S. Zizek's "Living in the End Times"

ประมาณเดือนที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ขำๆ ขึ้น ซึ่งคงไม่มีนามใดอีกแล้ว จะใช้เรียกมันได้อย่างเหมาะสมไปกว่า Zizekian Paradox จู่ๆ หนังสือพิมพ์หลายฉบับก็ลงข่าวว่า ข่าวลือในโลกอินเตอร์เน็ตที่ว่าซีเซ็กและเลดี้กาก้าเป็นเพื่อนสนิทกันนั้น ไม่เป็นความจริง เนื้อข่าวอธิบายว่าเจ้าของทวิตเตอร์ @szizek เป็นตัวปลอม และไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสลาโวจ ซีเซ็ก นักปรัชญาชาวสโลเวเนียผู้โด่งดังแม้แต่น้อย ความย้อนแย้งของข่าวลือนี่ก็คือ มีอยู่หลายคนที่ไม่ได้ติดตาม @szizek ดังนั้นนี่เป็นครั้งแรกที่เขาทราบข่าวลือนี้ ทันใดนั้น เรื่องที่ไม่เคยเป็นจริงแม้แต่น้อย ก็กลับกลายเป็นมีค่าความจริงขึ้นมา

ความย้อนแย้งทับทวี ถ้าพิจารณาว่า เอาเข้าจริงทั้งซีเซ็กและเลดี้กาก้าก็มีหลายอย่างหลายคลึงกัน ถ้ามองว่าสารัตถะของความเป็นเลดี้กาก้าอยู่ตรงการโฆษณาตัวเองอย่างไร้ยางอาย (อันนี้ "ชม" ในฐานะแฟน) ซีเซ็กเองก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก ถ้าจะพูดว่าซีเซ็กคือเลดี้กาก้าฉบับนักปรัชญา ก็หาได้ห่างไกลความจริงไม่

Living in the End Times น่าจะเป็นตัวอย่างของการโฆษณาตัวเองอย่างไร้ยางอายได้ชัดเจนที่สุด (อันนี้ก็ "ชม" ในฐานะแฟนอีกเช่นกัน) นานมาแล้วที่เราคาดหวัง อยากให้นักปรัชญารุ่นยักษ์อย่างซาร์ต ไฮแดกเกอร์ หรือเฮเกล มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เพื่อจะได้ฟังว่าคนพวกนี้มีความเห็นยังไงกับอินเตอร์เน็ต กำแพงเบอร์ลิน 911 หรือ เลดี้กาก้า Living in the End Times ในแง่หนึ่งก็คือการตอบสนองความหวังนี้ และทำให้เรานึกถึงคำพังเพยโบราณว่า "จงกลัวความหวังของตัวเอง จะเป็นจริงขึ้นมา"

ซีเซ็กพูดถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มันร่วมสมัย ตั้งแต่ซารา เพลิน จนถึงภาพยนตร์อย่าง Kung Fu Panda หนังสือเล่มนี้อ่านไม่ยาก แต่จับความอะไรไม่ค่อยได้ เพราะเหมือนซีเซ็กจะสนุกกับการกระโดดโลกเต้นไปมา แสดงให้เห็นว่า "ปรัชญาก็แนวได้นะเฟ้ย!" มากกว่าที่พยายามพัฒนาแนวคิด หรือทฤษฎีอะไร ทั้งที่หนังสือก็สตรักเจอร์ตัวเองมากๆ อุตส่าห์แบ่งเป็นห้าบท ตามความรู้สึกห้าขั้นของการรับมือกับความสูญเสียคือ "ปฏิเสธ" "โกรธแค้น" "ต่อรอง" "เศร้าสร้อย" และ "สูญเสีย" แต่ถ้าใช้ Zizekian Paradox มาอธิบาย การสตรักเจอร์ตัวเองหนักๆ แบบนี้ก็เพื่อปิดบังความแตกกระจายของชิ้นงานเสียมากกว่า

