T. Mann's "Death in Venice"


ถ้ามีใครสักคน เดินเข้าไปถามโทมัส มานน์ว่านักเขียนต่างจากคนธรรมดาตรงไหน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมผู้นี้คงตอบว่า "A writer is a person for whom writing is more difficult than it is for other people." (นักเขียนคือผู้ที่มีปัญหาในการเขียนมากกว่าคนปรกติ)

ตลอดช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา เกิดกระแสอย่างหนึ่งในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เหมือนผู้สร้างพยายามสื่อสารกับคนดูว่าศิลปินก็คือบุคคลทั่วไป มีรัก โลภ โกรธ หลง มีปัญหา มีช่วงเวลาเหงา และอ่อนแอประหนึ่งคนเดินถนนคนหนึ่ง (ดูตัวอย่างได้จากเรย์ ดีเลิฟลี่ บียอร์นเดอะซี วอล์คเดอะไลน์ เชคสเปียรย์อินเลิฟ หรือไอริช) ก็เป็นไอเดียสามัญสไตล์อเมริกันว่ามนุษย์เท่าเทียมกันหมด ผู้ที่ซื้อตั๋วมาชมภาพยนตร์ดูจบจะได้รู้สึกดีว่า เออ! ศิลปินก็ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากฉันนั่นแหละ...

ไม่มีอะไรจะผิดจากความจริงมากไปกว่านี้แล้ว

ความตายในเวนิชคือรวมเรื่องสั้นของโทมัส มานน์ ประเด็นหลักซึ่งปรากฏในแทบทุกเรื่องคือ "ศิลปินไม่ใช่คนธรรมดา" ศิลปินสัมผัสความเจ็บปวดซึ่งคนทั่วไปไม่มีวันเข้าใจ มองเห็นความสวยงามในแบบที่ไม่เหมือนคนปรกติ และเผชิญหน้ากับความเหงา ทุกข์ตรมซึ่งไม่อาจหยั่งรู้ได้ ตัวเอกของเรื่อง "ความตายในเวนิช" "โทนีโอ ครูเกอร์" และ "ทริสแทน" ล้วนแล้วแต่เป็นนักเขียน เป็นการยากที่คนอ่านทั่วไปจะเข้าใจสาเหตุของ "ความตายในเวนิช" ทำไมโทนีโอ ครูเกอร์จึงไม่อาจมีความสุข และอะไรคือใจความซึ่งซ่อนอยู่ในจดหมายซึ่งสปัลส่งไปหาสามีของผู้หญิงที่ตนแอบหลงรัก กระนั้นชีวิตอันแสนเศร้าของเหล่าตัวละคร ผ่านปลายปากกา "ชายผู้มีปัญหาในการเขียน" คงอดไม่ได้ที่จะหลอกหลอน ติดตามเราไปหลังจากปิดหนังสือแล้ว

ในชุดนี้ยังมีเรื่อง "มาริโอ และนักมายากล" เรื่องสั้นการเมืองซึ่งเฉียบแหลมที่สุดเรื่องหนึ่ง สื่อให้เห็นอิทธิพลของนักเผด็จการที่มีต่อเหยื่อ หรือประชาชน คาปริชิโอคือนักสะกดจิตที่สามารถเสกให้คนดูลุกขึ้นมาทำเรื่องน่าเกลียดน่ากลัว "ความยุ่งเหยิง และโศกเศร้า" ว่าด้วยบิดาผู้เฝ้ามองความรักอันไม่สมหวังครั้งแรกของธิดาสาว "โลหิตแห่งวัลซัง" เล่าเรื่องพี่น้องฝาแฝดอันมีความรักวิปริต เปรียบเทียบกับตัวละครในโอเปร่าชิ้นเอกของวาคเนอร์

สิ่งหนึ่งซึ่งสัมผัสได้จากหนังสือแทบทุกเล่มของมานน์คือ "สังคมอันล่มสลาย" ผู้ใหญ่ที่เฝ้ามองโลกตกอยู่ในมือของเด็กรุ่นใหม่ ความเปลี่ยนแปลงที่แม้จะเกิดจากใจใสซื่อบริสุทธิ์ และหวังดี แต่ไม่จำเป็นต้องออกดอกออกผลในแง่บวกเสมอไป กว่าจะรู้สึกตัวอีกที สิ่งเก่าๆ ที่สวยงามก็ถูกทำลายไม่เหลือหลอแล้ว

