"หญิงสาวตากผ้าคนหนึ่ง" (r.o.d.)


"...หล่อนขึ้นไปหาเขาหน้าโรงหนังคิดว่าเขาอาจจะโผล่มาหาหล่อนที่หน้าโรงหนังก็ได้ หล่อนหยิบตั๋วจากกระเป๋าขึ้นมาดู หนังฉายไปได้ชั่วโมงครึ่งแล้ว ตั๋วนี้เป็นเพียงเศษกระดาษไม่มีประโยชน์ หล่อนเหม่อมองออกไปรอบตัวผู้คนเนืองแน่นมากมายอย่างนี้แล้วลูกของหล่อนจะอยู่ที่ไหน หล่อนหยิบตั๋วใบหนึ่งให้พนักงานหน้าโรงฉีก พนักงานส่งยิ้มให้หล่อนแล้วพูดด้วยน้ำเสียงสุภาพ หนังฉายไปได้ชั่วโมงครึ่งแล้วนะคะ หล่อนยิ้มรับ แล้วเดินเรื่อยเปื่อยไปตามทางเดิน โรงที่ 5 หล่อนอ่านตั๋ว ประตูโรงปิดแล้วหล่อนออกแรงผลักแต่มันไม่ขยับ หล่อนออกแรงมากกว่าเดิมแต่ประตูยังปิดแน่น พนักงานชายคนหนึ่งโผล่มาข้างหลัง ขอโทษครับ แล้วเขาก็ดึงประตูออก หล่อนหันไปมองหน้าเขา ส่งสายตาแข็งกร้าว ริมฝีปากเม้มแน่น คำว่าขอบคุณไม่ยอมหลุดออกมา หล่อนเดินหายเข้าไปในความมืดของโรงหนัง นั่งลงบนที่นั่งว่างข้างทางเดินโดยไม่สนว่ามันตรงกับตั๋วหรือเปล่า มีคนดูอยู่เกินครึ่งโรง ค่อนข้างเยอะทีเดียว หล่อนมองดูภาพเคลื่อนไหวข้างหน้า มันเป็นหนังผจญภัยเหมาะสำหรับดูทั้งครอบครัว คนทั้งโรงหัวเราะกับมุขตลกในหนังแต่หล่อนนิ่งเฉย..."



เราชอบเรื่องสั้นของคุณ ได้ความรู้สึกลื่นไหล เปลี่ยนแปลง ถ้าให้เปรียบเทียบกับหนังสือ ก็คงคล้ายๆ Mrs. Dalloway ของเวอจิเนียร์ วูลฟ์ ถ้าเปรียบเป็นหนังก็คล้ายๆ ผลงานผู้กำกับอิตาลีอย่างเฟลินี หรืออาเจนโต เป็นงานเขียนที่แฝงธาตุน้ำไว้สูงมาก สังเกตว่าคุณใส่สัญลักษณ์ของน้ำตั้งแต่ต้นยันท้าย ซึ่งตรงนี้ถือว่าหลักแหลม เพราะมันช่วยขับอารมณ์เรื่องได้อย่างดี

ถ้าให้ติก็คือ เปรียบการอ่านเรื่องนี้เหมือนชมปลาที่ว่ายวนเวียนอยู่ใต้สระ ปลาของคุณขึ้นมาเกยตื้นบนฝั่งเร็วเกินไปหน่อย ประมาณตั้งแต่หน้าสิบ สิบเอ็ด หลังจากนางเอกพูดคุยกับหนุ่มสถิติ จนมาถึงฉากระหว่างเธอและเพื่อน คนดูก็เริ่มจับทางออกแล้ว คุณจะไปไหนต่อ ถึงแม้เราจะชอบการตีความเรื่องสั้นระหว่างนางเอก และหนุ่มสถิติ แต่พอบทสนทนาอย่างเดียวกันถูกน้ำมาใช้ซ้ำกับเพื่อนนางเอก ตัวเรื่องเริ่มแข็งขืน ซึ่งสำหรับเรื่องสั้นธาตุน้ำแบบนี้แล้ว ข้อเสียตรงนี้ค่อนข้างอันตราย (เข้าใจว่าคุณอยากเล่นความแตกต่างระหว่างมุมมองผู้หญิง และผู้ชาย ถ้ามันถูกใส่ในบริบทอื่นจะลงตัวกว่านี้ไหม)

ไม่แน่ใจด้วยว่าคุณกังวลเรื่องการตีพิมพ์แค่ไหน จากประสบการณ์ เรื่องสั้น 15 หน้าค่อนข้างหาตลาดยาก (ในทางกลับกันชื่อจริงคุณอาจจะเป็นวินทร์ เลียววาริณ หรือเดือนวาด พิมวนา คุณถึงไม่กังวลหาช่องทางปล่อยของ) ในความเห็นเรา เรื่องของคุณสามารถตัดได้เยอะ เข้าใจว่าสำหรับบางเรื่องสั้น จะดีกว่าถ้าตรึงคนอ่านกับหน้ากระดาษไว้นานๆ แต่ไม่คิดว่าเรื่องนี้คือหนึ่ีงในนั้น (แน่นอนคุณอาจมีเหตุผลที่ดีก็ได้)

หมายเหตุ: r.o.d. ย่อมาจาก "read on demand" ครับ แต่นี้ถ้ามี r.o.d. ปะหัวไว้ หมายถึงเป็นเรื่องสั้นที่คุณผู้อ่านลองส่งมาให้เรา

รับวิจารณ์เรื่องสั้น


สวัสดีครับ นึกสนุกอยากอ่านผลงานคนที่ติดตามบลอคเรา และเผื่อว่า "รักชวนหัว" จะกลายเป็นชุมชนหลบซุ่มสำหรับผู้สนใจหนังสือหนังหา สำหรับใครที่ต้องการให้เราวิจารณ์เรื่องสั้น ติดต่อมาได้นะครับ ถ้าเกิดมีเรื่องแปะบนเน็ตอยู่แล้ว ก็ส่งลิงค์มาเลย แต่ถ้าไม่มี แล้วอยากส่งให้เป็นการส่วนตัว ทิ้งคอมเมนต์ไว้ที่กระทู้นี้นะครับ จะหาทางติดต่อไปอีกที

ตกลงกติกากันก่อน อยากเป็นนักเขียนต้องใจกว้างนะครับ ไม่มีโกรธกันภายหลัง จะพยายามอ่าน และวิจารณ์เรื่องสั้นให้ได้ครบทุกเรื่องที่ส่งมาครับ (คิดว่าในช่วงแรกนี้คงไม่เยอะเกินไปนัก)

I. Dinesen's "Ehrengard"


เคยพูดว่าถ้าให้จัดอันดับสิบนักเขียนในดวงใจใหม่ตอนนี้ คงได้มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย อย่างน้อยก็ต้องมีชื่อเรย์มอน คาเวอร์ หรือโรเบิร์ตสัน เดวีส์รวมอยู่ด้วย ถ้าเช่นนั้นก็หมายถึงไอแซค ดีนเซนคงถูกเขี่ยตกกระป๋อง น่าเสียดายอยู่ไม่น้อย ยิ่งพอได้อ่าน Ehrengard นิยายกึ่งนิทานเล่มบางๆ ก็ยิ่งปฏิเสธไม่ได้ ถึงอิทธิพลทางวรรณศิลป์ที่ดีนเซนมีต่อเรา

Ehrengard จัดว่าเป็น pastoral romance ไม่รู้จะแถแปลยังไงดี เรียกว่า "นิยายรักในสวน" แล้วกัน โดยฉากของ pastoral romance มักจะเป็นปราสาท หรือราชวังซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางแมกไม้ ธรรมชาติ เป็นสถานที่ซึ่งผู้คนรักใคร่กลมเกลียว ที่มาของ genre นี้คือความต้องการกลับไปยังสวนสวรรค์อีเดนของชาวคริสตศาสนา ตัวละครเปรียบ Rosenbud ซึ่งเป็นฉากใน Ehrengard ว่าประหนึ่งหลุดมาจากภาพเขียนของคลอด โลเรน นักวาดทิวทัศน์ชาวอังกฤษ จะหาฉากอะไรที่ pastoral กว่านี้คงไม่มีแล้ว

