เมื่อศรัทธาเขยื้อนภูผา
ผลงานของเอลิส จิตรกรภาพเคลื่อนไหว ที่ติดตรึงใจเราสุดคือ When Faithes move Mountains เอลิสหาอาสาสมัครชาวเมกซิโกห้าร้อยคน พร้อมจอบเสียมห้าร้อยด้ามมาช่วยกันขนย้ายภูเขาทราย ภาพกระบวนการทำงานทั้งหมดถูกบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังรับชม น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อยกับกองทัพห้าร้อยคนเรียงแถวหน้ากระดาน ทำงาน ขุด โยน
แต่สิ่งที่น่าติดตรึงตากว่า คือวันรุ่งขึ้น เอลิสถ่ายภาพทิวทัศน์นอกเมือง เปรียบเทียบกับเช้าวันก่อน แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลง แค่กองทรายมหึมาหนึ่งกองขยับเขยื้อนท่ามกลางกองทรายอีกนับร้อย คุณค่าอย่างเดียวซึ่งหลงเหลืออยู่คือภาพที่เอลิสบันทึกเอาไว้
เอลิสทำให้เราคิด
เราคิดถึงผลการเลือกตั้ง คืนวันที่ 23 ไปกินข้าวบ้านรุ่นพี่ พอพูดถึงเรื่องนี้ คำพูดแรกที่อีกฝ่ายเอ่ยออกมาคือ "สุดท้ายก็กลับเป็นเหมือนเมื่อสองปีก่อน"
เราคิดถึงวรรณกรรมตุลา ทั้งที่เขียนสมัยนั้น และจำลองขึ้นในภายหลัง เหตุการณ์เมโลดรามาเรียกน้ำตาว่าด้วยความผูกพันระหว่างคนรัก พ่อแม่ พี่น้องถูกสะบั้นหั่นกลางด้วยกระสุนปืน แต่นับวันยิ่งไม่ค่อยมีใครพูดถึงว่าเหตุใด ทำไม และเพื่อใครพวกเขาถึงลุกขึ้นมาต่อสู้กับคนถืออาวุธ (และในทางตรงข้าม เหตุใดกองทัพจับปืนขึ้นมาเข่นฆ่าพวกเขา)
แท้ที่สุดแล้วสิ่งซึ่งหลงเหลืออยู่คือการกระทำ ถ้าใครศึกษาประวัติศาสตร์ไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะพบว่ามันเต็มไปด้วยรัฐประหาร และเดินขบวนประท้วงผู้มีอำนาจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ๆ กระทั่งเรียบเรียง จดจำกันไม่ถูกว่าแต่ละครั้งใครขับไล่ใคร
เหลือแต่ "รัฐประหาร" เหลือแต่ "การประท้วง" นั่นแหละคือคุณค่าสุดท้ายของสิ่งที่พวกเราทำ
หมายเหตุ: ผลงานสร้างชื่อของเอลิสคือการจับมือกับอินาริทูในภาพยนตร์เรื่อง Amore Perros
S. Freud's "The joke and its relation to the unconscious"
หยัย! อุตส่าห์เขียนมายาวเหยียด แต่กดผิดนิดเดียว หายเกลี้ยงเลย ขี้เกียจเขียนใหม่แล้ว เอาเป็นว่าขอสรุปสั้นๆ แล้วกัน ใน The joke and its relation to the unconscious ฟรอยด์ปรับเอาแนวคิดเรื่องจิตใต้สำนึกใน The interpretation of dreams มาใช้อธิบายเรื่องตลก เหตุใดคนเราถึงหัวเราะ เหตุใดคนเราถึงชอบฟัง และเล่าเรื่องตลก ซึ่งแม้เราจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับข้อสรุปสุดท้าย (หรือถ้าเห็นด้วย ก็รู้สึกว่าการที่ฟรอยด์เอาจิตใต้สำนึกมาครอบคลุมทุกหัวข้อออกจะเกินเหตุไปบ้าง) แต่กว่าจะถึงตรงนั้นนักปรัชญา/จิตวิทยาผู้นี้พูดถึงหลายประเด็นน่าขบคิด ที่ชอบสุดคือ "หลักเศรษฐศาสตร์ของพลังงานความคิด" โดยฟรอยด์ตีว่าจุดร่วมกันของเรื่องชวนหัวคือ เรื่องที่ทำให้เกิดทางลัดในสมอง ช่วยให้เราไปสู่ความคิดหนึ่งจากอีกความคิดหนึ่งโดยใช้พลังงาน และประหยัดเวลาสุด ชอบคำอธิบายตรงนี้
S. Zizek's "The Metastases of Enjoyment"
สารภาพเลย สาเหตุประการหนึ่งที่หยิบ The Metastases of Enjoyment ของซีเซคขึ้นมา เพราะเวลาทำสารบัญอยากใส่หนังสือลงดัชนีตัว "Z" เต็มแก่แล้ว
