นครคลื่นเหียน (พิสิฐ ภูศรี)
ไม่ค่อยได้เห็นงานชิ้นใหม่ๆ ของคุณพิสิฐเลย เพิ่งอ่านสัมภาษณ์แกไปหยกๆ ก็บอกว่ายังผลิตงานอยู่ สำนักพิมพ์ไหน สายส่งใดเอาไปดองไว้ กรุณารีบปล่อยของออกมาด่วน คุณพิสิฐเป็นอีกหนึ่งนักเขียนคุณภาพ ที่ไม่สมควรเลย หากจะหายสูญไปกับกาลเวลา และกระแสแฟชั่นของแวดวงวรรณกรรม ยิ่งถ้ามองว่าปัจจุบันวรรณกรรมเสียดสีเริ่มจะมาแล้ว (เราอยากเรียกมันว่า "เพื่อชีวิตนิวเวฟ" ด้วยซ้ำ) งานของคุณพิสิฐน่าจะถูกกล่าวถึง และนำมาศึกษา ตีความโดยนักเขียนรุ่นใหม่ที่อยากเอาดีทางนี้
คุณพิสิฐมีชื่ออย่างมาก เมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว ยุคที่คนเริ่มหันมาอ่านวรรณกรรมกันเพราะ "อ่านกันไม่รู้เรื่อง" ซึ่งน่าเสียดายถ้าจะจัดผลงานของแกอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับวรรณกรรมร่วมสมัย(นั้น) ถึงจะมีกลิ่นหลังสมัยใหม่โชยหอมโชยหึ่ง แต่เราว่ารวมเรื่องสั้นอย่าง นครคลื่นเหียน ใกล้เคียงกับรรณกรรมเสียดสีมากกว่า
โดยผิวเผินเหมือนจะเขียนกันง่ายๆ และนักเขียนในปัจจุบันหลายคนก็พยายามลอกเลียนน้ำเสียง และวิธีการแบบพิสิฐ ภูศรี แต่ไม่เห็นมีใครมือถึงสักราย ให้เราวิเคราะห์ อ่านแต่ละเรื่องแล้วรู้สึกว่าคุณพิสิฐ "ฉลาด" เข้าใจสังคมอย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้หากอยากเขียนเรื่องแนวเสียดสี ประเด็นสิทธิสตรี โลกไซเบอร์ ละครน้ำเน่า ความจริงเสมือน ถูกนำเสนออย่างมีชั้นเชิง ไม่ตื้นเขินเกินไป เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน และที่สำคัญคือพลังงาน แม้โดยส่วนตัวจะรู้สึกว่า หมู่บ้านหัวขาด หรือ ชีวิตหลังความตาย เต็มไปด้วยข้อเสียตรงนั้นตรงนี้ แต่ด้วยพลังงานของตัวอักษรหนุนให้เราอ่านได้ตลอดแต่ต้นจนจบอย่างเพลิดเพลิน
หมายเหตุ: ถ้าคุณพิสิฐได้มาอ่านโพสต์นี้ หนังสือ นครคลื่นเหียน ฉบับที่ผมมีมันพิมพ์หน้าซ้ำครับ ทำให้ตอนจบของ ผู้อภิวัฒน์ และทั้งเรื่องของ ชั่วโมงฝัน กับ www.toilet.com หายไปเลย ถ้าถูกอกถูกใจคำอวยนี้ ติดต่อส่งมาให้หน่อยก็ดีนะครับ ;P
เขาพระวิหาร: ระเบิดเวลาจากยุคอาณานิคม (หลายคนเขียน)
กราบเรียนท่านผู้ใหญ่ที่มีอายุอยู่ในช่วงปีพ.ศ. 2500-2505
ตั้งแต่เราจำความได้ พอถามแม่ถึงเขาพระวิหาร แม่พูดทำนองว่า "เขมรมันเอาของไทยไปน่ะ น่าเจ็บใจจริงๆ " ด้วยอาการหมั่นไส้เล็กๆ แต่ไม่ถึงกับตีโพยตีพาย
ครบขวบปีนี้เราอายุเกือบๆ สามสิบแล้ว เรียกได้ว่าตั้งแต่ลืมตามาดูโลก เขาพระวิหารก็กลายเป็นสมบัติของเขมร ตลอดช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ชีวิตสงบสุข เรียนใช้ได้ หน้าที่การงานพอไหว เป็นพลเมืองดีระดับหนึ่งของชาติ ไม่ก่อความวุ่นวาย หาความสุขตามมีตามเกิด ไม่ใช่คนชอบเที่ยว แต่ก็สนใจประวัติศาสตร์ โบราณคดี มีความใฝ่ฝันอยากไปเยือนสถานที่สำคัญในภาคอีสาน
เกริ่นมาหยาวเหยียด ขอพูดตรงๆ เลยว่าการไม่มีเขาพระวิหารในประเทศไทย ไม่หนักหัวเด็กรุ่นใหม่อย่างเราแม้แต่น้อย
สิ่งที่หนักหัวเด็กรุ่นใหม่อย่างเราคือสภาพกองทัพไทยเขมรเตรียมห่ำหั่นกั่น ความไร้เสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศ และคนพาลที่คอยราวีสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านชาวช่อง ไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยกับเขมร หรือพวกล่าอาณานิคม แต่อยากกราบเรียนถามท่านผู้ใหญ่ว่าศักดิ์ศรีของชาติ มันค้ำคอขนาดนั้นเลยหรือ ยกทหารไปชิงเขาพระวิหารเสร็จแล้ว ยกทัพไปถล่มร่างกุ้ง แก้แค้นให้บรรพบุรุษด้วยดีไหม ก่อนจะกลัวเสียอำนาจอธิปไตยให้ชาวต่างชาติ ลองมาพิจารณากันดีกว่าว่าอำนาจอธิปไตยในบ้านเมืองเรามันถูกสั่นคลอนเพราะคนพาลไปสักแค่ไหนแล้ว
ทำใจให้สงบแล้วมาปัดเส้นผมที่บังตากันอยู่ดีไหมครับ
