หนังสือที่เศร้าที่สุดในโลก
นอนไม่หลับครับ ในคืนตาค้างนี้ขอพูดถึงหนังสือที่เศร้าที่สุดในโลกแล้วกัน
เขียนโดยนักเขียนไทยครับ ไม่เอ่ยชื่อดีกว่า ความเศร้าของหนังสือเล่มนี้ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับโชคชะตากรรมของคู่พระคู่นาง ที่มีอันต้องพลัดพรากจากกันในตอบจบ ไม่เกี่ยวอะไรความพลั้งเผลอชั่วขณะ อันนำไปสู่จุดหักเหของชีวิตตัวละครทั้งสอง
แต่เกี่ยวกับประโยคซึ่งผู้เขียนทิ้งลงในหนังสือ ไม่ขอ quote นะครับ เอาเป็นว่าใจความของประโยคนั้นก็คือถ้าเลือกได้ เขาขอเลือกให้คนหันมาสูบบุหรี่ ดีกว่าคลั้งไคล่ลัทธิทุนนิยม
อะไรจะขนาดนั้น
ไอ้เรื่องจิกกัดทุนนิยมนี่ ทำใจจนชินแล้วล่ะ แต่ถึงขนาดเอาไปเทียบกับบุหรี่นี่ ผู้เขียนทราบไหมว่า ตลอดสองร้อยปีของประวัติทุนนิยม ซึ่งผ่านความผกผวน และถูกจู่โจมทางทฤษฎีซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนปัจจุบันนี้ มันก็ยังถือว่าเป็นระบบเศรษฐศาสตร์ที่ ดีที่สุด แน่นอนว่าไอ้โทษก็ต้องมี ถ้าเอามาปฏิบัติผิดๆ ถูกๆ ย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย แต่นักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าประโยชน์มันเหนือกว่าโทษ
บุหรี่เล่ามีประโยชน์อะไร คนตั้งเท่าไหร่ตายไปเพราะสูบบุหรี่ เพื่ออะไร เพื่อให้พ่อค้าไม่กี่คนร่ำรวยขึ้นมา ยังไม่นับอีกว่าบุหรี่เป็นสารเสพติดซึ่งขัดศีลข้อห้า ปล่อยไว้แบบนี้อีกไม่กี่ปี คงมีนักเขียนออกมาพูดว่า ผมขอเลือกที่จะอยู่ในโลกที่ผู้คนฆ่ากันตาย ดีกว่าปล่อยให้ทุนนิยมดำเนินต่อไป
อีกครั้งที่เศร้าแบบนี้ คือผู้หญิงคนหนึ่งเขียนจดหมายมาถึงนักข่าวอาวุโส ให้ช่วยท้วงติงกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงอดีตนายกฯ ว่าเวลาไปเดินสาย ช่วยทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง มีแต่เธอ กับเพื่อนสองสามคนมาช่วยเก็บ ช่วยกวาด นักข่าวผู้นั้นกลับโจมตีผู้หญิงเจ้าของจดหมายว่า "โคตรขี้บ่นเลย"
ในคืนที่นอนไม่หลับ นี่แหละครับ เรื่องที่ผมว่าเศร้าที่สุดในโลก
T. Capote's "In Cold Blood"
วินาทีสำคัญใน In Cold Blood เกิดขึ้นตอนจบของบทที่สาม เมื่อตำรวจผู้ได้รับมอบหมายคดีฆาตกรรมยกบ้านคลัทเตอร์ จับคนร้ายได้ ภายหลังการสอบปากคำยาวนาน ความลับที่ผู้อ่าน และชาวอเมริกันปี 1959 อยากรู้กันทั้งประเทศก็ได้ถูกเปิดเผย อะไรคือแรงจูงใจของดิก และเพอรีในการฆ่าล้างครัวเรือน ดิวอี้ นายตำรวจสรุปสั้นๆ สองคำ "อุบัติเหตุทางจิตวิทยา" เขาพูดต่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้น แทบไม่ต่างอะไรจากนาย นางคลัทเตอร์ ลูกสาว และลูกชายถูกฟ้าผ่าตาย ขณะเดินอยู่กลางทุ่ง
จริงรึ?
ระหว่างที่อ่าน In Cold Blood รู้สึกเหมือนตัวเองรับรู้เหตุการณ์สามอย่างพร้อมๆ กัน อย่างแรกคือเรื่องราวในหนังสือ ตามที่ได้ถูกถ่ายทอดผ่านปลายปากกาทรูแมน คาโปต อย่างที่สองคือเหตุการณ์เบื้องหลังหนังสือตามที่ได้รับรู้ผ่านภาพยนตร์ Capote และอย่างสุดท้ายคือข่าวจริงๆ ซึ่งเกิดขึ้น และสะเทือนขวัญชาวอเมริกามาแล้วในปี 60s ทั้งสามเหตุการณ์นี้ สัมพันธ์ เกี่ยวข้อง และผ่านการปรุงแต่งมาแค่ไหน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าดูจากภาพยนตร์ เห็นได้ชัดว่าคาโปตหลงเสน่ห์บางอย่างในตัวเพอรี ใน In Cold Blood เขาพยายามวาดภาพชายหนุ่มให้ดูน่าสงสาร ตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กที่ถูกพ่อกดขี่ข่มเหง ประวัติความผิดปกติในครอบครัว (มีพี่ชาย พี่สะใภ้ และพี่สาวฆ่าตัวตาย) จนถึงด้านที่เป็นศิลปินของชายหนุ่ม(เพอรีพกกีต้าติดตัวไปไหนมาไหน และคาโปตย้ำแล้วย้ำอีกว่าฝีมือ พรสวรรค์ของเขาไม่ใช่ธรรมดา)