พูดแบบนี้เหมือนเราจะด่า ซึ่งก็ด่าจริงๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในความคิดร้อยแปดพันล้านที่เข้ามาในหนังสือเล่มนี้ ที่เจ๋งๆ ก็มีไม่น้อย แต่ที่แป๊กสุดๆ ก็มีเหมือนกัน เช่น ซีเซ็กวิเคราะห์กฏหมายของรัฐบาลจีน บังคับการกลับชาติมาเกิด ซึ่งมีเป้าหมาย เพื่อจะได้กำหนดดาไลลามะองค์ต่อไป ซีเซ็กวิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว รัฐบาลจีนต่างหากที่พยายามอนุรักษ์ไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณี ขณะที่องค์ดาไลลามะตัวจริง ตั้งใจจะสร้างกฎการสืบอำนาจใหม่ที่เป็นตะวันตก​มากขึ้น (คล้ายคลึงระบบการคัดเลือกสันตะปาปาในโรม) ก็อยากรู้ว่าซีเซ็กจะบิดผันความคิดนี้ไปถึงไหน แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงมันอีกเลย

สรุปก็คือเอาเนื้อมาตัดเป็นชุดราตรีสไตล์ซีเซ็กนั่นเอง!

M. M. Bakhtin's "The Dialogic Imagination"


บักตินกล่าวเปรียบเทียบระหว่างนักเขียนและกวีเอาไว้ว่า กวีคือผู้ที่ใช้ภาษาของตัวเอง มาอธิบายโลกต่างด้าว ส่วนนักเขียนคือผู้ใช้ภาษาต่างด้าว มาอธิบายสิ่งซึ่งเขาคุ้นชินดีอยู่แล้ว กวีมีแนวโน้มที่จะอนุรักษนิยมได้ง่าย เพราะจุดมุ่งหมายของกวีคือการบีบบังคับโลกภายนอกให้อยู่ภายใต้ภาษาที่เขาคุ้นเคย ส่วนนักเขียนนิยาย (หรือเรื่องแต่งร้อยแก้วชนิดอื่นๆ ) จะเปิดกว้างมากกว่า และยอมรับว่าภาษาของตัวเอง บางทีอาจไม่สามารถนำมาใช้กับปรากฏการณ์บางชนิดได้

จะเข้าใจแนวคิดได้ ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่า "ภาษา" ที่บักตินใช้ใน The Dialogic Imagination มีความหมายนอกเหนือไปจาก "ภาษา" ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ในทางหนึ่ง บักตินสรุปย่อนิยายหรือบทกวีว่าประกอบไปด้วยภาษาล้วนๆ (จังหวะจะโคน สัมผัส ตัวละคร พลอต หรือความขัดแย้งไม่ได้สลักสำคัญอันใด) ในอีกทางหนึ่ง ภาษาคือที่สุดของผลผลิตทางวัฒนธรรม คือสิ่งที่บรรจุเอาแต่ละวัฒนธรรมนั้นเข้าหากัน (บางทีบักตินก็จะใช้คำว่า "ภาพลักษร์แห่งภาษา" หรือ "the image of languge") ในที่นี้ ช่างปั้นหม้อก็จะพูดคนละ "ภาษา" กับหมอฟัน เพราะพวกเขามีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป

ถ้ารวมเอานิยามทั้งสามของ "ภาษา" เข้าหากัน ก็จะออกมาเป็นมุมมองที่บักตินมีต่องานวรรณกรรม บทกวีคือผลผลิตของการปฏิเสธความหลากหลายทางวัฒนธรรม พยายามมองและเอ่ยถึงทุกอย่างผ่าน "ภาษา" ของกวี ส่วนนิยายคือผลผลิตของการยอมรับความหลากหลายดังกล่าว เอาเข้าจริง บักตินสุดโต่งกว่านั้นอีก เขาแทบจะพูดเลยว่า หน้าที่เพียงอย่างเดียวของนักเขียนนิยายคือการค้นหาความหลากหลายของภาษา และนำเสนอมันออกมาในนิยาย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือตัวละคร พลอต หรือฉากไม่มีความหมายใดๆ ทั้งนั้น มีแต่ "ภาษา" เท่านั้นที่นักเขียนควรขบคิด