หมายเหตุ: โพสต์นี้ไม่ค่อยเกี่ยวกันเท่าไหร่กับ เขาพระวิหาร: ระเบิดเวลาจากยุคอาณานิคม ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีมากๆ เราใช้เป็นพื้นความรู้ ในการโต้ตอบกับกระแสความคิดหนึ่ง ซึ่งกำลังสป๊าคอยู่ในขณะนี้
เราหลงลืมอะไรบางอย่าง (วัชระ สัจจะสารสิน)
ถ้าไม่ขี้เกียจเกินไป จะกลับไปแก้โพสต์ซีไรต์ 7 เล่มในดวงใจ เพราะ เราหลงลืมอะไรบางอย่าง สุดยอดมากๆ แม้จะเป็นหนังสือเล่มแรกของคุณวัชระ แต่ผู้เขียนได้ปล่อยของ แสดงพลังทั้งในด้านความคิด กระบวนการเล่าเรื่อง และการเล่นกับอารมณ์ผู้อ่านอย่างถึงใจวัยรุ่น
จะตลกไหมถ้าพูดว่าเสน่ห์ของรวมเรื่องสั้นชุดนี้คือ "ความประดักประเดิด" ของแต่ละเรื่อง ด้วยเหตุนี้เวลาอ่านแยกๆ กันตามนิตยสารเช่น ช่อการะเกด หรือ ราหูอมจันทร์ ถึงไม่ค่อยประทับใจนัก แต่พอจับมันมาอยู่ข้างกัน ได้เห็นว่าความประดักประเดิดนั้น แท้จริงมาจากเจตนาของผู้เขียน ถึงได้ยอมรับในฝีมือ ยกตัวอย่าง เพลงชาติไทย เรื่องนี้มีโครงสร้างสองส่วนแปลกๆ แน่แท้ว่าผู้เขียนจงใจให้ส่วนหลังเป็นส่วนหลักของเรื่อง แต่การนำเสนอมันในรูปแบบความฝัน/ความทรงจำ และนำไปสวมเข้ากับส่วนแรก ผลลัพธ์ที่ได้คืออารมณ์พิสดารไม่เหมือนเรื่องสั้นไทยส่วนใหญ่
โครงสร้างสองส่วนเช่นนี้ปรากฎใน เรื่องเล่าจากหนองเตย หาแว่นให้หน่อย และ ในวันที่วัวชนยังชนอยู่ ในฐานะที่เราเป็น minimalist ถ้าจะหยิบจับประเด็นเดียวกันไปเขียน คงตัดฉากนู้นฉากนี้ออก และสุดท้ายมันก็จะกลายเป็นเรื่องสั้นแหว่งๆ ธรรมดาๆ เรื่องหนึ่ง แต่การจับแพะและแกะมาชนกันของคุณวัชระ กลับก่อเกิดเรื่องสั้นอันมีโครงสร้างสง่างาม และหักหาญ อะไรที่อาจเป็นข้อด้อยกลับกลายเป็นจุดเด่น เช่น นักปฏิวัติ ซึ่งไม่ได้ประดักประเดิดด้วยโครงสร้าง แต่ด้วย plot hole (ให้ตายอย่างไรเราก็ไม่เชื่อหรอกว่าตัวเอกของเรื่องจะทนยืนรอเรือข้ามฟากเป็นบื้อเป็นใบ้อยู่ตั้งสามชั่วโมง โดยไม่พยายามแก้ไขปัญหาด้วยวิธีอื่น) พออ่านเดี่ยวๆ ทีแรก เรากลับไม่ค่อยชอบ แต่พออ่านเรื่องหลังๆ ที่ตามมา เรากลับให้อภัย และเห็นว่ามันก็เป็นเรื่องสั้นที่น่าขบคิดดี
เรื่องที่ชอบที่สุดในเล่มคือ บาดทะยัก เรื่องสั้นอีโรติก นำเสนอการขับแข่งอำนางทางเพศระหว่างคู่ผัวตัวเมีย ชวนให้นึกถึงเรื่องสั้นของ Raymond Carver ไม่แน่ใจว่าคุณวัชระคุ้นเคยกับนักเขียนชาวอเมริกันผู้นี้หรือเปล่า แต่เหมือนได้กลิ่นงานของเขาหอมหวนลอยออกมา วันหนึ่งของชีวิต เล่นกับความตาย และใช้สานส์ระหว่างบรรทัด (สิ่งซึ่งไม่ได้อ้างเอ่ยออกมา) แทงอารมณ์ผู้อ่าน อันเป็นเทคนิคที่คาร์เวอร์ชอบใช้
เราหลงลืมอะไรบางอย่าง เป็นรวมเรื่องสั้นเท่ห์ๆ อีกเล่มที่ไม่ได้ใช้ชื่อเรื่องสั้นมาเป็นชื่อปก ประโยคว่า "เราหลงลืมอะไรบางอย่าง" อธิบายธีมหนังสือรวมๆ ได้ดี แม้เราจะรู้สึกว่ารูปประโยคไม่ได้สวยงาม ขนาดน่าใช้เป็นชื่อหนังสือก็ตาม หลายเรื่องพูดถึงการเมือง และการเปลี่ยนแปลงของสังคม เมื่อความทันสมัยค่อยๆ เข้ามา นำพาความสะดวกสบายสู่วิถีชนบท แต่ก็ทำให้หลายสิ่งสาบสูญไป ชอบที่คุณวัชระไม่ได้มองความเปลี่ยนแปลงในแง่ลบตามขนบวรรณกรรมเพื่อชีวิต แต่เห็นสองด้านในทุกๆ สิ่ง สมดังที่ "ผม" ใน วาวแสงแห่งศรัทธา สอนนักเรียน
พออ่านประวัติผู้เขียน ว่าจบรัฐศาสตร์มาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ทีแรกคิดว่า สงสัยตรูคงจะได้อ่านงานยกย่องชาวตุลาอย่างไม่ลืมหูลืมตา เหมือนที่หลายคนชอบเขียนกัน แต่เปล่าเลย! เซอร์ไพรซ์มากๆ กับ ฟ้าเดียวกัน นำเสนอภาพด้านลบของวีรบุรุษอย่างไม่เคยเห็นเรื่องสั้นไทยเรื่องไหนกล้าทำมาก่อน หรือ นักปฏิวัติ ซึ่งมีท่วงทำนองยกย่องมหกรรมการเมืองมวลชนสุด ยังถูกนำเสนอผ่านอารมณ์ขัน และการมองสองด้าน อันเป็นคุณสมบัติที่ขาดหาย และจำเป็นอย่างมาก สำหรับนักเขียน นักวิจารณ์การเมืองในบ้านเรา
ขอยกย่องให้นามปากกา วัชระ สัจจะสารสินเป็นอีกหนึ่งอนาคตของแวดวงวรรณกรรมไทย!