ในทางตรงข้าม ดิก ตามที่ถูกถ่ายทอดในหนังสือ เป็นแค่อาชญากรกระจอก เต็มไปด้วยความคิดหาเงินทางลัด ซึ่งไม่ค่อยออกดอกออกผล (เงินทองทั้งหมดที่ทั้งคู่ริบมาจากครอบครัวคลัทเตอร์ในคืนนั้นไม่ถึง 50 เหรียญดีด้วยซ้ำ) ชอบคุยโวว่าตัวเองเก่งอย่างนู้นอย่างนี้ แต่เอาเข้าจริงขี้ขลาด มิหนำซ้ำยังควบคุมอารมณ์ทางเพศตัวเองไม่อยู่ ดิกมีภาพลักษณ์ของผู้ร้ายซึ่งตรงข้ามกับเพอรีอย่างสิ้นเชิง
ซึ่งทั้งหมดนี้ ชวนให้น่าฉงนเข้าไปใหญ่ เพราะสิ่งที่ทั้งคู่ก่อขึ้นโหดร้ายเกินกว่าคนธรรมดาจะเข้าใจ โดยเฉพาะทั้งคู่ไม่รู้จักครอบครัวคลัทเตอร์มาก่อน มิหนำซ้ำแม้ดิกจะเป็นคนต้นคิดแผนการ แต่ผู้ลงมือสังหารตระกูลคลัทเตอร์ กลับเป็นตัวเพอรี ผู้ซึ่งก่อนและหลังเหตุการณ์นี้ไม่เคยปลิดชีวิตใครทั้งสิ้น จากคำอธิบายในหนังสือ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็น "อุบัติเหตุทางจิตวิทยา" โดยเพอรีฟูมฝักอาการป่วยทางจิต ซึ่งภายใต้สภาวะกดดันเฉกเช่นคืนวันที่ 14 พฤศิจกายน 1959 ระเบิดออกมา และทำให้ชายหนุ่มกลายเป็นบ้าชั่วขณะ (แต่พอถึงชั้นศาล คำแก้ต่างว่าทั้งคู่ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีระหว่างก่อคดีตกไป)
ปัญหาของเรากับหนังสือเล่มนี้คือ ไม่ว่าคาโปตจะพยายามแค่ไหน ก็ไม่อาจทำให้เราเชื่อได้ว่าเพอรีเป็นมากกว่าโจรกระจอก ยิ่งผู้เขียนพยายามให้เบื้องหลังตัวละครเท่าไหร่ ก็ยิ่งตรงกับภาพลักษณ์ผู้ร้ายโรแมนติกในหนัง ในนิยายที่เคยอ่านๆ ดูๆ (ซึ่งถ้ามองในทางกลับกันก็คงช่วยไม่ได้จริงๆ เพราะงานเขียนของคาโปตต่างหากที่ส่งอิทธิพลถึงหนัง และนิยายเหล่านั้น)
ไม่ว่าเพอรีคือปีศาจเลือดเย็น หรือเหยื่อสังคมตามที่คาโปตวาดภาพไว้อย่างสวยหรู คำถามเหล่านี้คงได้แต่ถูกฝังไว้กับวันเวลาอดีต อย่างไรก็ตาม สำหรับแฟนภาพยนตร์ Capote หรือผู้สนใจอาชญนิยาย In Cold Blood คือหนังสืออีกเล่มที่อยากแนะนำ
G. Greene's "The Power and the Glory"
เพิ่งเขียนไปหยกๆ ว่าความเร็วที่ใช้ในการอ่านหนังสือสักเล่มบางครั้งก็บอกได้ว่าเราชอบหนังสือมาก น้อยเพียงใด ขณะเดียวกันบางครั้งก็บอกไม่ได้ เพราะ The Power and the Glory เป็นหนังสือที่ดีมากๆ เล่มหนึ่ง ซึ่งก็ล่อไปเกือบอาทิตย์ ทั้งทีบางจ๋อยสองร้อยกว่าหน้านิดๆ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม จะว่าติดธุระปะปังก็ไม่เชิงเสียทีเดียว อาจจะผนวกกับช่วงเปิดเรื่องห้าสิบหน้าแรกที่ช้าบรรลัยกระมัง Brighton Rock นิยายของกรีนอีกเล่มที่เคยอ่าน ก็เปิดเรื่องได้เปื่อยๆ เรื่อยๆ แบบนี้
กรีนเป็นคนหน้าสนใจ ไม่ได้อ่านประวัติแกละเอียด เข้าใจว่าแกเป็นนักข่าว หรืออะไรสักประเภทที่ทำให้แกได้ท่องเที่ยวไปไหนต่อไหน อ่านนิยายกรีนมาสี่เล่ม ไม่มีฉากซ้ำกันเลย ตั้งแต่ชุมชนแออัดในลอนดอน (Brighton Rock) ทุ่งหญ้าซาฟารี (The Heart of the Matter) สงครามเวียดนาม (The Quiet American) และก็เล่มนี้คือเมกซิโกภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อศาสนากลายเป็นของผิดกฎหมาย พระมีสองทางเลือกคือถูกบังคับให้แต่งงาน หรือหนีออกนอกประเทศ คนที่ยังเหลืออยู่ถูกตำรวจตามล่า ถ้าจับได้ โทษถึงตาย ยิงทิ้งสถานเดียว
ยอมรับเลยว่าตัวเองไม่มีศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดๆ ก็ตาม เรื่องนี้คุยกันได้ยาว แต่สรุปสั้นๆ คือ ยิ่งนิยาย หรืองานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับศาสนาด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีศรัทธาเข้าไปใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นนิยายศาสนาคริสต์อย่าง Go Tell It to the Mountain ของเจมส์ บาลวิน หรือนิยายศาสนาพุทธของวิมล ไทรนิ่มนวล แต่ The Power and the Glory น่าจะเป็นนิยายศาสนาเล่มแรกที่อ่านแล้วอิน
