E. Fromm's "The Art of Loving"


"หัวใจ" ของหนังสือกึ่งฮาวทู กึ่งปรัชญา กึ่งจิตวิทยาของอิริค ฟรอมม์เล่มนี้คือ ความรักเป็นศิลปะ เป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ และฝึกฝน ฟรอมม์อธิบาย เหตุใดคนถึงเข้าใจผิดว่าความรักเป็นอย่างอื่น เราหมกมุ่นกับการถูกรัก และใช้พลังงานไปกับการทำให้คนอื่นมารักเรา หรือเรารู้สึกว่าความรักเป็นเรื่องง่ายดาย ที่คิดจะตกหลุมเมื่อไหร่ ก็กระโดดลงไป ฟรอมม์ชี้ให้เห็นว่า "ความปรารถนาที่จะรัก" (will to love) นั่นยิ่งใหญ่กว่าความรักเสียอีก สมัยก่อน การแต่งงานก็เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองฝ่ายหญิงฝ่ายชายจัดแจงกันเองล่วงหน้า และคู่บ่าวสาวต่างพยายามจนรักกันสำเร็จ

หัวใจปรัชญาของฟรอมม์คือ มนุษย์ยุคใหม่แยกตัวเองออกจากธรรมชาติ และสังคม เจ็บปวดจากความรู้สึกโดดเดี่ยว และพยายามกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่า ใน Escape from Freedom ความรู้สึกนี้นำไปสู่การหลงเชื่อผู้นำ และนักปลุกระดมมวลชน ใน The Art of Loving นั่นคือที่มาของความรัก

ประเด็นที่ชอบคือเรื่องของการให้ การให้นั้นไม่เหมือนกับ "การเสียสละเพื่อทำร้ายตัวเอง" ฟรอมม์บอกว่าการให้นั้นประเสริฐกว่าการรับ และเป็นสุขแก่ตัวผู้ให้สมดังคำพูดเชยๆ เพราะเมื่อเราให้ เราตระหนักถึงศักยภาพ ความสามารถในการทำอะไรเพื่อคนอื่น เป็นวิธีมองการให้อย่าง "รักตัวเอง" "เห็นแก่ตัว" นั้นไม่เหมือน "รักตัวเอง" คนเห็นแก่ตัวส่วนใหญ่จะไม่รักตัวเอง และมักแสดงออกเหมือนกับคอยช่วยเหลือคนนู้น คนนี้

อีกประเด็นที่น่าขบคิดคือความแตกต่างระหว่างศาสนาตะวันตก และตะวันออก ศาสนาตะวันตกยืนพื้นอยู่บนหลัก logic ของอริสโตเติล ซึ่งสอนว่า ถ้า A คือ B แล้ว A ไม่สามารถเป็น -B ได้ ขณะที่ศาสนาตะวันออกสอนให้เราตระหนักถึงความขัดแย้ง ความแน่นอนก็อาจเป็นความไม่แน่นอน ผลคือศาสนาตะวันออกจะเปิดกว้างมากกว่า และไม่นำไปสู่ความสุดโต่งทางศาสนา พาราดอกซ์นี้จะอยู่เฉพาะในห้วงความคิดเท่านั้น พุทธศาสนาถึงได้ย้ำบ่อยๆ ว่าแค่คิดอย่างเดียวไม่พอ (เพราะจะติดอยู่ในเขาวงกต) แต่ต้องปฏิบัติด้วย

เราชอบความคิดของฟรอมม์ แต่ไม่ค่อยชอบภาษา และวิธีนำเสนอ อ่านแล้วเหมือนไม่ค่อยถูกกระตุ้นสมองยังไงชอบกล แต่ก็ยังอยากติดตามต่อไป ยังไม่รู้เหมือนกันว่าเล่มหน้าจะเป็นเล่มใด

รู้มั๊ย ทำไมนากิสถึงทำอะไรเราไม่ได้


ไม่ได้เขียนบลอคล่อเป้ามานานแล้ว ขอหน่อยเหอะ ได้ฟอร์เวิร์ดอีเมลนี้มา

เมื่อวันศุกร์ผมได้มีโอกาศได้เข้าค่ายที่ศูนย์ฝึกทหารของค่ายนเรศวร วันแรกที่เข้าไปก่ะบรรยากาศครึ้มๆ ผมก็ว่าเอ... แปลกๆนะ ทำไมอากาศอบอ้าวเหมือนจะมีฝนแต่ก็คิดว่าคงเป็นไปตามสภาพอากาศ พอไปถึงก็ทำกิจกรรมจนได้เข้าหอประชุมตอนดึกใกล้เวลานอนมากแล้ว อาจารย์เอกราช ท่านได้มาพูดถึงเรื่องของฝนที่ตกนี้ว่า 'ก่อนหน้านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านทรงให้คณะทำงานเกี่ยวกับฝนเทียม รีบทำฝนเทียมเพื่อเป็นแนว กันลมพายุดีเปรสชั่นซึ่งตอนนั้นยังไม่เกิดขึ้น แต่พระองค์ทรงเหมือนกับเทวดาองค์นึงที่ทราบเรื่องนี้ก่อน ถามว่าตอนนั้นกรมอุตุรู้เรื่องนี้ไม๊ ... ไม่มีใครทราบว่าจะเกิดพายุที่ประเทศเมียนม่า(พม่า)ด้วยซ้ำ

พอคณะทำงานด้านฝนเทียมทำงานเสร็จ ด้วยความสำเร็จ... ผลงานที่พระองค์ได้ทำ ก็ก่อให้เกิดผล เกิดพายุอย่างที่พระองค์ตรัสไว้ที่พม่า และพายุนี้ก็ได้สร้างความเสียหาย และสร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศเมียนมาร์(พม่า) จนทำให้เกิดความสูญเสียอันมหาศาลกับประเทศอันเคยเป็นอริกับเรา ... แต่สำหรับประเทศไทย แนวกำแพงฝนเทียมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงสร้างไว้ก็ทำให้เกิดฝนตกเพียงเล็กน้อย ถ้าเทียบกับพายุที่จริงๆแล้วสามารถสร้างความเดือดร้อนกับประเทศได้มาก
ออกตัวก่อนเลยว่าพอมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง แม้ไม่ได้ศึกษาพายุมาโดยตรง แต่จากที่ร่ำเรียน ความรู้สึกแรกทันทีที่อ่านถึงตรงนี้คือ "หา!!?" ลองค้นคว้าข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ได้รู้อะไรน่าสนใจ สรุปสั้นๆ เมื่อประมาณสามสิบปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองศึกษาผลกระทบซึ่งฝนเทียมมีต่อพายุ โดยผลสรุปในขณะนั้นคือ ศูนย์ หรือน้อยมาก เว้นแต่กรณีที่พายุนั้นทำท่าจะอ่อนตัวลงอยู่แล้ว จากจุดนั้นยังไม่มีการศึกษาเพิ่มเติม

ในแง่ทฤษฎีเรายังอดสงสัยไม่ได้ว่าไอ้ "กำแพงฝนเทียม" นี่คืออันหยัง หลักการฝนเทียมคือใช้สารเคมีตกตะกอนก้อนเมฆ เป็นการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติระดับไมโคร ขณะพายุเป็นปรากฎการณ์ระดับซินนอฟติก ซึ่งมีขนาดใหญ่โตเป็นสิบ เป็นร้อยกิโลเมตร ถ้าจะมีอันใดมาหยุดยั้งมันได้จริง เห็นจะเป็นร่องความกดอากาศต่ำ หรือลมสินค้าซึ่งเป็นปรากฎการณ์ซินนอฟติกเช่นกัน ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลน้ำอย่างฝนเทียม แน่นอนว่าในธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงระดับไมโครส่งอิทธิพลไปถึงระดับที่ใหญ่กว่าได้ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็ต้องใช้คำว่า "ฟลุก" (คือเป็นสิ่งซึ่งเกิดโดยไม่มีเหตุผลรับรองในเชิงวิทยาศาสตร์)

ในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ เราต้องเปิดกว้างกับความเป็นไปได้ทุกอย่าง (อันมีเหตุผลประกอบ) เป็นไปได้ว่ามีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับพายุ และฝนเทียม ซึ่งเราไม่รู้ (ไม่ว่าการศึกษานั้นจะทำโดยคนไทย หรือฝรั่งก็ตาม) เป็นไปได้ว่าในทางทฤษฎี มีคำอธิบายอันน่าเชื่อถือว่าฝนเทียมหยุดยั้งพายุได้อย่างไร หรือกระทั่งเป็นไปได้ว่าในหลวงท่าน "เชื่อ" ว่ากำแพงฝนเทียมสามารถช่วยกันประเทศเราจากภัยพิบัติได้ และสิ่งนั้นมันได้เกิดขึ้นแล้วริงๆ ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ครับ และเราก็พร้อมขอโทษใครก็ตามที่รู้สึกว่ากำลังโดนเราดูหมิ่นความเชื่อสูงสุดอยู่

