J. Rawls's "A Theory of Justice" (part 1)
เราเป็นคนที่ชอบเล่นไพ่เอามากๆ จำได้ว่ามีอยู่ช่วงหนึ่ง นับเกมไพ่ที่เราเล่นเป็นได้อย่างน้อยสามสิบชนิด ในจำนวนนั้น มีเกมไพ่สองอย่างที่เราคิดค้น ดัดแปลง และลอกเขียนเขามาเอง การตั้งกติกาไพ่ของตัวเองเป็นกิจกรรมน่าสนใจ เป้าหมายสูงสุดของการเล่นไพ่ ที่ไม่ได้พนันเอาตังค์ ก็คือความสนุกสนานของทุกฝ่าย แต่แน่นอนว่าการแข่งขันต้องมีแพ้ มีชนะ และบ่อยครั้งที่คนชนะจะสนุกกว่าคนแพ้ แต่ใครจะเป็นผู้แพ้ ผู้ชนะ บอกไม่ได้จนกว่าจะแจกไพ่ เพราะฝีมือ อย่างไรเสียก็ยังเป็นรองดวง ต่อให้เราอยากเป็นคนชนะสักแค่ไหน แต่เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะตั้งกติกา (อย่างสมเหตุสมผล) ซึ่งการันตีได้ว่าเราจะเป็นผู้ชนะเสมอ หลังจากที่แจกไพ่ไปแล้ว ย่อมมีทั้งมือดี และมือเสีย กติกาไพ่ที่ดี ไม่ใช่กติกาที่ปรับระดับให้สองมือเท่าเทียมกัน จนไม่รู้แพ้ ไม่รู้ชนะ แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องระวังไม่ให้ความแตกต่างสุดขั้วเกินไป จนไม่เหลือที่ว่างให้ใช้ฝีมือเลย
นอกเรื่องมายาวเหยียดแบบนี้ เพราะอยากบอกว่าอ่าน A Theory of Justice ของจอห์น ราวล์ แล้วก็นึกถึงการตั้งกติกาไพ่ ราวล์เรียกความยุติธรรมตามแบบของเขาว่า "justice as fairness" ซึ่งจนปัญญาจะแปลเป็นภาษาไทยจริงๆ เพราะทั้งคำว่า "justice" และ "fairness" ดันมีความหมายเดียวกันคือความยุติธรรม ถ้าจะพยายามแปลที่สุด ก็ต้องบอกว่า "ความยุติธรรมด้วยความเท่าเทียม" แต่ "fairness" ก็ไม่ใช่ความเท่าเทียมเสียทีเดียว อันนั้นน่าจะเป็น "equality" มากกว่า ซึ่งเอาเข้าจริง ความยุติธรรมของราวล์ไม่ได้หมายถึงความเท่าเทียมเลยแม้แต่น้อย เหมือนที่เปรียบเทียบไปแล้วว่าเกมไพ่ต้องมีทั้งผู้แพ้ และผู้ชนะ
"justice as fairness" หมายถึงความยุติธรรมที่เกิดจากการสมมติว่า ถ้าตัดความจำเพาะเจาะจงทุกอย่างออกไปให้หมด นี่คือหนทางที่เราจะเลือก ก็เหมือนกับการตั้งกติกาไพ่นั่นแหละ กติกาที่ยุติธรรมต้องตั้งมาโดยไม่เกี่ยวกับว่าใครจะได้อะไร และจนกว่าที่ไพ่จะถูกแจก ต้องไม่สามารถบอกได้ว่าฝ่ายไหนเสียเปรียบหรือได้เปรียบ แต่ขณะเดียวกัน ทันทีที่แจกไพ่ไปแล้ว กติกาที่ยุติธรรมไม่ได้หมายถึงว่าทุกมือต้องเท่าเทียมกัน ถ้าตัวอย่างเรื่องไพ่ยิ่งฟังแล้วก็ยิ่งงง ให้คิดเรื่องการแบ่งเค้ก ถ้าให้คนคนหนึ่งตัดแบ่งเค้กให้เพื่อนตามใจชอบ ทำอย่างไรถึงจะบังคับให้เขาตัดมันอย่างเท่าเทียม ง่ายๆ ก็คือบังคับให้ว่าคนแบ่งจะเป็นคนสุดท้ายที่หยิบเค้กไป ดังนั้นเพื่อไม่ให้ตัวเองเสียเปรียบ คนตัดก็จะต้องตัดทุกชิ้นอย่างเท่ากัน เนื่องจากเขาไม่รู้ว่าคนอื่นๆ จะหยิบเค้กชิ้นไหนไปบ้าง พูดอีกอย่างคือเราใช้ "ความไม่รู้" (the veil of ignorance) มาเป็นตัวตัดสินความยุติธรรม
ถ้าเรายึด "justice as fairness" เป็นกลไกหลักทางสังคม ราวล์บอกว่า มันจะนำไปสู่หลักการแห่งความยุติธรรมสองข้อ (1) ทุกคนต้องไม่สูญเสียเสรีภาพส่วนตัว และ (2) คนเราไม่จำเป็นต้องเท่าเทียมกัน (ทางด้านฐานะ ทรัพยากร และคุณค่าทางสังคม) ถ้าความไม่เท่าเทียมนั้น นำไปสู่ผลประโยชน์ของทุกฝ่ายในสังคม ซึ่งก็เหมือนกับการเล่นไพ่อีกนั่นแหละ ถ้าตราบใดที่คนแพ้ไม่รู้สึกว่าไม่เล่นดีกว่า ก็นับว่ากติกาที่ตั้งมายุติธรรมในระดับหนึ่ง ข้อ (1) ชัดเจนจะแจ้ง แต่ข้อ (2) ต่างหากที่เอาไปถกเถียงกันได้ยาวเลย อะไรคือ "ผลประโยชน์ของทุกฝ่ายในสังคม"
หลักการคร่าวๆ สองข้อที่ราวส์กำหนดขึ้นมาคือ ไม่เท่าเทียมกันเพื่อประสิทธิภาพ (ประโยชน์นิยม หรือ utilitarianism) และหลักแห่งความแตกต่าง (difference principle) ประโยชน์นิยมหมายถึง การกระจายทรัพยากรเพื่อให้ผลประโยชน์โดยรวมของทั้งสังคมเป็นไปอย่างสูดสุด เท่าที่อ่านดูเหมือนราวส์จะไม่ค่อยโปรแนวคิดนี้เท่าไหร่ โดยเขาอ้างว่ามันจะไปขัดกับหลักข้อ (1) เช่นว่า สังคมทาสก็อาจจะเป็นสังคมที่มีประโยชน์โดยรวมสูงสุดก็ได้ แต่สังคมทาสขัดกับหลักเสรีภาพ หลักแห่งความแตกต่างบอกว่า ตราบใดก็ตามที่การหาผลประโยชน์ของเราไม่ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน นั่นก็คือความยุติธรรม ในการกระจายทรัพยากรแบบนี้ ผู้ด้อยโอกาสสุดในสังคมได้รับผลประโยชน์เท่าที่ผู้มีโอกาสสูงสุดจะสละให้ได้ ราวส์พยายามชี้ให้เห็นว่าหลักนี้ตรงตามแนวคิด "justice as fairness" ที่สุด
สังเกตคำว่า part 1 ในหัวข้อ เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ยาวมาก เลยต้องขออนุญาตแบ่งเป็นสามส่วน ไว้อ่านต่อคราวหน้า
H. James's "The Wings of the Dove"
ผู้กำกับเคยบอกเราว่า มันมีเทคนิกทางภาพยนตร์อย่างหนึ่ง ซึ่งเราจำไม่ได้แล้วว่าชื่อเท่ๆ ภาษาอังกฤษคืออะไร ในการทำให้เวลาจริงซึ่งปรากฏบนจอ มันสั้นกว่าเวลาที่คนดูรู้สึก ตัวอย่างง่ายๆ คือ เวลาในหนังอาจจะแค่สิบห้านาที แต่คนดูรู้สึกเหมือนมันยาวเป็นชั่วโมง ซึ่งเราก็ยังงงอยู่ว่าไอ้เทคนิกนี้ มันต่างอะไรกับการทำหนังให้น่าเบื่อ จนคนดูรู้สึกเหมือนมันยาวไม่มีสิ้นสุด (ฮา)
