C. Buckley's "Little Green Men"


Little Green Men เป็น "หนังสือพักผ่อน" ที่ดีมากสำหรับเรา หลังจากอ่านอะไรหนักๆ มาพักใหญ่ นิยายเรื่องนี้ "ตลกโคตรๆ " จำไม่ได้แล้วว่า ครั้งสุดท้ายที่ขำขนาดนี้กับหนังสือสักเล่มหนึ่ง (โดยเฉพาะนิยาย) นี่มันเมื่อไหร่กัน บัคเลย์ ผู้เขียนเป็นเจ้าของนิยายอีกเล่มหนึ่งคือ Thank You for Smoking ซึ่งถูกแปลงเป็นภาพยนตร์ โดยผู้กำกับคนเดียวกับ Juno ขอแนะนำว่าเป็นหนังอีกเรื่องที่สมควรดูมากๆ

ไอเดียของ Little Green Men บรรเจิดใช้ได้ พูดถึงหน่วยงามลับหน่วยหนึ่งในรัฐบาล ชื่อว่า Majestic 12 ซึ่งประกอบไปด้วยสิบสองผู้ยิ่งใหญ่ ที่แรกสุดสมัยก่อตั้งช่วยสงครามเย็น มีหน้าทีึ่จัดฉากเหมือนกับว่ามนุษย์ต่างดาวติดต่อกับรัฐบาลอเมริกาอย่างลับๆ เพื่อให้พวกโซเวียตเข้าใจว่าอเมริกามาอาวุธ และเทคโนโลยีจากนอกโลก ภายหลังสงครามเย็น Majestic 12 ขยับขยายเป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่หลอกลวงประชาชนอเมริกันให้เชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวมีจริง เพื่อที่ CIA กองทัพ และ NASA สามารถขอเงินทุนมาพัฒนาไอ้นู่นไอ้นี่ได้

แบนเนียน ตัวเอกของนิยาย มีอะไรหลายอย่างคล้ายๆ แอรอน เอคฮาร์ตใน Thank You for Smoking อยู่เหมือนกัน แบนเนียนเป็นเจ้าของรายการทอล์คโชว์ อารมณ์คล้ายๆ คุณสรยุทธนี่แหละ แต่แบนเนียนเป็นที่นิยมของคนดูขนาดว่าเจ้าตัวมีอำนาจต่อรองกับประธานาธิบดีอเมริกาเลย วันดีคืนดีแบนเนียนถูก Majestic 12 ลักพาตัวไปถึงสองครั้ง ผลก็คือแกเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวมีจริง รัฐบาลปกปิดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว และกลายมาเป็นผู้นำของกลุ่มใต้ดินที่เคยถูกลักพาตัว หรือเชื่อในมนุษย์ต่างดาว

อ่านประวัติดู บัคเล่เป็นบรรณาธิการให้กับนิตยสาร Forbes แกคงเป็นคนลึก คนในอยู่หน่อยๆ เพราะไม่ว่าจะ Thank You for Smoking หรือ Little Green Men อ่านดูแล้วก็พอจับได้ว่าคนเขียนคงรู้เส้นสนกลในที่วอชิงตันไม่น้อย (หรือถ้าไม่ ก็ต้องทึ่งหนักขึ้นว่าแกเขียนได้น่าเชื่อถือมาก) น่าขบคิดว่าหนังสือหรือนิยายที่จับการเมืองมาเป็นหัวข้อเรื่องก็มีอยู่มากมาย แต่จะมีสักกี่เล่มที่พูดถึง "การเมืองอย่างแท้จริง" หมายถึงรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล หรือนักการเมืองอะไรแบบนี้

จะพูดว่า Little Green Men เป็นหนังสือฮาไปวันๆ ก็ไม่ผิดไม่ถูก บัคเล่พยายามเล่นกับประเด็นความโดดเดี่ยว ขาดที่พึ่งของพวกที่ศรัทธาในมนุษย์ต่างดาว โดยบอกว่าคนพวกนี้มองมนุษย์ต่างดาวว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของพระเจ้า ถึงขนาดมีการอ้างยุง นักจิตวิทยาผู้โด่งดังด้วย (สรุปคือยุงเคยเขียนเกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาวจริงๆ หรือเปล่า เราก็ไม่รู้) แต่พอถึงตอนจบของนิยาย ประเด็นนี้เหมือนจะอ่อนๆ ลง สรุปอ่านจบแล้ว เราก็ยังไม่แน่ใจว่าบัคเล่ต้องการเห็นอกเห็นใจ หรือเสียดสีล้อเลียนคนพวกนี้กันแน่ แบนเนียนตัวเอกของนิยาย หลังจากกลายมาเป็น "จอห์น เลนนอน แห่ง UFO" เขาสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ภรรยา เพื่องฝูง งานที่ทำเงินมหาศาล ซึ่งพักหนึ่งก็เหมือนเขาจะได้เห็นปรัชญาชีวิตหน่อยๆ ว่าจริงๆ แล้ว คนที่เคยชื่นชมเขา เคยอยู่รอบข้างเขา ก็ไม่ได้จริงใจ หรือชื่นชมเขาเท่ากับพวกบ้ามนุษย์ต่างดาวเหล่านี้ แต่ประเด็นนี้ก็ไม่ได้ถูกสานต่อไปไหนอีกเหมือนกัน

สรุปคืออ่านเล่นๆ เพลินๆ ฮาแตกน่ะดี แต่อย่าไปคิดอะไรมากกับนิยายเรื่องนี้เลยแล้วกัน

