N. Chomsky's "Hegemony or Survival"
ใครที่เกลียดประเทศอเมริกาต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ เปล่าๆ ไม่ใช่ว่าความเกลียดของคุณจะบรรเทาลงหรอกนะ แต่อย่างน้อยโนม ชอมสกี้ ศาสตราจารย์เอมไอที บิดาแห่งวิชาภาษาศาสตร์ยุคใหม่จะช่วยให้คุณเกลียดอเมริกาอย่างมีเหตุมีผลขึ้น
เลือกตั้งเมื่อสองปีที่แล้ว จากการสำรวจพบว่าแม้คนอเมริกาจะไม่ไว้วางใจรัฐบาล รู้สึกว่านโยบายหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องภาษีมีขึ้นเพื่อรับใช้นักธุรกิจรวยๆ มากกว่าคนชั้นล่าง ชั้นกลาง แต่ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าการที่อเมริกายกทัพไปโจมตีอิรักจะช่วยให้ประเทศปลอดภัยขึ้น และเนื่องจากตอนนั้น ความปลอดภัยถือเป็นประเด็นอันดับหนึ่งที่ผู้ลงคะแนนเสียงใช้ในการตัดสิน จึงไม่น่าแปลกที่นายบุชจะขึ้นรับตำแหน่งเป็นรอบที่สอง
"ยึดครอง หรืออยู่รอด" หนังสือการเมืองของชอมสกี้พยายามโต้เถียงประเด็นนี้ ว่าจริงๆ แล้วชาวอเมริกันไม่ได้ปลอดภัยกว่าเดิมหรอก มิหนำซ้ำภัยจากผู้ก่อการร้ายยังรุนแรงขึ้น อันเป็นผลเนื่องมาจากสงครามกับอิรักด้วยซ้ำ
ประเด็นหลักๆ ของชอมสกี้ คือการที่อเมริกาบุกอิรัก ถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศอย่างหน้าด้านๆ ถมน้ำลายใส่ UN ใช้ความเป็นพี่เบิ้มทางเศรษฐกิจ และการเมืองบังคับ ขู่เข็ญประเทศเล็กประเทศน้อยให้เห็นด้วยกับตัวเอง การกระทำเช่นนี้ต่างหากส่งผลให้เส้นบางๆ ซึ่งแบ่งแยกระหว่าง "การก่อการร้าย" และ "การต่อต้านการก่อการร้าย" จางลงยิ่งกว่าเดิม สุดท้ายแล้วโลกนี้จะไม่มีกฎหมาย กฎเกณฑ์อะไรมาบังคับว่าใครควร หรือไม่ควรไปก่อการร้ายกับใคร
ชอมสกี้ยกตัวอย่างนโยบายในอดีตของอเมริกาที่เข้าขั้นก่อการร้าย เช่นในนิการากัว และคิวบา อเมริกาแทรกแซง สนับสนุนรัฐบาล หรือกลุ่มกองโจรที่ให้สัญญาว่าจะจงรักภักดีกับตัว สุดท้ายลงเอยที่ความพินาศ ล้าหลังของประเทศด้อยพัฒนา ชอมสกี้นิยามการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการ "ก่อการร้าย" ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่สุดท้ายอเมริกาจะถูกปฏิบัติการ "ต่อต้านการก่อการร้าย" ของประเทศอื่นโจมตีคืนบ้าง
"ยึดครอง หรืออยู่รอด" เป็นหนังสือที่จะว่าอ่านง่ายก็ง่าย จะว่าอ่านยากก็ยาก ชอมสกี้ไม่ได้ลงลึกรายละเอียดปรัชญาการเมือง หรือวิเคราะห์ข้อถกเถียงอย่างละเอียดลึกซึ้งอะไรนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการรวบรวม และนำเสนอข้อมูลมากกว่า
ส่วนตัวแล้ว ไม่ใช่คนเกลียดอเมริกา และอดรู้สึกคันๆ ในหัวใจไม่ได้ทุกครั้งที่ได้ยินคนพูดอะไรต่อต้านอเมริกาอย่างไร้เหตุผล อเมริกาคือขั้วอำนาจยักษ์ใหญ่ในโลก และเช่นเดียวกับยักษ์ทุกประเภท เมื่อมีคุณอนันต์ ก็อาจมีโทษมหันต์ได้ รู้สึกว่า "ยึดครอง หรืออยู่รอด" มองอะไรด้านเดียวเกินไปหน่อย ยกตัวอย่างเช่นการที่อเมริกาแทรกแซงประเทศอื่นๆ ในช่วงสงครามเย็น ส่วนหนึ่งก็เพราะแรงกดดันจากค่ายคอมมิวนิสต์ หรือความจริงที่ว่าตลาดเสรี จนปัจจุบันก็ยังเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับ และผ่านการพิสูจน์มามากที่สุด การที่อินเดียได้ขึ้นแท่นเป็นช้างแห่งเอเชีย ปฏิเสธได้เชียวหรือว่าไม่ใช่เป็นเพราะการลงทุนจากต่างชาติ (ซึ่งนักวิชาการไทยเกลียดนักหนา)
เอาเถอะต่างชาติ เขาจะดี จะเลว คงเถียงกันยาก ให้รู้ก็พอว่ายักษ์ใหญ่ขนาดนี้ไม่ใช่อะไรที่คนไทยจะมองข้าม หรือทำเป็นไม่เห็นได้
หมายเหตุ: หนังสือที่น่าอ่านควบคู่ไปกับ "ยึดครอง หรืออยู่รอด" คือ J. D. Sachs's "The End of Poverty" และ S. Coll's "Ghost Wars"
C. Bukowski's "South of No North"
ถ้าเปรียบเรื่องสั้นของชาร์ลส์ บูคอฟสกี้เป็นแขกแปลกหน้าในงานเลี้ยง หมอนี่ก็คงเป็นผู้ชายตัวใหญ่ เสียงดัง พูดจาโผงผาง เล่าเรื่องวีรกรรมความเด็ดดวงของตัวเองให้แขกคนอื่น จริงๆ เรื่องที่เขาเล่าก็ไม่ได้ลึกซึ้ง หรือน่าสนใจอะไรนักหรอก แต่พลังงานที่เขาใส่ลงไป และความมั่นใจในตัวเอง ช่วยให้เราสนุกสนานไปกับหมอได้...
...สักสิบห้านาที
ผ่านไปครึ่งชั่วโมง หมอจะกลายเป็นคนที่น่ารำคาญที่สุดในงานเลี้ยง
นี่แหละความรู้สึกเด่ะๆ ของเราเลยในการอ่านรวมเรื่องสั้น "ใต้ไม่มีเหนือ" พออ่านจบ ปิดหนังสือ ถ้ามีคนมาขอให้เล่าสามสี่เรื่องสุดท้าย ส่ายหน้าทันที เหมือนกินมันฝรั่งทอด ของขบเคี้ยวซึ่งหยิบเข้าปากได้เรื่อยๆ พอหมดจาน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเพิ่งทานอะไรลงไป ยอมรับว่ามีหลายเรื่องเหมือนกันที่ "ได้มาตรฐาน" ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ต้นๆ เล่ม ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นวิธีจัดเรื่องของคนเขียน/บรรณาธิการ หรือว่าเรื่องสั้นสไตล์บูคอฟสกี้ อ่านได้ไม่เกินห้าเรื่องกันแน่
กระนั้นก็เถอะ ถึงจะใช้คำว่า "ได้มาตรฐาน" อย่างมากก็เป็นได้แค่เรื่องเลียนแบบคาร์เวอร์ หรือเฮมมิงเวย์เท่านั้น (เฮมมิงเวย์คือนักเขียนที่มีอิทธิพลต่อบูคอฟสกี้มากๆ )
สิ่งที่น่าเหน็ดเหนื่อยสุดในการอ่านใต้ไม่มีเหนือคือความหมกมุ่นกับตัวเองของคนเขียน บูคอฟสกี้สร้างตัวละครสมมติเฮนรี ไชนาสกี้ซึ่งปรากฏในหลายเรื่องสั้น เป็นโคตรนักเขียนที่ใครๆ ก็ต้องซูฮก สุดยอดชายเหนือชายที่หญิงๆ หลงใหล ถ้ามีน้อยๆ ก็คงฮาดีอยู่หรอก (กุนเดระก็ชอบใส่ตัวเองลงไปในงานเขียน) แต่เจอบ่อยเข้า ก็ชวนอ้วกเหมือนกัน
บูคอฟสกี้จงใจใส่ความดิบเถื่อนลงในมุมมองเรื่องเซ็ก แต่ทั้งที่ทั้งนั้น เหมือนจะเพื่อบดบังความตื้นเขินมากกว่า เรื่องของผู้ชายที่มีอวัยวะเพศใหญ่มากๆ หรือลีลาบนเตียงเด็ดดวง ขนาดว่าพอไปข่มขืนผู้หญิงคนไหน สาวเจ้าจะหลงใหลได้ปลื้มลืมโกรธ ลืมชายคนรักของตัวเอง ก็อีหรอบเดียวกันนั่นแหละว่าข้าเก่งนักหนา ข้าทำอะไรก็ไม่ผิด ด้วยความโผ่งผ่าง ฮาร์ดคอร์แบบนี้กระมัง บูคอฟสกี้ถึงเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น (ที่มักไม่ค่อยมีวุฒิภาวะทางการอ่าน)
เอาเถอะ ชมส่งท้ายหน่อยก็ได้ รู้จักบูคอฟสกี้จากเรื่องสั้นสองเรื่องของแกซึ่งถูกเอาไปทำเป็นการ์ตูนสั้นคือ "ชายผู้มีนัยตาลุกวาว" และ "บุตรซาตาน" ดีมหากาฬทั้งคู่ (แต่เริ่มสงสัยแล้วล่ะ ว่าดีเพราะการ์ตูนดี หรือเรื่องดีกันแน่) ได้ข่าวว่ามีคนซื้อลิขสิทธิ์เรื่องสั้นสี่เรื่องไปทำเป็นการ์ตูนสั้น (ไม่รู้ว่าเกี่ยวพันอะไรกับทีมงานที่ทำสองเรื่องนั้นหรือเปล่า) ยังไงก็คิดว่าเราคงติดตามนั่นแหละ
S. Kierkegaard's "Fear and Trembling"
อ่านงานเขียนนักอัตถิภาวนิยมมาสี่ห้าคนแล้ว ถ้าถามเราว่าใครโดนใจสุด ตอนนี้คงตอบว่าซอเรน เคิร์กการ์ด บิดาแห่งอัตถิภาวนิยมผู้นี้แหละ เคิร์กการ์ดเป็นคนน่าสนใจ แกเป็นนักปรัชญาคนเดียวที่ศรัทธาในพระเจ้า (ของศาสนาคริสต์) รู้สึกว่าคุณสมบัติตรงนี้แปลก เพราะปรัชญา และศาสนาเหมือนน้ำกับน้ำมันยังไงไม่ทราบ