ไม่รู้เหมือนกันว่าเทคนิกตัวนี้ กับวิธีการเขียนของเฮนรี เจมส์จะคล้ายคลึงกันหรือเปล่า ถ้าให้เล่าเรื่องย่อ The Wings of the Dove ก็คงใช้พื้นที่ไม่เกินหนึ่งสามบรรทัด แต่เจมส์สามารถลากมันไปได้ยาวอีกห้าร้อยหน้า นิยายเรื่องนี้ถูกนำมารีโทลโดยแพทริเซีย ไฮสมิท และตอนหลังเอามาสร้างเป็นภาพยนตร์โดยแอนโธนี มิงเกลลา ในชื่อใหม่ที่พวกเรารู้จักกันดีคือ The Talented Mr. Ripley ซึ่งเอาเข้าจริง เนื้อเรื่องลักษณะแย่งชิงมรดกก็ไม่ใช่ของใหม่อะไรตั้งแต่ในปี 1902 แล้ว (สมัยที่เจมส์เพิ่งเขียน The Wings of the Dove) กระทั่งเจมส์เองก็คงตระหนักถึงข้อนี้ดี เพราะมีหลายฉากในนิยายที่ถูกเล่าข้ามๆ ไป ประมาณว่าอย่างไรคนอ่านก็คงเดาเรื่องได้เอง
เจมส์นำเสนอเรื่องราวทีละฉากๆ โดยกำหนดให้หนึ่งบทมีหนึ่งฉาก และพอเปลี่ยนบททีหนึ่ง ก็กระโดดข้ามฉากเป็นห้วงๆ ไป ซึ่งบางครั้งก็จำเป็นต้องเล่าเรื่องย้อนหลังเพื่ออุดรูโหว่ในเหตุการณ์ด้วย (การเล่าเรื่องลักษณะนี้ ถูกฟิทเจอราลด์นำไปใช้ในอีกสองศตวรรษถัดมา) The Wings of the Dove จึงเป็นนิยายที่เล่าเรื่องได้ "ตลก" มาก บางครั้งก็กระโดดข้ามเหตุการณ์จนน่าใจหาย หลายอย่างถูกทึกทักเอาเองว่าคนอ่านต้องคาดเดาได้อยู่แล้ว หรือพอถึงช่วงท้ายนิยาย ตัวละครหลักก็หายหน้าหายตาไปเสียฉิบ แต่ในบางครั้ง เจมส์ก็ใช้เทคนิกที่กล่าวมาข้างต้น ขยายเหตุการณ์ยิบย่อยที่แทบไม่มีความสลักสำคัญอันใดให้ยาวยืดเสียสิบยี่สิบหน้า
อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะคิดว่าเราไม่ได้ถูกโฉลกนิยายเรื่องนี้ พูดกันซื่อๆ ยอมรับว่าไม่ได้นิยม The Wings of the Dove ขนาดนั้น แต่ชอบวิธีการเขียนของเจมส์มาก รู้สึกเหมือนท่องไปในโลกแห่งฟองสบู่ เต็มไปด้วยจิตวิทยา และความคิดของตัวละคร (เฮนรี เจมส์เป็นพี่น้องกับวิลเลียม เจมส์ หนึ่งในนักจิตวิทยา ก่อนที่วิชาจิตวิทยาจะถูก "คิดค้น" โดยฟรอยด์) ขณะที่เหตุการณ์จริงๆ บางกระปิ๋วเดียวเหมือนผิวฟองสบู่ ปัญหาของนิยายเรื่องนี้คือมันยาวเกินไป ไม่ใช่ว่ามันน่าเบื่อ แต่มันอ่านโคตรยาก (พูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำเลยว่า นี่คือนิยายที่อ่านยากที่สุดในชีวิตเรา) ถ้ามันสั้นกว่านี้ มันจะเปิดโอกาสให้เราใคร่ครวญตัวมันได้อย่างใกล้ชิดขึ้น
I. Murdoch's "The Time of the Angels"
ช่วงระหว่างปี 1964 ถึง 1966 เมอดอชพิมพ์นิยายออกมาสองเล่มคือ The Italian Girl และ The Time of the Angels เราชอบทั้งคู่ และกล่าวได้ว่าทั้งสองเล่มนี้เป็นจุดสูงสุด และสิ้นสุดแล้วสำหรับเมอดอช ในการพยายามเขียนนิยายกอธิค ซึ่งเริ่มต้นในปี 1957 กับ The Sandcastle หลังจากปี 1966 เมอดอชก็ไม่ได้เขียนนิยายแนวนี้อีกเลย กระทั่งปี 1985 เธอหันมาเขียนแนวนี้อีกครั้งกับ The Good Apprentice
ถ้าถามว่านักเขียนคนหนึ่ง สามารถผลิตนิยายออกมาปีละเล่ม รวมกันเป็น 26 เล่มตลอดชีวิตได้อย่างไร (ตัวเลขนี้ถือว่าเยอะมากสำหรับนักเขียน "วรรณกรรม") ถ้าเราเปรียบเทียบกันดู ระหว่าง The Italian Girl และ The Time of the Angels ก็จะได้คำตอบกลายๆ เพราะนิยายสองเล่มนี้เหมือนกันมาก และเหมือนกันเกินไป เล่มหลังดีกว่าเล็กน้อย ราวกับเมอดอชฝึกฝีมือมาจากเล่มแรก เพื่อจะได้เอาไปเขียนเล่มหลัง จึงฉุกคิดได้ว่า ถ้าไปนั่งอ่านประวัติงานเขียนของเมอดอชดีๆ คงได้เห็นกรณี "ฝึกฝีมือ" แบบนี้อีกไม่น้อย
ถึง The Time of the Angels จะเป็นนิยายที่ดีกว่า แต่โดยส่วนตัวแล้ว เราชอบ The Italian Girl มากกว่า จะว่ามันสั้นกว่าก็คงไม่ใช่ เพราะทั้งสองเล่มนี้สั้นมากอยู่แล้ว (สองร้อย และสองร้อยสี่สิบหน้า) เสน่ห์ของ The Italian Girl อยู่ตรงความเก้ๆ กังๆ บางอย่าง ซึ่ง แทนที่จะทำให้เราไม่ชอบ กลับรู้สึกว่า เออ นิยายแบบนี้เราก็เขียนได้แฮะ
ในทางกลับกัน ใครที่อยากเข้าใจไอริช เมอดอช The Time of the Angels เป็นนิยายที่พลาดไม่ได้ เพราะมันนำเสนอปรัชญาศีลธรรมอันเป็นศูนย์กลางความคิดของเมอดอช และปรากฎอยู่ในอีกหลายเล่ม จากทั้งนิยาย 26 เล่ม เราสามารถสรุปคำถามสั้นๆ ได้ว่า ในโลกที่ไร้แล้วซึ่งพระเจ้า และศาสนา อะไรคือความดี และความชั่ว "ยุคของเทวดา" เป็นคำพูดของคาเรล นักบวชไร้ศรัทธา ผู้เป็นศูนย์กลางของนิยาย ผู้กล่าวว่า "ภายหลังการตายของพระเจ้า เทวดาลงมาจากสวรรค์ และสร้างความยุ่งเหยิงในโลกมนุษย์...เพราะมนุษย์เราไปตกหลุมรักเทวดา แต่ความรักดังกล่าวไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นความรัก"
The Time of the Angels โอบกอดความเป็นกอธิคเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม ตั้งแต่ฉาก โบสถ์เก่าในลอนดอนเดือนที่หมอกลงจัด ความตึงเครียดทางเพศ ความโกรธเกลียดของตัวละคร ความสงสัยในพระเจ้า นิยายจำพวกนี้จะว่าเขียนยากก็เขียนยาก เพราะท้ายที่สุดแล้ว การจับเอาตัวละครน่ารังเกียจหลายตัวมาอยู่รวมกันในนิยายเล่มเดียว ให้พวกเขาทะเลาะกัน ก็มีโอกาสที่นิยายดังกล่าวจะแตกเป็นเสี่ยงๆ ได้ The Time of the Angels คุมความตึงเครียดนั้นไว้อยู่ เป็นนิยายกอธิคที่ลงตัวมากๆ จึงไม่แปลกใจเลย ทำไมเมอดอชถึงหยุดเขียนนิยายแนวนี้
E. K. Sedgwick's "Epistemology of the Closet"