D. Lessing's "The Memoirs of a Survivor"


เราไม่ค่อยชอบงานเขียนพวกอัตชีวประวัติเท่าไหร่ ถ้าจะพออ่านได้ ก็ต้องชอบคนเขียนมากๆ หรือเขาไปทำอะไรที่เราอยากรู้จริงๆ เช่นเป็นอัตชีวประวัติของคนที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์สำเร็จ หรือเป็นนักประดาน้ำงมหอยมุกหารายได้ แต่ถ้านักเขียนจะมาเล่าเรื่องราวของชีวิตตัวเอง กรุณาแต่งเป็นนิยายแล้วเอาตัวพวกท่านใส่ลงไปดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า The Memoirs of a Survivor เล่นกับขนบอัตชีวประวัติได้อย่างน่าสนใจ เปิดเรื่องมา จู่ๆ ก็มีผู้ชายคนหนึ่งมาหา "ฉัน" แล้วบอกให้ฉันรับเลี้ยง ดูแลเด็กผู้หญิงชื่อเอมิลี ฉันเองก็บ้าจี้ รับเอมิลีมาไว้ในความรับผิดชอบ เอมิลีเป็นเด็กผู้หญิงเงียบๆ ไม่ค่อยอีร้าค้าอีรมกับฉันสักเท่าไหร่ สิ่งเดียวในชีวิตที่เธอให้ความสำคัญคือฮิวโก สัตว์เลี้ยงประจำตัวซึ่งบอกไม่ได้ว่าเป็นหมา หรือแมวกันแน่

อ่านไปสักพัก เราจะเริ่มจับทางออกว่า เรื่องของฉัน และเอมิลีแท้จริงแล้วเป็น "คติสมมติ" (allegory) เอมิลีก็คือตัวฉันในอดีต บางครั้งฉันก็จะเห็นภาพหลอนของเหตุการณ์ในวัยเด็กของเอมิลี ซึ่งก็คือเหตุการณ์วัยเด็กของ "ฉัน" และตัวเลซซิงเองด้วย ฮิวโกก็ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงธรรมดา แต่เหมือนจะเป็นจิตสำนึก มโนธรรมของเอมิลี โดยเด็กหญิงจะต้องเผชิญหน้ากับความสับสนของวัยรุ่น เพื่อนฝูง รักครั้งแรก และเซ็ก ซึ่งหลายต่อหลายครั้ง ถ้าไม่ใช่เพราะฮิวโก เอมิลีก็อาจเตลิดเปิดเปิงไปไหนต่อไหนแล้ว

ว่ากันว่าในตัวผู้ใหญ่ทุกคนจะมีเด็กซุกซ่อนอยู่ ในกรณีนี้ ต้องพูดว่าในตัวเด็กเอง (เอมิลี) ก็มีผู้ใหญ่ (ฉัน) คอยจับตามองอยู่เช่นกัน เป็นแนวคิดใหม่ซึ่งเลซซิงเล่นกับมันได้อย่างชาญฉลาด The Memoirs of a Survivor เต็มไปด้วยคติสมมติอื่นๆ อีกมายมาย เช่นบ้านเมืองที่เอมิลี และฉันอาศัยอยู่นั้น เป็นโลกอันล่มสลาย เมืองร้างที่ไร้ซึ่งระเบียบกฎเกณฑ์ เด็กๆ รวมหัวกันตั้งแก๊งลักขโมย ถ้าถามว่าสภาพเมืองเช่นนี้เป็นคติสมมติของอะไร เราก็ยังตอบไม่ได้

ท้ายที่สุดถามว่าชอบ The Memoirs of a Survivor ไหม คงตอบสั้นๆ ว่าไม่ค่อย พอถึงช่วงท้ายๆ เล่ม เราเริ่มจะหมดความสนใจแล้ว ต้องบังคับตัวเองให้อ่านไปเรื่อยๆ จนจบ ต้องยอมรับว่ากรรมวิธีการเขียนอัตชีวประวัติของเลซซิงนั้นน่าขบคิดดี ว่างๆ จะขโมยไปใช้บ้างแล้วกัน

C. Castaneda's "The Teachings of Don Juan"


genre หนึ่งของนิยายที่ทำให้เราแปลกใจอยู่เสมอคือนิยาย self-help ที่นำเสนอข้อคิดในรูปแบบเรื่องแต่ง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ นิยายทุกเล่มก็สามารถสรุปเป็นบทเรียน หรือข้อคิดได้ทั้งนั้นแหละ แต่พวก นิยาย self-help จะตรงตัว และมีน้ำเสียงสั่งสอนมากกว่าปรกติ ที่บอกว่าเรามักจะแปลกใจอยู่เสมอ เพราะเราเห็นข้อขัดแย้งบางอย่างในนิยายจำพวกนี้ กล่าวคือ จุดขายของ self-help อยู่ที่ "ความจริง" คนที่อ่านหนังสือแบบนี้ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่เขียนอยู่ในนั้นสามารถเอาไปปฏิบัติได้ในชีวิตจริง และเห็นผลตรงตามหนังสือ ขณะที่จุดขายของนิยายอยู่ที่ "ความสมมติ" ไม่น่าจะมีใครคาดหวังว่าอะไรต่อมิอะไรในนิยายเกิดขึ้นจริง และถ้าผู้อ่านดำเนินรอยตามตัวละครในนิยาย จะเกิดผลเช่นเดียวกัน

ที่บอกว่าแปลกใจไม่ใช่ว่าไม่ชอบ ความขัดแย้งตรงนี้จะว่าไปแล้วก็น่าขบคิดดีเหมือนกัน

ที่เกริ่นมาแบบนี้เพราะจะบอกว่าเราไม่ยักจะเห็น The Teachings of Don Jaun ว่าเป็นนิยายประเภทนั้นเลย ต้องบอกก่อนว่าที่มาที่ไปของหนังสือเล่มนี้เผ็ดร้อนมาก แคสตาเนดาเป็นนักเรียนปริญญาเอกมานุษยวิทยาที่ ucla หัวข้อการวิจัยของแกนั้นคือการสัมภาษณ์ และเรียนรู้ศาสตร์ลึกลับของยาควี อินเดียนแดงเผ่าหนึ่งซึ่งหลงเหลืออยู่น้อยมากในปัจจุบัน จากดอนฮวน ชายชราลึกลับ ผู้เป็นพ่อมด และเชี่ยวชาญในศาสตร์ดังกล่าว ระหว่างที่เขียนวิทยานิพนธ์ แคสตาเนดาก็เอาประสบการณ์ของตัวเองมาเรียบเรียงเป็น "สารคดี" สามเล่ม โดย The Teachings of Don Jaun คือเล่มแรก ซึ่งขายดิบขายดี กระทั่งว่าพอได้ปริญญาเอกแล้ว แคสตาเนดาไม่ต้องง้อมหาวิทยาลัย ออกมาตั้งลัทธิของตัวเอง เผยแพร่ปรัชญายาควีอย่างสบายเปรม

