G. Greene's "The Tenth Man"


The Tenth Man มีทั้งสิ่งที่เราคุ้นเคยในนิยายของเกรแฮม กรีน และสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน สิ่งที่เราคุ้นเคยได้แก่ธีมความกล้าหาญ ความรู้สึกผิด และการมีสงคราม หรืออาญชากรรมเป็นฉากหลัง ส่วนสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเช่นการเล่นกับประเด็นอัตลักษณ์ กรีนแสดงให้เห็นว่าบางครั้งสิ่งสำคัญสุดในชีวิตคนเรา นอกเหนือไปจากความกล้าหาญ และการใช้ชีวิตอย่างรู้ดีรู้ชั่ว คืออัตลักษณ์ เพื่อปกป้องสิ่งเหล่านี้ แม้แต่ชีวิตยังราคาถูกไปด้วยซ้ำ

ชาเวลเป็นชาวฝรั่งเศสในคุกเยอรมันช่วงสงครามโลก (ถ้าเข้าใจไม่ผิด กรีนไม่ได้เจาะจงว่าเป็นครั้งที่เท่าไหร่ เหมือนๆ จะเป็นหนึ่งมากกว่าสอง) ในปารีส ทหารเยอรมันถูกฆ่าตายโดยกลุ่มต่อต้าน เพื่อสนองนโยบายตาต่อตา ฟันต่อฟัน ฝ่ายเยอรมันตั้งใจเชือดตัวประกันสามคน หลังการจับฉลาก ชาเวลคือหนึ่งในสามคนที่ถูกเลือกมา แต่เขาตาขาวเกินกว่าจะเผชิญหน้ากับจุดจบ จึงขอซื้อชีวิตตัวเอง โดยให้นักโทษคนหนึ่งตายแทน เพื่อแลกกับบ้าน และทรัพย์สินทั้งหมดโดยทิ้งไว้ให้แม่ และน้องสาว หลังสงครามสิ้นสุด ชาเวลออกจากคุกในสภาพสิ้นไร้ไม้ตอก เขาเร่ร่อนไปในประเทศฝรั่งเศสซึ่งตกอยู่ในสภาพบ้านป่าเมืองเถื่อน หน่วยต่อต้านไล่ยิง ไล่ประหารชีวิตทุกคนซึ่งพวกเขาเชื่อว่าให้ความร่วมมือกับศัตรู เป็นดินแดนที่ผู้คนฆ่ากันตายเพื่อแย่งชิง "อัตลักษณ์" บัตรประชาชน หรือกระดาษสักแผ่นที่บ่งชี้ว่าตัวเองเป็นใคร

จนถึงช่วงนี้ ยังจัดได้ว่าเหมือนนิยายโดยปกติของกรีน แต่เมื่อชาเวล (ซึ่งเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นชาลอต) ตัดสินใจกลับไปเยี่ยมบ้านเกิด ซึ่งบัดนี้ถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของคนอื่น เขาได้พบน้องสาวของผู้ตาย ซึ่งรังเกียจ แค้นเคืองชาเวลอันเป็นเหตุให้พี่ชายของหล่อนต้องเสียชีวิต เขาโกหกหล่อนว่าตัวเองเป็นใคร และอยู่อาศัยในบ้านในฐานะคนรับใช้ให้เธอ และแม่ ชาเวลหลงรักเทเรส พยายามปิดบังตัวตนที่แท้จริง ก่อนที่เรื่องจะบานปลาย อยู่ดีๆ ใครคนหนึ่งมาเคาะประตูบ้าน โดยประกาศว่าเขาคือชอง หลุยส์ ชาเวล

ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม แต่ช่วงหลังของนิยายนึกถึงชาร์ลส์ ดิกเกนส์มากๆ (ทั้งที่เราเพิ่งอ่านไปแค่เล่มเดียวเอง) The Tenth Man ยาวแค่ 150 หน้า ห้วนไปนิด ถ้ากรีนจะยืดเรื่อง ดึงอารมณ์คนอ่านอีกหน่อย น่าจะดี มีประเด็นหลายน่าสนใจมากๆ นอกจากเรื่องอัตลักษณ์ และความกล้าหาญ The Tenth Man จับเอาของสองอย่างซึ่งโดยผิวเผินเหมือนจะตรงข้ามกัน มาเกี่ยวเนื่องเป็นชิ้นเดียวได้ เช่นความเกลียด ความหลง ความจริง ความลวง ในความเกลียด มีความหลงแฝงอยู่ และมีแต่คนที่ลวงโลกอย่างสุดโต่งเท่านั้น จึงจะเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์