E. Waugh's "Brideshead Revisited"
Brideshead Revisited เป็นนิยายแนวการล่มสลายของสถานบันครอบครัว (ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความรัก หรือการเยียวยา) จำได้ว่าครั้งสุดท้ายที่อ่านนิยายแนวนี้คือ Buddenbrooks ของโธมัน มานน์ พูดถึง Buddenbrooks หน่อยก็แล้วกัน ถึงแม้ว่าฉากในนิยายเล่มนั้นจะเป็นบาวาเรีย (เยอรมัน) ช่วงศตวรรษที่ 19 แต่มานน์ซึ่งเป็นนักเขียนแห่งศตวรรษที่ 20 ก็วางโครงเรื่องโดยใช้หลายเหตุการณ์ในยุคของเขา (เช่นแทนที่จะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ใช้สงครามบิสมาร์กแทน) เอฟวิน วอจ์ห ผู้แต่ง Bridehead Revisited เป็นชาวยุโรปยุคใกล้เคียงกับมานน์ และการล่มสลายของครอบครัวไบรด์เฮด ถูกนำเสนอโดยมีฉากหลังคือการขึ้นเถลิงอำนาจของนาซี
ความแตกต่างอีกประการคือ ขณะที่น้ำเสียงของมานน์ค่อนข้างชัดเจนว่าสิ่งซึ่งเกิดกับครอบครัวบันเดนบรูคเป็นโศกนาฏกรรมของโลกยุคใหม่ วอจ์หเหมือนจะยังลั้งเล ตัวละครตัวหนึ่งพูดวิจารณ์ภาพวาดของชาร์ลส์ ไรเดอร์ว่า “รูปของเธอมี “เสน่ห์” (charm) มากเกินไป…ฉันได้เตือนเธอตั้งแต่แรกแล้วใช่ไหมว่าให้หลีกเลี่ยง “เสน่ห์” โดยเฉพาะ “เสน่ห์” ของครอบครัวไบรด์เฮด” วอจ์หมอง “เสน่ห์” อันเป็นเอกลักษณ์ของโลกเก่าด้วยสายตากึ่งๆ หวาดระแวง เราเลยพูดได้ไม่เต็มปากว่าเขาเห็น Brideshead Revisited เป็นโศกนากฏกรรมเช่นเดียวกับที่มานน์รู้สึกว่านิยายของเขาเป็น Brideshead Revisited จึงถูกเล่าในรูปแบบของการคะนึงหาอดีต ซึ่งอัดอวลไว้ทั้งความเสียดายในสิ่งที่พ้นผ่าน แต่ก็เข้าใจว่าบางครั้งที่มันจบลงไปต้องถือว่าดีที่สุดแล้ว
ครอบครัวไบรด์เฮดมีทายาทสี่คน คนโตสุด ไบรด์เฮด เป็นกึ่งๆ พระ กึ่งๆ ทหาร เป็นบุรุษลึกลับที่ไม่ค่อยมีใครเข้าใจว่าเขาคิด หรือทำอะไรอยู่ จูเลีย น้องสาวคนรอง ตอนต้นเรื่องหมั้นหมายกับเรก นักการเมืองหนุ่มจากแคนาดา ผู้ซึ่งในตอนหลัง เธอค้นพบว่าเขาไม่ใช่คนจริงๆ แต่เป็น “ถุงมีชีวิต” เซบาสเตียน น้องชายขี้เหล้า ผู้มีเพื่อนรักเป็นตุ๊กตาหมีชื่ออะโลเชียส และ แคโรไลน์ น้องสาวคนเล็ก พ่อ และแม่ของทั้งสี่หย่ากัน โดยพ่อหนีไปอยู่กับภรรยาน้อยในเวนิส ครอบครัวไบรด์เฮดเป็นแคทอลิก ซึ่งสำหรับในประเทศโปรแทสแตนอย่างอังกฤษ ถือเป็นของแปลก ประเด็นศาสนามีบทบาทอย่างมากในนิยาย เสียดายที่ความเข้าใจความแตกต่างระหว่างลัทธิในศาสนาคริสต์ของเราไม่แตกฉานพอจะรับมันเข้าไปได้ทั้งหมด (แต่ฉากที่เรกพยายามเปลี่ยนตัวเองจากโปรแตสแตนมาเป็นแคทอลิก ก็ฮาอยู่ไม่น้อย)
ตัวเอก และผู้เล่าเรื่องคือชาร์ลส์ ไรเดอร์ เป็นเพื่อนนักเรียนของเซบาสเตียน ภายหลังลาออกจากโรงเรียน และผันตัวเองมาเป็นจิตรกรวาดภาพสถาปัตยกรรม และทหาร สมัยเด็กๆ ชาร์ลส์ผูกพันกับเซบาสเตียน จนหลายครั้งเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองไปไกลกว่าคำว่าเพื่อน แม้วอจ์หจะไม่ได้พูดตรงๆ แต่คนอ่านเข้าใจได้ว่าสุดท้ายเซบาสเตียนก็กลายเป็นรักร่วมเพศเต็มตัว หลังก่อวีรกรรมอันเนื่องมาจากความขี้เหล้าเมามาย ส่วนชาร์ลส์ พอแต่งงาน ก็เริ่มหันเหความสนใจไปหาจูเลีย ผู้ซึ่งเขามองเห็นความเป็นเซบาสเตียนในตัวหล่อน ก่อนที่เซบาสเตียนเองจะกลับมาอีกครั้งเพื่อปิดเรื่องราวทั้งหมด