แม้ Rosenbud เปรียบได้กับอีเดน ความน่าขบขันคือสาเหตุซึ่งเหล่าตัวละครถูกจับมาอยู่ในสรวงสวรรค์แห่งนี้กลับเป็นด้วยบาปของหญิง ชายคู่หนึ่ง หลังงานแต่ง เจ้าชายโลทามาสารภาพกับราชินีว่า เจ้าหญิงลูมิลาได้ตั้งครรภ์ไปแล้วสองเดือน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสื่อมเสีย Rosenbud ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อให้เจ้าหญิงได้คลอดผู้สืบทอดราชบัลลังค์ และเลี้ยงดูพระโอรส จนเติบใหญ่พอจะตบตาโลกภายนอกเรื่องอายุได้

Ehrengard เปิดฉากด้วยเรื่องราวระหว่างเจ้าชายโลทา และเจ้าหญิงลูมิลลาก็จริง แต่คู่พระคู่นางหลักกลับเป็นเออเรนการ์ด คนสนิทของเจ้าหญิงลูมิลลา ลูกสาวนายพลผู้เติบโตมาพร้อมกับพี่ชายอีกห้าคน หญิงสาวจึงมีลักษณะของวัลไครี เทพสงครามในตำนาน และคาซอท นักวาดรูปอัจฉริยะ ผู้สร้าง Rosenbud พร้อมทั้งชักใย ควบคุมทุกชีวิตตั้งแต่ราชินี จนถึงเด็กเลี้ยงม้า คาซอทชื่อเสียงโด่งดัง นอกจากในฐานะศิลปินแล้ว ยังในฐานะ seducer (อีกคำซึ่งหาแปลไทยไม่ถูกจริงๆ ) และขุนแผนผู้นี้ตั้งเป้าหมายไว้ที่เออเรนการ์ด จิตรกรตั้งใจให้ออเรนการ์ดเป็นผลงานศิลปะชิ้นเอกของเขา หญิงสาวมีคู่หมั้นอยู่แล้ว ซึ่งเขาสัญญาว่า เสร็จกิจธุระกับเธอเมื่อไหร่ จะส่งเธอคืนให้ในสภาพ "intact but anihilated"

หนังสือเล่มนี้ได้ชื่อว่าเป็นผลงานที่ "เบา" ที่สุดของดีนเซน ซึ่งมันก็เบาจริงๆ นั่นแหละ แต่ในความเบาหวิว ก็ซ่อนสาระไว้ให้ขบคิดพอประมาณ ถึงอย่างไร ความสำเร็จหรือล้มเหลวของ Ehrengard ตัดสินกันที่การสร้างภาพสรวงสวรรค์ของดีนเซนมากกว่า

วรรณกรรมที่ดี


อ่านหัวข้อนี้จาก thaiwriter เกิดสนุกนึกอยากร่วมตอบคำถามด้วยคนว่า "อะไรคือวรรณกรรมที่ดี"

ถ้าตามลิงค์ที่ให้ไป จะพบว่านอกจาก "อะไรคือวรรณกรรมที่ดี" อีกคำถามที่วางไล่เลี่ยกันคือ "หนังสือเล่มไหนเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณบ้าง" ไม่รู้เพราะสองกระทู้นี้อยู่ใกล้กันเกินไปหรืออย่างไร ไปๆ มาๆ เลยเหมือนกับคำตอบของคำถามหนึ่ง มันเลอะเลยเบียดเสียดไปอีกคำถาม ด้วยกรอบความคิดที่ว่าหนังสือต้องมีประโยชน์อันจับต้องได้กับผู้อ่าน คนส่วนใหญ่จึงตั้งนิยามวรรณกรรมที่ดี ซึ่งเราฟังแล้วแปร่งๆ หู

ความคิดจำพวกนี้คือการตั้งเอา "ตัวคน" เป็นหลักนะครับ เรียกเท่ๆ ว่ามองแบบพลาโตก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นแฟนหนังสือจริงๆ น่าจะมองอีกแบบหนึ่ง ในภาพยนตร์เรื่อง Bullet over Broadway มีคำพูดน่าสนใจ ตัวละครที่เป็นนักเขียนบทถามว่าถ้าต้องเลือกระหว่างช่วยชีวิตคนจากบ้านที่ถูกไหม้ไฟ กับเอาบทละครที่สูญหายไปของเชคสเปียร์ออกจากกองเพลิง เขาเลือกบทละครเพราะ "It lives!" หรือ "มันมีชีวิต!" นั่นเอง

แบบนี้ก็อาจสุดโต่งไปหน่อย แต่ถ้ามองประเด็นนี้โดยตั้งเอา "ชิ้นงาน"เป็นหลัก (หรือมองแบบอริสโตเติล) จะพบว่าหนังสือดีได้ด้วยตัวมันเอง งานศิลปะไม่เหมือนเครื่องอำนวยความสะดวกที่จะต้องมีประโยชน์ใช้สอย วรรณกรรมที่ดีสำหรับเราแล้วคือชิ้นงานที่สมบูรณ์แบบ หาที่ติไม่ได้ ซึ่งผู้อ่านจะเข้าถึงมันแค่ไหน ไม่ได้สลักสำคัญขนาดนั้น (ถ้าถามเรากลับ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ามันดี หรือไม่ดี ถ้าคนอ่านเข้าไม่ถึง ยอมรับว่าตอบไม่ได้เหมือนกัน)

ไม่ได้หมายความว่าเราต่อต้านผลงานที่ "เปลี่ยนแปลง" ชีวิตได้หรอกนะ หนึ่งในภาพยนตร์ที่เราชอบที่สุดคือ Shall We Dansu? ซึ่งทำให้เราเริ่มสนใจ และตอนนี้กลายเป็นนักลีลาศ (สมัครเล่น) แต่ถามกลับว่ามาซายูกิ สุโอต้องการเปลี่ยนชีวิตคนดูหรือไม่ เราเชื่อว่าไม่ เขาก็แค่สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่าในตัวมันเอง ส่วนคนดูจะจับหัวชนท้ายมันอย่างไรนั้นนอกประเด็น

ก็ต้องยอมรับว่าวรรณกรรม ไม่เหมือนฮาวทู หรือคู่มือชีวิต ที่หยิบจับสาระสำเร็จรูปมาปรุงแต่งชีวิตประจำวันได้ทันใจ น่าจะทบทวนกันใหม่ สำหรับการตีค่าหนังสือโดยอิง "ตัวคน" เป็นหลักเช่นนี้

O. Wilde's "The Picture of Dorian Gray"


คุณคงเคยได้ยินชื่อดอเรียน เกรย์ เขาเป็นหนุ่มสังคมอายุเกือบๆ สี่สิบแล้ว ชื่อเสียงไม่ค่อยดีนัก สุภาพบุรุษหลายคนไม่ยอมอยู่ร่วมห้องกับเขา สุภาพสตรีหลายคน แม้ต้องการใจจะขาด แต่เพื่อรักษาชื่อเสียงตัวเอง ไม่ยอมร่วมเดินทางในรถม้าคันเดียวกัน เดือนก่อนเพื่อนสนิทเขาเพิ่งฆ่าตัวตาย เมื่อต้นปี สุภาพสตรีผู้สนิทชิดเชื้อถูกขับไล่จากวงสังคม และต้องย้ายหนีไปอเมริกา

คุณอยู่ในงานเลี้ยง ทันทีที่เจ้าบ้านประกาศว่ามิสเตอร์เกรย์มาถึง คุณเตรียมตัวรังเกียจแขกผู้มาเยือน แต่เมื่อพบเขา คุณไม่อยากเชื่อสายตาตัวเอง เกรย์อายุเกือบๆ สีสิบ แต่ใบหน้าผุดผ่องไม่ต่างอะไรจากหนุ่มน้อยยี่สิบต้นๆ ใส บริสุทธิ์ราวกับเทพอะโดนิส เป็นไปไม่ได้ คุณบอกตัวเอง ถ้าเกรย์เป็นอย่างที่ข่าวลือบอกจริง อย่างน้อยร่องรอยความชั่วช้าต้องปรากฏบนใบหน้านั้นบ้าง

เกรย์มีความลับบางอย่างที่ไม่มีใครรู้...หมายถึงไม่มีใครที่ยังมีชีวิตอยู่รู้ ในห้องเก็บของใต้บันได ท่ามกลางหยากไย่ ฝุ่นสกปรก มีรูปวาดของเกรย์เก็บซ่อนไว้ แต่ละปีรูปนั้นค่อยๆ แก่ลงๆ ขณะที่ตัวชายหนุ่มคงความเยาวัย ไม่เพียงเท่านั้น ร่องรอยความเลวร้ายนานา ดวงตาหลอกลวง รอยยิ้มเหี้ยมโหด มือที่เปื้อนเลือดกัดกินรูปชายหนุ่มไม่ต่างอะไรไปจากหนอนชอนแทะซากศพ

