ความสะอาดของผู้ตาย (ปราบดา หยุ่น)
ไม่ได้เขียนถึงหนังสือไทยมานานเท่าไหร่แล้ว เกือบๆ สามสี่เดือนได้ ซึ่งก็หมายถึงช่วงนี้ไม่ได้อ่านนิยาย หรือรวมเรื่องสั้นไทยเลย (ไม่นับนิยายกำลังภายใน จีนแปลไทยที่อ่านอยู่เนืองๆ แต่ไม่ได้เขียนบันทึกนะครับ)
จำได้ว่าเมื่อประมาณปีที่แล้ว อ่าน "ฝนตกตลอดเวลา" จบ บอกตัวเองว่า "คุณปราบดาเขียนหนังสือดีขึ้นแฮะ!" (เป็นคำชมที่ฟังดูไม่จริงใจจัง พับผ่าสิ) ตอนนั้นสัญญาว่าจะติดตามผลงาน เพื่อเฝ้าสังเกตพัฒนาการของแก แต่จนแล้วจนรอด คุณปราบดาออกนิยาย บทความ และรวมเรื่องสั้นมาอย่างละเล่ม ก็ไม่เคยได้อ่านเสียที จนมาลงเอยที่ "ความสะอาดของผู้ตาย" นี่แหละ
เข้าใจว่าหลายเรื่องใน "ความสะอาดของผู้ตาย" เขียนก่อน "ฝนตกตลอดเวลา" บางเรื่องก็ค่อนข้างเก่าทีเดียว เลยบอกไม่ได้ว่าพัฒนาการที่เราเห็นตอนอ่านนิยายเล่มนั้น มันมีอยู่จริงหรือเปล่า แต่สรุปสั้นๆ เลยว่าชอบความสะอาดฯ มากกว่ารวมเรื่องสั้นชุดก่อนๆ จม
ตั้งแต่ร่วมงานกับคุณเป็นเอกใน "เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล" เหมือนกับคุณปราบดาเริ่มจะค้นพบตัวเองยังไงไม่ทราบ ประมาณว่าแกเริ่มจับจุดตัวเองถูก เข้าใจว่าหนังสือแนวไหนที่ตัวเองชอบเขียน และเขียนได้ดี ในแง่หนึ่ง หลายคนอาจคิดว่าฝนตกตลอดเวลา เหมือนนิยายรักน้ำเน่า เกาหลี แต่เรากลับรู้สึกว่าหนังสือแบบนี้แหละ ที่เปิดโอกาสให้คุณปราบดาแสดงศักยภาพ และฝีมือตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ ไม่แต่เฉพาะแนวเรื่อง กระทั่งภาษายังอ่านง่าย ดูเป็นผู้ใหญ่ มากกว่ายุคก่อน
หลายเรื่องสั้นในความสะอาดฯ เล่นอารมณ์เดียวกับฝนตกตลอดเวลา คุณปราบดาเคยให้สัมภาษณ์ตั้งแต่เริ่มมีชื่อเสียงใหม่ๆ ว่าชอบผลงานของมุราคามิ ซึ่งตรงนี้เริ่มสะท้อนออกมาชัดเจน ตัวละครหนุ่ม สาว ความโรแมนติก เหงาๆ ในเมืองใหญ่ ผสมเซ็กเล็กน้อยพอเป็นกระสัย (สังเกตว่าระยะหลัง คุณปราบดาชอบให้ตัวละครมาพูดคำหยาบ คนอ่านบางคนก็ไม่ชอบ แต่ผมอ่านแล้วยิ้ม ไม้ยมก ขำ ไม้ยมก จั้กจี้ ไม้ยมก ดี) เรื่องสั้นอย่าง "ปาร์ตี้น้ำตา" "กำแพงเมืองชิน" และ "ฉันดูดปากหลุมดำ" คือตัวอย่างที่ว่า ชอบทั้งสามเรื่อง แต่รู้สึกว่า "ฉันดูดปากหลุมดำ" ลงตัวสุด ที่ยกนิ้วให้ คือแม้ทั้งสามเรื่องจะมีแก่น และธีมคล้ายคลึงกัน คุณปราบดาเขียนแล้วไม่ซ้ำซาก อ่านเพลินได้ทั้งสามเรื่อง (ไม่เหมือนนักเขียนไทยหลายคนที่เขียนเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมาอยู่นั่นแหละ)
เข้าใจว่าตั้งใจจะขาย "ความสะอาดของผู้ตาย" เต็มที่ เพราะเอามาตั้งชื่อหนังสือ แต่กลับเป็นหนึ่งในเรื่องที่ชอบน้อยกว่าเพื่อน ชีวิตหลังความตาย การให้อภัย และเทวดาผู้มาคอยชี้แนะวิญญาณหลงทาง ไอเดียเชยสะบัดช่อ แต่อย่างน้อยความจริงใจ ก็ทำให้อ่านเพลินโดยไม่ขัดเขิน "ลืมแล้วหรือว่าเราคิดถึงกัน" และ "อายูมิไม่เคยพูดคนเดียว" สะท้อนสังคม เรื่องแรกว่าด้วยการที่คนเราชอบตัดสินคนแต่ภายนอก ส่วนเรื่องหลังว่าด้วยหญิงสาวที่หลบเข้าไปอยู่ในจินตนาการเพื่อหลีกหนีความเจ็บปวดในโลกภายนอก และที่ขาดไม่ได้คือ "บาร me ของพ่อมัน" เรื่องสั้นกัดตัวเองสไตล์คุณปราบดาเหมือน "มารุตมองทะเล"
"ความสะอาดของผู้ตาย" คือรวมเรื่องสั้นที่อ่านแล้วยังอยากติดตามผลงานของนักเขียนผู้นี้ต่อไป แค่นี้ก็น่าจะถือได้แล้วว่าเป็นหนังสือที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
T. Williams's "The Glass Menagerie"/"A Streetcar Named Desire"
สมัยเด็กๆ เคยมีคนมาอำผมว่า "สวนสัตว์แก้ว" เป็นภาคสองของ "รถรางสายปรารถนา" โดย "สวนสัตว์แก้ว" คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับแบลงช์ หลังตอนจบของ "รถรางสายปรารถนา"
ไม่ใช่นะครับ อย่าไปเผลอปล่อยไก่เป็นอันขาด ถ้าจะมีอะไรเป็นภาคต่อจริงๆ "รถรางสายปรารถนา" ต่างหากที่น่าจะเป็นภาคสองของ "สวนสัตว์แก้ว" เพราะรถรางฯ เขียนปี 1947 ส่วนสวนสัตว์แก้วปี 1945 เป็นบทละครสร้างชื่อให้กับนักเขียนมือใหม่อย่างเทนเนสซี วิลเลียมส์ (ผลงานก่อนหน้านั้นคือ "Battle of Angels" ซึ่งไม่รู้ว่าวิลเลียมส์ไม่พอใจกับมันหรืออย่างไร เพราะในกาลต่อมาแกอัพเดทเรื่องนี้ใหม่เป็น "Orpheus Descending")
ในแง่ตัวละคร ผมพยายามนึกว่าแม่ในสวนสัตว์แก้วจะเป็นแบลงช์ได้หรือเปล่า จะว่าคล้ายก็คล้ายตรงทั้งคู่มีชีวิตอยู่ในความฝัน กรณีอแมนดา เธอเป็นผู้หญิงวัยกลางคน ผู้จมจ่อมกับความรุ่งเรืองในอดีต ส่วนแบลงช์ใช้ชีวิตหลอกตัวเอง และคนรอบข้างไปวันๆ ทั้งสองยังเป็นผู้หญิงรอบจัดเรื่องผู้ชาย แม้กรณีแบลงช์จะชัดเจนกว่าก็ตาม กระนั้นถ้าพูดถึงความต่างแล้ว ทั้งคู่น่าจะต่างกันมากกว่าเหมือน ขณะอแมนดาแม้จมปลักในอดีตสักแค่ไหน ยังต้องการ และพยายามยัดเยียดสิ่งดีๆ ให้ลูกสาว ส่วนแบลงช์ปราชัยกับชีวิต ถึงขั้นไขว่คว้าฟางเส้นสุดท้ายอย่างเสียไม่ได้
แต่ถ้าจะมองในแง่ธีมล่ะก็ ละครสองเรื่องนี้จริงๆ ก็ไม่ต่างกันนัก เพราะเป็นละครความสิ้นหวังของผู้หญิงทั้งคู่ ตัวเอกของเรื่องสวนสัตว์แก้วคือลอร่า งานอดิเรกของเธอคือสะสมตุ๊กตาแก้วรูปสัตว์ต่างๆ โดยเจ้าตัวโปรดของเธอคือม้ายูนิคอร์นแก้ว ถ้าจะบอกว่าสวนสัตว์แก้วคือละครแห่งสัญลักษณ์ และอุปมาก็คงไม่ผิดนัก ตุ๊กตาแก้วแทนความเปราะบางของหญิงสาว และการที่ลอร่าชอบสัตว์ในเทพนิยาย ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความแปลกแยกระหว่างเธอและคนรอบข้าง รวมไปถึงชื่อเล่นของเธอ "กุหลายฟ้า" ซึ่งเป็นดอกไม้ที่ไม่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ
ในสวนสัตว์แก้ว อแมนดา แม่ของลอร่าพยายามจับคู่เธอกับจิม เพื่อนที่ทำงานของลูกชาย อแมนด้ามองว่าจิมคือโอกาสสุดท้ายแล้วของลูกสาว (ซึ่งก็คล้ายๆ สัมพันธ์ระหว่างมิช และแบลงช์) ฉากที่จิม และลอร่าอยู่ด้วยกันตอนท้ายละคร ใครอ่าน (หรือชม) แล้วไม่ร้องไห้ แสดงว่าไม่มีหัวใจ! ขณะที่มิช และแบลงช์แตกหักกันอย่างรุนแรงด้วยเงื้อมมือของแสตนลี บทสรุประหว่างจิม และลอร่าราบเรียบจนน่าใจหาย แต่ในความไม่มีอะไรนี่แหละที่แสนเศร้าเป็นที่สุด
ถ้าเทียบสวนสัตว์แก้ว กับบทละครเรื่องอื่นๆ ของวิลเลียมส์ ถือว่าเรื่องนี้ค่อนข้างสั้น และไม่ซับซ้อนเท่า ตัวละครก็แสนจะน้อย แค่สี่ตัว แถมจิมก็เพิ่งมีบทบาทสองฉากสุดท้าย พูดถึงความยาวก็แค่ครึ่งหนึ่งของรถรางฯ เท่านั้น เหมือนๆ กับว่าสวนสัตว์แก้ว จะเป็นอีกหนึ่งบทละครสั้นของวิลเลียมส์ที่บังเอิญยาวผิดปรกติมากกว่า (วิลเลียมส์เขียนบทละครสั้นไว้เยอะมาก) กระนั้นขอยืนยันว่าความราบเรียบนี่เองที่งดงามไม่มีอะไรเปรียบ
พูดถึง "รถรางสายปรารถนา" ต้องนึกถึงมาลอน แบรนโดก่อนเป็นอันดับแรก ตั้งแต่สมัยเป็นละคร แบรนโดรับบทแสตนลี แถมผู้กำกับก็ยังเป็นเอเลีย คาซาน คนที่กำกับดาราหนุ่มในฉบับภาพยนต์อีก (แต่แบลงช์คนแรกจริงๆ คือเจสสิก้า แทนดี้ไม่ใช่วิเวียน ลีห์) ซึ่งแบรนโดนั้นเหมาะกับบทแสตนลีโคตรๆ จนบัดนี้ก็ยังนึกไม่ออกว่าหากมีคนคิดรีเมกรถรางฯ จริงๆ จะเอาดารารุ่นใหม่คนไหนมาเล่น ผมนึกถึงจอร์จ คลูนี แต่คลูนีก็ดู "มีการศึกษา" เกินไปสำหรับแสตนลี ผู้ชายที่ (ใช้คำพูดของแบลงช์) "ลืมวิวัฒนาการจากลิง มาเป็นคน" กระนั้นความดิบเถื่อนนี่เองคือเสน่ห์ของแสตนลี ถ้าว่ากันตามบทบาท เขาเป็นผู้ร้าย เพราะมีส่วนรับผิดชอบเต็มๆ ในโศกนาฏกรรมของแบลงช์ กระนั้นหลายคนเวลานึกถึงรถรางฯ ลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่าแบรนโดนั้นเล่นเป็นตัวโกง