Bridehead Revisited มีชื่อเสียงมากในแง่การระบายภาพความ “น่าหมั่นไส้” ของเหล่าผู้ลากมากดีชาวอังกฤษต้นศตวรรษที่ 20 พวกเขาส่งลูกไปเรียนที่ออกฟอร์ด ใช้ชีวิตอยู่บนระบบสินเชื่อ และสร้างหนี้สินมากมายซึ่งนำพาไปสู่ความล่มจม โดยส่วนตัวไม่รู้สึกว่าชีวิตของชาร์ลส์ หรือเซบาสเตียนน่าหมั่นไส้อะไรนัก แต่ขณะเดียวกันช่วงต้นนิยายสมัยที่ทั้งคู่เรียนหนัง ก็เป็นช่วงที่น่าสนใจน้อยสุดสำหรับเรา โดยรวมนิยายของวอจ์หเล่มแรกที่เราอ่านนี้ไม่ถึงกับโดนนัก มันมีกลิ่นความเป็นศตวรรษที่ 19 มากไปหน่อยสำหรับรสนิยมเรา ถือว่าเพลินๆ เปลี่ยนบรรยากาศในระดับหนึ่งแล้วกัน
I. Calvino's "Numbers in the Dark"
ถ้าคะเนไม่ผิด รองจากเมอดอช ก็คงเป็นคาลวิโนนี่แหละ ที่รักชวนหัวเขียนถึงบ่อยสุด อะไรที่เคยชม ก็ได้ชมไปหมดไส้หมดพุงแล้ว กระทั่งติ ก็ยังเคย ไม่รู้เหมือนกันจะพูดอะไรดีเกี่ยวกับรวมเรื่องสั้น Numbers in the Dark คร่าวๆ คือนี่เป็นผลงานจับฉ่าย ต่างกาลต่างสมัย เผลอๆ รวบรวมหลังผู้เขียนเสียชีวิตแล้วด้วยซ้ำ มันมีกระทั่งเรื่องที่น่าจะอยู่ในภาคสามของ Cosmicomic โดยรวมต้องถือว่ามีเรื่องสั้นเจ๋งๆ อยู่เพียบ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสั้นมากๆ ชนิด หน้าสองหน้าจบ ทั้งเล่มเลยบรรจุไป 37 ชิ้น
จำได้ว่าประมาณสามปีที่แล้ว สมัยที่ เจ้าหงิญ ได้รางวัลซีไรต์ ปีนั้นต้องถือเป็นยุคทองของเรื่องสั้นแนวนิทาน เพราะนอกจาก เจ้าหงิญ อีกสองสามเล่มที่เข้าชิงปีเดียวกัน ก็มีลักษณะที่ว่า สารภาพว่าแทบไม่ได้อ่านรวมเรื่องสั้นจากปีนั้น ก็เลยบอกไม่ได้ว่าเรื่องสั้นแนวนิทานของคนไทยเป็นอย่างไร แต่กับคาลวิโนนี่ของเขาดีจริงๆ ถึงกับมีคนเรียกแกว่านอกจากจะเป็น novelist, short-storyist แล้วยังเป็น fabulist อีกด้วย จริงๆ เรื่องสั้นแนวนิทานก็น่าสนใจดี ยิ่งพอเห็นว่ามือชั้นครูสามารถเล่นอะไรกับมันได้บ้างแล้ว รู้สึกอยากสำรวจ ขยับขยายแนวทางนี้ คำถามหนึ่งซึ่งน่าขบคิดคือเรื่องสั้นนิทาน เหมือนหรือต่างอย่างไรกับแนวสัจนิยมมายา (ซึ่งฮิตมาก เมื่อสักสิบปีที่แล้ว แต่รักชวนหัวไม่ใช่แฟนเลย)
พล่ามมายาวเหยียด ยังไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับ Numbers in the Dark สักเท่าไหร่ เนื่องจากมันมีตั้ง 37 เรื่องเลยไม่รู้จะหยิบจับเรื่องไหนมาพูดดี หลายเรื่องสั้นในเล่มพูดถึงการเอาของ "แข็งกระด้าง" (ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสงคราม และการทหาร) มาวางคู่กันกับของ "อ่อนละมุน" ใน The Lost Regiment ทหารหนึ่งกองพลได้รับคำสั่งให้สวนสนามเข้าไปในเมืองเงียบๆ เล็กๆ แต่ด้วยความเงียบ และเล็กของเมืองนี้เอง ทำให้ทหารทั้งกองพลเกิดความรู้สึก "เกรงอกเกรงใจ" แทนที่จะตบเท้าอย่างเข้มแข็ง เลยเหมือนย่องๆ ผ่านไปบนท้องถนนมากกว่า A General in the Library พูดถึงทหารทำสงครามกับหนังสือในห้องสมุด
ถ้าไม่ใช่สงคราม "ของแข็งกระด้าง" ก็จะเป็นอุตสหกรรม อย่างเรื่องขึ้นปก ว่าด้วยลูกชายพนักงานทำความสะอาด เดินท่องๆ ไปในสำนักงานยามราตรี แล้วพบพานตัวเลขลึกลับ The Workshop Hen และ The Queen's Necklace เป็นสองเรื่องที่ใช้ตัวละครชุดเดียวกัน เหตุการณ์เกิดในโรงงาน The Queen's Necklace เป็นเรื่องที่ยาว และไม่ดีที่สุดในเล่ม(ฮา)
ประเด็นหนึ่งที่อยากพูดถึงมาก แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับรวมเรื่องสั้นชุดนี้โดยตรงก็ตามคือ "ภูมิศาสตร์ทางภูมิปัญญาของชาวตะวันตก" แม้ว่าคาลวิโนจะเป็นชาวอิตาลี แต่ก็มีหลายเรื่องสั้นของเขาที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ เลยกับความเป็นอิตาลี เช่น Becalmed in the Antilles พูดถึงสงครามเรือรบระหว่างอังกฤษ และสเปน Montezuma และ Henry Ford ว่าด้วยจักรพรรดิชาวอินคา และจักรพรรดิอุตสาหกรรมชาวอเมริกัน คาลวิโนสามารถเขียนเรื่องราวเหล่านี้ได้โดยไม่ถูกข้อหา "กระแดะ" หรือ "จงใจเล่นของนอก" เพราะการศึกษาของยุโรปเชื่อมโลกทั้งใบเข้าหากัน เฮนรี ฟอร์ดเป็นชาวอิตาลี พอๆ กับที่เขาเป็นชาวอเมริกัน