ต้องตีความอยู่นานเลยกว่าจะเข้าใจเหตุใด เคิร์กการ์ดถึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งอัตถิภาวนิยม เตือนความทรงจำกันนิดหนึ่ง อัตถิภาวนิยมคือปรัชญาที่เชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนจะต้องสร้างแนวทาง ความเชื่อ และหลักปฏิบัติของตัวเองขึ้นมา ดังนั้นโดยผิวเผินแล้ว คนที่เชื่อถือในพระเจ้า และศาสนา น่าจะเป็นคุณสมบัติที่ตรงข้ามกับนักอัตถิภาวนิยมที่สุด (ยกตัวอย่างนิทเช่นั่นปะไร)
เคิร์กการ์ดแยกความแตกต่างระหว่าง “ศีลธรรม” และ “ศาสนา” (หรือ “พระเจ้า”) แกบอกว่าศีลธรรมคือสิ่งที่เป็นสากล (universal) มีมาเพื่อควบคุมมนุษย์ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ (ตรงข้ามกับนิทเช่ เคิร์กการ์ดไม่ได้ปฏิเสธ หรือต่อต้านศีลธรรมเสียทีเดียว) แต่มนุษย์ที่เป็นยอดจริงๆ ต้องเข้าถึงความสมบูรณ์ (absolute) ให้ได้ ซึ่งความสมบูรณ์ก็คือพระเจ้านั่นเอง ส่วนวิธีเข้าถึงพระเจ้านั่น เคิร์กการ์ดบอกว่าต้องใช้ “ศรัทธา” ซึ่งไม่อาจสื่อสารให้คนภายนอกรับรู้ได้ (หลักตรงเองที่เป็นอัตถิภาวนิยม หลักปรัชญาใครปรัชญามัน)
ใน “ความกลัว และตัวสั่น” เคิร์กการ์ดใช้ตัวอย่างจากไบเบิ้ล เรื่องราวของอับราฮัมที่บูชายัญลูกชายหัวแก้วหัวแหวนตามคำสั่งพระเจ้า เรื่องราวส่วนนี้ในไบเบิ้ลจริงๆ ยาวแค่ไม่กี่บรรทัด แต่เคิร์กการ์ดจับมาวิเคราะห์ทั้งนอกและในอย่างถึงกึ๋น ประการแรกเคิร์กการ์ดอธิบายความแตกต่างระหว่างอับราฮัม และพระเอกโศกนาฏกรรมทั่วไป เช่นอากาเมนอน ผู้บูชายัญลูกสาวตัวเองให้กับเหล่าทวยเทพ เพื่อจะได้เคลื่อนทัพต่อไปตีเมืองทรอย เขาบอกว่าอากาเมนอนคือตัวอย่างคนที่เสียสละเพื่อส่วนรวม ซึ่งก็คือศีลธรรม หรือสิ่งที่เป็นสากล ตรงนี้แตกต่างกับอับราฮัม เพราะการกระทำของอับราฮัมไม่อาจใช้หลักศีลธรรมใดๆ มาอธิบายได้
คำพูดหนึ่งซึ่งเคิร์กการ์ดใช้บ่อยมากในหนังสือคือ paradox ถ้าอับราฮัมไม่ทุกข์ทรมานกับการตัดสินใจของตัวเองเสียอย่าง การกระทำของเขาจะไม่มีความหมายใดๆ เลย ไบเบิ้ลบอกว่าอับราฮัมรักไอแซคมาก เพราะเด็กชายเป็นของขวัญจากพระเจ้า หลังจากรอคอยมานานถึงเจ็ดสิบปี กระนั้นถ้าอับราฮัมมีศรัทธาในพระเจ้าอย่างแท้จริง เขาก็ต้องเชื่อว่าพระองค์ไม่มีทางพรากไอแซคไปจากเขา มิเช่นนั้นแล้วอับราฮัมน่าจะเสียสละตัวเองมากกว่า ดังนั้นตรงนี้เองจึงเกิดเป็น paradox ขึ้นว่า อับราฮัมรู้สึกเช่นไร ขณะปีนเขาไปยังแท่นบูชายัญ เขาชิวๆ เพราะศรัทธาว่าพระเจ้าจะไม่มีทางปล่อยให้เขาฆ่าไอแซค (ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็หมายถึงบททดสอบนี้ไม่มีคุณค่าใด) หรือทุกข์ทรมาน (ซึ่งก็หมายความอีกนั่นแหละว่าอับราฮัมไม่ได้มีศรัทธาอย่างแท้จริง)
คงไม่มีใครจะตอบคำถามนี้ได้ บทสุดท้ายของ "ความกลัว และตัวสั่น" เคิร์กการ์ดพูดเลยว่าศรัทธาของมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่สามารถสื่อสารระหว่างกันได้ เราสามารถสื่อสารศีลธรรมซึ่งกันและกัน เพราะศีลธรรมคือบรรทัดฐานที่ใช้สร้างความเป็นหนึ่งเดียว ดังนั้นศ๊ลธรรมและภาษาเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน แต่ศรัทธาคือความรู้สึกเฉพาะตัว ดังนั้นไม่อาจสื่อสาร หรือเปิดเผยให้ใครอื่น (นี่กระมัง ใครๆ ถึงได้เรียกแกว่าบิดาแห่งอัตถิภาวนิยม)
ในฐานะที่เราเป็นชาวพุธ อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเคิร์กการ์ดเกิดในประเทศไทย แกคงสนุกสนานกับตำนานพระเวสสันดรทีเดียว จริงๆ ตำนานพระเวสสันดร ก็มีอะไรหลายอย่างใกล้เคียงอับราฮัม การเสียสละลูกชาย "ไม่ใช่" เพื่อส่วนรวม แต่เพราะศรัทธาในโภคผลภายภาคหน้า เราสงสัยมาตลอดว่าพระเวสสันดรรับรู้แค่ไหนว่าสุดท้ายชูชกจะต้องตาย และกัญหา ชาลีได้กลับมาอยู่ในอ้อมอกตัวเอง ถ้าท่านรู้เช่นนี้ จะยังเรียกทานอันยิ่งใหญ่นี้ว่า "ทานอันยิ่งใหญ่" ได้หรือไม่ และถ้าท่านไม่รู้เล่า แบบไหนที่ยิ่งใหญ่กว่ากัน
ถือเป็น paradox ชวนขบคิดสนุกๆ ก็แล้วกัน
I. Calvino's "The Path To The Spiders' Nests"
"หนทางสู่รังแมงมุม" คือนิยายสองเรื่องในเล่มเดียว ไม่ใช่ว่าแบ่งเป็นสองเรื่องจริงๆ เรื่องเดียวนี่แหละแต่ตีประเด็นคู่ซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ประเด็นแรกว่าด้วยเรื่องของกลุ่มต่อต้านในประเทศอิตาลี ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 อธิบายประวัติศาสตร์นิดหนึ่ง ใกล้ๆ สงครามโลกจะสิ้นสุด กลุ่มใต้ดินของอิตาลีได้รับการสนับสนุนจากคอมมิวนิสต์รัสเซียประกาศตัวเป็นศัตรูกับผู้นำประเทศ คือมุสโสลินี ต่อต้านทั้งทหารนาซี และทหารอิตาลีด้วยกันเอง อธิบายง่ายๆ ก็คล้ายๆ เสรีไทยนั่นแหละ คือขณะที่รัฐบาลประเทศตัวเองจับมือกับฝ่ายหนึ่ง คนอีกกลุ่มหนึ่งในประเทศหันหน้าเข้าหาอีกฝ่าย
หนทางสู่รังแมงมุมคือนิยายเล่มแรกของคาลวิโน ตีพิมพ์ตอนแกเพิ่งอายุยี่สิบสามเท่านั้น คาลวิโนเล่าไว้ในคำนำว่าช่วงหลังสงครามโลก ใครๆ ก็มีเรื่องเล่าวีรกรรมต่อสู้ทหารนาซีของตัวเอง เนื่องจากกลุ่มใต้ดินอิตาลีล้มล้างมุสโสลินีสำเร็จ และหันหน้าเข้าสนับสนุนสัมพันธมิตรอย่างเต็มตัว คนอิตาลีถึงมองว่าตนไม่ได้พ่ายแพ้สงครามโลก และสามารถคุยเขื่องได้อย่างเต็มที่
บรรยากาศที่ทั้งประเทศเต็มไปด้วยเรื่องเล่า วีรกรรมนี่เองที่เป็นต้นกำเนิดหนทางสู่รังแมงมุม
เป้าหมายของนิยายเล่มนี้คือคาลวิโนต้องการจิกกัดชนชั้นกลาง ซึ่งระหว่างสงครามไม่ได้ลุกขึ้นมาทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่กลับวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของกลุ่มต่อต้านในการบริหารประเทศ แม้ว่าคอมมิวนิสต์จะมีชัยเหนือมุสโสลินี แต่ก็ไม่อาจปกครองอิตาลีได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาลวิโนจำลองสมาชิกกลุ่มต่อต้านขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนเหล่านี้แม้จะน่าขบขัน โง่เง่าเพียงใด แต่อย่างน้อยพวกเขาก็มีบทบาทเคลื่อนไหวประวัติศาสตร์อย่างที่ชนชั้นกลางเหล่านั้นไม่อาจแม้แต่คิดฝัน
ถ้านี่เป็นจุดประสงค์ของนิยายเล่มนี้จริง ก็บอกได้เลยว่าคาลวิโนล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง! ไม่ได้หมายความว่านิยายเรื่องนี้ไม่ดี แต่มันไม่ตอบโจทย์ที่คนเขียนตั้ง กลุ่มต่อต้านของคาลวิโนประกอบด้วยเดนมนุษย์อันน่าขบขัน โง่เง่าเสียจนเราไม่รู้สึกว่าคนเหล่านี้เป็นวีรบุรุษตรงไหน ดริทโตหัวหน้ากลุ่ม มัวแต่จีบสาวจนเผลอวางเพลิงฐานที่ตั้ง เปเล่ทรยศเพียงเพราะอยากได้อาวุธปืนมาผลาญกระสุนเล่น คัสซินเอะอะอะไรก็บ่นโทษว่าผู้หญิงคือต้นเหตุสงคราม เซน่าขี้เกียจสันหลังยาว พวกเขาไม่ได้มีความคิดอยากกู้ชาติ หรือสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม แต่เข้าร่วมสงครามเพียงเพราะการฆ่าฟันคือสันดานอย่างหนึ่งของมนุษย์