The Metastases of Enjoyment คือบทวิเคราะห์การเมือง และเพศศาสตร์อ้างอิงทฤษฏีของลาคาน ภายหลังฟรอยด์ ลาคานถูกจัดให้เป็นปราชญ์ทางจิตวิทยาที่ทรงอิทธิพลอย่างมากช่วงหลังศตวรรษที่ 20 หากชื่อลาคานจะไม่เป็นที่รู้จักบนท้องถนนก็ด้วยสาเหตุเดียวคืองานแกเข้าใจยาก จนบัดนี้ก็ยังไม่มีคู่มือสรุปง่ายๆ ให้คนทั่วไปอ่านได้ The Metastases of Enjoyment น่าจะใกล้เคียงสุดแล้วกับการเป็น Lacan for a perplexed สำหรับผู้สนใจแต่ไม่กล้าแตะต้อง Ecrits (ซึ่งหนา และเท่าที่ได้ยินมาอ่านยากมหา)
ถ้าให้แถลาคานในย่อหน้าเดียว ต้องอธิบายก่อนว่าลาคานเป็นนักโครงสร้างนิยม (อ่านเกี่ยวกับ structuralism ได้ในบลอคเก่า) ซึ่งนิยามวัตถุด้วยสภาพ "อวัตถุ" หรือ "สุญญากาศ" อันเกิดจากการหายไปของวัตถุนั้น ยกตัวอย่างเช่นเวลาเรานึกถึงสุนัข จริงๆ แล้วแก่นของความเป็นสุนัขไม่ได้อยู่ที่ตัวสุนัขแต่อยู่ที่สภาพแวดล้อมซึ่งปราศจากสุนัข หรือสิ่งที่อยู่รอบ "สุญญากาศ" (ตรงนี้ถ้าใครเข้าใจสัมพันธภาพทั่วไปจะง่ายขึ้นเยอะ เพราะไอนสไตน์ก็บอกว่ามวลสารคือ "กาลอวกาศ" ที่ถูกบิดเบี้ยว เป็นการนิยามวัตถุในเชิงผลกระทบที่มันมีต่อสสารภายนอก) ด้วยเหตุนี้เราไม่อาจเข้าถึงสุนัขได้อย่างแท้จริง เพราะทันทีที่เราแตะต้อง หรือเห็นมัน สุนัขตัวนั้นจะกลายเป็น "สัญลักษณ์" ไปทันที (เพราะตัวตนที่แท้จริงของสุนัขคือความว่างเปล่านั่นเอง)
ไม่ซับซ้อนเกินไปนักถ้าเอาไปปรับใช้กับความรัก ยกตัวอย่างผู้ชายคนหนึ่งหลงรักผู้หญิง และเมื่อได้เธอคนนั้นไปครอบครอง สิ่งที่เข้ามาอยู่ในมือเขาย่อมแตกต่างจากสิ่งที่เฝ้าฝันหา (เพราะสิ่งซึ่งเขาหลงรักที่แท้คือความว่างเปล่า และแต่ละอันพันน้อยที่รายล้อมความว่างเปล่านั้น) เป็นสาเหตุว่าทำไมความรักทำให้คนตาบอด และคนเรามักรู้สึกเสมอว่าอีกฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิมหลังจากได้เข้ามาอยู่ใกล้ชิดกัน
ตัวอย่างสนุกๆ แบบนี้ยังมีอีกมากมายใน The Metastases of Enjoyment มีบทวิเคราะห์อำนาจเผด็จการ และคอมมิวนิสต์ที่เรารู้สึกว่าสั้นไปหน่อย สืบเนื่องจากซีเซคเป็นนักทฤษฎีภาพยนตร์ เราจึงได้เห็นตัวอย่างที่พอคุ้นหูคุ้นตาบ้างตั้งแต่ A Few Good Man, M. Butterfly, หนังของเดวิด ลินช์ ฮิชคอก ฯลฯ
C. Mouffe's "The return of the political"
อะไรคือนิยามของ "สมัยใหม่" และ "หลังสมัยใหม่" คำเหล่านี้ปรากฏในสังคมไทยมาจะครบสิบปีแล้ว ควรถึงเวลาที่เรารู้ความหมายของมันเสียที ถ้าเช่นนั้นก็สองมือล้วงกระเป๋า สองเท้าก้าวเข้ามาเลย บอกก่อนว่า "สมัยใหม่" และ "หลังสมัยใหม่" มีความหมายแตกต่างกันไปในแต่ละสาขาวิชา ซึ่งจากที่ได้อ่านและรู้มา ความหมายในทางการเมืองน่าจะครอบคลุมสุด
"สมัยใหม่" เริ่มต้นพร้อมกับการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งในเวลาใกล้เคียงกัน อเมริกาแยกตัวเป็นเอกเทศจากอังกฤษ กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ปกครองประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน (ไม่นับกรีก โรมันในอดีตกาล) จะมองแบบเหมารวมก็ได้ว่า "สมัยใหม่" คือยุคกำเนิดของประชาธิปไตย ซึ่งมีใจความสำคัญคือ 1) การแยกตัวอย่างเด็ดขาดระหว่างอาณาจักร