ลองคิดเล่นๆ ว่าคนไทยสามารถเขียนหนังสือเกี่ยวกับชาวญี่ปุ่น มลายู หรือจีน โดยไม่ถูกข้อหาดังกล่าวได้หรือไม่ หรือโดยผู้เขียนไม่พยายามใส่ความ "แปลกแยก" (exotic) เข้าไปในตัวละคร (คนไทยที่เขียนได้บรรจุดประสงค์นี้สุด ในสายตาเราคือคุณอนุสรณ์)
ก็เป็นประเด็นเล็กๆ ที่อยากฝากให้คิดกัน
...แด่นักศึกษาผู้กล้าหาญ
เออม...สำหรับคนที่ติดตามรักชวนหัวมานาน คิดจริงๆ หรือครับว่าโพสต์นี้จะเกี่ยวข้องกับชาวตุลา
ถ้าหลงผิดคิดอย่างนั้นจริง ก็คิดใหม่ได้เลย นักศึกษาผู้กล้าหาญในที่นี่ หมายถึงนักศึกษาในยุคปัจจุบันนี่แหละ นักศึกษาที่กำลังเรียนศิลปะทุกท่าน
รักชวนหัวเป็นคนที่ดำเนินชีวิตตามครรลองของการศึกษามาตั้งแต่เยาว์ ด้วยเหตุนี้เวลาเจอใครประกาศความเท่ห์ของตัวเอง ด้วยคำพูดประมาณ "...และแล้วผมก็ตัดสินใจแหกห้องคุมขังทางความคิดที่ชื่อว่ามหาวิทยาลัย" เราจะดูถูกคนเหล่านั้นในใจว่าเป็นพวกองุ่นเปรี้ยว เราเองก็อยู่ใน "ห้องคุมขัง" ที่ว่ามานาน ไม่เห็นรู้สึกเลยว่าไอ้พวกที่อยู่ข้างนอกมันพูดจาฉลาดฉะฉานสักแค่ไหน ถ้าพวกคุณไม่่รู้จักใช้ "โรงเรียน" ให้เป็นประโยชน์ แล้วโบ้ยเรียกสถานที่ดังกล่าวว่า "ห้องคุมขัง" แท้ที่จริง สิ่งที่คุมขังพวกคุณอยู่คือความคับแคบในกบาลตัวเองต่างหาก
กระนั้นก็ตาม ช่วงอาทิตย์ สองอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ซึ่งสั่นคลอนความเชื่อตรงนี้อย่างรุนแรง ประการแรกคือได้ "ข่าว" (แต่ยังไม่ได้ดู) คลิปวีดีโอการเรียนการสอนวิชาภาพยนตร์ในมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งของประเทศไทย จากที่ผู้กำกับเล่ามา อาจารย์วิชาภาพยนตร์เหล่านี้ "โง่ และหยาบคาย" ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยเมืองนอก "โดนเด็กเสนอชื่อไล่ออกไปนานแล้ว" ประกอบกับได้คุยกับรุ่นน้องที่จบมาจากมหาวิทยาลัยดังกล่าว ก็เห็นจริงตามที่ผู้กำกับพูด
ถัดจากนั้นไม่กี่วัน คุยกับเด็กอีกคนที่ศึกษาวิชาการละครในมหาวิทยาลัยชื่อดังอีกแห่ง เมื่อเธอเลือกบทละครไปนำเสนออาจารย์ ว่าอยากใช้เป็นงานทีซิส เมื่ออาจารย์อ่านจบ บอกเธอว่า "ไม่เข้าใจ" และต่อต้านทางเลือกของเธออย่างรุนแรง แต่น้องผู้กล้าหาญก็ยังยืนยันที่จะใช้บทละครเรื่องที่ว่า บทละครดังกล่าวเป็นบทละครที่คนไทยเขียน ซึ่งโดยส่วนตัวเธอ ไม่เห็นว่ามีตรงไหนให้ "ไม่เข้าใจ" เลย
พอพูดว่าเราอยู่ในครรลองของการศึกษา แต่จริงๆ ก็เป็นการศึกษาเมืองนอก ไม่เคยรู้ว่าที่เมืองไทยเป็นอย่างไร แน่นอนว่าอาจารย์ดีๆ ก็มีอยู่ อาจารย์คณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยชื่อดังอีกแห่งหนึ่ง ช่วยส่งเสริม ให้เด็กในชมรมตัวเองได้มีโอกาสร่วมงานกับคณะละครดีๆ เลยไม่อยากติอย่างเหมารวม แต่อยากให้กำลังใจมากกว่า...โพสต์นี้สำหรับนักเรียนวิชาศิลปะผู้กล้าหาญทุกท่านในประเทศไทย ขอให้พวกคุณสู้ต่อไป ขอสัญญา ถ้ามีโอกาส แม้เพียงสักเล็กน้อย เราจะกลับไปช่วยพัฒนาให้วงการการศึกษาบ้านเรามันดีขึ้น
W. Faulkner's "As I lay Dying"
ฉากเด็ดของ As I Lay Dying อยู่ช่วงกลางๆ เรื่อง เมื่อครอบครัวบรันเดนพยายามข้ามสะพานไม้เก่าโยกเยก หลังคืนที่พายุฝนกระหน้ำ น้ำท่วมสูง ฟอล์คเนอร์บรรยายฉากนี้ได้ดี และน่าตื่นเต้นมากๆ จนอยากเห็นภาพเป็นหนัง นิยายเล่มนี้ยังมีฉาก "แอคชัน" ช่วงท้ายๆ เล่ม ที่จริงถ้าเปลี่ยนให้หลุย ลามัวมาเขียน คงได้นิยายตะลุยตะวันตก อ่านเพลินเล่มหนึ่งเลยล่ะ