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป้าหมายของคาลวิโนคือเสียดสีกลุ่มใต้ดิน ก็ต้องนับว่าหนทางสู่รังแมงมุมประสบความสำเร็จงดงาม พอจะเห็นเหมือนกันแหละ ว่าคนเขียนมองตัวละครด้วยสายตาเอ็นดู ตอนจบเมื่อทุกคนทิ้งชีวิตออกไปเผชิญหน้ากับทหารนาซี ก็พอมองเห็นความเป็นวีรบุรุษได้บ้าง แต่มันยังไปไม่ถึงจุดนั้น
ในฐานะที่อ่านนิยาย และรวมเรื่องสั้นแกมาเกือบทุกเล่ม อดสงสัยไม่ได้ว่าคนอย่างคาลวิโนเนี่ยนะ จะตั้งเป้าประสงค์ในการเขียนหนังสืออย่างที่แกบอกจริงๆ อีกประเด็นของหนทางสู่รังแมงมุมคือเรื่องแนว coming-of-age การที่เด็กเติบโตสู่โลกของผู้ใหญ่ เออ! ประเด็นนี้สิค่อยฟังดูเหมือนคาลวิโนหน่อย
ตัวเอกของนิยายคือพิน น้องชายโสเภณีในเมือง พินไม่มีเพื่อนสนิทวัยเดียวกัน เด็กชายเข้าๆ ออกๆ ร้านเหล้าเป็นประจำ เขาชอบอยู่ท่ามกลางคนที่โตกว่า แม้ว่าเขาจะไม่เข้าใจ ซ้ำยังดูถูกพวกผู้ใหญ่ในบางครั้งก็ตาม ชื่อนิยายหมายถึงสถานที่ซึ่งพินซ่อนปืนที่เขาขโมยมาจากทหารเยอรมัน ตลอดทั้งเรื่อง จะมองง่ายๆ ก็ได้ว่าเป็นความพยายามของเด็กชายในการหาที่ทางในโลกของผู้ใหญ่ ซึ่งในแง่หนึ่งก็คือการหาเพื่อน ผู้ใหญ่บางคนที่ยอมรับเขา และเขายอมรับใครคนนั้น
หนทางสู่ใยแมงมุมเป็นนิยายที่มีแต่ชายหนุ่มอายุยี่สิบต้นๆ เท่านั้นที่จะเขียนได้ ถ้าเยาวัยกว่านี้ ย่อมขาดประสบการณ์ด้านภาษา และความคิด แต่ถ้าโตเกินไป ก็คงลืมไปแล้วว่าเด็กๆ รู้สึกเช่นไร มีหลายสถานการณ์ซึ่งคาลวิโนเสนอมุมมองของเด็กแก่แดดอย่างพินได้อย่างน่าคิด เช่นเมื่อเขาติดคุกใหม่ๆ โทษฐานสมรู้ร่วมคิดกับกลุ่มต่อต้าน แม้จะมีโอกาสหนีออกมา พินอดคิดไม่ได้ว่าเขาอยากอยู่ในนี้เพื่อสำรวจคุกต่ออีกสักพัก หรือการที่พินใช้ฝีปากคมกล้า และความเป็นเด็กเพื่อแสวงหาการยอมรับจากนักต้อต้านคนอื่นๆ
โดยรวม หนทางสู่ใยแมงมุมเป็นหนังสือค่อนข้างแปลกสำหรับอิตาโล คาลวิโน แม้จะแอบมีอารมณ์นิทานซึ่งเป็นจุดเด่นของแกแทรกอยู่ก็ตาม คาลวิโนเล่าว่าตัวเองไม่ทันสังเกตอารมณ์ตรงนี้ด้วยซ้ำ เป็นเพื่อนแกที่ชี้ให้เห็น นี่ถ้าไม่มีเพื่อนคนนั้น โลกเราคงขาดโคตรนักเขียนไปอีกคน ขอจบด้วยประโยคเด็ดของคาลวิโนที่ว่านักเขียนทุกคนไม่ควรเขียนหนังสือเล่มแรก เพราะการเขียนหนังสือเล่มแรกคือการที่เรานิยามตัวเองขึ้นมา ในขณะที่เรายังไม่พร้อมจะถูกนิยามเลยด้วยซ้ำ
W. Faulkner's "The Sound and the Fury"
ซื้อ "คำรนและโทสา" มาตั้งแต่สองปีก่อน ตอนซื้อมาใหม่ๆ เปิดอ่านไปหกสิบหน้าโยนทิ้งเพราะอ่านไม่รู้เรื่อง และคิดว่าก็คงไม่ได้หยิบมันขึ้นมาอีก ถ้าไม่ได้อ่านบันทึกความทรงจำของเทนเนสซี วิลเลียมส์ แกเล่าว่าเจอฟอล์คเนอร์หนหนึ่ง ผู้ชายคนนี้ตาเศร้าจนวิลเลียมส์อดไม่ได้จะต้องร้องไห้ออกมา ขอลองสัมผัสหน่อยเถอะ นิยายอันโด่งดังของผู้ชายตาเศร้าซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมผู้นี้
ผ่านมาสองปีอ่านรู้เรื่องขึ้น แต่นี่ไม่ใช่หนังสืออ่านง่าย เราไม่เคยเข้าใจคนที่เขียนหนังสืออ่านยาก ยอมรับว่าอาการพิศวงงงงวยอันเกิดจากการพยายามตีความตัวอักษรเป็นความรู้สึกที่มีเสน่ห์ และเป็นที่มาของบทกวี แต่ขณะเดียวเส้นที่ขั้นระหว่างศิลป์อันมีคุณค่า และการที่ผู้เขียนไม่มั่นใจสิ่งที่ตัวเองต้องการสื่อ เลยจงใจเขียนให้อ่านไม่รู้เรื่องนั้นเป็นเส้นที่บางจิ๊ดเดียว
ทั้งที่ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับกลวิธีกระมัง ผู้เขียนทำอย่างไรให้งานตัวเองอ่านยาก (สังเกตว่าการเขียนหนังสือให้อ่านยากนั้นจริงๆ แล้วต้อง "จงใจ" เพราะมีแต่คนบ้าเท่านั้นที่สื่อสารในชีวิตประจำวันไม่รู้เรื่อง) อย่างเวอจิเนียร์ วูล์ฟเป็นนักเขียนอ่านยากที่เราชื่นชม และติดตามงานเขียนของเธอ เพราะความอ่านยากของนิยายวูล์ฟมาจากการที่เธอหักล้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการเล่าเรื่อง และคิดค้นวิธีนำเสนอรูปแบบใหม่
...ซึ่งตรงข้ามกับฟอล์คเนอร์
เจ้าข้าเอ๋ย! ใครก็ตามที่คิดอ่าน "คำรนและโทสา" ขอตะโกนดังๆ เตือนไว้ตั้งแต่ต้นเลยว่า ตัวละครชื่อ "เควนติน" นั้นมีสองตัวนะเหวย คนหนึ่งเป็นผู้ชาย เป็นพี่ของแคดดี้ เบนจี้ และเจสัน ส่วนเควนตินอีกคนนั้นเป็นผู้หญิง เป็นลูกสาวของแคดดี้ สาบานเลยว่าคุณจะอ่าน "คำรนและโทสา" ง่ายขึ้นร้อยเท่า (สงสัยยิ่งนักว่าที่เราเพิ่งรู้ตัวประมาณสองร้อยหน้าผ่านไปแล้วนั้น เร็ว หรือช้าเกินไปจากที่คนเขียนตั้งใจไว้แต่แรก ฟอล์คเนอร์มาเฉลยเอาโต้งๆ ประมาณหน้าสองร้อยหกสิบจากนิยายหนาสามร้อยหน้ากว่าๆ )
จุดเด่นที่สุดของฟอล์คเนอร์อยู่ที่การเล่าเรื่องแบบ "กระแสสำนึก" (stream of consciousness) กระแสสำนึกตามแบบฉบับฟอล์คเนอร์คือการเล่าเรื่องด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง โดยแต่ละเหตุการณ์ที่ตัวละคร "ผม" พบเจอ นำไปสู่แฟลชแบคอีกร้อยแปดประการ คล้ายๆ ทฤษฎีทางจิตวิทยาว่าสิ่งเร้าอย่างเดียวขุดเอาความทรงจำได้นับไม่ถ้วน เหตุการณ์ทั้งหมดใน "คำรนและโทสา" ยาวแค่สี่วันเท่านั้น เพียงแต่มันอุดมไปด้วยแฟลชแบค
คำถามซื่อๆ คือกระแสสำนึก ต่างจากการเขียนด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่งตรงไหน กระแสสำนึกนั้นอ่านยากกว่าเยอะ เพราะเป็นการติดตามความคิดตัวละคร ซึ่งไม่จำเป็นว่าเขาต้องอธิบาย หรือเล่าเรื่องให้เราฟัง ยกตัวอย่าง ฟอล์คเนอร์เขียนถึง "ผม" เสมือน "ผม" เป็นคนจริงๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่หน้าที่ "ผม" จะมาอธิบายให้คนอ่านฟังว่าตัวละครซึ่งผ่านเข้าออกชีวิตเขานั้นเป็นใครบ้าง (เพราะในความเป็นจริง "ผม" ย่อมรู้จักคนเหล่านั้นดีอยู่แล้ว) ลองเปรียบเทียบกับการเขียนด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่งทั่วไปดู ทุกครั้งเวลาตัวละครใหม่ๆ โผล่เข้ามา "ผม" ต้องอธิบายที่มาที่ไปของพวกเขา "คำรนและโทสา" จึงเต็มไปด้วยตัวละครเข้าๆ ออก ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ผู่อ่านจะจัดวาง หาที่ทางในสมองให้พวกเขาเหล่านั้น
อุปสรรคประการอื่นๆ เช่นต้องจับให้ได้ว่า "ผม" ในแต่ละบทนั้นเป็นใครบ้าง (เฉลย: เบนจี้, เควนติน (ชาย), และเจสัน) และเนื่องจากนิยายเต็มไปด้วยแฟลชแบค ต้องโยงใยเส้นเวลาให้ถูก ว่าเหตุการณ์ใดเกิดช่วงไหน อุปสรรคสองตัวนี้พอรับได้อยู่ ไม่เหมือนอุปสรรคประเภทตั้งชื่อตัวละครซ้ำกัน แล้วให้คนอ่านมานั่งแกะว่าใครเป็นใคร อะไรมันจะหากินง่ายขนาดนี้ (วะ) (นอกจากเควนติน ในเรื่องนี้ยังมีเจสันสองคนอีก เอากับแกสิ!)