แต่ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ และมนุษย์ที่รู้จักใช้เหตุใช้ผล เราว่า "ยาก"

มาพูดถึงฟอร์เวิร์ดเมล์นี้ดีกว่า ผมไม่แน่ใจว่า "อาจารย์เอกราช" ในที่นี้คือใคร และใครเป็นผู้ตั้งต้นเขียนเมล์ ตรงท้ายมีจ่าว่ามาจาก "http://www.soccersuck.com/soccer/vie....php?p=1920666" ซึ่งพอคลิกดูก็จะเจอ This Webpage cannot be found. (แล้วเวป "ฟุตบอลห่วย" เกี่ยวอะไรด้วยเนี่ย) จุดนี้เราอยากฟันธงว่า "ปั้นน้ำเป็นตัวแน่ๆ " คำถามต่อไปคือใครเป็นคนปั้น เรามั่นใจพอๆ กับที่มั่นใจว่ากำแพงฝนเทียมไม่มีจริง ว่าคนปั้นไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับสำนักพระราชวัง เป็นเรื่องของคนนอก นี่คือหนึ่งในแนวโน้มบางอย่างของสังคมไทยในยุคหลัง การใช้สถาบันเบื้องสูงเป็นตัวโฆษณาชวนเชื่อเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และขอพูดสั้นๆ ว่า "เรารังเกียจการกระทำเยี่ยงนี้"

เรารักในหลวงนะครับ แต่รักพระองค์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มนุษย์ที่ศึกษา เข้าใจธรรมชาติ ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่รักเพราะท่าน "ทรงเหมือนกับเทวดาองค์นึง"

A. Christie's "The Mystery of the Blue Train"


โอย ไม่อยากให้รักชวนหัวกลายเป็นรวมบทวิจารณ์นิยายนักสืบเลย แต่ช่วงนี้อ่านแต่แนวนี้จริงๆ ไอ้เล่มที่ไม่ใช่นักสืบ ก็ดันเอามาโพสในนี้ไม่ได้อีก (ด้วยหลายสาเหตุ) เอาเถอะ สัญญาว่า The Mystery of the Blue Train จะเป็นหนึ่งในเล่มท้ายๆ แล้ว

นี่อาจเป็นนิยายของคริสตี้ที่สนุกสุด ในแง่ว่าผู้ต้องสงสัยมีสีสัน แบลคเมย์ ริษยา หักเหลี่ยมกันเอง เนื้อเรื่องมีน้ำ มีเนื้อมากกว่าแค่ปัวโรต์ไล่คุยคนนู้นคนนี้เพื่อจับโกหก ไม่เหมือนนิยายคริสตี้ทั่วไป นอกจากฆาตกรรม ยังมีการโจรกรรมเพชรเป็นพลอตเสริมด้วย อ่านสนุก แต่พอเฉลยคดีเสร็จแล้วก็รู้สึกเฉยๆ นึกถึงที่ปัวโรต์ (คริสตี้) เคยพูดไว้ใน The Clocks คือรูปคดียิ่งซับซ้อนเท่าไหร่ ความจริงของมันก็ยิ่งง่ายดายเท่านั้น โดยรวมแล้วเราถือว่าชอบ ใน cardboard characters เป็นร้อยเป็นพันคนที่คริสตี้สร้างขึ้นมา คนที่มีสีสันกว่าเพื่อนก็อยู่ The Mystery of the Blue Train เล่มนี้แหละ หรืออย่างตอนจบก็แอบมีอะไรหวานๆ ให้ชวนคิดยิ้มๆ ดี

เดินไปข้างหน้า


วันนี้ก็เหมือนทุกวัน เราตื่นมานั่งอ่านหนังสือแต่เช้าอารมณ์เรา ในร้านกาแฟ ผ่านไปสักชั่วโมง มองป้ายรถเมล์ คิดว่าได้เวลารถใกล้มาแล้ว ออกไปยืนรอ ทำไม ใจวับหวำชอบกล อาจเป็นด้วยภาระหน้าที่ซึ่งจะต้องเผชิญ ปั่นรายงานให้เสร็จก่อนสิ้นเดือน ทำโปสเตอร์ แล้วก็แก้นิยายที่เขียนค้างไว้ รวมไปถึงเฝ้ารออะไรต่อมิอะไร ถึงที่ทำงาน เปิดเน็ท เช็คเมล์ ถึงตรงนี้ไอ้อาการวับหวำในทีแรก เหมือนยิ่งเพิ่มพูน ใจสั่นพิกล เลยเข้าบลอค หวังจะเขียนระบาย...เอาล่ะ ในที่สุดเราก็เกริ่นมาถึงจุดที่เราอยู่ตอนนี้แล้ว อย่างไรต่อดี มีเวลาไม่นาน ต้องกลับไปแก้รายงานต่อให้เสร็จ เหงาไหม ท้อหรือเปล่า ผิดหวังกับชีวิต และความรักอยู่หรือไร ไม่นะ ไม่นะ ไม่นะ เราเห็นชีวิตผ่านเข้าออก พบเจอผู้คน บ้างก็ทำร้าย หรือมีเมตตาต่อกันโดยไม่ตั้งใจ พบเจอความผิดหวัง ปีนป่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนา และในวันที่อากาศดีเช่นนี้ ชีวิตยังดำเนินต่อไป เรามีสองขาที่ต้องก้าวไปข้างหน้า เพราะถ้าไม่ก้าว ชีวิตจะผลักดันเรา คนที่มัวแต่เหงา จนไม่รู้จักขยับแข้งขา ก็สมควรอยู่หรอกจะหกล้มหัวคว่ำ เราเชื่ออย่างนั้น

ไม่ได้ผิดหวังกับความรัก ความรักเพ่ิงผ่านพ้นไป ยึดใจตัวเองไว้ให้มั่น แล้วก้าวไปข้างหน้า ถ้าเขียนบทนำรายงานเสร็จ จะให้รางวัลตัวเอง พาหัวใจ และร่างกายไปสูบฉีดเลือดด้วยการออกกำลังกาย

E. Queen's "And on the Eigth Day"


เพิ่งเคยอ่านนิยายนักสืบพะยี่ห้อเอลเลอรี่ ควีน เกร็ดชวนรู้คือเอลเลอรี่ ควีนเป็นชื่อของคู่หูนักแต่งนิยายชาวอเมริกัน ซึ่งโด่งดังในยุคใกล้เคียงกับคริสตี้ ปัจจุบันมีนิตยสารเอลเลอรี่ ควีนซึ่งตีพิมพ์เฉพาะเรื่องแนวสืบสวนสอบสวน And on the Eight Day อาจไม่ใช่ตัวอย่างผลงานที่ดีนัก เพราะมันแหวกแนวเกินไป จนเหมือนผู้เขียนต้องการเล่นประเด็นอื่น นอกเหนือจากความเป็นนิยายนักสืบ ปริศนาไม่ได้ซับซ้อนมากนัก แต่นิยายน่าสนใจตรงปรัชญายูโธเปีย และความเปราะบางทางศีลธรรมของมนุษย์ (มีอะไรหลายอย่างคล้ายคลึงกับภาพยนตร์ The Village) ของเอม ไนท์ ตอนจบก็มีแอบหักมุมประหลาดๆ ให้ชวนสงสัยว่าผู้เขียนต้องการเปิดประเด็นใดกันแน่ เราชอบ And on the Eight Day พอประมาณ แต่ไม่มากพอจะสัญญาว่าจะยังอ่านนิยายเล่มต่อไปของเอลเลอรี่ ควีน

A. Christie's "Sad Cypress"


สนไซเปรสคือไม้ใหญ่สวยๆ แบบที่เห็นในรูปแหละครับ ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับคดีของปัวโรต์เลย แต่คริสตี้เอาชื่อนี้มาจากกลอนของเชคสเปียร์ ชื่อภาษาไทยของมันหรูหราใช้ได้คือ โลงสนเศร้า ซึ่งก็ยิ่งไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเข้าไปใหญ่ (ฮา) เป็นนิยายนักสืบ "ค่อนข้างโกง" อีกเล่มจากคริสตี้ โกงในที่นี้คือฆาตกรใช้เคล็ดลับวิชาแพทย์ ซึ่งคนทั่วไปไม่อาจทราบได้ (คริสตี้เคยเป็นพยาบาลช่วงสงครามโลกครับ เธอจึงมีความรู้ด้านนี้) กระนั้นก็มี "เรื่องโกหก" มาให้คนอ่านคอยจับไต๋อยู่เนืองๆ อีกอย่างที่พิเศษสำหรับ โลงสนเศร้า คือคดีนี้ไปไขกันในศาลครับ และเหมือนกับ "ตัวเอก" ผู้ทำหน้าที่ไขคดีให้ผู้อ่านฟังจะไม่ใช่ปัวโรต์ แต่เป็นทนายความ (ซึ่งจริงๆ เขาก็คงได้รับคำชี้แนะมาจากปัวโรต์นั่นแหละ) ถ้าใครอยากอ่านเล่มนี้เผื่อจับฆาตกรจริงๆ ใบ้ให้ว่า สนใจเฉพาะพาร์ทสาม ช่วงสี่สิบหน้าสุดท้ายก็พอ เพราะเงื่อนงำต่างๆ จะไหลมาตอนนั้น