นอกจากหลุย ลามัว อีกคนที่เรานึกถึงคือสไตนแบค As I Lay Dying คล้ายคลึง The Grape of Wrath อยู่หลายส่วน เพราะต่างเป็นการเดินทางยกครอบครัว แม้ไม่ถึงขนาดอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน แต่ก็เห็นภาพความกันดาร อิโหลกโขลกเขลกของครอบครัวบรันเดน ในการนำศพของแอดดี แม่ และภรรยา ไปฝังที่บ้านเกิดของหล่อน แน่นอนว่าสมาชิกครอบครัวบรันเดนไม่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เหมือนกับครอบครัวโจด เมื่อพวกเขามาจากปลายปากกาของฟอล์คเนอร์ ก็มั่นใจได้เลยว่า จะอภิมหา dyfunctional ขนาดไหน
ตั้งแต่แอนซ์ สามีของแอดดี นิยามง่ายๆ ของคนคนนี้คือ "เห็นแก่ตัว" และ "ไม่ค่อยฉลาด" ลูกๆ ห้าคนได้แก่ แคช ช่างไม้ขาพิการ ดาร์ล ตัวละครซึ่งเป็นจุดผกผักของเรื่อง จิว ผู้หลงใหลม้า ดิวอี้เดล ผู้แบกมีทารกอยู่ในครรภ์ และพยายามทำแท้งด้วยเงินสิบเหรียญ และ วาร์ดาแมน ลูกชายคนเล็ก เชื่อว่าแม่ของเขาที่เสียชีวิตไปเป็นปลา กระทั่งแอดดีที่ตายไปแล้ว ยังมีโอกาสฟื้นขึ้นมาเล่าภูมิหลัง และอดีตอัปยศของตน
As I Lay Dying มีกลวิธีการเล่าเรื่องเหนือชั้น โดยให้ตัวละครทั้งเจ็ด รวมไปถึงเหล่าตัวประกอบผลัดกันมาเล่าเรื่อง เป็นบทสั้นๆ ยาวไม่เกินห้า หกหน้า การเล่าเรื่องแบบนี้ เปิดโอกาสให้ฟอล์คเนอร์เล่นกับน้ำเสียงแบบต่างๆ ยอมรับว่านี่เป็นหนังสือที่อ่านยากมาก ตั้งแต่ภาษาอังกฤษแตกๆ ของตัวละครที่ไม่มีการศึกษา (ดิวอี้เดล เวลาพูดจะไม่มีจุดฟูลสตอป) ความเป็นกวีซึ่งสอดแทรกเข้ามาเป็นระยะ ให้คนอ่านงงเล่นว่า เฮ้ย! นี่มันเกิดอะไรขึ้นวะ ประโยคนี้เกี่ยวอะไรด้วย เนื้อเรื่องกระโดดไปมา พอเริ่มบทใหม่ ต้องตั้งสติเล็กน้อย ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น และมุมมองที่ไม่ชัดเจน เช่นว่า อยู่ดีๆ ในบทที่เดลเป็น "ผู้เล่า" เรากลับได้อ่านเรื่องผ่านสายตาของแอนซ์ จูล หรือตัวละครอื่นๆ เสียมากกว่า ถึงจะอ่านยาก แต่ก็ถือว่าคุ้ม ยิ่งตอนท้ายเล่ม มีเซอไพรซ์เล็กๆ ทำให้เราอยากกลับไปอ่านซ้ำอีกรอบ
เทียบกับ The Sound and the Fury ชอบเล่มนั้นมากกว่า แต่ As I Lay Dying มีความจัดจ้านมากกว่าในแง่การทดลอง ถ้าจำไม่ผิด The Sound and the Fury จะค่อนข้าง "จบ" ขณะที่ As I Lay Dying เหมือนกับเสี้ยวหนึ่งของชีวิตตัวละคร สุดท้ายเราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรกับทารกของดิวอี้เดล ใครกันแน่ที่เป็นพ่อเด็ก (ฟอล์คเนอร์เหมือนจะเฉลยตรงนี้กลายๆ ) ขาของแคชจะกลับมาหายดีได้หรือเปล่า บาปในอดีตของแอดดี จะได้รับการเปิดเผยไหม และใครคือ "นางบรันเดล" ที่ปรากฎในตอนท้าย
7 เล่มซีไรต์ 2551 ในใจเรา
ประกาศออกมาแล้วกับ 9 เล่มซีไรต์ ปีนี้ต้องถือว่าพลิกโผมากๆ เพราะที่เดาๆ ไว้ ซื้อมาอ่านล่วงหน้า ผิดหมดเลย จาก 9 เล่ม มีตั้ง 4 แน่ะ ที่เราไม่เคยอ่านมาก่อน ก็ต้องนับถือในความใจกว้างของกรรมการชุดนี้ครับ ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ และไม่ได้ยึดติดกับชื่อเสียงนักเขียน ที่เลือกซีไรต์ในใจเรา ไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับ 9 เล่มนี้นะ แต่ขออนุญาตพูดถึงซีไรต์ 7 เล่มในดวงใจเราสำหรับปี 2551 แล้วกัน
1. เคหวัตถุ (อนุสรณ์ ติปยานนท์)
