R. Herzog's "Dead Funny"

อารมณ์ขันหรือมุกตลกการเมืองคืออะไร แตกต่างจากอารมณ์ขันทั่วไปตรงไหน   รูดอล์ฟ แฮโซก (ลูกชายของแวเนอร์) นิยามเอาไว้ได้น่าขบคิด   อารมณ์ขันการเมือง เกิดเมื่ออุดมการณ์ของผู้ปกครองสวนทางกันโดยสิ้นเชิงกับสภาพความเป็นจริง   นี่คือสาเหตุที่ทำไมวลี "เอาอยู่" ถึงได้ฮิตติดตลาดข้ามปีข้ามชาติในทุกๆ สี

สังคมไทยในระยะหลังนี้ ยิ่งมีอารมณ์ขันล้อเลียนการเมืองในรูปแบบต่างๆ โผล่บน Social Network   อารมณ์ขันเหล่านี้ โดยนัย มีเป้าหมายคือทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์   แต่บางมุก ก็ลามปามใหญ่โต จมมีคนที่รับไม่ได้ ทั้งฝ่ายอนุรักษ์และเสรีนิยม ออกมาตั้งคำถามถึงกาละเทศะ อะไรควรไม่ควร

ใน Dead Funny แฮโซกพูดถึงประวัติศาสตร์ของมุกตลกในอาณาจักรไรซ์ที่สาม   จริงอยู่ อารมณ์ขันอาจเป็นอาวุธทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงอันทรงประสิทธิภาพ แต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่าดาราตลก หรือคนที่ผลิตอารมณ์ขัน ต้องเป็นนักต่อสู้ทางการเมือง   ในทางตรงกันข้าม ดาราตลก ก็เหมือนกับคนทุกสาขาอาชีพ คือต้องการทำมาหากิน   และในเมื่อประชาชนยังรักและสนุกกับการหัวเราะเยาะผู้นำประเทศ ต่อให้อยู่ในรัฐเผด็จการแบบนาซี (โดยไม่จำเป็นเสมอไปว่าคนเหล่านี้ต้องต่อต้านนาซี) ดาราตลกก็ยังหากินกับมุกการเมืองได้   และเมื่อไหร่ที่รัฐบาลเริ่มเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามเสียงหัวเราะ พวกเขาก็พร้อมจะสมยอม ต่อรองเพื่อความอยู่รอด

มุกตลกล้อเลียนการเมืองจึงเป็นผลิตผลของสังคมมากกว่าจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ "ผลิต" สังคม   มุกตลกตาม Social Network อาจมีต้นกำเนิดมาจากความคึกคะนอง สะใจ สิ้นคิด หรืออะไรก็ตาม แต่การตีกรอบพฤติกรรมของนักล้อเลียนด้วยวาทกรรม "ปุ่มกลางหลัง" นั้นถูกที่ถูกทางจริงหรือไม่   เราอาจด่าพวกเขาได้ว่า "ทำอะไรไม่รู้กาละเทศะ" หรือ "ไม่เห็นจะตลกเลย" (และสมควรจะด่าอย่างยิ่ง ถ้าเราคิดเช่นนั้น) แต่การพูดว่า "ทำแบบนี้ ยิ่งแปลกแยกคนที่คิดต่าง" อาจฟังดูขัดเขิน ในเมื่อเป้าหมายของพวกเขาไม่ได้อยู่ที่การขยายฐานมวลชน หรือเผยแพร่แนวคิดนี้ตั้งแต่แรกแล้ว

เราจับตามองปรากฏการณ์ล้อเลียน ในแง่ว่ามันบอกอะไรเกี่ยวกับเด็กรุ่นใหม่และสังคมไทย มากกว่าจะอยากคาดคั้นหรือประเมินคุณค่าทางศีลธรรมของพฤติกรรมเหล่านี้