ไม่อยากเปิดเผยมาก เดี๋ยวจะไปสปอยนิยายเปล่าๆ ขอพูดแค่ว่า จุดจบของตัวละครตัวหนึ่งคือ "การโกหกอันโรแมนติก" ซึ่งเป็นอาวุธสำคัญสุดของเขาเช่นกัน นี่คือประเด็นที่ชอบมาก ขอชักชวนให้คนมาอ่านก็แล้วกัน

I. Murdoch's "An Accidental Man"


กับนิยายเล่มล่าสุดของเมอดอช ความรู้สึกเราขึ้นๆ ลงๆ พอถึงช่วงร้อยหน้าสุดท้าย เราจัด An Accidental Man ว่าเป็นนิยายที่ล้มเหลว แต่พออ่านเสร็จสิ้นถึงปกหลังจริงๆ …เออ ไม่เลวเหมือนกันแฮะ ส่วนใหญ่เราไม่ติดใจกับตอนจบนิยายของเมอดอชเท่าไหร่ หลายเล่มก็อ่านข้ามๆ เสียด้วยซ้ำ เมอดอชมีนิสัยชอบใส่โคดายาวๆ จนแม้แต่ตัวเราเองยังรำคาญ An Accidental Man ช่วยให้เราตระหนักความผิดพลาดตรงนี้ และอดตำหนิตัวเองไม่ได้ว่า ที่อ่านข้ามๆ ไปหลายเล่มนั้น นี่เราพลาดอะไรไปมากน้อยแค่ไหนกัน

นักวิชาการส่วนใหญ่จัดหนังสือเล่มนี้ให้เป็นผลงานยุค “ส่งต่อ” ระหว่างเมอดอชยุคแรก และยุคหลัง บางคนถึงกับจัด An Accidental Man ให้เป็น “นิยายทดลอง” ก่อนผู้เขียนพัฒนาแนวทางของตัวเอง มีโมทีฟหลายอย่างใน An Accidental Man ซึ่งไปปรากฏอยู่ในนิยายยุคหลัง แต่ไม่พบเห็นอย่างจะแจ้งในยุคแรก เช่นตัวละครมหาศาล An Accidental Man สมควรได้รับเกียรติให้เป็นนิยายเมอดอชที่มีตัวละครเอกเยอะที่สุด นับคร่าวๆ ก็สิบเอ็ด สิบสามตัวเข้าไปแล้ว! ไม่นับพวกตัวละครรองๆ ซึ่งโผล่มามีบทบาทวับๆ แวมๆ ขนาดเราเคยชินกับนิยายของเธอ พอผ่านไปครึ่งเล่ม ยังงงๆ อยู่เลยว่าใครเป็นใคร นอกจากนี้ยังมีการโยนบทสนทนาต่อๆ กันโดยไม่เจาะจงให้ผู้อ่านรับรู้ว่าใครเป็นผู้พูด การเล่าเรื่องผ่านจดหมาย โทรเลข และอีกหลายประการซึ่งบ่งบอกอาการ “ทดลอง” ของผู้เขียน (แต่ท้ายสุดอย่างไรเมอดอชก็ยังเป็นเมอดอช ให้ “ทดลอง” ยังไง ผลงานของเธอก็ไม่อาจจัดว่าเป็น “อาวองการ์ด” ได้หรอก”)

ทั้งคำโปรย เนื้อเรื่องย่อบนปกหน้า ปกหลังให้ความสำคัญกับตัวละครลุดวิก หนุ่มอเมริกัน ผู้หนีทหารไม่ยอมเข้าร่วมรบในสงครามเวียดนาม แต่เอาเข้าจริงบทบาทเด่นน่าจะอยู่ที่แมททิว และออสเตอร์ สองพี่น้องคู่รัก คู่แค้น ผู้มีอดีตนองเลือดร่วมกัน และนำไปสู่อนาคตนองเลือด ชื่อนิยายหมายว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตล้วนมีต้นกำเนิดมาจากอุบัติเหตุ หน้าที่ของคนเราคือรับมือกับผลของมันอย่างเต็มความสามารถ (แต่อะไรเล่าคืออุบัติเหตุ การ์ธ ลูกชายของออสเตอร์ บอกว่าความเห็นแก่ตัว หรือความหวังดีผิดที่ผิดทาง เมื่อรวมกันจากหลายๆ ฝ่ายต่างหากจึงกลายเป็นอุบัติเหตุ)