Epistemology of the Closet เปิดตัวได้อลังการมาก เซดวิกบอกว่าเธอจะใช้ข้อถกเถียงเชิงญาณวิทยา พิสูจน์ว่าความรู้ ความเข้าใจ และปรัชญาทั้งหลายแหล่ที่ตะวันตกผลิตขึ้นมาในช่วงศตวรรษที่ 20 นั้น สามารถโยงไปหาแนวคิดซึ่งสังคมมีต่อประเด็นรักร่วมเพศได้ พออ่านบทนำไปเรื่อยๆ เซดวิกยังเพิ่มความอลังการเข้าไปอีกขั้น โดยบอกว่าประเด็นรักร่วมเพศนั้นสามารถสกัดให้เหลือเพียงข้อขัดแย้งตัวเดียวคือ minoritizing/universalizing และแน่นอนว่าวิชาความรู้ทั้งหลายผุดออกมาจากความขัดแย้งตัวนี้เท่านั้น ความอลังการแบบนี้ดูจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของนักญาณวิทยา ผู้ที่ศึกษาวิชาของวิชา ศึกษาต้นกำเนิดของความรู้
แต่ถ้าถามว่าเซดวิกประสบความสำเร็จไหม ในโจทย์อลังการที่เธอตั้งขึ้นมานี้ เราว่าไม่แฮะ Epistemology of the Closet เป็นหนังสือดี เต็มได้ด้วยสาระน่าขบคิด แต่เมื่อเอาพวกมันมารวมกันแล้ว เรายังไม่แน่ใจว่าหนังสือทั้งเล่มต้องการพูดถึงอะไรกันแน่ (ซึ่งบางทีก็อาจเป็นเพราะเราเองก็ได้ ที่อ่านไม่แตก) สิ่งที่เราได้จั๋งๆ คือ "ภาคต่อ" ของ Political Inversions ซึ่งพูดถึงวัฒนธรรมเกย์สองแบบ แบบแรกคือเกย์อย่างออสการ์ ไวลด์ ซึ่งเราคุ้นเคยกันดี และแบบหลังคือเกย์อย่าง "นิทเช่" (ซึ่งไม่ได้หมายความว่านิทเช่เป็นเกย์ แต่หมายถึงวัฒนธรรมเกย์ซึ่งงอกเงยมาจากแนวคิด "เหนือชาย" ของแก) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของลัทธิฟาสซิส
เซดวิกพยายามมองความแตกต่างตรงนี้ด้วยแนวคิดคู่ตรงข้ามยอดนิยมของเธอ minoritizing/universalizing แบบแรกมองเกย์ว่าเป็น "เพศที่สาม" ชนกลุ่มน้อย ซึ่งมีสิทธิ มีเสียง และมีเสรี ความคิดนี้มีอิทธิพลมากๆ ในเยอรมันช่วงต่อศตวรรษที่ 19 และ 20 (เยอรมันเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการจัดตั้งขบวนการ ปลดปล่อยเกย์) และมีพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา การศึกษาเรื่องดีเอนเอ ส่วนอีกแบบเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเป็นไบเซกชวล และความเป็นหญิง เป็นชาย และเป็นเกย์อยู่ในตัวพวกเราทุกคน ความคิดนี้ถูกสนับสนุนโดยปรัชญาจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์
ถ้าถามว่า minoritizing/universalizing กับ wilde/nietzsche เกี่ยวข้องกันอย่างไร เราอ่านหนังสือจนจบแล้วก็ยังตอบไม่ได้ เอาเข้าจริง เกินกว่าครึ่งเล่มของ Epistemology of the Closet เต็มไปด้วยความแตกต่างสองขั้ว ซึ่งเซดวิกรื้อสร้างมาจากนิยายหลายๆ เล่ม ตั้งแต่ของเมลวิล จนถึงเฮนรี เจมส์ แต่ถ้าถามว่าจะกลั่นสองขั้วทั้งหมดให้อยู่ภายใต้ร่มของ minoritizing/universalizing ได้หรือเปล่า อันนี้แหละ ที่เราว่ายากอยู่
ประเด็นที่น่าสนใจ และแตกต่างจาก queer theory อื่นๆ ที่เราเคยอ่านมาคือ เซดวิกให้ความสำคัญกับ "การเปิดเผยตัวเอง" (coming out) และใช้สิ่งนี้เป็นตัวกำหนดอัตลักษณ์ของชาวเกย์ ก็น่าขบคิดอยู่เหมือนกันว่าถ้า "การเปิดเผยตัวเอง" เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป โลกนี้จะแตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก หรือน้อยเพียงใด (หรือมันจะสามารถเป็นไปได้ไหม)
E. Bronte's "Wuthering Heights"
Wuthering Heights เป็นนิยายเล่มแรกของสามพี่น้องบรองเต้ที่เราเคยอ่าน อย่าถามเลยว่านอกจากชาลอต กับเอมิลีแล้วอีกคนชื่ออะไร เคยเขียนอะไรบ้าง ยิ่งกว่านั้นไม่ต้องถามด้วยว่าคนไหนคนโต คนไหนคนกลาง และคนไหนคนเล็ก รู้จัก และสนใจจะอ่าน Wuthering Heights มาตั้งแต่หกปีที่แล้ว สมัยยังเป็นแฟนกับสาวจีนคนหนึ่งที่ชอบนิยายเล่มนี้ที่สุดในโลก ความสนใจกระโดดกลับขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อได้อ่าน The Well of Lost Plots ในโลกนิยายซ้อนนิยาย ตัวเอกของฟ์ฟอร์ดต้องมารับบทจิตแพทย์ จัดสัมนาควบคุมความโกรธกริ้วของตัวละครใน Wuthering Heights ที่มีต่อเฮธคลิฟ "ตัวเอก" และศูนย์กลางของเรื่อง
Wuthering Heights ไม่เหมือนเลยแม้แต่น้อยกับอะไรที่เราเคยคาดคิด เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มต้นมาจากบิดาของตระกูลเอิร์นชอว์ เก็บเด็กสกปรกมาเลี้ยง มาให้เป็นเพื่อนเล่นกับลูกสาว และลูกชาย เด็กสกปรกคนนั้นคือเฮธคลิฟ ซึ่งไม่เหมือนกับลูกเลี้ยงทั่วไปในนิยาย เฮธคลิฟทำตัวเป็นปีศาจน้อย สันดานเสียมาตั้งแต่เด็ก ส่วนลูกชาย ลูกสาวตระกูลเอิร์นชอว์ก็ระยำพอกันทั้งคู่
เราอยากเรียกครึ่งแรกของนิยายว่า "the puppet theatre of misantropic" สมกับที่ฟ์ฟอร์ดเขียนแซวไว้จริงๆ เพราะมันไม่มีอะไรเลย นอกจากมนุษย์น่ารังเกียจสี่ห้าคน โกรธกัน เกลียดกัน และตะโกนด่ากัน เราสัมผัสไม่ได้ถึงอารมณ์ฝ่ายดีในตัวละครตัวใดทั้งสิ้น ไม่รู้สึกถึงความรักระหว่างเฮธคลิฟ และแคธเทอรีน (แม่) ไม่รู้สึกว่าเฮธคลิฟน่าสงสาร ไม่รู้สึกว่าแคธเทอรีนน่าเห็นใจ นี่คือละครหุ่นล้วนๆ เทียบได้กับดู Freddy vs. Jason คือเป็นความสนุก สะใจอันเกิดจากการเห็นคนชั่ว คนเลวมาสู้กัน
Wuthering Heights เริ่มจะมีหัวจิตหัวใจ ช่วงกลางๆ เล่ม ซึ่งเป็นเรื่องราวของลูกชาย ลูกสาว ของเฮธคลิฟ และสองพี่น้องเอิร์นชอว์ แคธเทอรีน (ลูก) เป็นตัวเอกตัวแรกที่คนอ่านพอจะเอาใจช่วยได้ ถึงตอนนี้ค่อยเริ่มรู้สึกเหมือนอ่านวรรณกรรมศตวรรษที่ 19 ขึ้นมาหน่อย ฉากที่แคธเทอรีนเผชิญหน้ากับเฮธคลิฟ โดยอาศัยความรัก การให้อภัย และคุณค่าแบบคริสเตียนเป็นอาวุธ ก็สะท้อนยุคสมัยได้เป็นอย่างดี