เราอาจไม่ได้เห็นด้วยกับความสุดโต่งระดับนั้น แต่อีกทางหนึ่ง เราก็ไม่ปฏิเสธว่านิยายคือเวทีสังสรรค์ของความคิดและมุมมองที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นิยายไม่สามารถนำมา "เล่า" เป็นเรื่องโดยไม่ดัดแปลงหรือตัดทอนอะไรออกไปได้ เวลาพยายาม "เล่า" นิยายให้ใครฟัง มีความรู้สึกเหมือนกับเล่าเหตุการณ์ในเวทีมวย โดยมุ่งไปที่นักมวยคนเดียว คนใดคนหนึ่ง ราวกับว่ากีฬาชนิดนี้มีผู้เล่นแค่คนเดียว คงน่าสนใจกว่านี้ถ้าบักตินวิเคราะห์นิยาย ในแง่มุมอื่นที่นอกเหนือไปจากภาษา การเปลี่ยนมุมมอง การปล่อยให้ตัวละครออกมาถกเถียงกันต่อหน้าคนอ่าน หรือการสร้างตัวละครจากเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย

D. Aaronovitch's "Voo Doo Histories"


"ยิ่งลักษณ์" โชคดีได้เป็นนายกรัฐมนตรีในยุค facebook ดีกว่ายุค webboard อย่าง "ทักษิณ" - เพราะทุกอย่างมันกระจายได้กว้างกว่าและเชื่อมโยงเข้าหากันได้มากกว่า

เอามาจากรุ่นพี่คนหนึ่งใน facebook น่าสนใจดี

ตั้งแต่สหัสวรรษใหม่เป็นต้นมา อเมริกามีทฤษฎีสมคบคิดอันโด่งดังอยู่สองทฤษฎี ทฤษฎีแรกคือแท้จริงแล้ว 9-11 เป็นผลงานของรัฐบาลบุช ที่ก่อวินาศกรรมกับประชาชนตัวเองเพื่อเป็นข้ออ้างก่อสงคราม ทฤษฎีหลังคือความจริงที่ว่าประธานาธิบดีโอบามา อาจไม่ได้เกิดในประเทศอเมริกา และไม่ใช่แม้แต่คนอเมริกันด้วยซ้ำ (คำอธิบายอย่างเป็น "ทางการ" คือโอบามาเกิดในฮาวาย สองปีภายหลังจากฮาวายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอเมริกา)

ระหว่างสองทฤษฎีนี้ ทฤษฎีไหนน่าเชื่อมากกว่ากัน แน่นอน คำตอบคือทฤษฎีหลัง แต่แปลกไหม ทฤษฎีที่ได้รับความนิยม และยังคงถูกถกเถียงกันจนถึงทุกวันนี้กลับเป็นทฤษฎีแรก

เราว่าคำพูดของรุ่นพี่ที่ยกมาข้างบนน่าจะมีส่วนในการอธิบายปรากฏการณ์นี้ ทฤษฎี 9-11 (เรียกสั้นๆ ว่า The Truth) กำเนิดและรุ่งเรืองในยุคของอีเมลและเวบบอร์ด อีเมลเป็นการสื่อสารทางเดียวที่เจ้าลัทธิส่งข้อความไปยังสาวก ส่วนเวบบอร์ดก็เป็นพื้นที่ของผู้มีความคิดเห็นคล้ายๆ กัน มาสุมหัวถ่ายทอดความเชื่อของตัวเองซ้ำไปซ้ำมา ในทางตรงกันข้าม ทฤษฎีต้นกำเนิดของโอบามาอยู่ในโลกของ facebook นี่คือพื้นที่เปิดกว้างระหว่างการสื่อสารสองเส้นทาง ข้อมูลหรือวาทกรรมประเภทเสียดินแดนสิบสี่หนอาจจะถูกส่งต่อทางอีเมลได้ แต่ถ้าเอามาโพสบน facebook รับรองว่าไม่เกินอาทิตย์ จะถูกฝ่ายตรงข้ามและนักวิชาการเข้าไปตีตกทันที

