A. B. Toumi's "Madah-Sartre"


ขอเปิดบทวิจารณ์ด้วยคำพูดคลาสสิกของนิค คาราเวย์ ตัวเอก (ที่ถูกคนลืม) ของ The Great Gatsby ว่า "ผมเป็นคนใจกว้าง" และหลักฐานอย่างหนึ่งของความเป็นคนใจกว้างก็คือเวลาอ่านหนังสือ ต่อให้เราเห็นด้วยกับผู้เขียน แต่ถ้าความคิดของเขาถูกนำเสนออย่างสุดโต่ง ก็อาจหงุดหงิดได้เหมือนกัน เช่นบทละคร Madah-Sartre ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ว่า นี่เป็นบทละครสมัยใหม่ เพิ่งถูกเขียนเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง โดยเหตุเกิดในปี 1980 กว่าๆ ช่วงที่พวกผู้ก่อการร้ายชาวอิสลามในอัลจีเรียเริ่มต้นสังหารนักวิชาการทั่วประเทศ ซาร์ตและโบวิว หญิงคนรัก โดยตัวเธอเองก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแม่ลัทธิสตรีนิยมด้วย ซึ่งในปี 1980 ทั้งคู่ก็ซี้แหงแก๋มานานแล้ว ลงมาจากสวรรค์เพื่อมาร่วมงานศพของนักเขียนคนหนึ่งที่ถูกผู้ก่อการร้ายลอบสังหาร ระหว่างที่ไปร่วมงาน ทั้งซาร์ตและโบวิวถูกผู้ก่อการร้ายลักพาตัว โดยบทละครทั้งเรื่องนี้คือความพยายามของมาดาฮ์ หมอสอนศาสนาที่ถูกองค์กรส่งมาเพื่อชักชวนให้ซาร์ตและโบวิวเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิลสาม โดยพวกนี้หวังว่าถ้าชวนสองคนนี้เข้าเป็นพวกได้ ก็จะมีผู้ติดตามอีกมากมาย

เอาเข้าจริงบทละครเวทีที่มีตัวละครเป็นคนดังในประวัติศาสตร์ ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และตายไปแล้ว รวมถึงที่เล่นกับชีวิตหลังความตายของพวกเขาเหล่านั้นก็เป็น genre น้อยๆ ที่น่าสนใจอยู่ แต่ผลงานของทูมีเล่มนี้ไปไม่ถึงเอาเสียมากๆ อ่านแล้วหงุดหงิดกับความพยายามของทูมีที่นำเสนอให้มาดาฮ์ดูใจแคบและโง่เง่าอย่างเห็นได้ชัด ข้อถกเถียงของมาดาฮ์ไม่ได้ไกลไปกว่า "ถ้าไม่นับถือพระเจ้า ตายไปจะตกนรกนะ" เรียกว่าในเชิงเหตุผลแล้วเทียบกับซาร์ตและโบวิวไม่ติดฝุ่น ถ้าเป็นมวย ก็ต้องบอกว่าต่างรุ่นกันเกินไป ต่อยไม่มัน จริงๆ มาดาฮ์นั้นแพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้งแล้ว เพราะซาร์ตคือคนที่ตายไปแล้ว เขาไม่สามารถโดนขู่ฆ่าเอาชีวิตได้ มิหนำซ้ำซาร์ตเองก็เพิ่งลงมาจากสวรรค์ เขาได้พบกับพระผู้เป็นเจ้าซึ่งๆ หน้า ทั้งที่ตัวเองก็เป็นพวกอเทวนิยมมาทั้งชีวิต แล้วแบบนี้ผู้ศรัทธาหัวรุนแรงอย่างมาดาฮ์จะเอาอะไรไปสู้ ทูมีเองก็ไม่ได้เอาความเหนือจริงของสถานการณ์ที่คนตายถูกผู้ก่อการร้ายจับตัว มาใช้ให้เกิดประโยชน์อะไร

ผิดหวังมากๆ Madah-Sartre ดูจะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมภาพยนต์สูง ซึ่งบทละครสมัยใหม่ก็เป็นอย่างนี้กันเยอะ บทเรียนแรกที่นักเขียนบทละครควรจะท่องเอาไว้คือบทละครเวทีไม่ใช่บทภาพยนตร์ ศาสตร์และศิลป์ของมันต่างกันราวฟ้ากับเหว ถ้าไม่รู้จักแยกแยะความแตกต่างระหว่างศิลปภาษาแขนงต่างๆ ก็สมควรกลับไปอ่าน What is Literature? อีกสักรอบก่อน แล้วค่อยมาเขียนถึงซาร์ต ดีไหม

M. Berman's "All That is Solid Melts into Air"


ช่วงที่อยู่ปีสาม เราลงเรียนวิชาซึ่งเปลี่ยนแปลงความคิดเราจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่สินะ พูดให้ถูกคือมันหารูปร่างให้กับความเชื่อบางอย่างของเรา ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นวุ้นจับต้องไม่ได้เสียมากกว่า จำไม่ได้แล้วว่าชื่อวิชาคืออะไร แต่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองและการวางผังเมือง เราได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งทรงอิทธิพลสุดในชีวิตเรา The Death and Life of Great American Cities โดยเจน เจคอป ผู้เขียนเป็นแม่บ้านชาวอเมริกันผู้อาศัยอยู่ในกรุงนิวยอร์ค เจคอปพูดถึงชีวิตประจำวันของเธอ ก่อนจะวิเคราะห์ว่าเมืองที่สวยงาม เมืองที่ดีนั้นต้องมีสภาพแบบไหน

ในฐานะที่เราเกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่เด็ก ผ่านการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. มาไม่รู้กี่สมัย คำโปรย คำหาเสียง และนโยบายก็อ่านมานับไม่ถ้วน พูดได้อย่างเต็มปากเลยว่าคนไทยมีความเข้าใจเกี่ยวกับเมืองน้อยมาก (ยกตัวอย่างง่ายๆ สวนสาธารณะไม่ใช่ปอดของเมือง ในทางตรงกันข้าม ถ้าขาดการจัดการที่ดี สวนสาธารณะนี่แหละจะกลายเป็นแหล่งซ่องสุมและอาชญากรรม) แค่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเมืองยังพอรับได้ แต่ปฏิเสธที่จะเข้าใจเมืองต่างหาก คือความน่าอดสู