ความมันส์ของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า ในกาลต่อมาผู้คนเริ่มสงสัยว่าดอนฮวนมีตัวตนจริงหรือไม่ เริ่มมีคนเอาเกร็ดสารคดีของแคสตาเนดามาเปรียบเทียบตามลำดับเวลา รวมไปถึงการวิเคราะห์ทางพฤษศาสตร์ (ภาพหลอนอันเกิดจากการเสพย์พืชทะเลทรายคือศูนย์กลางความรู้ของยาควี) และภาษาศาสตร์ ต้องไม่ลืมว่า The Teachings of Don Jaun ไม่ใช่แค่หนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นได้ทั้งนิยาย และ self-help แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์มานุษยวิทยา ให้นักเรียนปริญญาเอกคนหนึ่งมานั่งเทียนเขียนผลงานวิจัย แล้วนำเสนอมันในรูปแบบความจริงนี่คงไม่ไหวเหมือนกัน

เรื่องที่แคสตาเนดาจะลวงโลกหรือเปล่าอะไรนั่น เราไม่ค่อยติดใจหรอก หนังสือจะดีก็ดี ต่อให้นั่งเทียนเขียน หรือไม่ค้นคว้ามาจริงๆ เรารับได้ทั้งนั้น แต่สงสัยมากกว่าว่าทำไม The Teachings of Don Jaun ถึงได้ดังพลุแตกขนาดนั้นตั้งแต่แรก หนังสือเล่มนี้ไม่เห็นจะสอนสั่งหรือให้แง่คิดอะไรดีๆ เลย มีพูดถึงนิดหน่อยเกี่ยวกับเรื่องว่าศัตรูสี่อย่างของมนุษย์ ก่อนจะไปถึงสภาพ "บุรุษแห่งวิชา" ได้นั้น ประกอบไปด้วยความกลัว ความชัดเจน อำนาจ และอายุ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่เห็นจะลึกซึ้งตรงไหน ถ้าให้เดา น่าจะเพราะช่วงปี 1960 คนอเมริกากำลังบ้าพวกเรื่องสารหลอนประสาทที่สกัดมาจากพืช โดยสมัยนั้นเชื่อว่าภาพหลอนที่เราเห็นระหว่างที่เสพย์ยาพวกนี้ ได้ให้บทเรียนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการใช้ชีวิต (ถ้าจะมองในแง่นั้น อ่าน The Interpretation of Dreams น่าจะได้ประโยชน์กว่าเป็นไหนๆ )

K. Desai's "The Inheritance of Loss"


ย้อนอดีตไปเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว ถ้าบอกคนยุโรปว่า อนาคตข้างหน้าอเมริกาจะกลายเป็นเจ้าโลก หลายคนฟังแล้วคงหัวเราะท้องคัดท้องแข็ง ในตอนนี้ถ้าบอกว่าสักวันประเทศอินเดีย และจีนจะกลายเป็นเจ้าโลก คงทำใจเชื่อได้ยาก แต่ถ้าดูจากวิกฤษพิษแฮมเบอร์เกอร์ ก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าอีกห้าสิบปีจากนี้ ใครจะหมู่ ใครจะจ่า ใน The End of Poverty หนังสือที่โด่งดัง และเป็นที่ถกเถียงกันมากๆ แซชยกตัวอย่างประเทศอินเดียว่าเป็นหนึ่งในการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จ จากประเทศที่ยากจนติดอันดับต้นๆ ตอนนี้กลายเป็นเจ้าแห่ง IT ไปเรียบร้อยแล้ว (แน่นอนว่าเงินทองไม่ใช่ตัววัดความสุข หนังอย่าง Slumdog Millionaire ก็แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการพัฒนา เราเห็นภาพความยากจน ความตกระกำลำบาก และความเหลื่อมล้ำในสังคม)

คนไทยชอบมีอคติกับคนอินเดีย ก็เลยไม่ค่อยรู้สึกว่าประเทศนี้เจริญอะไรนักหนา แต่ความจริงแล้ว มีแต่ประเทศที่เศรษฐกิจเข้มแข็งเท่านั้นถึงจะส่งออกวัฒนธรรมได้มากมายขนาดนี้ อุตสาหกรรมหนังของอินเดียผลิตภาพยนตร์ปีหนึ่งมากกว่าฮอลลีวูด และฮ่องกงเสียอีก อินเดียมีนักเขียนดังๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นนักเขียนรางวัลโนเบลอย่างไนปอล (ซึ่งจริงๆ แล้วแค่มีเชื้อสายอินเดีย แต่เติบโตบนเกาะแคริบเบียน) กฤษณามูรติ หรือนักเขียนรางวัล Booker prize เช่นพาเทล รัชดี ยังไม่ต้องพูดถึงพุทธศาสนา และศาสนาฮินดูซึ่งเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ว่ากันตรงๆ วัฒนธรรมอินเดียเป็นสากลเสียยิ่งกว่าวัฒนธรรมเกาหลีอีก