I. Calvino's "t zero"


t zero เห็นจะเป็นหนังสือน่าผิดหวังสุดเท่าที่เราเคยอ่านเล่มหนึ่ง ก็จะไม่ให้หวังสูงได้อย่างไร ในเมื่อมันเป็นรวมเรื่องสั้นของคาลวิโน นักเขียนในดวงใจ และเป็นภาคต่อของ Cosmicomic ซึ่งเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ดูท่าเล่มนั้นจะโบว์แดงเกินไป คาลวิโนถึงได้เขียนภาคต่อออกมาเป็น t zero ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปรากฎการณ์ภาคต่อสู้ภาคแรกไม่ได้นั้น มิใช่จำกัดเฉพาะภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด แต่วรรณกรรมอิตาลีก็เป็นได้เช่นกัน

ยังอยากให้เครดิตคาลวิโน ตรงที่แกอุตส่าห์เขียน t zero ให้ออกมาแตกต่างจากภาคแรก ขณะ Cosmicomic อ่านแล้วเหมือนต่อมจินตนาการโดนเตะผ่าหมาก t zero ได้อารมณ์โมโนลอค พร่ำบ่นปรัชญา พระเอกตลอดกาลก็ยังคงเป็น Qfwfq เหมือนคาลวิโนพยายามเล่นกับ meta-fiction ด้วย คือหาวิธีสร้างสรรค์ๆ มาเล่าเรื่องให้มันแปลกใหม่ เช่นเรื่องหนึ่งก็บรรยายภาพเหมือนเรากำลังอ่านการ์ตูน ซึ่งก็เพลินดี แต่เราว่ามันก็ไม่เจ๋งเท่าไหร่ ของแบบนี้ให้นักเขียนรุ่นหลังที่ไม่ค่อยเก่ง (เช่น Sanfran Foer) ไปทำกันดีกว่า

โดยรวมถือว่าให้คะแนนความคิดสร้างสรรค์แล้วกัน แต่ถ้าเทียบกับภาคแรก ก็ต้องจัดว่าน่าผิดหวัง

A. Christie's "The Secret Adversary"


ชอบจัง เวลาอ่านนิยายเล่มแรกๆ ของนักเขียนที่เราชื่นชมเนี่ย ได้เห็นพัฒนาการ การลองผิดลองถูก เหมือนได้รู้ว่าก่อนพวกเขาจะสร้างสรรค์ผลงานชิ้นโบว์แดง ได้เขียนอะไรเป็นร่างแรกออกมาบ้าง The Secret Adversary น่าจะเป็นเวอร์ชั่นแรกของ The Seven Dials Mystery ซึ่งต่างจากผลงานส่วนใหญ่ของเดม เพราะทั้งคู่ไม่ใช่นิยายนักสืบ แต่เป็นนิยายสปาย (แม้ทั้งสอง genre ก็ถือเป็นญาติสนิทชิดเชื้อกันก็ตาม) The Secret Adversary เขียนขึ้นหลัง The Mysterious Affair at Style ซึ่งป่านนั้นเจ้าตัวคงยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำ ว่าจะเอาดีทางนิยายสปาย หรือนักสืบ (ความแตกต่างระหว่าง The Seven Dials Mystery กับผลงานชิ้นนี้ ถ้ามองว่าเป็นพัฒนาการของคริสตี้แล้ว ก็แสดงให้เห็นว่าแกคงจะเอาดีทางนิยายสืบสวนมากกว่า)

ที่ชอบ The Secret Adversary อีกอย่างคือความโบร่ำโบราณของการเมืองมัน เขียนขึ้นไม่กี่ปีหลังปฏิวัติบอลเชวิก คริสตี้สมมติว่าผู้อยู่เบื้องหลัง "เครสนิน" (หรือ "เลนิน" ในชีวิตจริง) คือบุรุษลึกลับ มิสเตอร์บราวน์ผู้มีเป้าหมายยึดครองประเทศอังกฤษ โดยชักใยอยู่เบื้องหลังพรรคแรงงาน จากมุมมองปัจจุบัน ทฤษฎีนี้สติแตกสิ้นดี แต่ก็แสดงให้เห็นความรู้สึกไม่ปลอดภัย และถูกคุกคามของพวกผู้ดีชาวอังกฤษในยุคนั้น

I. Murdoch's "The Bell"


จากสิบหกเล่มที่เราอ่านมา The Bell เหมาะสุด สำหรับใครที่ไม่ยังเคยอ่านนิยายของเมอดอช จะลองหยิบมาเปิดๆ ดู เพราะมันทั้งสั้น สนุก เซ็กซี่ ชวนขบขัน และเต็มไปด้วยโมทีฟอันเป็นเอกลักษณ์ของนักเขียน เกย์ เวทมนต์ ศาสนา อัจฉริยะจอมวายร้าย ครอบครัวแตกแยก การผิดลูกผิดเมีย และน้ำ

ฉากของ The Bell คือคฤหาสถ์อิมเบอร์ ปลูกติดวัดนางชี ในชนบทของประเทศอังกฤษ ชุมนุมที่มาพักอาศัยในอิมเบอร์คือคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นส่วนหนึ่งของโลกภายนอก แต่ก็ยังไม่พร้อมกับการก้าวเท้าเข้าไปในวัดอย่างเต็มตัว (ตามกฎนิกาย ถ้าบวชแล้ว ต้องใช้ชีวิตอยู่หลังกำแพงวัดไปจนตาย) พวกเขาใช้ชีวิตก้ำกึ่งระหว่างบุคคลธรรมดา และนักบวช วิถีชีวิตของพวกเขาไม่เคยมีบัญญัติไว้ในคัมภีร์ใดๆ กฎระเบียบหลายอย่างจึงถูกคิดค้น และดัดแปลงตามสถานการณ์ ในฉากหนึ่ง เราเห็นความขัดแย้งของผู้นำชุมชนอันเนื่องมาจากการพยายามหาความเหมาะสมในกฎระเบียบที่ว่า

และแน่นอน ขาดไม่ได้เลยในนิยายของเมอดอช คือทะเลสาบยักษ์ใหญ่ติดคฤหาสน์ ซึ่งซุกซ่อนความลับบางอย่างเอาไว้

ตัวละครเด่นใน The Bell มีอยู่สามคนคือดอรา ผู้หญิงที่เข้ากับสิ่งแวดล้อมในอิมเบอร์ เหมือนน้ำเข้ากับน้ำมัน หล่อนแต่งงานกับพอล นักวิชาการขี้หึงผู้มาศึกษาตำราโบราณซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่นี่ (แปลกที่เมอดอชไม่ได้พูดถึงรายละเอียดเรื่องตำราโบราณนี้ แถมพอลก็แทบไม่มีบทบาท ค่อนข้างผิดวิสัย อาจเป็นความแตกต่างระหว่างผลงานแต่ละยุคของเมอดอชก็ได้) ไมเคิล ผู้นำ และเจ้าของคฤหาสน์อิมเบอร์ เป็นรักร่วมเพศที่ปิดบังอดีต และความปรารถนาของตัวเอง และโทบี เด็กหนุ่มรูปงามผู้กำลังจะเผชิญหน้ากับความสับสนครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต

เมื่อเทียบกับเล่มอื่นแล้ว The Bell เข้าใจง่าย มี moral ชัดเจน ประเด็นซึ่งผู้เขียนต้องการบอกคือ "การกระทำความดี เพียงเพราะว่ามันเป็นความดี จะไม่มีความหมายใดเลย ถ้าการกระทำนั้นมันขัดกับธรรมชาติของเราเอง จะเกิดโทษมากกว่าคุณด้วยซ้ำ" ประเด็นตรงนี้ถูกนำเสนอ ผ่านเหตุการณ์ใหญ่น้อย เมอดอชยังเข้าเกียร์ต่อต้านศาสนาเต็มตัว เย้ยหยันตัวละครผู้มีศรัทธารุนแรง และปล่อยให้เหล่าเอเธียสได้หัวเราะทีหลัง

A. Christie's "Hercule Poirot's Chirstmas"


อยากทดสอบอะไรบางอย่าง เลยเลือกอ่านนิยายเล่มนี้ นี่เป็นครั้งแรกที่เราอ่านนิยายของคริสตี้ โดยแอบ รู้ตัวฆาตกรล่วงหน้า (ไม่นับเล่มหนึ่งที่เราป๋า รู้ฆาตกรได้เอง) อยากรู้ว่ายังจะสนุกอยู่หรือเปล่า