ถึงรถรางฯ ดูเหมือนเป็นละครซับซ้อน ผู้แสดงมากหลาย ฉากก็เยอะแยะนับได้ตั้งสิบเอ็ดซีน แต่ก็ยังคงความเป็นบทละครรุ่นแรกๆ ของวิลเลียมส์เอาไว้ คือแก่นเรื่องน้อย นอกจากแบลงช์ แสตนลี สเตลล่า แล้วก็มิช ที่เหลือก็ตัวประกอบล้วนๆ เนื้อเรื่องจริงๆ แทบไม่มีอะไร นอกจากการปะทะกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าระหว่างแบลงช์ และแสตนลี ก่อนลงเอยที่ชีวิตรันทดของหญิงสาวทั้งในอดีต และปัจจุบัน ตรงนี้ค่อนข้างแตกต่างกับบทละครรุ่นหลังๆ ไม่ว่าจะเป็น "แมวบนหลังคาสังกะสี" หรือโดยเฉพาะ "นางนวล" ซึ่งวิลเลียมส์ได้รับอิทธิพลของเชคอฟมาเต็มๆ
จริงๆ อยากพูดถึงนักเขียนบทละครอเมริกันคนอื่นๆ เปรียบเทียบระหว่างวิลเลียมส์ มิลเลอร์ และโอนิล แต่ไว้โอกาสหน้าแล้วกัน
G. Grass's "Crabwalk"
อ่าน "ปูไต่" ของกุนเธอ กราส แล้วนึกถึงนิยายที่โด่งมากดังอีกเล่มหนึ่งคือ "เดอะรีดเดอร์" ของเบิร์นฮาร์ด ชลิงค์ (ฉบับภาษาไทยแปลโดยคุณสมชัย วิพิศมากูล) ทั้งสองเล่มเป็นนิยายสงครามโลกครั้งที่ 2 จับประเด็นเดียวกัน คือความรู้สึกผิด และความเจ็บปวดของชาวเยอรมัน นิยายสงครามโลกส่วนใหญ่มักเขียนมาจากมุมมองของฝรั่งเศษ ("the very long engagement")โปแลนด์ ("the captive mind") หรือว่าอังกฤษ ("atonement") ซึ่งทั้งสามประเทศมองตัวเองว่าเป็นเหยื่อความทะเยอทะยานของฮิตเลอร์ แท้ที่จริง เยอรมันซึ่งเป็นประเทศผู้พ่ายแพ้สงคราม ต้องประสบความยากลำบากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเทศอื่นๆ ต่างแต่ว่าบาปเนื่องมาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ทำให้ไม่มีชาวเยอรมันคนใดกล้าออกมาพูดถึงความเจ็บปวดอย่างตรงไปตรงมา ชื่อนิยาย "ปูไต่" ในทีนี้ก็หมายถึงการพูดอ้อมๆ เหมือนกับปูที่เดินเขซ้ายเขขวา
"ปูไต่" เป็นนิยายของคนสามรุ่น ทัลลาคือผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เรือโดยสาร วิลแฮม กัสลอฟถูกเรือดำน้ำรัสเซียยิงจม เธอคือชาวเยอรมันรุ่นสงครามโลก เชื่อในอุดมการณ์ของฮิตเลอร์ และรังเกียจชาวยิว ลูกชายของเธอ พอล เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในรุ่นเขา เติบโตมาพร้อมกับบาป ความอับอาย และความรู้สึกผิด พอลทำงานหนังสือพิมพ์ ทัลลาอยากให้ชายหนุ่มเขียนเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมครั้งนั้น แต่เขาปฏิเสธ (จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์วิลแฮม กัสลอฟจมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มากกว่าตอนเรือไททานิกจมเสียอีก) ต่อมาลูกชายของพอล คอนราดโตมาในยุคที่ผู้คนเริ่มหันกลับมาตั้งคำถามเรื่องอัตลักษณ์ ความเป็นชาตินิยม ยุคนี้เองที่นีโอนาซีถือกำเนิดขึ้นมา คนหนุ่มสาวโกนศีรษะตัวเอง พวกเขาไม่ได้ต้องการฆ่าชาวยิว แต่เชื่อว่าชาวยิวสมควรอยู่แต่เฉพาะในประเทศของตัวเอง คอนราดตั้งใจสานต่ออุดมการณ์ของทัลลา เปิดเผยเรื่องราวของวิลแฮม กัสลอฟให้โลกรับรู้
สมัยมาเมืองนอกใหม่ๆ ตอนที่ได้เจอคนเยอรมันครั้งแรก ถามเขาว่าคิดยังไงเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 2 (มองย้อนกลับไป รู้สึกตัวเองเชยจัง แถมยังเสียมารยาทชอบกล) เขาบอกว่าสิ่งที่ฮิตเลอร์ทำกับชาวยิว รุนแรง และเลวร้ายจนผู้คนลืมนึกถึงสิ่งดีๆ ที่มาพร้อมกับนาซี ไม่ว่าจะเป็นความเจริญทั้งทางด้านเทคโนโลยี การทหาร และเศรษฐกิจ ในทางเดียวกันผู้ชมทั่วโลกรู้จักภาพยนตร์อย่าง Schindler's List, The Pianist, หรือ Life is Beautiful จนเหมือนเราจะลืมไปแล้วว่าชาวเยอรมันเองก็มีสิทธิร้องอุทธรณ์ถึงโศกนาฎกรรมซึ่งเกิดกับประเทศตัวเอง ช่วงปลายสงคราม เมื่อทหารรัสเซียเข้ามาย้ำยีแผ่นดินเยอรมัน ผู้หญิงถูกข่มขืน หมู่บ้านโดนเผาทำลาย เด็ก และผู้ใหญ่ถูกสังหารหมู่
"ปูไต่" เล่าเรื่องผ่านปลายปากกาของพอล ยักย้ายไปมาระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างเขา กับคนรอบข้าง และเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ ที่มาของเรือวิลแฮม กัสลอฟ ตั้งชื่อตามนักการเมืองนาซีผู้โดนชาวยิวลอบสังหาร สาเหตุของการฆาตกรรมคือเป็นปฏิกิริยาโต้ตอบลัทธิกีดกันชาวยิวของพรรคนาซี แรกสุดวิลแฮม กัสลอฟเป็นเรือสำราญ พากรรมาชีพไปพักผ่อนท่องเที่ยวอย่างหรูหรา ในราคาถูก ต่อมาช่วงสงครามถูกปรับเปลี่ยนเป็นเรือรบ เรือพยาบาล และก่อนที่มันจะจม ถูกใช้ขนย้ายผู้อพยพหนีเงื้อมมือของทหารรัสเซีย (วันที่วิลแฮม กัสลอฟจม เป็นวันคล้ายวันเกิดของฮิตเลอร์พอดี)
เราเป็นคนชอบประวัติศาสตร์ แต่แปลกที่ประเด็นประวัติศาสตร์ใน "ปูไต่" กลับไม่ชวนติดตามเท่าไหร่ ถึงจะชื่นชมกราสว่าค้นข้อมูลมาปึก แต่หลายอย่างดูเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกินไป เป็นความผิดพลาดเดียวกันกับรัชดี ใน "เด็กเที่ยงคืน" (อ่านดูได้จากบลอคเก่า) โชคดีที่ผู้เขียนไม่เสียเวลาตรงนี้มากนัก เมื่อไหร่ที่กราสย้ายมาเล่าเหตุการณ์สมมติของพอล ทัลลา และคอนราด ถึงได้เริ่มน่าสนใจ
อีกจุดเด่นสุดของ "ปูไต่" คือ นี่เป็น "นิยายชั้นดี" เรื่องแรก (หมายถึงไม่นับนิยายจ๊ะจ๋าเธอขาสิบสลึง) ที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต ตั้งแต่การทำเวปบอร์ด การแช็ท และการสร้างตัวตนสมมติออนไลน์ ล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญต่อเนื้อเรื่อง พอลอธิบายในย่อหน้าหนึ่งว่า เขาลองซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้ดู และเริ่มสนุกกับการท่องเวปเหมือนวัยรุ่นคนอื่นๆ อ่านตรงนี้แล้วก็อดขำไม่ได้ว่ากราสคงกำลังพูดถึงตัวเองอยู่
จะสรุป "ปูไต่" โดยไม่พูดถึงเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งคงไม่ได้ เมื่อเร็วๆ นี้ กราสออกมาเปิดเผยว่าสมัยสงคราม เขาเองก็เป็นหนึ่งในหนุ่มสาวที่หลงใหล และเข้าร่วมพรรคนาซี น่าสนใจว่าความคิดเห็นของบุคคลเช่นนี้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเช่นไร ถ้าได้อ่าน "ปูไต่" ก็จะเข้าใจ อย่างน้อย ก็ส่วนหนึ่ง กราสเขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งว่าด้วยเหตุใดเยอรมันตะวันตก และตะวันออกไม่สมควรรวมตัวกัน ถือเป็นอีกมุมมองที่น่าสนใจ ซึ่งคงได้มาแบ่งปันกันในโอกาสหน้า
G. Deleuze's "Francis Bacon"
เมื่อสุดยอดนักปรัชญาอย่างกิล เดอลูส เขียนหนังสือเกี่ยวกับสุดยอดจิตรกรอย่างฟรานซิส เบคอน ผลลัพท์ที่ได้ย่อมหนีไม่พ้นสุดยอดหนังสืออ่านยาก "Francis Bacon: The Logic of Sensation"
ถึงประเด็นหลักจะเป็นฟรานซิส เบคอน แต่งานเขียนชิ้นนี้น่าจะถือเป็นมุมมองของเดอลูสเกี่ยวกับงานศิลปะโดยรวมได้ ถ้าให้แบ่งหนังสือออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกเดอลูสวิเคราะห์องค์ประกอบร่วมในภาพเขียนของเบคอน ต่อมาพูดถึงความคิดซึ่งแฝงอยู่ในงานดังกล่าว และปิดท้ายด้วยการพูดถึงศิลปะโดยรวม ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ และปรัชญา ซึ่งพอถึงช่วงนี้ก็แทบไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเบคอนแล้ว
เดอลูสแบ่งองค์ประกอบภาพเขียนของเบคอนเป็นสามส่วนคือ ฉากหลัง (field) เส้นกรอบ (contour) และ วัตถุแสดง (subject) แทบทุกภาพ ผู้คน (หรือวัตถุแสดง) ถูกจัดวางอยู่ในกรอบ ซึ่งอาจเป็นเส้นกรอบจริงๆ เก้าอี้ เตียง หรือเวทีก็ได้ และด้านหลังมีฉากโล่งๆ (ดูตัวอย่างได้จากสองรูปข้างล่าง) เบคอนได้แรงบันดาลใจมาจากงานปั้นซึ่งตั้งอยู่บนฐาน