All That is Solid Melts into Air จะกล้อมแกล้มว่าเป็นภาคต่อของ The Death and Life of Great American Cities ก็พอได้ แต่หนังสือเล่มนี้ของเบอร์แมนมีขอบเขตที่กว้างไกลกว่าแค่เรื่องเมือง มันคือการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของเมืองผ่านระบบเศรษฐกิจ รัฐกิจ และวรรณกรรม ที่สำคัญนี่อาจจะเป็นหนังสือซึ่งนิยาม “หลังสมัยใหม่” ได้อย่างละเอียดและชัดเจนสุด (ตอนที่เบอร์แมนเขียน All That is Solid Melts into Air เมื่อสามสิบปีที่แล้ว คำว่า “หลังสมัยใหม่” ยังไม่เป็นที่นิยมนัก โดย “สมัยใหม่” ที่เบอร์แมนใช้ในหนังสือเล่มนี้ จะมีความหมายคล้ายคลึงกับ “หลังสมัยใหม่” อย่างที่พวกเราคุ้นชินกันมากกว่า)

ชื่อหนังสือของเบอร์แมนมาจากประโยคเด็ดของมาร์กใน Communist Manifesto โดยมาร์กพูดถึงนวัตกรรม เศรษฐกิจ และการปกครองแบบชนชั้นกลางนั้น แม้จะน่าชื่นชม เพราะเป็นการฉีกจากระบบศักดินา แต่สุดท้าย “สิ่งก่อสร้างตระหง่านบรรดามี” จากน้ำมือของชนชั้นกลางก็จะ “ระเหิดหายกลายเป็นหมอกควัน” ในสายตาของมาร์ก มีแต่คนชั้นแรงงานเท่านั้นถึงจะให้กำเนิด “สิ่งก่อสร้างตระหง่านบรรดามี” ได้ เบอร์แมนไม่ได้เห็นด้วยกับมาร์กเสียทีเดียว โดยเขายกวาทกรรมตัวนี้แหละ มากลับหัวกลับหางและใช้อธิบายว่าเหตุใดทุนนิยมและโลกหลังสมัยใหม่ถึงได้กลายมาเป็น “สัจธรรม” อย่างที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้

อยากพูดถึงความ “น่าอดสู” นิดหนึ่ง อย่างที่บอกว่าเบอร์แมนวิเคราะห์เมืองผ่านสายตาของนักเขียนวรรณกรรมตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก ปารีส หรือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก อ่านแล้วก็รู้สึกสะท้อนใจว่าเมืองไทยช่างขาดนักเขียนที่พูดถึงกรุงเทพฯ อย่างเป็นธรรม ส่วนใหญ่จะเป็นความ “น่าอดสู” ของนักเขียนหล่มเพื่อชีวิตที่เอากรอบถิ่นแดนไกลนิยมแบบย้อนกลับมามองกรุงเทพฯ นอกจากจะไว้อาลัยแล้ว อยากใช้พื้นที่ตรงนี้ชื่นชม ซอยเดียวกัน ของคุณวาณิช และหนังสือหลายเล่มของคุณดำรงค์ ที่เอากรุงเทพฯ มาใช้เป็นฉากได้อย่างมีรสนิยม รวมไปถึงภาพยนต์ รักแห่งสยาม ด้วย

M. Foucault's "The Care of the Self"


วันนี้ก็ยังคุยกับผู้กำกับอยู่เลยว่า ในการฟังดนตรีคลาสสิคที่ว่ากันว่ายากแสนยาก ควรจะเริ่มไต่กระไดจากใครก่อน คำตอบแบบของตายก็คือสามบ. ได้แก่บาค บีโธเฟน แล้วก็บาร์มส์ ในทำนองเดียวกัน การอ่านงานเขียนเชิงปรัชญาที่ยากแสนยาก ควรจะเริ่มจากใครก่อนดี คำตอบของเราคือฟูโกต์ ฟูโกต์นี่แหละง่ายสุดแล้ว ฟูโกต์เป็นทั้งนักปรัชญาและนักประวัติศาสตร์ งานเขียนของแกเต็มไปด้วยตัวอย่างรูปธรรมจับต้องได้ในประวัติศาสตร์ ซึ่งต่อให้เราอ่านส่วนที่เป็นนามธรรมไม่เข้าใจ อย่างน้อยก็ถือว่าอ่านนิทานหรือเกร็ดประวัติศาสตร์เพลินๆ ก็ยังดี

เกริ่นแบบนี้เพราะจะบอกว่าเราผูกพันกับฟูโกต์สุดในบรรดานักปรัชญาตะวันตกทั้งหมด และจากงานทั้งหลายแหล่ของฟูโกต์ที่เราอ่าน The Care of the Self คือผลงานที่เราผิดหวังสุด ส่วนหนึ่งก็เพราะมันเป็นเล่มสุดท้ายในชุด The History of Sexuality ซึ่งเป็นมหากาพย์ทางปรัชญา/ประวัติศาสตร์เพศสภาพสามเล่มจบ จำได้ว่าอ่านเล่มแรกเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว The Care of the Self ก็เลยเหมือนกับจุดสิ้นสุดของการเดินทาง ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดที่แอนไทร์ไคลแมกใช้(ไม่)ได้

สมตามชื่อหนังสือ The Care of the Self ว่าด้วยการที่มนุษย์เราเริ่มรู้จักดูแลตัวเอง โดยฟูโกต์จับตามองสมัยกรีกโบราณ การดูแลตัวเองในที่นี้ประเด็นหลักก็คือเรื่องเพศ หรือเจาะจงยิ่งกว่านั้น การควบคุมกิจกรรมทางเพศของปัจเจคบุคคล พูดอีกนัยหนึ่ง The Care of the Self ว่าด้วยต้นกำเนิดของความคิดซึ่งจะมีอิทธิพลอย่างมากในยุคกลาง ว่าทำไมการมีเพศสัมพันธ์ถึงเป็นบาป

ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นหัวข้อที่น่าขบคิด แต่ไปๆ มาๆ ฟูโกต์ก็กลับมา “ตายตอนจบ” ด้วยความถนัดของตัวเอง กล่าวคือทั้งเล่มเกี่ยวกับยุคกรีกโบราณ และผู้เขียนก็ช่างขยันหาบทความ สาระมาให้เราอ่านเสียจริง แต่อ่านไปได้สักครึ่งเล่มก็เบื่อแล้ว ถ้าฟูโกต์จะขยับขยายจากกรีก มาเป็นยุคกลาง จนมาถึงยุคปัจจุบัน นี่จะเป็นหนังสือที่น่าสนใจมากๆ

เราคิดว่าการควบคุมทางเพศในปัจจุบันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องบาป หรือสถานะทางเศรษฐกิจเช่นในอดีต หากโยงไปหาเรื่องสุขภาพและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แทน ซึ่งก็เป็นอีกมิติทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน แต่พูดก็พูดเถอะ สมัยฟูโกต์นี่มันยังแทบไม่มีโรคเอดส์เลยนิ ถ้าฟูโกต์ทันยุคโรคเอดส์ แกคงอัพเดท The History of Sexuality เล่มที่สี่ออกมาแน่ๆ

ความฉาบฉวยของวัฒนธรรมไทย


จากที่อ่านบทความ การรับ การเสพสังคีตศิลป์ในสังคมร่วมสมัย โดยอาจารย์รังสิพันธุ์ และ พิเชษฐ กลั่นชื่น: ทางไปสู่การอภิวัฒน์นาฏศิลป์ไทย โดยอาจารย์ปาริชาติ เราก็เอาแต่คิด คิด คิดเรื่องความฉาบฉวยในวัฒนธรรมไทย อะไรคือความฉาบฉวย และวัฒนธรรมไทยที่ฉาบฉวย มันต่างจากที่ลุ่มลึกตรงไหน

ตัวอย่างความฉาบฉวยที่อาจารย์รังสิพันธุ์ยกมาในบทความนั้นเป็นโฆษณาชิ้นหนึ่งซึ่งเราไม่เคยดู อาจารย์เล่าว่ามีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งเล่นสเกตบอร์ดผ่านหน้าคุณป้าหรือคุณอาที่กำลังตีระนาดอยู่ เด็กวัยรุ่นรู้สึกสนใจ เลยแวะเข้าไปหา ไปลองฟัง และลองตีต๊องแต๊งดูบ้าง ซึ่งพอตัดภาพไปอีกที ก็เห็นเด็กวัยรุ่นคนนั้นกำลังฝึกตีระนาด นัยที่ผู้โฆษณาต้องการสื่อคือ ระนาดหรือวัฒนธรรมไทยนั้นเหนือกว่าสเกตบอร์ดหรือวัฒนธรรมรุ่นใหม่ที่เรารับมาจากตะวันตก

ฟังผิวเผินแล้วก็เหมือนว่าจะดี ไม่เห็นมันจะฉาบฉวยตรงไหน

แต่ตัวอย่างของอาจารย์รังสิพันธุ์เตือนให้เรานึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งใน ขายหัวเราะ ซึ่งมันติดอกเรามากๆ สมัยกระพู้นนู้นป้าเบิร์ดเพิ่งออกอัลบั้ม ธ. ธง และมีการจัดคอนเสิร์ตแบบเบิร์ดๆ ในศูนย์วัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่มาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบไฮดรอลิกครั้งแรกในประเทศไทย เทคโนโลยีแสง สี เสียง ในเรื่องสั้นดังกล่าว พูดถึงเบื้องหลังการจัดคอนเสิร์ตที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง และนายทุนมาถกเถียงกัน มีการกล่าวหาว่านักร้อง (ซึ่งแน่นอนว่าผู้เขียนไม่ได้เจาะจงว่าเป็นป้าเบิร์ด) ลวงโลกด้วยการลิปซิงค์ (โดยผู้เขียนไม่ได้สำเหนียกเลยว่าเบิร์ดคือนักร้องที่มีน้ำเสียงไพเราะ และเป็นเอนเตอเทนเนอร์ตัวเอ้สุดของประเทศไทย ขนาดเราไปดูคอนเสิร์ตป้าเมื่อปีที่แล้ว ถ้าไม่ใช่เพลงเร็วที่ต้องร้องไป เต้นไป ป้าก็ยังร้องสดๆ ให้เราฟัง)

ทีนี้ตอนท้ายของเรื่องสั้น ระหว่างพักครึ่ง เมื่อคนดูเดินออกจากโรงมหรสพไปเดินเล่นแถวศูนย์วัฒนธรรม ก็ปะเหมาะคุณยายคนหนึ่งกำลังตีขิม ดีดจะเข้ ซีซอ หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ และด้วยความไพเราะของดนตรีไทยนั่นเอง สะกดคนดูไม่ให้ไปไหน ขนาดเขาเรียกกลับไปดูคอนเสิร์ตร้อยล้าน ก็ยังสมัครใจจะยืนให้เขาซีซอกล่อมต่อไปเรื่อยๆ

ฉาบฉวยไหม ถ้ายึดตามตัวอย่างของอาจารย์รังสิพันธุ์ก็ต้องถือว่าฉาบฉวยเช่นกัน


อะไรคือความฉาบฉวยของวัฒนธรรมไทยที่ปรากฎในโฆษณา และเรื่องสั้นนี้ ทั้งที่ผู้คิด และผู้เขียนล้วนแต่มีเจตนาดี ต้องการให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเสน่ห์ดั้งเดิม ที่มันอาจดึงดูดใจผู้เสพมากกว่าวัฒนธรรมไทยประยุกต์

กระนั้นก็ตาม ในเจตนานั้นแหละที่แฝงความฉาบฉวยไว้ ในความเห็นเรา ไม่มีหรอกวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม หรือไทยประยุกต์ พฤติกรรมของคนไทย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นสเกตบอร์ด ดูคอนเสิร์ตเบิร์ดๆ หรือฟังดนตรีไทย ชมนาฏศิลป์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นวัฒนธรรมไทยทั้งสิ้น เราเคยยกคำกล่าวของอาจารย์นิธิว่า “วัฒนธรรมสำคัญกว่าความรู้” มาใช้กำกับบทวิจารณ์หนังสือของเอโค มาคราวนี้เราขอเสริมต่อไปอีกว่า “แต่วิถีชีวิตกว่าวัฒนธรรม” (และถ้าจะมีใครหัวเส พูดต่อไปด้วยว่า “และท้ายที่สุดความรู้สำคัญกว่าวิถีชีวิต” ก็เห็นด้วยอยู่เหมือนกัน) วัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งที่รับสืบทอดมาจากบรรพชนในอดีต วัฒนธรรมคืออันใดก็แล้วแต่ที่งอกเงยมาจากการดำรงชีวิต ไม่ว่าในปัจจุบันการดำรงชีวิตของคนไทยจะเอื้อให้เกิดพฤติกรรมแบบไหนขึ้น สิ่งนั้นแหละคือวัฒนธรรม