และศาสนาจักร (จะมองการโค่นล้มกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของข้อนี้ก็ได้ เพราะฐานอำนาจราชวงศ์มาจากศาสนาจักร) 2) การแบ่งพื้นที่ส่วนตัว และสาธารณะ มนุษย์สมัยใหม่เข้าใจว่าสิ่งที่เขากระทำต่อหน้า และลับหลังผู้อื่นส่งผลกระทบ และมีน้ำหนักที่แตกต่างกัน ฉะนั้นจึงสรุปว่า "สมัยใหม่" คือยุคของช่องว่างแห่งอำนาจที่นักคิด นักปรัชญาพยายามหาสิ่งอื่นมาเติมเต็ม (ความหมายในทางสถาปัตยกรรม วรรณคดี และศิลปะก็ไม่ต่างจากนี้เท่าไหร่นัก)
ถ้ายอมรับความหมายตรงนี้ของ "สมัยใหม่" เสีย "หลังสมัยใหม่" ก็ง่ายนิดเดียว นั่นคือภายหลังการค้นหาอันสูญเปล่า ปราชญ์พบว่าช่องว่างดังกล่าวไม่อาจเอาสิ่งใดเข้ามาทดแทนหากต้องยอมรับสภาพพหุนิยม (pluralism) คือความซับซ้อน หลากหลายในสังคม
ข้อขัดแย้งทางการเมืองในโลกตะวันตกคือระหว่างระบบการปกครองซึ่งให้ความสำคัญกับปัจเจก สิทธิส่วนบุคคล และแบบให้น้ำหนักกับสัมมาร่วม (common good) หรือเป้าหมายที่ ในทางทฤษฎี ทั้งสังคมตกลงกันว่าเราจะมุ่งไปทางนั้น นักคิดประเภทแรกเช่นราวล์ส เจ้าของวาทะอมตะ "สิทธิเหนือสัมมา" (the right over the good) เน้นความสำคัญของกฎหมาย เพราะเขาเชื่อว่ารัฐบาลมีหน้าที่เพียงจำกัดพื้นที่สาธารณะ และกำหนดโครงสร้างของสังคม นักคิดประเภทหลังเช่นชมิท ปฏิเสธกฎหมาย และสนับสนุนให้รัฐบาลกำหนดทั้งข้อห้าม และแนวทางการดำเนินชีวิต มูฟฟ์จับเอาข้อขัดแย้งตรงนี้มาเป็นประเด็นหลักใน The return of the political
มูฟฟ์ไม่ได้เอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง แนวคิดแบบแรกมีปัญหาเพราะท้ายสุดสิทธิของปัจเจกย่อมมีรากฐานมาจากสัมมาร่วม แนวคิดแบบหลังใช้ไม่ได้ หรือ ไม่ยืนพื้นอยู่บนความเป็นจริงเพราะได้ปฏิเสธสภาพ "หลังสมัยใหม่" และ "พหุนิยม" มนุษย์ในยุคปัจจุบันไม่อาจย้อนกลับไปหาศูนย์อำนาจเช่นกษัตริย์ หรือพระเจ้าได้อีก รวมถึงไม่อาจเอาโลกส่วนตัวมาปนเปกับโลกสาธารณะ (จากนิยามตรงนี้จะมอง คำพิพากษา ว่าเป็นนิยายที่ชี้ให้เห็นผลกระทบของความไม่ "สมัยใหม่" ในสังคมชนบทก็ได้ น่าขบคิดเหมือนกันที่มนุษย์ "สมัยใหม่" คนเดียวในนิยายเล่มนี้คือ "ผู้ร้าย" เช่นครูใหญ่ที่สามารถแยกแยะอัตลักษณ์ภายนอก และภายในได้อย่างดี)
สรุปลงท้ายซึ่งอยากให้เก็บไปคิดกันคือ ก่อนจะเอ่ยอ้างคำว่า "ธรรมธิปไตย" (ระบบการปกครองที่ผสานระหว่างธรรม และประชาธิปไตยเข้าด้วยกัน) ลองหาหนังสือปรัชญาการเมืองจริงๆ มาอ่านประดับความรู้กันหน่อยดีไหม
J. Derrida's "The politics of friendship"
หมดแรงครับ ทีหน้าทีหลังจะหยิบจับตำราปรัชญา คงต้องคิดแล้วคิดอีก ถ้าเป็นนิยาย ขึ้นอยู่กับความอึดเท่านั้นว่าเราจะอ่านจบเมื่อไหร่ จะเบื่อไปก่อนไหม ส่วนหนังสือปรัชญานี่ ถ้ายังไม่พร้อม มีสิทธิหัวระเบิดได้ง่ายๆ พร้อม หรือไม่พร้อมหมายถึงผู้อ่านมีพื้นในเรื่องที่ผู้เขียนนำเสนอแค่ไหน ถ้าเป็นประวัติศาสตร์ และการเมือง ธรรมดาเราสู้ตายถวายหัว ขนาดนั้น ยังต้องยอมรับเลยว่า The politics of friendship เป็นหนังสือที่อ่านยากสุดในรอบปี ครั้งสุดท้ายที่หัวแทบแตกแบบนี้คือตอนอ่านไฮเดกเกอร์เมื่อธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งก็อ่านไม่จบเสียด้วยสิ กับ The politics of friendship ตั้งมั่นมากๆ ว่าต้องพิชิตมันให้ได้ ถึงขนาดพัก หยุดอ่านกลางคัน ไปหาชมิตมานั่งอ่านปูพื้นความรู้ตัวเอง