นี่คือคำสาป และพรวิเศษของเกรย์

The Picture of Dorian Gray คือนิยายเล่มแรก และเล่มเดียวของออสการ์ ไวลด์ นักเขียนบทละครผู้โด่งดัง ไวลด์เป็นที่รู้จักดีด้วย wit ของเขา ความแหลมคมในการเลือกใช้คำพูด เช่น "She behaves as if she was beautiful. Most American women do. It is the secret of their charm." ถ้าเทียบกับสมัยนี้ ก็คงคล้ายๆ one-liner หรือท่อนเด็ดซึ่งปล่อยกันตามซิทคอมฝรั่ง The Picture of Dorian Gray มีความเป็นบทละครสูงมาก ตั้งแต่ท่อนเด็ดที่แทบจะโปรยมาบรรทัดเว้นบรรทัด (อย่างน้อยก็ในช่วงแรก) จนถึงความเป็น morality play ของมัน นั่นก็คือบทละคร หรือในกรณีนี้นิยาย ที่ตัวเอกต้องเผชิญหน้ากับทางเลือกว่าจะทำความดี หรือความเลว

ไม่รู้เหมือนกันว่าเกรย์โชคดี หรือโชคร้ายกว่าคนอื่น คนทั่วไปส่องกระจกเพื่อดูรูปกาย แต่เกรย์สามารถมองเห็นวิญญาณได้จากรูปวาดนั้น ชายหนุ่มมีทางเลือกในการรักษาวิญญาณตัวเองให้บริสุทธิ์งดงาม แต่เขาไม่ทำ หรือบางทีไวลด์อาจต้องการเสียดสีแวดวงสังคมอังกฤษที่ไม่เปิดโอกาสให้สมาชิกเลือกเดินไปตามครรลองอันถูกต้อง (อีกหนึ่ง wit "anybody can be good in the country. There are no temptations there. That is the reason why people who live out of town are so absolutely uncivilized.") แต่ที่แน่ๆ ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความอัปลักษณ์ทางกายเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่มีคนชั่วคนไหนจะทนความอัปลักษณ์ในวิญญาณตัวเองได้ หากต้องเผชิญหน้ากับมันเต็มๆ ตา

ช่วงแรกดีมาก โดยเฉพาะปมความรักระหว่างเกรย์ และซีบิล นักแสดงสาว แต่พอถึงช่วงหลัง หนังสือเริ่มแตกเป็นท่อนๆ เหมือนกับไวลด์ไม่แน่ใจว่าจะให้เนื้อเรื่องดำเนินไปทางไหน อยู่ดีๆ ก็มีตัวละครที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โผล่เข้ามามีบทบาทสำคัญ มิหนำซ้ำบาปส่วนใหญ่ของเกรย์ ถูกนำเสนอด้วยวิธีเล่าผ่านๆ ย้อนหลัง ทั้งที่เราน่าจะได้เห็นพัฒนาการตัวละคร กระนั้นไวลด์ยังสามารถปล่อยหมัด ตัดจบได้เร้าใจ ถึงจะชอบบทละครของเขามากกว่า แต่ The Picture of Dorian Gray ก็มีความน่าสนใจชวนติดตามในแบบของมัน

น้ำชาและน้ำตา

เพิ่งทราบข่าว ใครบางคนที่ผมชื่นชอบเสียชีวิต ก่อนหน้านั้นเขาเป็นเพียงศิลปินตัวเล็กๆ ก่อตั้งวงซึ่งไม่ได้โด่งดังอะไร การตายของเขาเงียบกริบ ท่ามกลางวังวนกระแสข่าวบันเทิง ไม่มีเสียงปืน ไม่มีคอนเสิร์ตสั่งลา และไม่มีนกกระดาษ มีแต่ตำรวจมาพบศพในห้องพักโดดเดี่ยว หลังจากเสียชีวิตด้วยโรคเลือดมาแล้วสามวัน

ศิลปินบางคนเหมือนต้นไม้ เวลาถูกโค่น สั่นสะเทือนไปทั้งป่า แต่บางคนเป็นแค่ใบไม้แห้งเหี่ยว ปลิดปลิวหลุดลอยไปตามลม ผมอยากร้องไห้ให้กับความไม่ยุติธรรมของโลก แต่ทำใจปลอบตัวเอง ไม่ว่าศิลปินคนไหนตายก็เป็นเรื่องโศกเศร้าทั้งนั้นสำหรับแฟนๆ ช่างมันเถอะ ช่างมัน

วันนี้ลมหนาวมาเยือน ใบไม้ร่วงหล่นในใจผม

"คนเหงาคนหนึ่ง ที่มีความรักเพื่อการจากลา เหมือนลมพัดผ่านมา...ความรักครั้งใหม่กับเธออยากเป็นครั้งสุดท้าย ฉันกลัวรักจากไป..."

"เธอจะรักฉัน จะอยู่กับฉันเรื่อยไปได้ไหม (ให้เธอมีฉันตลอดไป)...อยู่กับใจฉัน อยู่เป็นความหมายของผู้ชายคนนี้..."

"เธอคือความรักที่แสนดี (เธอคือผู้หญิงที่แสนดี) เธอคือเหตุผลของพรุ่งนี้ (มีเธอก็มีพรุ่งนี้)...ให้ยังมีกันแหละกัน ในความผูกพันที่เข้าใจ..."

"คืนและวันเปลี่ยน อะไรๆ หมุนเวียนเปลี่ยนไป จะรักเธอไม่เปลี่ยนใจ..."

"เธอจะรักฉัน จะอยู่กับฉันเรื่อยไปได้ไหม (ให้เธอมีฉันตลอดไป)...อยู่กับใจฉัน อยู่เป็นความหมายของผู้ชายคนนี้...เธอคือความรักที่แสนดี (เธอคือผู้หญิงที่แสนดี) เธอคือเหตุผลของพรุ่งนี้ (มีเธอก็มีพรุ่งนี้)...ให้ยังมีกันแหละกัน ในความผูกพันที่เข้าใจ..."

"...เธอจะรักฉัน จะอยู่กับฉันเรื่อยไปได้ไหม"

เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก (ศิริวร แก้วกาญจน์)


ผมไม่เคยเจอ หรือรู้จักคุณศิริวรเป็นการส่วนตัว เคยเห็นหน้าแกในนิตยสารวรรณกรรมเล่มหนึ่ง พออ่าน เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก จินตนาการว่าคุณศิริวรคงชอบขี่จักรยาน ถ้าเลือกได้แกคงอยากขี่จักรยานเที่ยวรอบโลก เดือนนี้อยู่ยุโรป เดือนหน้าอยู่แอฟริกา ซึ่งถ้าไม่ต้องทำพาสปอร์ตเลยจะยิ่งแจ่ม เพราะท้ายที่สุดศุลกากร กฎหมายการข้ามประเทศ ก็เป็นเพียงแนวคิดของคนผู้ "จมจ่อมอยู่กับพรมแดน" (จาก พรมแดนภายใน บทสั้นๆ ที่โดนใจสุด)

ถึงในชื่อเล่มจะมีคำว่า "เด็ก" และหลายบทก็มี "เด็ก" เป็นตัวละครสำคัญ แต่ เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก ตีโจทย์ที่ไม่ "เด็ก" แม้แต่น้อย ประเด็นซึ่งพูดถึงในหลายบทคือความขัดแย้งระหว่างประเทศ การที่มนุษย์ถูกแบ่งแยกตามเผ่าพันธุ์ ศาสนา และดินแดน บางครั้งก็เป็นเพียงอุบัติการณ์ทางประวัติศาสตร์ น่าขันยิ่งนักถ้าคนเราจะรบพุ่ง เข่นฆ่ากันด้วยเรื่องเท่านี้ จากที่ติดตามผลงานคุณศิริวรมา นี่คือมุมมองที่เป็นตัวแก๊ตัวแก และในที่นี้ มันถูกนำเสนออย่างลงตัวสุด เมื่อเป็นบทกวีสั้นๆ

จะพูดถึงเล่มนี้ โดยไม่พูดถึงรูปแบบก็คงไม่ได้ เพราะเป็นประเด็นที่หลายคนกำลังถกเถียงกัน เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก รวมกลอนเปล่า ไร้ฉันทลักษณ์ ซึ่งเป็นวิธีเขียนที่เรารับต่างชาติเขามาอีกที สำหรับคนเขียนเรื่องสั้น หรือนิยายก็คงไม่รู้สึกรู้สาอะไรหรอก (เพราะศาสตร์เรื่องสั้น นิยายก็ยกต่างชาติเขามาทั้งกระบุงอยู่แล้ว) แต่สำหรับในแวดวงกวี ซึ่งคงมีความเป็นอนุรักษนิยมอยู่สูง การที่รวมกลอนเปล่าได้ชิงซีไรต์ ก็สร้างกระแสได้พอสมควร