เกือบลืมพูดถึงเนื้อเรื่องไปแน่ะ "คำรนและโทสา" ว่าด้วยการล่มสลายของครอบครัวหนึ่งในรัฐทางใต้ของประเทศอเมริกา แทรกประเด็นการเหยียดผิวเข้าไปด้วย ชื่อเรื่องมาจากคำพูดของแมคเบตในบทละครเชคสเปียร์ "it is a tale / Told by an idiot, full of sound and fury, / Signifying nothing." กษัตริย์ทรราชเปรียบชีวิตว่าเป็นนิทานคนเขลา เต็มไปด้วยเสียงคำรามและฟ้าผ่า แต่สุดท้ายว่างเปล่าไร้ความหมาย
ขณะที่อ่านนิยายเรื่องนี้ อดไม่ได้รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังเล่นลูกบาศก์สลับสี หรือเกมประลองเชาว์ จริงอยู่ว่าถ้าตัดไอ้อาการกล่องปริศนานี่ออก มันก็จะกลายเป็นหนังสือธรรมดา แต่ขณะเดียวกันคนอ่านก็สามารถมุ่งเป้าไปที่ความสัมพันธ์ หรือตัวละครได้อย่างชัดเจนมากขึ้น (ซึ่งจริงๆ แล้วมีหลายประเด็นน่าสนใจดีเหมือนกัน) ถือเป็นบทเรียน ทางเลือกให้นักเขียนแนวนี้ไปชั่งใจเอาแล้วกันว่าคุณมั่นใจในสารของตัวเองแค่ไหน
ขอบ่นนอกเรื่องหน่อยเถอะ สังเกตมาเยอะว่านักเขียนไทยพักนี้เอะอะอะไรก็กระแสสำนึกๆ โดยไอ้คำว่ากระแสสำนึกมักจะมาพร้อมกับ "อ่านยาก" และ "ข้าเก่ง" ไม่ได้ต่อต้านงานเขียนแนวนี้นะ แต่ที่แน่ๆ มันไม่ได้วิเศษวิโสหรือเขียนยากถึงขนาดต้องมานั่งชื่นชมนักเขียนคนหนึ่งเพียงเพราะเขาเขียนงานแนวกระแสสำนึก (กระแสสำนึกห่วยๆ ก็ยังคงเป็นกระแสสำนึกห่วยๆ อยู่ดี) ที่สำคัญไม่เห็นด้วยกับนักเขียนที่จงใจเขียนหนังสือให้ "อ่านยาก" โดยไม่ยอมให้เหตุผลอะไรชัดเจนไปกว่า "ก็มันเป็นงานแนวกระแสสำนึกนี่ ก็ต้องอ่านยากอยู่แล้ว" สาธุเถอะครับ
T. Williams's "Memoirs"
เล่าถึง "การพบกัน" ครั้งแรกระหว่างเรา และเทนเนสซี วิลเลียมส์ดีกว่า
เกือบเจ็ด แปดปีมาแล้ว สมัยลงเรียนวิชา non-fiction workshop การบ้านหัวข้อแรกคือบันทึกความทรงจำ และตัวอย่างซึ่งอาจารย์นำมาให้เราดูได้แก่บันทึกของเทนเนสสี วิลเลียมส์ อาจารย์ชื่นชมนักเขียนคนนี้มาก ตอนนั้นสารภาพคือเรายังไม่รู้จักงานของเขาสักกะชิ้น ต่อมาไม่นาน ชมรมการละครคัดตัวนักแสดงละครเรื่อง "The Notebook of Trigorin" ซึ่งวิลเลียมส์ดัดแปลง และแปลมาจาก "The Seagal" ของแอนตอน เชคอฟ เราก็เลยได้อ่านบทละครของแกเป็นครั้งแรก...อ่านจบก็ อึ้ง ทึ่ง และ (แอบ) เสียว
ตั้งแต่นั้นวิลเลียมส์ก็กลายเป็นอีกนักเขียนที่มีอิทธิพลต่อเรามากที่สุด (มองย้อนกลับไปจริงๆ ต้องให้เครดิตเชคอฟมากกว่าสำหรับเรื่อง "สมุดบันทึกของไตรกอริน" ซึ่งเป็นงานที่คล้ายคลึงกับละครเชคอฟ มากกว่าละครวิลเลียมส์) การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงเหมือนพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ฉลองครบรอบที่เราสองได้รู้จักกันผ่านหนังสือเล่มแรก
จอห์น วอเตอร์เขียนลงคำนำว่าสามสิบปีที่แล้ว สมัยบันทึกความทรงจำตีพิมพ์ใหม่ๆ กลายเป็นหนังสือร้อนแห่งยุค เพราะวิลเลียมส์เล่าอย่างไม่บรรยะบรรยังการผจญภัยระหว่างเขา และหนุ่มๆ มากหน้าหลายตาซึ่งผ่านเข้าออกชีวิต ในยุค 70s แค่มาพูดเรื่องเซ็กอย่างเปิดเผย ก็นับว่ากล้ามากแล้ว นี่ยังเป็นเกย์เซ็กเสียด้วยสิ
ตอนที่ตีพิมพ์ใหม่ๆ คำติซึ่งหนังสือได้รับมากที่สุดคือวิลเลียมส์เขียนเกี่ยวกับบทละครของตัวเองน้อยมาก ที่เป็นแบบนี้ไม่ใช่ว่าแกไม่รักผลงานของตัวเอง ตรงกันข้ามหลายครั้งเมื่อแกประสบปัญหาทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ความรักในงานเขียนคือสิ่งเดียวที่ช่วยให้วิลเลียมส์พ้นผ่านวิกฤติเหล่านั้นไปได้ วิลเลียมส์ไม่ชอบคำว่า "oeuvre" (หมายถึงผลงานทั้งกะบิของศิลปินคนใดคนหนึ่ง) รู้สึกว่ามันกระแด่ะ ทำไมไม่ใช่ "work" สั้นๆ ง่ายๆ คำสี่ตัวอักษรซึ่งสวยงามที่สุดในโลก สวยงามยิ่งกว่า "love" อีก
วิลเลียมส์เล่าประวัติชีวิตตัวเอง สลับเหตุการณ์ปัจจุบันขณะเขียนบันทึกความทรงจำ (ใช้เวลาตั้งแต่ปีคศ. 1973-1975) ซึ่งเป็นช่วงที่นักเขียนปรากฏตัวในละคร Small Time Craft เพื่อเร่งยอดจำหน่ายตั๋ว พร้อมๆ กับเข็นงานสร้าง Out Cry ละครเรื่องต่อไป พูดสั้นๆ คือเข้าสู่ยุคตกต่ำแล้ว ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ใช่ยุคตกต่ำของวิลเลียมส์คนเดียว แต่เป็นของทั้งวงการมากกว่า เราได้เห็นยุครุ่งโรจน์ของวงการละครเวที ช่วงปี 40 และ 50 ที่ขนาดบทละครเรื่อยๆ เรื่องหนึ่งยังเล่นได้ยาวนานเป็นเดือน ทำเงินทำทองพอประทังชีวิตคนเขียน (ถึงจะผ่านความลำบากลำบนมากมาย แต่อย่างน้อยวิลเลียมส์ก็ไม่เคยอดอยากปากแห้งจริงๆ )
อุปสรรคใหญ่สุดซึ่งเขาต้องเผชิญอยู่เนืองๆ คือเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์ สมัยนั้นคำตัดสินของนักหนังสือพิมพ์ นิตยสาร มีผลให้ละครอยู่หรือไป ต้องเข้าใจว่าละครไม่เหมือนภาพยนต์ที่พอออกจากโรงแล้วก็ยังอัดดีวีดีเก็บไว้ได้แสนนาน การไปของละครก็หมายถึงละครเรื่องนั้นตาย หรือไม่มีอยู่แล้วในโลก ซึ่งแสนเจ็บปวดสำหรับผู้เขียน ทุกๆ opening night วิลเลียมส์นั่งประสาทกิน รอคอยบทวิจารณ์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะลงเอยอย่างขมขื่น
ถ้าไม่รู้มาก่อนว่าวิลเลียมส์เป็นคนดังในวงการ อ่านประวัติชีวิตแกแล้วจะนึกว่าหมอนี่เป็นนักเขียนไส้แห้งที่ไหนวะ ทำไมเขียนละครกี่เรื่องๆ ก็มีแต่เจ๊ง ไม่รู้เหมือนกันว่าตรงนี้ แกถล่มตัว หรือจ้องจับผิดตัวเองมากเกินไปกันแน่ (แต่ในทางกลับกันถ้าชีวิตคุณได้เคยเขียน สวนสัตว์แก้ว รถรางสายปรารถนา และ แมวบนหลังคาสังกะสีร้อน รับพูลลิซเซอร์ไพรซ์สองหน ที่เหลือจะเขียนห่าอะไรคุณก็คงเป็นคนดังอยู่ดี)