นักปรัชญาก็เหมือนไอติม มีหลายรส หลายแนว เวลาอ่านงานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา หรือสังคมศึกษาอื่นๆ พอจับเค้าได้ว่า คนแขนงนี้เขามองปัญหากันอย่างไร คนที่ศึกษาวิชาเดียวกันมักมีวิธีคิดจำเพาะทาง แต่สำหรับนักปรัชญา ขณะที่ถ้าฟูโกต์เป็นนักปรัชญา-ประวัติศาสตร์ คือใช้เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาอธิบายแนวคิดของตัวเอง เพื่อนร่วมชาติชาวฝรั่งเศสอย่างเดริดาก็คงเป็นเป็นนักปรัชญา-ปรัชญา The politics of friendship ดึงเอาองค์ความรู้ตั้งแต่สมัยอริสโตเติล นิทเช่ (ถ้าไม่เคยอ่าน Beyond good and evil มาก่อน คงต้องเสียเวลาไปอีกเป็นอาทิตย์) ชมิท และพอถึงช่วงท้ายๆ มีไฮเดกเกอร์ กับคานด้วย อ่านจนจบแล้วยังไม่แน่ใจเลยว่าส่วนไหนกันแน่ที่เป็นแนวคิดเดริดาจริงๆ
ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย การอ่านเดริดาก็เหมือนได้ศึกษาโครงสร้างวิชาปรัชญา (เรียกคูลๆ ว่า meta-philosophy แล้วกัน) ได้เห็นการเดินทางขององค์ความรู้ วิธีรับส่งลูกระหว่างนักคิิด นักเขียนต่างยุคสมัย ซึ่งจริงๆ นี่อาจเป็นประสงค์แต่แรกของผู้เขียนก็ได้ ให้สรุปแก่น The politics of friendship ก็คือเดริดาติดตามการตีความประโยคสั้นๆ ของอริสโตเติล "O my friends, there is no friend." ซึ่งแปลไทยออกมาพิกลๆ ว่า "เพื่อนเอ่ย ไม่มีเพื่อน" จริงๆ เป้าหมายของแกรวมก็ไปถึงการศึกษาวิธีแปลประโยคนี้จากกรีกดั้งเดิมเป็นเยอรมัน (ผ่านชมิท) และฝรั่งเศส (ผ่านมอนเทจน์ นักเขียนยุคเรอเนซองค์) ขณะที่บางคนก็รับมาเฉยๆ แต่นิทเช่เท่กว่านั้น เพราะแกดัดแปลงใหม่เป็น "Perhaps to each of us there will come the more joyful hour when we exclaim: 'friends, there are no friends!' thus said the dying sage; 'Foes, there are no foes!' say I, the living fool." เชื่อไหมถ้าเราบอกว่าบทหนึ่งของหนังสือเล่มนี้อุทิศให้กับคำว่า "perhaps" ของนิทเช่ ไม่สงสัยเลยว่าเหตุใดเดริดาถึงได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่ง linguistic deconstructionist
ใครที่อยากอ่านจริงๆ เตรียมใจไว้เลยว่างานเขียนชิ้นนี้กระโดดข้ามไปข้ามมา ไม่รู้จะแบ่งบท แบ่ง chapter ไปทำไมในเมื่อความคิดเดียวกันกระจัดกระจายปะปนตลอดทั้งเล่ม ใน The politics of friendship ธีมซึ่งย้อนกลับมาพูดถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าคือ "perhaps" ของนิทเช่ ทฤษฎีมิตร/ศัตรูของชมิท การใส่ความเป็นผู้หญิงเข้าไปในปรัชญาโบราณ อสมมาตรของความรัก (อริสโตเติลกล่าวไว้อย่างชวนหัวว่า "รักเขา ดีกว่าให้เขามารักเรา") มิตรภาพผ่านมุมมองเลขคณิต จนถึงกลศาสตร์ระหว่างความรัก และความเคารพของคานท์ (ประเด็นหลังน่าสนใจสุด เสียดายที่เดริดาพูดถึงแค่นิดเดียว)
รับไม่ไหวเหมือนกันกับหนังสือสามร้อยหน้า สาระเต็มเหยียดนี้ เตือนตัวเองไว้แล้ว ตั้งแต่นี้ถ้าเป็นหนังสือปรัชญาขอสั้นๆ สองร้อยหน้ากำลังดี
C. Schmitt's "Political Theology" & "The Concept of the Political"