พูดถึงเบคอน สิ่งที่คนส่วนใหญ่นึกถึงคืออาการบิวเบี้ยวของรูปทรง เดอลูสอธิบาย อาการบิดเบี้ยวที่ว่าคือความพยายามของวัตถุในการหลบหนีออกออกจากตัวเอง ออกจากเวทีหรือเส้นกรอบ เพื่อจะได้ละลาย หาย หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของฉากหลัง เช่นเดียวกัน การที่เส้นกรอบบีบรัด ตีวงแคบเข้ามาก็คือการที่ฉากหลังพยายามกลืนกินวัตถุแสดง จลนะซึ่งเชื่อมต่อวัตถุแสดง และฉากหลังนี่เอง ทำให้งานของเบคอนทรงพลัง เดอลูสเรียกสิ่งนี้ว่า "จังหวะ" (rhythm)
ถ้าให้สรุป "ตรรกะแห่งศาสตร์สัมผัส" ด้วยประโยคสั้นๆ ประโยคเดียว ก็คงเป็น "สู้กับความจำเจ!" ตลอดทั้งเล่มเดอลูสพูดถึงหน้าที่ของศิลปินในการปลดปล่อย ให้อิสระแก่ภาพ (figure) ปีศาจในสายตาเดอลูสได้แก่ เนื้อเรื่อง (narration), ความจำเจ (cliche), และอุปมา (figuration) ทันทีที่ศิลปะบอกเล่าเรื่องราว ภาพจะถูกเปลี่ยนให้เป็นสัญลักษณ์ ถูกตีความ และนั่นหมายถึงผู้ชมไม่อาจเห็นภาพตามแบบที่มันเป็น
เดอลูสอธิบายว่าสมองคนเราแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนรับรู้ และส่วนตีความ ผลงานศิลปะใดที่ผ่านเข้าสมองส่วนตีความ ก็จะกลายเป็นเนื้อเรื่อง ความจำเจ หรืออุปมา สูญเสียความบริสุทธิ์ของมันไป ผลงานศิลปะที่ดีคือผู้ชมต้องสามารถส่งมันเข้าสมองส่วนรับรู้ได้ เมื่อนั้นภาพก็จะเป็นแค่ภาพ มีอิสระที่จะสร้างการรับรู้ (sensation) แบบต่างๆ ให้กับผู้ชม
ดังนั้นกรอบจึงเป็นอาวุธสำคัญที่ขาดเสียไม่ได้ เพราะกรอบแยกวัตถุแสดงออกจากฉากหลัง วัตถุซึ่งถูกตั้งไว้เดี่ยวๆ ปลอดภัยจากเรื่องราวทั้งปวง ซึ่งสมเหตุสมผลอยู่เหมือนกัน เพราะพูดไป เนื้อเรื่องก็คือศาสตร์แห่งการเชื่อมต่อ จากเหตุการณ์หนึ่งไปยังอีกเหตุการณ์หนึ่ง ดังนั้นถ้าวัตถุแสดงถูกแยกออกจากโลกภายนอก ก็ไม่อาจมีการเชื่อมต่อใดๆ เกิดขึ้นได้
อีกประเด็นที่โดนใจมากๆ คือเดอลูสบอกว่าศิลปินไม่ได้วาดภาพจากความว่างเปล่า ภาพทั้งปวงปรากฏขึ้นในหัวตั้งแต่แรก ศิลปินคือผู้ยื้อยุดกับความยุ่งเหยิง ตัดความเป็นไปได้ร้อยแปดประการ เหลือเพียงชิ้นงานสำเร็จบนผืนผ้าใบ
อ่าน "ตรรกะแห่งศาสตร์สัมผัส" ไป อดเถียงเดอลูสในใจไปไม่ได้ ในแง่หนึ่งเรารู้สึกว่าอาการรังเกียจรังงอนเนื้อเรื่องของเขามันเกินไปหน่อย ไม่ใช่ว่าศิลปะที่ดีเกิดได้แค่จากการรับรู้เท่านั้น ศิลปะที่มาจากสมองส่วนตีความก็มีให้เห็นเยอะแยะ การเอาเนื้อเรื่อง ความจำเจ และอุปมา มาหักมุมใช้อย่างหวือหวา ชาญฉลาดก็ใช่ว่าจะทำไปไม่ได้ ที่สำคัญเราไม่เชื่อว่าเนื้อเรื่องคือกรงขังซึ่งริดรอนอิสระของภาพ คติสอนใจ (moral) ต่างหากที่ทำหน้าที่ดังกล่าว ต่อให้มีเนื้อเรื่อง แต่ถ้ารักษาความ nihilistic เอาไว้ เราเชื่อว่าการรับรู้ (sensation) ย่อมเกิดขึ้นได้เหมือนกัน
สุดท้าย ต้องให้เครดิตหนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ รวมผลงานชิ้นเอกของเบคอนโดยสำนักพิมพ์ Taschen ถ้าไม่มีหนังสือเล่มนี้ เปิดประกอบควบคู่ไปกับ "ตรรกะแห่งศาสตร์สัมผัส" ไม่ต้องหวังว่าจะได้อ่านรู้เรื่อง ต้องนับว่า Taschen ตาถึงจริงๆ เพราะแทบทุกรูปซึ่งถูกเอ่ยอ้างโดยเดอลูส มีให้เห็นในชุดนี้หมด (เสียอยู่อย่างเดียวคือไม่มีดัชนี หรือสารบัญให้ค้นรูปเลย กว่าจะเปิดหาแต่ละรูปเจอ เล่นเอาเวียนหัวเหมือนกัน)
R. Graves's "I, Claudius"
อาเธอร์ ซี คล้ากเคยตั้งคำถามน่าสนใจว่าถ้าไม่มียุคกลาง ปัจจุบันนี้โลกเราจะก้าวหน้าไปไกลแค่ไหน ที่คล้ากพูดแบบนี้ เพราะจริงๆ ความรู้เมื่อสองร้อยปีที่แล้ว แทบไม่พัฒนาไปจากเมื่อพันปีก่อนหน้านั้นสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปรัชญา คณิตศาสตร์ กฎหมาย หรือการปกครอง ตั้งแต่สิ้นสุดโรมัน ก็เหมือนเวลาหยุดนิ่งหนึ่งพันปี จนมายุคปฏิรูปวัฒนธรรมนั่นแหละ นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญาถึงเพิ่งตื่นจากการหลับไหล
เกริ่นมาแบบนี้ ไม่ใช่จะพูดถึงยุคกลางหรอกนะ แต่อยากบอกว่าโรมนั้นเจริญสุดๆ ชนิดที่ว่าถ้าหยิบจับนักปราชญ์มาหัดใช้เครื่องคิดเลขนิด คอมพิวเตอร์หน่อย รับรองว่าสู้กับนักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ได้สบายๆ จะเอาสส.โรมันมาบริหารประเทศ ก็มั่นใจได้ว่าหาเสียง หลอกลวงประชาชนเก่งกาจไม่แพ้นักการเมืองสมัยนี้แน่ๆ
เพราะโรมรุ่งเรืองขนาดนี้กระมัง โคตรคำถามที่ครุ่นคิดกันมาทุกยุคทุกสมัยคือ มันปล่อยให้พวกแฟรงค์ คนป่า คนดอยมาบุกยึด เผาเมือง ทำลายประเทศได้ยังไง จนป่านนี้นักประวัติศาสตร์ก็ยังถกเถียงถึงสาเหตุที่แท้จริง แต่คำตอบลวกๆ ซึ่งมักหยิบยกมาอ้างเอ่ยคือ โรมเป็นแอปเปิลเน่าจากภายใน เพราะผู้ปกครองโกงกินสิ้นชาติ บ้านเมืองถึงได้พินาศวอดวาย
"ผมชื่อคลอดิอุส" ในทางหนึ่งก็คือประวัติศาสตร์ความเสื่อมโทรมของกรุงโรมนั่นเอง คลอดิอุสซึ่งเป็นคนเล่าเรื่อง คือแม่พลอยโรมัน เพราะมีชีวิตสีแผ่นดิน ตั้งแต่จักรพรรดิออกัสตัส ทิเบอเรียส คาลิกูล่า จนมาถึงยุคที่คลอดิอุสขึ้นเป็นจักรพรรดิเสียเอง ที่น่าสนใจคือไม่มีใครในกรุงโรมคาดคิดว่าคลอดิอุสจะได้เป็นจักรพรรดิ คลอดิอุสคือหลานของออกัสตัส ตั้งแต่เกิดสูญเสียบิดา ตัวเองก็ติดโรคร้ายจนขาเสียไปข้าง หน้าตาอัปลักษณ์ไร้สง่าราศี แถมยังพูดติดอ่าง หลายคนคิดว่าเขาไม่เต็มบาท จริงๆ ถ้าไม่นับความพิการภายนอกแล้ว คลอดิอุสก็เหมือนคนปกติทุกอย่าง เจียมเนื้อเจียมตัวมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากแม่ ปู่ ย่า พี่สาว และญาติไม่รัก คลอดิอุสอุทิศชีวิตศึกษา และบันทึกประวัติศาสตร์ หนอนตำรา อย่างเขาถึงยิ่งกลายเป็นตัวตลกในสายตาคนอื่น
แต่เชื่อหรือไม่ เพราะความที่หลายคนชอบสบประมาทเขานั่นแหละ คลอดิอุสถึงได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งกรุงโรม ครั้งหนึ่งแม่นมเล่าความฝันให้ชายหนุ่มฟัง นางฝันว่าคลอดิอุสเป็นเด็กที่มีโจรบุกขึ้นบ้าน ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ และชิงทรัพย์สินไปทั้งหมด แต่เด็กน้อยหลบหนีมาอยู่บนต้นไม้ ต่อมาโจรกลุ่มนั้นรวมตัวกันใต้ต้นไม้เพื่อแบ่งสินค้า สุดท้ายก็ลงมีด ลงดาบ วางยาพิษฆ่ากันเองหมดสิ้น พอเด็กน้อยปีนลงมา ก็พบข้าวของในบ้าน รวมถึงแก้วแหวนเงินทองซึ่งโจรลักขโมยมาจากบ้านหลังอื่น
เพราะความที่คลอดิอุสเชื่อในความฝันของแม่นม ตลอดทั้งเล่มเขารู้รักษาตัวรอด ถึงแม้จะเป็นผู้เล่าเรื่อง เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับตัวเองน้อยมาก จะมีก็แต่สมัยคาลิกูล่า ที่เขาต้องปีนลงมาจากต้นไม้ แสดงฝีไม้ลายปาก ความสยอง โหด มันส์ ฮาของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การได้ชมฝูงโจรฆ่ากันเองนั่นแหละ
ขอย้ำว่าหนังสือเล่มนี้ทั้งสยอง โหด มันส์ และฮา จักรพรรดิพระองค์แรก ออกัสตัสหูเบา เชื่อฟังแต่พระชายา พระนางใส่ร้ายป้ายสี วางยาพิษ สังหารศัตรูทางการเมือง ส่งผลให้คนดีๆ ถูกเนรเทศ ฆ่าทิ้ง หรือจองจำ สมัยออกัสตัสว่าแย่แล้ว แต่มาเจอทิเบอเรียส ยังต้องชิดซ้าย ทิเบอเรียสหวาดระแวง เพราะรู้ตัวหลายคนไม่ชอบหน้า จึงออกกฎหมาย ใครก็ตามใส่ร้ายคนอื่นโทษฐานก่อกบฏ ถ้าความผิดถูกพิสูจน์ว่าเป็นจริง จำเลยจะถูกประหาร และทรัพย์สินครึ่งหนึ่งยึดมามอบให้แก่โจทก์ และเนื่องจากออกัสตัสพร้อมจะเชื่อเสมอว่ามีคนคิดคดกับตัวเอง นักการเมืองถึงได้ใส่ร้ายกันเป็นว่าเล่น หัวขาด เลือดสาดกระจายไม่เว้นวัน