จุดนี้เองที่ทำให้บันทึกความทรงจำเล่มนี้น่าสนใจ ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่บรรจุอยู่ภายใน แต่รวมไปถึงสิ่งที่วิมเลียมส์ไม่ยอมเขียนออกมาด้วย ไม่รู้ว่าเพราะเจ็บปวดกับนักวิจารณ์มาเยอะหรือเปล่า แกถึงไม่ยอมออกความเห็นไม่ว่าจะกับบทละคร หรือชีวิตตัวเอง วิลเลียมส์เล่าถึงสัมพันธ์สวาทกับหนุ่มคนแล้วคนเล่า ก่อนลงเอย 14 ปีกับแฟรงกี้ มาลอนโดยมีจุดจบอันแสนเศร้า (ในคำนำจอห์น วอเตอร์ถึงกับพูดว่า "มีบันทึกความทรงจำกี่เล่มกันเชียวที่บรรจุ 'ความเหงา' ลงหน้าดัชนี")
พฤติกรรมของวิลเลียมส์ต่อคนรอบข้าง บางครั้งก็แสนซน เอาแต่ใจ จนไม่น่าเชื่อว่าเขาจะกล้าเล่าให้เราฟัง ที่สำคัญคือเขาเองก็ไม่พยายามแก้ตัว หรือหาเหตุผลให้การกระทำนั้นๆ คนอ่านสามารถตัดสินถูกผิดได้เอง บันทึกความทรงจำเล่มนี้จึงออกมาจริง และลึก ไม่ได้ตื้นๆ ทั้งที่ทุกเหตุการณ์เล่าผ่านสายตาคนคนเดียว
F. Nietzsche's "Beyond Good & Evil"
หลังอ่าน Beyond Good & Evil จบ ปิดหนังสือ ถอนหายใจหนึ่งเฮือก แล้วอดไม่ได้ที่จะรำพึงรำพันกับตัวเอง "นี่แหละหนา ทำไมคนโง่ถึงไม่ควรอ่านนิทเช่"
ก่อนอธิบายสาเหตุที่เราคิดเช่นนี้ มาพูดถึงนิทเช่ และหนังสือเล่มนี้ก่อนดีกว่า ชื่อเต็มๆ ของมันคือ Beyond Good & Evil: Prelude to a Philosophy of the Future หรือ "เหนือกว่าดีและเลว: ปฐมบทปรัชญาแห่งอนาคต" หนังสือเล่มนี้บรรจุไปด้วยหลากหลายความคิดของเฟรดริช นิทเช่ ทั้งที่ต่อเนื่อง เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน และที่กระจัดกระจาย จับต้นชนปลายไม่ใคร่ถูก (ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างหลังมากกว่า) แต่สรุปรวมๆ ก็ดังชื่อเรื่อง ว่าด้วยปรัชญายุคใหม่ ซึ่งนิทเช่ทำนายเอาไว้ว่า "จำเป็น" สำหรับศตวรรษใหม่ที่จะถึง
ที่ต้องเน้นคำว่า "จำเป็น" เพราะสมัยที่นิทเช่เขียนหนังสือเล่มนี้ (ปลายศตวรรษที่ 19) เยอรมัน และประเทศอื่นๆ ในยุโรปกำลังประสบปัญหาภาวะเสื่อมถอยของความเป็นมนุษย์ อันเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม และบทบาทของเครื่องจักรในกระบวนการผลิต มนุษย์เริ่มรู้สึกถึงความอ่อนด้อยของตัวเอง ดังนั้นนิทเช่จึงคิดค้นปรัชญาแผนใหม่เพื่อส่งเสริมคุณค่า และบทบาทของความเป็นมนุษย์ (ซึ่งเป้าหมายตรงนี้คล้ายคลึงปรัชญาคอมมิวนิสต์ของมาร์คนั่นเอง)
ปรัชญาที่ว่าคืออัตถิภาวนิยม (existentialism) สรุปสั้นๆ ประโยคเดียวคือแนวคิดซึ่งส่งเสริมให้ปัจเจคสร้างหลักประจำใจตน อัตถิภาวนิยมเป็นปรัชญาที่ปฏิเสธปรัชญาทั้งปวง และเกือบครึ่งของ "เหนือกว่าดีและเลว" คือคำประนาม ล้อเลียน และดูถูกนักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ หรือใครก็ตามที่เชื่อถือในความจริงหนึ่งเดียว (universal truth) เปิดบทแรกมานิทเช่ก็ถามเลยว่าทำไมคนเราถึงได้ฝักใฝ่ความจริงนัก มันมีอะไรวิเศษวิโสกว่าความเท็จตรงไหน ปรัชญาแผนใหม่คือแนวคิดที่ว่าความดีงามนั้นอาจมีต้นกำเนิดมาจากความเลวทรามก็ได้
จากเหยื่อทั้งหมดซึ่งนิทเช่โจมตีในหนังสือเล่มนี้ พวกที่โดนหนักกว่าเพื่อนคือนักศีลธรรม นิทเช่เชื่อว่า ศีลธรรมเป็นผลพวงของคนที่พยายามสร้างโลกขึ้นมาจากความอ่อนแอของตัวเอง เอาอคติ มายาส่วนตนมาสร้างเป็นกฎเกณฑ์บังคับผู้อื่น ทั้งที่จริงกฎเกณฑ์นั้นไม่อาจใช้กับผู้ใดได้นอกจากตัวเราเอง
แต่กฏนั้นคืออะไรเล่า แน่นอนว่าบอกไม่ได้ เพราะถ้าพูดออกมาก็จะกลายเป็นหลักปรัชญา ซึ่งขัดแย้งกับอัตถิภาวนิยม นักอัตถิภาวนิยมหลายคนถึงกับบอกว่าสุดท้ายมนุษย์ไม่สามารถนิยามได้หรอกว่าอะไรคือดีงาม อะไรคือต่ำช้า แต่ต้องครุ่นคิดถึงคำถามนี้ไปชั่วชีวิต เพราะเสนอคำถามซึ่งไม่มีจุดจบเช่นนี้เอง อัตถิภาวนิยมในสายตาคนนอกถึงดูน่ารำคาญอยู่ไม่น้อย
แนวคิดนี้คล้ายคลึงสุญนิยม (nihilism) ซึ่งไม่เชื่อถือความดีงามใดๆ แม้หลายคนจะเถียงว่านิทเช่ปฏิเสธสุญนิยม แต่จริงๆ แนวคิดทั้งสองใกล้เคียงกันอยู่ไม่น้อย "คือพจนาซาราทุสซา" ประกาศออกมาโต้งๆ ว่า "พระเจ้าตายแล้ว" (หนึ่งในคำพูดที่โด่งดังที่สุดของแก) จะมีคำพูดใดอีกไหมที่เป็นสุญนิยมมากไปกว่านี้
เอาล่ะ กลับมาประโยคที่ว่า "นี่แหละหนา ทำไมคนโง่ถึงไม่ควรอ่านนิทเช่" ไม่เหมือนนักปรัชญาคนอื่นๆ หนังสือนิทเช่ "อ่านง่าย" หมายถึงจับเอาคำพูด หรือความคิดเดี่ยวๆ ออกมาใช้ได้ไม่ยาก แต่ว่าในเล่มเต็มไปด้วยความคิดซึ่งขัดแย้งกัน บางทีแกก็เขียนเสียดสี ตรงข้ามกับสิ่งที่ตัวเองต้องการจะสื่อ ดังนั้นไม่ว่าใครมีความเชื่ออะไร สามารถดึงเอาคำพูดแกไปสนับสนุนความคิดตัวเองได้ไม่ยาก อย่างฮิตเลอร์เองยังใช้หนังสือนิทเช่เป็นคัมภีร์นาซีเลย
สมัยนิทเช่ อัตถิภาวนิยม และปัจเจคชนเป็นของใหม่ ในทางประวัติศาสตร์แล้ว มนุษย์เพิ่งตื่นจากการหลับไหลปลายศตวรรษที่ 18 ก่อนหน้านั้นศาสนาเป็นทั้งบรรทัดฐาน และยานอนหลับซึ่งกล่อมเกลาชนชั้นใต้การปกครอง แต่พอมาศตวรรษที่ 20 แนวคิดเชิงปัจเจคเริ่มกลายเป็นของธรรมดา ยิ่งยุคโพสโมเดิร์นแล้ว คนโง่ที่ไหนก็ออกมาประกาศปาวๆ ว่าฉันนี้แน่ ไม่เหมือนคนอื่น ไม่เห็นต้องสนใจหนังสือ ตำรับตำราเพราะฉันจะสร้างกฎเกณฑ์ของฉันขึ้นมาเอง ซึ่งหลายความคิดของนิทเช่ก็สนับสนุนให้คนเชื่อแบบนั้น
นึกถึงคำพูดกฤษณา มูรติ "เพราะทุกคนคิดว่าตัวเองต่างจากคนอื่น ดังนั้นทุกคนเหมือนๆ กันไปหมด" บางทีต่อให้ปัจเจคบรรลุความแท้ (authentic) สุดท้ายก็กลายเป็นแค่ของเทียม (inauthentic) เป็นพฤติกรรมฝูงชนอีกแบบหนึ่งซึ่งนิทเช่ชิงชังนักหนา
A. Bester's "Virtual Unreality"
เดือนสองเดือนก่อน เขียนถึง "การ์ตูนจักรวาล" ของคาลวิโน ว่าเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุด ไม่กี่วันถัดมา มีคนมาแย้งเราว่า หนังสือรวมเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดคือ "ความเท็จเสมือน" ของอัลเฟรด เบสเตอร์ต่างหาก ว่าแล้วก็เลยต้องลองอ่านพิสูจน์ดู