ควบสองเล่มเลยครับ กับหนังสือปรัชญาการเมืองของคาร์ล ชมิต
ชมิตเป็นนักกฎหมายปรัชญาชาวเยอรมัน มีชีวิตอยู่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สมัยที่ประเทศเยอรมันตกต่ำสุดขีด ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ชมิตคิดค้น เผยแพร่ปรัชญากฎหมาย การเมืองผ่านชุดหนังสือเล่มบางๆ ซึ่ง Political Theology และ The Concept of the Political ก็รวมอยู่ในนั้น โดยเฉพาะเล่มหลังสร้างชื่อให้กับแกที่สุด เช่นเดียวกับไฮเดกเกอร์ ชมิตคือหนึ่งในปัญญาชนซึ่งสนับสนุนนาซี และการขึ้นเถลิงอำนาจของฮิตเลอร์ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ที่เราจะถามตัวเองว่าตรงไหนกันแน่ในหนังสือสองเล่ม อันนำมาซึ่งข้อสรุปผิดพลาดได้ขนาดนี้
ถึงจะผิดพลาด แต่ก็ใช่ว่าจะไร้คุณค่า นี่กระมังข้อแตกต่างในวิธีการมององค์ความรู้ของฝรั่ง และไทย คนไทยต้องการคำตอบ ซึ่งคำตอบจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมันถูกเท่านั้น เราถึงได้ยกย่องปรัชญาที่ (อ้างกันเองว่า) "ไม่มีวันผิด" อย่างพุทธศาสนา ขณะที่ปรัชญาในสายตาชาวตะวันตก เป็นเพียงวิธีตั้งคำถาม ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่คำตอบ และคำถามซึ่งมี หรือไม่มีคำตอบเหล่านี้อาจมีคุณประโยชน์ไม่แพ้ปรัชญาซึ่ง "ไม่มีวันผิด" ก็ได้
Political Theology พูดถึงข้อขัดแย้งระหว่างกฎหมาย และองค์อธิปไตย (sovereignty) ชมิตชี้ให้เห็นว่าในสถานการณ์คับขันจริงๆ มีแต่องค์อธิปไตย หรือผู้กุมอำนาจสูงสุดในสังคมเท่านั้น (ซึ่งอาจเป็นประชาชน ทหาร กษัตริย์ หรือนายก) จะนำพาประเทศผ่านสภาวะนี้ ชมิตเปรียบเทียบข้อขัดแย้งตรงนี้กับข้อขัดแย้งคลาสสิกของคานท์ ว่าด้วย form vs. matter โดย form หรือกฎหมาย เป็นบรรทัดฐานสำหรับครอบคลุมทุกสถานการณ์เท่าที่คนออกกฎหมายจะคิดขึ้นมา ขณะที่ matter หรือตัวสถานการณ์จริงๆ อาจหลุดกรอบความคิดตรงนั้นไป
ลองเอาวิธีคิดแบบนี้มาใช้มองการเมืองไทยในช่วงปี สองปีที่ผ่านมาดู คุณจะเห็นโลกชัดเจนอีกระดับหนึ่งเลย
The Concept of the Political เป็นนามธรรมขึ้นไปอีกขั้น ชมิตตีความหมายของ "การเมือง" โดยสรุปง่ายๆ คือการแบ่งโลกเป็นสองขั้ว มิตร/ศัตรู ไม่ว่าบรรทัดฐานที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใช้แยกแยะจะมาจากศาสนา เศรษฐศาสตร์ หรือเชื้อชาติก็แล้วแต่ ไม่สำคัญทั้งนั้น ทันทีที่โลกในสายตาพวกเขาถูกแบ่งเป็นสองฝ่าย การเมืองได้เกิดขึ้นแล้ว สงครามศาสนาจึงไม่มีจริงในนิยามของชมิต มีแต่ สงครามการเมือง
การเมืองเป็นส่วนประกอบของทุกสถาบัน ทุกประเด็นในสังคม โลกนี้ไม่อาจอยู่ได้โดยไร้การเมือง ไม่อาจอยู่ได้โดยไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก การแยก มิตร/ศัตรู ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การสู้รบ และฆ่าฟันเสมอไป สงครามเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของข้อขัดแย้งที่เลยเถิดไปอย่างสุดโต่ง ชมิตเชื่อว่าสันติภาพ ไม่ใช่การทำให้ทุกคนยืนอยู่ฝั่งเดียวกันหมด หากเป็นการคานอำนาจกันระหว่างกลุ่ม และการแยกแยะมิตร/ศัตรูจะช่วยป้องการสภาพการก่อการร้าย หรือข้าศึกที่มองไม่เห็นเช่นในปัจจุบัน