The Power and the Glory เล่าเรื่องพระคนสุดท้ายซึ่งยังหลงเหลืออยู่ในเม็กซิโก ต้องคอยหนีการตามล่าจากตำรวจ ระหว่างทางได้พบปะผู้คนมากมาย บ้างก็ให้การช่วยเหลือท่านทั้งที่รู้ว่าถ้าเรื่องไปถึงหูตำรวจ ตัวเองก็มีโทษถึงประหารเช่นกัน บ้างก็หวังประโยชน์ รางวัลนำจับ กรีนแสดงให้เห็นภาระของการเป็นคริสเตียนว่าหนักหนาแค่ไหน ทั้งการต่อสู้กับทั้งโลกภายนอก และความขัดแย้งในใจตัวเอง
ตัวเอกของ The Power and the Glory เป็นหนึ่งในตัวละครที่น่าสนใจมากๆ แม้ยึดติดกับหน้าที่ของคริสเตียนจนวินาทีสุดท้าย แต่ตัวท่านเองจริงๆ ก็เป็นแค่ whisky Priest หมายถึงพระที่กระทำบาป และผิดศีล หนึ่งในนั้นคือการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาว จนให้กำเนิดทายาทคนหนึ่ง สังเกตว่าตัวเอกนิยายศาสนาตะวันตกมักเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ซึ่งลองเปรียบเทียบกับพระเอกแบนๆ อย่างในเรื่อง อมตะ ดู ระหว่างอ่าน อมตะ รู้สึกเหมือนฟังพระเทศน์ คืออะไรๆ ที่ตัวเอกพูดต้องถูกเสมอ ขณะที่นิยายของกรีนกลับเต็มไปด้วยข้อถกเถียงน่าสนใจ เช่นว่า whisky prist ถามตัวเอง จะให้เขารังเกียจบาปที่กระทำลงไปได้อย่างไร ในเมื่อตัวเขารักผลของบาปนั้น (หมายถึงลูกสาว) อย่างสุดหัวใจเช่นนี้
ทั้งที่ศาสนาพุทธน่าจะส่งเสริมให้คนช่างคิด ช่างสงสัย และช่างใช้เหตุผลแท้ๆ แต่ทำไมทุกวันนี้ เราถึงอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมอะไรๆ มันช่างดำ ขาวเสียเหลือเกิน นอกจาก ร่างพระร่วง แล้ว อยากอ่านนิยายศาสนาพุทธอีกสักเล่มซึ่งชวนให้คิดติดตามเช่นนี้
ขุนกระบี่ ผีระบาด และแสงศตวรรษ
ผู้เขียนมีเพื่อนฝรั่งชื่อเดวิส หมอคลั่งไคล้หนังคัลท์เป็นชีวิตจิตใจ ไม่ว่าจะของชาติไหน หาดูยากเพียงใด ก็ต้องไปควานมาให้ได้ เดวิสดูหนังไทยเรื่อง ขุนกระบี่ ผีระบาด ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษคือ Sars Wars เนื้อเรื่องเลียนแบบ Resident Evil เหยื่อไข้หวัดนกกลายเป็นผีซอมบี้ลุกขึ้นมาอาละวาดปล่อยเชื้อใส่ผู้อื่น เดวิสบอกว่า เขาอัศจรรย์ความใจกว้างของคนไทยจริงๆ ที่สามารถหัวเราะให้กับทุกเรื่องได้ กระทั่งเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างไข้หวัดนก
ฟังเดวิสพูดจบ ความรู้สึกแรกคือ "ไม่จริ๊ง ไม่จริง" คนไทยเนี่ยนะใจกว้าง อาจด้วยเหตุการณ์หลากหลายซึ่งผ่านเข้าออกชีวิตผู้เขียนพักนี้ ทำให้สรุปได้ว่าอาการบ้าจี้คอยจับผิดนู่นนี่ต่างหากที่เป็นนิสัยคนไทยอย่างแท้จริง ตั้งแต่เด็กเราถูกสั่งสอนว่า ถ้าเห็นฝรั่งทำตัวไม่เหมาะสมในวัด เช่นนั่งหันเท้าไปทางพระพุทธรูป หรือแต่งตัวไม่ถูกมารยาทต้องรีบเข้าไปตักเตือน จนไอ้อาการ "จับผิดฝรั่ง" นี่แทบจะกลายเป็นหน้าที่หลักของพุทธศาสนิกชนไปแล้ว ล่าสุดก็มีการจับผิด เปล่า ไม่ใช่ ฝรั่ง คนไทยด้วยกันนี่แหละ คนที่ถูกผู้ใหญ่คร่ำครึตราหน้าว่า "หัวฝรั่ง" ก็ภาพยนต์เรื่อง แสงศตวรรษ ของพี่เจ้ยนั่นไง ถูกสังระงับไม่ให้ฉายเพราะมีฉากพระเล่นกีต้า
จริงๆ ผู้เขียนคุ้นเคยอาการบ้าจี้ของคนไทยมาตั้งแต่เกิด ในแง่หนึ่งแม้จะหงุดหงิด ก็ไม่รู้สึกประหลาดใจกับการตัดสินใจของกองเซนเซอร์ จนได้มาคุยกับเดวิสนี่แหละ ถึงเพิ่งตระหนักว่าพิลึก ตอนภาพยนตร์ ขุนกระบี่ ผีระบาด ที่เล่นกับโศกนาฏกรรมแท้ๆ ออกฉาย พวกบ้าจี้หายไปไหน พอคิดก็ยิ่งสังเกตว่าจริงๆ แล้ว สังคมเราก็เต็มไปด้วยการเหยียดหยามเพศที่สาม คนอ้วน หรือคนกลุ่มน้อย ซึ่งตัวอย่างก็ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล เอาแค่ในโรงภาพยนตร์ก็มีให้ดูถมเถแล้ว ทำไมผู้ใหญ่ในบ้านเมืองถึงอนุญาตให้คนไทยหัวเราะเยอะกระเทย คนอ้วน เหยื่อผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดนก แต่ไม่ยอมให้เห็นพระเล่นกีต้า (มองข้ามประเด็นนโยบายการเมืองซึ่งแตกต่างกันของรัฐบาลสองยุคไปก่อนก็แล้วกัน แม้เราจะเชื่อก็ตามว่านี่แหละ เหตุผลหลักแล้ว)