I. Murdoch's "Nuns and Soldiers"


เพิ่งสังเกตว่าบลอคเรายังไม่ได้วิจารณ์หนังสือของไอริช เมอดอคเลย เธอคืออีกหนึ่งนักเขียนในดวงใจ คนไทยส่วนใหญ่คงรู้จักเธอจากภาพยนตร์เรื่อง "ไอริส" ที่จูดี เดนช์เล่นเป็นนักเขียน ซึ่งถูกคุดคามด้วยโรคร้ายอัลไซเมอร์

แม่ชีและทหาร เป็นนิยายเรื่องที่เก้าของเมอดอคซึ่งเราอ่าน ถ้าให้เรียงลำดับความชอบจริงๆ จัดว่าค่อนข้างกลางๆ ปัญหาข้อแรกคือมันหนามาก (ห้าร้อยกว่าหน้า) แถมยังหนาไม่สมเหตุสมผลเสียด้วยสิ (ทะเล ทะเลก็หนาประมาณนี้ แต่เข้มข้นทุกตัวอักษร) การจัดสรรพื้นที่ของนิยายเล่มนี้ค่อนข้างประหลาด หลายครั้งเมอดอคเสียเวลาไปกับบรรยายโวหาร ฉากความฝัน หรือตัวละครซึ่งไม่ปรากฏซ้ำสองในเรื่อง แทนที่จะเน้นปรัชญาการเมือง จิตวิทยาแบบที่เธอถนัด

แม่ชีในเรื่องคือเกอทรูด และแอน เกอทรูด เป็นแม่ม่าย ส่วนแอนเป็นแม่ชีจริงๆ ผู้สึกเพราะเสื่อมศรัทธาในพระเจ้า หลังเกอทรูดสูญเสียสามี แอนคอยช่วยเหลือและเป็นกำลังใจ สองสาวสัญญาว่าจะอยู่เคียงข้างกัน ทหารในเรื่องไม่ใช่ทหารจริงๆ เลยสักคน ปีเตอร์คือผู้ลี้ภัยชาวโปแลนด์ หลงรักเกอทรูดมาตลอด โดยไม่รู้ว่าแอนเทิดทูน บูชาตัวเองแค่ไหน และทิม จิตรกรไส้แห้ง ตลอดทั้งเล่มคือความสัมพันธ์ระหว่างเกอทรูด และทิม รวมไปถึงปฏิกริยาจากคนรอบข้าง ตั้งแต่แรกรักในกระท่อมกลางป่า อยู่ร่วมกันอย่างลับๆ แยกทาง หวนคืนสู่อ้อมแขน แต่งงาน สุดท้ายกระทั่งเกือบหย่าร้างกันอีกรอบ

เรื่อง "น้ำเน่า" แบบนี้แหละคือนิยายสไตล์เมอดอค แต่แม่ชี และทหารคือนิยายน้ำเน่า ก็คงเป็นน้ำเน่าที่มีสาระที่สุดในโลก จุดเด่นของเมอดอคคือวิธีวิเคราะห์จิตใจตัวละคร พฤติกรรมซึ่งส่งผลต่อการกระทำ และความคิดตัวละครรอบด้าน เมอดอคสามารถมอง และล้วงลึกจิตใจมนุษย์ได้อย่างไม่มีใครเปรียบ ถ้าเป็นนิยายน้ำเน่าทั่วไป ทุกครั้งที่ทิม และเกอทรูด กลับมาอยู่ด้วยกัน แอนจะต้องถือโอกาสนี้แย่งปีเตอร์มาเป็นของตัวเอง แต่เมอดอคตีแผ่ความคิดผู้หญิงอายุสามสิบกว่าๆ คนหนึ่ง ผู้ใช้ชีวิตเกือบทั้งชีวิตในอาศรม แสดงให้เห็นว่าบางครั้งคนเราก็ทำเรื่องที่ขัดกับความต้องการของตัวเอง ซ้ำยังทำร้ายคนอื่น และคนรอบข้าง โดยไม่เกิดประโยชน์ โภคผลใดๆ