แต่ทิเบอเรียสกระจอกไปเลย พอเจอคาลิกูล่า สมัยเด็กๆ คาลิกูล่าเคยปราบปรามกบฏในค่ายทหาร อาศัยความซื่อบริสุทธิ์ของทารก แต่เพราะพ่อแม่ตามใจจนเสียเด็ก พอโตขึ้น คาลิกูล่าเริ่มออกแววทรราช วางแผนร้ายชิงบัลลังก์ทิเบอเรียส พอขึ้นเป็นจักรพรรดิ ชายหนุ่มป่วยหนัก ไข้ขึ้นสมอง ถึงรอดชีวิตมาได้ แต่สติไม่สมประกอบ คาลิกูล่าเชื่อว่าตัวเองเป็นเทพเจ้า ถึงกับสั่งให้ทหารประดิษฐ์เครื่องยิงหิน ซึ่งเปล่งเสียงเหมือนสายฟ้า (ตามตำนานจูปิเตอร์ใช้สายฟ้าเป็นอาวุธ) โยนทำร้ายผู้บริสุทธิ์เป็นว่าเล่น คาลิกูล่าฆ่าคนไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่คำนึงผลได้ผลเสียใดๆ ระหว่างกินข้าวอยู่ดีๆ หัวเราะเฮฮาคนเดียว พอมีคนมาถามว่าเรื่องอะไรตลกนักหนา ชายหนุ่มกระซิบใส่หู "ไม่ปล่อยก๊ากได้ยังไง แค่ข้าผงกหัวหน่อยเดียว ศีรษะพวกเจ้าทุกคนก็หลุดจากบ่าแล้ว"
ถึงวิธีการเล่าจะเหมือนเรื่องขำขัน แต่ "ผมชื่อคลอดิอุส" แอบแฝงคติสอนใจ คลอดิอุสเกลียดลิเวีย (พระชายาของออกัสตัส) และทิเบอเรียสจับใจ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในฐานะผู้ปกครอง ทั้งสองทำงานได้ในระดับหนึ่ง มีแค่คนใกล้ชิดร้อยสองร้อยเท่านั้นที่เดือดร้อนจากการใส่ร้าย วางยาของทั้งคู่ ขณะที่ชาวโรมนับหมื่น แสนยังอยู่เย็นเป็นสุขได้ ตอนที่คาลิกูล่าครองบัลลังก์ใหม่ๆ ประชาชนแซ้ซ้องสรรเสริญเพราะเด็กหนุ่มเป็นลูกชายที่หลงเหลืออยู่ของเจอมันนิคัส วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ (พี่ชายคลอดิอุส) หารู้ไม่ว่าคาลิกูล่านี่แหละ ตัวแสบสุดๆ ไม่มีทรราชคนใดเทียบเท่า
ประเด็นหนึ่งซึ่งอยากพูดถึงคือวิธีการเล่าเรื่องของเกรฟส์นั้นน่าสนใจ ใช้โวหารแบบ "exposition" (ไม่มีเป็นภาษาไทย พจนานุกรมเปลื้อง ณ นครบอกว่า exposition คือการพรรณนา แต่ใช่ที่ไหนเล่า) exposition เหมือนการเล่านิทาน เล่าโต้งๆ ตรงไปตรงมา ไม่มีการบรรยายฉาก ไม่มีการพรรณนาความรู้สึก ไม่มีอุปมาเปรียบเทียบ (กระทั่งเมื่อผู้เป็นที่รักตายจาก คลอดิอุสเล่าเหตุการณ์ผ่านๆ เหมือนนักประวัติศาสตร์จดบันทึกเหตุการณ์) โวหารลักษณะนี้อ่านง่าย แต่ถ้าอ่านไปเรื่อยๆ น่าจะเอียน ไม่ชวนติดตาม กระนั้น "ผมชื่อคลอดิอุส" หนา 400 กว่าหน้า สนุกสนานตื่นเต้น ชวนให้วางไม่ลงตั้งแต่ปกหน้ายันปกหลัง ต้องยกผลประโยชน์ให้ความน่าสนใจในการผูกเรื่องของเกรฟส์จริงๆ (กระนั้นยังนับว่ามหัศจรรย์อยู่ดี เพราะเนื้อเรื่องเอาเข้าจริงๆ ก็ซ้ำซาก ฆ่ากันไป ใส่ร้ายกันมา)
E. Graff's "Stepping Left"
หมายเหตุ 1: ชื่อเต็มๆ ของหนังสือเล่มนี้คือ Stepping Left: Dance and Politics in New York City, 1928-1942
หมายเหตุ 2: บทความชิ้นนี้ไม่เหมือนชิ้นก่อนๆ เพราะจริงๆ แล้วเป็นร่างรายงานที่ทำส่งอาจารย์
ประเทศอเมริการะหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เป็นช่วงเวลาน่าศึกษา สำหรับใครก็ตามที่สนใจประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะ และการเมือง เหตุการณ์สำคัญสองอย่างซึ่งส่งผลอย่างมากมายต่อแวดวงการละคร ดนตรี ภาพวาดคือ การล่มสลายทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ และการแพร่กระจายของลัทธิสังคมนิยม ทั้งสองสิ่งเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก การล่มสลายทางเศรษฐกิจส่งผลให้คนมากมายตกงาน ชาวไร่ ชาวนาอพยพหนีพายุฝุ่นมาหาเตะฝุ่นในเมืองหลวง (ใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง Seabiscuit หรืออ่านหนังสือ Grape of Wrath คงพอคุ้นเคยกับภาพดังกล่าว) รัฐบาลเริ่มออกมาตรการปิดประเทศ ไม่ยอมให้คนต่างชาติเข้ามาแย่งงาน ที่บอกว่าอเมริกาคือดินแดนแห่งโอกาสเริ่มกลายเป็นคำโฆษณาเลอะๆ เลือนๆ ภาพคนยากจนเข้าแถวสมัครงานตามท้องถนนเมืองนิวยอร์ก ขัดกับภาพมหาเศรษฐี และผู้มีอันจะกิน ก่อเกิดจิตสำนึกเรื่องความแตกต่างของชนชั้น สิ่งนี้เองที่เปิดโอกาสให้แนวคิดสังคมนิยมหยั่งรากลึกเข้าไปในจิตใจชาวมหานคร
ศิลปะซึ่งแต่ก่อนเป็นงานอดิเรกชนชั้นสูง เริ่มมีบทบาทที่แปรเปลี่ยนไป หันมารับใช้ และเข้าถึงกรรมาชีพมากขึ้น ดนตรี การร่ายรำ กิจกรรมเพื่อความบันเทิงของประชาชนชั้นสอง (ประกอบด้วยผู้อพยพ คนดำ ชาวไร่ ชาวนา) ครั้งหนึ่งถูกมองว่าไม่คู่ควรกับคำว่า "ศิลปะ" ค่อยๆ ถูกเชิดชูมากขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงดนตรี และการร่ายรำ เพลงพื้นบ้านซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากชาวไร่ชาวนา และดนตรีแจ๊ส รวมไปถึงการเต้นแท็ปซึ่งเป็นวัฒนธรรมคนผิวดำ เริ่มเป็นที่สนอกสนใจของคนทั่วไป ขณะเดียวกันโมเดิร์นแดนซ์ ซึ่งถือกำเนิดก่อนการแพร่หลายลัทธิสังคมนิยมแค่ไม่กี่ปี กลับถูกมองว่าเป็นวัฒนธรรม "ขุนน้ำขุนนาง" และไม่ได้รับการยอมรับจากนักวิจารณ์หัวเอียงซ้าย (ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าขัน เพราะแท้ที่จริง กำเนิดโมเดิร์นดานซ์ ก็มาจากความพยายามแตกตัวเองจากบัลเล่ต์ ซึ่งเป็นการเต้นแบบคลาสสิก โบราณ ถ้าพูดกันโดยสปิริตแล้ว โมเดิร์นน่าจะเป็นเป็นตัวแทนลัทธิสังคมนิยมได้ดีกว่าด้วยซ้ำ) สาเหตุที่โมเดิร์นแดนซ์เหมือนจะไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เพราะเป็นโชว์ที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ ต้องอาศัยการตีความ ขณะที่การเต้นแบบอื่นๆ มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อความสนุกสนานของผู้ดู และผู้เต้น ถ้าจะมี "ประเด็น" ส่งไปหาผู้ชม ก็ทำกันง่ายๆ ชนิดตีหัว บอกกันโต้งๆ เข้าถึงผู้ชมได้หลากหลายกว่า
ที่จริงนี่ก็เป็นคำถามคลาสสิก สำหรับศิลปินทุกสมัย ทุกประเภท คืองานศิลปะควรจะมี "ประเด็น" หรือไม่ ถ้าจะมีจริง จำต้องเสียสละความงดงามของชิ้นงานสักแค่ไหน คำถามนี้ดูจะเกิดข้อขัดแย้งรุนแรงในแวดวงการเต้นรำมากกว่าศิลปะประเภทอื่นๆ อย่างแรกเพราะการเต้นคือศิลปะที่ปราศจากภาษา ต่อให้อยากมี "ประเด็น" ก็ไม่ใช่จะส่งถึงผู้ชมได้ง่ายๆ ไม่เหมือนกับภาพยนตร์ หนังสือ หรือกระทั่งภาพวาด (เราถึงมีคำว่า interpretive dance แต่ไม่เห็นมี interpretive movie, interpretive book, หรือว่า interpretive painting ก็เพราะมันไม่จำเป็นนั่นเอง) เกิดเป็นสองโรงเรียนถกเถียงกันไม่รู้จบ ว่านักเต้นรำควรมีจิตสำนึกเรื่องสังคม และสื่อมันออกมาในงานแค่ไหน ด้วยวิธีใด มาธา เกรแฮม เจ้าแม่โมเดิร์นแดนซ์ บอกเลยว่าในสตูดิโอของเธอมีแต่เทคนิคการเต้น การเคลื่อนไหว ขยับแข้งขยับขา ไม่ใช่สถานที่ถกการเมือง เกรแฮมเกิดในครอบครัวผู้มีอันจะกิน เธอไม่อาจเข้าใจความยากลำบากของความหิวโหยได้อย่างถ่องแท้ ที่สำคัญ โมแดนซ์ของเธอคือกิจกรรมที่เชิดชูปัจเจคชน ซึ่งตรงนี้ขัดกับความเชื่อทางชนชั้นของสังคมนิยม กระนั้นเกรแฮมเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะเธอเก่งกาจเสียจน ต่อให้นักวิจารณ์หัวเอียงซ้ายแค่ไหนยังไม่กล้าโจมตีเธอตรงๆ นักวิจารณ์ในยุคนั้นถ้าไม่ตำหนิเธออย่างอ้อมๆ ก็พยายามขุดหาประเด็นสังคม จากการเต้นนามธรรมของเธอ
ความขัดแย้งตรงนี้เริ่มผ่อนปรนลง เมื่อรัสเซียออกนโยบายสัจนิยมสาธารณ์ (socialist realism ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทวิจารณ์ The Captive Mind) สนับสนุนให้ศิลปินใช้เทคนิคสัจนิยมแบบ "ขุนน้ำขุนนาง" เพื่อสื่อสาร และโฆษณาปรัชญาสังคมนิยม การเต้นแบบ "ขุนน้ำขุนนาง" ในที่นี้ก็คือโมเดิร์นแดนซ์นั่นเอง แม้แต่ตัวเกรแฮมเองก็เริ่มเปลี่ยนไป การเต้นของเธอมีแก่นสาร สื่อประเด็นมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงในที่นี้ไม่น่าจะเกิดจากเธอเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ความคิดของตัวเอง แต่คงเป็นการปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจ และสมัยนิยมมากกว่า