ถ้ามองว่าบทกวีคือการเล่นกับจังหวะจะโคน จะเรียกกลอนเปล่าเล่มนี้ว่าไร้ฉันทลัษณ์เสียทีเดียวเลยก็คงไม่ได้ อย่างบทกวีสำหรับเด็กชายอาลีและอิรัก ก็ใช้การซ้ำวรรคไปมา เพื่อเน้นท่วงทำนอง เทคนิคการใช้วรรคซ้ำนี้ก็มีให้เห็นเรื่อยๆ ใน เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กเด็ก ดังนั้นระหว่างที่อ่านก็ไม่รู้สึกเรื่อยเปื่อย ถ้าให้เปรียบกันดนตรี น่าจะเป็นรัวกลองแอฟริกา หรือไทโกะ เท่าที่เคยอ่านกลอนเปล่าฝรั่งมา จะติเล่มนี้อย่างเดียวก็คือ บรรยากาศมีแล้ว แต่ยังขาดการสร้างภาพ (image) แบบชัดเจน ที่เป็นหัวใจของกลอนฝรั่ง

แถมท้ายนิดหนึ่งว่าชอบ รายการเยี่ยมบ้านคนดัง สุดๆ เป็นกลอนเล่าเรื่อง (narrative poem) ที่ไม่ค่อยเห็นคนไทยสมัยนี้เขียนกันเท่าไหร่

W. Percy's "The Moviegoer"


ถ้าอัลแบร์ กามู หรือดอสโตเยฟสกี้เป็นชาวอเมริกัน ก็คงเขียนหนังสืออย่าง The Moviegoer แทนที่จะเป็น The Outsider หรือ Crime and Punishment

ขอบคุณพระเจ้า!

จุดร่วมกันในหนังสือสองเล่มนี้คืออัตถิภาวนิยม ซึ่งพูดมาแล้วหลายครั้งในบลอคนี้ สรุปสั้นๆ ในเม็ดถั่วคือปรัชญาที่ส่งเสริมให้ปัจเจคค้นหาแนวทางส่วนบุคคลในการดำเนินชีวิต จุดนี้สะท้อนออกมาในนิยายของกามู เมื่อตัวเอกกระทำการอย่างหนึ่งซึ่งในสายตาคนอื่นเป็นเรื่องผิด แต่เจ้าตัวยืนยันความบริสุทธิ์ตราบลมหายใจสุดท้าย นิยายแนวอัตถิภาวนิยมจึงมักวนเวียนอยู่กับพระเอกผู้กระทำความผิดอะไรสักอย่าง แล้วตามดูปฏิกริยาสังคม และตัวเขาต่ออาชญานั้น

กรณี The Moviegoer ความผิดที่ว่าก็คือสัมพันธ์ชู้สาวระหว่าง "ผม" และเคท ญาติห่างๆ เพอซีแสดงให้เห็นความทุกข์ ทรมานของ "ubermensch" หรือ "ยอดคน" ตามนิยามของนิทเช่หมายถึงปัจเจคที่เข้าใกล้ภาวะบรรลุ (น่าจะคล้ายๆ การตรัสรู้ในความหมายของพุทธศาสนา) "ผม" มีอาการหวาดระแวงทุกอย่างรอบตัว ส่วนเคทติดยา และมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย กระทั่งเมื่อทั้งสองก้าวข้ามกำแพงบรรทัดฐาน ศีลธรรม และความคาดหวังจากคนรอบข้าง ถึงได้พบความสุขอย่างแท้จริง (ที่ตลกคือ ชื่อหนังสือแทบไม่เกี่ยวข้องอะไรกับภาพยนตร์เลย "ผม" เรียกคนประเภท "ubermensch" ว่า "moviegover" หมายถึงผู้ที่ไม่อาจทนใช้ชีวิตอยู่กับความจริง จึงต้องหนีเข้าโลกมายา)

สาบานก็ได้ว่าอ่านย่อหน้าข้างบนนี้ เข้าใจง่ายกว่าอ่าน The Moviegoer จริงๆ ตั้งเยอะ

ไม่รู้เพราะอ่านมันต่อจาก The Remains of the Day หรือไง ผลงานของเพอซีเล่มนี้ถึงยิ่งตอกย้ำให้รู้ว่าตัวเองไม่ชอบนิยายอเมริกันแค่ไหน คนประเทศนี้มีอะไรแปลกอย่างหนึ่ง ไม่รู้เพราะไม่มีนักปรัชญาของตัวเองหรือไง ถึงได้วนเวียนอยู่กับแนวคิด new age ชอบใส่ความลึกลับ (mystic) ให้กับทุกสิ่งทุกอย่าง กระทั่งอะไรที่ชัดเจน เป็นเหตุเป็นผลอย่างวิทยาศาสตร์ ก็ยังผ่าเอาศาสนาเข้าไปมั่วซั่ว นักเขียนยุโรปชอบให้ตัวละครเผชิญปัญหาที่แม้มีหลายชั้น หลายแง่มุม ก็ยังชัดเจน จับต้องได้ นักเขียนอเมริกาไม่ยอมใส่ conflict เป็นตัวเป็นตน แต่กลับชอบให้ตัวละครทุกข์นู่น ทุกข์นี่ปราศจากเหตุผล

ขณะ The Outsider และ Crime and Punishment เขียนโดยนักปรัชญาชาวยุโรปผู้สงสัย และตั้งคำถามความเป็นไปในโลก The Moviegoer คือนิยายของนักเขียนอเมริกัน ที่อ่านหนังสืออัตถิภาวนิยาต่อมาอีกทอด หลายบท หลายตอนแทบจะหยิบยกข้อความมาจากหนังสือเรียน Existentialism for Beginners ด้วยซ้ำ สรุปสั้นๆ นิยายเล่มนี้มีสองอารมณ์ ไม่สับสนจับต้นชนปลายไม่ถูก ก็ชัดเจนจนน่าขำ

K. Ishiguro's "The Remains of the Day"


ไปอ่านบลอคเก่าๆ ดู จำได้ว่าเคยเขียนถึง Interpreter of Maladies ของจุมปา ลาฮาลีว่า "เหมือนเรื่องสั้นที่ยังตีกำแพงวัฒนธรรมไม่แตก ตัวละครก็เลยติดอยู่ที่ความเป็นอินเดีย ไม่ได้กลายเป็นมนุษย์จริงๆ " ตอนนี้พอมาอ่าน The Remains of the Days ก็ต้องทึ่งว่านี่แหละคือนิยายอังกฤษซึ่งเขียนโดยคนญี่ปุ่น แต่ไม่มีตรงไหนของมันเลยที่หลงเหลือคราบคราความเป็นโอเรียล มิหนำซ้ำอิชิกุโรยังจงใจเขียนเรื่องที่เป็นอังกฤ๊ษอังกฤษ

ขอกลับคำพูดตัวเองนิดหนึ่งดีกว่า จะว่าไม่มีความเป็นญี่ปุ่นเลยก็ไม่เชิง นี่คือนิยายที่ซ่อนความเป็นญี่ปุ่นไว้อย่างมิดชิด "ผม" ในเรื่องคือสตีเฟนส์ คนรับใช้ในคฤหาสน์ของลอร์ดดาลิงตัน สตีเฟนส์เล่าเหตุการณ์สำคัญตลอดชั่วชีวิตเขา สิ่งหนึ่งที่ตัวละครตัวนี้ยึดถือมากๆ คือความภาคภูมิใจในฐานะคนรับใช้ สือทอดประเพณีเก่าแก่ กระทั่งพ่อของสตีเฟนส์เองก็ถือเป็นคนรับใช้ชั้นหนึ่งตราบชั่วลมหายใจสุดท้าย

ต้องเข้าใจนิดหนึ่งว่าอาชีพคนรับใช้ หรือ butler นี่ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ ต้องผ่านการฝึกฝนนานา มีกระทั่งมหาวิทยาลัยสำหรับสอนการเป็น butler โดยเฉพาะ ในคฤหาสน์ใหญ่ๆ ของขุนนางชาวอังกฤษ มีหน้าที่ต่างๆ ให้กระทำมากมาย ตั้งแต่งานครัว ทำความสะอาด ดูแลสวน ยานพาหนะ หัวหน้าคนรับใช้ก็เหมือนนายพลที่ต้องคอยควบคุมให้งานการทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี ยิ่งเจ้านายของสตีเฟนส์เป็นถึงท่านลอร์ด หลายครั้งเชิญแขกต่างชาติ มาสนทนา ประชุม ถกเถียงเรื่องที่อาจชี้เป็นชี้ตาย กำหนดแนวทางยุโรปทั้งผืนทวีป