จริงๆ แล้วเราสนุกไปกับ Wuthering Heights มากเลยทีเดียว (โดยเฉพาะครึ่งแรก) รู้สึกเหมือนมันเป็นการรื้อสร้าง (deconstruction) วรรณกรรมคลาสสิค มากกว่าจะเป็นวรรณกรรมคลาสสิคจริงๆ เช่นกลวิธีการเล่าเรื่องด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง "ผม/ฉัน" มีสองคนคือลอกวูด และเนลลี ขณะที่ลอกวูดเป็นคนนอก เนลลีอยู่ตรงกลางระหว่างผู้สังเกต และตัวละคร มีบางครั้งที่คนอ่านจับได้ถึง "ความไม่ซื่อสัตย์" ในฐานะผู้สังเกต/ผู้เล่าเรื่อง และอิทธิพลของเนลลีที่มีต่อตัวละครหลัก ลอกวูดเองก็เป็นตัวแทนผู้อ่าน หรือคนนอกที่มีโอกาสกระโดดเข้าไปเปลี่ยนแปลงเรื่องราวในนิยาย
อยากรู้นักว่าถ้าเอมิลี มีโอกาสเขียนนิยายเล่มสอง จะออกมาเปรี๊ยวจี๊ด เข็ดฟันแบบนี้หรือเปล่า
W. Faulkner's "The Reivers"
เคยนั่งคุยกับผู้กำกับว่า หนังอาร์ตสามารถเป็นหนังตลกได้หรือเปล่า ความตลกก๊ากๆ (ที่ไม่ใช่ตลกหึๆ ) ไปกันได้แค่ไหนกับความเนิบช้า ปล่อยอารมณ์ไปกับภาพ และบรรยากาศ ถ้าพูดกันในเชิงวรรณกรรมแล้ว เรายืนยันเลยว่า "อารมณ์ขัน" เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในหนังสือดีๆ แต่ว่าอารมณ์ขันกับความตลกก๊ากๆ ก็ต่างกันอย่างมากมาย เท่าที่จำได้ หนังสือเล่มเดียวเลยที่คนเส้นลึกอย่างเราอ่านแล้วปล่อยก๊ากคือ Boudolino ของอุมเบอร์โต เอโค
เล่มนั้นกับ The Reivers นี่แหละ
ชั่วชีวิตนี้ไม่คิดเลยว่าเราจะปล่อยก๊ากให้กับหนังสือของคนเขียน As I Lay Dying กับ The Sound and the Fury พอจะเห็นอารมณ์ขันใน As I Lay Dying อยู่ แต่ The Sound and the Fury เป็นหนังสือที่หดหู่ และเคร่งขรึมมาก และไม่คิดว่าภาษาแบบกระแสสำนึกจะเหมาะกับการเขียนเรื่องชวนหัวได้ขนาดนี้
ฟอล์คเนอร์สวมวิญญาณวูดเฮาส์ เล่าเรื่องราวของ "ผม" หรือลูเชียส พริส เด็กอายุสิบเอ็ด หลานชายเจ้าของไร่ในชนบทมิสซิสซิบปี พ่อ แม่ และปู่ของเขาเดินทางไปงานศพญาติในเมืองอื่น ช่วงสามสี่วันนั้นเอง ลูเชียส บูน และ เนดขโมยรถของเจ้าของไร่ และออกเดินทางไปเมมฟิส และจากจุดนั้น การผจญภัยอื่นๆ ก็ตามมาอย่างไม่หยุดหย่อน
The Reivers ดำเนินเรื่องในช่วงต่อศตวรรษที่ 19 และ 20 สมัยที่รถยนต์เพิ่งแพร่กระจายในอเมริกา รถยังเป็นของหายากอยู่ หลายคนมองว่ามันเป็นแฟชั่นที่จะผ่านมา และผ่านไปชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แต่อีกหลายคน เช่นบูนสัมผัสได้ถึงกระแสลมแห่งความเปลี่ยนแปลง ว่ากันว่า เศรษฐกิจของอเมริกายิ่งใหญ่มาได้จนถึงทุกวันนี้ก็เพราะรถ ประเทศอเมริกาเป็นประเทศมโหฬาร มีประชากรกระจายตัวกันอยู่ตามพื้นที่ต่าง ถ้าไม่มีระบบการคมนาคมที่ดีแล้ว ย่อมไม่สามารถพัฒนาประเทศไปไหนต่อไหนได้
เพราะฉะนั้น ก่อนรถจะมาถึง ม้า ลา และสัตว์พาหนะอื่นๆ คือปัจจัยสำคัญ (ดังจะเห็นได้จากวัฒนธรรมคาวบอย หรือภาพคนอเมริกันที่เรานึกถึงในอดีต) เนดเป็นคนดำที่ทำงานอยู่ในไร่ของปู่ของลูเชียส เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญม้า ใน The Reivers เนดต้องรับสองบทบาทพร้อมกัน บทบาทแรกคือบทโศกนาฏกรรม ของคนที่กำลังจะสูญพันธ์ หรือหมดประโยชน์ไปจากสังคม แต่ขณะเดียวกันฟอล์คเนอร์ก็ต้องการเฉลิมฉลอง "วัฒนธรรมม้า" เป็นครั้งสุดท้ายก่อนมันจะสูญหายไปด้วย
น่าคิดอยู่เหมือนกันว่านิยายตลกอย่าง The Reivers สามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่าง ที่ฟอล์คเนอร์ไม่อาจทำได้ใน As I Lay Dying และ The Sound and the Fury เช่นการให้ผู้อ่านสัมผัสวิถีชีวิตของชาวอเมริกาตอนใต้ในยุคสมัยนั้น The Reivers เป็นนิยายที่อ่านแล้วมีความสุขมากๆ เหมือนได้ผจญภัย และสังสรรกับตัวละคร และยังแทรกแง่คิดหลากหลายเช่นการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การเหยียดผิว ความรับผิดชอบ และเส้นบางๆ ที่กั้นกลางระหว่างความดี และความ "ไม่ดี"
U. Sinclair's "The Jungle"
ผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่าทรุฟโฟ หรือโกดา เคยพูดว่าเราไม่สามารถทำหนังต่อต้านสงคราม หรือความรุนแรงได้เลย เพราะทันทีที่เรานำเสนอความรุนแรงบนจอภาพยนตร์ (เพื่อจะได้ต่อต้าน) เราก็ได้บูชา และสร้างสรรค์ความรุนแรงนั้นขึ้นมาแล้ว ปัญหานี้จะพบได้บ่อยๆ ในหนังฮอลลีวูด หรืออย่างไมเคิล ฮาเนเก้ก็เป็นตัวตั้งตัวตีเล่นกับวาทยกรรม ต่อต้าน/บูชา ความรุนแรงในภาพยนตร์ การที่เราสร้างสรรค์งานศิลปะขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ใดจุดประสงค์หนึ่ง ก็ต้องคิดเผื่อเอาไว้ด้วยว่า บางทีมันอาจเป็นดาบสองคม ซึ่งให้ผลตรงข้ามกับที่เราปรารถนาโดยสิ้นเชิง
นั่นคือปัญหาที่เรามีกับผลงานชิ้นเอกของอับตัน ซินแคร์ The Jungle นิยายเล่มนี้เล่าเรื่องราวรันทดของเจอเกน และออนา คู่รักหนุ่มสาวชาวลิธัวเนีย ที่เดินทางมาแสวงหาความฝันแบบอเมริกันในชิคาโก ทั้งคู่พบความยากลำบาก โดนเอารัดเอาเปรียบนานา และจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าท่ามกลางความอยุติธรรม เป้าหมายของซินแคร์คือเปิดโปง แวดวงธุรกิจ และสังคมในอเมริกาช่วงต้นศตวรรษที่ 20