ตัวละครที่ตรึงใจเราสุดคือแม่ลูกตระกูลทิสบอร์น เมอดอชแสดงให้เห็นดีกรีความเห็นแก่ตัวที่แตกต่างกันไป คลาร่าเห็นแก่ตัว เพราะชอบยุ่งเกี่ยว ช่วยเหลือผู้อื่น หล่อนเห็นความทุกข์ยากของคนรอบตัว เป็นเครื่องถีบดันชีวิตตัวเองให้มีความสุขมากขึ้น ส่วนเกรซี ลูกสาว รังเกียจการกระทำของแม่ หล่อนจึงเห็นแก่ตัวโดยการปิดหูปิดตา ไม่ยอมรับรู้ความทุกข์ยากของใครทั้งนั้น แมททิวก็เป็นตัวละครที่น่าติดตาม ขนาดคนที่คุ้นเคยกับโลกสีเทาของเมอดอช เรายังบอกไม่ได้เลยว่าเขามีดี หรือเลวมากกว่ากัน แมททิวมีอดีตลึกลับ ซึ่งเมื่อถึงตอนจบเมอดอชก็ไม่ได้เฉลยกับคนดู (นี่ก็อาการ "ทดลอง") จุดจบเศร้าๆ สุขๆ ดูเหมาะกับตัวละครครึ่งๆ กลางๆ ตัวนี้ดี

พูดถึงตอนจบหน่อยดีกว่า นิยายเล่มนี้มีลักษณะเหมือนผู้เขียนสนุกสนานกับการเอาชีวิตตัวละครมาโยงใย ผูกไขว้ผสาน นำไปสู่การที่ต่างฝ่ายต่างทรมาน และทำร้ายกันโดยทั้งรู้ และไม่รู้ตัว An Accidental Man ไม่ได้มีโครงสร้างชัดเจน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครดูมั่วๆ ซั่วๆ แต่พอถึงตอนจบเมื่อแต่ละด้ายเริ่มสะสางกันเอง จากชนวนคือโศกนาฏกรรม (การที่โศกนาฏกรรมนำไปสู่สุขนาฏกรรมเช่นนี้ ก็เป็นอีกโมทีฟ ที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในนิยายของเมอดอช ตัวละครบางตัวเคยพูดไว้อย่างแสนเศร้าว่า…โลกนี้มีคนดีๆ บางคนที่ถ้าตายไปแล้ว จะทำให้คนอื่นรอบข้างมีความสุขมากขึ้น) ในฐานะคนอ่านก็อดโล่งใจไปกับตัวละครไม่ได้ An Accidental Man เป็นนิยายจบดีแบบเศร้าๆ แบบที่ด้ายบางสาย แม้จะหลุดจากกันมาแล้ว ก็ยังมีขาดหวิ่น มีแหว่ง มีปมทิ้งไว้เป็นบาดแผล จบดี แบบที่พอจะเห็นได้ว่าทุกสิ่งที่เกิดในนิยายเล่มนี้เป็นแค่ “phase” เดียวของชีวิตตัวละคร

แล้วพรุ่งนี้ความสุข ความเศร้าใหม่ๆ จะมาเยือนพวกเขาต่อไป

ความหยาบ


เรามีศิลปินในดวงใจคนใหม่แล้วครับ Antonio Saura เห็นรูปของเขาในพิพิทธภัณฑ์ศิลปะที่ตูลูส รวมผลงานอีโรติก ชอบความอีโรติกของซาอูรา มัน "หยาบ" ถึงใจในสองความหมายเลย คือ "หยาบ" เชิงลายเส้น และ "หยาบ" เชิงรูปภาพ แหกข้างแหกขา ยัดนู่นยัดนี่กันกระจัดกระจาย จริงๆ อะไรที่อีโรติกไม่จำเป็นต้องหยาบเสมอไป บางครั้งปกปิดซ่อนเร้นก็แลดูยั่วยวนได้ กระนั้นรูปวาดของซาอูราดูแล้วไม่เกิดความยั่วยวน หรือสวยงามทางสรีระแม้แต่น้อย เป็นภาพอีโรติกที่ไม่กระตุ้นอารมณ์ แต่กระตุ้นสัญชาติญาณ เหมือนศิลปินกำลังบอกว่า ท้ายที่สุด ความหยาบนี่แหละแก่นแท้ของเซ็ก

มีศิลปินหลายคน (เป็นคนไทยเสียมากด้วย) ที่สับสนกับระหว่างความหยาบ และความท้าทาย ศิลปินไทย เวลาใช้เซ็กเป็นหัวข้องาน เหมือนจงใจสร้างผลงานให้เป็นที่กล่าวขวัญ ถกเถียง และด่าทอเพื่อสร้างกระแส หรือถ้าซื่อกว่านั้น ก็ต้องการท้าทายอำนาจ และขนบประเพณี งานของซาอูราไม่มีลักษณะเยี่ยงนั้น เป็นความหยาบที่หยาบเพื่อหยาบ ไม่ได้ตั้งใจเป็น statement แต่อย่างใด

ชอบ ประทับใจสุดแล้วในทริปนี้