ตรงนี้เองที่เราบอกว่าอิชิกุโรผสานความเป็นญี่ปุ่นลงไป แม้ว่า "ผม" ในเรื่องจะยืนยัน ไม่มีชาติไหนอีกแล้วจะผลิต butler ได้เหมือนสุภาพบุรุษชาวอังกฤษ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้ามีชาติหนึ่งที่ใกล้เคียง สูสี หรือแม้กระทั่งเหนือกว่าในเรื่องมารยาทก็คงเป็นญี่ปุ่นนี่เอง The Remains of the Day จึงเป็นหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมอังกฤษ ที่คนญี่ปุ่นแอบเนียนเขียนได้อย่างไม่มีที่ติ

อ่านจบแล้วก็ทึ่งว่าทำไมนิยายบ๊างบาง 240-250 หน้าถึงได้บรรจุอะไรต่อมิอะไรลงไปได้ขนาดนี้ ตั้งแต่ประเด็นรักแสนเศร้าของสตีเฟนส์ ความขัดแย้งระหว่างโลกเก่า โลกใหม่ ที่นับวันคุณค่าและบรรทัดฐานซึ่งสตีเฟนส์ และลอร์ดดาลิงตันยึดถือจะกลายเป็นของล้าสมัยลงไปทุกที อิชิกุโรตั้งคำถามว่าประชาชนควรมีบทบาทแค่ไหนในการตัดสินใจสำคัญๆ ขนาดในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษ คนส่วนใหญ่ก็ยังไร้การศึกษา ในสภาวะคับขัน ควรหรือไม่ควรที่นักการเมืองผู้มีอำนาจ ปราดเปรื่องจะกุมบังเหียนประเทศ แนวคิดนี้สอดคล้องเป็นอย่างดีกับวิธีชีวิตคนรับใช้ สตีเฟนส์เชื่อว่ามืออาชีพไม่ควรตั้งคำถามเจ้านายตัวเอง เมื่อสั่งอะไรมา ก็ปฏิบัติไปตามนั้น คนต่างระดับชั้นกระทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดความสามารถคือกุญแจสู่ความสงบสุข ถึงจะฟังดูสวยงาม แต่ลึกๆ นี่แหละคือพื้นฐานแนวคิดของเผด็จการฟาสซิสต์อย่างนาซี และท้ายที่สุด สตีเฟนส์ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าที่ผ่านมา ชีวิตตัวเองมีคุณค่า หรือว่างเปล่าเพียงใด

ถ้าจะติหนังสือเล่มนี้ ก็คงเป็นว่าตัวละครลอร์ดดาลิงตันยัง "ร้าย" ไม่พอ ตอนแรกจำผิดนึกว่าแกเป็นลอร์ดจริงๆ ในประวัติศาสตร์ที่สนับสนุนการก้าวขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์ ซึ่งถ้าแบบนั้นจะยิ่งขับเน้นความขัดแย้งในใจตัวเอก (ลองคิดดูว่าถ้ามีคนไทยสักคนเขียนหนังสือเกี่ยวกับคนรับใช้ในบ้านจอมพลป. หรือจอมพลสฤษณ์ หนังสือเล่มนั้นจะโคตรน่าอ่านสักเพียงใด) เอาเข้าจริงๆ ดาลิงตันก็แค่นักการเมืองอีกคนที่ถูกฮิตเลอร์ปั่นหัว หลอกล่อ

ชอบตัว "ผม" โดยเฉพาะวิธีที่อิชิกุโรเล่าเรื่องผ่านตัวละครตัวนี้ สตีเฟนส์เชื่อว่ามืออาชีพต้องแยกให้ออกระหว่างเรื่องส่วนตัวและงาน ไม่เอาอารมณ์มาปะปนกิจกรรม หน้าที่ แม้เราจะไม่เคยได้อ่านว่าเขารู้สึกอย่างไร แต่บางครั้งก็สัมผัสได้ถึงหัวใจที่แตกสลาย อยู่ดีๆ ก็ร้องไห้ขึ้นมา พอคนรอบข้างถาม ก็ได้แต่พูดว่าไม่เป็นไรๆ ผู้เขียนเก่งมากที่สามารถสื่ออารมณ์ผ่านตัวละครผู้เสมือนใส่หน้ากากตลอดเวลาตัวนี้ได้

แมงมุมมอง (พรชัย แสนยะมูล)


และแล้วคำเปรียบเปรยเรื่องดนตรีของเราก็ยังใช้ได้กับหนังสือชิงซีไรต์เล่มที่ 4 นี้ ถ้าสามเล่มก่อนๆ เหมือนเพลงร็อค ลูกทุ่ง และคลาสสิก แมงมุมมอง ก็คือเพลงกล่อมเด็กอย่างไม่ต้องสงสัย

ระยะหลังนี่ประเด็นเรื่องหนังสือเด็ก กับรางวัลซีไรต์ถูกเอามาพูดถึงบ่อย ตั้งแต่ตอนที่ เจ้าหงิญ ได้รางวัล จนมาถึง กะทิ เมื่อปีก่อน ทำให้ในสายตาหลายคนเผลอๆ แมงมุมมอง อาจกลายเป็นม้ามืดไปอีกตัวก็ได้ ก็ขอตอบกันล่วงหน้าเลย ถ้าปีนี้พี่กุดจี่จะได้ซีไรต์จริง ไม่ว่าเกจิในวงการว่าไง เราคนหนึ่งแหละที่ไม่รู้สึกขัดขืน

ชอบทำนองกลอนของพี่กุดจี่ ใช้สัมผัสง่ายๆ วรรคสั้นๆ เป็นกลอนที่อ่านแล้ว ไม่พลาดจังหวะแน่ๆ (บางครั้งเวลาอ่านกลอนแปด ถ้าแบ่งวรรคแบบอื่นที่ไม่ใช่ สาม สอง สาม เราจะสะดุดๆ ต้องกลับไปทวนใหม่อีกรอบ) บางทีก็เล่นคำแบบน่ารักๆ เช่น ปีนเขา เอาคำว่า "เขา" ความหมายต่างๆ มาสับเปลี่ยน อีกบทที่ชอบเป็นพิเศษคือ ต่างเหมือนกัน ด้วยตอนจบที่แม้ไม่ถึงขั้นฮุคใต้คาง แต่ก็เป็นถองเบาๆ พอให้จักกะจี้

หลายบทหยิกสังคมได้น่ารักน่าชังเช่น มันออกมาจากทีวี แต่ก็มีบางบทที่ "คาบลูกคาบดอก" ไปหน่อย เช่นบทสดุดีคณะรัฐประหารฯ ไม่เป็นไร เห็นลงท้ายว่าเขียนเดือนกันยาปี 49 พอดี ไว้ vol 45 พี่กุดจี่ค่อยเขียนกัดแล้วกันนะ

สำนักพิมพ์ไม้ยมกทำหนังสือเล่มนี้ออกมาได้น่ารักสมเนื้อหา ทั้งภาพประกอบและการตีพิมพ์ กลอนที่เขียนต่างวาระ แต่กรรมเดียวกัน (คือเนื้อหาคล้ายๆ กัน) ก็เอามาวางไว้ใกล้ๆ กัน ช่วยให้คนอ่านอารมณ์ไม่มั่วสุ่ม จะตินิดหนึ่งก็ตรงไม่มีสารบัญนี่แหละ จะว่าไม่จำเป็น ก็ไม่จำเป็นหรอก แต่มันช่วยให้คนวิจารณ์หนังสืออย่างเราเขียนถึงง่ายขึ้นเยอะ

ก็เป็นกำลังใจให้แล้วกันครับ

ใบไม้ใบสุดท้าย (บุนเสิน แสงมะนี)