ภาษาของซินแคร์ทรงพลังมากๆ โดยเฉพาะในสามสี่บทแรก The Jungle เปิดฉากที่งานแต่งงานของเจอเกน และออนา คนอ่านรู้สึกได้ถึงความเหน็ดเหนื่อยของคู่บ่าวสาว และแขกเหรื่อที่ต้องเต้นรำอย่างไม่หยุดหย่อนตั้งแต่หัวค่ำจดเช้าวันถัดไป และในวันรุ่นขึ้น ไม่อาจแม้กระทั่งหยุดทำงาน แต่ก็เป็นความเหน็ดเหนื่อยที่แฝงไปด้วยความสุขล้ำ และเป็นความสุขเพียงอย่างเดียวที่เหล่าผู้อพยพจะสามารถหาได้ในดินแดนแห่งนี้
อีกฉากที่เด็ดพอกัน คือการบรรยายภาพภายในโรงฆ่าสัตว์ ตั้งแต่วัวถูกนำเข้ามาในโรงงาน ผ่านกระบวนการทำความสะอาด โดนเชือด และทุกสรรพส่วนในร่างกายแปรเปลี่ยนเป็นสินค้า อ่านแล้วเห็นภาพเครื่องจักรขนาดมหึมาที่ประหัตประหารปศุสัตว์อย่างไร้น้ำจ นอกจากความทางพลังทางด้านภาษาแล้ว ซินแคร์ยังค้นคว้าข้อมูลมาอย่างดี จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ The Jungle มีอิทธิพลขนาดตำรวจ นักการเมือง และสื่อมวลชน ต้องหันมาตรวจสอบธุรกิจค้าเนื้อ จนก่อให้เกิดการปฏิรูปกฎหมายขึ้นมาเลย
แต่ที่น่าแปลกใจคือ ถ้าอุตส่าห์ค้นข้อมูลมาขนาดนี้แล้วแล้ว ซินแคร์จะนำเสนอผลงานชิ้นนี้ในรูปแบบวรรณกรรมทำไม เล่าเป็นสารคดีโต้งๆ เปิดโปงความเลวร้ายของสังคมไปเลยไม่ดีกว่าหรือ ในทางวรรณศิลป์แล้ว The Jungle เป็นหนังสือที่น่าเบื่อที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่เราเคยอ่าน เพราะมันมีโน้ตแค่ตัวเดียว คือโชคชะตาอันน่าหยาบหยามของเจอเกน และออนา อ่านไปได้ครึ่งเล่มก็เอียนจนไม่รู้จะเอียนอย่างไร ไปๆ มาๆ เลยกลับกลายเป็นว่าเราจ้องจะจับผิดตัวเอกท่าเดียวว่าพวกเขาทำอะไรถึงได้พบชะตากรรมแสนบัดซบขนาดนี้ ทำไมถึงต้องดั้งด้นมาอเมริกาตั้งแต่แรก รู้ก็รู้อยู่ว่าอ่านหนังสือสัญญาไม่ออก ยังไปโง่ซื้อบ้านให้เขาหลอกอีก จนก็จน แล้วยังจัดงานแต่งงานซะหรูหรา ก็สมควรอยู่หรอกที่จะไม่รวยขึ้นมาเสียที และอีกมากมาย เป็นตัวอย่างดาบสองคมที่เกิดจากการนำเสนอเรื่องราวแค่ด้านเดียว
คารวะอาจารย์
อาจารย์นิธิครับ ผมไม่เคยเรียนกับอาจารย์ ไม่เคยเจออาจารย์ตัวเป็นๆ ได้แต่อ่านบทความของอาจารย์ตามเวปไซต์ และในหนังสือพิมพ์ วันนี้ขอคารวะอาจารย์ ด้วยการเอาบทความเศรษฐกิจพอเพียงที่ประเสริฐสุด เท่าที่คนไทยคนหนึ่งเคยเขียนขึ้นมา เอามาลงในบลอคผม โดยไม่ตัด ไม่ทอน และไม่คอมเมนต์ครับ
ประชานิยมในเศรษฐกิจพอเพียง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
หลังการรัฐประหารกันยายน 2549 รัฐบาลทุกชุดได้ทุ่มงบประมาณลงไปให้แก่ "เศรษฐกิจพอเพียง" เสมอมา รัฐบาลชุดปัจจุบันถึงกับเปลี่ยนชื่อของโครงการพัฒนาชนบทให้เป็น "เศรษฐกิจพอเพียง" ไปเลย
แน่นอนคำนี้ให้ประโยชน์ทางการเมือง นอกจากแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์แล้ว ยังเปิดโอกาสให้ทำอะไรกับเงินก้อนนี้ก็ได้ เพราะปลอดพ้นจากคำวิพากษ์วิจารณ์
เคยมีการถกเถียงกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์สมัยรัฐบาลหุ่นของ คมช. ว่า แนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญา อุดมการณ์ หรือเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจกันแน่
ผมไม่สู้จะเข้าใจจากการถกเถียงนักว่า เป็นอะไรแล้วจะทำให้แตกต่างอย่างไร แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ส่วนสำคัญของแนวคิดนี้เกี่ยวข้องกับการผลิตด้านเกษตรกรรม การผลิตอาหาร และการจัดการเศรษฐกิจระดับมหภาคให้สิ้นเปลืองน้อย (เมื่อย้อนกลับไปดูพระราชดำรัส - เช่น ไม่นำข้าวจากเชียงรายมารวมไว้ที่กรุงเทพฯ แล้วส่งย้อนกลับไปขายให้คนเชียงรายใหม่)
อย่างไรก็ตาม จะพัฒนาแนวคิดนี้ไปสู่การผลิตด้านอื่น เช่น ในภาคบริการ ภาคการเงิน หรือภาคอุตสาหกรรมได้หรือไม่ ผมไม่ทราบ จนถึงนาทีนี้ผมยังไม่เคยเห็นการประยุกต์ใช้แนวคิดนี้ในภาคอื่นๆ ส่วนที่นักเศรษฐศาสตร์บางคนเสนอว่า การประยุกต์ใช้ในภาคอื่นๆ หมายถึงการลงทุนอย่างรอบคอบไม่สุ่มเสี่ยง ธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ ความซื่อตรงจริงใจต่อคู่ค้า ฯลฯ นั้น จะว่าเป็นหลักการพื้นฐานของการทำธุรกิจที่ดีอยู่แล้วก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนำมาจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และความจริงก็มีอยู่ในตำราด้านธุรกิจอยู่แล้ว
หากประยุกต์ใช้ในภาคอื่นไม่ได้เลย "เศรษฐกิจพอเพียง" ย่อมเป็นอุดมการณ์แห่งรัฐไม่ได้ (ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนอย่างไรก็ตาม) เพราะเศรษฐกิจไทย - ไม่ว่าจะมองจากแง่ของเงิน หรือของแรงงาน - ไม่ได้อยู่ในภาคเกษตรกรรม
ผมจำได้ว่า เคยมีพระราชดำรัสด้วยว่า ไม่ได้ทรงมุ่งหวังว่าเศรษฐกิจไทยทั้งระบบจะกลายเป็นเศรษฐกิจพอเพียง มีเพียง 25% ของประชากรที่อยู่ในเศรษฐกิจพอเพียง เราก็จะมีความมั่นคงด้านเศรษฐกิจแล้ว
ก็พอจะมองเห็นได้นะครับว่า 25% ดังกล่าวคือ ประชากรในภาคเกษตรกรรม หรือแม้แต่ในภาคเกษตรกรรมเองก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงทั้งหมด การทำเกษตรเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้นก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะคนที่ทำแล้วได้กำไร อยู่ได้ สบายดี ก็คงน่าจะทำต่อไป และแน่นอนว่าต้องเผชิญความเสี่ยงของตลาด แต่เพราะได้กำไรดีอยู่แล้ว ก็ต้องบริหารจัดการด้านการเงินของตัวให้ดี เพื่อเผชิญความเสี่ยงนั้นเอง