สานส์ซึ่งซ่อนอยู่ในโฆษณาและเรื่องสั้นชิ้นนี้ ไม่ใช่เพียงว่าวัฒนธรรมไทยเดิมดีกว่าวัฒนธรรมไทยที่รับมาจากต่างชาติ แต่ในกรณีเรื่องสั้นนั้นชัดมากว่าผู้เขียนต้องการโยงวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับระบบทุน ธุรกิจ โดยคนดูที่จ่ายเงินแพงๆ ซื้อบัตรคอนเสิร์ต ครั้นจะซาบซึ้งกับซอ ก็สามารถโยนบัตรทิ้งได้โดยไม่ยี่หระ กรณีโฆษณาอาจจะไม่ชัดเจนเท่า (เนื่องจากเราไม่ได้เห็นด้วยตาตัวเองเลยวิจารณ์ลำบาก) แต่เราเชื่อว่ามันจะต้องมีบ้างแหละ การโยงดนตรีไทยไปหาจิตวิญญาณหรืออะไรที่จับต้องไม่ได้ และไม่เป็นชีวิตประจำวัน

นี่ต่างหากคือความฉาบฉวย การมองว่าวัฒนธรรมไทยเป็นสีสันที่มาแต่งแต้ม แต่ไม่ได้ฝังลึกลงในวิถีชีวิต สิ่งที่เกินออกมาและฉาบอยู่ด้านบน ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตเหมือนระบบทุน ธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ไม่ว่าเจตนาของผู้สร้าง ผู้เขียนจะดีสักแค่ไหน แต่วัฒนธรรมไทยที่สื่อออกมาก็เป็นได้แค่ความฉาบฉวย


แต่ถ้าถามว่าอาจารย์รังสิพันธุ์จะเห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของเราไหม เรากลับรู้สึกว่าคงไม่แฮะ เนื่องจากในบทความดังกล่าว อาจารย์ยกตัวอย่างความฉาบฉวยขึ้นมาอีกอย่าง คือรายการ “ชื่อแปลกๆ ” ที่จับเอาคนมาแข่งขันดนตรีไทย และลูกทุ่งกัน โดยจะมีกรรมการคอยตัดสินว่าฝ่ายไหนเล่นได้ดีกว่า อาจารย์กล่าวว่าการกระทำแบบนี้ขัดกับประเพณีการแข่งขันดนตรีแบบไทยเดิม ที่จะไม่มีคนตัดสิน แต่ฟังกันเองก็รู้ฝีมือแล้ว หรือถ้าจะวัดฝีมือ ก็ต้องแข่ง ต้องเล่นกันเป็นปี

อาจารย์รังสิพันธุ์เรียกสิ่งนี้ว่าความฉาบฉวย ซึ่งเราไม่เห็นด้วย ก่อนอื่นเลยเนื่องจากอาจารย์ไม่ได้เจาะจงชื่อรายการ เราเหมาไปเลยว่าเป็นรายการสุดโปรดของเรา ชิงช้าสวรรค์ ซึ่งนี่แหละคือการประยุกต์วัฒนธรรมลูกทุ่งให้ทันสมัย และน่าเมียงมองที่สุด การประกวดเข้ากับ “วัฒนธรรมไทย” ยุคใหม่ที่ผู้คนชอบดู ชอบฟังการแข่งขันดนตรี การให้เด็กมาแสดงเป็นหมู่คณะก็ฝึกฝนการเรียนรู้ ความสามัคคี และอื่นๆ ที่งอกเงยมาจาก “วัฒนธรรมโรงเรียน” (ซึ่งต่างจาก “วัฒนธรรมสำนัก” แบบสมัยก่อน) ถ้าจะติอยู่บ้าง ก็อาจเป็นการลงทุนที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเกินไปหรือเปล่า

ขึ้นชื่อว่าเป็นวิถีชีวิต เป็นสิ่งที่คนไทยกระทำจนติดเป็นนิสัย ไม่มีหรอกวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม ไทยประยุกต์ มันอาจเป็นวัฒนธรรมที่นำมาซึ่งโทษมากกว่าคุณ (และเอาเข้าจริงวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมหลายอย่างเช่นการเหยียดเพศ ก็ไม่เห็นจะวิเศษตรงไหน) แต่เมื่อวิถีชีวิตพูดแล้ว วัฒนธรรมมีหน้าที่หุบปาก และฟัง!

ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 2 (นพพร ประชากุล)


ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 2 นี้ไม่ใช่หนังสือนะครับ แต่เป็นกระเป๋าวิเศษของโดราเอมอน ซึ่งบรรจุ “เทคโนโลยีทางวาทกรรม” ไว้มากมาย ซึ่งไม่มี หรือไม่เป็นที่แพร่หลายในสังคม และถ้าหากนักวิชาการ ศิลปิน หรือปัญญาชนสยามได้มีโอกาสอ่านบทความในหนังสือเล่มนี้ คงช่วยรังสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ และช่วยพัฒนาบ้านเราได้มากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่นวาทกรรมการต่อต้านอำนาจซึ่งถอดความมาจากบทสัมภาษณ์อาจารย์นพพร อาจารย์ชูศักดิ์ โดยนิตยสาร สารคดี โดยทั้งสองอาจารย์กล่าวว่าในโลกยุคหลังสมัยใหม่ การต่อต้านอำนาจแท้ที่จริงก็คือเสาหรือ “สดมภ์” อย่างหนึ่งที่คอยค้ำจุนอำนาจ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราบอกว่าทุนนิยมทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ขณะเดียวกันสินค้าอะไรก็ตามที่รักษาสิ่งแวดล้อม หรือมีนัยยะ “สีเขียว” ก็จะมีราคาแพงกว่าปรกติ เพราะได้เพิ่มค่าทางสัญญะ คนซื้อสามารถโฉบเฉี่ยวสินค้าไปอวดอ้างได้ว่า ฉันรักป่า เขา ลำเนา ไพรนะจ๊ะ