พูดกันจริงๆ แล้ว จะเรียก "การ์ตูนจักรวาล" ว่ารวมเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ก็กระไรอยู่ ต้องยอมรับว่าไซไฟนั้นเป็นหนังสือเฉพาะกลุ่มมากๆ ชนิดนี้ว่ามีแค่นักเขียนคนนู้นคนนี้เท่านั้นที่แฟนๆ จัดว่าเป็นนักเขียนไซไฟ คนอื่นซึ่งนอกเหนือขึ้นไปต่อให้แต่งเรื่องแนววิทยาศาสตร์ ก็ไม่ใช่ว่าจะแฟนๆ จะยอมรับทันที เพราะมีกลุ่มคนอ่านเหนียวแน่นแบบนี้กระมัง พัฒนาการของเรื่องแต่งวิทยาศาสตร์เลยไม่ค่อยไปไหน มีนักเขียนแค่ไม่กี่คน อย่าง ฟิลิป เค ดิก หรือ ออร์สัน สกอต คลากซึ่งจัดว่าได้มาตรฐานหนังสือทั่วไป (ไม่ใช่แค่มาตรฐานแฟนๆ )
น่าเสียดายที่อัลเฟรด เบสเตอร์เองก็ยังไม่ถึงระดับนั้น
ความผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยสำหรับไซไฟคือในแง่ความคิด นี่ไม่ใช่รวมเรื่องสั้นซึ่งอ่านแล้วชวนฉุกคิด แนวทางของเบสเตอร์ชัดเจนมากๆ แกหมกมุ่นกับตัวละครซึ่งมีอำนาจประดุจพระเจ้า อย่างน้อยห้าเรื่องสั้นออกแนวนั้น บางครั้งเบสเตอร์ก็จับแก่นเรื่องตรงนี้มาผูกได้อย่างแนบเนียน (เช่น "ออดดี้ และอิด") แต่บางครั้งน้ำเน่าจนชวนให้ส่ายหน้า ("แสงดาว แสงสว่าง")
จริงๆ การเขียนเรื่องประเด็นเดิมๆ ไม่ใช่สิ่งเสียหาย ฟิลิป เค ดิกก็มีหัวข้อโปรดที่เขาชอบแวะเวียนไปหา ตรงนี้กระมังสาเหตุที่การเขียนหนังสือให้มีความลึกถึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแม้แก่นจะซ้ำเดิม แต่ถ้าเขียนได้ลึก เรื่องมีมิติอื่นให้ดิ้นได้ ปัญหาของ"ความเท็จเสมือน" คือเรื่องมันตื้นเกินไป
ติเสียเยอะ กระนั้นถ้า"ความเท็จเสมือน"เป็นหนังสือสุดทนจริงๆ คงโยนทิ้งตั้งแต่สาม สี่เรื่องแรกแล้ว (จริงๆ ก็เกือบทำแบบนั้นอยู่เหมือนกัน) มันอ่านสนุกไม่เลวเลยล่ะ ภาษาของเบสเตอร์ชวนให้นึกถึงคอลัมภ์ขำขันในนิวยอร์กเกอร์ เป็นภาษาหยอกล้อกิ๊กกั๊ก เนื้อเรื่องแล่นไปอย่างรวดเร็ว ชนิดไม่ข้องเกี่ยวความสมจริงสมจัง ในทางกลับกัน ถ้าจะบอกว่า "ความเท็จเสมือน" เป็นหนังสือชวนอ่าน โดยดูจากภาษาอย่างเดียวก็พูดได้ไม่ค่อยเต็มปาก หลายครั้งเหมือนเบสเตอร์เล่าเรื่อยเปื่อย เช่นว่าเปิดเรื่องที่ตัวละครตัวโน้น ต่อมาคนเขียนเปลี่ยนใจพาเหตุการณ์หักเหไปอีกทาง (อย่างใน "แจกันดอกไม้สายฟ้า" หรือ "ชีวิตไม่เหมือนเดิม" ชัดเจนว่าแกไม่ได้คิดอะไรล่วงหน้าเวลาเขียน) หลายครั้งก็เล่าซ้ำซากโดยไม่จำเป็น ("หายวับไปกับตา" และ "ฟาเรนไฮต์ที่รัก")
แต่หลายเรื่องก็พอเข้าทีมิหยอก เช่น "5,271,009" ซึ่งไม่ใช่เรื่องสั้นที่ดีนักหรอก แต่คนอ่านสามารถสนุกกับภาษาได้อย่างเต็มที่ "ฟาเรนไฮต์ที่รัก" ไม่ใช่แนวฮาๆ เหมือนเรื่องอื่นๆ แต่เบสเตอร์กลับเขียนได้ดีมาก (เลยไม่รู้ว่าทำไมแกเอาแต่เขียนเรื่องขำขัน) "ผู้ชายซึ่งสังหารโมฮัมมัด" จับประเด็นการย้อนเวลาได้อย่างน่าสนใจ ส่วน "แจกันดอกไม้สายฟ้า" สร้างโลกอนาคตได้แหวกแนวไม่เหมือนใครดี เมื่อสงครามทำล้ายล้างอารยธรรม มนุษย์ที่หลงเหลือจึงต้องสร้างโลกใหม่ โดยดูตัวอย่างจากภาพยนต์ฮอลลีวู้ดซึ่งหลงเหลืออยู่ กลายเป็นโลกแห่งความจริงซึ่งทุกคนทำตัวเลียนแบบภาพยนต์
H. Bergson's "Matter and Memory"
ไม่รู้เหมือนกันว่าหนึ่งในหนังสือที่แกต้องอ่านมี "สสาร และความทรงจำ" ของอองรี เบิร์กสันรวมอยู่ด้วยหรือเปล่า
ขอเล่าประสบการณ์ในการอ่านหนังสือเล่มนี้หน่อยเถอะ ผ่านไปได้ยี่สิบหน้าแรก ใช้เวลาชั่วโมงกว่าๆ เหนื่อยยากเหลือแสนกว่าจะแกะความหมายแต่ละประโยคออก หัวข้อของหนังสือคือการรับรู้ (perceive) แต่อ่านยังไงก็ไม่เข้าหัว สุดท้ายยอมแพ้ ไม่อ่งไม่อ่านมันแล้ว แต่ตูขอรับรู้หน่อยเถอะ ว่าแล้วก็อ่านพึ่บรวดเดียว ประโยคไหนไม่เข้าใจข้ามๆ ไป ผ่านไปอีกยี่สิบหน้าในเวลาไม่ถึงยี่สิบนาที
ปาฏิหาริย์มีจริง อ่านรู้เรื่องขึ้น(ว่ะ)
ได้บทเรียนทรงคุณค่าว่าบางทีหนังสือปรัชญาต้องอ่านเร็วๆ รับรู้มันอย่างเดียว มานั่งถอดความทีละตัวอักษรไม่ไหว ที่สำคัญคือเผลอๆ ยกแต่ละประโยคมาให้อีตาเบิร์กสันอ่าน สงสัยนักว่าแกจะเข้าใจที่ตัวเองเขียนหรือเปล่า
ตัดประเด็นที่ว่ามันอ่าน(โคตร)ยากออก "สสาร และความทรงจำ" เป็นหนังสือเข้าท่าทีเดียว หลายความคิดแปลกใหม่น่าสนใจ หัวข้อหลักอย่างที่บอกไปแล้วคือ "การรับรู้" เจาะจงกว่านั้นคือสิ่งที่เชื่อมต่อระหว่าง "การรับรู้" (หมายถึงการเปิดรับโลกภายนอกเข้ามาข้างในตัวเรา) และ "ความทรงจำ" (คือการที่เราตีความหมายโลกภายนอกนั้น) ทฤษฎีดั้งเดิมคือการสร้างความสัมพันธ์ (association) สมองค้นหาภาพในห้องสมุดความทรงจำ ซึ่งเหมือน หรือคล้ายสิ่งที่รับรู้เข้ามาใหม่ และใช้ข้อมูลนั้นในการตีความ
เบิร์กสันปฏิเสธทฤษฎีการสร้างความสัมพันธ์ โดยบอกว่า เป็นไปไม่ได้หรอกที่ทั้งสองภาพ (ภาพหนึ่งคือภาพใหม่ซึ่งเพิ่งรับรู้เข้ามา และอีกภาพคือภาพเก่าในห้องสมุดความทรงจำ) จะเหมือนกันมากพอให้สมองแยกแยะภาพหลังออกจากภาพอื่นๆ นับร้อยนับล้านในห้องสมุด เรารู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราเห็นคือสุนัข ในเมื่อเราไม่เคยเจอสุนัขตัวนี้มาก่อน (ตรงนี้คล้ายๆ ทฤษฎีการเรียนรู้ภาษาของโนม ชอมสกี้)