เดวิด เรย์ กริฟฟิน เจ้าลัทธิ The Truth เคยให้สัมภาษณ์ว่า ความเชื่อ "อย่างเป็นทางการ" (โอซามา บินลาเดน เป็นหัวหน้าผู้ก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลัง 9-11) เกิดมาจากข้อถกเถียงแบบอนุมาน (deductive argument) หมายความว่า ภายใต้ห่วงโซ่ของเหตุและผล ถ้ามีห่วงเส้นเดียวที่อ่อนแอ หรือไม่สมเหตุสมผล ทฤษฎีแบบนี้จะพังทลายทันที ส่วนทฤษฎี The Truth เป็นข้อถกเถียงแบบทับทวี (cumulative argument) ถ้าคุณจะโต้แย้งฉัน คุณต้องโต้แย้งความจริงทั้งหมดของฉัน

นักสมคบคิดเชี่ยวชาญในการหาความจริงแต่ละข้อๆ มาให้เราโต้แย้ง และการที่เราตีความจริงตกลงไปข้อหนึ่ง ก็ไม่ได้ทำให้คนเหล่านี้สำเหนียกแม้แต่น้อย ว่ามีบางอย่างแปลกๆ ในตรรกะของตัวเอง (เช่น การขึ้นทะเบียนมรดกโลกต้องอาศัยพื้นที่ 1.4 ล้านไร่ ถ้าเขมรขึ้นทะเบียนปราสาท ก็จะได้ดินแดนกินประเทศไทยเข้ามา ทั้งที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามีพื้นที่แค่ 1810 ไร่เท่านั้น จบเรื่องนี้ก็ต่อด้วย ประเทศไทยต้องเสียเงินให้ UN ปีละ 30 ล้านบาท แต่เท่าที่เช็คจากมรดกโลกแห่งอื่นๆ ค่าใช้จ่ายสารัตถะทั้งหมดคือสี่แสนบาทต่อปีต่อมรดกโลกหนึ่งแห่งเท่านั้น)

ข้อถกเถียงแบบทับทวี ก็คือการเอาข้อสังเกต (จริงบ้าง มั่วบ้าง) มาประกอบกัน อาศัย "ความเต็มใจ" ของผู้ฟังหลายๆ คนช่วยกันเติมแต่ง ปั้นน้ำเป็นตัว จึงไม่น่าแปลกใจว่าข้อถกเถียงแบบทับทวีมักจะมาพร้อมกับวาทกรรมปลุกใจ โฆษณาชวนเชื่อ (ตะวันตกเลว เขมรจอมหักหลัง สยามดีตัลหลอด และถูกต่างชาติรังแกตัลหลอด) นักทฤษฎีสมคบคิดจะไม่สร้างเหตุผลให้เราเชื่อ แต่จะล้างสมองให้เราอยากเชื่อนั่นเอง

E.T.A. Hoffmann's "The Golden Pot and Other Tales"


สนุกมั่กๆ ๆ กับ The Golden Pot and Other Tales ฮอฟมันเมพสุดๆ ที่เอาขนบการเขียนนิยาย มาปรับใช้กับนิทาน สร้างเรื่องมหัศจรรย์ชวนพิศวง ที่มีรูปแบบการนำเสนอซับซ้อน ชวนติดตามในขณะเดียวกัน