สุ้มเสียงสตรียุคใหม่ชาวอินเดียซึ่งโด่งดังสุดในขณะนี้มีอยู่สามคนด้วยกันคือ อรุณธาตี รอย จุมปา ลาหิรี และคิราน เดไซ เราได้อ่านงานของทั้งสามแล้ว โดยอ่านคนละชิ้น และขอสรุปว่าของเดไซถูกอกถูกใจเราที่สุด The Inheritance of Loss เป็นนิยายที่มีความเป็นยุคหลังสมัยใหม่มากๆ ทั้งเล่มไม่ได้หนาอะไร แต่กลับถูกแบ่งออกเป็น 53 บทด้วยกัน และในแต่ละบทนั้นยังแบ่งเป็นห้วงสั้นๆ ถึงโดยภาพรวมนิยายเล่มนี้จะเน้นที่การเล่าเรื่อง แต่ก็มีกลิ่นไอของการตัดแปะ ประกอบแพะ และแกะเข้าด้วยกัน เช่นเดียวกับแก่นสารของยุคหลังสมัยใหม่ และประเทศอินเดียที่เติบโตมาจากการตัดแปะวัฒนธรรม และปรัชญาของชาติตะวันตก

เรื่องเล่าสลับไปมาระหว่างเหตุการณ์ในเมืองหนึ่งซึ่งอยู่ตีนเขาหิมาลัย ตัวละครสำคัญประกอบด้วยผู้พิพากษาชรา หลานสาว และคนครัว โดยจะเล่าสลับกับเหตุการณ์ในนิวยอร์ก เรื่องราวของลูกชายของคนครัว ซึ่งไปเผชิญโชคในประเทศอเมริกา ประเด็นหลักของ The Inheritance of Loss คือความขัดแย้งระหว่างความเป็นตะวันตก และความเป็นอินเดีย คนยากคนจนมากมายในประเทศโลกที่สามต้องการส่งบุตรหลานไปหากินในประเทศที่เจริญแล้วอย่างอเมริกา หรืออังกฤษ แต่ขณะเดียวกันก็ใช่ว่าชีวิตของพวกเขาในต่างแดนจะเป็นความสะดวกสบายสมดังที่พ่อแม่ฝันไว้ หรือคนที่ได้รับการศึกษาในประเทศเหล่านั้น เช่นตัวผู้พิพากษา เมื่อกลับไปอินเดีย ก็ต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งระหว่างอิทธิพลตะวันตกในตัวเอง และสิ่งแวดล้อม

เมืองซึ่งเป็นฉากของนิยายเรื่องนี้ก็เป็นสถานที่ที่น่าสนใจมากๆ เป็นเมืองชายแดนซึ่งประกอบไปด้วยชาวอินเดีย ชาวเนปาล ชาวบังคลาเทศ รวมไปถึงชาวภูฐาน ชาวทิเบตและคนเชื้อชาติต่างๆ มาอยู่รวมกัน โดยชาวเนปาลคือกลุ่มที่ยากจนที่สุด ต้องเป็นคนรับใช้ของกลุ่มอื่นๆ ในภายหลังชาวเนปาลรวมตัวกันก่อตั้งกองกำลังปลดปล่อย เพื่อต้องการแยกดินแดนเป็นอิสระ แม้กลุ่มปฏิวัติจะมีอุดมกาณ์อันสวยหรู และอาจเป็นความหวังเดียวของผู้ถูกกดขี่ข่มเหง แต่สุดท้ายการรวมตัวกันแสดงพลังมวลชนก็จบลงที่ความรุนแรงและความโกลาหล ส่วนพฤติกรรมของผู้มีอุดมการณ์ทั้งหลายก็ไม่แตกต่างอะไรกับโจรข้างถนนดีๆ นี่เอง (ขณะเดียวกันก็ใช่ว่าตำรวจ หรือผู้รักษากฎหมายจะเลิศเลอสักเท่าใดนัก)

รูปที่แปะไว้ข้างบนนี้คือกงล้อแห่งชีวิตตามความเชื่อของพุทธมหายานทิเบต ซึ่งประกอบได้ด้วยไก่ งู และหมู เป็นตัวแทนของความโลภ ความโกรธ และความเขลา ซึ่งจะวนเวียนไปเรื่อยๆ ในทุกชีวิต เพราะโลภ ถึงโกรธ เพราะโกรธ ถึงเขลา และเพราะเขลา ถึงโลภ เก๋ดี เสียดายที่วัฒนธรรมตัวนี้ไปตกมาถึงพุทธหินยานในประเทศไทยด้วย

N. Hawthorne's "The Scarlet Letter"


ทิ้งช่วงนานพอดูระหว่าง The Scarlet Letter และ The Blithedale Romance นิยายเล่มแรกของฮอว์ธอร์นที่เราอ่าน ซึ่งแปลกใจตัวเองอยู่เหมือนกัน เพราะเอาเข้าจริงเราชอบ The Blithedale Romance มากๆ น่าจะหานิยายเล่มอื่นๆ ของฮอว์ธอร์นมาอ่านได้ตั้งนานแล้ว

ฮอว์ธอร์นเขียน The Scarlet Letter สองปีก่อน The Blithedale Romance จริงๆ แล้วนิยายสองเล่มนี้เหมือนกันมาก ตั้งแต่ฉาก หมู่บ้านเล็กๆ ในทวีปอเมริกา สมัยตั้งรกราก โดยเรื่องแรกฮอว์ธอร์นเน้นว่าเป็นหมู่บ้านพูริแทน (หมายถึงกลุ่มคนที่ยึดมั่นในศาสนา) ส่วนเรืองหลังเป็นหมู่บ้านยูโธเปียทดลอง (คือกลุ่มคนที่มาอยู่รวมกันเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีทางสังคม) ถึงโดยผิวเผินแล้ว ในสายตาคนนอกอย่างเรา ฉากในนิยายสองเล่มนี้ไม่แตกต่างกันมาก แต่ปรัชญาที่ประกอบกันเป็นหมู่บ้านพูริแทน ก็แตกต่างจากหมู่บ้านยูโธเปีย ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

อีกอย่างที่เหมือนกันระหว่างนิยายสองเล่มนี้คือตัวแสดงหลัก อันประกอบไปด้วยสองชาย สองหญิง มองว่าถ้าเป็นหนัง แล้วฮอว์ธอร์นเป็นผู้กำกับ กรณีนี้ก็ใช้นักแสดงชุดเดียวกันเล่นได้สบายๆ โดยผู้หญิงคนหนึ่งอายุแก่กว่าอีกคน ใน The Blithedale Romance นั้น ทั้งเซโนเบีย และพริสซิลา อายุไม่ต่างกันมาก พอจะเป็นคู่แข่งทางความรักกันได้ ขณะเดียวกัน เซโนเปียก็คอยดูแล และปกป้องคุ้มครองพริสซิลาอยู่ในที ส่วนใน The Scarlet Letter ปรินน์ และเพิร์ลเป็นแม่ลูกกันเลย