เราไม่ชอบคำว่าทวิมาตรฐาน เพราะเมื่อไหร่เรากล่าวหาใครว่ากำลังทำตัวทวิมาตรฐาน นั่นก็หมายถึงตัวเราเองก็กำลังทวิมาตรฐานอยู่เหมือนกัน กระนั้นเราคงตอบไม่ได้ว่าสังคมไทยจะไปทางไหน ไม่ต้องมีกฎข้อห้ามเลยดีไหม ทุกอย่างเอามาล้อเลี่ยน เอามาเคี้ยวย่อยทำเป็นศิลปะได้หมด หรือจะเป็นแบบสังคมอเมริกา เอะอะอะไรก็ต้อง political correct ไว้ก่อน คำตอบคงอยู่ตรงกลางระหว่างสองสุดโต่งนี้ แต่จะกลางแค่ไหน ไม่รู้จริงๆ
M. Atwood's "Dancing Girls"
เคยคุยไปแล้วว่าวัฒนธรรมเรื่องสั้นฝรั่ง ไม่ได้แพร่หลาย มีหรือขนบชัดเจนแบบคนไทย ดังนั้นเรื่องสั้นฝรั่งจะมีเอกลักษณ์เฉพาะทางสูง ซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามนักเขียนแต่ละคน อย่าง Dancing Girls เล่มนี้ ก็มีหลายอย่างคล้ายคลึงกับนิยายเรื่องอื่นๆ ของแอดวู้ด เป็นลักษณะเฉพาะตัวของเธอ ซึ่งนักเขียนคนอื่นเลียนแบบไม่ได้ หรือถ้าเลียนแบบจริง ก็จะรู้ได้ทันทีว่าเลียนแบบมาจากใคร
หลายเรื่องสั้นใน Dancing Girls มีประเด็นหลักร่วมกัน ความแตกต่าง และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชาย ผู้หญิง กว่าครึ่งของเรื่องสั้นในเล่มนี้มีตัวเอกเป็นคู่รัก หรือคู่สามี ภรรยา (เอาเข้าจริงๆ เกือบทั้งหมดเลยก็ว่าได้) ส่วนใหญ่ตัวละครผู้หญิงมักเป็นฝ่ายถูกกระทำ โดนนอกใจ หรือผู้ชายเข้าไม่ถึงความละเอียดอ่อนของเธอ ยกเว้นเรื่องเดียวคือ The Resplendent Qeutzal (ซึ่งเป็นชื่อนกในรูปข้างบน) ที่เหมือนว่าแอดวู้ดจะให้น้ำหนักความไม่เข้าใจกันทั้งฝ่ายหญิง และฝ่ายชาย
อีกธีมหนึ่งซึ่งแอดวู้ชอบมากๆ คือความประสาทหลอน (นิยายเรื่อง Surfacing ซึ่งเคยเขียนถึงไปแล้วเป็นนิยายประสาทหลอนทั้งเล่ม) แอดวู้ดเป็นหนึ่งในนักเขียนไม่กี่คนที่เจาะลึกจิตวิทยาของตัวละครได้อย่างน่าอ่านชวนติดตาม เรื่องประเภททตัวเอกเป็นบ้านั้นนักเขียนไทยชื่นชอบกันมาก คงเพราะรู้สึกว่าเขียนง่าย ใส่อะไรมั่วๆ ลงไปก็ถือได้แล้วว่าตัวละครเป็นบ้า ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด ในนิยายและเรื่องสั้นของแอดวู้ดจะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงระบบ ระเบียบ และมีศาสตร์ของความบ้า
เรื่องสั้นส่วนใหญ่ไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย เป็นตัวเอกเฝ้าสังเกตการกระทำตัวละครอีกตัว แต่ขณะเดียวกัน เรื่องราวซึ่งผ่านมาก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในใจตัวเอกด้วย เป็นการผจญภัยภายในความคิดตัวละคร พอๆ กับในโลกภายนอก ชัดเจนมากเช่น Betty หรือ Polarities ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แทบไม่มีอะไรเกิดขึ้นผู้เล่าเรื่องเลย (หรือกระทั่งกับตัวละครที่ถูกสังเกตการณ์ด้วยซ้ำ) แต่แอดวู้ดก็สามารถร่ายยาวถึงกระบวนความคิดได้อย่างน่าสนใจ
แต่ถามว่าชอบมันขนาดนั้นไม่ ก็คงตอบว่าไม่ ความล้มเหลวของ Dancing Girls เป็นเรื่องน่าขบคิด นี่คือหนังสือดีที่อ่านไปได้สักพักจะน่าเบื่อ อาจเพราะความยาวเหยียดเยิ่นเย่อของแต่ละเรื่อง ซึ่งพอมันจบแบบไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าสักสองสามเรื่องก็พอว่า แต่โดนเข้าบ่อยๆ ทั้งเล่ม ก็ชวนให้อ่านต่อไปไม่ไหวเช่นกัน เป็นหลักการตลาดง่ายๆ ว่าพลังที่ผู้อ่านใช้ในการ "จู่โจม" หนังสือสักเล่มควรจะถัวเฉลี่ยพอๆ กับสิ่งที่เขาได้ (หรือรู้สึกว่าได้) อย่าง Training เป็นตัวอย่างน่าสนใจ ไม่ใช่เรื่องนี้ไม่ได้นะ แต่พออ่านถึงประโยคสุดท้ายอดคิดไม่ได้ว่า "แค่นี้เองหรือ ให้อ่านมาตั้งยาวเหยียด"
ยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นอัจฉริยภาพของเรย์มอน คาร์เวอที่ตัดสินใจเขียนแต่ละเรื่องให้สั้นๆ เต็มไปด้วยบทสนทนา เพื่อว่าพอคนอ่านไปถึงตอบจบ แม้จะไม่รู้สึกว่ามีอะไรมาก แต่ความสบายๆ กลับสร้างสมดุลอย่างงดงามกับสารที่ต้องการสื่อ
A. Koestler's "Darkness at Noon"