ใบไม้ใบสุดท้าย เป็นหนังสือลาวเล่มที่สองที่เราเคยอ่าน ความพิเศษของมันคือเป็นรวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรต์ประเทศลาว สงสัยมานานแล้วในเมื่อซีไรต์แจกกันทั้งอาเซียน เมื่อไหร่เราจะได้อ่านหนังสือจากนักเขียนประเทศเพื่อนบ้านเสียที ขอบคุณนานมีบุ๊คส์ที่พิมพ์ออกมา หลังจากอ่านคำนำโดยละเอียด พบว่ากติกาซีไรต์ลาวคงต่างจากเมืองไทย แทนที่จะแจกรวมเรื่องสั้น เข้าใจว่าเฉพาะเรื่องแรก ประเพณีและชีวิต เท่านั้นที่ได้รางวัลนี้ ซีไรต์ลาวคงแจกเป็นเรื่องๆ เหมือนนายอินทร์อวอร์ด

อ่านแล้วก็ประหลาดใจอยู่ไม่น้อย ตลอดหกสิบ เจ็ดสิบปีที่เมืองไทยเป็นประชาธิปไตย ลาวปกครองด้วยเผด็จการทหาร กึ่งคอมมิวนิสต์ เตรียมตัวเตรียมใจว่าคงได้อ่านงานอัตถิสังคมนิยม (socialist realism) ซึ่งเป็นการด่านายทุน ยกย่องคนจนแบบดานๆ เหมือนพักหนึ่ง "ปัญญาชน" ไทยชอบเขียนกันนัก แต่ผิดคาด อย่างใน ประเพณีและชีวิต แน่นอนล่ะว่าพระเอกย่อมเป็นหนุ่มบ้านนา แต่ก็ไม่ได้มีเศรษฐีออกมาอาละวาดฟาดหาง ถ้าจะมีผู้ร้าย ก็คงเป็นแค่หมอผี กับความเชื่องมงาย

คนลาวนี้มองโลกในแง่ดีจริงๆ ไม่รู้ว่าเพราะไม่มีใครกล้าออกมาติติงรัฐบาลหรือเปล่า อย่างเรื่องสั้น ใบไม้ใบสุดท้าย ที่เป็นชื่อเล่ม ก็เป็นแค่ความหลังอันข่มขืนของทหารผ่านศึก ผู้แม้จะสูญเสียทุกอย่างไปกับสงคราม แต่ก็อดปลื้มปิติไม่ได้ที่ครั้งหนึ่งเคยจับปืนรับใช้ชาติ เรื่องนี้ก็ไม่มีผู้ร้ายอีกเช่นกัน

ก็แปลกดี สงสัยในสังคมที่คอมมิวนิสต์พัฒนาถึงขีดสุดแล้ว บางทีนายทุน ผู้ร้าย หรือความเป็นอื่น (otherness) อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป (เทียบกับสังคมไทยปัจจุบันแล้วเศร้า ที่นับวันคนเรายิ่งจะหยิบยื่นความเป็นอื่นเข้าใส่กันทุกทีๆ ) ที่สำคัญ และทำให้ชอบมากคือเรื่องสั้นของบุนเสินส่งเสริมให้คนมีการศึกษาครับ ไม่เหมือนเรื่องสั้นไทยยุคหลังๆ ที่นักเขียนนอกจากจะประกาศความไม่รู้ของตัวเองแล้ว ยังมานั่งภาคภูมิใจกับมันอีก

ถึงจะชอบวิธีมองโลกแบบคนลาว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทักษะทางวรรณศิลป์ของเขายังห่างวรรณกรรมไทยอยู่ไม่น้อย เรื่องง่ายงาม แต่ก็ซ้ำซากจนน่าเบื่อ ถึงจะผิดต่อนานมี แต่แอบกระซิบบอกกันว่ายืนอ่านในร้านหนังสือเถอะครับ ถ้าใครอยากสะสม หรือชอบจริงๆ ค่อยซื้อกลับบ้าน (แฮะๆ )

คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม "ความเป็นไทย" เล่ม ๑ (สายชล สัตยานุรักษ์)


เราถูก "ข่มขืนทางความคิด" ครั้งแรกตอนมัธยมหก เมื่อได้อ่าน ไผ่แดง นั่งอ่านในร้านดอกหญ้านี่แหละ ตอนแรกก็คิดว่าแค่บทสองบท แล้วค่อยซื้อกลับไปต่อที่บ้าน ไปๆ มาๆ รวดเดียวถึงปกหลัง เป็นหนังสือไม่กี่เล่มที่ติดขนาดอ่านจบในร้านได้ ไผ่แดง ส่งอิทธิพลรุนแรงชนิดว่าคงไม่มีคำไหนอีกแล้วเหมาะสมไปกว่า "ข่มขืน" เราเห็นโลกต่างไป จากดำขาว อยู่ดีๆ เหมือนอาจารย์คึกฤทธิ์เข้าไปเปิดทีวีสีในหัว อะไรที่เคย "ถูก" กลับกลายเป็น "จริงหรือ" และอะไรที่เคย "ผิด" เปลี่ยนเป็น "เข้าใจอยู่"

ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าถ้าไม่ได้ถูก "ข่มขืนทางความคิด" ปัจจุบันชีวิตเราจะสะดวกสบายกว่าไหม คงสามารถเข้าไปรวมกลุ่มกับฝูงชน ทำอะไรแบบที่ใครๆ เขาก็ทำกันทั้งบ้านทั้งเมืองอย่างไม่ติดขัด ไม่ต้องทะเลาะกับพ่อ กับแม่ กับเพื่อนด้วยเรื่อง "การเมือง" โอ้! ใช่แล้ว "การเมือง" นี่เองซึ่งฉีกทึ้งครอบครัวแม่พลอย และคุณเปรมเป็นชิ้นๆ

...ว่าเข้าไปนั้น

คึกฤทธิ์กับประดิษฐกรรม "ความเป็นไทย" เป็นหนังสือวิชาการ ถูกเขียนโดยคนไม่ชอบคึกฤทธิ์ แต่สำหรับเราที่เป็นแฟนอาจารย์แล้ว นี่คือหนังสือซึ่ง "ยกย่อง" คึกฤทธิ์ได้อย่างไม่มีผู้ชื่นชมคนไหนเขียนได้ เพราะว่ากันตรงๆ ความเจ๋งของอาจารย์ไม่ได้อยู่ที่อุดมการณ์ ทรัพย์สิน หรือบารมี แบบที่คนไทยทั่วไปมองกันว่าเจ๋ง คึกฤทธิ์เจ๋งตรงไหน ตรงที่ปากกาล้วนๆ ก็ไขว่คว้าตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองมาได้

แต่เดี๋ยวก่อนสิ จะพูดว่าอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่มีอุดมการณ์เลย อย่างที่อาจารย์สายชลพยายามโต้แย้ง เราก็ไม่เห็นด้วยนัก "บาป" ของอาจารย์ที่หนังสือเล่มนี้พยายามชี้แจงคือการเปลี่ยนแปลงท่าทีความคิดทั้งกรณีต่อสถาบันกษัตริย์ และรัฐบาลทหาร อาจารย์สายชลชี้ว่าสำหรับนักการเมืองตัวเปล่าเล่าเปลือย หนทางเดียวที่จะสู้กับจอมพล และกลุ่มอดีตเสรีไทย/คณะราษฎรคือต้องสร้าง "อำนาจทางปัญญา" ขึ้นมา อาจารย์คึกฤทธิ์นำเสนอภาพตัวเองให้เป็นผู้รู้วัฒนธรรมไทยผ่าน สยามรัฐ และนิยาย หลังจากนั้นใช้ภาพลักษณ์ตรงนี้โจมตีคู่แข่งทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์แล้ว ปลายปากกาพร้อมจะเล่นงาน หรือเคียงข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


ท่าทีเช่นนี้ จะตำหนิว่า "กลับกลอก" ก็คงไม่ผิด แต่ลองมองสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันบ้าง ความผันผวนทางความคิดทำให้ทุกวันนี้นักวิชาการ และปัญญาชนเลือกยืนข้างกันไม่ถูก ย้อนกลับไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองแท้ๆ คนไทยก็ต้องมาเผชิญกับสองทางเลือกเสรีนิยม หรือสังคมนิยม ยังไม่นับเผด็จการทหาร และอนุรักษ์นิยม ความ "กลับกลอก" ของคึกฤทธิ์ส่วนหนึ่งก็ต้องโบ้ยไปให้ความ "ผันผวน" ของสังคมในขณะนั้น

อาจารย์คึกฤทธิ์มีอุดมการณ์นะครับ นั่นคือการต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งต่อให้อาจารย์สายชลจะมองว่าเป็นแค่การโจมตีศัตรูทางการเมืองอย่างอาจารย์ปรีดี เราก็ยังรู้สึกว่า ไผ่แดง และ สี่แผ่นดิน น่าจะมาจากความเชื่อลึกๆ ของคึกฤทธิ์ มากกว่าอิทธิพลของอาจารย์ปรีดี ซึ่งนับวันจะยิ่งเบาบางลงตั้งแต่ท่านถูกเนรเทศไปอยู่ประเทศจีน