สำหรับตัวละครชายของนิยายสองเล่มนี้อย่าให้เปรียบเทียบกันเลยดีกว่า เพราะวิเคราะห์ได้ยาวแน่ๆ เราชอบตัวละครชิลลิงเวิร์ธใน The Scarlet Letter มาก เสน่ห์อย่างหนึ่งในนิยายของฮอว์ธอร์น ที่ไม่ค่อยจะพบเห็นในวรรณกรรมศตวรรษที่ 19 คือ ผู้ร้ายที่มีสีสันขนาดนี้ ฮอว์ธอร์นอาจจะเป็นนักเขียนคนแรกๆ ก็ได้ที่เอาความชั่วร้าย และความเจ็บปวดมาผสมปนเปกันจนแยกไม่ค่อยออก เช่นเดียวกับโฮลิงส์เวิร์ดใน The Blithedale Romance ผู้ร้ายของฮอว์ธอร์นมักน่าเห็นใจอย่างประหลาด

ทั้ง The Scarlet Letter และ The Blithedale Romance มีองค์ประกอบที่เหนือธรรมชาติด้วยกันทั้งคู่ รวมไปถึงการใช้ภาพหลอนมาเป็นเครื่องมือทางวรรณกรรม เพื่อสื่อให้เห็นสภาพจิตใจของตัวละคร The Scarlet Letter นั้นชัดเปรี้ยงๆ เลยว่าเหนือธรรมชาติแน่ (เพราะฉากเป็นหมู่บ้านพูริตัน ก็เลยเปิดโอกาสให้ฮอว์ธอร์นเล่นกับประเด็นแม่มดด้วย) ส่วนความเหนือธรรมชาติใน The Blithedale Romance อยู่ที่ตัวละครพริสซิลา อันที่จริงเพิร์ลใน The Scarlet Letter ถึงแม้จะเป็นเด็กผู้หญิงธรรมดา แต่หลายคนในนิยายเรียกเธอว่า "เด็กภูต" และตัวเธอเองก็เหมือนมีอำนาจประหลาดบางอย่าง (ในตอนจบของนิยาย อยู่ดีๆ ก็มีโชคก้อนใหญ่ลอยมาหาเธอ) ถึงนิสัยจะแตกต่างกัน แต่เห็นได้ว่าตัวละครพริสซิลา คงได้รับอิทธิพลมาจากเพิร์ลอยู่ไม่น้อย

หรือแม้กระทั่งฉากจบของนิยายทั้งสองเล่ม ก็เป็นงานเฉลิมฉลองด้วยกันทั้งคู่ อาจมองได้ว่าพฤติการณ์ของดิมเมอร์สเดล และโฮลิงส์เวิร์ดในตอนจบมีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่ เป็นการเปิดเผยตัวเองต่อหน้าสาธารณชน และเพื่อหญิงที่ตนรัก แม้ว่าจะด้วยแรงดลใจ เป้าประสงค์ และผลลัพท์ที่แตกต่างกันก็ตาม น่าขบคิดว่าระหว่าง The Scarlet Letter และ The Blithedale Romance เอามาเปรียบเทียบกันจริงๆ จะว่าเหมือนก็เหมือน จะว่าต่างก็ต่าง

นิยายอีกเล่มที่น่าหยิบมาอ่านคู่กับ The Scarlet Letter คือ The Picture of Dorian Gray ของออสการ์ ไวลด์ ซึ่งเขียนขึ้นเกือบสี่สิบปีหลังจาก The Scarlet Letter (เคยเขียนถึงนิยายเล่มนี้ไปแล้ว หาอ่านได้ในบลอคเก่า) ทั้งสองเรื่องเกี่ยวกับการที่วิญญาณของบุคคล หรือนามธรรมบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน ถูกโยกย้ายไปอยู่ในสิงประดิษฐ์ หรืองานศิลปะสักชิ้น ซึ่งสิ่งที่อยู่ภายในตัวละคร และสะท้อนออกมาให้ตาเห็น ก็คือบาป หรือความรู้สึกผิดนั่นเอง

R. E. Howard's "The Black Stranger and Other American Tales"


ถ้ามีคนถามว่าตัวละครตัวไหนในนิยายกำลังภายในที่คลาสสิคที่สุด จะตอบอย่างไม่ต้องคิดเลยว่า "บู๊ลิ้ม" หรือ "ยุทธจักร" ซึ่งคนถามก็คงทำหน้างงๆ แล้วบอกว่า บู๊ลิ้มไม่ได้ตัวละคร แต่เป็นฉาก ฮะ! ฉากนี่แหละคือสิ่งที่ให้กำเนิดตัวละคร คือตู้ปลาที่ให้ตัวละครแหวกว่าย ถ้าไม่มีบู๊ลิ้ม ก็จะไม่มีลี้คิมฮวง ฟงอวิ๋น หรือ ก้วยเจ๋ง จอมยุทธในนิยาย ไม่อาจโลดแล่นอยู่ในโลก หรือในประวัติศาสตร์ได้ (คิดดูแล้วกันว่าถ้ามีคนเหล่านี้จริงๆ เดินอยู่ตามถนนหนทาง ไม่ว่าจะเป็นปัจจุบัน หรืออดีต มันจะเปิ่นแปลกเพียงใด) การที่โกวเล้ง กิมย้งสร้างโลกซึ่งหลุดจากกรอบเศรษฐกิจ (จอมยุทธไม่ต้องทำมาหากิน) แต่ขณะเดียวกันก็เน้นความเป็นปัจเจกสูง (จอมยุทธไม่ไปไหนมาไหนเป็นหมู่คณะ) รวมไปถึงคุณสมบัติประหลาดนานา (เช่นสมัยนั้นไม่มีอินเตอร์เน็ตแต่ถ้าใครโค่นใครได้ ข่าวจะกระจายไปทั่วบู๊ลิ้ม) นี่ต่างหากสิ่งประดิษฐ์ทางวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในนิยายกำลังภายใน

นอกเรื่องมาตั้งนาน เพราะตั้งใจจะบอกว่าฉากคือสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับนิยายแฟนตาซี โรเบิร์ต อี โฮวาร์ดคือผู้ให้กำเนิดนิยายแฟนตาซีสาย "ดาบ และเวทมนต์" (ซึ่งไม่เหมือนกับแฟนตาซีสายโทลคีน ที่เรียกว่า "มหากาพย์แฟนตาซี") สิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญสุดของโฮวาร์ด ไม่ใช่โคแนน แต่เป็นไฮโบเรียน หรือยุคสมัยของโคแนน ไฮโบเรียนเป็นช่วงเวลา และสถานที่อันน่าประหลาด วัฒนธรรมเอย ข้าวของเอย สิ่งก่อสร้างเอย หรืออะไรต่อมิอะไรเอย พวกดาบ ป้อม ธนู เรือ มันบ่งบอกความเป็นยุโรป (โฮวาร์ดเป็นชาวเท็กซัส ที่ได้รับฉายาว่า "The Last Celt" หรือชาวเซลท์คนสุดท้าย) แต่ฉากกลับคล้ายคลึงทวีปอเมริกายุคสำรวจ การที่มีคนป่า ทาสผิวดำ และคนผิวขาวมาทำศึกสงครามร่วมกันได้

โลกไฮโบเรียนคือโลกที่ปลาใหญ่กินปลาเล็ก โลกของผู้ชายซุปเปอร์มาโช และผู้หญิงต้องใช้เสน่ห์ทางเพศดึงดูด หลอกล่อผู้ชาย โลกที่ผู้เข้มแข็งมีสิทธิทำลาย แย่งชิง และกดขี่คนอื่น ขณะเดียวกัน ก็เป็นโลกแห่งอารยธรรมที่สิ้นสูญ ไฮโบเรียนไม่ใช่ดินแดนแฟนตาซีที่อยู่ภายนอกความเป็นจริง แต่เป็นประวัติศาสตร์แฟนตาซี เนื่องจากปัจจุบันไม่หลงเหลือเศษซากอะไรจะมายืนยันได้ว่าไฮโบเรียนเคยมีอยู่ ดังนั้นแล้ว ตอนจบของเรื่องสั้นเหล่านี้ จึงมักลงเอยที่ป้อม ปราสาท มหานครพังทลาย พินาศสิ้น (และก็มักจะด้วยน้ำมือของคนไม่กี่คน พวกเหล่าฮีโร่นี่เอง ที่เป็นผู้ทำลาย) ยุคไฮโบเรียนเป็นยุคแห่งปัจเจกที่ไม่อาจเอาบรรทัดฐานสังคม สิ่งก่อสร้าง หรือวิทยาการใดๆ มาผูกมัดพวกเขาได้ มนุษย์คือผู้สร้าง ผู้ทำลาย และผู้อยู่เหนือสังคม ตัวละครอย่างโคแนนเอาเข้าจริง ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรจากลี้คิมฮวง หรือชอลิ้วเฮียงมากนัก

ในทางกลับกัน จุดอ่อนของโฮเวิร์ดอยู่ที่การสร้างตัวละคร (ซึ่งในแง่นี้แล้ว เขาด้อยกว่าโกวเล้ง และนักเขียนกำลังภายในคนอื่น) ตัวละครหลายตัวซ้ำซาก เป็นผู้ชายกล้ามใหญ่ ไม่ค่อยฉลาด ดีแต่ใช้แรงงาน ผู้หญิงก็จะต้องแต่งตัวโป๊ๆ ยั่วยวนผู้ชายไปวันๆ เนื้อเรื่องบางทีก็ไม่ค่อยสนุก หลายครั้งระหว่างที่อ่านเรื่องสั้นใน The Black Stranger and Other American Tales พอใกล้จบ พอไม่มี "ฉาก" อะไรให้เห็นแล้ว เรากลับเลิกอ่านไปเฉยๆ

ได้อ่านรวมเรื่องสั้น The Black Stranger and Other American Tales แล้วก็ช่วยให้เราเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องของการเหยียดผิว เหตุใดนิทเช่ถึงกลายมาเป็นศาสดาของนาซี โฮเวิร์ดสมเป็นชาวใต้จริงๆ คือเหยียดผิวอย่างน่ารังเกียจ พวกผู้ร้ายในเรื่องสั้นส่วนใหญ่จะเป็นชาวป่าพื้นเมือง พวกอินเดียนแดง หรือทาสผิวดำ พื้นฐานการเหยียดผิวของเขาคล้ายๆ กับของนาซีเยอรมัน คือความศรัทธาใน "ubermensch" เชื้อชาติที่เหนือกว่าย่อมมีสิทธิเข่นฆ่า ล้างเผ่าพันธุ์อื่น (ไม่แปลกใจเลยที่ทำไม ภาพยนตร์ Conan the Barbarian ถึงเปิดด้วยคำพูดของนิทเช่) น่ารังเกียจ แต่ก็น่าตื่นเต้นในขณะเดียวกัน สมัยนี้คงหาอ่านงานเขียนอะไรที่เหยียดผิวได้สุดๆ ขนาดเรื่องสั้นในเล่มนี้คงไม่มีอีกแล้ว