ขอพูดถึงเล่มที่ความคิดเห็นตรงกับกรรมการก่อนก็แล้วกัน เป็นแฟนพี่ต้นมาตั้งแต่ H2O แล้ว จนถึง ลอนดอน กับความรักในรอบจูบ สมควรอย่างยิ่งที่พี่จะได้ก้าวขึ้นเป็นนักเขียนซีรอง (หรือซีไรต์) กับเขาเสียที โดยส่วนตัวถ้าเทียบกับผลงานชิ้นก่อนๆ รู้สึกว่า เคหวัตถุ ออกอาการเผาเล็กน้อย หลายเรื่องเหมือนจงใจใส่เข้ามาให้เต็มเล่ม แต่พี่ต้นฝีมือเที่ยงขนาดว่างานเผาๆ ยังออกมาหอมกรุ่นชวนชิม สมเป็นนักเขียนยอดกุ๊กจริงๆ
2. เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า (จำลอง ฝั่งชลจิตร)
คงไม่ใช่การประกวดวรรณกรรมไทย ถ้าไม่มีหนังสือเพื่อชีวิตสักเล่ม ผลงานของคุณจำลองช่วยฝ่าทางตันให้กับแวดวงเพื่อชีวิต ที่นับวันจะยิ่งตกสมัยไปทุกที ชอบชื่อเล่มนี้มาก และคิดว่ามันใช้อธิบายผลงานได้ดี นี่คือรวมเรื่องสั้นที่ผู้เขียนตอกย้ำกับคนอ่านตลอดเวลาว่า "เฮ้ย นี่เรื่องจริงนะ ปัญหาเหล่านี้มันเกิดขึ้นในสังคมจริงๆ " คิดว่าวิธีนี้ใช้ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่สุดท้าย เรื่องที่เราชอบสุดในเล่มกลับคือ เป็นไข้ตัวร้อน ซึ่งในความไม่จริงของมัน สะท้อนปัญหาสังคม และความพยายามแก้ไขออกมาได้จริงกว่าเรื่องอื่นๆ
3. แสงแรกของจักรวาล (นิวัต พุทธประสาท)
ความน่าชื่นชมของคุณนิวัตอยู่ตรงการจับกระแสแห่งกาลสมัย อ่านเรื่องสั้นในเล่มนี้แล้วนึกถึงเมื่อสิบปีก่อน สมัยค่าเงินบาทตก คนไทยเพิ่งรู้จักมุราคามิ นิตยสาร aday ถือกำเนิด เรื่องเพศถูกเปิดเผยมากขึ้น นักดูหนังกระแสหลักได้รู้จักหวังเจียเว่ย ค่ายเบเกอรีกำลังโด่งดังสุดขีด หนุ่มสาวชนชั้นกลางหัดฟังเพลงนอก และอยากเป็นอาร์ติสกันหมดทั้วบ้านทั้วเมือง มีนักเขียนหลายคนไหลไปกับกระแสตรงนี้เช่นคุณทินกร คุณอุทิศ ซึ่งแต่ละคนก็โดดเด่นในหนทางของตัวเอง สำหรับคุณนิวัต เรายกย่องแกในรายละเอียด ว่าเข้าใจห้วงเวลาเหล่านี้อย่างถ่องแท้ และถ่ายทอดมันออกมาได้ทุกแง่มุม
4. ปรารถนาแห่งแสงจันทร์ (เงาจันทร์)
ถ้าพูดถึงทั้งเล่ม บอกตรงๆ ว่ายังไม่ค่อยโดนนัก เหมือนผู้เขียนจงใจใช้ความงดงามของภาษา และการพรรณนา ทดแทนด้านอื่น กระนั้นถ้าให้พูดถึง ดอกหางนกยูง ยอมรับว่านี่คือหนึ่งในเรื่องสั้นไทยที่ดีสุดที่เราเคยอ่าน อาจชอบมากกว่า บ้านเรานี้อยู่ซอยเดียวกัน ของคุณวาณิชด้วยซ้ำ (แปลกที่เรื่องนั้นก็ใช้โมทีฟดอกนางนกยูง บังเอิญหรือเปล่า) เป็นโลลิต้าฉบับไทย ที่อ่านจบแล้วอินไปกับตัวละคร รู้สึกเหมือนโดนใครฉีกอก แหวกดวงใจไปจริงๆ เรื่องผิดศีลธรรม แต่ก็เป็นการมองมนุษย์ด้วยสายตาอันอ่อนโยน แค่เรื่องนี้เรื่องเดียว ก็ยอมแล้วที่จะให้ทั้งเล่มติดซีไรต์ในใจเรา
5. ที่อื่น (กิตติพล สารัคคานนท์)
ชอบเล่มนี้มากๆ ถ้าได้เข้าชิงนะ จะถวายหัวเชียร์เลย เคยเขียนถึงไปแล้วในบลอค หาอ่านได้จากในสารบัญครับ คร่าวๆ คือเป็นรวมเรื่องสั้นไทยที่สัมผัสได้ถึงบรรยากาศของความตาย ประเด็นนี้ก็ไม่ค่อยถูกหยิบยกมาพูดถึงนัก เท่าที่ได้ยินพรายกระซิบมา แม้เล่มนี้จะไม่ได้ชิงจริงๆ แต่ก็เป็นที่สนอกสนใจของกรรมการพอสมควร อยากให้กำลังใจคุณกิตติพล เขียนหนังสือต่อไปด้วย
6. สัมพันธภาพ หรือ ทุกข์หฤหรรษ์ (เดือนวาด พิมวนา)
คุณเดือนวาดเป็นตัวอย่างนักเขียนที่ยิ่งเขียนหนังสือก็ยิ่งเก่ง มองกลับไปแล้วเสียดายมากๆ เธอไม่ควรได้ซีไรต์จาก ช่างสำราญ เลย เป็นผลงานที่เรารู้สึกแค่ว่าสอบผ่านเท่านั้น ไม่รู้ว่าที่กรรมการไม่ให้คุณเดือนวาดได้ชิง เพราะอยากเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ หรือเพราะเป็นปัญหาที่ตัวผลงานจริงๆ ซึ่งไม่ว่าด้วยเหตุผลไหนเราก็เข้าใจได้ ทั้ง สัมพันธภาพ และ ทุกข์หฤหรรษ์ มีเรื่องสั้นที่ดีมากๆ ปนอยู่กับเรื่องสั้นที่เราว่าไม่ไหว (ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานยุคแรก) เชื่อว่าคุณเดือนวาดยังมีผลงานมาสเตอร์พีชรออยู่ตรงหน้า