ถ้าจะมีข้อเสียอีกประการทำให้แม่ชี และทหาร สู้นิยายเรื่องอื่นของผู้เขียนไม่ได้คือ มันยังขาดตอนจบกระแทกใจ นิยายที่ดำเนินเรื่องน้ำเน่าแบบนี้ ถ้าจบไปเฉยๆ เรื่อยๆ คนอ่านก็จะรู้สึกเหมือนอ่านนิยายน้ำเน่าจริงๆ น่าเสียดาย เพราะถ้ามีประเด็นแรงๆ ปิดท้าย นี่จะเป็นนิยายชั้นดีอีกเล่มจากไอริช เมอดอคเลยทีเดียว

เรียงลำดับนิยายของเมอดอค จากชอบมากไปชอบน้อย
1. ทะเล ทะเล
2. ความพ่ายแพ้อันทรงเกียรติพอควร
3. ศิษย์เอก
4. ใต้ตาข่าย
5. แม่ชี และทหาร
6. หนังสือ และภราดร
7. กุหลาบไม่เป็นทางการ
8. ปราสาททราย
9. อัศวินเขียว

R. Davies's "The Manticore"


แมนติคอร์ : สัตว์ในเทพนิยาย หัวเป็นคน ตัวเป็นสิงโต หางซ่อนเหล็กไนเหมือนหางแมงป่อง

อะนิมา : ศัพท์ทางจิตวิทยา หมายถึงผู้หญิงที่อยู่ในตัวผู้ชาย ตรงข้ามกับอะนิมัส ผู้ชายที่อยู่ในตัวผู้หญิง

แมนติคอร์คือนิยายจิตวิทยา เดวิด ทนายความผู้โด่งดัง ลูกชายคนเดียวของมหาเศรษฐีบอย สตอนตัน หลังทราบข่าวพ่อตัวเองเสียชีวิต เกิดอาการวิปริต เขาเชื่อมั่นว่าพ่อถูกใครบางคนฆาตกรรม ในที่สุดเมื่อทนความรู้สึกตัวเองต่อไปไม่ไหว เดวิดบินไปสวิตเซอร์แลนด์ ที่นั่นเอง เขาได้พบจิตแพทย์สาว และเรียนรู้ความจริงเกี่ยวกับการตายของบิดา

จำได้ว่าเมื่อประมาณห้าหกปีที่แล้ว ผมเองก็เคยมีประสบการณ์ไปพบจิตแพทย์เหมือนกัน นัดพบทุกสองสัปดาห์ คุยครั้งละประมาณหนึ่งชั่วโมง ให้มองย้อนกลับไป แล้วถามว่าได้อะไรบ้างไหม ส่ายหัวทันทีว่าไม่ได้ เหมือนมีคนมาฟังเราบ่น แล้วก็พูดปลอบใจนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งในแง่หนึ่งก็ไม่เลว แต่ก็ไม่ถึงกับวิเศษวิโสอะไร

จิตวิเคราะห์ในแมนติคอร์ไม่เหมือนอะไรที่เคยประสบพบด้วยตัวเอง เดวิดเล่าให้หมอฟังถึงความฝัน อันปรากฏภาพสัตว์ครึ่งคน ครึ่งสิงโต ถูกล่ามโซ่ติดไว้กับหญิงสาว จิตแพทย์ช่วยเดวิดตีความความฝัน และทำให้ชายหนุ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น เขาพบว่าพ่อซึ่งตนเคารพบูชามาทั้งชีวิต อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบไปหมด ชายหนุ่มเล่าความหลังอันแสนเศร้ากับรักวัยเยาว์ และผู้หญิงคนแรก คนสุดท้าย รวมไปถึงคดีแรกๆ ในฐานะทนายความ ประสบการณ์ ณ ลานประหาร และการเชื่อมโยงอดีตของครอบครัว