ในแง่นี้ "เศรษฐกิจพอเพียง" จึงเป็นคำตอบของเกษตรกรรายย่อย ที่ไม่สามารถเข้าไปต่อรองกับตลาดได้อย่างมีพลัง แต่ถูกบังคับหรือล่อหลอกให้เข้าไปผลิตป้อนตลาด จึงประสบความขาดทุนตลอดมา "เศรษฐกิจพอเพียง" ให้คำตอบว่า ลดการพึ่งพาตลาดลง มีหลักประกันด้านอาหารให้แก่ตนเองและครอบครัว เอาทรัพยากรและเวลาส่วนที่เหลือไปผลิตเพื่อแลกเปลี่ยนในตลาด แต่แลกเปลี่ยนโดยมีอำนาจต่อรอง เพราะอย่างน้อยก็ไม่อดตายแน่ ซ้ำยังเพิ่มอำนาจต่อรองนั้นได้อีกมาก หากวางแผนการผลิตให้ดี เช่น เลือกผลิตสิ่งที่ตลาดต้องการในระยะยาวได้ ไม่จำเป็นต้องเร่งผลิตมันสำปะหลังหรืออ้อยไว้ยาไส้เป็นปีๆ ไป
คำตอบให้แก่ปัญหาของเกษตรกรรายย่อยเช่นนี้ มีผู้เสนอและทำสำเร็จให้เห็นมานานแล้ว เราคงนึกถึงท่านผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม, พ่อคำผาย สร้อยสระกลาง, พ่อคำเดื่อง ภาษี, ฯลฯ และคนอื่นๆ ได้อีกมากมาย แต่ละคนล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ ความสามารถที่จะพึ่งตนเองได้ และพึ่งตลาดน้อยลง หากแต่ละคนย่อมมีเทคนิควิธีที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยซึ่งไม่เหมือนกัน
"เศรษฐกิจพอเพียง" จึงเป็นคำตอบแก่เกษตรกรรายย่อย แน่นอนว่านัยยะของแนวคิดนี้ย่อมกว้างกว่านั้นในบางเรื่อง เช่น ส่วนหนึ่งเป็นการต่อต้านวัฒนธรรมบริโภคนิยม (อันเป็นสิ่งที่ปราชญ์ชาวบ้านเหล่านั้นได้พูดถึงเหมือนกัน) อันที่จริงหากพิจารณาแนวคิดของปราชญ์ชาวบ้านซึ่งประสบความสำเร็จในเรื่องเช่นนี้มาก่อน ยังมีนัยยะที่กว้างกว่านั้นเสียอีก เช่น การทำเกษตรแบบพึ่งตนเองของท่านให้ยั่งยืนไปถึงลูกหลานได้ ย่อมหมายรวมถึงการจัดระบบการศึกษาที่แตกต่างจากที่จัดกันอยู่ หมายรวมถึงการสร้างความรู้ใหม่บางด้าน หมายรวมถึงระบบความสัมพันธ์ทางสังคมอีกอย่างหนึ่งซึ่งแตกต่างจากระบบความสัมพันธ์ของทุนนิยม ฯลฯ
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า ระหว่างพระราชดำรัสกับแนวคิดของปราชญ์ชาวบ้าน อย่างไหนมาก่อนกัน อย่างไหนกว้างกว่ากัน แต่ทั้งสองอย่างเกื้อหนุนกันและกัน พระราชดำรัสให้พลังแก่แนวคิดนี้อย่างสำคัญ เป็นพลังที่ทำให้สังคมควรคิดถึงกลุ่มคนซึ่งถูกละเลยในกระบวนการพัฒนาของประเทศมานาน นั่นก็คือเกษตรกรรายย่อย ซึ่งหากกลุ่มนี้สามารถเอาตัวรอดได้อย่างดี ก็จะเป็นฐานที่แข็งแกร่งส่วนหนึ่งให้แก่เศรษฐกิจไทย ให้สามารถเผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ดีขึ้น
ตรงกันข้าม การไปขยายแนวคิด "เศรษฐกิจพอเพียง" ให้กลายเป็นอุดมการณ์ของชาติ โดยไม่จับประเด็นสำคัญคือการสร้างอำนาจต่อรองในตลาด กลับทำให้พลังของแนวคิดนี้ในการปกป้องเกษตรกรรายย่อยอ่อนลง เพราะแทนที่จะไปทำให้เกิดเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นไปได้ สำหรับการทำ "เศรษฐกิจพอเพียง" กลับไปทุ่มโฆษณานโยบายเพื่อพิสูจน์ความจงรักภักดีต่อสถาบันของรัฐบาล
ยกตัวอย่างเงื่อนไขที่เห็นๆ กันอยู่สักเรื่องหนึ่งก็ได้ การทำเกษตรแบบพึ่งตนเองหรือ "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นไปได้ หรือเป็นไปได้ง่ายขึ้น ในเงื่อนไขที่ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นยังอุดมสมบูรณ์ แต่รัฐไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง เกษตรกรไร้ที่ทำกินยังมีจำนวนกว่า 3 ล้านคน (หรืออาจจะมากกว่านั้น หากนับรวมเกษตรกรที่สูญเสียที่ดินจนต้องเปลี่ยนอาชีพไปแล้วด้วย) การปล่อยให้ภาคการผลิตอื่นทำลายคุณภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ, อากาศ, ป่า หรือทรัพยากรชายฝั่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นให้เห็นประจำวัน โดยรัฐไม่สามารถจัดการแก้ไขอะไรได้เลย (หรือตั้งใจเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ด้วยซ้ำ)
จะมีประโยชน์อะไรที่ลงเงินเป็นพันล้านเพื่อส่งเสริม "เศรษฐกิจพอเพียง" โดยไม่พยายามอนุรักษ์เงื่อนไขพื้นฐานของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ไว้
และหากจับประเด็นสำคัญของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ได้ คือการเพิ่มอำนาจต่อรองในตลาด จะทำให้ภาคบริการ การเงิน และอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ "เศรษฐกิจพอเพียง" ด้วยก็ได้ นั่นคือการทำให้ภาคการผลิตเหล่านี้มีอำนาจต่อรองในตลาดโลกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาฝีมือแรงงานอย่างจริงจัง การกระจายรายได้ให้เป็นธรรมมากขึ้น เพื่อทำให้ตลาดภายในเข้มแข็งพอจะรองรับการผลิตได้ในสัดส่วนสูงขึ้น การชักนำและกดดันให้ผู้ผลิตลดต้นทุนที่เป็นสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม พลังงาน หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
"เศรษฐกิจพอเพียง" ต้องการรัฐนะครับ ไม่ใช่การกลับไปสู่เศรษฐกิจสมัยอยุธยา รัฐมีอะไรที่ต้องทำอีกมากเพื่อทำให้ "เศรษฐกิจพอเพียง" เกิดขึ้นและเป็นไปได้ หลายอย่างที่ทำก็อาจขัดแย้งกับผลประโยชน์ของทุนซึ่งครอบงำ ทั้งพรรคการเมืองและคณะรัฐประหารอยู่ ข้อโจมตี "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งดูจะมีน้ำหนักมากที่สุดก็คือ "เศรษฐกิจพอเพียง" คือการปล่อยให้คนเล็กๆ ต่อสู้เอาชีวิตรอดไปเอง โดยรัฐไม่ต้องแบ่งทรัพยากรไปช่วยใช่หรือไม่?