น่าเสียดายว่าวาทกรรมดีๆ อย่างนี้กลับไม่ค่อยปรากฎในบ้านเรา เมื่อเร็วๆ นี้ได้อ่านบทสัมภาษณ์นักเขียนเพื่อชีวิตท่านหนึ่ง ก็ยังออกมาประกาศปาวๆ ว่า หน้าที่ของศิลปินและนักเขียนคือการต่อต้านผู้มีอำนาจ โดยหาตระหนักไม่ว่าอย่างปรากฏการณ์แดงเหลืองในบ้านเรา ได้แสดงให้เห็นว่าอำนาจคือสิ่งที่ยิ่งต่อต้าน ก็ยิ่งลุกโหม

อีกความคิดหนึ่งซึ่งน่าไตร่ตรองมากคืออิทธิพลของพุทธศาสนาในกระแสปัญญา คนไทยนี้ฟังอะไรมา ไม่ว่าจะเป็นสมัยใหม่ หลังสมัยใหม่ โครงสร้างนิยม วิทยาศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ ก็เอะอะพูดทันทีว่า “เหมือนที่พุทธศาสนาสอนไว้เลย” ถ้าเอาวาทกรรมตัวนี้มา “รื้อสร้าง” ตามแนวทางที่อาจารย์นพพรนำเสนอในกระเป๋าวิเศษ นี่คือการที่วัฒนธรรมตะวันออกพยายามครอบงำวัฒนธรรมตะวันตก “เหมือนที่พุทธศาสนาสอนไว้เลย” ก็เท่ากับ “เรื่องแบบนี้พวกฉันรู้อยู่แต่แรกแล้ว” และไปไกลกว่านั้นคือ “ฉันไม่จำเป็นต้องไปศึกษาให้เสียเวลาหรอก” (อุดมธรรม ของศรีบูรพาคือตัวอย่างงานเขียนเชิงพุทธศาสนาที่ตะพัดตะพือไปด้วยชุดความคิดดังกล่าว)

อืม…พูดถึงตรงนี้เราก็ชักไม่ค่อยเห็นด้วยกับตัวเองแล้ว จากการศึกษาโครงสร้างนิยม และปรากฎการณ์วิทยา (phenomenology) เรารู้สึกว่าปรัชญาสองตัวนี้มันมีอะไรเกี่ยวเนื่องกันอยู่กับพุทธศาสนา และคงดีเหมือนกันถ้านักพุทธศาสตร์บ้านเราจะได้มีโอกาสตรวจสอบแนวความคิดของ Husserl หรือ Levi-Strauss ดูบ้าง

ขอจบบทความนี้ด้วยข้อความที่คัดลอกมาจากกระเป๋าวิเศษแล้วกัน
น่าเสียดายไม่น้อยที่ทุกวันนี้การแสวงหาความรู้ของเราตกอยู่ในอาการของความคลั่งไคล้ตัวเอง ต่อต้านตะวันตกสุดขั้ว โดยไม่มีความพยายามที่จะขบคิดหรือฉวยใช้เครื่องมือที่ทำให้เรารู้เท่าทันและไปพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมทางปัญญาโดยไม่รู้ตัว

อีกนัยหนึ่ง กระบวนการหลังอาณานิคมศึกษา ที่ตะวันตกต่อต้านอิทธิพลตะวันออก โดยสร้างอัตลักษณ์ทางปัญญาของตัวเองขึ้นมา ท้ายที่สุดก็คือการตกเป็น “อาณานิคมทางปัญญาโดยไม่รู้ตัว” ถ้าไม่รู้จักเดินตามก้นเขาบ้าง เราจะก้าวนำเขาไปได้อย่างไร

พิเชษฐ กลั่นชื่น: ทางไปสู่การอภิวัฒน์นาฏศิลป์ไทย (ปาริชาติ จึงวิวัฒนาภรณ์)


เราเคยชมการแสดงชุด Pichet Klunchun and Myself ด้วย และไม่ใช่ชมธรรมดา แต่ไปชมถึงดิสนีย์คอนเสิร์ตฮอล อันเป็นโรงมหรสพประจำนครลอสเองเจลิส ชอบการแสดงชุดนั้น แม้ว่าจะมีที่ติอยู่บ้าง มันดีในฐานะการเต้นสมัยใหม่ (Modern dance) ซึ่งแทรกละครไว้นิดหน่อย แต่ถ้ามองมันในฐานะละครซึ่งแทรกการเต้นสมัยใหม่ลงไป ยังถือว่าสอบไม่ผ่านในบางจุด

กระนั้นก็ตามต้องยอมรับว่าศิลปินศิลปาธร พิเชษฐ กลั่นชื่น เป็นนักเต้นรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองอย่างมาก และน่าจะเป็นผู้เปิดหน้าต่าง นำแสงสว่างและอากาศบริสุทธิ์เข้ามาในแวดวงนาฏศิลป์ไทยอันคร่ำครึและเงียบเหงา

พิเชษฐ กลั่นชื่น: ทางไปสู่การอภิวัฒน์นาฏศิลป์ไทย คือสรุปสัมนาวิเคราะห์ผลงานของคุณพิเชษฐ พูดอีกอย่างมันก็คือการถอดเทปการสัมนาซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องประชุมสกว. วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2549 ถ้ามองในฐานะความเป็นหนังสือแล้ว ถือว่ามักง่ายทีเดียว กระนั้นก็ยังดีที่หนังสือเล่มนี้มีบทความของอาจารย์ปาริชาติปะหน้าปะหลัง บทความทั้งคู่ล้วนน่าอ่าน น่าเก็บไปคิดตาม