ตอนท้ายเล่มชมิตยังทำนายอีกเหตุการณ์ ในปีที่เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างทางการเมือง ชมิตทำนายว่าอีกไม่นานเศรษฐกิจ (ซึ่งในยุคนั้นหมายถึงสันติภาพ) จะกลายเป็นอีกมิติหนึ่งของความขัดแย้ง ลองใครคนหนึ่งทำนายอะไรแบบนี้ออกมาได้ตรง ทฤษฎีของเขาก็ต้องมีคุณค่าให้เราเรียนรู้ และพยายามทำความเข้าใจบ้างแหละ
V. Woolf's "A Room of One's Own"
พออ่าน A Room of One's Own จบ รู้สึกว่าตัวเองน่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่เมื่อห้าหกปีที่แล้ว ถ้าได้อ่านตอนนั้น คงไม่ต้องเสียเวลาเทคปรัชญาเฟมินิสต์ทั้งหลายแหล่ที่เราเคยลง ประหนึ่งตัวเองเป็นนักศึกษาวิชาคริสตศาสนา แล้ววันหนึ่งได้อ่านไบเบิ้ลเป็นครั้งแรก ให้เปรียบเทียบ A Room of One's Own ว่าเป็นไบเบิ้ลของเฟมินิสต์ไม่เกินไปเลยแม้แต่น้อย หนังสือเล่มนี้รวบรวมข้อเขียน ความคิดอันคุ้นเคย วิธีการเหยียดเพศแบบต่างๆ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ รวมไปถึงผลกระทบ
A Room of One's Own มาจากเลคเชอร์ของวูลฟ์ ซึ่งก็หมายถึงเธอเตรียมเนื้อหา และก็บรรยายสดๆ ให้นักเรียนฟัง หลังจากนั้นค่อยมาดัดแปลงเป็นรูปแบบหนังสืออีกที ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าปี 1929 เขาใช้เทปบันทึกเสียง หรือว่าวูลฟ์เขียนขึ้นใหม่จากเลคเชอร์โน้ตกันแน่ แต่รู้สึกว่าถ้าได้อยู่ในห้องนั้น ฟังเธอพูดคงมันส์ ฮาดีพิลึก (ซึ่งต่อให้ย้อนเวลาก็ยังยาก เพราะเข้าใจว่าเขาอนุญาตเฉพาะนักศึกษาหญิงเท่านั้น) ขนาดบรรยายสดๆ ต่อหน้าผู้ชม วูลฟ์ยังสามารถพูดออกมาเป็นกระแสสำนึกได้เลย ไม่แปลกใจแล้วล่ะทำไมเธอเขียนนิยายอย่าง Mrs. Dalloway ออกมาได้
เลคเชอร์ที่ว่าคือหัวข้อ "ผู้หญิง และวรรณกรรม" สรุปสั้นๆ ผู้หญิงจะผลิตศิลปะดีๆ ออกมาได้ต้องมีห้องเป็นของตัวเอง และรายได้พออยู่พอกิน เฉกเช่นเดียวกับผู้ชาย วูลฟ์สรุปว่านี่คือสาเหตุทำไมในประวัติศาสตร์ถึงไม่เคยมีกวี หรือคนเขียนบทละครที่เป็นผู้หญิง สาเหตุตรงนี้เจาะลึกลงไปอีก บางครั้งความผิดก็ตกเป็นของตัวผู้หญิงเองด้วย เช่นว่าบางคนพอมีโอกาสถ่ายทอดความรู้สึกตัวเอง กลับเต็มไปด้วยความขมขื่น และกล่าวโทษอีกเพศหนึ่ง หรือไม่ก็พยายามเขียนเลียนแบบผู้ชาย
อย่างที่บอกแหละ ไม่ใช่ความคิดใหม่ ถึงได้อยากย้ำอีกครั้งว่า A Room of One's Own สมควรเป็นหนังสือที่ทุกคนอ่านแต่เนิ่นๆ
มีใหม่อยู่บ้างเหมือนกัน ชอบมากเลยที่วูลฟ์เปรียบเทียบว่านิยายไม่ใช่ประโยควางต่อๆ กันบนหน้ากระดาษ หากเป็นสถาปัตยกรรมอันมีประโยคเป็นโครงสร้าง เสา ปูน รากฐาน หรืออีกตอนที่วูลฟ์เปรียบเทียบการเขียนถึงสิ่งที่ไม่เคยมีคนเขียนมาก่อน ประหนึ่งจุดเทียนไขในห้องมืดอับแสง คงมีแต่นักกระแสสำนึกเท่านั้นจะใส่อุปมาโรแมนติกๆ แบบนี้ลงในเลคเชอร์ได้
W. M. Miller Jr.'s "A Canticle for Leibowitz"
มิลเลอร์ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่สอง เหตุการณ์ซึ่งกระทบใจเขาอย่างรุนแรงคือการระเบิดโบสถ์แห่งหนึ่ง อันเป็นโบราณสถานเก่าแก่สุดในทวีปยุโรป หลังสิ้นสงครามมิลเลอร์เขียนเรื่องสั้นลงนิตยสารวิทยาศาสตร์ แต่ละเรื่องมีตัวละครต่างชุด แต่ยืนพื้นอยู่บนโลกสมมติเดียวกัน กระทั่งเมื่อเสร็จเรื่องสุดท้าย เขาถึงได้ตระหนักว่าตัวเองเพิ่งเขียนนิยายวิทยาศาสตร์จบเล่มหนึ่ง