อีกจุดหนึ่งที่อดสงสัยไม่ได้คือ อาจารย์สายชลให้ความสำคัญกับนวนิยายเกินไปหรือเปล่า จริงอยู่ว่าสยามรัฐอาจเป็นกระบอกเสียง เป็นสรรพอาวุธชั้นหนึ่ง แต่ในประเทศที่คนปัจจุบันอ่านหนังสือปีละเจ็ดบรรทัด (ไม่ต้องพูดว่าสมัยนั้นอ่านกันปีละกี่คำ) ไผ่แดง และ สี่แผ่นดิน จะส่งผลอะไรต่ออาชีพการเมืองได้ขนาดนั้น

โดยรวมๆ แล้วชอบหนังสือเล่มนี้ ชอบถึงขนาดเพิ่งไปซื้อเล่ม ๒ มา และคิดว่าคงได้อ่าน ได้เล่าให้ฟังอีกในเร็ววันนี้แน่ เราเห็นด้วยกับอาจารย์สายชลในหลายๆ แง่ แน่นอนว่าเพื่อผลประโยชน์แล้ว อาจารย์คึกฤทธิ์คงเสกสรรค์ปั้นแต่ง "ความเป็นไทย" หลายอย่างขึ้นมา จะมากน้อย และมีอิทธิพลต่อสังคมแค่ไหน โดยเฉพาะเทียบกับ "บรรทัดฐาน" ที่อาจารย์ปรีดี จิตร และนักศึกษารุ่นหลังสร้างขึ้นมาตอบโต้ ตรงนั้นกระมังที่จุดยืนระหว่างเรา และอาจารย์สายชลแตกต่างกัน

I. Murdoch's "A Severed Head"


ยอมรับว่าอ่าน A Severed Head เล่มนี้ไปก็ลุ้นไป ไม่ใช่ว่าลุ้นเนื้อเรื่องนะ แต่ลุ้นว่าอย่าจบชุ่ยๆ แบบ The Sacred and Profane Love Machine ก็แล้วกัน ซึ่งจริงๆ เล่มนั้นก็ไม่ได้เลวร้ายมากนักหรอก เพียงแต่เหมือนเดมเมอดอกเธอจะสนุกสนานกับการฉีกทึ้งหนังสือตัวเองเป็นเสี่ยงๆ เกินไปหน่อย

จะว่าไปแล้ว การอ่าน A Severed Head ก็ทำให้เราเข้าใจ The Sacred and Profane Love Machine ขึ้นมาอีกนิดหน่อย หนังสือสองเล่มนี้คล้ายกันมาก เรื่องราวของผู้ชายที่หลงรักผู้หญิงสองคนพร้อมกัน คนหนึ่งคือภรรยา อีกคนคือชู้รัก เหมือนชนิดที่ว่าถ้าเป็นภาพยนตร์ ก็ต้องเรียกว่ารีเมคเลย ว่ากันตรงๆ เรื่องทำนองนี้จบยาก เพราะสำหรับเมอดอกผู้เชื่อว่า "Every man needs two women: a quiet home-maker, and a thrilling nymph." ตัวเอกก็คงไปกับใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้ จะให้ The Sacred and Profane Love Machine จบแบบ A Severed Head ก็ซ้ำซากอีก ก็เลยต้องเอวังจบแบบที่มันจบไป

A Severed Head เป็นหนึ่งในผลงานเล่มแรกๆ ของเมอดอก จริงๆ คือเล่มที่ 5 เข้าใจว่าดังทีเดียวเพราะได้รับการดัดแปลงมาเป็นละครเวที เทียบกับอีกเล่มก่อนๆ สองเล่มที่เราอ่านคือ Under the Net กับ The Sandcastle เล่มนี้เริ่มเห็นความเป็นเมอดอกที่ชัดเจนขึ้น ตั้งแต่การมีตัวละครเยอะๆ หรืออย่างการสร้างตัวละครฮอเนอร์ คลายน์ ผู้หญิงซึ่งเป็นศูนย์รวมของเหตุการณ์ ฉลาดกว่าทุกคน และมองใครๆ ด้วยสายตาดูถูก เป็นตัวละครคลาสสิคแบบเมอดอก ผิดแต่ว่าตัวละครแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย มีฮอเนอร์นี่แหละที่เป็นผู้หญิงคนแรก ถ้าจะจับผิดล่ะก็ ต้องบอกว่าอายุตัวละครมันไล่เลี่ยกันเกินไปหน่อย ensemble เมอดอกแท้จริงๆ ต้องมีเด็กพ่วงมาด้วย (ในแง่นี้ An Unofficial Rose นิยายเล่มถัดไป น่าจะพูดได้ว่าเมอดอกก้าวสู่ความเป็นเธออย่างเต็มตัวแล้ว)


จุดหนึ่งที่สะกิดเราตลอดเวลาขณะอ่าน A Severed Head คือนิยายเล่มนี้เขียนผ่านสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ถามว่าแปลกไหม ก็ไม่แปลกเสียทีเดียว ทั้ง Under the Net และ The Sea, The Sea ก็เขียนด้วย "ผม" แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ค่อยคุ้นเคย มิหนำซ้ำมุมมองจำกัดแบบนี้ทำให้ A Severed Head มีรูปแบบการดำเนินเรื่องที่แตกต่างจากนิยายเล่มอื่นๆ ตั้งแต่เหตุการณ์ที่อยู่ดีๆ ผ่านเข้าออกชีวิตตัวเอกอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย หลายๆ ฉากที่ไม่ปรากฏในเรื่องตรงๆ แต่อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเป็นเมอดอกแบบที่เรารู้จัก เธอน่าจะสนุกสนานกับการเขียนฉากนั้น A Severed Head เหมือนนิยายที่อยู่ตรงกลางระหว่าง Under the Net กับนิยายเมอดอกในระยะหลังๆ บางทีแดมเมอดอกอาจจะเรียนรู้จากเล่มนี้ก็ได้ว่าสรรพนามบุรุษที่หนึ่งไม่เหมาะกับเรื่องแบบที่เธออยากเล่า

เขียนมาตั้งยาวเหยียดยังไม่เข้าเรื่องเลย ยอมรับว่า A Severed Head ไม่ใช่นิยายที่จะเขียนถึงได้ง่ายๆ ธีมเรื่องซับซ้อน ที่พอจับได้คือ "This is nothing to do with happiness" หรือ "ไม่เกี่ยวอะไรกับความสุข" ในที่นี้หมายถึงชีวิตแต่งงาน หรือความรัก ถ้าไม่เกี่ยวกับความสุข แล้วมันเกี่ยวกับอะไรเล่า ถ้าให้เราตีความ จะตอบว่า "ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี" ช่วงแรกของ A Severed Head คือ power play หรือการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างคนสี่คน มาติน หรือผม แอนโธเนีย ภรรยาของมาติน ปาล์มเมอ จิตแพทย์ และชู้รักของแอนโธเนีย และ จอเจีย ผู้หญิงที่มาตินแอบไปมีสัมพันธ์ด้วย ต่างฝ่ายต่างใช้ความรัก และความรู้สึกผิดชอบชั่วดี บังคับ แข็งขืน ครอบงำกันและกัน เป็นช่วงที่อ่านแล้ว "มันส์" มากๆ

พอถึงช่วงหลังธีมเรื่องเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อความลับต่างๆ ถูกเปิดเผย และฮอเนอร์ ไคลน์ พี่สาวนักมานุษยวิทยาของปาล์มเมอร์ และอเลกซานเดอร์ พี่ชายของมาติน เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ฮอเนอร์ ไคลน์คือ "A Severed Head" เธอเปรียบตัวเองว่าเป็นศีรษะซึ่งนักรบต่างเผ่าตัดเก็บไว้ทำเครื่องประดับ นักรบเชื่อว่าศีรษะดังกล่าวทำนายทายทักอนาคต จึงเก็บมันไว้ใกล้ตัวตลอดเวลา แต่จะเป็นไปได้เชียวหรือ ที่นักรบจะหลงรักศีรษะเปล่าๆ นั้น ครึ่งหลัง ดูเมอดอกจะให้ความสำคัญกับ "การตื่น" มากขึ้น โดยแต่ละตัวละครพูดว่าที่ผ่านมาชีวิตตัวเองเหมือนตกอยู่ในความฝัน