ยอมรับว่าอ่านเพลิน แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า ทฤษฏีที่พยายามตั้งชื่อผู้คนซึ่งผ่านเข้าออกชีวิตเรา ให้เป็นเสมือนตัวละคร (เงา อะนิมา ฤษี เพื่อน สัตว์ร้าย และอื่นๆ ) มันใช้ได้จริงแค่ไหน จิตวิเคราะห์ในสวิตเซอร์แลนด์ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้รับอิทธิพลมาจากจุง (ขณะนิวยอร์กได้รับอิทธิพลของฟรอยด์) จวบจนปัจจุบันไม่รู้มันล้าสมัยไปแล้วรึเปล่า เดี๋ยวนี้ยังมีจิตแพทย์คนไหนมานั่งฟังความฝันคนไข้บ้าง

แมนติคอร์ เป็นนิยายเรื่องที่สองของไตรภาคเดปฟอร์ด เรื่องแรกคือฟิฟธ์บิซิเนส (ชายคนที่ห้า) และเรื่องสุดท้ายคือเวิร์ดออฟวอนเดอร์ (โลกมหัศจรรย์) โรเบิร์ตสัน เดวี นักเขียนชาวแคนาดาผู้นี้ ผสมผสานจิตวิทยา ประวัติศาสตร์ และมายาคติ เข้าด้วยกันได้อย่างล้ำลึก ชวนติดตาม ถึงจะบอกว่าเป็นภาคสอง แค่คนอ่านไม่จำเป็นต้องอ่านชายคนที่ห้าก่อน ก็สามารถสนุกสนานไปกับเรื่องราวของเดวิดได้

M. Atwood's "The Handmaid's Tale"


"ฉันต้องกลับถึงบ้านก่อนเที่ยงคืน มิฉะนั้นจะถูกสาปเป็นฟักทอง หรือรถม้ากันแน่นะที่ถูกสาป"

ออฟเฟรดรำพึงรำพันกับตัวเอง เธอพูดถึงนิทานเรื่องซินเดอเรลล่า ในยุคสมัยของหญิงสาวไม่มีนิทานเรื่องนี้หลงเหลืออีกแล้ว ถึงมีรัฐบาลก็ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงอ่านหนังสือ ออฟเฟรดหลงเหลือเพียงความทรงจำบางๆ

แฮนเมดส์เทลคือนิยายแห่งความทรงจำ ออฟเฟรดอาศัยอยู่ในกิลเลียด ประเทศซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นรัฐเมน แห่งอเมริกา นิยายดิสโทเปียเกี่ยวกับโลกอนาคตที่ประชาชนถูกรัฐบาลกดขี่ข่มเหงไม่ใช่ของใหม่ แต่แฮนเมดส์เทลแตกต่างจาก 1984 หรือเบรฟนิวเวิร์ด ตรงที่ผู้คนในกิลเลียดยังคงความทรงจำเก่าๆ ไว้ สมัยที่ผู้หญิงยังได้รับอนุญาตให้อ่านหนังสือ ไม่มีรถแวนสีดำขับไปทุกหนทุกแห่ง ลากคอประชาชนซึ่งต้องสงสัยว่าผู้ทรยศ ไม่มีซากศพแขวนประจานบนกำแพง ไม่มีแฮนเมด สงคราม มลภาวะ ฝุ่นกัมมันตรังสีแปดเปื้อนอากาศ น้ำ และอาหาร ประชากรกว่าครึ่งโลกเป็นหมัน หญิงสาวซึ่งหลงเหลือเพียงน้อยนิดถูกบังคับให้เป็นแฮนเมดมีหน้าที่สืบพันธุ์ และคลอดบุตร จนกว่าอายุจะสูงเกิน แฮนเมดคนไหนมีลูกไม่ได้ จะถูกตราหน้าว่าเป็นคนบาป และถูกส่งไปทำงานหนักในคุก

ออฟเฟรดคือหนึ่งในแฮนเมด เธอยังคงความทรงจำเก่าๆ ไว้ เรื่องของซินเดอเรลล่า เรื่องของสามี ลูกสาว แม่ เพื่อนสมัยเรียน ที่สำคัญออฟเฟรดจดจำชื่อที่แท้จริงของตัวเองได้ ป้าลูซี อาจารย์ควบคุมความประพฤติบอกว่าแฮนเมดรุ่นพวกเธอจะต้องประสบความยากลำบาก แต่ทั้งหมดก็เพื่อคนรุ่นหลัง เพื่อให้ลูกหลานผู้หญิงอยู่กันอย่างสงบสุข แต่ออฟเฟรดรู้ พวกเขาจะอยู่กันอย่างสงบสุขเพียงเพราะไม่มีความทรงจำสมัยสิ่งต่างๆ ยังไม่เหมือนทุกวันนี้ต่างหาก