เบิร์กสันให้ความสำคัญกับ "การเคลื่อนไหว" (motion/movement) เขาอธิบายว่าสิ่งมีชีวิตเซลเดียวเมื่อรับรู้อะไร ก็จะเคลื่อนไหวตอบโต้การรับรู้นั้น เนื่องจากผนังเซลเป็นทั้งอวัยวะที่ใช้รับรู้ และตอบโต้ สำหรับมนุษย์ เมื่อประสาทสัมผัสทั้งห้ารับรู้อะไร จะเอาข้อมูลตรงนั้นไปเก็บใส่สมองก่อน แล้วค่อยเลือกที่จะตอบโต้ตามความเหมาะสม สภาพลังเล (indetermination) ระหว่างการรับรู้ และตอบโต้นั่นเอง คือที่มาของความฉลาด (intelligent) จิตสำนึก (consciousness) และอื่นๆ กระนั้นใช่ว่ามนุษย์เราจะไม่มีระบบตอบโต้อัตโนมัติเสียทีเดียว ไขสันหลังทำหน้าที่ตอนโต้สิ่งเร้าโดยไม่ผ่านสมอง เบิร์กสันบอกว่าการเคลื่อนไหว อันมีที่มาจากไขสันหลังนั้นต่างหากซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความทรงจำ หมายถึงว่าเราไม่ได้จำ "การรับรู้" (perception) หรือสิ่งที่เห็นภายนอกได้ แต่จดจำอาการตอบสนองของร่างกายตัวเองได้ต่างหาก เมื่อเราเห็นสุนัข ร่างกายตอบโต้กับความเป็นสุนัขนั้นไปแล้ว (เช่นว่ากลัวมันจะกัด เลยเตรียมหนี หรือยิ้มเพราะเราชอบสุนัข) และอาการตอบโต้ช่วยให้เราจดจำสิ่งตรงหน้าได้ว่ามันคือสุนัข (คำว่า "ตอบโต้" ในที่นี้ก็คือ "การเคลื่อนไหว" นั่นเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีการเคลื่อนไหวจริงๆ ก็ได้) ทฤษฎีนี้นำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนภาษาได้ว่าคนเราจะท่องจำศัพท์ง่ายขึ้น ถ้าเราพูด หรืออ่านออกเสียงเวลาได้ยินภาษาใหม่ๆ ไปด้วย (ซึ่งก็จริงของเขา)
สำหรับเบิร์กสัน ระหว่างการรับรู้ และจำได้ ต้องมีขั้นตอนตรงกลาง นั่นคือ memory-image หมายถึงภาพที่รับรู้เข้ามา แต่ถูกความทรงจำแต่งเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างสุนัข ภาพแรกที่เราเห็นคือตัวอะไรเล็กๆ เหม็นๆ มีชีวิตๆ การที่เรารับรู้ว่ามันเป็นสิ่งมีชีวิต ช่วยให้เราระลึกได้ว่ามันคือสัตว์ ความระลึกได้ตรงนี้ช่วยเสริมรายละเอียดอื่นๆ ซึ่งถูกมองข้ามไปในตอนแรก เช่นสีน้ำตาล ขนปุกปุย สัญญาณประสาทที่วิ่งกลับไปกลับมาระหว่างการรับรู้ และความทรงจำช่วยให้เราตระหนักถึงสุนัขที่อยู่ตรงหน้า
เบิร์กสันยังพูดถึง attention (สมาธิ) ว่าคือการที่เราตั้งใจ "ลังเล" ไม่ตอบโต้สิ่งเร้าซึ่งเข้ามาในหัวทันควัน อาการลังเลนี้เองช่วยให้เรา "เข้าใจ" และตอบโต้กับสิ่งเร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น นึกถึงตัวเองในฐานะที่เรียนเต้นรำมา บ่อยครั้งอาจารย์ต้องบอกนักเรียนในชั้นว่า "ให้ดูก่อน อย่าเพิ่งเต้นตาม" เพราะทันทีที่เห็นอาจารย์ก้าวเท้า ขยับแขน เรามักเต้นตามโดยสัญชาตญาณ แต่ถ้าใช้ "สมาธิ" หรืออาการลังเลไตร่ตรองชั่วครู่ เราจะเลียนแบบการเต้นนั้นได้อย่างหมดจดขึ้น
ต้องยอมรับว่าหลายความคิดของเบิร์กสันหลุดโลกอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญคือเมื่อมันเป็นปรัชญาที่อิงจิตวิทยา การแพทย์ในปัจจุบันน่าจะพิสูจน์ได้แล้ว (อาศัยการต่อสายไฟเข้าสมอง ฉีดยา หรือผ่าศพลิงอะไรก็ว่าไป) ว่าทฤษฎีเหล่านี้จริง เท็จแค่ไหน ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่อะไร เพราะในบทสุดท้ายของสสาร และความทรงจำ เบิร์กสันพูดถึงทฤษฎีการเคลื่อนไหวเชิงกายภาพ ซึ่งจากมุมมองของฟิสิกส์ยุคปัจจุบัน ต้องบอกว่า "ผิด" อยู่ไม่น้อย ("ผิด" ในที่นี้คือเอาเป็นว่า "ต่าง" ก็แล้วกัน)
เบิร์กสันแบ่งทฤษฎีการเคลื่อนไหวออกเป็นสี่ข้อ ซึ่งสรุปรวมๆ ได้สองประการคือ 1) การเคลื่อนไหวแบ่งไม่ได้ และ 2) การเคลื่อนไหวคือสภาพพื้นฐาน (state) ของวัตถุ เบิร์กสันใช้ข้อแรกแย้งปฏิภาคพจน์ของเซโน ทันทีที่เราพยายามแบ่งการเคลื่อนไหว แท้จริงคือเรากำลังแบ่งเส้นทางการเคลื่อนไหว (trajectory) ต่างหาก ซึ่งไม่ใช่อย่างเดียวกับการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวนั้นแท้จริงประกอบด้วยอวกาศ (space) และเวลา (time) แม้ว่าอวกาศพอตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ ได้ แต่เวลานั้นตัดแบ่งไม่ได้
ข้อสองขยายความได้ว่า ถ้าเราจับภาพนิ่งๆ ของวัตถุขณะเคลื่อนไหว แม้ว่าสิ่งที่เราเห็นในภาพนั้นจะหยุดอยู่กับที่ แต่ความจริงแล้วมันมี "การสั่นไหว" (vibration) ซึ่งเป็นสภาพย่อยของการเคลื่อนไหวอยู่ เบิร์กสันอธิบายว่าจิตสำนึกคนเราซึ่งบ่งบอกสภาพปัจจุบัน (presence) นั่นไม่ใช่เส้นบางๆ ที่ขั้นกลางระหว่างอดีต และอนาคต แต่ไอ้เส้นนั้นน่ะมีความหนา มีช่วงเวลา (duration) เนื่องด้วยปัจจุบันนั้นต้องประกอบด้วยความทรงจำ (ซึ่งเป็นตัวแทนของอดีต) และการตอบโต้ (ซึ่งเป็นตัวแทนของอนาคต) อยู่ ดังนั้นเราจึงไม่อาจตัดเวลาให้เล็กได้เท่าที่ต้องการ ต่อให้แบ่งการเคลื่อนไหววัตถุเล็กสุดเท่าที่เล็กได้ ยังไงมันก็ต้องบรรจุสภาพการเคลื่อนไหวลงในช่วงเวลาเล็กๆ นั้นอยู่ดี
เบิร์กสันคิดทฤษฎีนี้ตอนที่ยังไม่มีภาพยนตร์ ซึ่งในแง่หนึ่งภาพยนตร์คือศาสตร์แห่งการจับภาพนิ่งหลายๆ ภาพมาต่อกันจนเกิดมายาแห่งการเคลื่อนไหวขึ้น นี่เองทำไมเดอลูสสนใจนำปรัชญาของเบิร์กสันมาใช้กับการวิเคราะห์ภาพยนตร์ ในหนังสือ cinema อันโด่งดังของแก
จริงๆ ความคิดพื้นฐานของเบิร์กสันก็เข้าทีมิหยอก ถ้าไม่ติดว่าแกขยายความเกินตัวไปหน่อย ไม่ว่าจะเป็นสภาพการตัดแบ่งไม่ได้ของอวกาศ และเวลา ในสสาร และความทรงจำ หน่วยย่อยสุดของอวกาศยังคงเป็นอะตอมอยู่เลย เบิร์กสันบอกว่าคนเราตัดเล็กลงไปกว่านี้ไม่ได้ แต่วิทยาศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 20 ค้นพบอนุภาคมูลฐาน ซึ่งเล็กกว่าอะตอม และยังตัดย่อยลงไปยิ่งกว่านี้ได้อีก เบิร์กสันพูดถึงแรงหรือพลังงานที่เชื่อมต่อระหว่างมวล และประจุไฟฟ้า โดยบอกว่าแรงนั่นเองคือ สภาพการสั่นไหว (vibration) ที่ทำให้วัตถุไม่อาจอยู่นิ่งๆ เดี่ยวๆ ได้ แต่ต้องผสานเป็นหนึ่งเดียวกับวัตถุรอบข้าง โดยฟิสิกส์แผนใหม่แล้ว จะว่าจริงก็จริง จะว่าเท็จก็เท็จ
ที่เบิร์กสันผิดสุดคือการกล่าวว่า "การเคลื่อนไหวสมบูรณ์" นั้นมีอยู่จริง (ทฤษฎีการเคลื่อนไหวข้อสอง) ตีความได้ว่าในจักรวาลมีแกนอ้างอิงสมบูรณ์ ซึ่งใช้วัดค่าสมบูรณ์ของระยะทาง และเวลา ซึ่งขัดแย้งกับประโยคอันโด่งดังของไอน์สไตน์ที่ว่า "อีเธอร์ไม่มีจริง!" (อีเธอร์ก็คือแกนสมบูรณ์นั่นเอง)