ชักเริ่มยาวแล้วสิ ถ้าให้คุยเรื่องเมอดอก เป็นวันก็คงไม่จบหรอก นอกจากจะหยุดคุยเอาดื้อๆ

ที่ที่เรายืนอยู่ (อังคาร จันทาทิพย์)


เอารูปวาดของวิลเลียม เบลคมาใช้ เพราะภาษากวีของคุณอังคารช่างชวนให้นึกถึงกวีอังกฤษโคตรคลาสสิคคนนี้ (สงสัยมากว่าตั้งใจหรือบังเอิญ ในบท อารยะไม่ขัดขืน มีการกล่าวถึงโปรมิธุส ซึ่งวิธีผสานเทพนิยายในกลอนลักษณะนี้แหละคือจุดเด่นของเบลค)

กลอนแบบนี้เรียกว่า prophetic poems แปลไทยมั่วๆ คือ "โคลงกลอนพยากรณ์" แต่ละบทใน ที่ที่เรายืนอยู่ มีน้ำเสียงโฉ่งฉ่าง อึกทึก พูดถึงสวรรค์ นรก เวลา ความตาย นามธรรมประดามีทั้งหลาย ตบเท้าเข้ามาอย่างไม่บรรยะบรรยัง ยกตัวอย่างเช่น จาก ชายขอบ "เหลื่อมลึกและกว้างคว้างอยู่ / รู้กับดัก ลักลั่น / เนียบแนบร้อนหนาว มาราวนิรันดร์ / เหลือกัปเหลือกัลป์ - เยี่ยมกราย" โอ้ว...อะไรจะขนาดนั้น

เราอ่าน ที่ที่เรายืนอยู่ ด้วยความรู้สึกชื่นชม มากกว่าชื่นชอบ ทุกครั้งที่อ่าน prophetic poems ไม่ว่าจะของนักเขียนไทย หรือเทศ รู้สึกเหมือนถูกกระชากคอเสื้อ แล้วตบหน้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยอิมเมจหนักๆ สลับสับเปลี่ยนกันเข้ามา ถ้าให้เทียบกับดนตรี ก็คงเป็นร็อคบีตหนักๆ (ขณะที่ โลกในดวงตาข้าพเจ้า เหมือนเพลงลูกทุ่ง ส่วน หมู่บ้านในแสงจันทร์ เหมือนดนตรีคลาสสิค) เนื้อหาเข้าใจยากเพราะนามธรรมเหลือเกิน และบางครั้งเข้าใจว่าผู้เขียนตั้งใจสื่ออารมณ์ มากกว่าความคิด อย่าง ผีเสื้อขยับปีที่กรือแซะฯ ก็ไม่ได้มีสารอะไรเพิ่มเติมไปกว่า คนฆ่ากันตายเป็นเรื่องน่าเศร้า (ไปๆ มาๆ กลอนที่เราชอบที่สุดในเล่มคือ หน้าร้านคาราโอเกะ ซึ่งได้อารมณ์เรียบๆ ส่วนตัวมากกว่าบทอื่น)

แต่ในทางกลับกัน ถ้ามองงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของ genre ต้องยอมรับว่าคุณอังคารมือถึง อารมณ์กลอนฉวัดเฉวียนถึงอกถึงใจ เสียดายว่าถ้ามีภาพประกอบซึ่งแรงส่งเสิรมกัน รวมบทกวีชุดนี้คงสมบูรณ์แบบขึ้น (เบลคนอกจากจะเป็นกวีแล้ว เขายังวาดภาพประกอบให้หนังสือตัวเอง) สำหรับคนชอบฟังโมสาร์ต นานๆ ทีหยิบบองโจวีมาเปิดเล่นก็เข้าทีมิหยอก

A. Carter's "The Magic Toyshop"


ไม่เคยอ่านชาร์ลส์ ดิกเกน แต่ก็พอรู้แหละว่าพลอตแบบไหนที่เขาเรียก "dickensian" เด็กกำพร้าถูกเลี้ยงดูโดยพ่อ หรือแม่บุญธรรมใจร้าย เมื่อออกไปเผชิญโลกกว้าง มีคนดีๆ ผ่านเข้ามาในชีวิต โดยมากมักเป็นเด็ก ส่วนพวกผู้ใหญ่ ถ้าไม่ชั่วช้า ก็โง่เขลาพึ่งพาไม่ค่อยได้ แน่นอนแหละ จากธีมนี้แปรเปลี่ยนไปได้ร้อยแปด อย่างแฮรี่ พอตเตอร์นี่ก็ใช่เลย

The Magic Toyshop คือนิยาย dickensian ที่ใส่กลิ่นคาร์เตอร์เข้าไปอย่างอบอวล เมลานี เด็กกำพร้าในเรื่องไม่ได้ใสซื่อบริสุทธิ์เสียทีเดียว ในบทแรก ความใฝ่ฝันสูงสุดของเมลานีคือได้แต่งงาน หรืออย่างน้อยก็ "ขอมีเซ็กสักครั้งในชีวิต" หลังแอบเอาชุดวิวาห์มารดาไปใส่ เกิดลางร้าย นำไปสู่เหตุการณ์ซึ่งผกผันชีวิตเธอและน้องอีกสองคนไปสู่ร้านของเล่นของลุง

ฟิลิปเป็นผู้ใหญ่คลาสสิคของดิกเกน โหดร้าย เห็นแก่ตัว เขารังเกียจความรักทุกรูปแบบ สิ่งเดียวที่ชายร่างอ้วนหลงใหลคือหุ่นชักใย ทุกๆ เดือนเปิดโรงละครหุ่นเชิด แล้วบังคับให้คนในครอบครัวมานั่งดู นอกจากฟิลิป อีกสามคนซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านคือสามพี่น้องตระกูลโจล แมกกี พี่สาวคนโตแต่งงานกับฟิลิปเพราะความจำเป็นด้านเงินทอง ฟรานซีน ชายเงียบขรึมผู้ชอบเล่นไวโอลิน และฟิน ผู้ทำตัวสกปรกตลอดเวลา แต่มีพรสวรรค์ด้านเต้นรำ และศิลปะ

หัวใจของ The Magic Toyshop คือการตื่นตัวทางเพศของเมลานี คาร์เตอร์เป็นหนึ่งในนักเขียนอีโรติก ที่ในสายตาเราแล้ว ประสบความสำเร็จสุด แทบทุกฉากมีบรรยากาศเย้ายวนแอบแฝง ตั้งแต่จูบแรกระหว่างเมลานี และฟินใน pleasure garden สวนซากปรักหักพักไหม้ไฟ จนถึงฉากซ้อมละคร เมลานีรับบทลิดา หญิงสาวผู้ถูกมหาเทพเซอุสในร่างหงส์ข่มขืน ซึ่งหงส์ในที่นี้คือหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์กลแสนรักของฟิลิป (สำหรับแฟนเทพนิยายกรีก คงจำกันได้ว่าลิดาคือมารดาของเฮเลนแห่งเมืองทรอยนั่นเอง)

The Magic Toyshop คือนิยายที่ระหว่างอ่านแล้วชอบมากๆ แต่พอจบ อดคิดไม่ได้ว่ามันน่าจะยาวกว่านี้ (ถ้าติดตามบลอคนี้มาตลอด จะรู้ว่าน้อยเล่มจริงๆ ที่เรารู้สึกว่าจำนวนหน้าไม่พอ ส่วนใหญ่จะตรงกันข้าม) อย่างเรื่องของโจนาธาน น้องชายเมลานี น่าจะต่อไปไหนได้มากกว่านี้ เพราะเป็นคนเดียวในครอบครัวซึ่งฟิลิปยอบรับ เด็กชายทุ่มเทชีวิตให้กับการต่อเรือจำลอง เฉกเช่นเดียวกับลุง หรือความสัมพันธ์/เพศสัมพันธ์ระหว่างคน และหุ่นกล น่าจะเป็นจุดที่คาร์เตอร์ขยับขยายได้ไกลกว่านี้

โดยรวม สำหรับหนังสือเล่มที่สองของนักเขียน จะถือว่านี่คือนิยายคาร์เตอร์ สมัยที่เธอยังไม่เป็นคาร์เตอร์เต็มตัวก็ว่าได้ เห็นศักยภาพว่าคนคนนี้จะเติบโตแล้วมาเขียนสุดยอดนิยายอย่าง The Infernal Desire Machine of Doctor Hoffman แม้จะไม่เต็มที่กับ The Magic Toyshop แต่ก็ไม่ผิดหวัง