อาจารย์ปาริชาติพูดถึงอคติที่นาฏศิลป์ส่วนกลางมีต่อนาฏศิลป์ท้องถิ่น ที่มาที่ไปของมัน และเหตุใดอคติตัวนี้ถึงไม่อาจนำไปสู่การพัฒนา สร้างสรรค์แวดวงนาฏศิลป์ไทยได้ เราเห็นด้วยกับอาจารย์ แต่อยากเสริมอีกเรื่องหนึ่ง อคติที่อาจารย์พูดถึงนี้เป็นอคติในเชิงสถานที่ (space) เรารู้สึกว่ามันมีอคติเรื่องเวลา (time) ด้วยซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน และในบริบทการแสดงของคุณพิเชษฐ อคติทางด้านเวลาอาจมีบทบาทยิ่งกว่าเสียด้วยซ้ำ เราขอนิยามอคติทางด้านเวลาไว้ง่ายๆ ว่าเกิดจากความเชื่อว่าวัฒนธรรมไทยหมายถึงอะไรก็ตามที่มีมาแต่โบราณ และการสืบสานวัฒนธรรมก็คือการปลุกผีของเก่าในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่ามันจะหลุดจากบริบทของชีวิตประจำวันสักแค่ไหนก็ตาม

กล่าวคือถ้าสังคมทุนมันไม่เอื้อให้ผู้คนเสพอะไรเชื่องช้าอย่างนาฏศิลป์ หรือดนตรีไทย เราก็โทษว่าเป็นความผิดของสังคมทุน เพราะอัตลักษณ์ของความเป็นไทย มันถูกกำหนดไว้แล้วว่าต้องเชื่องช้า

ไอเดียนี้ค้านกับหลักมานุษยวิทยาหลังสมัยใหม่ ตัวอย่างง่ายๆ จากการแสดงของคุณพิเชษฐคือการใช้แสงสปอตไลท์มาช่วยขับเงาให้ท่วงท่านักแสดงโดดเด่นขึ้น แน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่มีอยู่ในวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม แต่ถ้าไม่รู้จักดัดแปลงเอาอุปกรณ์สมัยใหม่เข้ามาใช้ แล้วดึงดูดคนหนุ่มสาวไม่ได้ ก็อย่าหาว่าไม่เตือนก็แล้วกัน!

S. Freud's "Civilization and its Discontents"


เคยคุยกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เขาปฏิบัติธรรมกัน บ่อยครั้งจะได้ยินพวกเขาบ่นว่า เวลาที่ทุกข์ ไม่ว่าจะทุกข์เพราะอิจฉา เศร้า หรือเหงา มันจะเป็นความทุกข์แบบสองชิ่ง ชิ่งแรกคือทุกข์เพราะอยากได้อยากมี อีกชิ่งคือทุกข์เพราะผิดหวังกับตัวเอง ทำไมเราถึงต้องทุกข์ด้วยนะ (เพราะเรารู้ว่าตัวเองไม่ควรทุกข์) ดังนั้น ก่อนอื่นขั้นตอนแรกของการรับมือกับความทุกข์ ก็คือต้องยอมรับว่าฉันกำลังทุกข์นะ เข้าใจ โอเค อย่าไปปฏิเสธมัน

บางครั้งการที่เราร่ำเรียนมาทางธรรมมากๆ เข้า ก็อาจทำให้เรามีทุกข์แบบที่คนอื่นเขาไม่มีกัน ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าเราไม่ควรศึกษาธรรมนะ เพราะเอาเข้าจริงๆ ความทุกข์ในชิ่งที่สองนี่มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เราอยู่แล้วละ

Civilization and its Discontents ว่าด้วยความทุกข์ในแบบที่สองนี้ แน่นอนว่าฟรอยด์ไม่ได้กำลังพูดถึงศาสนาพุทธ ฟรอยด์เชื่อว่าความทุกข์ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในอารยธรรม เป็นทุกข์ที่เกิดจากความรู้สึกผิด เพราะศาสนาสอนเราว่าไม่ควรทำอย่างนู่นอย่างนี้ ต่อให้บาปของเราแค่อยู่ในขั้นมโนกรรม super-ego ในสมองก็จะสั่งให้เราทรมานตัวเองเพราะความรู้สึกผิดตรงนี้ ซึ่งก็อีกนั่นแหละ ไม่ได้หมายความว่าเราควรปฏิเสธกฎข้อห้ามทางศีลธรรม เพราะมันเป็นเงื่อนไขที่ช่วยให้อารยธรรมเกิดขึ้นมา

ยิ่งอ่านหนังสือของฟรอยด์ ก็ยิ่งช่วยให้เราเข้าใจ เหตุใดเราถึงเปิดรับปรัชญาแบบเยอรมัน แต่รับแนวคิดแบบฝรั่งเศสไม่ค่อยได้ Civilization and its Discontents คือตำรามานุษยวิทยาที่ตรงข้ามกับมานุษยวิทยาแบบฝรั่งเศสโดยสิ้นเชิง (โดยในที่นี้ขอถือว่ามานุษยวิทยาแบบฝรั่งเศสมีต้นกำเนิดมาจากรุสโซก็แล้วกัน) รุสโซคือเจ้าพ่อของลัทธิยกย่องความป่าเถื่อน สภาพดั้งเดิมสุดของมนุษย์คือ “คนป่าผู้ทรงศักดิ์” (“Noble Savage”) รุสโซเชื่อว่าสภาพดั้งเดิมนี่แหละที่มนุษย์เรามีความสุขสุด และอารยธรรมคือเชื้อโรคที่กัดกินความเป็นคน และส่งผลให้เราสุขน้อยลงไปเรื่อยๆ ฟรอยด์จะตรงข้ามกับรุสโซโดยสิ้นเชิง โดยฟรอยด์มองเห็นความจำเป็นของอารยธรรม และเพื่อการสร้างอารยธรรรม (ซึ่งก็คือการที่มนุษย์อยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ) สัญชาตญาณดิบถ่อยของคนป่าต้องถูกกดเก็บเอาไว้ และนั่นต่างหากสาเหตุที่มนุษย์สมัยใหม่เป็นทุกข์กัน

เราเห็นด้วยกับฟรอยด์ แต่ขณะเดียวกัน เราก็คงไม่มานั่งถกเถียงกับรุสโซตัวต่อตัวหรอก ปล่อยให้มหายักษ์สองท่านนี้เขาไปเถียงกันเองบนสวรรค์ดีกว่า สิ่งที่คนเดินดินอย่างเรายังทำได้คือ วิพากษ์วิจารณ์ว่าแนวคิดหลายอย่างในประเทศไทยได้รับอิทธิพลฝรั่งเศสมามากเกินไปแล้ว ควรจะหาอะไรที่เป็นเยอรมันๆ มาอ่านกันบ้างก็ดีนะ

วาทกรรมวรรณกรรม (พิเชฐ แสงทอง)


ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหมวดหมู่วรรณกรรม “มนุษยนิยม” ที่พี่พิเชฐใช้ใน วาทกรรมวรรณกรรม เป็นนวัตกรรมทางด้านการวิจารณ์ ที่พี่พิเชฐคิดค้นขึ้นมาเอง หรือเป็นศัพท์ที่แวดวงวรรณกรรมไทยใช้กันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ส่วนตัวรู้สึกว่าการเอา humanism มาใช้เป็นชื่อ genre ในทางวรรณกรรมไม่ค่อยปรากฎในทฤษฎีการวิจารณ์ของตะวันตกมากนัก (แม้จะจริงอยู่ว่าวรรณกรรม และแนวคิดมนุษยนิยมนั้นแยกกันออกได้ยาก) ถ้าจะมีใกล้เคียงสุดก็คือวรรณกรรมแนวอัตถิภาวนิยม ซึ่งก็คือวรรณกรรมที่อ่านแล้ว ตระหนักถึงความเลิศลอย และภาระที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์

อย่างไรก็แล้วแต่ การเอามนุษยนิยมเข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ของวรรณกรรมไทยถือเป็นความหลักแหลมที่ช่วยให้เราเข้าใจอะไรๆ ได้ดียิ่งกว่าเดิม

เราเคยเข้าใจ “ผิด” มาตลอดมาวรรณกรรมช่วงรอยต่อศตวรรษ (แบบพุทธศักราช) นั้น ถ้าไม่ใช่แนวเพื่อชีวิต ก็สายลมแสงดาว หรือศักดิดาจ๋าไปเลย การวิเคราะห์ของพี่พิเชฐช่วยให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วก็มีแนวทางวรรณกรรมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งแม้จะเกิดมาจาก “คนรุ่นใหม่” หรือ “ปัญญาชน” แต่ไม่ได้มีเนื้อหาเคียงกับวรรณกรรมเอียงซ้าย มิหนำซ้ำยังถูกค่อนขอดจากกลุ่มเพื่อชีวิตอยู่เนืองๆ ด้วย

วรรณกรรมมนุษยนิยมชื่นชมความเป็นมนุษย์ และถือว่าการเขียนหนังสือที่ยัดเยียดบทบาทหน้าที่ (พระเอก นางเอก ผู้ร้าย นายทุน กรรมกร) ให้กับตัวละคร เหมือนกับที่เพื่อชีวิตชอบทำกัน เป็นการปฏิเสธ และไม่ให้อิสระกับทั้งตัวละคร และผู้อ่านนิยาย นักเขียนเพื่อชีวิตมักเป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ขณะที่นักเขียนมนุษยนิยมคือคนหนังสือพิมพ์ที่ใกล้ชิดกับสยามรัฐ แม้จะถูกกวาดล้างโดยรัฐบาลเผด็จการเหมือนกัน แต่นักเขียนมนุษยนิยมดูไม่ใคร่มีความจำเป็นต้องหนีเข้าป่าช่วงหลังเหตุการณ์ 2519 นัก ถ้าบิดาของเพื่อชีวิตก็คือจิตร ภูมิศักดิ์ บิดาของมนุษยนิยมก็น่าจะเป็นคุณสุชาติ

การแบ่งแยกตรงนี้สำคัญ เพราะถ้าเราลองไล่ชื่อนักเขียนชั้นครูแต่ละคนออกมาดู โดยเฉพาะคนที่เราเคยเชื่อว่าเขาเขียนหนังสือแบบ “เพื่อชีวิต” (คุณวัฒน์ อาจารย์อาจินต์ อาจารย์เนาวรัตน์ ฯลฯ) จะพบว่าส่วนใหญ่แล้วแนวทางของพวกเขาคือ “มนุษยนิยม” ต่างหาก (แต่เราไม่เห็นด้วยกับพี่พิเชฐ ตรงที่ผลงานของอาจารย์ลาว คำหอม น่าจะใกล้เคียงกับงานเพื่อชีวิต มากกว่ามนุษยนิยม) ความสับสนตรงนี้เกิดขึ้นเพราะภายหลังจากชาวป่ากลับเมือง มนุษยนิยมเข้ามามีบทบาทในการผสาน “เพื่อชีวิต” กับงานเขียนแนวเสรีนิยมอื่นๆ แต่ปัญหาคือ อย่างที่พี่พิเชฐชี้ให้เห็น คำว่า “เพื่อชีวิต” เป็นสัญลักษณ์ (signifier) ที่มีความหมาย (signified) รุนแรงมาก จนมันกลืนกินคำชนิดอื่นเข้าไปจนหมดสิ้น ปัจจุบันเราเลยเข้าใจ “ผิด” กันไปหมดว่าต้นกำเนิดของงานเขียนอย่างของคุณวรภ คุณจำลอง (ซึ่งเราชอบเรียกขำๆ ว่า deconstructed forlifism หรือเพื่อชีวิตแบบรื้อสร้าง) คุณกนกพงศ์ มาจากจิตร ภูมิศักดิ์ ทั้งที่ถ้าเราสืบสายอิทธิพลทางวรรณกรรมของจิตร ภูมิศักดิ์จริงๆ มันอาจสั้น และแคบกว่าที่หลายคนคาดก็ได้

ข้อเสนออย่างหนึ่งที่เรามีหลังจากการอ่าน วาทกรรมวรรณกรรม คือถ้า “มนุษยนิยม” คือคำศัพท์ที่พี่พิเชฐบัญญัติขึ้นมาเอง เราเสนอว่าใช้ “อัตถิภาวนิยม” ไปเลยดีกว่าไหม ความขรึมขลังของคำนี้ การที่มันมีประวัติศาสตร์อันชัดเจนในวรรณกรรมตะวันตก อาจจะช่วยให้เมื่อเอามาศึกษาในบริบทของสังคมไทยแล้ว จะไม่ถูก “เพื่อชีวิต” กลืนหายเข้าไปเช่นเดียวกับคำอื่นๆ

การรับ การเสพ การบริโภคงานศิลปะ (หลายคนเขียน)


