่ไม่เป็นอันตรายเข้าไปในชั้นบรรยากาศเพื่อเป็นร่มกันรังสีจากดวงอาทิตย์ ข้อถกเถียงที่ทั้งคู่ยกมาก็คือ “หากว่าปัญหาโลกร้อนรุนแรงถึงขนาดที่อัลกอร์หรือนักอนุรักษ์อ้างเอ่ยจริง คงไม่มีประโยชน์อะไรแล้วที่จะมาลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทางแก้ไขเดียวก็คือ Geo-engineering เท่านั้น” Geo-engineering จัดว่าเป็นประเด็นร้อนประเด็นหนึ่งเลยในหมู่นักอุตุนิยมวิทยา แม้แต่ใน ICCP เอง (คณะนักอุตุนิยมวิทยาที่ได้รางวัลโนเบลร่วมกับอัลกอร์) ก็ยังมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนตัวแล้วเราอยู่ตรงกลางแต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้นได้

(1) เราต้องยอมรับกันก่อนว่าปรากฏการณ์โลกร้อนมีจริง

(2) เราต้องยอมรับข้อมูลและการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ปรากฏการณ์โลกร้อน (มิเช่นนั้นก็ไม่มีความหมายอะไรที่จะให้คนกลุ่มเดียวกันนี้มาศึกษา Geo-engineering กระบวนการที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนยิ่งกว่า Global Warming หลายเท่า)

ซึ่งเลวิทและดับเนอร์ล้มเหลวในสองข้อนี้

เรารู้ได้ว่าใครคนหนึ่งผิดจริง ไม่จริงก็เวลาฟังเขาแก้ตัว ดับเนอร์ออกมาโต้ตอบกับหลายคนที่ชี้จุดผิดพลาดใน What Al Gore and Pinatubo have in Common ซึ่งวิธีการโต้ตอบของดับเนอร์ก็คืออ้างว่าเขาไม่เคยนำเสนอ (1) ประเด็นหลักของ What Al Gore and Pinatubo have in Common มีแค่ (2) เท่านั้น ใครที่ได้อ่านบทความใน SuperFreakonomics น่าจะลงความเห็นเหมือนกันหมดว่าคำแก้ตัวนี้ฟังไม่ขึ้น

สำหรับผู้สนใจ

- หาอ่านคำแก้ตัวของดับเนอร์ได้ที่ "ลิงค์นี้"

- ตัวอย่างบทความโต้ตอบ What Al Gore and Pinatubo have in Common ไปที่ "ลิงค์นี้"

- สำหรับคนที่สนใจว่าดับเนอร์และเลวิทปฏิเสธปรากฏการณ์โลกร้อนด้วยวิธีไหนบ้าง หาอ่านได้ที่ "ลิงค์นี้" ซึ่งมีคำโต้ตอบประกอบมาด้วย