ปรากฎว่าสนุก แล้วก็สนุกมากๆ เสียด้วย ยิ่งอ่านของนักเขียนคนอื่น ก็ยิ่งยอมรับว่าคริสตี้เก่งมากๆ ไม่ใช่แค่การคิดไอเดียฆาตกรรมเท่านั้น แม้แต่การนำเสนอเรื่องราว นิยายของเดมเหมือนกล่องปริศนา กระตุ้นให้คนอ่านขบคิดทุกบรรทัด ทุกคำพูดว่ามันเกี่ยวข้อง หรือไม่เกี่ยวข้องกับการไขคดีสักแค่ไหน จริงอยู่ไม่ใช่ทุกเล่มจะเหมือน Hercule Poirot's Chirstmas แต่กระทั่งของคริสตี้เล่มที่ไม่ค่อยดีมาก ก็ยังจัดว่าดีในระดับเฉลี่ยเมื่อเทียบกับคนอื่น

ณ วันนี้เราของน้อมคำนับราชินีแห่งนิยายสืบสวนสอบสวนอย่างสุดหัวใจ

M. Innes's "Hamlet, Revenge!"


ถ้าจับไมเคิล อินเนส และจอห์น ดิกสัน คาร์ มาอยู่ในห้องเดียวกัน แล้วให้แต่ละคนถกเถียงวิธีการเขียนนิยายนักสืบ สุดท้ายคงได้กลายเป็นศพในห้องปิดตายแน่ๆ คงหานิยายสองเล่มที่แตกต่างกันเหมือนที่ The Plague Court Murders แตกต่างจาก Hamlet, Revenge! ไม่มีแล้ว เป้าหมายของดิกสัน คาร์คือเขียนนิยายนักสืบพิศวง เน้นความคาดไม่ถึง โดยไม่สนใจว่าคนอ่านคิดตามได้แค่ไหน เฉลยออกมาแล้วสมเหตุสมผลหรือเปล่า ส่วนอินเนสตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ฆาตกร และฆาตกรรมใน Hamlet, Revenge! ไม่น่าพิศวงอย่างที่สุด

อาจจะเป็นเสน่ห์บางอย่างที่ผู้เขียนต้องการก็ได้ เพราะเวลาอ่านเรื่องที่หักมุม พลิกแพลงไปมา ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าคนเขียนหักนู่น หักนี่ ระวังไปเผลอหักกระดูกตัวเองเข้า พอเฉลยฆาตกรใน Hamlet, Revenge! เราไม่ได้รู้สึกตื่นตาตื่นใจสักติ๊ด เพราะทั้งตัวฆาตกร และวิธีการฆ่าก็อยู่ในสายตาของนักสืบตั้งแต่สี่สิบหน้าที่แล้ว

แอปเปิลบีเป็นนักสืบที่ดูไม่ค่อยเท่ห์ ไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่ ตลอดทั้งเล่มเขา และคู่หูตั้งสมมติฐานความเป็นไปได้ของคดีในรูปแบบต่างๆ ซึ่งก็มีทั้งผิด และถูก คนอ่านก็เลยไม่รู้สึกถึงความขลัง (ตรงกันข้ามกับปัวโรต์ ที่ถ้ายังไม่รู้ชัด ใครเป็นฆาตกร จะไม่ยอมปริปากใดๆ ) มองกลับกันคือดูสมเหตุสมผล และน่าสนใจสำหรับนักอ่านที่อยากรู้ว่านักสืบเขาจู่โจมปัญหากันอย่างไร

เคยบอกว่าสนใจงานของอินเนส เพราะความเป็น "วรรณกรรม" ของมัน เล่มนี้ก็ไม่ผิดหวัง แม้จะไม่ใช่นิยายนักสืบที่ดีนัก แต่ผู้เขียนก็สามารถเรียงร้อยวรรณกรรมคลาสสิค ผลงานของเชคเปียร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องได้

เสน่ห์ของความล้าหลัง

1.

ผม และเพื่อนเคยไปแวะชมสถาปัตยกรรมอันมีชื่อเสียง ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ พวกเราไปถึงเวลาทำวัตรเย็น จึงถือโอกาสเข้าร่วมพิธีอยู่ท้ายอุโบสถ บรรยากาศงดงามยากจะบรรยาย ข้างนอกโพล้เพล้ ข้างในสว่างไสวด้วยแสงเทียนส่ององค์พระประติมา และพระมนุษย์ต่างพรรษา ก่อเกิดรูปเงาประหลาด "ขลัง" อย่างบอกไม่ถูก เสียงสวดมนต์เสนาะ ขนาดคน "ไม่มีศาสนา" อย่างผม ฟังทีไรก็ยังจับใจเมื่อนั้น

แต่รายละเอียดที่ยกระดับฉากนี้ให้ประทับตราตรึงคือบรรดาพระเด็ก พระอ่อนพรรษาท้ายกลุ่ม นั่งกันอย่างไม่เป็นระเบียบ บ้างขโยกเขยกไปมา สลับขาซ้ายทับขวา ขาขวาทับขาซ้าย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพระอาจารย์ที่แก่พรรษากว่า พวกท่านนั่งหันหลัง ตัวตรง นิ่งสนิทประหนึ่งพระพุทธรูปที่กำลังบูชา

นอกจากเราสองคน มีฝรั่งนักท่องเที่ยวอีกคู่อยู่ข้างๆ ผู้ชายเข้าใจว่าคงใส่กางเกงขาสั้นมา จึงต้องคาดผ้าขาวม้าที่ทางวัดเตรียมไว้ ดูกระโดกกระดากชอบกล ผมสังเกตว่าเขานั่งชันเข่าโดยหันปลายเท้าไปทางพระประธาน ในฐานะ "ยามวัฒนธรรม" ซึ่งเป็นหน้าที่ที่คนไทยถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ผมคลานเข่าเข้าไปหา ฟุตฟิตฟอไฟ บอกว่ายูนั่งแบบนี้ไม่ได้นะ คนไทยเราไม่ชอบเห็นใครชี้ปลายเท้าไปทางพระ แทนที่จะโกรธ หรือทำหน้างงๆ เขายิ้มให้แวบหนึ่ง รีบเก็บขาเข้าไป

ผ่านมาเกือบห้าปีแล้ว ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมครุ่นคิดถึงรอยยิ้มนั้น

2.

ป่านนี้คนไทย (ผู้สนใจ) คงได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง แสงศตวรรษ กันเป็นที่อิ่มหนำสำราญ แม้จะมีหกฉากถูกตัดไป แต่ก็มี "ความมืด และความเงียบแห่งการทำลายล้าง" มาให้ชมทดแทน ไม่ขอกล่าวถึงที่มาที่ไปของภาพยนตร์เรื่องนี้นะครับ ไปหาอ่านกันเอาเอง

ช่วงนี้ทำหนังสั้นกับผู้กำกับ โดยเล่นประเด็นเซนเซอร์ แสงศตวรรษ นี่แหละ ระหว่างค้นข้อมูล ก็ได้พบพงศาวดารน่าสนใจ เช่น เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อุปราการรามเกียรติของคุณสมเถา สุจริตกุลก็ถูกเซนเซอร์เหมือนกัน โดยผู้มีอำนาจมองว่าฉากไคลแมกซ์ ความตายของทศกัณฐ์รุนแรง ไม่เหมาะสม และขัดกับประเพณีโขน รายละเอียดตรงนี้ก็หาอ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ไม่ยากเหมือนกันครับ

อีกเรื่องซึ่งใกล้เคียง แต่ก็อาจจะไม่เกี่ยวกับเซนเซอร์ทีเดียวนัก และกำลังเป็นที่โด่งดังคือกรณีปฏิเสธการยืนตรงเคารพเพลงสรรเสริญฯ ในโรงภาพยนตร์ ผมได้อ่าน forward mail ที่เจ้าตัวเล่าเหตุการณ์ ไม่ได้ติดอกติดใจกับประเด็นการเมือง หรือเรื่องสิทธิ เสรีภาพอะไรนัก (ปล่อยให้คนที่เขาอยากโต้เรื่องนี้ ไปโต้กันเสียให้พอ) แต่สะดุดใจกับตอนที่มีคนมาเตือนเขาครั้งแรก โดย เตือนเป็นภาษาอังกฤษ เพราะคิดว่าเขาเป็นชาวต่างชาติ

ผมอดนึกถึงรอยยิ้มเมื่อห้าปีที่แล้วไม่ได้ ถ้าชายผู้ถูกเตือนเป็นชาวต่างชาติจริงๆ เขาจะมีปฏิกริยาเช่นไร จะยิ้มตอบ แล้วยืนขึ้นแต่โดยดีหรือไม่

3.

ความหมายใดซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังรอยยิ้มนัน ผมขอตั้งสมมติฐานแล้วกันว่าชาวตะวันตกยุคนี้คุ้นเคยกับ Joseph Conrad, Edward Said, Rudyard Kipling ถ้าไม่ได้อ่าน Orientalism ก็ เมาคลีลูกหมาป่า หรือ Heart of Darkness ก็ได้ (อย่างเลวสุดก็ต้องเคยชมภาพยนตร์ Apocalypse Now) ฝรั่งในปัจจุบันเติบโตมากับบาปการล่าอาณานิคมของปู่ย่าตายาย พวกเขายอมรับความแตกต่างในวัฒนธรรมของคนหลากท้องถิ่น หลากภาษา นักท่องเที่ยวชาวตะวันตกจึงระมัดระวังอยู่ตลอดเวลาว่าจะเผลอไปเหยียบแข้งเหยียบขา (ในเชิงวัฒนธรรม) เจ้าบ้านโดยไม่รู้ตัว

ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเผลอไปเหยียบเข้า แขกอารมณ์ดีก็ยินยอมพร้อมใจให้เจ้าบ้านว่ากล่าว ตักเตือน พูดไปไกลว่านั้น ต้องบอกว่ามันเป็นความปรารถนาของพวกเขาด้วยซ้ำ การท่องเที่ยวยุคใหม่ในสายตาชาวตะวันตกไม่ใช่เพียงไปเปิดหูเปิดตา พบเห็น ได้ยินสิ่งแปลกๆ แต่รวมไปถึงจมจ่อมตัวเองในวัฒนธรรมต่างถิ่น พวกเขาจินตนาการตนเสมือนเด็กหัดเรียน มีความสุขที่ได้ลองผิด ลองถูก และถ้าจะมีไม้เรียวเบาๆ ในรูปแบบการตักเตือนจากเจ้าบ้าน ก็พร้อมยินยอมถูกทำโทษ

รอยยิ้มของฝรั่งในวัดที่เชียงใหม่นั่น จึงเป็นรอยยิ้มของอาการพึงพอใจกับบทบาท "ยามวัฒนธรรม" ที่ผมกระทำต่อ "เด็กหัดเรียน" ผมเชื่อว่าคงเป็นรอยยิ้มเดียวกับฝรั่งสมมติ ในโรงภาพยนตร์ที่ไม่ได้ยืนตรงเคารพเพลงสรรเสริญ

4.

ผมอยากเรียกสิ่งนี้ว่า "เสน่ห์ของความล้าหลัง"

คงต้องอธิบายกันยาวถึง "ความล้าหลัง" เพราะศัพท์ตัวนี้ฟังแล้วไม่ไพเราะเอาเสียเลย ผมไม่ได้หมายถึง "ความล้าหลัง" ในแง่การประเมินค่าว่าสิ่งใดดี หรือด้อยกว่าอีกสิ่ง "ความล้าหลัง" ในที่นี้คือ "ความแตกต่าง" ถ้าจะตั้งหัวข้อบลอคนี้ว่า "เสน่ห์ของความแตกต่าง" ก็คงไม่ผิดจุดประสงค์นัก มีเรื่องสั้นใน Misreading ของอัมเบอโต อีโค ว่าด้วย "นักมานุษยวิทยา" ชาวเผ่าเอสกิโม เดินทางไปประเทศอิตาลี เพื่อสังเกตการใช้ชีวิตของ "ชนพื้นเมือง" โดยพวกเขามองวัฒนธรรมที่แตกต่างของชาวยุโรปว่า "ล้าหลัง"

"ความแตกต่าง" หมายถึงสิ่งซึ่งเราไม่คุ้นเคย ไม่ได้พบเห็นบ่อยๆ กระนั้น "ความแตกต่าง" เพียงอย่างเดียวไม่อาจครอบคลุมความรู้สึกของนักท่องเที่ยวตะวันตกในดินแดนโอเรียน และความรู้สึกของนักท่องเที่ยวไทยในดินแดนออกซิเดนตัลก็ไม่สมมาตรกับนักท่องเที่ยวฝรั่ง คนไทยได้ไปเห็นความแตกต่างในรูปแบบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีซึ่ง "เข้าใจได้" และ "เป็นเหตุผลเป็นผล" และเราไม่ประเมินสิ่งเหล่านั้นว่าล้าหลังแต่อย่างใด "ความแตกต่าง" จึงต้องมาพร้อมกับอาการ "ไม่เข้าใจ" ถึงจะกลายเป็นความ "ล้าหลัง"

การที่เราจะเข้าไปเรียนรู้ หรืออยู่อาศัยในวัฒนธรรมต่างถิ่น ในฐานะ "นักท่องเที่ยว" ไม่ว่าวัฒนธรรมนั้นจะเจริญก้าวหน้า หรือถดถอยกว่าสิ่งที่เราคุ้นชิน โจทย์ที่เราตั้งไว้ให้กับตัวเองคือ ทำอย่างไรจึงจะเวียนว่ายอยู่ในวัฒนธรรมนั้น โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจที่มาที่ไปของวัฒนธรรม

คำตอบก็คือเราทำตัวเป็นนักเรียนที่ดี เจ้าบ้านตักเตือนมาอย่างไรก็ยิ้มรับ ดื่มด่ำเสน่ห์ของความล้าหลังที่สิ่งแวดล้อมหยิบยื่นมา

5.

กลับมาเรื่องอุปราการรามเกียรติของคุณสมเถาดีกว่า ถ้าบังเอิญผมได้มีโอกาสไปชมโขนรามเกียรติกับอาจารย์ถ่ายเถา ซึ่งนอกจากจะเป็นมารดาของคุณสมเถาแล้ว ยังมีชื่ออยู่ในคณะกรรมการที่คัดค้านฉากล้มทศกัณฐ์ในอุปราการดังกล่าว ระหว่างที่ผมชมการแสดงโขนอยู่นั้น เมื่อถึงฉากสำคัญที่พระรามสังหารเจ้าเมืองลงกา แล้วตัวผู้แสดงเป็นทศกัณฐ์เดินออกไปเสียชีวิตนอกฉาก ก่อนกลับเข้ามาให้ผู้ชมเห็นในสภาพศพ เมื่อถึงตอนนั้น อาจารย์ถ่ายเถาอาจอธิบายให้ผมฟังว่า เป็นธรรมเนียมของการเล่นโขนที่จะไม่แสดงฉากสังหารทศกัณฐ์ เพราะเชื่อว่าเป็นกาลกิณีต่อบ้านเมือง

วินาทีนั้นผมก็คงยิ้มออกมา

เมื่อมาชมโขน วัฒนธรรมอันแตกต่างจากสิ่งที่คนรุ่นใหม่คุ้นชิน ผมก็ได้สมมติตัวเองลงในบทบาทของนักท่องเที่ยว เป็นเด็กหัดเรียนยอมให้ผู้รู้จูงซ้ายจูงขวา ผมกำลังดื่มด่ำ "เสน่ห์ของความล้าหลัง" ซึ่งนอกจากวัฒนธรรมต่างท้องถิ่น ยังรวมไปถึงวัฒนธรรมต่างยุคสมัย

ผมคิดว่าเสน่ห์ตรงนี้เป็นสิ่งสวยงามนะครับ และอยากฝากฝังยามวัฒนธรรมให้กระทำหน้าที่ของตนต่อไปอย่างสุดความสามารถ

6.

ทีนี้ลองมองกลับกันบ้าง คนอย่างพี่เจ้ย คุณสมเถา หรือผู้ชายที่ไม่ยอมยืนในโรงหนังคนนั้น คงไม่อาจสวมบทบาทนักท่องเที่ยว หรือชาวต่างชาติ เพราะพวกเขาเป็นคนไทย และเชื่อว่าวัฒนธรรมไทยก็เป็นสมบัติของเขาเช่นกัน เขามีสิทธิจะดัดแปลง ตีความ หรือจำกัดตัวเองในขอบเขตที่เห็นว่าเหมาะสม (คนเหล่านี้คิดถูกหรือผิด วัฒนธรรมเป็นสมบัติของใคร ผมไม่ขอถกเถียงประเด็นนี้แล้วกัน)

เวลาคนเหล่านี้ต้องเผชิญหน้ากับยามวัฒนธรรม จะให้ฉีกยิ้มออกมาก็คงยากอยู่

"เสน่ห์ของความล้าหลัง" จะเกิดกับใครได้ ก็ต่อเมื่อเขาคนนั้นมองวัฒนธรรมว่าเป็นสิ่งล้าหลัง ผมชอบคำโต้เถียงของคุณสมเถา แกบอกว่าจะเอาขนบโขนรามเกียรติมาใช้กับงานแสดงดนตรีของแกก็กระไรอยู่ ในเมื่อมันไม่ใช่โขน แต่เป็นอุปราการ (ซึ่งเป็นแนวทางที่แกศึกษามา) เหมือนกับคุณสมเถาพยายามสร้างความเชื่อมโยง ระหว่างตัวแก ศิลปะที่แกสร้าง (คืออุปรากร) และพื้นฐานทางวัฒนธรรม (รามเกียรติ) เข้าด้วยกัน ซึ่งก็คือการลบความแตกต่าง หรือกำจัดความล้าหลังนั่นเอง ตรงนี้เลยเกิดเป็นพาราดอกซ์เล็กๆ น่าขบคิด "นักแหกคอก" ที่เหมือนจะทำตัวล้ำเส้นขนบธรรมเนียม ประเพณีกลับไม่ได้มองสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นเรื่องล้าหลัง กลายเป็นผู้ซึ่งปฏิบัติตามมันอย่างไม่ลืมหูลืมตาต่างหาก

7.