ข้อโจมตีนี้มีน้ำหนักก็เพราะว่า รัฐบาลทุกชุดที่ยกย่องเชิดชู "เศรษฐกิจพอเพียง" ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่ายกย่องเชิดชู และปล่อยชะตากรรมของเกษตรกรรายย่อยไปตามยถากรรม ประหนึ่งว่ารัฐไม่สามารถมีบทบาทหน้าที่อะไรใน "เศรษฐกิจพอเพียง" มากไปกว่า การย้ำโฆษณา
ในระหว่างวิกฤตต้มยำกุ้ง เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเข้าไปช่วยก่อตั้งพรรค ทรท. คุยกับผมถึงแนวทางการกู้วิกฤตเศรษฐกิจ สรุปก็คือไปเสริมพลังการผลิตของภาคประชาชน ทั้งเพื่อทำให้ฐานะเศรษฐกิจของคนระดับล่างดีขึ้น และเพื่อส่งออกนำเงินตราเข้าสู่ประเทศแทนธุรกิจระดับใหญ่ ซึ่งขณะนั้นง่อยเปลี้ยเสียขาไปมาก และนั่นคือที่มาของนโยบาย ทรท.หลายอย่าง เช่น โอท็อป การแปลงสินทรัพย์เป็นทุน การผ่อนปรนภาระหนี้สิน ฯลฯ
นโยบายที่เรียกว่า "ประชานิยม" เหล่านี้ของ ทรท. เป็นตรงกันข้ามกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" นั่นคือแทนที่จะถอยออกมาจากตลาด กลับมุ่งเข้าสู่ตลาดโดยตรง เพียงแต่มุ่งเข้าไปโดยมีรัฐคอยหนุนช่วย (ส่วนจะช่วยจริงหรือไม่เป็นคนละเรื่อง) ผมคิดว่านี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประชาพากันนิยมรัฐแบบ ทรท.ตรงกันข้าม รัฐแบบ "เศรษฐกิจพอเพียง" หลังการรัฐประหารเป็นต้นมา คือรัฐที่พร่ำบอกเพียงว่า "อย่าไปเลย ตลาดมันหลอก จะบอกให้" แต่รัฐกลับไม่มีบทบาทอย่างไรในการเกื้อกูลให้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปได้ แก่คนจำนวนมากในเมืองไทย (เช่น แรงงานซึ่งต้องทำงานสองกะ จะพอเพียงได้ก็เพียงแค่เลิกเหล้า เลิกยา ประหยัด รัฐช่วยอะไรเขาไม่ได้สักอย่าง)
นโยบายประชานิยมทำใน "เศรษฐกิจพอเพียง" ได้หรือไม่? ผมคิดว่าได้ แต่ทำยาก เพราะชนชั้นนำไทยนั้นได้ผลประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดโดยไม่พร้อมของคนไทยระดับล่างอยู่มาก ซ้ำผูกพันผลประโยชน์กันเป็นเครือข่ายที่ใหญ่โตและซับซ้อน (แค่สมุนไพรยังกลายเป็นสารอันตราย - แก่กระเป๋าของพ่อค้ายาฆ่าแมลง - ได้) ประชานิยมในเศรษฐกิจพอเพียงจึงต้องการความเด็ดเดี่ยวเชิงนโยบาย ไปพร้อมกับความสุขุมคัมภีรภาพ เพื่อบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ
มิฉะนั้นแล้ว ประชานิยมก็เหลือแค่การแจกเงิน
S. Brijs's "The Angel Maker"
อยากรู้จริงๆ ว่าสเตฟาน บริจส์ เป็นใครกันแน่ กูเกิลชื่อหมอแล้วก็ไม่เห็นมีไซต์อะไรที่เป็นภาษาอังกฤษขึ้นมาสักเท่าไหร่เลย เข้าใจว่าเพราะหมอยังเป็นนักเขียนใหม่อยู่ แต่ใครก็ตามที่เขียน The Angel Maker ได้นี่ต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ ไม่ใช่ว่าไม่ธรรมดาในฐานะนักเขียนเท่านั้น เพราะ The Angel Maker มีความลึกในหลายระดับมากๆ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านศาสนา ปรัชญา วิทยาศาสตร์ หรือว่าจิตวิทยาการเติบโตของเด็ก คนที่เขียนอะไรอย่างนี้ออกมาได้ต้องมีความรู้รอบด้าน
แต่มองอีกแง่หนึ่ง ใครก็ตามที่อยากจะเขียนรีเมค Frankenstein ก็คงต้องมีความรู้ระดับนี้เท่านั้นกระมัง
เพราะนี่คือสิ่งที่ The Angel Maker เป็น นิยายรีเมค Frankenstein ตั้งแต่ชื่อตัวเอก วิคเตอร์ ฮอปป์ ก็มาจากวิคเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ ขณะที่แฟรงเกนสไตน์หมกมุ่นกับการเอาชนะความตาย ฮอปป์หมกมุ่นกับการเกิด อีกข้อแตกต่างคือ "วิทยาศาสตร์" ของ Frankenstein หมายถึงการปลุกศพให้ลุกขึ้นมาเดินเหิน ซึ่งในปัจจุบันก็เป็นแค่เรื่องในจินตนาการเท่านั้น แต่เทคนิกของดอกเตอร์ฮอปป์คือการโคลนนิ่ง ซึ่งมีอยู่จริง อ่านศัพท์แสงชีววิยาใน The Angel Maker แล้ว บอกได้เลยว่าบริจส์ต้องไม่ใช่ขี้ๆ ยิ่งอ่านออกว่าผู้เขียนเข้าใจ "วัฒนธรรมของนักวิทยาศาสตร์" เป็นอย่างดี ก็ยิ่งทำให้เราปักใจเชื่อเข้าไปใหญ่ว่าหมอต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ หรืออย่างน้อยก็เคยเรียนวิทยาศาสตร์มาก่อน
อยากพูดถึงประเด็นนี้ เพราะนี่เป็นเอกลักษณ์ที่เราไม่เคยอ่านเจอในไซไฟเรื่องไหนมาก่อน ดอกเตอร์ฮอปป์มีนิสัยประหลาดอย่างหนึ่ง คือจะไม่ชอบทำการทดลองซ้ำซาก เมื่อเขาประสบความสำเร็จในการโคลนหนูได้ครั้งหนึ่ง เขาเดินหน้าไปโคลนมนุษย์ต่อทันที โดยไม่สนใจว่าตัวเองจะสามารถโคลนหนูได้เป็นหนที่สองหรือเปล่า การละเลยที่จะทำการทดลองซ้ำซากนำไปสู่จุดจบของวิคเตอร์ ฮอปป์ อาจกล่าวได้ว่าฮอปป์ทำบาปเป็นสองเท่าของแฟรงเกนสไตน์ คือไม่ได้แค่เหยียดหยามพระผู้สร้างเท่านั้น แต่ยังเหยียดหยามวิทยาศาสตร์อีกด้วย
อีกจุดต่างที่น่าสนใจคือ เมื่อเทียบกับเชลลี บริจส์ให้ความสำคัญกับตัวนักวิทยาศาสตร์ มากกว่าสิ่งประดิษฐ์ สัตว์ประหลาดของดอกเตอร์ฮอปป์ก็คือเด็กแฝดสามคน ซึ่งมียีนส์เหมือนดอกเตอร์ ทั้งสามมีร่างกายอ่อนแอ หัวล้าน ผมเผ้าร่วง และสุดท้ายก็ตายไปโดยไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไรให้ชาวบ้านต้องก่อมอบขับไล่ เหมือนบอริส คาลอฟในภาพยนตร์คลาสสิค ซึ่งก็แอบน่าผิดหวังนิดหน่อย นิยายเรื่องนี้แบ่งเป็นสามองค์ สององค์แรกเครียด และเค้นมากๆ และพอถึงองค์สุดท้าย เมื่อทุกอย่างมารวมๆ กัน ดูออกว่าบริดจ์ไม่แน่ใจอยากให้เรื่องดำเนินไปทางไหน สุดท้ายแล้ว The Angel Maker ปิดฉากได้น่าพึงพอใจในระดับหนึ่ง แม้จะแอนไทไคลแมกซ์ไปนิด
T. C. Schelling's "Micromotives and Macrobehavior"
วันก่อนคุยกับนักเศรษฐศาสตร์ เรื่องเวปไซต์วิกิพีเดียจัดอันดับคนอังกฤษร้อยคนที่สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ และมีอิทธิพลต่อโลกมากที่สุด ด้วยความแปลกใจของเราทั้งคู่ อดัม สมิธ ผู้เขีน The Wealth of Nations ไม่ติดอันดับ ไม่ว่าด้วยเหตุผลที่แท้จริงอันใดก็ตาม เราตั้งสมมติฐานว่า เป็นเพราะอดัม สมิธไม่ใช่ “นักสร้างสรรค์” ขัดกับสิ่งที่หลายคนเชื่อ หรือได้ยินมา แต่ The Wealth of Nations ไม่ใช่คู่มือ how to ทุนนิยม แต่เป็นการอธิบายปรากฎการณ์ “มือที่มองไม่เห็น” ซึ่งควบคุมเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษในสมัยนั้น