ความคิดรวบยอดซึ่งครอบคลุมทุกบทความใน การรับ การเสพ การบริโภคงานศิลปะ คือสมมุติฐานที่ 2 ในบทนำของอาจารย์เจตนา ที่บอกว่า “(...ตลาดที่เกี่ยวกับการบริโภคงานศิลปะ) มุ่งที่จะทำลายปัจเจกลักษณ์ของผู้รับ โดยการกล่อมให้มหาชน กลายเป็นฝูงชน” หรือตลาดเป็นตัวทำลายคุณค่าในการสร้าง และการเสพงานศิลปะนั่นเอง

ถึงเราจะไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ แต่ต้องยอมรับว่าข้อถกเถียงของอาจารย์เจตนาน่าขบคิดเอามากๆ โดยอาจารย์ยกย่อง amateur หรือศิลปินสมัครเล่น ที่ “เพราะรักจึงสมัครเข้ามาสร้าง” อาจารย์ชื่นชมการเกาะตัวเป็นชุมชนของผู้สร้าง และผู้เสพ โดยกำแพงซึ่งกั้นแบ่งบุคคลสองประเภทเจือจาง และมีการผสมผสานกลับไปกลับมาระหว่างกลุ่ม (ตัวอย่างที่ยกมาเช่นรายการดนตรีไทย “เมื่อศิษย์ครูเดียวกันปะทะกันที่ตลิ่งชัน” หรือ “ละครผอม”) ชุมชนศิลปะในอุดมคติของอาจารย์เจตนา คือชุมชนก่อนจะถูกครอบงำโดยระบบทุนนิยม และกลไกตลาดซึ่งแบ่งแยกบทบาทอย่างชัดเจนระหว่างผู้ผลิต และผู้บริโภค

ก่อนจะบอกว่าเราไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ตรงไหน อยากพูดถึงบทความที่เราชอบสุดในเล่มนี้ คือ การรับ การเสพ การบริโภคงานศิลปะการละคร ของอาจารย์พนิดา ฐปนางกูร ชอบบทความนี้เพราะอาจารย์พนิดาพูดถึงวงการละคร ซึ่งเป็น “ลูกเมียน้อย” ในหมู่งานศิลปะทั้งหมด มันไม่ใช่ทั้งศิลปะไทยที่จะได้รับการอนุรักษ์ แต่ขณะเดียวกัน มันปราศจากความหวือหวา ที่จะดึงดูดผู้บริโภคแบบศิลปะตะวันตก ถือว่าเราเองก็คลุกคลีอยู่ในวงการนี้มาพอสมควร จึงอด “สนุก” ไม่ได้เมื่ออ่านบทความที่ให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ และวิเคราะห์อย่างถึงแก่นเช่นนี้

ท่าทีของอาจารย์พนิดาไม่ได้ปฏิเสธตลาดเสียทีเดียว ในทางตรงกันข้าม เหมือนอาจารย์จะสื่ออ้อมๆ ระหว่างบรรทัดด้วยซ้ำว่าสภาพ “ลูกเมียน้อย” ของวงการละครไทย ส่วนหนึ่งก็มาจากความล้มเหลวทางด้านการตลาด ไม่ว่าจะผิดที่ผู้ผลิต เพราะผลิต และจัดการไม่ดี หรือผิดที่ผู้บริโภค ที่หันไปสนใจภาพยนตร์ หรือโทรทัศน์มากกว่า บทความของอาจารย์พนิดา สอดคล้องกับความเชื่อของเราคือ ศิลปะใดก็ตามที่ไม่อาจทำกำรี้กำไร ไม่อาจเจือจุนตัวเอง ก็ยากยิ่งนักที่จะเฟื่องฟู หรือพัฒนาไปไหนต่อไหนได้

อีกบทความที่เราชอบไม่แพ้กันคือ การรับ การเสพสังคีตศิลป์ในสังคมร่วมสมัย ของอาจารย์รังสิพันธุ์ แข็งขัน โดยอาจารย์รังสิพันธุ์วิเคราะห์ปรากฎการณ์ post-โหมโรง และความฉาบฉวยของการนำเสนอวัฒนธรรมไทย เสียดายที่บทความนี้สั้นไปหน่อย เลยยังไม่ค่อยชัดเจนว่าความฉาบฉวยที่อาจารย์ยกตัวอย่างมามันเป็นความฉาบฉวยตรงไหน แล้วมันเพิ่งเกิดหลังภาพยนตร์ โหมโรง แน่หรือเปล่า แล้วเราควรทำอย่างไรกับความฉาบฉวยตรงนี้ เอาเข้าจริงในสังคมยุคปัจจุบัน อะไรคือวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมที่ไม่ฉาบฉวย และให้ฉาบฉวยแบบไทยๆ ก็ยังดีกว่าไม่มีเลยหรือเปล่า

กลับไปพูดถึงชุมชนในอุดมคติของอาจารย์เจตนา ส่วนที่เราไม่เห็นด้วยสุดคือแนวคิด “เพราะรักจึงสมัครเข้ามาสร้าง” ไม่จำเป็นเสมอไปว่าต้องนำไปสู่การสร้างสรรค์งานศิลปะชั้นดี ตัวอย่างหักล้างที่ชัดเจนสุดคือนิยายตาหวาน หรือนิยายปกเกาหลี ซึ่งพื้นฐานของมันก็เกิดมาจากคนซื้อ ซื้ออ่านเพราะอยากเขียนเอง กลับกลายเป็นว่า ตลาดของนิยายจำพวกนี้ใหญ่เสียยิ่งกว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์เสียอีก ปรากฎการณ์ “ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน วานกันชม” ของเรื่องสั้นออนไลน์ ก็ไม่ใช่ว่ามาจากเส้นแบ่งที่เบลอๆ บางๆ ระหว่างคนเขียน และคนอ่านหรอกหรือ ผลลัพท์ทางวรรณกรรมของมันก็รู้ๆ กันอยู่

สำหรับเราแล้ว ผู้สร้างมีหน้าที่พัฒนาตัวให้เหนือกว่าผู้เสพขึ้นไปเรื่อยๆ เราคนหนึ่งละที่ไม่อยากสนับสนุนศิลปินที่ก็คือๆ กันกับเรา เป็นแค่นักเสพเหมือนกัน ไม่ใช่แค่ “เพราะรักจึงสมัครเข้ามาสร้าง” แต่ “เพราะรักจึงสมัครเข้ามาศึกษา” “ศึกษาให้แตกแล้วค่อยสร้าง ก็ยังไม่สายเกินไป (นะจ๊ะ)”