A Canticle for Leibowitz เป็นนิยายซึ่งมีตัวเอกเป็นโบสถ์ อาจฟังดูตลก แต่ให้ตีความจริงๆ ก็คงได้ข้อสรุปว่าพระเอกของนิยายไม่ใช่หลวงพ่อ หรือพระคุณเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง หากเป็นทั้งนิกายไลโบวิทซ์ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอันมีส่วนในการเก็บรวบรวม รักษาวิชาความรู้สำหรับมวลมนุษย์ ในโลกสมมติของมิลเลอร์ ภายหลังสงครามปรมาณูล้างโลก ผู้คนเข้าสู่ยุคโง่เขลา ใส่ความวิทยาศาสตร์ว่าเป็นต้นเหตุแห่งการทำลายล้าง หนังสือถูกเผาทิ้ง นักวิชาการถูกเข่นฆ่า ไลโบวิทซ์ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นวิศวกร ออกบวชเพื่อรักษาชีวิตตัวเอง ก่อตั้งนิกายโดยมีเป้าหมายเพื่อซ่อนเก็บ คัดลอก และจดจำหนังสือ โดยหวังว่าสักวันเมื่อผ่านพ้นยุคโง่เขลา วิชาความรู้จะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลาน
A Canticle for Leibowitz ดำเนินเหตุการณ์ยาวนานเกือบสองพันปี ผ่านเรื่องสั้นขนาดยาวสามเรื่อง ตั้งแต่หนึ่งในแผนภาพโบราณถูกค้นพบ ส่งผลให้สำนักวาติกันยอมรับชื่อไลโบวิทซ์เป็นนักบุญ อีกสี่ร้อยปีถัดมา ไฟฟ้าถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ หนึ่งพันปีผ่านไป มนุษย์เจริญถึงขั้นครอบครองดวงดาวเป็นอาณานิคม แต่ขณะเดียวกันสงครามปรมาณูล้างโลกครั้งที่สองกำลังจะเกิดขึ้น
ประเด็นซึ่งผู้เขียนพยายามพูดถึงคือมนุษย์เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ และสามารถกระทำความผิดซ้ำซาก ไม่ว่าความผิดนั้นจะร้ายแรงสักแค่ไหน สังฆราชผู้หนึ่งเปรียบเทียบมนุษยชาติว่าเหมือนนกไฟ ต้องแผดเผาตัวเองแล้วเกิดใหม่ซ้ำซาก เป็นอุปมาที่น่าคิดเพราะใน Fahrenheit 451 ก็มีตัวละครพูดทำนองนี้ เพียงแต่แบรดเบอรี่ต้องการเน้นความสามารถในการเกิดใหม่ มากกว่าแง่มุมการทำลายตัวเอง
A Canticle for Leibowitz เป็นนิยายที่เกือบดีแล้ว โดยเฉพาะช่วงสอง ดีมากๆ มิลเลอร์ประสบความสำเร็จในการสร้างโลกกึ่งอดีต กึ่งอนาคต สภาพการเมืองแบบชนเผ่าแบ่งแยกดินแดน อ่านผิวเผินจะนึกว่าเป็นยุโรปยุคกลาง ผู้เขียนไปตกม้าตายตรงช่วงสามที่อยู่ดีๆ กลายเป็นนิยายโลกอนาคตเฉย พอเริ่มมีหุ่นยนต์ ยานอวกาศ เทคโนโลยีพิสดาร ทำลายบรรยากาศที่อุตส่าห์สร้างมาตลอดทั้งเล่ม
เสียดายหนังสือ แต่ไม่เสียดายเวลาที่อ่านครับ
R. Davies's "The Rebel Angels"
เช็คดูว่าครั้งสุดท้ายที่อัพเดทบลอคคือวันที่ 22 พฤศจิกายน อะไรกันเนี่ย เกือบสองอาทิตย์เชียวหรือกว่าเราจะอ่านหนังสือจบอีกเล่มหนึ่ง ช่วงนี้ยุ่งมากๆ ครับ พอย้อนกลับไปดูบันทึกของปีที่แล้ว ก็พบว่าเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วก็อ่านได้แค่สี่เล่ม คงเป็นอะไรสักอย่างเกี่ยวกับช่วงฤดูใบไม้ผลิ เปลี่ยนเป็นฤดูหนาว