อย่างไรก็ตามจุดซึ่งเราสนใจในทฤษฎีการแบ่งไม่ได้ (indivisibility) ของเบิร์กสันคือเมื่อนำไปประยุกต์ใช้กับวรรณกรรม ในแง่หนึ่งแล้ว ภาษาและงานเขียนของแกมีคุณสมบัติการแบ่งย่อยไม่ได้นี้อยู่ อย่างที่บอกไปแล้ว ถ้าจับความคิดแกมาแยกอ่านแต่ละประโยค แต่ละคำ จะอ่านไม่รู้เรื่อง ทั้งที่ศัพย์แสงก็ไม่ได้สูง หรือซับซ้อนอะไร เพราะความคิดก็เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวคือ ถ้าเอามาแตกทีละประโยคจะมี "สภาพ" บางอย่างซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ทางเดียวที่จะเสพความคิดได้คือจำเป็นต้องบริโภคเข้าไปคำใหญ่ๆ
นิทเช่คือนักปรัชญาคนแรกที่ปฏิเสธการใช้ย่อหน้าเวลานำเสนอความคิด เพราะแกต้องการให้ผู้อ่านเสพความคิดทีละก้อนโตๆ ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อหน้าคือสิ่งที่ช่วยให้ความคิดยากๆ สื่อสารผ่านตัวอักษรได้รู้เรื่องขึ้น แล้วแต่แล้วกันนะครับ ว่าใครอยากเป็นไฟน์แมน ใครอยากเป็นนิทเช่
W. Shakespeare and B. Britten's "A Midsummer Night's Dream"
พูดถึงบทละคร "ฝันกลางฤดูร้อน" นิดหนึ่ง เป็นเชคสเปียร์ที่เราผูกพันสุด เพราะเป็นบทละครเรื่องแรกที่ได้อ่าน พออ่านจบรอบแรก คิดในใจละครอะไร (วะ) โคตรไร้สาระเลย แต่พอได้ดูกรอกตาบ่อยๆ ก็ชักชอบมันขึ้น (แปลกคือขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยคุ้นหูละครเรื่องนี้ แต่ในอเมริกานี่คือเชคสเปียร์ซึ่งถูกนำมาเล่นบ่อยสุด เพราะมันมีเทพธิดา นางไม้ คนธรรพ์ อมนุษย์ อะไรต่อมิอะไรเยอะแยะ ถ้าตัด เย็บเครื่องแต่งกาย ทำฉากประกอบ จัดแสงไฟดีๆ ยังไงก็ดูสนุก) จนมาบัดนี้ บอกได้เลยว่าฝันกลางฤดูร้อนคือละครตลกอันมีการหลอกล้อ เล่นหัวกับเหยื่อคิวปิดเป็นธีมหลัก ซึ่งสมบูรณ์แบบสุด (เรื่องอื่นๆ ที่เล่นกับประเด็นนี้ได้แก่ คืนที่สิบสอง ตามใจท่าน เอะอะอะไรนักหนากับเรื่องไม่เป็นเรื่อง ความสูญเปล่าของความพยายามของคู่รัก และ สุภาพบุรุษสองนายจากเวอโรนิกา)
R. Davies's "World of Wonders"
บอย สตอตันผู้นี้คือว่าที่ตัวแทนกษัตริย์อังกฤษ รักษาการณ์มลรัฐในประเทศแคนาดา ตำแหน่งเทียบเท่านายกรัฐมนตรีดีๆ นี่เอง ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ สตอตันเสียชีวิตอย่างลึกลับ ขับรถตกทะเลสาบ รูปการณ์ประหนึ่งว่าเป็นอุบัติเหตุ ถ้าไม่นับในปากคาบหินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง ความตายของบอย สตอตันและเหตุการณ์ลึกลับในโรงละครที่กล่าวไปแล้วคือจุดร่วมกันของไตรภาคเดปฟอร์ดโดยโรเบิร์ตสัน เดวีส์ ซึ่งประกอบไปด้วย "ตัวละครที่ห้า" "แมนติคอร์" และ "โลกมหัศจรรย์"
ถึงไม่เคยเจอเหล่านักเขียนที่เราชื่นชอบ แต่เพราะอ่านงานพวกเขามาเยอะ ส่วนใหญ่เลยพอบอกได้ว่าคนนู้น คนนี้เป็นคนประเภทไหน จะมีก็แต่ตาโรเบิร์ตสัน เดวีส์นี่แหละที่เราจับต้นชนปลายแกไม่ถูก ไม่เฉพาะในแง่ตัวตน แม้แต่ในแง่ผลงาน ถ้าต้องอธิบายสั้นๆ ให้คนอื่นฟังกลับไม่ใช่เรื่องง่ายดาย ไตรภาคเดปฟอร์ดจะว่าเป็นนิยายประวัติศาสตร์ก็ไม่ผิด จิตวิเคราะห์ก็พอใช่ ปรัชญาก็ไม่เชิง กระทั่งแนวลึกลับเหนือธรรมชาติยังพอไหวด้วยซ้ำ ประหนึ่งหนังสือเล่มเดียวกันนี่แหละ หากมองจากแต่ละมุมกลับเห็นไม่ซ้ำแบบกัน
ให้สรุปง่ายๆ ทั้งสามเล่มของไตรภาคเดปฟอร์ดคือนิยายอัตชีวประวัติโดยมีตัวเอกคือแรมเซย์ (ตัวละครที่ห้า) เดวิด สตอตัน ลูกชายของบอย สตอตัน (แมนติคอร์) และพอล เดมสเตอร์ นักมายากลผู้เสกศีรษะทองเหลือง (โลกมหัศจรรย์)
หลังละครสัตว์ เดมสเตอร์เป็นสตันแมนให้กับคณะละครเวที ซึ่งพอเล่าถึงตรงนี้แอบมีหักมุมนิดๆ ให้คนดูผงะด้วย ชีวิตช่วงนี้ของเดมสเตอร์คือประเด็นหลักของหนังสือ แต่กลับเป็นช่วงที่เราไม่อินที่สุด นักมายากลเล่าให้ฟังถึงเซอร์จอห์น นักแสดงตกรุ่น ซึ่งยังหลงอยู่ในโลกการละครแห่งศตวรรษที่ 19 ขณะที่ศิลปินคนอื่นพัฒนาไปไหนต่อไหนแล้ว ชายหนุ่มชื่นชมความโรแมนติกของเซอร์จอห์น ระหว่างที่เล่าเรื่อง เขาพยายามชักชวนให้คนอื่นเห็นความสวยงามของการละครในอดีต ซึ่งตรงนี้เองที่เราไม่เข้าใจเดวีส์เชื่ออย่างที่นักมายากลบอกจริงๆ หรือแอบเสียดสีหยอกล้อเขาอยู่ ในยุคสมัยแห่งเทนเนสซี วิลเลียมส์ ยูจีน โอนีล และอาเธอร์ มิลเลอร์ รวมไปถึงศิลปินภาพยนตร์อย่างโกดา ทรุฟโฟ ศิลปะแบบเซอร์จอห์นดูตกยุคจนน่าอับอาย (ในนิยายเรื่องนี้มี "ลินด์" ตัวละครซึ่งถอดแบบมาจากเบิร์กแมน ปรมาจารย์ภาพยนตร์ชาวสวีเดนอยู่ด้วย) เดวีส์ก็เหมือนไม่ได้พยายามปกป้องความโรแมนติกแบบศตวรรษที่ 19 มากไปกว่าให้ตัวละครย้ำนักย้ำหนาว่านี่คือช่วงชีวิตซึ่งเขามีความสุขที่สุด
ถ้ามองว่านี่คืออัตชีวประวัตินักมายากล นิยายเล่มนี้พูดถึงมายากลน้อยมาก หลังออกจากคณะละคร ชายหนุ่มทำงานเป็นช่างซ่อมนาฬิกา ได้รับว่าจ้างจากมหาเศรษฐีให้ซ่อมของเล่นไขลาน และได้พบกับลิสเซลเป็นครั้งแรก นี่คือจุดเริ่มต้นของมิตรภาพชั่วชีวิตระหว่างทั้งคู่ และจุดกำเนิดของแมคนัส ไอเซนกริม นักมายากลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ (ไอเซนกริมคือชื่อหมาป่าในตำนาน ซึ่งเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของพอล เดมสเตอร์)
ถ้าให้สารภาพอย่างตรงไปตรงมา ต้องบอกว่าผิดหวังนิดหนึ่งกับโลกมหัศจรรย์ ตั้งแต่อ่านสองภาคแรก ตัวละครที่เราชื่นชอบที่สุดคือลิสเซล และอดคิดไม่ได้ว่าการร่วมมือกันระหว่างลิสเซล และไอเซนกริม/เดมสเตอร์เพื่อก่อตั้งคณะมายากลน่าสนใจกว่าชีวิตสตันแมนในคณะละครของเซอร์จอห์นเป็นไหนๆ แต่เดวีส์กลับเล่าถึงช่วงนี้แค่พอผิวเผิน
โลกมหัศจรรย์ปิดท้ายด้วยการเฉลยปริศนาฆาตกรรมบอย สตอตัน ซึ่งก็ไม่ใช่การเฉลยที่น่าตื่นตกใจอะไร เพราะเกริ่นนำไว้ตั้งแต่แมนติคอร์แล้ว ถึงจะผิดหวังกับหนังสือโดยรวม แต่ก็รู้สึกดีใจที่ได้อ่าน ได้ติดตามชีวิตของเหล่าตัวละครแห่งไตรภาคเดปฟอร์ดจนถึงที่สุด (สองปีพอดี นับตั้งแต่ตอนอ่านตัวละครที่ห้าครั้งแรก)