ความขัดแย้งเหล่านี้ค่อยๆ บรรเทาลงตั้งแต่ยุคเริ่ม และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สาเหตุมาจากหลายประการ ตั้งแต่สภาพเศรษฐกิจดีขึ้นเพราะสงคราม ความโหดร้ายของสตาลินทำให้ชาวอเมริกาเริ่มผิดหวังกับลิทธิสังคมนิยม นโยบายแมคคาธีซึ่งไล่ล่าหาผู้สนับสนุน และสปายรัสเซีย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากภาพยนตร์ good night and good luck) ศิลปินเริ่มหันมาสนใจงาน nonrepresentative art งานศิลปะนามธรรมซึ่งไม่สื่อสารปรัชญาใดๆ อย่างชัดเจน (ยุคนี้เองที่ชาวอเมริกันโอบกอดจิตกรโมเดิร์นชั้นนำอย่าง Jackson Polluck) กระทั่ง choreographer หัวเอียงซ้ายหลายคนซึ่งเคยมีผลงานเต้นแสดงความยากลำบากของชนชั้นกรรมาชีพ หันมาให้ความสนใจกับความทุกข์อันเกิดจากสภาพจิตใจแทน
tag 5: ผมเป็นนักลีลาศมือสมัครเล่นครับ เต้นมาจะสิบปีแล้ว นอกจากลีลาศ แล้วก็เต้นแท็ปอยู่เหมือนกัน
J. Lahiri's "Interpreter of Maladies"
คำถามซึ่งแวบขึ้นมาบ่อยๆ ตามหน้าเวบบอร์ดวรรณกรรมคือ ถ้าเราแปลหนังสือภาษาไทยให้เป็นภาษาอังกฤษ แล้วส่งไปขายต่างประเทศ จะมีทางบ้างไหมที่นักเขียนไทยได้รับรางวัลโนเบล ตอบอย่างซื่อสัตย์เลยว่า "ย้ากส์!" แต่ถ้าเป็นรางวัลเล็กลงมาหน่อยก็ไม่แน่เหมือนกัน โดยเฉพาะถ้าหนังสืออย่าง "ผู้แปลความเจ็บปวด" ของจุมปา ลาหิรียังชนะพูลิซเซอร์สาขาวรรณกรรมได้ (ไม่นับนะ ว่าพูลิซเซอร์จะแจกเฉพาะนักเขียนอเมริกันเท่านั้นหรือเปล่า)
อ่าน "ผู้แปลความเจ็บปวด" จนจบ รู้สึกขึ้นมาเลยว่าของแบบนี้พี่กนกพงศ์ คุณวาณิช หรือกระทั่งพี่ประชาคมก็เขียนได้ นี่ไม่ต้องนับราชาเรื่องสั้นไทยอย่างอาจารย์มนัส จรรยงค์ด้วยซ้ำ ถือเป็นหนังสือตะวันตกไม่กี่เล่มที่เราอ่านแล้วรู้สึกพอฟัดพอเหวี่ยงกับวรรณกรรมไทย (อีกเล่มที่จำได้คือ "หนังสือทราย" ของฆอเฆส)
สองประเด็นหลักในแทบทุกเรื่องสั้นของลาหิรี คือความแปลกแยกของคนอินเดียในโลกตะวันตก และความขัดแย้งในครอบครัว สำหรับประเด็นแรก ถ้าดูจากประวัติผู้เขียนก็พอเข้าใจได้ ลาหิรีเกิดในลอนดอน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่นิวยอร์ก คนอย่างเธอ ศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกว่า "second generation" หมายถึงชาวต่างชาติซึ่งเกิดและเติบโตในดินแดนตะวันตก คนพวกนี้จะใช้ชีวิตก้ำกึ่งอยู่ตลอดเวลา ในทางหนึ่ง "second generation" จำต้องผสานตัวเองเข้ากับโลกภายนอก แต่ขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมในบ้าน พ่อแม่ซึ่งพูดภาษาอังกฤษสำเนียงหนาหู จดหมายจากญาติโพ้นทะเล ย้ำเตือนที่มาที่ไปของพวกเขาตลอดเวลา (ประเด็นนี้สื่อออกมาได้ดีในเรื่องสั้น "คุณปริศดามาทานข้าวเย็น")
เพราะความภารตะเชิ้บๆ นี้กระมัง ทำให้ "ผู้แปลความเจ็บปวด" ดูเชยๆ แบบพี่ไทยยังไงพิกล เหมือนเรื่องสั้นที่ยังตีกำแพงวัฒนธรรมไม่แตก ตัวละครก็เลยติดอยู่ที่ความเป็นอินเดีย ไม่ได้กลายเป็นมนุษย์จริงๆ เช่นเดียวประเด็นที่สอง ความขัดแย้งในครอบครัว ความแตกแยกเข้ากันไม่ได้ระหว่างคู่สามี ภรรยา และความเจ็บปวดซึ่งซ่อนลึกอยู่ใต้หลังคาเรือน ดังเช่นเรื่องสั้น "ผู้แปลความเจ็บปวด" คู่สามี ภรรยาดาส์ และลูกๆ เดินทางไปเยี่ยมวิหารดวงอาทิตย์ในป่าลึกประเทศอินเดีย (รูปข้างล่าง) ดีสมกับเป็นเรื่องขายประจำเล่ม
จริงๆ รวมเรื่องสั้นชุดนี้ก็ไม่ถือว่าขี้ริ้ว ขี้เหร่อะไรนัก เพียงแค่อ่านไปลุ้นไปตลอดทั้งเล่มเท่านั้นเอง (ไม่ใช่ว่าลุ้นตื่นเต้น แต่ลุ้นให้มันดี) บางอารมณ์ พอจะเห็นความเป็นเรย์มอน คาร์เวอร์ แต่ปัญหาคือ หลายครั้งลาหิรี "ตัดสิน" ถูกผิด ตัวละครมากเกินไป เลยกลายเป็นว่าแทนที่จะได้ชีวิตจริง กลับลงเอยที่นิทานสอนใจ (morality play) แทน
เรื่องที่ดีที่สุดในเล่มคือ "บ้านรับพร" เป็นเรื่องสั้นน่ารักๆ เกี่ยวกับคู่สามี ภรรยาซึ่งย้ายมาอยู่บ้านหลังใหม่ แล้วพบวัตถุบูชาคริสเตียนซ๋อนไว้ตามมุมต่างๆ ได้เห็นอีกด้านขำขันของลาหิรี ซึ่งน่าประทับใจกว่าด้านเจ็บปวดของเธอเป็นไหนๆ
tag 4 ผมมีเชื้อสายอินเดียครับ โดยคุณทวดผมเป็นคนอินเดียที่ย้ายมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่พู้นกระโน้น
A. Camus's "The Myth of Sisyphus"
ขณะที่หลายคนรับรู้วีรกรรมของโพรเมเทียส ผู้ขโมยไฟจากดวงอาทิตย์มามอบให้แก่มนุษย์ ซิซซิฟัสคือวีรบุรุษกรีกที่มีชื่อเสียงโด่งดังเพราะบทลงโทษ มากกว่าสิ่งที่เขากระทำ บางตำนานบอกว่าซิซซิฟัสต่อสู้กับความตาย และล่ามเธอไว้ด้วยโซ่ ก่อนถูกสยบใต้คมดาบเทพสงครามมาร์ส บางตำนานบอกว่าซิซซิฟัสขอเวลามัจจุราช ขึ้นไปท่องเที่ยวพื้นพิภพอาทิตย์หนึ่ง แต่กลับคำสัญญาหลบหนีการตามล่าของทวยเทพ แต่ไม่ว่าจะทำอะไรมาก็ตาม บทลงโทษของเขาเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ซิซซิฟัสถูกสั่งให้แบกหินขึ้นยอดผา ทันทีที่ไปถึงยอด ก้อนหินกลิ้งกลับลงพื้นราบ เขาต้องไต่ขึ้น ไต่ลง แบกก้อนหินเช่นนี้อยู่ชั่วนิรันดร
เรื่องราวของซิซซิฟัสดลใจอัลแบร์ กามูส์ นักเขียนรางวัลโนเบล ผู้สนใจช่วงเวลาที่วีรบุรุษกรีกมองหินกลิ้งลงเขา ความพยายาม ยากลำบากทั้งหลายสูญสิ้น เวลานั้นซิซซิฟัสจะรู้สึกอะไรอื่นได้ นอกจากความไร้สาระของชีวิต (หลังความตาย) ความไร้สาระนี้เองที่เป็นแก่นบทความขนาดยาว "ตำนานแห่งซิซซิฟัส" ว่าด้วยการฆ่าตัวตาย และความไร้สาระของชีวิต
กามูส์บอกว่าสาเหตุที่คนเราฆ่าตัวตายไม่ใช่เพราะความยากลำบากของชีวิต แต่เกิดจากมนุษย์ตระหนักได้ในความเหลวไหล ไร้แก่นสารต่างหาก อะไรคือความไร้สาระที่ว่า นั่นคือช่องว่างระหว่างโลกภายนอก และความคาดหวังภายในถึงสิ่งที่เราคิดว่าโลกนี้ควรจะเป็น เพราะมนุษย์รับมือกับความเหลวไหลไม่ได้ ถึงต้องจบชีวิตตัวเอง สิ่งที่กามูส์ว่าไม่ผิดเพี้ยนจากประสบการณ์ตรงของเราเท่าไหร่นัก จำได้ว่าชีวิตผ่านความข่มขื่นมาเยอะ แต่ถ้าถามว่าช่วงไหนซึ่งเราคิดถึงการฆ่าตัวตายบ่อยสุด นั่นไม่ใช่เกิดจากความยากลำบาก แต่เกิดจากความรู้สึกว่าโลกนี้ช่างไร้แก่นสาร ให้พูดเป็นภาษาพุทธก็จะอธิบายว่ารู้สึกเหมือน "กฏแห่งกรรมไม่มีจริง"
กามูส์ไม่ได้อธิบายอย่างละเอียดสาเหตุของความเหลวไหลนี้ เขาโมมาว่า "คนฉลาด" ทุกคนต้องเคยรู้สึกเช่นนี้มาก่อน (กามูส์ใช้คำว่า "intelligent people" ซึ่งจริงๆ ก็คงไม่ต้องอัจฉริยะอะไรนักหรอก แต่ถ้าลึกซึ้งนิดหนึ่ง ก็น่าจะเคยรู้สึกเช่นนี้ได้) ซึ่งถ้าคิดว่าบทความชิ้นนี้เขียนช่วงปี 1940 สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งเริ่มต้น ก็ไม่น่าแปลกใจที่กามูส์จะสรุปเช่นนี้ ถ้าความไร้สาระจะมีที่มาที่ไป ก็คงเพราะชีวิตมนุษย์แสนสั้น ไม่ว่าเราจะตะเกียกตะกายแค่ไหน สุดท้ายทุกอย่างคือความว่างเปล่า เฉกเช่นเดียวกับการกลิ้งหินของซิซซิฟัส อันนี้ใส่เป็นภาษาพุทธไม่ยากว่า "อนัตตา"
กามูส์อธิบายว่าศาสนาคริสต์เกิดมาจากการพยายามรับมือกับความเหลวไหลนี้ เมื่อมนุษย์ไม่อาจค้นหาความหมายแห่งชีวิตได้ ก็ไปโบ้ยความหมายนั้นให้เป็นเรื่องของพระเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้ามนุษย์ทนความไร้สาระของชีวิตได้ หลังความตายจะมีสวรรค์นิรันดรคอยอยู่ สังเกตว่าศาสนาคริสต์ชอบให้สัญญาเรื่อง "ความเป็นอมตะ" ซึ่งตรงข้ามกับ "อนัตตา" อันเป็นที่มาของความไร้แก่นสาร
ประเด็นนี้น่าสนใจเพราะถ้าดึงไปเทียบกับศาสนาพุทธ จะได้ว่าคำสอนพุทธมีสองแนวทางคือ "อนัตตา" และ "กฏแห่งกรรม" "อนัตตา" พูดถึงความเสื่อมสลาย ไม่จีรัง แต่ "กฏแห่งกรรม" เหมือนๆ จะบอกว่ามี "ความเป็นอมตะ" ซ่อนอยู่ตรงไหนสักแห่ง