ก่อนหน้านี้ผมอธิบายว่า "ล้าหลัง" คือส่วนผสมระหว่าง "แตกต่าง" และ "ไม่เข้าใจ" ในเรื่องสั้นของอีโค แม้ว่าชาวเอสกิโมจะยอมรับเทคโนโลยีอันล้ำหน้ากว่าของชาวยุโรป แต่ก็ยังยืนยันที่จะเรียก "ความแตกต่าง" ตรงนั้นว่า "ล้าหลัง" เพราะอะไร ผมเชื่อว่าคำตอบคือ เพราะนักมานุษย์วิทยาเหล่านั้นไม่ปรารถนาจะใช้ชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่างนี้ เมื่อไม่มองเห็นอนาคตของตัวเองในสิ่งแวดล้อมใหม่ พวกเขาจึงไม่เสียเวลากับการพัฒนาความเข้าใจ ชาวเอสกิโมเหล่านั้นจึงไม่ต่างจากนักท่องเที่ยวตะวันตกในประเทศไทย

ความไม่ปรารถนาจะใช้ชีวิต หรือปรับแปรตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมาก็คือมองสิ่งนั้นว่า "ล้าหลัง" เป็น "ล้าหลัง" ในความหมายไม่ไพเราะที่เราใช้ๆ กัน คนไทยเคยมีประโยคติดปากว่า "ไม่เชื่อ แต่อย่าลบหลู่" ใช้กับวัตถุ หรือเรื่องราวทางไสยศาสตร์ ใครอยากจะเชื่อ อยากจะคิดเช่นนั้นก็ปล่อยเขาไป แต่ไม่ต้องมาพยายามชักจูงกัน เพราะเรามองสิ่งนั้นว่า "ล้าหลัง"

เหมาะสมแล้วหรือ ที่เราจะจำกัดบทบาทของ "นักแหกคอก" เช่นพี่เจ้ย หรือคุณสมเถาให้อยู่แค่ในฐานะ "นักท่องเที่ยว" แต่ไหนแต่ไร หน้าที่ของศิลปินคือผู้แยกย่อย ทำลายกฎเกณฑ์ในสังคม พวกเขาย่ำยี ล้ำเส้นเพราะพวกเขาหลงใหลวัฒนธรรม เกินกว่าจะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องล้าหลัง

ผมเชื่อจริงๆ นะครับ ว่ายามวัฒนธรรมควรกระทำทำหน้าที่ของตน แต่ครั้งต่อไปที่จะเป่านกหวีด ลองถามตัวเองก่อนว่าคุณกำลังเผชิญหน้ากับใคร ถ้าเป็น "นักแหกคอก" ปล่อยนกหวีดแล้วหันหน้ามาคุยกันสักนิดดีไหม

แต่ถ้าเป็น "นักท่องเที่ยว" เป่าไปเลยครับ พวกเขาจะดีใจ ฉีกยิ้มให้คุณเสียอีก

R. Williams's "Culture and Materialism"


Culture and Materialism คล้ายคลึงกับ Society of the Spectacle ต่างเป็นหนังสือที่เราอ่านจบด้วยความรู้สึกงงๆ เพราะข้อมูล ความคิดมันถาโถมเข้าใส่ จับต้นชนปลายไม่ถูก ขณะที่ดีบอร์ดเรียงร้อยทุกอย่างเข้าด้วยกัน วิลเลียมส์ดูจะพอใจกับการจับแพะชนแกะเสียมากกว่า (ซึ่งก็โทษเขาไม่ได้ ในเมื่อหนังสือเล่มนี้มันเป็นการรวบรวมบทความที่เขียนต่างวาระ ต่างกรรม จะให้มีความเป็นหนึ่งเดียวสักเท่าไหร่เชียว)

วิลเลียมส์เป็นนักคิด นักเขียนต่อต้านทุนนิยม บทความของเขาดูมีที่มาที่ไปดี หลายประเด็นที่หยิบยกมาพูดถึง แม้แต่คนที่เป็นแฟนระบบทุนนิยมอย่างเรา อ่านแล้วก็ยังต้องยอมรับฟัง บางจุดก็เป็นการต่อยอดมาจากความคิดของดีบอร์ด โดยเฉพาะที่พูดถึงโฆษณา "เวทมนต์" ของการโฆษณาคือเราได้ใส่คุณค่าซึ่งจับต้องไม่ได้ (ไม่เป็น "วัตถุนิยม") ลงไปในสินค้า พูดแบบดีบอร์ดก็คือ เราได้สร้าง "spectacle" ขึ้นมานี่เอง

พูดแบบนี้แล้วก็ต้องเอ่ยถึงคำว่า "วัตถุนิยม" สักนิด ปัจจุบันคำนี้ฟังดูไม่ค่อยงามเท่าไหร่ แต่เมื่อร้อยปีที่แล้ว ตอนมาร์กกำหนดปรัชญาซึ่งเป็นพื้นฐานของคอมมิวนิสต์ เขาเรียกมันว่า "วัตถุนิยม" (เพื่อให้ตรงข้ามกับ "อุดมคตินิยม" ของเฮเกล) ดังนั้นนอกจาก Culture and Materialism จะพยายามปกป้องลัทธิวัตถุนิยมแล้ว วิลเลียมส์ยังชี้ให้เห็นโทษของคุณค่าซึ่งจับต้องไม่ได้ เช่นว่าคนเราไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อความสะดวกสบายเท่านั้น แต่ยังเพื่อแสดงฐานะ และความเป็นคนรุ่นใหม่ (กระนั้นเรากลับไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิลเลียมส์ว่าปัญหาตรงนี้จะหมดไปในระบบอื่น เช่นสังคมนิยม)

เสียดายที่วิลเลียมส์แค่นำเสนอความคิดเท่านั้น แต่ไม่ได้ต่อยอดตัวเองไปไหน ซึ่งก็เป็นปัญหาโดยรวมของหนังสือเล่มนี้ มันเต็มไปด้วยคำถามเจ๋งๆ เช่น "ธรรมชาติคืออะไร มนุษย์จัดเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติหรือเปล่า" แต่เหมือนวิลเลียมส์แค่หยอกล้อคนอ่าน มากกว่าต้องการสร้างปรัชญาเป็นชิ้นเป็นอัน

20 เพลงไทยในดวงใจ (1~5)

5. อยากให้เธอได้รู้ (เบิร์ด กับฮาร์ท)

...อาจดูเหมือนฉันเองไม่สนใจ ดูเฉยๆ ไม่มีอะไร แต่ในใจนั้นมีบางสิ่งอยากบอกเธอ อยากให้เธอได้รู้...อยากรู้ใจเธอนั้นคิดอย่างไร ฉันคงเป็นได้แค่เพียงเพื่อนเธอ ที่คงรักและคงหวังดีต่อเธอ เสมอดังเพื่อนที่รู้ใจ...อยากให้เธอได้รู้ คิดอยู่ไม่ใช่แค่นั้น ใจแอบเก็บเอาเธอไปฝัน ส่วนลึกนั้นฉันรักเธอ...ฉันรู้ใจของฉันเองดี ตราบจนวันนี้ฝันเห็นแต่หน้าเธอ รอยยิ้มแววตาอบอุ่นเสมอ เหมือนมีเธออยู่แนบชิดใจ...
เพลงข้อยกเว้นของหลายๆ กฎเพลงในดวงใจที่เราเพิ่งสังเกต ตั้งแต่ว่าเพลงนี้เป็นอะคูสติกกีต้า (ธรรมดาเราจะชอบเพลงที่ใช้เครื่องดนตรีหลายชิ้น) เนื้อสั้นวนไปวนมา และท่อนฮุคขึ้นเสียงสูง แต่ที่ชอบสุดใจจนติดอยู่อันดับบนๆ ขนาดนี้ได้เพราะ นี่เป็นเพลงที่เราฟังตอนอกหัก + แอบรักครั้งแรก ตอนนั้นอินไม่รู้จะอินอย่างไรแล้วกับ ฉันคงเป็นได้แค่เพียงเพื่อนเธอ ที่คงรักและคงหวังดีต่อเธอ เสมอดังเพื่อนที่รู้ใจ ยิ่งเมื่อถึงท่อนฮุคโหยหวน...อยากให้เธอได้รู้...เหมือนมีคนล้วงเข้าไปในอก เอาความอึดอัด ความเจ็บปวดออกมาให้เห็นกันจะๆ

4. ฝากรัก (The Innocent/แอน ธิติมา + นิหน่า)