ฉากสะเทือนใจสุดของ Darkness at Noon เกิดในสวนหย่อมหน้าคุก มีผู้ชายซึ่งเพื่อนนักโทษตั้งฉายาเขาว่าริปแวนวิงเคิล เนื่องจากหมอตกเป็นเหยื่อความผันผวนทางการเมือง จนถูกจองจำขังลืมยี่สิบปี เมื่อถูกปล่อยตัวริปแวนวิงเคิลเดินทางกลับโซเวียต แต่ประเทศแห่งความฝันเปลี่ยนจากหน้าเมืองเป็นหลังมือ เขาถูกจับอีกรอบ สาเหตุเพราะพูดจาสรรเสริญวีรบุรุษการเมืองในอดีต ซึ่งปัจจุบันถูกตัดสินว่าเป็นผู้ทรยศไปแล้ว ระหว่างที่เดินออกกำลังกายในสวนหย่อม ริปแวนวิงเคิลหันมาหารูบาตอฟ ตัวเอกของนิยาย เขาหลับตาแล้ววาดรูปแผนที่ประเทศรัสเซีย ถูกสัดส่วนทุกประการ เพราะเจ้าตัวใช้เวลายี่สิบปีหัดวาดในความมืด หลังจากนั้นบอกรูบาตอฟว่านี่คือบ้านเกิดเมืองนอนของเขา แต่ถูกเจ้าหน้าที่ส่งตัวขึ้นรถไฟผิดคัน ตอนนี้อยู่ประเทศอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน
ความล้มเหลวของคอมมิวนิสต์เป็นมากกว่าความพ่ายแพ้ทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นทั้งความล้มเหลวเชิงอุดมการณ์ น่าขบคิดว่าเหตุใดแนวทางซึ่งเหมือนจะเริ่มต้นมาจากความเมตตากลับกลายเป็นเครื่องจักรอันโหดเหี้ยมได้ ถ้าเราปิดหูปิดตา มองข้ามข้อเท็จจริงตรงนี้ แล้วทำตัวหัวโบราณ โทษความล้มเหลวของโซเวียตว่าเกิดจากการกลั่นแกล้งของสหรัฐอเมริกา ก็แสนจะน่าเสียดาย
Darkness at Noon อาจไม่ได้ตอบคำถามนี้อย่างทะลุปรุโปร่ง (บางทีนี่อาจเป็นอีกหนึ่งโจทย์ในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์ทุกรุ่นต้องหันกลับมาพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า) แต่อย่างน้อยความพยายามของโคเอสเลอร์ก็น่าสนใจไม่น้อย Darkness at Noon เป็นอีกหนึ่งนิยายตีแผ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่หลักแหลมไม่แพ้ The Joke ของมิลาน กุนเดระเลยทีเดียว
เนื้อเรื่องไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรมาก เปิดฉากมาชวนให้นึกถึง The Trial ของคาฟคา เมื่อรูบาตอฟ เจ้าหน้าที่ระดับสูงในโซเวียต ผู้ทำงานรับใช้พรรคคอมมิวนิสต์มานานสี่สิบปี ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดโทษฐานกบฏ เขาถูกกักขัง และตลอดทั้งเรื่อง เจ้าหน้าที่สองคนคืออีวานอฟ และเกลสกินผลัดกันมาไต่สวน โดยทั้งคู่มีแนวทางซึ่งขัดแย้ง ซ้ำยังแข่งขันกัน ใครจะได้รับความดีความชอบอันเนื่องมาจากคำสารภาพของรูบาตอฟ
Darkness at Noon จัดอยู่ในจำพวกนิยายกึ่งบทความ เช่นเดียวกับงานของกุนเดระ และเซลอฟ ไม่ได้เกิดเหตุการณ์มากมาย ตอนแรกนึกว่าจะเป็นตัวเอกรำลึกเล่าอดีต ซึ่งก็มีบ้าง แต่โดยมากจะเป็นรูบาตอฟถกปรัชญาการเมืองกับตัวเอง (ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นนิยายอยู่ดี ไม่บทความเอิกเกริกกันอย่างที่กุนเดระลุกขึ้นมาโต้แย้งกับตัวละคร) ย้อนกลับไป Angels & Insects อีกรอบ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม ทีเล่มนั้นรู้สึกเหมือนบทความมาขวางโมเมนตัมการอ่านพิกล แต่พอเป็นเล่มนี้กลับรู้สึกลื่นไหล มิหนำซ้ำยังมีส่วนช่วยเสริมความเป็นกวีให้นิยายด้วยซ้ำ (ต้องอ่านทฤษฎีชิงช้าต้นบทที่สาม ถือเป็นอีกหนึ่งบทวิเคราะห์การเมืองอันหลักแหลม)
ระหว่างอ่าน Darkness at Noon นิยายซึ่งเรานึกถึงบ่อยๆ คือ The Grape of Wrath อาจเป็นเพราะต่างเล่มต่างแสดงให้เห็นความล้มเหลวของสองโลกอย่างชัดเจนสุด เล่มแรกคือโลกสังคมนิยม และเล่มหลังคือโลกทุนนิยม ซึ่งน่าสนใจว่าความชั่วร้ายในโลกทุนนิยมมักถูกบุคคลาธิษฐานให้เป็นสัตว์ร้าย มีเขี้ยวเล็บขบกัดชาวนา กรรมกร และคนยากคนจน ขณะที่ในโลกสังคมนิยม ความชั่วร้ายคือเขาวงกต และความไร้เหตุไร้ผล แต่ไม่ว่าจะโลกไหนก็ตาม การเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต ย่อมดีกว่าหลงวนเวียนอยู่ในวิมานอากาศไปตลอดชีวิต
สารบัญเสร็จแล้ว!
พระเจ้าช่วยกล้วยทอด สารบัญทำเสร็จแล้วครับ!!!!!!!
ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันเหนื่อยยากขนาดนี้กว่าจะแปะลิงค์ จัดเรียงลำดับบทความเสร็จ คลิ๊กไปด้านขวาเลยครับ หวังว่าคงช่วยให้คนที่เพิ่งมาบลอคนี้เป็นครั้งแรกได้รับความสะดวกสบายขึ้น
สำหรับหนังสือภาษาอังกฤษเรียงตามลำดับอักษรนามสกุลผู้แต่ง ส่วนหนังสือภาษาไทยรวมกันไว้ในหมวดเดียว ถ้าเกิดมีหนังสือภาษาไทยเพิ่มขึ้นเมื่อไหร่ จะลองคิดดูครับว่าสมควรเรียงลักษณะไหน
วันที่ถอดหมวก (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)
ก่อนอื่นขอบคุณพี่บลูครับ ที่แนะนำหนังสือเล่มนี้ให้รู้จัก ชีวิตหนึ่งอยาก "มี" หนังสือดีๆ แบบนี้มานานแล้ว คำว่า "มี" นี่ไม่ได้หมายถึงซื้อมาครอบครอง หรืออ่านจนจบ ใกล้เคียงกับคำว่า "รู้จัก" มากกว่า วันที่ถอดหมวก เป็นหนังสือแบบที่สามารถแนะนำให้คนส่วนใหญ่ลองอ่าน หรือซื้อ มอบให้เป็นของขวัญเนื่องในโอกาสพิเศษได้ (เคยลองทำแบบนั้นกับ Lolita และ The Unbearable Lightness of Being มาทีหนึ่ง ดูหน้าคนรับแล้วท่าทางจะไม่ค่อยเวิร์ค)
ทุกคนมักมีหนังสือปรัชญาเล็กๆ น้อยๆ ประจำตัวคนละเล่มสองเล่ม ซึ่งยอมรับเลยว่าตัวเองไม่มี หนังสือประเภทนี้จะหาที่ชอบนั้นชอบยาก เพราะบางทีต่อให้คนเขียนเขียนดี แต่ถ้าคลื่นจูนกับเราไม่ติด ก็ยากนักจะยอมรับมันลง ยกตัวอย่างว่ามี เข็มทิศชีวิต กองทิ้งไว้ที่บ้านสองเล่ม มีคนซื้อให้เนื่องในโอกาสต่างกัน ไม่ใช่ว่าหนังสือไม่ดี เฉกเช่นเดียวกับ อุดมธรรม ของศรีบูรพา (ซึ่งเป็นหนังสือที่เปลี่ยนแปลงชีวิตนักเขียนอย่าง ฮ. นิกฮูกี้มาแล้ว) ชา กาแฟ หมา และแมว ทั้งที่จริงๆ แล้วเราชอบงานเขียนเล่มอื่นๆ ของคุณโตมร และอาจารย์กุหลาบ ที่สำคัญเราคงเป็นคนไทยคนเดียวที่อ่าน คู่มือมนุษย์ แล้วว้าวุ่น ร้อน (แต่ชอบอัตชีวิตประวัติท่านพุทธทาส สามเล่มจบ)
หนังสือประเภทนี้ที่เคยอ่านแล้วพึงใจได้แก่ หนังสือเซนของละเอียด ศิลาน้อย คุรุ ผีเสื้อ และลมตะวันตก ของคุณภิญโญ ซึ่งถามว่ากลุ่มนี้เขียนดีกว่ากลุ่มแรกหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ บางครั้งความชอบ ไม่ชอบ มันขึ้นอยู่กับการจูนคลื่นระหว่างตัวหนังสือ ผู้เขียน และผู้อ่าน
ทั้งชีวิตไม่เคยอยากเชื่อเลยว่าตัวเองจะจูนคลื่นกับอาจารย์เสกสรรค์ติด
สำหรับเรา บางครั้งเวลาได้ยินพระสงฆ์องค์เจ้าพูดเรื่องการปล่อยวางๆ ก็อดเถียงในใจไม่ได้ว่า เป็นท่าน ท่านก็พูดได้สิ เพราะวิถีชีวิตในวัดวาที่ไม่อาจครอบครองวัตถุ สิ่งของ ย่อมเอื้อต่อการละทิ้งอัตตา คงต้องอาศัยคนอย่างอาจารย์เสกสรรค์มาพูดให้เราฟังเรื่องการปล่อยวางนั่นเอง เราถึงจะหยุดคิดเรื่องนี้ เพราะว่ากันตรงๆ คงมีไม่กี่คนในสังคมไทยที่จะสวมหมวกใบใหญ่ และยาวนานสามสิบปี เท่ากับอาจารย์เสกสรรค์
หนึ่งในบทความของ วันที่ถอดหมวก คือ นอกเหนือการเมือง ซึ่งเป็นอีกบทความเกี่ยวกับกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่อ่านแล้วได้ใจสุด แทบจะเรียกว่าถอดความคิดเรา สื่อออกมาเป็นตัวอักษร มีคนมาถามอาจารย์เสกสรรค์ว่าทำไมหนนี้ไม่ออกมาเป็นผู้นำมวลชนเหมือนครั้งก่อนๆ หรือพ่ายแพ้ต่อระบบอำนาจ ทุนนิยมแล้ว ส่วนอาจารย์ตอบว่าอะไรคงต้องไปอ่านกันเอาเอง อีกบทความที่ชอบมากๆ คือ นาฏกรรมแห่งตัวตน ว่าด้วยการที่คนในสังคมทั้งที่ยากจน และมั่งมีใช้อำนาจข่มเหง รังแกกัน ซึ่งบางครั้งอำนาจที่ว่าก็มาจากความรู้สึกผิด หรือความรักด้วยซ้ำ (เป็นงานเขียนชิ้นแรกของอาจารย์ หรือจะเรียกว่าเป็นงานเขียนภาษาไทยชิ้นแรกก็ได้ ที่ "ผู้ถูกกระทำ" คือชนชั้นกลาง และ "ผู้ร้าย" เป็นขอทานชราตาบอด!)