แต่ถ้าคุณคิดว่า "ตำนานแห่งซิซซิฟัส" คือหนังสือปรัชญาจิตตกชักชวนให้ผู้อ่านมาเฮโลจบชีวิต ก็ผิดเสียแล้ว กามูส์สรุปอย่างดื้อๆ แต่แสนจะน่ารักว่า ถ้าคนเราไม่อาจมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ได้ ("อย่างสมบูรณ์" ในที่นี้คือ "อย่างมีเหตุมีผล" หรือไม่ "ไร้แก่นสาร" นั่นเอง) คนเราก็ควรมีชีวิตให้มากที่สุด เอาปริมาณมาทดแทนคุณภาพ กามูส์ชื่นชมมนุษย์ไร้สาระอย่างดอนฮวน ผู้ไม่เชื่อถือรักจีรัง เลยไขว่คว้าหญิงสาวคนแล้วคนเล่า หรือศิลปินที่หยิบจับชิ้นส่วนชีวิตมาตกแต่งลงผืนผ้าใบ หน้ากระดาษ เพื่อแสดงให้เห็นความไร้สาระของชีวิต กามูส์เชื่อว่าศิลปะที่ดีต้องนำไปสู่การคิด (thought) ไม่ใช่ความคิด (idea) และการสร้างงานศิลปะคือการไขว่คว้าไม่มีที่สิ้นสุด
กามูส์สรุปบทความด้วยภาพวีรบุรุษกรีกทูนก้อนหินขึ้นบ่า ไม่ว่าชีวิตหลังความตายจะไร้สาระเพียงใดก็ตาม นักเขียนเชื่อว่าซิซซิฟัสยังยิ้มออก
tag 3 คุณอำพรรณ โอตระกูลผู้แปลหนังสือเรื่อง "คนนอก" ของกามูส์ รู้จักกับครอบครัวผมครับ น้องชายคุณอำพรรณเป็นสถาปนิกให้กับบ้านผมเอง ผลงานแปลที่โด่งดังที่สุดของคุณอำพรรณคือเรื่อง "เจ้าชายน้อย" ปัจจุบันคุณอำพรรณถึงแก่กรรมไปแล้ว ขอแสดงความเสียใจ และความชื่นชมกับนักแปลผู้มีคุณานุกูลที่สุดคนหนึ่งของแวดวงวรรณกรรมไทย
I. Calvino's "Cosmicomics"
เคยอ่านหนังสือดีๆ มาเยอะ แต่จะมีสักกี่เล่มที่อ่านจบแล้วอยากอุทานว่า "มันคิดได้ยังไงวะ" "การ์ตูนจักรวาล" ของคาลวิโนคือหนังสือประเภทนั้น เป็นรวมเรื่องสั้นที่เหมือนเอาตำราฟิสิกส์ ปรัชญา บทกวี และเรื่องขำขันมายัดลงเครื่องปั่น เปิดสวิตซ์ไฟ ออกมาเป็นส่วนผสมซึ่งลงตัวอย่างน่าประหลาด
คิดอยู่นานว่าจะเรียกหนังสือเล่มนี้ว่าเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ดีหรือเปล่า ในหลายแง่ "การ์ตูนจักรวาล" ไม่เหมือนเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ทั่วไป ถามว่าต่างอย่างไร นิยายวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ อ่านแล้วรู้สึกเหมือนคนเขียนต่อสู้กับกฏฟิสิกส์ เอาเทคโนโลยีเหลือเชื่อมาสร้างสรรค์เหตุการณ์เ็ป็นไปไม่ได้ ขณะที่ใน "การ์ตูนจักรวาล" คาลวิโนหยอกล้อเล่นหัวกับสมการฟิสิกส์ เปิดปิดกฏข้อนู้นข้อนี้ และแปลงวิทยาศาสตร์ให้กลายเป็นบทกวีได้อย่างงดงาม
ดูอย่างเรื่องแรกปะไร "ระยะทางไปดวงจันทร์" เล่าถึงอดีตกาลครั้งสมัยดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากกว่านี้ เกิดบริเวณที่แรงดึงดูดหักล้างกัน มัจฉา เต่า ปูว่ายแหวกท้องนภา ชนเผ่าหนึ่งพายเรือขึ้นฟ้า กระโดดกลับหัวเกาะดวงจันทร์ เพื่อไปคั้น "นมเพ็ญ" ซึ่งเกิดจากการหมักหมมของสัตว์ทะเลที่ไปติดบนพื้นผิวดาวเคราะห์
ตัวเอกแทบทุกเรื่องใน "การ์ตูนจักรวาล" ชื่อ "คฟวฟค" ซึ่งบางครั้งก็เป็นมนุษย์ประหลาด บางครั้งก็เป็นอะตอม ไดโนเสาร์ สิ่งมีชีวิตไร้รูปร่าง หอยสังข์ หรือกระทั่งพระเจ้าก็ยังมี อย่างตอนหนึ่ง คฟวฟคเอาอะตอมมาดีดแทนลูกหิน ก่อนจะขี่ดาราจักรเล่นไล่จับกับศัตรูคู่แค้น "พฟวฟพ" อีกเรื่องคฟวฟคและ "ครูใหญ่" จับเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่กำเนิดจักรวาล การเกิดของไฮโดรเจน จนถึงนาง ก บ้านเลขที่นี้ วันนั้น จะก้าวออกจากบ้านด้วยเท้าซ้าย หรือเท้าขวา คาลวิโนคงได้ไอเดียมาจาก "พระเจ้าเล่นลูกเต๋า" ของไอนสไตน์ (นี่คือประโยคเด็ดซึ่งนักวิทยาศาสตร์ผู้โด่งดังใช้เหน็บแนมฟิสิกส์ควอนตัม)
เราเคยกล่าวถึงความเกี่ยวข้องระหว่างปรัชญาตัวตน (existentialism) และฟิสิกส์ควอนตัมมาแล้ว แต่เพิ่งเคยอ่านนิยายที่ผู้เขียนเข้าใจวิทยาศาสตร์อย่างลึกซึ้งขนาดนี้เป็นครั้งแรก ตัวอย่าง เรื่องสั้น "สัญลักษณ์" เล่าถึงการที่คฟวฟค ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตทรงอำนาจ ไร้ตัวตน สร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาบนความเวิ้งว้าง ต่อมาสัญลักษณ์นั้นกลายเป็นความหมายแห่งชีวิตเขา ตรงนี้เหมือนหลักพื้นฐานวิทยาศาสตร์ที่ว่า การวัด หรือการประเมินค่าต้องอาศัยตัวเปรียบเทียบ จะตีความด้วยปรัชญาเดสการ์ดก็ได้ว่า "ฉันคิด ฉันจึงเป็น" สัญลักษณ์ของคฟวฟคช่วยให้เขาระลึกตัวตนขึ้นมา กลายเป็นว่าเขาถูกสร้างโดยสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาเองกับมือ
ความสวยงามของ "การ์ตูนอวกาศ" คือการที่ผู้เขียนเอาแก่นง่ายๆ ใส่ลงเนื้อเรื่องซับซ้อน อย่าง "ไดโนเสาร์" เล่าถึงคฟวฟคไดโนเสาร์ตัวสุดท้าย มีชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งมีชีวิตยุคใหม่ โดยผิวเผินเหมือนจะเป็นเรื่องสั้นหลุดโลก แต่ถ้าอ่านดีๆ จะพบว่านี่คือโศกนาฏกรรมของคนนอก ที่ไม่ว่าใครในสังคมก็สามารถทำความเข้าใจได้ "ปีแสง" เล่าถึงคฟวฟค คนหลงตัวเอง ที่คอยสนใจอยู่ตลอดเวลาว่าผู้อยู่อาศัยบนดาวซึ่งห่างไกลห้าร้อยล้านปีแสงจะคิดอย่างไรกับสิ่งที่ตัวเองทำในอดีตเมื่อห้าร้อยล้านปีก่อน เป็นเรื่องเสียดสีที่ชวนให้นึกถึงวัฒนธรรมไซเบอร์ยิ่งนัก
บางเรื่องนอกจากลึกซึ้ง แล้วยังชวนหัวชวนฮา "ปู่อยู่ในน้ำ" คฟวฟค สัตว์เลื้อยคลานมีบรรพบุรุษเป็นปลาหัวแข็ง เรื่องสนุกเกิดขึ้นเมื่อคฟวฟค เอาคู่หมั้นที่เป็นสัตว์บกมาเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ใน "ที่ไหนก็อยู่ที่นี้" คฟวฟคเล่าเหตุการณ์สมัยเอกภพยังเป็นแค่จุดหนึ่งเดียว ก่อนจักรวาลแตกตัวด้วยการระเบิดครั้งใหญ่ ทุกสิ่งทุกอย่างเบียดเสียดแน่นเอี๊ยดอยู่ในรูแคบๆ คาลวิโนบรรยายสภาพเอกภพยังกะหอพักกระยาจก แคบจนไม่ว่าเดินเหินไปไหน ก็อดเหยียบเท้ากันไม่ได้ แถมยังเต็มไปด้วยเรื่องน้ำเน่าระหว่างเพื่อนบ้าน
ปิดท้ายด้วย tag 2 อาชีพที่แท้จริงของผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ครับ และในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ขอโฆษณาเลยว่า "การ์ตูนจักรวาล" คือรวมเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยอ่านครับ
A. Carter's "Wise Children"
ก่อนอื่น ผมถูก tag ครับ คนที่ tag ผมคือเจ้าของบลอค live from calarts ติดตามดูบลอคของเขาได้ที่
http://livefromcalarts.blogspot.com
ดูร่องรอยของ blog tag ได้ที่
http://www.keng.ws/files/blog-tag_trace.html
--------------------------------------------------------------------------
การ tag คือการต้องบอกบางอย่างเกี่ยวกับตัวเองมา 5 ข้อ ตอนแรกคิดว่าจะอุทิศโพสหนึ่งไว้สำหรับการนี้ แต่ไปๆ มาๆ รู้สึกไม่ค่อยอยากมานั่งพล่ามเรื่องตัวเองเท่าไหร่ ที่ทำบลอค "รักชวนหัว" เพราะอยากรวบรวมบทความเกี่ยวกับหนังสือที่ได้อ่าน ติดตามความคิดของตัวเอง มากกว่ามานั่งจิ๊จ๊ะ (ถึงแม้บทวิจารณ์หนังสือเราจะกึ่งๆ เป็นการจิ๊จ๊ะก็ตาม) สุดท้ายก็เลยตัดสินใจตั้งแต่บัดนี้ บทวิจารณ์หนังสือห้าเล่มของเรา จะมีแทรกเรื่องส่วนตัวไว้ด้วย
และช่างเหมาะเจาะอะไรเช่นนี้ ที่หนังสือซึ่งกำลังอ่านคือ "เด็กฉลาด" ของนางฟ้าฝันเปียก แองเจล่า คาร์เตอร์ ที่เราเรียกเธอว่านางฟ้าฝันเปียก เพราะคาร์เตอร์คือสุดๆ ของที่สุดแล้วในการเขียนเรื่องกึ่งอีโรติก (ไม่ใช่อีโรติกเต็มที่อย่างแอน ไรซ์ที่เอากันตั้งแต่ปกหน้า ยันปกหลัง) "จักรกลปรารถนานรกของศาสตราจารย์ฮอฟแมน" คือหนังสือกึ่งอีโรติก กึ่งดรามา กึ่งผจญภัยที่เราชื่นชอบที่สุด