เล่มนี้ประกอบด้วยเทพนิยายขนาดสั้นสองเรื่อง และขนาดยาวอีกสามเรื่อง The Golden Pot ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของฮอฟมัน ว่าด้วยความรักระหว่างหนุ่มซื้อบื้อ และงูสาว กับเรื่องนี้เราเฉยๆ มันน่าสนใจในเชิงสัญญะ และในแง่ว่ามันเป็นพื้นฐานของนิทานฮอฟมันเรื่องอื่นๆ มากกว่าคุณค่าในตัวมันเอง

เรื่องที่เราชอบที่สุดเป็นนิทานสยองขวัญขนาดสั้น The Sandman ว่าด้วยความรักระหว่างหนุ่มนักศึกษาและ "โอลิมเปีย" ลูกสาวผู้ลึกลับและเงียบงันของศาตราจารย์ ในเชิงโครงสร้าง นิทานเรื่องนี้ "เกะกะ" มากๆ เพราะมันประกอบด้วยสามส่วนที่เหมือนไม่ได้เกี่ยวเนื่องอะไรกันนัก แต่ธีมของแต่ละตอนไหลเวียนหล่อเลี้ยง ทำให้ไคลแมกซ์เรื่องสุดท้าย (ซึ่งจริงๆ แล้วเดาตอนจบได้ไม่ยากเลย) กลายเป็นเรื่องชวนขนลุกขนพองได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ฮอฟมันประยุกต์เทคนิค "Counterpoint" ในดนตรีคลาสสิคมาใช้กับงานเขียนของเขา (หมายถึงการที่เมโลดีสองบรรทัดล้อและข่มกันไปมา) เราสามารถอ่านนิทาน/นิยายของเขาเป็นเรื่องแนวสัจนิยม และตีความสัญลักษณ์ทั้งหมดว่าหมายถึงสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือจะมองเห็นความเหนือธรรมชาติในทุกปรากฏการณ์ก็ไม่ผิด ซึ่งการตีความทั้งสองแบบอย่างพร้อมเพียงกันช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับงานเขียนชุดนี้

อีกเรื่องที่เราชอบมากๆ คือตำนานรักดอกกระบองเพชรและดอกลิลลี หรือ Master Flea ฮอฟมันสลับมุมมอง ประกอบสร้างเหตุการณ์จากตัวละครตัวนู้นตัวนี้ ทิ้งคนอ่านไว้ในความงงงันช่วงต้นๆ ก่อนจะค่อยๆ เปิดเผยเรื่องราว เรื่องเล่าธรรมดาๆ ว่าด้วยชายหนุ่มผู้โชคดีและเทวดาคุ้มครองจึงออกมาสนุกสนามและชวนติดตาม นิทานเรื่องนี้ยังมีนัยยะแปลกๆ ของการกลับชาติมาเกิด ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นในนิทานตะวันตก เสียดายเล็กน้อยกับตอนจบที่เหมือนจะแบ่งขาวดำชัดเจนไปนิด ตัวเองของเรื่องที่เป็นคนดีและประสบแต่โชคดีจึงลงเอยอย่างสุขสันต์ ever after ส่วนคู่พระรองนางรองที่มีสีสันมากกว่า แพ้พ่ายจนสูญเสียชีวิตไป (แต่ในทางกลับกันก็ได้กลายเป็นตำนาน ซึ่งนี่อาจจะเป็นการ "เกลี่ย" รางวัลและบทลงโทษของฮอฟมันแล้วก็ได้)

T. Ziolkowski's "The Novels of Hermann Hesse"


เปรียบเทียบวิธีที่เรา ในฐานะชาวตะวันออก และซิโอคอฟสกี นักวิชาการวรรณกรรมชาวตะวันตก อ่านนิยายของเฮสเสอะ น่าจะพอสรุปรวมเป็นความแตกต่างระหว่างตะวันตกและตะวันออกได้ดีในระดับหนึ่ง

หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นต้นมา ทวีปยุโรปถูกเขย่าอย่างรุนแรงด้วยคำถามว่า เหตุใดดินแดนแห่งภูมิปัญหาและความรู้แจ้งถึงได้เป็นแหล่งเพาะเชื้อการเข่นฆ่ากันอย่างโหดร้าย คำถามนี้ นำไปสู่ศิลปะและแนวคิดสกุลต่างๆ เช่น เซอร์เรียลิสต์ ก็คือความพยายามที่จะผนวกเหตุและผลเข้ากับความไร้เหตุไร้ผลเพื่อสร้างลัทธิใหม่ที่จะไม่เข่นฆ่า

ความคลั่งไคล้ตะวันออกก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ตามที่ซิโอคอฟสกีวิเคราะห์ เฮสเสอะใช้ศาสนาตะวันออก (โดยเฉพาะฮินดูและพุทธ) เป็นรากฐานของปรัชญาแผนใหม่ที่ผนวกทุกอย่างเข้าด้วยกัน สถานที่และเวลา สร้างโลกที่ไม่มีอดีต ปัจจุบัน อนาคต ไม่มีเขา ไม่มีเรา ทุกอย่างล้วนเป็นหนึ่งเดียว

ในฐานะชาวตะวันออก ก็ต้องยอมรับว่าฟังดูเป็นพุทธศาสนาดีทีเดียว (มีเรื่องตลกเล่าว่า ดาไลลามะเดินเข้าร้านพิซซ่า หลังจากยืนเลือกพักใหญ่ เด็กเสิร์ฟก็มาถามท่านว่าต้องการอะไร ดาไลลามะตอบว่า "Can you make me one with everything?")

คงเป็นเรื่องเปล่าดายที่เราจะมานั่งวิจารณ์ว่าเฮสเสอะเข้าใจพุทธศาสนาดีแค่ไหน (ถึงได้ "กล้าดี" ขนาดเขียนนิยายเรื่อง สิทธัตถะ) น่าจับตามองมากกว่าว่าตั้งแต่ Demien จนถึง The Glass Bead Game ความพยายามของเฮสเสอะพัฒนาไปอย่างไร

สำหรับเรา Demien เป็นนิยายที่ "คัลท์" มาก เพื่อนฝรั่งหลายคนชอบเล่มนี้ ทั้งที่มันว่าด้วยการก้าวออกจากเหตุและผลกลับไปหาความงมงาย เช่นเดียวกับบางองค์ประกอบของ The Steppenwolf ซึ่งเขียนในยุคที่คนยังเชื่อว่าการพี้ยาพาให้เราเข้าใกล้สัจธรรม The Glass Bead Game อ่อนน้อมถ่อมตนกว่า เฮสเสอะดูจะละความพยายามที่จะผนวกทุกอย่างเข้าหากันแล้ว แต่มุ่งเป้าไปที่ประเด็นง่ายๆ อย่างการ "ถีบ" นักวิชาการออกจากหอคอยงาช้าง

นิยายของเฮสเสอะที่เราชอบสุดคือ Narziss and Goldmund ถ้ามองผ่านแว่นการวิเคราะห์ของซิโอคอฟสกี้ นี่คือนิยายที่ล้มเหลวเพราะเฮสเสอะไม่สามารถรวมอะไรสักอย่างเข้าหากันได้ Narziss and Goldmund คล้ายคลึงกับนิยายยุคแรกๆ ของเฮสเสอะอย่าง Knulp ที่พูดถึงความสวยงามของสิ่งซึ่งมนุษย์ไม่อาจคว้าจับเอาไว้

สำหรับชาวตะวันตก โครงการณ์รวบรวมสรรพสิ่งเป็นหนึ่งเดียวอาจฟังดูโรแมนติก และเหมือนจะเป็นทางออกของทุกปัญหาในโลกนี้ แต่สำหรับชาวตะวันออก เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เรากำลังอยู่ในโลกที่โดยผิวเผินทุกอย่างถูกรวมเป็นเนื้อเดียว โดยปฏิเสธความหลากหลายอยู่หรือเปล่า