J. Leslie's "Deep Water"


ใครที่อ่านบลอคนี้มานาน คงพอจับทางเราได้อย่างหนึ่งว่า เราชอบหนังสือที่มองอะไรกว้างๆ ให้พื้นที่กับสองความขัดแย้งอย่างเท่าเทียม ด้วยเหตุนี้แล้ว Deep Water จึงเป็นหนังสือที่เข้าทางเรามากๆ ถ้ามองว่าขณะนี้ประเทศจีนกำลังสร้างเขื่อนปิดแม่น้ำโขง รวมไปถึงโครงการเขื่อนต่างๆ ในประเทศลาว อีกไม่นานเรื่องเขื่อน เรื่องน้ำ น่าจะกลายมาเป็นปมถกเถียงใหญ่ของสังคมไทย (หรือไม่ก็เป็นไปแล้ว) เมื่อถึงตอนนั้น Deep Water จะเป็นหนังสือที่จำเป็นมากๆ เรารู้ว่าเราพูดแบบนี้กับหนังสือหลายเล่ม แต่กระทรวงศึกษา เจ้าของสำนักพิมพ์ หรือใครก็ตามที่มีอำนาจและกำลังอ่านบลอคนี้อยู่ ได้โปรด ได้โปรด ได้โปรดเถิด ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้มาแปลโดยด่วน เพราะมันจะช่วยให้คนไทย ได้รู้ ได้คิด ในหลายเรื่องที่เราอาจไม่เคยนึกถึงเลย และกำลังจะส่งอิทธิพลกับประเทศอย่างมหาศาล

เลสลีพูดถึงเขื่อนขนาดใหญ่ และผลกระทบของมัน ทั้งทางลบ และทางบวก ในสามประเทศได้แก่อินเดีย แอฟริกา (ซึ่งเป็นทวีป) และออสเตรเลีย โดยมีผลกระทบทางด้านธรรมชาติ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และผู้คนที่ต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน อันเนื่องมาจากน้ำท่วมเหนือเขื่อน โดยส่วนใหญ่คนพวกนี้มักเป็นชนกลุ่มน้อย หรือคนที่ไม่ได้ถือสัญชาติหลักในประเทศเสียด้วย เลสลีเน้นที่บุคคลสามคนซึ่งอยู่เบื้องหลังเขื่อนในสามประเทศนี้คือเมตา สกัดเดอร์ และแบลคมอร์

ธรรมดาเวลาจัดสัมนาถกเถียงเรื่องเขื่อนทีไร เพื่อความเป็นธรรม หน่วยงานจะต้องเชิญคนมาจากสามกลุ่ม ได้แก่คนที่สนับสนุนเขื่อน ต่อต้านเขื่อน และผู้ที่อยู่ตรงกลาง เมตาคือคนกลุ่มที่สอง เธอคือผู้อยู่เบื้องหลังแอนโดลัน ซึ่งเป็นองค์กรต่อต้านการสร้างเขื่อนซาร์ดา ซาร์โรวา ที่จะมาปิดแม่น้ำนัมมทาในประเทศอินเดีย โดยอรุณธาตี รอย ผู้เขียน The God of Small Things ก็อยู่ในองค์กรที่ว่าด้วย เมตาใช้หลักการต่อสู้แบบ "อหิงสา" โดยอดอาหารประท้วงการสร้างเขื่อน และต่อมาก็ขยับขยายเพิ่มความรุนแรง โดยขังตัวเอง และพวกพ้องในกระท่อมที่ถ้าฝนตกลงมาหนักๆ เมื่อไหร่ ระดับน้ำจะสูงขึ้น โดยเธอพร้อมจมน้ำตาย ทั้งหมดนี้เพราะถ้าเขื่อนซาร์ดา ซาร์โรวาเปิดทำการเมื่อไหร่ ชาวพื้นเมือง ซึ่งไม่ได้นับถือศาสนาฮินดู และตามลำดับวรรณะแล้ว ต่ำยิ่งกว่าจัณฑาล จะต้องสูญเสียหมู่บ้าน และพื้นที่ทำมาหากิน

ในสามคนที่เลสลียกตัวอย่างมาใน Deep Water เมตาเป็นคนที่เราชอบน้อยสุด เธอคือตัวแทนของ NGO ความคิดคับแคบ เอะอะจะเอาอย่างนู้น เอาอย่างนี้ โดยไม่มองภาพรวม (เลสลีเล่าถึง "ความกระหายอยากจมน้ำตาย" ของเธอ ซึ่งแอบน่าหมั่นไส้เอามากๆ ) น่าสนใจว่าวิธี "อหิงสา" ซึ่งเมตาเลียนมาจากคานธีนั้น แตกต่างจากวิธีการของคานธีอย่างสิ้นเชิง การอดอาหารของคานธี เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา เพื่อชำระล้างกิเลสของตัวเอง ในขณะที่การทำร้ายตัวเองของเมตาเพื่อจุดประสงค์ทางด้านการเมืองล้วนๆ การประท้วงอย่างสงบของเมตานั้น เต็มไปด้วยความรุนแรง แม้ว่าจะเป็นความรุนแรงต่อตัวเองก็ตาม


ในความเห็นเรา คนอย่างเมตาจะไม่มีทางเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้ แต่ขณะเดียวกัน สกัดเดอร์ คนที่เราชอบที่สุดในสามคน ก็คงจะทำไม่ได้เช่นกัน ไม่น่าแปลกใจเลยที่เราชอบสกัดเดอร์ แกเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งเราจบมาตอนปริญญาตรี (สกัดเดอร์เกษียณอายุตัวเองตอนเราอยู่ปีหนึ่ง ก็เลยไม่เคยเรียนกับแก) เป็นตัวแทนของนักวิชาการ ตลอดชีวิตของสกัดเดอร์ ความใฝ่ฝันของแกคือได้เห็น ได้สร้าง และได้มีส่วนร่วมใน "เขื่อนดีๆ " สักเขื่อนหนึ่ง ในที่นี้ก็คือ เขื่อนที่โดยภาพรวมแล้ว ทำประโยชน์มากกว่าสร้างโทษ สกัดเดอร์มาจากกลุ่มคนที่อยู่ตรงกลาง เห็นทั้งด้านดี และด้านเสียของเขื่อน ประโยคเด็ดของเขาคือ เขื่อนขนาดใหญ่ (ในที่นี้คือสูงเกิน 100 เมตร) ในโลกนี้ 70% ไม่ควรถูกสร้างขึ้นมา ส่วนอีก 30% ต้องสร้าง และจัดการอย่างถูกวิธีจริงๆ ถึงจะเป็นประโยชน์มากกว่าโทษ

นอกจากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สกัดเดอร์ยังเป็นนักวิจัยให้ธนาคารโลก แกจบมาทางด้านมานุษยวิทยา ศึกษาชนเผ่าพื้นเมืองในทวีปแอฟริกาที่ถูกโยกย้ายถิ่นฐาน แกเชื่อว่า หลักของการสร้างเขื่อนที่ดีก็คือ ผู้ที่ได้รับผลโยชน์ทางตรง และเป็นอันดับแรก ต้องเป็นชาวพื้นเมืองที่เสียสละพื้นที่ทำมาหากิน (ด้วยเหตุนี้สกัดเดอร์จึงสนับสนุนเขื่อนเอนกประสงค์ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการท่องเที่ยว ประมง และเกษตรกรรม อันจะเป็นประโยชน์กับคนเหล่านี้ ไม่ใช่แค่เอาไว้ใช้ผลิตไฟฟ้า) ในฐานะที่เป็นนักพัฒนา และทำงานอยู่ธนาคารโลก แกเชื่อว่ามีแต่เมกะโปรเจค เช่นเขื่อน ที่จะช่วยเหลือประเทศโลกที่สามได้ สกัดเดอร์ตั้งตนเป็นศัตรู ไม่ใช่เฉพาะกับนักการเมืองที่สนับสนุนเขื่อนเท่านั้น แต่ต่อต้านกระทั่ง NGO ที่ชอบแกล้งลืมๆ ไปว่า ถ้าไม่มีเขื่อน ก็ไม่มีถนน ไม่มีความเจริญ

ตอนที่เลสลีเขียนหนังสือเล่มนี้ สกัดเดอร์อายุเจ็ดสิบกว่าแล้ว แกยังไม่เคยเห็น "เขื่อนดีๆ " สักเขื่อนในชีวิต ความสำเร็จเดียวไม่ใช่การสร้าง "เขื่อนดีๆ " แต่เป็นการหยุด "เขื่อนแย่ๆ " ไม่ให้เกิดขึ้นมา (สกัดเดอร์ตั้งความหวังมากๆ กับเขื่อน "น้ำทวน 2" ในประเทศลาวว่านี่จะเป็น "เขื่อนดีๆ " ได้) ในฐานะนักวิชาการ สิ่งที่สกัดเดอร์ทำได้ ก็แค่ให้คำปรึกษา แนะนำ หรือท้วงติง ในสามคนที่กล่าวมา แบลคมอร์เป็นคนเดียวที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เขาเป็นหัวหน้าศูนย์พัฒนาแม่น้ำในออสเตรเลีย และอยู่ในกลุ่มคนที่สนับสนุนเขื่อน

ต้องอธิบายก่อนว่าสถานการณ์ในออสเตรเลียนั้นไม่เหมือนกับอินเดีย หรือแอฟริกา ออสเตรเลียเป็นประเทศที่แห้งแล้งมากๆ ถ้าไม่มีเขื่อน นาก็ตาย นอกจากนี้ ชนเผ่าพื้นเมืองในออสเตรเลียยังเป็นพวกเร่ร่อน ไม่ได้อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง ต่อให้เขื่อนในออสเตรเลียทำให้เกิดน้ำท่วม (ซึ่งก็ไม่ได้หนักหนาอะไร เพราะมันแห้งแล้งอยู่แล้ว) ก็จะไม่รุกรานดินแดนของชนเผ่าพื้นเมืองอะไรนัก กระนั้นก็ตาม ใช่ว่าสถานการณ์จะโล่งโปร่งไปหมด บทสุดท้ายของ Deep Water พูดถึงความยุ่งยากในการพยายามควบคุมปริมาณ และกระแสน้ำ เพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติ บทเรียนที่ได้จากบทนี้คือ ต่อให้เราสร้าง "เขื่อนดีๆ " ขึ้นมาสักเขื่อนหนึ่ง ก็ต้องอาศัยคนมีความสามารถ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และนักการเมือง มาดูแลให้เขื่อนสร้างประโยชน์ และไม่ก่อโทษเท่าที่ควร

ในสามคน แบลคมอร์อาจจะเป็นคนที่มีความขัดแย้งมากที่สุด เขาเป็นนักการเมือง หน้าที่ของเขาคือประสานประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย มีหลายคนไม่ชอบแบลคมอร์ นินทาเขาลับหลังว่าให้ความสำคัญกับเศรษฐี และเจ้าของอุตสาหกรรม มากกว่าชาวนาจนๆ มันอาจจะเป็นเช่นนั้นก็ได้ แต่อย่าลืมว่าคนอย่างแบลคมอร์เท่านั้นที่มีอำนาจพอจะทำอะไรต่อมิอะไร

Deep Water ว่าด้วยคนสามคน ที่มีความเห็น และบทบาทหน้าที่ซึ่งแตกต่างกัน ถึงเราจะไม่ค่อยชอบเมตา แต่ก็ต้องยอมรับว่าคนอย่างเธอจำเป็นต่อสังคม ถ้าเมตาคือหัวใจ สกัดเดอร์ก็คือสมอง และแบลคมอร์คือสองมือ ถ้าประเด็นเขื่อนจะยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปในสังคมไทย (หรือร้อนแรงมากขึ้น) อีกไม่นานบ้านเมืองเราจะเต็มไปด้วยคนสามประเภทนี้ มันจำเป็นอย่างยิ่งที่ต่างฝ่ายต่างจะต้องเข้าใจกันและกัน เพื่อให้หัวใจ สมอง และสองมือ ประสานงานเป็นหนึ่งเดียว

ดังนั้นขอย้ำอีกที ได้โปรด ได้โปรด ได้โปรดเถิด ใครก็ได้ ไปซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้มา เร็ว!