อ่านนิยายของคาร์เตอร์มาสี่เล่ม ไม่มีเรื่องไหนซ้ำแนวกันเลย "จักรกลปรารถนาฯ" เป็นนิยายผจญภัย "วีรบุรุษ และตัวร้าย" เป็นนิยายวิทยาศาสตร์ "ราตรีละครสัตว์" เป็นนิทาน ส่วน "เด็กฉลาด" ถ้าจะให้จัดประเภทจริงๆ น่าจะเรียกว่าแนวครอบครัวพิสดาร (dysfunctional family) ตระกูลฮาซาร์ดเป็นที่เคารพยกย่องของคนทั่วไป ตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ซึ่งเป็นนักแสดงละครผู้โด่งดัง มาถึงสองพี่น้องฝาแฝด เมลคอร์ และเพเรกิน เมลคอร์สืบทอดตำนานครอบครัว ส่วนเพเรกินเป็นเศรษฐีน้ำมัน ก่อนอุทิศชีวิตศึกษาผีเสื้อในป่าลึกอเมซอน มาถึงรุ่นลูก แซซเกีย และอีโมเจน (ฝาแฝดอีกเช่นกัน) เป็นเจ้าแม่รายการทีวี และที่ขาดไม่ได้ ตัวเอกนิยายของเรา คู่แฝด ดอรา และนอรา สองสาวนักเต้นกินรำกิน
สิ่งที่คนนอกไม่รู้คือ ดอรา และนอรา แท้จริงเป็นลูกสาวนอกสมรสของเมลคอร์ซึ่งเพเรกินรับเลี้ยง ส่วนแซซเกีย และอีโมเจนคือลูกสาวของเพเรกิน ที่แอบไปมีชู้กับภรรยาของเมลคอร์ นี่แค่ความลับเล็กๆ น้อยๆ ยอดภูเขาน้ำแข็งในตู้กระดูกแห่งฮาซาร์ต ครอบครัวซึ่งไม่มีทางรู้ว่าใครเป็นพ่อ เป็นแม่ หรือเป็นลูกใครกันแน่ ชื่อนิยาย "เด็กฉลาด" นั้นมาจากคำพูดของเพเรกินที่ว่า "It's a wise child that knows its own father...but wiser yet the father who knows his own child." ประโยคแรกนั้นเอามาจาก Odyssey ส่วนประโยคหลัง คือคำถากถางเมลคอร์ที่ไม่ยอมรับรู้ว่าใครคือลูกสาวที่แท้จริงของตน
ชีวประวัติตระกูลฮาซาร์ตตั้งแต่รุ่นปู่ จนถึงรุ่นหลาน ถูกเล่าผ่านสายตาดอรา หนึ่งในฝาแฝดนักเต้น สลับกับเรื่องส่วนตัวของพวกเธอ ตลอดทั้งเล่มเต็มไปด้วยเกร็ดชีวิตซึ่งอ่านเพลินไม่รู้เบื่อ ฉากพะยี่ห้อคาร์เตอร์เห็นๆ คือเซกหมู่ท่ามกลางคฤหาสน์ซึ่งกำลังลุกเป็นเพลิง อีกอย่างที่ชอบมากๆ คือการสะท้อนกลับไปกลับมาระหว่างชีวิตผู้คนในตระกูลฮาร์ซาร์ต และตัวละครของเชคสเปียร์ ใครที่เป็นแฟนละครจริงๆ จะเห็นส่วนนั้นส่วนนี้จากโอเทลโล คิงก์เลีย ริชาร์ดที่สาม ฝันกลางฤดูร้อน และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย
แต่เช่นเดียวกับนิยายคาร์เตอร์ส่วนใหญ่คือ "the parts're always better than their sum." หมายถึงแม้ส่วนนั้นส่วนนี้จะดี แต่พอเอามารวมกันแล้วกลับไม่น่าประทับใจเท่าเวลาคิดถึงแต่ละส่วนแยกๆ กัน (คงมีแต่ "จักรกลปรารถนาฯ" กระมังที่คาร์เตอร์สามารถผูกทุกอย่างเข้าด้วยกันได้อย่างสวยงาม) บทสุดท้ายของ "เด็กฉลาด" ประหลาดดีแท้ เหมือนเรื่องอาลัยอาวรณ์ของคนแก่ กระโดดข้ามเวลาไปสี่สิบปี เล่าเหตุการณ์งานเลี้ยงวันเกิดอายุครบร้อยปีของเมลคอร์ ซึ่งตอนนี้กลายเป็นนักแสดงในตำนาน เป็นบทสรุปที่เมโลดรามาพิลึก เมื่อตัวละครเอาความลับมาแฉใส่กันต่อหน้านักข่าว สุดท้ายทุกคนกอดคอกันร้องไห้ พออ่านจบทีแรกอดเบ้ปากไม่ได้ ก่อนตระหนักว่านี่คือนิยายเรื่องสุดท้ายของคาร์เตอร์ (เขียนหนึ่งปีก่อนเธอเสียชีวิต) พอเข้าใจได้ว่าบางทีสำหรับคนที่รู้ตัวว่าเวลาเหลืออีกไม่มาก การอภัยให้กันอาจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
จุดเด่นสุดของ "เด็กฉลาด" คือเนื้อเรื่องที่ประกอบด้วยฝาแฝดสี่คู่ เสียดายที่คาร์เตอร์ไม่ได้เอาจุดนี้มาใช้ประโยชน์เท่าที่ควร แฝดหลายคู่ในเรื่อง เหมือนจะใส่มาว่าเป็นแฝดโดยไม่จำเป็น หรือถ้าเปลี่ยนเป็นพี่น้องธรรมดา ก็ดูจะไม่เสียความตรงไหน แฝดคู่ที่โด่งดังที่สุดในละครเชคสเปียร์คือวิโอล่า และเซบาสเตียน ซึ่งแม้ละครเรื่องนี้จะถูกกล่าวถึง แต่ก็ไม่เห็นจะเอาพลอตส่วนไหนมาเล่นกับเนื้อเรื่องตรงๆ
สาเหตุที่บอกว่า "เด็กฉลาด" เหมาะจะเอามาผูกกับชีวิตเรา ไม่ใช่ว่าเพราะมีฝาฝงฝาแฝดอะไรกับเขาหรอก แต่คนรักคนแรกของเราก็เป็นฝาแฝดเหมือนกัน เพราะเหตุนี้กระมัง เลยรู้สึกว่าประเด็นนี้น่าหยิบจับอะไรมาเล่นได้เยอะ (คิดง่ายๆ แล้วกันว่าถ้า Paul Auster เขียนนิยายที่มีฝาแฝดสี่คู่ มันจะ existentialist ขนาดไหน) แต่ในทางกลับกัน การเขียนนิยายปรัชญาตัวตนก็ไม่ใช่สไตล์ของคาร์เตอร์อยู่แล้ว
ว่าด้วยช้าง และลา
ช่วงนี้งานค่อนข้างยุ่ง กว่าจะอ่านหนังสือที่กำลังอ่านอยู่จบ ("Wise Children" โดยนางฟ้าฝันเปียกของเรา แองจี้ คาร์เตอร์) คงใช้เวลาอีกสักพัก ในทางหนึ่งก็อยากโพส tag ให้มันจบๆ ไปให้รู้แล้วรู้รอด แต่ว่าเรื่องที่เราอยากคุยใน tag มันดันสัมพันธ์กับประเด็นหนังสือ "Wise Children" นี่สิ ก็เลยรอๆ ไปก่อน
ลังเลอยู่นานว่าจะโพสดีหรือเปล่า เพราะมันก็ไม่เกี่ยวอะไรกับหนังสือ (อีกแล้ว) แต่รู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ อยากถ่ายทอดให้คนอื่นฟัง ก็ทนๆ กันหน่อยแล้วกันนะครับ (สงสัยเป็นลางตั้งแต่สิ้นปีว่า 2007 นี้ ท่า laughable-loves จะไม่ได้มีแต่วิจารณ์หนังสือเสียแล้วกระมัง)
วันก่อนคุยกับเพื่อนที่ทำงานตลาดหุ้น ถามเธอถึงเรื่องธันวาทมิฬนั่นแหละ เธอคิดเช่นไรกับนโยบายรัฐบาล คำตอบหนึ่งซึ่งโดนใจเราเป็นพิเศษคือ "ฉันคิดว่ารัฐบาลทำถูกแล้ว ตอนนี้บ้านเมืองไทยก็เหมือนต้นไม้ที่สูงไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีราก การจะสร้างรากแก้วอันมั่นคง รัฐบาลจำต้องใช้นโยบาล conservative แบบนี้แหละ ปัญหาคือมันอาจเป็นยาดำที่สุดโต่งเกินไปสำหรับสังคม (และตลาดหุ้น) ไทย ก็เลยส่งผลกระทบดังที่เห็น"
เราสนใจคำว่า conservative ของแม่คุณมาก คำนี้ถ้าใครเป็นขาการเมืองอเมริกา จะรู้ว่าหมายถึงนโยบายคร่าวๆ ของพรรค republican (สัญลักษณ์รูปช้าง) ซึ่งตรงข้ามกับ liberal ของ democrat (สัญลักษณ์รูปลา) พูดง่ายๆ คือนโยบายแบบ conservative จะออกแนวหัวโบราณ สร้างรากฐาน เชิดชูศีลธรรม ขณะที่นโยบาย liberal จะเน้นความก้าวหน้าพัฒนา
ที่เราสนใจคือแต่ไหนแต่ไร เราไม่เคยคิดถึงการเมืองไทยในกรอบ conservative vs liberal แบบนี้เท่าไหร่ ประการแรกเพราะประเทศใคร ประเทศมันสิ เรื่องอะไรจะเอากรอบแนวคิดของฝรั่ง มาใส่การเมืองประเทศฉันดื้อๆ เดี๋ยวเขาก็หาว่าเราไม่ใช่ศิษย์อาจารย์นิธิ (ซึ่งก็ไม่ใช่ศิษย์จริงๆ เพียงแต่ตามอ่าน website มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จนมันโดนรัฐบาลคมช. ปิดไปนี่แหละ)
อีกประการเพราะ โดยทฤษฎีแล้ว แนวคิดแบบช้าง ปะทะลาเป็นเรื่องไร้สาระ เนื่องจากในความเป็นจริง การจะได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากที่สุด นักการเมืองต้องเดินทางสายกลาง อธิบายง่ายๆ สมมติคุณเปิดโชว์ห่วยแข่งกับเพื่อนในซอย ถ้าทั้งเพื่อน และคุณเล่นนโยบายสุดโต่งเปิดร้านคนละสุดซอยสองข้าง คุณสองคนจะแบ่งลูกค้าคนละครึ่งพอดี ในทางกลับกัน ถ้าคุณย้ายร้านมาเปิดกลางซอย คุณจะแย่งลูกค้านส่วนหนึ่งไปจากเพื่อน ด้วยเหตุนี้ท้ายที่สุดแล้ว ร้านโชว์ห่วยจึงมักอัดๆ กันอยู่กลางซอย นักการเมืองก็เหมือนกัน ไม่มีใครอยากออกมาบอกหรอกว่าฉันเป็นช้าง หรือลา เอาเข้าจริงๆ ก็เล่นทางสายกลางกันทั้งนั้น (นี่คือเหตุผลหนึ่ง ทำไมนักวิชาการบางคนถึงมองการเลือกตั้งว่าเป็นเรื่องไร้สาระ)
แต่หลักทางสายกลางนี้ไม่ได้เป็นจริงเสมอไป ในภาวะที่ประเทศคับขัน นักการเมืองจะกระโดดลงมาเปิดโชว์ห่วยปากซอย ดังเห็นได้จากเลือกตั้งอเมริกาสองปีก่อน บุชออกมาเน้นนโยบายสงคราม บวกศาสนา ส่วนเคอรีก็เรียกร้องสันติภาพในตะวันออกกลาง
กลับมาประเทศเราบ้าง พอฟังคำพูดของคุณน้องเรื่องรัฐบาลคมช. เป็นรัฐบาล conservative ก็อดไม่ได้ที่จะร้องอ้อ! ถ้าคิดในเชิงนี้แล้ว อะไรๆ มันก็ดูเข้าที่เข้าทางไปหมด ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ หรือนโยบายศีลธรรมต่างๆ นานา ถ้าจะดึงเหตุผลข้อนี้ไปไกลอีกสักนิด สามารถพูดได้ด้วยซ้ำว่ารัฐบาลทรท. นั้นเป็นรัฐบาล liberal คือมีนโยบายพัฒนาลูกเดียว