นิยายดิสโทเปียส่วนใหญ่ เมื่อเปิดฉากมา โลกก็กลายเป็นอย่างที่เห็น แต่แฮนเมดส์เทลแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่น่ากลัวสุดคือช่วงการเปลี่ยนแปลง ฉากที่น่าขนลุกขนพองคือตอนที่รัฐบาลประกาศยึดเงินผู้หญิงในธนาคาร และไล่ทุกคนออกจากงาน

มากาเรต แอดวูดผู้เขียนได้รับรางวัลบุคเกอร์ไพรซ์จากนิยายเรื่องแฮนเมลส์เทล ก่อนจะได้รับเป็นครั้งที่สองจากดิบลายด์แอสแซสซิน ความมหัศจรรย์ในการเขียนของแอดวูดคือ เธอสามารถเล่าเรื่องซึ่งส่วนตัวมากๆ ไปพร้อมๆ กับวิพากษ์วิจารณ์สังคม แฮนเมลส์เทลคือนิยายที่สามารถหาเรื่องมาพูดคุยได้ไม่รู้จบ ครั้งหนึ่งป้าลูซีพูดกับนักเรียนของเธอว่า "เสรีภาพมีสองประเภท เสรีภาพที่จะกระทำ และเสรีภาพจากการโดนกระจำ บัดนี้พวกเธอได้รับอย่างหลัง อย่าดูถูกมันเกินไปนัก" ในโลกอนาคต รัฐบาลให้เหตุผล เพื่อปกป้องผู้หญิงจากอาชญากรรมทางเพศ แต่ละคนถูกบังคับให้สวมเสื้อผ้าซึ่งจัดเตรียมไว้ ปิดซ่อนร่างกายตั้งแต่ผ้าคลุมหัว ยันปลายเท้า หนังสือแฟชั่นถูกเผาทิ้งทำลาย โดยให้เหตุผลว่าเป็นสื่อชั่วร้ายส่งเสริมให้ผู้หญิงหลงตัวเอง

เมื่อคนเราได้เสรีภาพอย่างหนึ่ง ก็เมื่อจำต้องถูกลดรอนเสรีภาพอีกประการอยู่ร่ำไป

แฮนเมลส์เทลไม่ใช่หนังสือที่อ่านง่ายนัก เรื่องราวดำเนินไปอย่างเนิบช้า แต่ไม่ถึงกับไม่มีอะไร เนื้อเรื่องหลักๆ บอกเล่าแก่งแย่งชิงดีในครัวเรือนระหว่างออฟเฟรด แฮนเมล และจอย ภรรยาของคอมมานเดอ นอกจากทั้งสามแล้วยังมีนิค คนขับรถ และคนครัวอีกสอง ออฟเฟรดอาจไม่ใช่นางเอกที่ดีนักในสายตาคนอ่าน ตั้งแต่สมัยก่อนปฏิรูปสังคม ลุค สามีของออฟเฟรดก็เป็นผู้ชายที่เธอแย่งมาจากคนอื่น ถึงตอนจบก็ยังสรุปไม่ได้ง่ายๆ ใครกันแน่ที่ "ร้าย" กว่า จอย หญิงวัยกลางคนผู้มีสถานภาพทางสังคม มีอำนาจเหนือทุกคนในครัวเรือน หรือออฟเฟรด แฮนเมดผู้ไร้อำนาจ แต่ตีโต้ อาศัยความเป็นหญิง

แฮนเมดส์เทลย้ำเตือนให้เห็นความขัดแย้งในกระบวนการเฟมินิส อะไรกันแน่คืออาวุธของสตรีเพศ ความเด็ดเดี่ยว หรือเสน่ห์รัดรึงทางกาย ผู้หญิงที่แต่งตัวสวยงาม ล่อสายตาผู้ชาย คือสัญลักษณ์แห่งอำนาจสตรี หรือความอัปยศอดสู

ทั้งหมดนี้คงหาคำตอบกันไม่ได้ง่ายๆ สิ่งที่สำคัญต่างหากคือการตั้งคำถาม