ต้องยอมรับว่าหนังสือ วันที่ถอดหมวก เข้ามาในจังหวะชีวิตเราได้ถูกต้องมากๆ ขณะนี้เรากำลังเผชิญหน้าความไม่เป็นธรรมในสังคมบางประการ ซึ่งแม้ไม่รุนแรงเท่าเจ้าหนี้ยึดนาคนจน แต่ก็สร้างความรำคาญ อึดอัด ไม่ผ่องใส แต่คงไม่มีวิธีใดอีกแล้วจะรับมือกับมันได้ดีไปกว่าถอดหมวก แล้วปล่อยวาง อาจารย์เสกสรรค์ไม่ได้สอนให้เราเพิกเฉยอยุติธรรม แต่บางครั้ง ก่อนจะตัดสินคนอื่น ลองละอัตตา แล้วถามตัวเองว่าที่จะลุกขึ้นไปแกว่งดาบฉวัดเฉวียนนั้นเพื่ออะไร เพื่อความสนุก หรือเพื่อชื่อเสียง แล้วเราเป็นใคร ถึงสามารถมาตัดสินดำ ขาว ชั่ว ดี
วันนี้อาจารย์เสกสรรค์ได้ถอดหมวกแล้ว เราเล่า ยังจะสวมมันไว้บนหัวให้อึดอัดคับแคบอยู่หรือไร
R. Carver's "What We Talk about When We Talk about Love"
อันที่จริงความเร็วที่ใช้ในการอ่านหนังสือเล่มหนึ่งก็เป็นเครื่องบ่งชี้อย่างดีว่าเรารู้สึกเช่นไรกับหนังสือเล่มนั้น อาทิตย์ที่แล้วทั้งอาทิตย์เราฟันฝ่า Angels & Insects นิยายหน้า 300 หน้า ขณะที่ What We Talk about When We Talk about Love รวมเรื่องสั้นหนา 160 หน้าเล่มนี้กลับใช่เวลาแค่ชั่วข้ามคืน
ไม่ว่าจะอ่านกี่เที่ยว กี่คราวเรื่องสั้นของคาร์เวอก็ยังคงเป็นสิ่งมหัศจรรย์ลำดับที่ 8 สำหรับเราเสมอ ถ้าเปรียบเทียบ เรื่องสั้นของนักเขียนคนอื่น ไม่ว่าจะเขียนดีแค่ไหนก็เหมือนนาฬิกาเรือนหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยฟันเฟือง ตัวนู้นตัวนี้ผลักยึดซึ่งกันและกัน ถ้าตั้งใจอ่านดีๆ ก็พอสาวที่มาที่ไปของแต่ละประโยค แต่ละย่อหน้า แต่ละภาพซึ่งคนเขียนบรรจุลงไปได้ แต่เรื่องสั้นของคาร์เวอไม่มีกลไกใดๆ ทั้งสิ้น บางครั้งก็น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหลงเหลงตั้งแต่ต้นจนจบ จับประเด็นอะไรไม่ได้สักอย่าง จับได้อย่างเดียวคือทำไมน้ำตาเราไหล หัวใจเจ็บจี๊ดๆ
ซึ่งที่จะเจ็บหัวใจก็คงไม่แปลก เพราะธีมหลักๆ ของเรื่องสั้นคาร์เวอร์คือ "ฝันสิ้นสลาย" ตัวละครส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง ธรรมดาๆ ตัวละครคาร์เวอไม่ใช่นักมวย นักสู้วัว หรือลูกผู้ชายเหมือนตัวละครเฮมมิงเวย์ เขาทำอะไรแบบที่ชนชั้นกลางทั่วไปทำ ได้แก่นอนไม่หลับ ย้ายบ้าน ขายเฟอนิเจอร์ หรือเข้าสโมสรบิงโก ไอ้ความธรรมดาตรงนี้กระมัง ทำให้เราเข้าถึงบรรยากาศได้ง่าย มีอยู่บางเรื่องเหมือนกันที่ตัวละครเป็นนักตกปลา ตรงๆ นี้คล้ายๆ ป๋าเหมือนกัน ซึ่งอิทธิพลของเฮมมิงเวย์ ในเรื่องสั้นคาร์เวอก็พอจับเค้าได้ลางๆ
คาร์เวอเป็นคนที่เล่นกับความเงียบ หรือสารระหว่างบรรทัดได้เก่งมากๆ ประหนึ่งแทบจะเรียกได้ว่านอกเหนือจากตัวอักษรแกที่เขียนลงเรื่องสั้น มีตัวอักษรล่องหนอีกชุดซึ่งแกแอบแทรกลงไปด้วย โดยคนอ่านไม่ทันสังเกต หากเมื่อใดอ่านจบทั้งเรื่อง เมื่อนั้นสารที่มองไม่เห็นตรงนี้จะกระแทกเข้าใส่ทันที หลายเรื่องสั้นของคาร์เวอมักมีตอนจบที่แรงแปลกๆ สองแง่สองง่ามไม่ชัดเจน บางครั้งความพยายามค้นหาความหมายจากความไม่ชัดเจนตรงนี้เองที่สร้างความรู้สึก "หัวใจสลาย" ให้กับผู้อ่าน (ตัวอย่างชัดเจนได้แก่ Why Don't You Dance?, The Bath, และ Tell the Women We're Going
มีบางเรื่องสั้นเหมือนกันที่บรรยากาศไปเรื่อยๆ ไม่ได้มีตรงไหนกระแทกคนอ่านเป็นพิเศษ แต่ตอนท้ายก็แอบเหงาโดยไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น Sacks และ I Cloud See the Smallest Things ส่วน Viewfinder เรื่องสั้นที่ชอบที่สุดในเล่ม เป็นเรื่องสั้นอะเมซซิ่งที่ไม่รู้จะตีความ ไขปริศนายังไง เรื่องง่ายๆ ชนิดผู้ชายคนหนึ่งจ้างชายพิการมาถ่ายรูปบ้านตัวเอง แต่อ่านถึงตอนจบแล้วแทบจะกรีดร้องออกมา
ล่าสุดตอนนี้พยายามตามเก็บหนังสือของ Raymond Carver ให้ครบทุกเล่มอยู่ คาดว่าคงได้มีอะไรเกี่ยวกับนักเขียนผู้นี้มาเล่าให้ฟังอยู่เรื่อยๆ