เป็นเรื่องน่าสนใจที่ชวนให้คิดต่อไปว่า
1) กรอบความคิดนี้ ใช้ได้จริงหรือไม่
2) ถ้าใช้ได้ สังคมไทยเกิดภาวะคับขัน ถึงขนาดนักการเมืองต้องมาประกาศแนวทางสุดโต่งแล้วหรือ
ข้อแรก คนเขียนบลอดขอตอบว่าจริง มิอย่างนั้นก็คงไม่มานั่งเขียนอะไรยาวเหยียดเช่นนี้หรอก ส่วนข้อสอง ก็จริงไม่แพ้กัน ภาวะคับขับทางด้านการเมือง และสังคมเช่นนี้ ประเทศไทยเราไม่ได้เผชิญมานับสิบๆ ปีแล้ว (ขนาดตอนค่าเงินบาทตกฮวบ ก็ยังกลายเป็นแค่ภาวะคับขันทางเศรษฐกิจ แต่การเมืองในยุคนั้นมีเสถียรภาพสิ้นดี) จึงเกิดเป็นคำถามที่สาม ซึ่งน่าสนใจสุด
3) แนวทางเช่นนี้จะมีผลอย่างไรต่ออนาคตการเมืองไทย
ถ้าดูจากแนวโน้มที่การเลือกตั้งนับวันจะกลายเป็นการแข่งขันระหว่างสองพรรคใหญ่เข้าไปทุกที ไม่แน่ว่าภายในปีหน้าเราจะได้เห็น พรรค democrat และ พรรค republican ฉบับพี่ไทยก็เป็นไปได้ ภาวะเช่นนี้จะอยู่ยงคงกระพันแค่ไหน เมื่อไหร่นักการเมืองจะหวนคืนมาหาทางสายกลาง กว่าจะถึงตอนนั้น คำศัพท์สองคำนี้ conservative และ liberal ก็คงจารึกอยู่ในแนวคิดของชาวไทยไปเรียบร้อย ซึ่งในอนาคตจะไม่ใช่แต่เฉพาะด้านการเมือง แม้แต่นักวิชาการ มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ ทีวี บริษัท ห้างร้าน จนถึงค่ายเพลง ค่ายละคร ค่ายละคร คงเริ่มต้องพะยี้ห้อช้าง หรือลากันบ้างแล้ว (ถ้าจะให้ดี ควรเลือกสัตว์ที่เป็นไทยๆ เช่น ม้านิลมังกร และ กินรี)
นั่นจะเรียกว่าสิ่งดีหรือเปล่า ไม่รู้เหมือนกัน ที่แน่ๆ การบอกว่ารัฐบาลดำเนินแผนผิดพลาดเพราะ conservative จัดหรือ liberal เกินไปนั้น น่าฟังกว่าด่าว่าเขาเลว หรือโง่เป็นไหนๆ จริงไหมล่ะครับ
C. Milosz's "The Captive Mind"
อาจารย์รัฐศาสตร์สมัยปริญญาตรีเคยเล่ามุกตลกที่ขำไม่ออก ว่าถ้าทวีปยุโรปไม่มีโปแลนด์ ก็คงต้องมีคนสร้างประเทศนี้ขึ้นมา ให้เยอรมัน และรัสเซียยกทัพผ่าน
ไม่เกินไปนักถ้าจะบอกว่าโปแลนด์เป็นประเทศที่ "ซวย" ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ระหว่างสองขั้วอำนาจยักษ์ใหญ่เยอรมัน และรัสเซีย ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18 แล้ว เวลาเยอรมันจะบุกรัสเซีย หรือรัสเซียบุกเยอรมัน ก่อนอื่นก็ต้องยกทัพมาเหยียบย่ำโปแลนด์เป็นแห่งแรก
ความซวยของโปแลนด์ถึงขีดสุดกลางศตวรรษที่ 20 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โปแลนด์เป็นประเทศแรกที่ฮิตเลอร์ยึดครอง (อีกมุกตลกของวูดดี้ อัลเลน "ผมฟังแวคเนอร์ไม่ได้ ฟังทีไรอยากพิชิตโปแลนด์ทุกที") เรารับทราบความทุกข์ทรมาณของชาวยิว กระนั้นชาวโปแลนด์เองก็ต้องแบกรับชะตากรรมที่หนักหนาไม่แพ้กัน เยอรมันตั้งใจให้โปแลนด์เป็นเมืองทาส บังคับประชาชนทำงานหนักหล่อเลี้ยงทหารนาซี ใช้อำนาจกดขี่ข่มเหง ใครวางแผนต่อต้าน หรือแค่ต้องสงสัยจะถูกฆ่าทิ้ง หรือส่งไปค่ายกักกัน (ออสวิชซ์ ค่ายเดียวกับชาวยิวนั่นแหละ)
ประมาณปี 1944 กลุ่มต่อต้านทหารนาซีในวอร์ซอร์ดำเนินการขั้นเด็ดขาด เผชิญหน้ากับเยอรมันตรงๆ ขณะเดียวกัน กองทัพแดงของรัสเซียตั้งค่ายทหารคอยท่าอยู่นอกเมือง สตาลินตั้งใจชนกับฮิตเลอร์แต่แรก หากเขาปล่อยให้นาซีบดขยี้กองทัพใต้ดิน หลังจากนั้นค่อยดำเนินการบุกยึดวอร์ซอร์อีกรอบ โปแลนด์ตกเป็นเมืองขึ้นรัสเซีย อยู่ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งจริงๆ แล้วรัสเซียก็ไม่ได้ให้เกียรติ หรือดูแลโปแลนด์ดิบดีไปกว่านาซี คนนับหมื่นแสนถูกส่งไปทำไร่ไถนา ทำงานหนักในพื้นที่เวิ้งว้างเอเชียกลาง เศรษฐกิจ การศึกษา ทุกสถาบันในสังคมตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย
"จับใจ" ผลงานของเซลอว์ มิโรส เล่าเรื่องนักเขียนสี่คน ที่ต้องจำใจทิ้งความเชื่อเดิมๆ เพื่อปรับตัวเข้ากับสังคมนิยมสุดโต่ง มิโรสเรียกพฤติการณ์ดังกล่าวว่า "เคตมาน" มาจากตำนานอิสลาม ว่าด้วยการปฏิบัติตัวตามคำสั่งผู้มีอำนาจ แต่ในใจปฏิเสธสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ตลอดเวลา นักเขียนแต่ละคนมีเหตุผลต่างกัน แอลฟาหลงใหลความงดงามของวีรบุรุษ ถึงจะรังเกียจคอมมิวนิสต์แค่ไหน เขายอมก้มหัวให้มัน เพื่อจะได้สร้างวีรบุรุษสังคมนิยมขึ้นมา เบต้าไม่เชื่อถือศีลธรรม ความดีงามใดๆ เขาทำตามคำสั่งเบื้องสูง เพื่อแสดงออกความรังเกียจสิ่งต่างๆ รอบตัว แกมมาหลงตัวเอง ต้องการความเคารพนับถือจากคนรอบข้าง และเดลต้า เห็นผู้อ่านหันเหไปทางใด ก็จะวิ่งตามไปทางนั้น
ผลงานของมิโรส มีหลายประเด็นคล้ายคลึงกุนเดระ ต่างวิพากษ์วิจารณ์สังคมยุโรปตะวันออกซึ่งตกอยู่ใต้อิทธิพลคอมมิวนิสต์ ถ้าจะต่างกันเล็กน้อยคือ กุนเดระเชื่อว่าชาวเชคหลงผิดไปกับรัสเซียเพราะความ "ซื่อ" ซึ่งเป็นธีมหลักในหนังสือเขาแทบทุกเรื่อง แต่มิโรสเชื่อว่าลึกๆ ชาวโปแลนด์ไม่ได้เห็นดีเห็นงามไปกับคอมมิวนิสต์ แต่จงใจทำ "เคตมาน" เชื่อฟังภายนอก ปฏิเสธภายใน (แต่ถ้าเชื่อตามที่นาธาเนียล ฮอว์ธรอนกล่าวไว้ "ไม่มีใครสวมหน้ากากมากกว่าหนึ่งใบ แล้วจะไม่สับสนว่าหน้าไหนเป็นหน้าที่แท้จริงของตัวเอง" ทั้งสองสิ่งนี้อาจไม่แตกต่างกันนัก)
รู้สึกดีที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ยอมรับว่าได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ตั้งแต่ประวัติศาสตร์โปแลนด์ หรือคำศัพท์ปรัชญาการเมืองหลายคำที่เราไม่เคยรู้มาก่อน Dialectic Materialism (วัตถุนิยมเชิงสนทนาการ) ซึ่งดัดแปลงมาจาก Historic Materialism (วัตถุนิยมเชิงประวัติศาสตร์) ของคาร์ล มาร์ก ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์มอบความหมายใหม่ๆ ให้กับวัตถุ สำหรับมาร์ก ประวัติศาสตร์คือการต่อสู้ระหว่างชนชั้นปกครอง และชนชั้นแรงงาน ถ้ายุคคอมมิวนิสต์หมายถึงการเริ่มต้นชัยชนะของผู้ใช้แรงงาน ดังนั้นคุณค่า ศาสนา และวัฒนาธรรมเก่าๆ ก็ต้องนำมาจัดระเบียบ ตีความเสียใหม่
ศัพท์อีกคำที่สนใจเป็นพิเศษคือ Socialist Realism สัจนิยมสาธารณ์ ซึ่งหมายถึงศิลปะแบบที่รัสเซียสนับสนุน ใช้เทคนิกแบบ "สัจนิยม" วาดภาพเหมือนจริงของผู้ใช้แรงงาน นักการเมือง โดยมีจุดประสงค์คือการโฆษณาชวนเชื่อ เผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ นิยายแนวสัจนิยมสาธารณ์จะเดาทางง่าย พระเอก ซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงาน หรือคนจนจะดีฉิบหาย ส่วนผู้ร้ายมักจะรวยๆ ถ้าให้ถูกหลักจริงๆ ต้องมีพระเอกเป็นคนรัสเซียด้วย นิยายแบบสัจนิยมสาธารณ์ที่ดังที่สุดคือเรื่อง "แม่" ของแมกซิม กอร์กี้
ที่น่าเย้ยหยันคือแม้จะมีแค่คำว่า "สัจนิยม" อยู่ในชื่อ แต่สัจนิยมสาธารณ์ไม่ได้บรรจุความเป็นจริงลงไปแม้แต่น้อย (คำว่า "สัจนิยม" นั้น ใช้เพียงเพื่อให้ตรงข้ามกับงานโมเดิร์นอาร์ต และศิลปะแบบ cubism ซึ่งถูกมองว่าเป็นงานอดิเรกของชนชั้นสูง) มนุษย์ถูกแบ่งชนชั้น กำหนดบทบาทว่าใครคือคนดี คนร้าย ใครคือผู้ใช้แรงงาน ใครคือนายทุน ในสายตาของศิลปินคอมมิวนิสต์ มนุษย์มีเพียงไม่กี่ประเภท ความดีงามของนายทุนจะถูกมองข้ามไป เช่นเดียวกับข้อเสียหายของผู้ใช้แรงงาน ศิลปะแบบสัจนิยมสาธารณ์คือการปฏิเสธความเป็นมนุษย์ งานเช่นนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้บรรดาศิลปินเพื่อชีวิตทั้งหลายแหล่ในเมืองไทย
รู้สึกว่าชักจะยาวเกินไปแล้ว ขอสรุปเลยแล้วกัน การอ่าน "จับใจ" ช่วยให้เราสามารถตอบคำถามหนึ่งซึ่งรบกวนใจตลอดเวลา "เหตุใด ถึงไม่เคยมีงานศิลปะดีๆ ออกมาจากค่ายคอมมิวนิสต์" ขอปิดบทวิจารณ์ด้วยคำพูดเท่ๆ จากกุนเดระ "Kitsch is the absolute denial of shit."
Subscribe to:
Posts (Atom)