7. คนเล็ก หัวใจมหึมา มหาสมุทร (ประชาคม ลุนาชัย)
ถึงจะชิงมาแล้วหลายเล่ม ถึงคนอื่นจะว่าเชย หรือฝีมือเหมือนไม่พัฒนา ถึงจะเขียนแต่เรื่องแนวเดิม เราก็ยังชอบพี่ประชาคม และคิดว่าผลงานชิ้นนี้ไม่ได้ด้อยกว่าชินเก่าๆ มิหนำซ้ำ แกยังอุตส่าห์หาประเด็นใหม่ๆ มาเล่นได้อีก เคยเขียนถึงไปแล้วเช่นกัน เป็นอีกผลงานรวมเรื่องสั้นที่ชอบมากๆ ในรอบสามปีนี้
P. Coelho's "The Witch of Portobello"
หายไปนานเลย...ไม่ใช่ไม่ได้อ่านหนังสือนะครับ ยังอ่านอยู่ แต่ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ตั้งแต่ขี้เกียจ หรือหนังสือที่อ่านไม่เหมาะสมจะเอามาแปะในรักชวนหัว อย่างไรก็ตาม รักชวนหัวได้กลับมาแล้ว และคงเขียนถึงหนังสืออย่างต่อเนื่องต่อไป
The Witch of Portobello เป็นหนังสือที่มาถึงเราโดยบังเอิญ หากเป็นผู้กำกับก็คงพูดว่า "จักรวาลกำลังบอกอะไรบางอย่าง" จริงๆ ระหว่างที่อ่านหนังสือเล่มนี้ นึกถึงผู้กำกับตลอดเวลา พูดกันตามตรงคือเราแยกแยะไม่ออกเหมือนกันว่ารู้สึก หรือควรรู้สึกอย่างไรกับหนังสือเล่มนี้ เรารู้ว่าตัวเราที่เราเคยเป็นรู้สึกอย่างไร แต่ไม่แน่ใจว่าตัวเราคนใหม่ หรือตัวเราอย่างที่เราอยากเป็นควรรู้สึกอย่างไรกันแน่ (งงไหม)
โคเอลโลโด่งดังจาก The Alchemist ซึ่งมีชื่อภาษาไทยคืออะไรสักอย่างสุดขอบฟ้า (ฟังดูคล้ายอินเดียนา โจนส์) โคเอลโลนอกจากจะเป็นนักเขียนนิยาย ยังโด่งดังในฐานะ spiritualist นิยายของแกถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ fiction แล้วบางทียังเอาไปรวมกับหนังสือฮาวทูดังๆ อย่าง The Power of Now หรือ Peaceful Warrior The Witch of Portobello เล่าเรื่องของ "แม่มด" อาเธนา ชีวิตของเธอตั้งแต่วัยเด็ก เติบโต แต่งงาน หย่าร้าง และการเดินทางสู่โลกแห่งจิตวิญญาณ เนื่องจากมันเป็นฮาวทู ดังนั้นคนอ่านจึงได้เรียนรู้ไปพร้อมกับอาเธนา ทำไมอย่างไรเธอถึงสามารถสัมผัสแสงสว่างในตัวเอง อาเธนาไม่สามารถนั่งสมาธิได้ วิธีพัฒนาจิตของเธอผ่านการเต้นรำ และคัดอักษรอารบิก อาเธนาเป็นทั้งผู้หญิง มนุษย์ และครู แม้กระทั่งช่วงท้ายๆ เล่ม เธอยังมีความอยาก ความต้องการ และความอ่อนแอเฉกเช่นคนธรรมดา
โคเอลโลไม่ได้เล่าเรื่องเฉพาะตัวอาเธนา แต่ยังพูดถึงสถานการณ์โดยรวมของ spiritualist ในปัจจุบัน ทำไมความเชื่อของพวกเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา กลับถูกศาสนากระแสหลักกดขี่ ข่มเหงอยู่เสมอ แต่ในทางกลับกัน เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เส้นที่แบ่งระหว่าง spiritualist กับ ความงมงาย มันอยู่ตรงไหนกันแน่ ยิ่งตอนท้ายๆ เล่ม ลัทธิซึ่งอาเธนาก่อตั้งมาอย่างหลวมๆ เริ่มพัฒนาไปเป็นบางอย่าง ซึ่งเราไม่รู้เหมือนกันว่ามันดีหรือเปล่า
โคเอลโลใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านการสัมภาษณ์ตัวละครซึ่งผ่านเข้าออกชีวิตของตัวเอก ตั้งแต่แม่ สามีคนแรก ครู ลูกศิษย์ และคนรัก (แปลกที่ไม่มีตัวละครลูกเลย) ระหว่างนั้นก็แอบใส่ตัวตนของผู้สัมภาษณ์ตรงนั้นนิด ตรงนี้หน่อย ชอบวิธีการเล่าเรื่องของนิยายเล่มนี้ ยังไม่กล้าเฉลยอะไรมาก แต่พอถึงบทสุดท้าย อดคิดไม่ได้ว่า เออ เข้าใจทำเนอะ
อย่างที่บอกไปแล้ว ตอนนี้เราคนใหม่ คนที่เราอยากเป็น คงไม่สามารถตัดสินอะไรหนังสือเล่มนี้ได้ ไว้จะเอากลับไปให้ผู้กำกับอ่าน แล้วสักวันคงได้เขียนถึงผลงานชิ้นนี้ หรือชิ้นอื่นๆ ของโคเอลโลอีก
Subscribe to:
Posts (Atom)