ทุนนิยม อย่างน้อยก็ในยุโรป ไม่ได้หล่นลงมาจากฟากฟ้า เป็นระบบเศรษฐกิจซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาตามธรรมชาติของมนุษย์ (อดัม สมิธ แค่เป็นผู้สังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าว) แม้แต่มาร์กเองก็ยังเชื่อว่าทุนนิยมคืออีกลำดับขั้นในพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ในประเทศไทย ทุนนิยมอาจจะมากับลัทธิล่าอาณานิยม หรือฝรั่งตะวันตก แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ด้วยความเป็นธรรมชาติของทุนนิยม ต่อให้มันไม่ได้ติดมากับสำเภาตะวันตก สุดท้ายมันก็จะงอกเงยขึ้นมาเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ถ้า “ใครใคร่ค้าม้าค้า ใครใคร่ค้าช้างค้า” ไม่ใช่พ่อขุนรามเป็นคนจารึก อย่างน้อยๆ ก็ต้องรัชกาลที่ 4 นี่แหละ)
ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าอะไรที่งอกเงยขึ้นมาแล้ว เราต้องปล่อยให้มันเติบโต และยอมตกอยู่ใต้บังคับบัญชาของมัน เชลลิงให้ตัวอย่างที่ดีมากใน Micromotives and Macrobehavior สมมติว่าเอาคนจำนวนหนึ่งมานั่งอ่านหนังสือในห้องมืดเป็นวงกลม โดยแต่ละคนจะมีโคมไฟประจำตัวอยู่ แสงจากโคมไฟตรงหน้า และจากเพื่อนบ้านสองคนที่อยู่ข้างๆ จะเพียงพอให้แต่ละคนอ่านหนังสือได้พอดี ในทางกลับกัน ถ้าเอาคนจำนวนเท่าเดิม และไฟดวงเดิมมาเรียงกันเป็นเส้นตรงบ้าง คนที่อยู่หัวและท้ายแถว จะมีเพื่อนบ้านแค่คนเดียว ดังนั้นจึงไม่สามารถอ่านหนังสือได้ ถ้าสองคนนี้ปิดไฟ สุดท้ายๆ ที่เหลือทั้งแถวก็จะปิดไฟหมด และไม่มีใครอ่านหนังสือได้เลย
Micromotives and Macrobehavior พูดถึง “มือที่มองไม่เห็น” ซึ่งก็คือกลไกอัตโนมัติ แม้ว่าเป้าหมาย และวิธีการคิดของปัจเจกจะแตกต่างกันไป และแม้เราจะไม่รู้ว่าแต่ละคนคิดเช่นไร เมื่อเอาพฤติกรรมของทุกหน่วยมารวมกันแล้ว ประหนึ่งว่ามี “มือที่มองไม่เห็น” ควบคุมสังคมอยู่
นอกจากจะมีประโยชน์แล้วนี่ยังเป็นหนังสือที่อ่านสนุกมาก เต็มไปด้วยโจทย์คณิตศาสตร์มันส์ๆ ตัวอย่างสนุกๆ และแม้ช่วงหลัง จะเริ่มไม่ค่อยน่าสนใจแล้วก็ตาม (พูดถึงการเหยียดผิว การแบ่งแยกผู้คนด้วยกลไก และการควบคุมหน่วยพันธุกรรมของเด็ก) เราก็ยังอยากให้ทุกคนได้ศึกษาทฤษฎีเกมส์ และแนวคิดอื่นๆ ซึ่งแฝงอยู่ใน Micromotives and Macrobehavior
เพราะหน้าที่ของปัญญาชนคือช่วยกันคิดว่าทำอย่างไร ถึงจะหาวิธีการจัดแถวให้ทุกคนได้อ่านหนังสือกันหมด (คำตอบง่ายๆ ในที่นี้คือให้ทุกคนนั่งกันเป็นวงกลม) ไม่ใช่ไปบีบบังคับให้สองคนที่อยู่หัวแถว ท้ายแถวจะต้องอ่านหนังสือทั้งๆ ที่มืดๆ แบบนั้น
E. Rohmer's "Six Moral Tales"
เราดูหนังน้อยเกินไป ข้อดีของการอ่านบทหนังคือมันช่วยกระตุ้นให้เราอยากดูหนังมากขึ้น Six Moral Tales ไม่ใช่บทหนังเสียทีเดียว เหมือนกับรวมเรื่องสั้นของโรแมร์มากกว่า โรแมร์เขียนไว้ในคำนำว่าเรื่องเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นมา ก่อนเขาจะถ่ายทำภาพยนตร์ และถูกเขียนขึ้นมาเพื่อดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ แต่ขณะเดียวกันโรแมร์ก็ต้องการให้มันอยู่ได้โดดๆ ในฐานะเรื่องสั้นด้วย ห้าเรื่องในเล่มนี้เล่าผ่านสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง มันจึงเต็มไปด้วยความคิดของตัวละคร ก็อยากรู้อยู่เหมือนกันว่าพอถูกดัดแปลงเป็นหนังแล้ว มันจะมี voice over เต็มไปหมดหรือเปล่า
ผู้กำกับเคยพูดว่าบทหนังต้องมีความไม่สมบูรณ์บางอย่าง เพราะถ้าออกมาสมบูรณ์หมดแล้ว จะต้องไปถ่ายภาพ ทำออกมาเป็นหนังหาอะไร (คำถามนี้เป็นคำถามเปิดคำนำของ Six Moral Tales เช่นกัน) ถ้าอย่างนั้น หกเรื่องสั้นของโรแมร์ก็คงมีความเป็นบทหนังสูง เพราะเรารู้สึกว่ามันไม่สมบูรณ์ ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่เหมือนมันยังขาดอะไรบางอย่าง The Baker's Girl เป็นเรื่องแรก และเรื่องที่สั้นสุด (ตอนถูกถ่ายทำเป็นหนัง มันยาวแค่ 23 นาทีเอง) มีอาการ minimalist คล้ายๆ กับเรื่องสั้นของคาร์เวอร์ เราชอบเรื่องนี้มาก และรู้สึกว่ามันมีความสมบูรณ์จนอาจไม่จำเป็นต้องถ่ายทำออกมาเป็นหนังแล้วก็ได้
Suzanne's Career เรื่องที่สอง ดูเป็นโรแมร์มากขึ้น และยาวขึ้นมาอีกนิด (55 นาที ในฉบับภาพยนตร์) มีความวุ่นวาย และรกชัฏบางอย่างที่เราไม่ค่อยชอบ แต่พอถึงตอนจบ ก็รู้สึกว่ามันมีประเด็นน่าสนใจ พอได้ดูเป็นหนังจริงๆ อาจจะเห็นประเด็นในความรกชัฏของมันมากขึ้น My Night at Maud's เป็นเรื่องที่ยาวสุด (เกือบสองชั่วโมงได้) และเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงของโรแมร์ ไม่รู้เหมือนกันว่ามันดังเพราะเป็นหนังยาวเรื่องแรกๆ ของโรแมร์หรือเปล่า เนื่องจากเราไม่ค่อยชอบ โรแมร์เปิดพื้นที่ให้ตัวละครสามตัวสนทนากันเรื่องปรัชญา เน้นไปที่ประเด็นทางศีลธรรม คริสตศาสนา และปาสคาล หูเราไม่ค่อยเข้ากันได้เท่าไหร่กับบทสนทนาจำพวกนี้ของโรแมร์ แถมทั้งสามคนนี้ไม่ได้มีสัมพันธ์ หรือเป็นตัวละครที่น่าสนใจอะไร ประกอบกับว่ามันยาวที่สุดด้วยแล้ว เรื่องนี้เลยออกมายืดมากๆ
The Collector มีความชัดเจนในตัวเรื่องมากกว่า เรื่องของผู้หญิงนิสัยไม่ดี พยายามทำทุกอย่างที่จะยั่วยวนตัวเอกของเรื่อง รวมไปถึงการนอนกับเพื่อนของพระเอกด้วย เนื้อเรื่องคล้ายๆ กับ Love in the Afternoon (ในฉบับหนัง รู้สึกจะชื่อว่า Chloe in the Afternoon) ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้าย และเรื่องที่เราชอบสุดในเล่ม ตัวละครมีเนื้อหนัง คนอ่านผูกพันกับทั้งพระเอก และโคล์ เข้าใจอุปสรรคที่ทั้งสองต้องเผชิญ และเหตุใดต่างฝ่ายต่างทำร้ายกัน ไม่รู้ว่าโรแมร์เขียนหกเรื่องนี้เรียงๆ กันหรือเปล่า แต่รู้สึกได้ถึงพัฒนาการ จาก "เรื่องสั้น" จนมาถึง "หนังยาว" เก้ๆ กังๆ อย่าง My Night at Maud's และผลงานที่ลงตัวกว่าอย่าง Claire's Knee และ Love in the Afternoon Claire's Knee ก็เกือบดีมากๆ แม้จะยังมีระยะห่างระหว่างตัวละครและคนดู/คนอ่าน พูดถึงผู้ใหญ่สองคนชาย หญิงที่พยายามยั่วยวน และสังเกตพฤติกรรมของเด็กสาววัยรุ่นสองคน รวมไปถึงของตัวเอง เหมือนเป็น Dangerous Liaison ในฉบับที่ทันสมัย และ "ใจดี" กว่า
โดยรวมแล้วพอใจกับการอ่านหนังสือเล่มนี้ และมันช่วยให้เราอยากไปหาฉบับหนังมาดูสมความตั้งใจ
Subscribe to:
Posts (Atom)