...ด้วยรักอยากฝากไว้ ในหัวใจที่หมายมั่น ขอเพียงได้พบกัน สบตาให้หวั่นเท่านั้นพอ...อยากจะจองตัวเธอเป็นของฉันคนเดียว เปล่าเปลี่ยวอีกนานเท่าไหร่ เห็นเธอก็อยากสมัครใจขอโปรด ทราบเอาไว้ดวงใจฉันให้เธอครอง...แอบมองอย่ามองค้อน ขออ้อนวอนเมตตาสักหน่อย รู้ไหมใครเฝ้าคอย ส่งยิ้มให้หน่อยนะจะพลอยชื่นใจ...หากเธอมีไมตรี มารักกันดีกว่า จะพาสู่ความซึ้งทรวง รักเธอก็สุดจะห่วงหวงแสนเจ็บ หากเธอลวงดวงใจไปฉันตรม...
อยากให้เครดิตพี่แอน (คูณสาม) และน้องนิหน่า เพราะแม้เวอร์ชั่นอินโนเซนต์จะยังคลาสสิค และเป็นเวอร์ชั่นที่คนจดจำมาจนทุกวันนี้ เวอร์ชั่นที่เราชอบสุดอยู่ในอัลบั้ม Ann's Green Room ก่อนหน้านั้นมีเวอร์ชั่น "เบเกอรี่" ด้วย แต่ออกจะฟังขำๆ มากกว่า :P "\...อยากจะจองตัวเธอเป็นของฉันคนเดียว...วลีสั้นๆ ที่โรแมนติกกว่านี้จะมีอีกไหม เป็นเพลงบอกรักที่ฟังดูอ่อนน้อมถ่อมตน...ส่งยิ้มให้ฉันทีเธอจ๋า...มารักกันดีกว่า...รู้ไว้เลย ดวงใจฉันเป็นของเธอ

3. นิดหนึ่งพอ (ดนุพล แก้วกาญจ์)

...ฉันค้นคว้าหาคำตอบ เท่าไหร่ไม่เจอ เพราะอะไรเหตุใดถึงไม่ลืมเธอสักที หรือต้องรอให้เธอบอก ฉันเป็นส่วนเกิน ที่บังเอิญผ่านมาแล้วทำให้เธอกับเขาวุ่นวาย...เธอจะร้ายเพียงใด อดทนไว้เข้าใจโดยดี เคืองไม่มี ยังภักดี โดยไม่เคยเปลี่ยนแปลง...จะแสดงให้เธอ รู้ซึ้งถึงความจริงจังจริงใจ ด้วยยังหวังสักวัน ฟ้ารู้ถึงคำรำพันของฉันเมื่อไหร่ สะกิดใจบอกเธอให้ช่วยพิจารณา...ฉันไม่เคยคิดแข็งข้อ หรือบังอาจขอ เพราะยังเจียมและเตรียมหัวใจของคนส่วนเกิน คบฉันไว้เหมือนเป็นเพื่อน ช่วยเตือนเพศภัย ทุกข์เมื่อไหร่ปลอบใจ ร้องไห้คราใดจะขอเช็ดน้ำตา...ปรารถนาเวียนวน ตามประสาของคนเคยเคียง จึงร้องเรียน เวียนแวะวน ทนแม้จะถูกหยาม...จะพยายามให้เธอ เว้นที่ภายในดวงใจของเธอให้กับฉัน ได้ยืน รกร้างเยือกเย็น เดียวดายเจียนตายไม่หวั่น จะทำใจ แบ่งใจให้ฉันนิดหนึ่งพอ...
คนแต่งทำนองคือพี่โอม ชาตรี (The Innocent/ปัจจุบันเป็นมิวสิคไดให้กับ af) พี่แจ้แต่งเนื้อ โดยตั้งใจใส่คำว่า "ฟ้า" ซึ่งเป็นชื่อแฟนพี่โอมลงไปด้วย ใครที่คิดว่าเพลงนี้ Friday ร้องออริจินัล โกรธตายเลย เป็นเพลงเนื้อไม่ซ้ำครับ และแต่งดีมาก ทั้งสัมผัสนอก ใน สระ อักษร (ตัวอย่าง: ปรารถนาเวียนวน ตามประสาของคนเคยเคียง จึงร้องเรียน เวียนแวะวน ทนแม้จะถูกหยาม) ถ้า ฝากรัก เป็นเพลงบอกรักอารมณ์ดี นิดหนึ่งพอ คือเพลงที่อ้อนวอน ร้องขอ จะเยือกเย็น เดียวดายเจียนตายเพียงใดก็ขอแค่ที่ว่างเล็กๆ ในใจเธอ

2. ทำไมต้องเธอ (ธงไชย แมคอินไตย์)

...ก็มันไม่อยากรู้ ก็มันไม่อยากรัก ไม่มีเวลาที่จะคิด ที่จะสนใจ...แต่พอได้เจอเธอ ก็ดูชีวิต มันผิดเพี้ยนไป ฉันกลายเป็นคนอ่อนแอ ไม่ชอบเลย...เมื่อไหร่ที่อยู่ใกล้เธอ ฉันรู้สึกราวกับเคลิ้มไป ไม่เป็นตัวเอง ไม่เหมือนเคย แต่พอ เธอห่างหายไป คิดจะลืม ยังไม่ได้เลย ทำไมต้องเป็นไม่เข้าใจ...นี่ตัวฉันเองหรือ เปลี่ยนไปถึงเพียงนี้ หมดความเข้มแข็งและเหตุผล ไปอย่างง่ายดาย...อาจเป็นเพราะเธอนั้น ได้เดินมาหา เข้ามาค้นใจ แล้วฉันก็เลยเปลี่ยนไป เพราะรักเธอ...
เพลงนี้มีอยู่สามเวอร์ชั่นครับ คือออริจินัลของพี่เบิร์ด น้องจิ๋ว แล้วก็บอยตรัย เพราะทุกเวอร์ชั่น! ของบอยตรัยจะต่างจากเพื่อนตรงเป็นอะคูสติกกีต้า เราชอบออริจินัลสุด อะเรนจ์แบบหนวกหู เสียงประสานเยอะๆ แต่เสียงร้องหวานๆ ของน้องจิ๋วก็เข้ากันได้ดีกับเนื้อ มีเรื่องจะเล่าให้ฟัง สมัยมาเมืองนอกใหม่ๆ ตอนที่อกหักแรงๆ บวกอาการแพ้อากาศกำเริบ ยามโพล้เพล้จะนอนตายอยู่ในห้อง แล้วก็ฟังเพลงนี้กลับไปกลับมา สั่งน้ำมูกท่วมถังขยะ ไม่รู้เพราะร้องไห้ หรือแพ้อากาศ ผ่านไปเจ็ดแปดปี เคยนั่งรถชมราตรีกรุงเทพกับผู้หญิง (อีกคน) ที่เค้าไม่รักเรา ปรากฎว่ามีเพลงนี้อยู่ในมิกซ์เทป เราบอกเค้าว่าเป็นเพลงโปรด เค้าบอกเค้าก็ชอบเพลงเหมือนกัน จากนั้นก็เอาแต่เล่นวนไปวนมา ร้องซ้ำๆ กันอยู่นั่นแหละ (แต่ด้วยความรู้สึกที่แตกต่างกันแค่ไหนหนอ) เพลงนี้อยู่ในอัลบั้ม มิวสิคบอกซ์ ซึ่งตอนออกมาใหม่ๆ เหมือนจะไม่ค่อยดัง พอพี่เบิร์ดออกคอนเสิร์ตอัลบั้มถัดไป (เล่าสู่กันฟัง) ได้เอาเพลงนี้มาร้อง ตั้งแต่ก็เหมือนมันจะเป็นที่รู้จักมากขึ้น เราก็ทึกทักของเราไปเองว่าพี่เบิร์ดคงชอบเพลงนี้มากพอดู

1. ความรักเพรียกหา (ชัยรัตน์ เทียมเทียม/นรีกระจ่าง คันธมาส/ธงไชย แมคอินไตย์)