มาคุยเรื่อง The Rebel Angels กันดีกว่า ชื่อหนังสือหมายถึงเทวดาตกสวรรค์ผู้ขัดบัญชาพระเป็นเจ้า ถูกขับลงมายังโลกมนุษย์ และมอบวิชาความรู้ให้แก่พวกเรา เข้าใจว่าเป็นตำนานคริสเตียน แต่คงได้อิทธิพลโพรเมเทียสของกรีกมาไม่น้อย เทวดาตกสวรรค์ดังๆ ก็ได้แก่ซามาฮาไซ อะซาเซล แล้วก็ลูซิเฟอร์ ในที่นี้เดวีส์เปรียบเทียบพวกเขากับเหล่าอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ และนักวิชาการ ผู้ค้นคว้า ไขความลับของจักรวาล The Rebel Angels คือนิยายที่มีฉากตลอดทั้งเรื่องเป็นโรงเรียนเก่าแก่ชื่อว่าสปู๊ค
กับผลงานชิ้นก่อนๆ ของเดวีส์เราตัดสินใจไม่ถูกว่าผู้เขียนมีความคิดเห็นอย่างไรกับการศึกษา เขาเป็นแบบมาร์ค ทเวนเจ้าของคำคม "I have never let my schooling interfere with my education." หรือเชื่อมั่นในระบบโรงเรียนกันแน่ The Rebel Angels เหมือนจะพูดถึงความขัดแย้งตรงนี้ มีตัวละครหลายตัวต่อต้านการศึกษา แต่ผู้เล่าเรื่องสองคนกลับเป็นตัวแทนของผู้หลงใหลการใฝ่วิชาในสถานศึกษา
ยังไม่ได้เล่าเรื่องเลย จริงๆ แล้วเล่ายากอยู่เหมือนกัน The Rebel Angels มีหลายอย่างคล้ายคลึงกับนิยายของไอริช เมอร์ดอคตรงที่มีตัวละครหลายตัวดำเนินเรื่องจากหลายทิศทาง มาเรียเป็นลูกสาวยิปซี ชีวิตเธอต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างโลกสมัยใหม่ และครอบครัวซึ่งยังเชื่อเรื่องลี้ลับ เปิดเรื่องมา เธอเล่าให้เราฟังว่าเธอมีอะไรกับอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งหญิงสาวแอบหลงรัก ขณะเดียวกันมหาเศรษฐี คอร์นิชเพิ่งเสียชีวิต และหนึ่งในผู้จัดการมรดกอันประกอบด้วยสมบัติ โบราณวัตถุล้ำค้าก็คืออาจารย์ของมาเรียนั่นเอง โฮลิเออร์ต้องการหนังสือเล่มหนึ่งในของสะสมของคอร์นิช ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นกุญแจสู่งานวิจัย
ผู้เล่าเรื่องอีกคนคือดาร์คอร์ท เป็นนักบวช และอาจารย์ซึ่งก็แอบหลงรักมาเรียเช่นกัน ตัวละครดาร์คอร์ทนี้ ถ้าใช้ศัพท์ของเดวีส์อธิบายก็ต้องเรียกว่าเป็น "the Fifth Business" หรือตัวประก๊อบตัวประกอบดีๆ นี่เอง แกแทบไม่เกี่ยวข้องใดๆ เลยกับประเด็นหลัก ไม่เข้าใจเหมือนกันทำไมเดวีส์ถึงได้หลงไหลตัวละครจำพวกนี้นัก
ตัวละครสำคัญอีกตัวคือพาราเบน ซึ่งหลุดมาจากนิยายของไอริช เมอดอกเป๊ะๆ อดีตพระ นักปรัชญา อัจฉริยะปีศาจผู้ชอบเล่นกับจิตใจ และหลอกใช้ผู้อื่น พาราเบนพยายามเขียนนิยายเล่มหนึ่ง ซึ่งเขาเชื่อว่ามันจะกลายเป็นหนังสือคลาสสิคให้ผู้คนตามอ่าน ตีความทุกยุคสมัย และเพื่อการนั้น เขายอมทำได้ทุกอย่าง ถึงจะเหมือนตัวละครเมอดอก แต่พาราเบนมีจุดจบที่ต่างออกไป ทำให้พอจับได้ถึงความรู้สึกที่นักเขียนสองคนนี้มีต่อตัวละครจำพวกซาตาน เมมฟิสโตฟีเลีย
ให้เทียบกับไตรภาคเดปฟอร์ด ไตรภาคคอร์นิชดูมีความเกี่ยวพันกันระหว่างเล่มกว่า พออ่าน The Rebel Angels จบ รู้สึกว่าหลายส่วนยังไม่สมบูรณ์ ถ้าได้อ่านเรื่องจากมุมมองของตัวละครอื่นๆ บ้างเช่นพาราเบน หรืออาร์เธอ คอร์นิช หลานชายมหาเศรษฐี (ซึ่งตอนหลังกลายมาเป็นพระเอกขี่ม้าขาว) คงเห็นภาพครบกว่านี้ หรืออย่างโฮลิเออร์ จริงๆ แล้วเป็นตัวละครตัวนี้น่าค้นหา แต่เหมือนเราแค่เห็นบทบาทของเขาเป็นท่อนๆ
ก็ต้องดูกันต่อไปว่า What's Bred in the Bone กับ The Lyre of Orpheus จะตอบคำถามเหล่านี้ได้หรือไม่
หมายเหตุ: เพิ่งไปอ่านเนื้อเรื่องย่อสองเล่มนี้ รู้สึกว่าจะไม่แฮะ :P
Subscribe to:
Posts (Atom)