A. S. Byatt's "Angels & Insects"
บางครั้งการที่เราไม่ชอบหนังสือสักเล่มกลับยิ่งกระตุ้นให้เราขบคิดถึงมัน และผู้เขียนยิ่งกว่าในทางตรงกันข้าม Angels & Insects เป็นหนังสือเล่มที่สองของไบแอตที่เราอ่าน เล่มแรกคือ Possession ซึ่งก็ไม่ชอบเหมือนกัน แต่อย่างน้อยกรณีนั้นอาจพูดได้ว่าเราไม่ค่อยอินไปกับตัวเรื่องเท่าไหร่ Angels & Insects แสดงให้เห็นชัดเจนเลยว่าปัญหาคงไม่ใช่เรื่องแล้วล่ะ แต่เป็นสไตล์การเขียนของไบแอตมากกว่า
ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะ Angels & Insects มีประเด็นที่น่าติดตามมากๆ นี่คือนิยายขนาดสั้นสองเล่มรวมกัน Morpho Eugenia และ The Conjugial Angel โดยเป้าหมายของ Byatt จากนิยายสองเรื่องนี้คือสะท้อนภาพความเป็นมนุษย์ผ่านสองสิ่งซึ่งโดยผิวเผินแล้วแตกต่างกันสุดขั้ว นั่นก็คือแมลง และเทวดา ฟังแค่นี้ก็น่าสนใจแล้ว แต่ Morpho Eugenia ยังได้คะแนนพิเศษจากเราอีก เนื่องจากเราเป็นพวกบ้าแมลง ชอบแมลงทุกประเภท รวมไปถึงแมงป่อง แมงมุมด้วย (เข้าใจว่าเพราะเราเป็นพิจิก)
ก่อนจะนอกเรื่องเลยเถิด กลับมาพูดถึงนิยายสองเรื่องนี้ก่อนดีกว่า Morpho Eugenia ว่าด้วยเรื่องของนักธรรมชาติวิทยาที่ไปศึกษาแมลงถึงในป่าลึกอเมซอน เมื่อกลับถึงประเทศอังกฤษ เขาใช้ชีวิตอยู่กับมหาเศรษฐีคนหนึ่ง ซึ่งมีความสนใจปรัชญา ธรรมชาติ และเฝ้าถกเถียงกับชายหนุ่มว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่ ตอนหลังเขาแต่งงานกับลูกสาวคนโตของมหาเศรษฐี และศึกษา เขียนหนังสือเกี่ยวกับสังคมมด ส่วน The Conjugial Angel ว่าด้วยคนทรงกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยแม่ม่าย และผู้หญิงซึ่งสูญเสียลูก พวกเขาพยายามติดต่อกับคนรักที่เสียชีวิตไปแล้ว ชอบประเด็นทางปรัชญาที่สื่อในเรื่องมาก Morpho Eugenia เปรียบเทียบชีวิต สังคมมนุษย์กับมด โดยอ้างอิงปรัชญาเศรษฐศาสตร์ การเมือง และเรื่องความแตกต่างระหว่างเพศ ขณะที่ The Conjugial Angel ตั้งคำถามว่าถ้าคนที่เรารักตายไป แล้วยังมีชีวิตอยู่บนสรวงสวรรค์ ผิดไหมที่เราจะมีสัมพันธ์กับผู้อื่น จะถือเป็นการนอกใจหรือเปล่า
เพราะเราสนใจประเด็นเหล่านี้ ถึงได้แปลกใจว่าทำไม Angels & Insects ถึงเป็นหนังสือที่อ่านยากอ่านเย็น ชนิดว่าต้องเข็นตัวเองให้เปิดทีละหน้าเลย ปัญหาคงอยู่ที่สไตล์การเขียนของไบแอต การที่เธอหยิบข้อความจากหนังสือเล่มนู้น เล่มนี้มาใช้ ซึ่งในทางหนึ่งก็ไม่ผิด เพราะเราเองก็ชอบทำ แต่การที่เธอเอา Raven ของ Edgar Allan Poe หรือ Paradise Lost มาเป็นดุ้นๆ นี่รู้สึกพิกลยังไงไม่ทราบ เพราะกลอนที่ดังขนาดนี้ ใครบ้างจะไม่รู้จัก รวมไปถึงบทความจากหนังสือปรัชญา วิทยาศาสตร์ หรือนิทานที่ตัวละครเขียน ซึ่งจะว่าน่าเกลียดไหมก็ไม่ เพราะพวกนี้ไบแอตก็เขียนเอง แต่มันกลับหลุดๆ เกินๆ เหมือนสัตว์ประหลาดปะเย็บของดอกเตอร์แฟรงเกนสไตน์ ซึ่งจริงๆ กุนเดระ หรือเกรแฮม สวิฟต์ก็ชอบทำอะไรแบบนี้ แต่ทำไมเวลาพวกเขาทำ กลับรู้สึกกลมกล่อม เข้ากันได้ดีกับเนื้อเรื่องหลัก แต่พอเป็นไบแอต เห็นความพยายามเพิ่มความหนาหนังสือเท่านั้น
เวลาอ่านนิยายไบแอต ได้อารมณ์เหมือนเดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยรูปอันสวยงาม (ซึ่งก็คือบทกลอน หรือไอ้นู่นไอ้นี่ที่เธอยัดใส่เข้ามา) แต่ผนัง ทางเดิน หรืออะไรก็ตามที่นอกเหนือจากรูปภาพจืดชืด ไม่เป็นสับปะรด ภาษาของไบแอตทั้งจากนิยายเล่มนี้ และเล่มก่อน เรียบๆ ทึมๆ ไม่เหมือนผู้หญิงเขียนสักนิด ประชดประชันมากๆ ที่นักเขียนผู้ชื่นชอบบทกวีอย่างไบแอต กลับมีภาษาที่ห่างไกลจากความเป็นบทกวีที่สุด
Subscribe to:
Posts (Atom)