...ก่อนเคยพะนอ ก่อความรักติดตรึงดวงใจไม่เสื่อมคลาย นอนละเมอเพรียกถึงเธอไม่เคยเว้นวาย แต่แล้วโลกพาวกเวียนเปลี่ยนไป ใจระทม...สุดรักภักดี อยากเห็นเธอมีชีวีสดใส ตรองคิดดูว่าโลกสร้างเธอมาให้ใคร เจ็บนักรักพาระกำช้ำใจ...ขาดดวงใจ โอ้ ชีวิตจะดำเนินต่อไป โอ้ ชีวิตจะดำเนินเพื่ออะไร โอ้ ชีวิตใยมืดมน หนทางเลือน...โศกใดมิปาน อกร้าวรานจนตายไม่เหือดหาย นอนระทมเศร้าทุกคืนกลืนน้ำตา สุดแสนจะทรมานหัวใจ...
ให้เกียรติพี่เบิร์ดสองเพลงทอปเลยครับ! แม้ว่าออริจินัลจะเป็นของคุณชัยรัตน์ก็ตาม แต่ฉบับที่ไพเราะสุดขับร้องโดยคุณธงไชย (จริงๆ ของนรีกระจ่างก็เพราะมากๆ ) พี่เต๋อ "แต่ง" แต่จำไม่ได้เหมือนกันว่าทำนอง เนื้อร้อง หรือทั้งคู่ จริงๆ มีฉบับที่โจร้องด้วย แต่ไม่เพราะ :P เป็นอีกเพลงที่ฟังตอนป่วยกายป่วยใจครั้งสาหัสคู่กับ ทำไมต้องเธอ แฟนเก่าเราก็ชอบเพลงนี้เหมือนกัน ตอนใกล้ๆ แยกทาง เคยร้องให้เขาฟัง แต่เขารีบตะโกนกลับมาว่า "อย่าร้องนะ เธอไม่มีสิทธิร้องเพลงนี้อีกแล้ว!" ฉบับที่พี่เบิร์ดร้องอยู่ในชุดรวมเพลงรักไม่รู้จบ 10 อัลบั้ม ซึ่งเป็นการนำเพลงเก่ามาร้องใหม่ คู่วงออเคสตร้า ทำดนตรีดีมาก แต่เหมือนจะไม่เป็นที่นิยมทั้งเด็กรุ่นใหม่ และคนรุ่นเก่า (สมัยนั้นเพลงเก่ายังไม่บูมแบบยุคนี้) เวลาฟังใครร้องเพลงนี้ เหมือนไม่ได้ฟังเขาร้องเลย เหมือนฟังเขาพูด อธิบายความเจ็บปวดในใจเรามากกว่า ก่อนเคยพะนอ ก่อความรักติดตรึงดวงใจ...นอนละเมอเพรียกถึงเธอ...แต่แล้วโลกพาวกเวียนเปลี่ยนไป...ตรองคิดดูว่าโลกสร้างเธอมาเพื่อใคร...ขาดดวงใจ โอ้ ชีวิต จะดำเนินเพื่ออะไร...

...จึงต้องมานอนระทมเศร้าทุกคืนกลืนน้ำตา ฟังเพลงรักปลอบใจเช่นนี้

20 เพลงไทยในดวงใจ (6~10)

10. เล่นของสูง (Big Ass)

...ได้เกิดมาเจอเธอทั้งที ยังไงก็ยังจะลองดีสักวัน อยากรักก็ต้องเสี่ยง ไม่อยากให้เธอเป็นเพียงภาพในความฝัน...ลำบากลำบนไม่สนใจ ตะเกียกตะกายสักเพียงใดก็ดีกว่าปล่อยเธอไปจากฉัน ตกหลุมรักจริงๆ เพราะรักจริงๆ เธอคงไม่ว่ากัน...
เพลงชาติครับ โทนเสียงผมใกล้เคียงพี่แด๊ก ทำให้ร้องเพลงนี้เพราะ เป็นอีกไม่ตายเวลาเกะ ชอบตั้งแต่เอมวีซึ่งชวนให้นึกถึงหนังไทยในดวงใจ ฟ้าทะลายโจร เพลงได้อารมณ์สุดๆ ฟังแล้วนึกถึงเหล่า "นางฟ้า" ที่บินผ่านเข้าออกชีวิตเรา เนื้อแต่งดี ได้ใจความตั้งแต่ฟังรอบแรก แม้เวลาจะผ่านมาเกือบห้าปี ก็ยังไม่เก่าลง รับรองว่าได้ขึ้นทำเนียบเพลงไทยคลาสสิคแน่

9. ยอม (ดนุพล แก้วกาญจ์)

...ก็รู้ยังไม่วายอยากเจ็บ จะแตกจะเย็บก็ยังสู้ยอมกายพลี จะสิ้นชีวิตล้มกองขอลองดูที อยากจะมีคู่เคียงชิดกาย...เช่นฉันเททุ่มใจเพียงเธอ สม่ำเสมอ รอคอยละเมอนานวัน จะแตกจะยับพับลงเพราะเธอจำทน ไม่กังวลข่นแค้นคินคลางคลาย...
ฟังเพลงนี้แล้วนึกถึง The Impossible Dream ซึ่งเป็นเพลงประกอบละครดอน คิโฮเต้ (ทั้งที่จริงๆ The Impossible Dream มี "เพลงแปล" เป็นตัวเป็นตนแล้วคือ ความฝันอันสูงสุด) ท่อนฮุคที่ว่า "ก็รู้ยังไม่วายอยากเจ็บ...(ตามด้วยเสียงกลองตุ้มอยู่ไกลๆ )...จะแตกจะเย็บก็ยังสู้ยอมกายพลี" ได้อารมณ์ไม่ยอมพ่ายแพ้ นึกภาพผู้ชายที่เพื่อความใฝ่ฝัน (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัก หรือเรื่องอื่น) ก็ยังอดทนฝ่าฝันทุกอุปสรรค เหมาะมากครับ สำหรับฟังเวลาท้อแท้

8. หวั่นไหว (Bodyslam)

...อดใจไม่ไหวเมื่อได้พบหน้า ยิ่งเธอส่งยิ้มคืนมายังหวั่นไหว ยังเป็นอย่างนี้อยู่ทุกวัน ฉันต้องคอยหักห้ามใจ...อดใจไม่ไหวทุกทีที่เจอ เพียงแค่แอบเผลอมองตา จะผิดไหม เก็บเอาไปฝันอยู่ทุกคืน ฉันต้องทำตัวเช่นไร ช่วยบอกได้ไหมเธอ...
ชื่อกลางเราคือ "หวั่นไหว" ครับ ในเพลงนี้มีชื่อผู้หญิงที่เราเคยรัก ซ้ำยังอัดแน่นไปด้วยอดีตมากมาย เสียดายโทนเสียงเราไม่ค่อยสอดคล้องกับพี่ตูน แม้จะชอบเปิดเพลงนี้เวลาเกะ สุดท้ายร้องไม่ออก ต้องให้คนอื่นช่วยร้องร่ำไป เพื่อนเรา ที่เป็นนักดนตรีบอกว่าความเจ๋งของวง Bodyslam คือทำนองจะเปลี่ยนกลางประโยคครับ ลองสังเกตดีๆ

7. ลมหายใจ (Mr. Z)

...เธอคงไม่รู้จะทำอย่างไรก็ไม่รู้ ว่ามีฉันนั้นคอยห่วงใจ แต่จะยากเย็นเพียงใด จะอีกนานสักเท่าไหร่ อยากให้เธอรู้และให้เธอเข้าใจ...เธอคือลมหายใจ เธอคือทุกอย่าง จะรักเธอไม่มีวันจาง ไปจากใจ...ก็เพราะ เธอคือลมหายใจ เธอคือทุกสิ่ง จะให้ทิ้งอะไรก็ยอมทุกอย่าง จากนี้ใจฉันจะมีแต่เธอ...
ตอนอยู่ม. หก เราฟังเพลงนี้ทุกวัน อย่างน้อยในรอบยี่สิบสี่ชั่วโมง ต้องเอาอัลบั้ม Z-myx มาเปิดสักหน ถึงจะออกมาหลายเวอร์ชั่น แต่ที่โดนใจสุดก็ยังเป็นของพี่ป๊อด ด้วยการมิกซ์เสียงของสมเกียรติ (ฉบับที่คุณป้ากมลาร้องในคอนเสิร์ตเบเกอรี่ก็ได้ใจพอสมควร) ชอบถึงขนาดว่าแปลเนื้อเป็นภาษาอังกฤษ ร้องได้ไว้ด้วยครับ พี่บอยแต่งเนื้อ และทำนอง จนปัจจุบันก็น่าจะเป็นเพลงที่มีคนรู้จักมากสุดเพลงหนึ่งของเบเกอรี่

6. รักครั้งสุดท้าย (Tea for Three)

...คนเหงาคนหนึ่ง ที่มีความรักเพื่อการจากลา เหมือนลมที่ผ่านมา...ความรักครั้งใหม่ กับเธออยากเป็นรักครั้งสุดท้าย จะรักเธอไม่เปลี่ยนไป...เธอจะรักฉัน จะอยู่กับฉันเรื่อยไปได้ไหม อยู่กับใจฉัน อยู่เป็นความหมายของผู้ชายคนนี้ เธอคือความรักที่แสนดี เธอคือเหตุผลของพรุ่งนี้ ให้เรามีกันและกัน บนความผูกพันที่เข้าใจ...
มีเพื่อนอยู่คนที่เค้าชอบวงทีฟอร์ทรีเหมือนเรา ถ้ารู้ว่าเราเลือกเพลงนี้ติดสิบอันดับต้นคงถูกด่าเละ เพราะ มันเป็นเพลองทีฟอร์ทรีหลังออกจากเบเกอรี่มาแล้ว! ช่วยไม่ได้นี่นา ชอบเพลงท่อนฮุคเสียงต่ำ จะฟังกี่ทีก็รู้สึกคลาสซี มีระดับ แม้พักหลังจะแอบเศร้าๆ กับการจากไปของพี่ผี ขอส่งบุญให้พี่นะครับ เสียงกีต้าที่พี่หลงเหลือไว้ให้วงการเพลง อย่างน้อยมันก็อยู่ในใจใครบางคน